เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 25-08-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2565

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนเข้าสู่พายุโซนร้อน "หมาอ๊อน" (MA-ON) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักไว้ด้วย

อนึ่ง พายุโซนร้อนกำลังแรง "หมาอ๊อน" (MA-ON) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนอยู่ห่างประมาณ 130 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมาเก๊า คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้ในวันนี้ และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 25 - 26 ส.ค. 65 ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านบริเวณภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 27 - 30 ส.ค. 65 ร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง

อนึ่ง พายุโซนร้อนกำลังแรง "หมาอ๊อน" (MA-ON) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนอยู่ห่างประมาณ 430 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของฮ่องกง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้ในวันพรุ่งนี้ (25 ส.ค. 65) และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 25 - 26 ส.ค. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากโดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย



*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุ หมาอ๊อน" ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2565

เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ พายุโซนร้อนกำลังแรง "หมาอ๊อน" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 130 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมาเก๊า หรือที่ละติจูด 21.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้ ในวันนี้ และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 25-08-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


หายนะโลก ภาวะเรือนกระจก ห่าฝน คลื่นความร้อน อีก 40 ปี มนุษย์อาจอยู่ไม่ได้?



เชื่อว่าเวลานี้หลายๆ คนอาจจะคิดแบบเดียวกับผู้เขียนคือ อากาศบ้านเรามันร้อนขึ้น เวลาฝนตกหนัก ก็มาแบบหนักเสียเหลือเกิน... ซึ่งความจริง คือ คุณคิดถูกแล้ว เพราะเวลานี้ถือว่าโลกเราเข้าใกล้วิกฤติเต็มทีแล้ว...

ปัญหาที่เกิดขึ้น ฝนตกหนัก ภาวะคลื่นความร้อน มาจากเรื่องใกล้ตัวที่เรียกว่า "ภาวะเรือนกระจก" หรือ Greenhouse effect ที่มาจากปัญหาโลกร้อน

เราไม่ได้เพิ่งเผชิญปัญหาโลกร้อน แต่ปัญหาโลกร้อนมันเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น และเป็นผลสะท้อนเกิดภัยธรรมชาติมากมาย ที่ล้วนมาจาก "ฝีมือมนุษย์" ทั้งสิ้น

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสคุยกับ นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) "TEAMG" หรือทีมกรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำ และติดตามปัญหาโลกร้อนมาหลายสิบปี ได้สรุปข้อมูลที่น่าสนใจในรอบ 1 ปี ดังนี้


1 ปี หายนะโลก จากภาวะ Greenhouse Effect

17 ก.ค. 64 เบลเยียม : เกิดฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก ภัยพิบัติหนักในรอบ 50 ปี เสียชีวิตมากกว่า 100 ศพ

20 ก.ค. 64 เมืองเจิ้งโจว ประเทศจีน ฝนตกหนัก 1 ชั่วโมง มีปริมาณฝน 201 มิลลิเมตร รวม 3 วัน 617 มิลลิเมตร หายนะนี้หลายคนตั้งฉายาให้เป็นฝนพันปี แต่ความจริงก็ไม่ถึงขั้นนั้น แต่ก็เรียกว่าหายนะในรอบ 100 ปี ก็ว่าได้...

1-2 ก.ย. 64 รัฐลุยเซียนา สหรัฐฯ : พายุเฮอริเคน ไอด้า ที่สหรัฐฯ ทำให้บ้านเรือนเสียหายกว่า 1 ล้านหลัง

22 พ.ย. 64 บริติชโคลัมเบีย แคนาดา : ฝนตกหนัก 600 มิลลิเมตร น้ำป่าไหลหลาก หายนะในรอบ 100 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ 5 เดือนเจอคลื่นความร้อน (สาเหตุจากคลื่นความชื้นในทะเล ประกอบกับภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ทำให้มีการยกตัว และเกิดฝนตกหนักในเมือง)

8-10 ส.ค. กรุงโซล เกาหลีใต้ : ฝนตกหนัก 525 มิลลิเมตร หนักที่สุดรอบ 80 ปี

15-17 ส.ค. เมืองเนลสัน นิวซีแลนด์ : อิทธิพลจากพายุโซนร้อน ฝนตกหนักในรอบ 100 ปี

นี่ยังไม่รวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยฝนตกหนักที่สุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2564 เคยเกิดฝนตกหนักที่สุด ที่ อ.คลองใหญ่ จ.ตาก 643 มิลลิเมตร ใน 24 ชั่วโมง ในขณะที่ อ.สิชล จ.สุราษฎร์ธานี เคยเกิดฝนตกหนักถึง 300 มิลลิเมตร


ผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจก โลกร้อน ฝนตกหนัก และจะหนักมากขึ้นเรื่อยๆ

นายชวลิต กล่าวว่า ก๊าซเรือนกระจก มีส่วนประกอบหลักมาจาก คาร์บอนไดออกไซค์ (Co2) 75% ก๊าซมีเทน (CH4) 16% และอีก 9% มาจากก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) และอื่นๆ

ผลกระทบที่เกิดขึ้น จากภาวะเรือนกระจก นักวิทยาศาสตร์ของโลก จากการประชุม COP26 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้วได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและน่าตกใจว่า หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ โอกาสที่มนุษย์จะอาศัยบนผิวโลกไม่ได้อาจจะเร็วขึ้น จาก 80 ปี ในปี ค.ศ. 2100 จะเร็วขึ้น 40 ปี เป็นปี ค.ศ. 2060

เวลานี้ชั้นบรรยากาศโลก มีภาวะเรือนกระจกที่ 411 PPM ซึ่งภาวะเรือนกระจกที่คนจะอาศัยอยู่บนผิวโลกได้ ต้องไม่เกิน 478 PPM ซึ่งค่าวัดดังกล่าว ถือว่าอยู่ไม่ไกลแล้ว เรียกว่าตอนนี้ถึง "ขอบๆ" แล้ว

สิ่งที่เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นในเวลานี้ คือ ฝนตกหนัก และจะหนักขึ้นและถี่ขึ้น นอกจากนี้ ยังมีภาวะ "คลื่นความร้อน" ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ

โดยที่ผ่านมา เกิดคลื่นความร้อนจากแอฟริกา ส่งไปถึงประเทศอิตาลี กรีซ สเปน จนมาถึงประเทศอังกฤษ สำหรับประเทศสเปนถือว่าหนัก เพราะมีคนเสียชีวิต มากกว่า 500 ศพ ในการเผชิญความร้อนอุณภูมิสูงถึง 42 องศาเซลเซียส ส่วนที่อังกฤษยังดี ที่เจอความร้อนไม่ถึง 40 องศา แต่แค่ 38 องศา เขาก็หนักแล้ว ทำให้คนที่สูงอายุถึงขั้นเสียชีวิต

ขณะที่ "นิวซีแลนด์" เจอคลื่นความร้อน และอีก 2 สัปดาห์ ก็เจอฝนตกหนัก เรียกว่าเป็นอะไรที่โหดร้ายมาก

ขณะที่ กรุงเทพฯ ของเรา ก็โดนไปเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ฝนตกหนักตั้งแต่ 6 โมงเย็น ไปหยุดตอนตี 1 โดยมีประมาณฝนสูงถึง 180 มิลลิเมตร


นอกจากฝนตกหนักแล้ว กทม. อาจจะเจอปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง...

กูรูด้านการจัดการน้ำ บอกว่า ถ้าใครสังเกต ก็จะทราบว่าปัจจุบัน ?น้ำทะเลหนุน? ก็เริ่มจะถี่ขึ้น โดยในวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็หนุนสูง และจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ในวันนี้ ( 24 ส.ค.) ถึงวันที่ 27 ส.ค. (พระจันทร์เต็มดวง) ซึ่ง กทม. ก็เริ่มเตือนอีกครั้ง โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำ หรือบางพื้นที่ที่เป็นฟันหลอ

เนื่องจากคนในพื้นที่ต่อต้านไม่ให้ทำ เพราะกลัวเสียทัศนียภาพ ซึ่งเวลานี้ ต้องนำกระสอบทรายไปปิดกั้นได้แล้ว แต่ยังดีคือ น้ำทะเลหนุนสูงครั้งนี้ไม่เท่ากับวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยจะหนุนที่ประมาณ 2.10 เมตร เมื่อเทียบกับคันกั้นน้ำที่มีความสูง 2.5 เมตร

สิ่งที่ ลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวในงาน COP26 ว่า ปัญหาในเวลานี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดา ถึงเวลาที่ต้องต้อง "ชักธงแดง" ขึ้นแล้ว และได้กล่าวเตือนไปยังนานาชาติ ให้ร่วมกันลดปัญหาเรือนกระจกนี้

นายชวลิต กล่าวในช่วงท้ายว่า สิ่งที่ต้องทำเวลานี้ คือ การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไปสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ด้วยการใช้รถยนต์ให้น้อยลง เพราะการเผาไหม้ของน้ำมัน ส่งผลให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ ลดใช้ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ จากการประหยัดไฟฟ้า ประปา เพราะกระบวนการผลิตไฟฟ้า ใช้ถ่านหินจำนวนมาก ส่วนการผลิตประปา ก็ใช้ไฟฟ้าจำนวนมากในการสูบน้ำ หรือบางขั้นตอนอาจจะมีการใช้ถ่านหินด้วย นอกจากนี้ สิ่งที่ควรทำ คือ การลดปัญหาขยะ ประเทศไทย มีค่าเฉลี่ยต่อหัวในการก่อขยะมูลฝอยเป็นอันดับ 7 ของโลก และยิ่งช่วงโควิดที่ผ่านมา ขยะก็ยิ่งเพิ่ม ก็ยิ่งเสียพลังงานเพื่อกำจัดมากขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา เพราะหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ อุณหภูมิของโลก จะร้อนขึ้นเรื่อยๆ และอาจจะร้อนกว่าสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม ปี ค.ศ. 1880 ซึ่งจะร้อนเพิ่มขึ้นกว่าปกติ 1.5 องศาเซลเซียส

แค่เวลานี้ ปริมาณฝนตก ก็เพิ่มขึ้นจากสมัยก่อนแล้ว 7% และมีโอกาสตกบ่อยขึ้นอีก 10% หมายความว่า ฝนที่ควรตกปกติ 100 มิลลิเมตร ฝนก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 107 มิลลิเมตร และปีนี้มีโอกาสฝนตกหนัก 10 วัน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 11 วัน

นอกจากนี้ ยังมีภาวะแล้ง และน้ำทะเลหนุนสูงอีก ซึ่งปกติแล้ว น้ำทะเลจะหนุนเพิ่มขึ้นปีละ 3.3 มิลลิเมตร ดังนั้น ในประเทศไทยในอีก 40 ปี ก็อาจจะหนุนสูงขึ้นอีก 6-7 เซนติเมตร


https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2481260

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 25-08-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


"เฟรยา" วอลรัสขวัญใจมหาชน สมควรถูกการุณยฆาตหรือไม่ ?



วอลรัส "เฟรยา" ได้เดินทางมาถึงออสโลฟยอร์ด ปากน้ำทางตะวันออกเฉียงใต้ของนอร์เวย์ ห่างจากบ้านเกิดของมันถึง 1,000 ไมล์ วอลรัสตัวนี้ได้แสดงภาพความน่ารักด้วยการนอนผึ่งพุงตากแดด แอบปีนขึ้นไปบนเรือมนุษย์ และบางทีก็ทำให้เรือจม แต่ผู้คนกลับแห่กันมาดูเฟรยาเพราะอยากเห็นวอลรัสชื่อดังตัวเป็นๆ
แม้เฟรยาจะดูน่ารัก แต่ด้วยน้ำหนักตัวถึง 600 กิโลกรัม บวกกับความเครียดที่ถูกมนุษย์รุมล้อมจนมันรู้สึกว่ากำลังเผชิญกับภัยคุกคาม อาจทำให้มันทำร้ายมนุษย์จนบาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ชีวิตได้ รัฐบาลนอร์เวย์จึงตัดสินใจจบชีวิตเฟรยาด้วยการทำการุณยฆาตเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ารัฐบาลทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะ "การมีวอลรัสหนักครึ่งตัน มีงาแหลม การว่ายน้ำท่ามกลางผู้คนนั้นค่อนข้างมีความเสี่ยง" แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนแย้งว่าระดับความเสี่ยงที่เกิดจากเฟรยานั้นไม่มากไปกว่าระดับที่ "เรายอมรับเป็นประจำในสังคมและชีวิตประจำวันของเรา"

ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมวอลรัสน้ำหนัก 600 กิโลกรัม ที่คนทั่วไปตั้งชื่อเล่นให้มันว่า ?เฟรยา? ได้ปรากฏขึ้นใกล้กับเมืองหลวงของนอร์เวย์ ในฟยอร์ดออสโล

แต่ในไม่ช้ามันก็กลายเป็นดาวเด่นประจำท้องถิ่น หลังภาพจากคลิปวิดีโอที่มันกำลังเคลื่อนที่อย่างเชื่องช้าและค่อยๆ ปีนขึ้นไปบนเรือ กลายเป็นไวรัลตามสื่อออนไลน์ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังจากการปรากฏตัวครั้งแรกของมัน เฟรยาถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐทำการุณยฆาต โดยเชื่อว่ามันอาจสร้างอันตรายต่อสาธารณชน

เหตุการณ์นี้ไม่ได้จบลงด้วยดี บางคนถึงกับกล่าวหานอร์เวย์ว่า "ฆ่า" สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในขณะที่การรณรงค์หาทุนออนไลน์สำหรับรูปปั้นทองสัมฤทธิ์ได้เงินเกือบ 24,000 ดอลลาร์ ภายในเวลาไม่กี่วัน

นอกจากนั้น ความขุ่นเคืองซึ่งแผ่ขยายออกไปไกลเกินขอบเขตของนอร์เวย์ได้เกิดขึ้นจนแม้แต่นายกรัฐมนตรีของประเทศก็ยังถูกบังคับให้แสดงความคิดเห็น โดยกล่าวว่าการทำการุณยฆาตเป็น "การตัดสินใจที่ถูกต้อง" แต่ก็ยังมีผู้ตั้งคำถามว่า เราควรช่วยเฟรยาหรือไม่ ?


แหล่งท่องเที่ยว

การเดินทางของเฟรยาสู่กรุงออสโลน่าจะเริ่มต้นขึ้นในแถบอาร์กติก แต่ในปีที่ผ่านมามันได้ออกทัวร์ยุโรป โดยมีผู้พบเห็นในน่านน้ำสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และสวีเดน

ทุกที่ที่วอลรัสไป เธอดึงดูดความสนใจ แต่ในนอร์เวย์ เรื่องนี้เริ่มทำให้เจ้าหน้าที่กังวล

ภาพถ่ายเผยให้เห็นฝูงชนจำนวนมากรวมตัวกันที่ริมน้ำยืนอยู่ในระยะใกล้ชิด ในขณะเดียวกัน มีรายงานในสื่อท้องถิ่นว่า เฟรยาไล่ตามผู้หญิงคนหนึ่งลงไปในน้ำ ในขณะที่นักพายเรือคายัคคนหนึ่งบรรยายถึง "การเผชิญหน้าที่น่ากลัว" กับสัตว์ตัวนี้เมื่อเธอเข้าใกล้เรือของเขามากเกินไป


เอริก บอร์น นักวิทยาศาสตร์อาวุโสแห่งสถาบันทรัพยากรธรรมชาติกรีนแลนด์กล่าวว่า "วอลรัสคาดเดาพฤติกรรมไม่ได้ และสามารถดักจับแมวน้ำได้อย่างดีเยี่ยม ด้วยการใช้ครีบเท้าหน้าทั้งสอง และใช้งาแทงแมวน้ำจนตายได้"

ดร.บอร์นกล่าวว่า เมื่อวอลรัสเข้าใกล้ผู้คนมากขึ้น หรือผู้คนเข้าใกล้มันมากขึ้น อาจจะเกิดอันตรายอย่างเห็นได้ชัด ?การมีวอลรัสหนักครึ่งตัน มีงาแหลม การว่ายน้ำท่ามกลางผู้คนนั้นค่อนข้างมีความเสี่ยง?

ยิ่งกว่านั้น เป็นที่รู้กันว่าวอลรัสโจมตีนักดำน้ำและเรือเล็ก - แม้ว่ากรณีเหล่านี้เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก

แต่แล้ว แมดส์ ฟรอสต์ เบอร์เทลเซน ผู้อำนวยการด้านสัตววิทยาของสวนสัตว์โคเปนเฮเกนกล่าวว่า ไม่น่าแปลกใจที่วอลรัสมักจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งหมายความว่าพวกมันไม่ได้สัมผัสกับมนุษย์บ่อยครั้ง ซึ่งหมายความว่าสถิติของเหตุการณ์นั้นต่ำ แต่เขาชี้ให้เห็นว่าพวกเขาสามารถสร้าง "ความเสียหายร้ายแรง" ได้

เมื่อถามว่า ศ.เบอร์เทลเซน จะตัดสินใจแบบเดียวกับกระทรวงประมงหรือไม่ ? เขาบอกว่าเขาก็คงทำเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม ดร.เจฟฟ์ ดับเบิลยู ฮิกดอน นักชีววิทยาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอาร์กติก ผู้ให้คำปรึกษาจากแคนาดา ผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับวอลรัส กล่าวว่า เฟรยาไม่ควรเป็นผู้ที่ถูกกล่าวโทษ

เขากล่าวว่า "พฤติกรรมของมนุษย์เพิ่มความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญในกรณีนี้" พร้อมตั้งคำถามถึงสามัญสำนึกของคนทั่วไปต่อเหตุการณ์ครั้งนี้

"ทุกคนที่แห่เดินทางไปชมสัตว์ตัวนั้น ทำให้ตัวเองและลูก ๆ ตกอยู่ในความเสี่ยงและมีส่วนทำให้เกิดผลลัพธ์ที่โชคร้าย"

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยว่าความเสี่ยงนั้นน่าจะทำให้เฟรยาเสียชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เฟิร์น วิคสัน ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยอาร์กติกแห่งนอร์เวย์ ให้เหตุผลว่า "ความเสี่ยงนั้นมีศักยภาพมากกว่าสิ่งที่จะปรากฏให้เห็น"

อันที่จริง เธอกล่าวว่าระดับความเสี่ยงที่เกิดจากเฟรยานั้นไม่มากไปกว่าระดับที่ "เรายอมรับเป็นประจำในสังคมและชีวิตประจำวันของเรา"

"การที่รัฐบาลเลือกที่จะปลิดชีวิตเฟรยาแทนที่จะพยายามจัดการความเสี่ยงนี้ด้วยการใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการจัดการพฤติกรรมของผู้คนนั้น เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจและน่าผิดหวัง"


ทางเลือก

คณะกรรมการการประมงของนอร์เวย์ได้หารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้นอกเหนือจากการุณยฆาตกับผู้เชี่ยวชาญก่อนดำเนินการ ซึ่งรวมถึงสมาชิกของสถาบันวิจัยทางทะเล (IMR)

แต่ผลกลับไม่ออกมาในเชิงบวก

ตามรายงานของ IMR ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าอย่าวางยาสลบเฟรยา เพราะเธอจะ "มีแนวโน้มสูงว่ามันจะหนีไปอยู่ในน้ำเพื่อความปลอดภัย และจมน้ำตายหลังจากที่ยาสลบออกฤทธิ์"

ดร.ฮิกดอน นักชีววิทยาเตือนว่า ความพยายามทำให้สัตว์เคลื่อนที่ไม่ได้ด้วยยา เพื่อที่มันจะไม่สามารถว่ายน้ำหนีไปได้และจมน้ำตาย จะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

"การทำให้สัตว์เคลื่อนที่ไม่ได้ การจับ และเคลื่อนย้ายสัตว์ตามธรรมชาติ สามารถนำไปสู่ความเครียดทางสรีรวิทยา และในกรณีที่รุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้" เขากล่าว

คณะกรรมการเห็นพ้องและมีข้อกังวลเพิ่มเติม โดยเน้นไปที่ขนาดร่างกายที่ใหญ่ของวอลรัส การเข้าถึงหลอดเลือดที่มีข้อจำกัด และ "ปัญหาระบบทางเดินหายใจและการไหลเวียนโลหิตอย่างรุนแรง" เมื่อให้ยาสลบ

แต่นั่นไม่ใช่ทางเลือกเดียวที่มีการเสนอ IMR ยังพิจารณาวางตาข่ายไว้ใต้เรือโดยมีเป้าหมายเพื่อจับเฟรยา

สถาบันอธิบายในแถลงการณ์ ?สิ่งนี้จะนำมาซึ่งความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน เนื่องจากวอลรัสอาจเข้าไปติดอยู่กับตาข่าย ทำให้มันตื่นตระหนกและจมน้ำตาย?

การตัดสินใจที่ "อ่อนโยนที่สุด" จะต้องเกี่ยวข้องกับการสร้างกรงแบบเปิดโล่งซึ่งจะวางไว้ในน้ำ โดยให้ส่วนบนยื่นออกมาเล็กน้อย เฟรยาอาจถูกดักไว้ข้างในและถูกนำตัวไปในที่ที่ปลอดภัยกว่า

IMR อธิบายว่า "หากทำได้สำเร็จ มีโอกาสน้อยมากที่สัตว์จะติดใต้น้ำหรือทำให้อุปกรณ์เสียหาย"

อย่างไรก็ตาม IMR เปิดเผยว่าไม่ได้แนะนำวิธีแก้ปัญหาใด และกรมประมงได้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับชะตากรรมของเฟรยา

ข้อสรุปของพวกเขาคือ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่อาจจะทำให้มันเกิดอันตรายหรือตาย และ "การใช้ทรัพยากรจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ" และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการเคลื่อนย้ายเธอ จึงไม่มีความเป็นไปได้ที่จะย้ายเฟรยา แถลงการณ์ยังระบุว่า ฝูงชนที่เพิ่มมากขึ้นและการละเลยคำเตือนนำไปสู่สถานการณ์ที่เฟรยาหรือผู้คนที่อยู่ใกล้เคียงอาจได้รับอันตรายมากขึ้น

ผู้อำนวยการ IMR กล่าวว่า "ทั้งพฤติกรรมของวอลรัสและผู้คนเปลี่ยนไป ดังนั้นเราจึงตัดสินใจว่าการุณยฆาตเป็นมาตรการที่ถูกต้อง"

ด้านนายร็อด ดาวนี่ หัวหน้าที่ปรึกษาขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ในภูมิภาคขั้วโลก กล่าวไว้ว่า "เฟรยาก่อให้เกิดอันตรายต่อสาธารณะ และสาธารณชนก็สร้างอันตรายต่อเฟรยา"

แต่การเดินทางของเฟรยายังไม่จบสิ้น


IMR ได้ประกาศว่าสถาบันสัตวแพทย์แห่งนอร์เวย์จะทำการตรวจชันสูตรพลิกศพของมัน ซึ่งพวกเขากล่าวว่าสามารถให้ข้อมูลที่มีค่าเกี่ยวกับสัตว์ดังกล่าวได้

องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ระบุให้วอลรัสอยู่ในบัญชีแดงของสัตว์ที่ตกอยู่ในความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ให้เห็นว่าการตายของเฟรยาจะมีผลกระทบต่อจำนวนวอลรัสเพียงเล็กน้อย

ดร.ฮิกดอนกล่าว "ประชากรวอลรัสในมหาสมุทรแอตแลนติกไม่มีความเสี่ยง และการสูญเสียสัตว์ชนิดนี้ แม้จะเป็นเรื่องโชคร้าย ก็ไม่ใช่ปัญหาในการอนุรักษ์"

ในขณะเดียวกัน ศ.เบอร์เทลเซน เน้นย้ำว่ามีปัญหาที่เร่งด่วนมากกว่า นั่นคือภาวะโลกร้อน และมลพิษของทะเล.

ที่มา: บีบีซี


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2479160

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 25-08-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


"ปลาเรืองแสง" สวยอันตราย ตัดต่อ GMOs ใครมีให้คืนกรมประมง

กรมประมง เตือน "ปลาเรืองแสง" สวยอันตราย ตัดต่อพันธุกรรม GMOs ห่วงถูกกีดกันทางการค้า หวั่นกระทบอุตสาหกรรมปลาสวยงามไทยทั้งระบบ ใครมีในครอบครองให้ส่งคืนกรมประมงได้ตั้งแต่ วันที่ 1 ก.ย. - 30 พ.ย.นี้



วันนี้ (24 ส.ค.2565) นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ได้รับการรายงานว่า ขณะนี้พบมีผู้ที่ทำการเพาะเลี้ยง ปลาเรืองแสง หรือ ปลาที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms : GMOs) ด้วยเทคนิคการนำยีนที่ได้จากแมงกะพรุนหรือดอกไม้ทะเลบางชนิดไปใส่ไว้ใน DNA ที่ควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมของปลา และจะสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเด่นขึ้นมา เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงไฟ Blacklight จะทำให้ตัวปลาเรืองแสงสะท้อนขึ้นมาเกิดความแปลกตา สวยงาม


สวยอันตราย ตัดต่อ GMOs

สำหรับชนิดของสีเรืองแสงที่มีการค้าในปัจจุบัน มี 6 สี ได้แก่ สีเขียว (Electric Green) สีฟ้า (Cosmic Blue) สีแดง (Starfire Red) สีส้ม (Sunburst Orange) สีชมพู (Moonrise Pink) สีมม่วง (Galactic Purple)

"นานาชาติส่วนใหญ่ไม่ให้การยอมรับเรื่องของ GMOs ในสิ่งมีชีวิต เพราะอาจส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับชนิดพันธุ์ที่มีในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปลาสวยงาม หากเข้าไปแทรกอยู่ในยีนส์แล้ว ยากที่จะเอาออกทำให้สูญเสียความเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมไป ถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่น่ากังวล"

ประกอบกับ ประเทศไทยได้มีการลงนามในพิธีสารคาร์ตาเฮน่า ว่า ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Cartagena Protocol on Biosafety) มีเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการที่ GMOs จะก่อให้เกิดอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยของมนุษย์

ดังนั้น หากประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงปลา GMOs อาจส่งผลกระทบทำให้ถูกกีดกันทางการค้าจากนานาชาติ ทั้งในเรื่องของความเข้มงวดของการนำเข้าปลาสวยงาม หรืออาจร้ายแรงไปจนถึงการห้ามค้าขายปลาสวยงามที่เป็นหรือเสี่ยงที่จะเป็นปลา GMOs

สำหรับการตรวจสอบสัตว์น้ำตัดต่อพันธุกรรมเรืองแสงในปลาที่เรืองแสงชัดเจน มีขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบโดยละเอียด ด้วยวิธีตรวจสอบจากสารพันธุกรรม (DNA) โดยเทคนิค PCR หรือ Real time PCR ก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายที่สูง ส่วนการตรวจสอบเบื้องต้น สามารถใช้ไฟฉาย UV Black light ส่องดูได้

ในปัจจุบันมีปลาสวยงามหลากหลายชนิดที่นำมาพัฒนาพันธุ์ด้วยวิธีการตัดต่อพันธุกรรมเป็นปลาเรืองแสง เช่น ปลาเสือเยอรมัน (Tiger Barb) ปลาม้าลาย (Danio) ปลากลุ่มเตตร้า (Longfin Tetra & Tetra) ปลาเทวดา (Angelfish) ปลากาแดง (Redfin Shark)


หวั่นกระทบอุตสาหกรรมปลาสวยงามไทย

"ที่น่ากังวล คือ ปลากัด เป็นสัตว์น้ำชนิดใหม่ล่าสุดที่นำมาดัดแปลงพันธุกรรมเรืองแสง กลายเป็น ?ปลากัดเรืองแสง? และเริ่มออกขายในตลาดปลาสวยงาม กว่า 1 ปี เป็นสิ่งที่อันตราย ต่อวงการปลากัดไทยอย่างมาก"

อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปลากัดของไทยโด่งดังไกลทั่วโลก เนื่องจากมีลักษณะ ลวดลาย สีสันที่สวยงาม จนมีลูกค้าจากทั่วโลกที่ต้องการปลากัดของไทย มีตลาดค้าขายปลากัดไทยทั้งออนไลน์และออฟไลน์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 200 ล้านบาท/ปี

ถือเป็นปลาสวยงามที่สร้างมูลค่าการส่งออกหลักให้การค้าสัตว์น้ำสวยงามของประเทศไทย สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ซึ่งทราบกันว่า ปลากัด เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ อีกด้วย

"หากไม่ยับยั้งคาดว่าในอนาคตอาจเกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับชนิดพันธุ์ที่มีในท้องถิ่น และก่อให้เกิดการกีดกันทางการค้า และจะก่อให้เกิดความเสียหาย ต่ออุตสาหกรรมปลาสวยงามของไทยแน่นอน"

อีกทั้ง ผู้เพาะเลี้ยงยังมีความผิดทางกฎหมาย ตามมาตรา 65 และ มาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 และบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 เพื่อป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ มีโทษทั้งจำคุก ไม่เกิน 1 - 2 ปี ปรับไม่เกิน 1 - 2 ล้านบาท


ใครมีครอบครองให้รีบส่งคืนกรมประมง

อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ผู้ประกอบการปลาสวยงาม และกลุ่มลูกค้าปลาสวยงาม ว่าปลาสวยงามมีมากมายหลากหลายสายพันธุ์ ที่สำคัญเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากัดมีความสามารถเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอยู่แล้ว เช่น ที่ผ่านมามีการพัฒนาปลากัดเป็นลายธงชาติไทย หากพัฒนาให้เป็นลายธงชาติประเทศต่าง ๆ หรือจะผลิตลวดลายสีสันใหม่ ๆ ที่สวยงาม แปลกตา สามารถสร้างมูลค่าในตัวเองได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการตัดต่อพันธุกรรมซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายในอนาคต

ดังนั้น หากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ผู้ประกอบการปลาสวยงาม และกลุ่มลูกค้าท่านใดที่เพาะเลี้ยงและมีครอบครองอยู่ขอให้ส่งให้กรมประมงได้ตั้งแต่ วันที่ 1 ก.ย. - 30 พ.ย.2565 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมง ทั่วประเทศ หรือ สำนักงานประมงจังหวัด 77 จังหวัด


https://news.thaipbs.or.th/content/318749

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 25-08-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


ปัญหาไม่ได้อยู่ที่พลาสติก แต่อยู่ที่การจัดการ .................... โดย วุฒิรักษ์ กฤษณมิตร



จุดเริ่มต้นความสนใจต่อปัญหาพลาสติก

เริ่มจากดูคลิปของไกลบ้าน ที่มีพี่ต่อพูดวลี "ถ้าเราใช้หลอด แล้วเต่าทะเลล่ะ จะทำยังไง" เป็นการคิดต่อว่าทำไมหลอดถึงกระทบต่อเต่าทะเล เราค้นต่อก็ไปเจอว่า เเล้วพวกขยะพลาสติกมันกระทบต่อสัตว์ทะเลมากแค่ไหน มันมีคลิปที่เต่ากินขวดพลาสติกเข้าไป เราเลยเห็นปัญหาว่า พลาสติกมันไม่ได้ส่งผลกระทบเเค่มนุษย์ เเต่กระทบระบบนิเวศด้วย สัตว์ไม่ได้มาใช้พลาสติกกับเราเเต่ก็กระทบไปด้วย


มุมมองที่มีต่อปัญหาพลาสติกนี้

เราได้ไปศึกษาเรื่องพลาสติกต่อเเละค้นพบว่า จริง ๆแล้วพลาสติกไม่ใช่ว่ามันไม่ดี คืออยากให้ลองคิดต่อว่าทำไมคนถึงใช้พลาสติก ถ้ามันไม่ดี คือพลาสติกมันมีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้มนุษย์ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เพราะว่าพลาสติกมันมีคุณสมบัติที่เเข็งเเรง ไม่เปราะบาง น้ำหนักเบา พกพาง่าย มันทนทานมากกว่ากระดาษ เเก้ว อะไรเเบบนี้ ฉะนั้นมุมมองปัญหาตอนนี้ สิ่งที่เป็นปัญหา มันไม่ใช่ที่เเค่พลาสติก เเต่เป็นปัญหาการจัดการการใช้พลาสติกของมนุษย์เองมากกว่า ถ้าเรามีการจัดการพลาสติกที่เหมาะสม มันจะไม่เป็นปัญหาพลาสติกในปัจจุบันเลย


กิจกรรมที่ทำอยู่เพื่อขับเคลื่อนประเด็นพลาสติก

ออกเเนวเป็นผู้เรียนรู้เเละรับฟังปัญหา เราดูวิธีการจัดการเเยกปัญหาพลาสติกยังไง เราก็ช่วยได้ด้วยการเอาพลาสติกมาใช้ซ้ำต่อ ก่อนจะทิ้งก็ล้างเเก้วหรือขวดให้สะอาดก่อนทิ้ง เพื่อง่ายต่อการรีไซเคิล ถ้าอยากให้เพื่อนมีส่วนร่วมกับการใช้พลาสติกให้ถูกต้อง ก็เริ่มจากทำให้เพื่อนดู แล้วโน้มน้าวเพื่อนให้ทำตาม ทำให้ติดนิสัยทำให้ชิน โดยการเริ่มจากรับรู้ปริมาณการใช้พลาสติกของตัวเองก่อน ว่าในหนึ่งวันเราใช้พลาสติกไปกี่ชิ้น เเล้วจะเปลี่ยนแปลงการใช้พลาสติกให้ลดลงได้ยังไง ด้วยการใช้ซ้ำ ด้วยการลดใช้พลาสติกลง


ความคิดเห็นด้านนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นที่รัฐบาลนำเข้าขยะเข้ามาในไทย เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ควรทำ เพราะสถานที่ตรงนั้นจะมีสารพิษที่มาจากขยะ สภาพเเวดล้อมก็เสีย มลพิษทางกลิ่น มลพิษทางอากาศ สถานที่ตรงนั้นประชาชนก็ทำมาหากินอะไรไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเชื้อโรค ยิ่งรัฐบาลจัดการได้ไม่ดี ประชาชนก็ยิ่งเสี่ยงมากเท่านั้น การกลบฝังขยะโดยไม่ได้คัดเเยกก็เหมือนเป็นการกลบฝังปัญหาเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่การเเก้ไขที่ดี

อยากให้ทุกคนมองว่าเป็นเรื่องเบสิคที่ควรจะเเยกขยะ มองให้เป็นกิจวัตร เป็นสิ่งที่ต้องทำในชีวิตประจำวัน เพราะการที่เราไม่คัดเเยกขยะพลาสติก มันไม่ได้ส่งผลเเค่มนุษย์ เเต่ยังกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถ้ายังคิดว่าเราไม่สนใจคนเดียวก็ควรคิดว่า ถ้ามีคนคิดเเบบนี้เป็นสิบเป็นร้อย เศษขยะพลาสติกก็ยิ่งมีเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

ก็อยากให้ทุกคนช่วยกันลด ช่วยกันใช้ซ้ำ ตระหนักถึงปัญหา เป็นสิ่งที่เราต้องทำ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน อยากให้คิดถึงเต่าทะเล ทุกครั้งที่เราใช้พลาสติกก็ให้นึกถึงน้องเต่าที่คาบพลาสติกติดอยู่ในคอเข้าไป


https://www.greenpeace.org/thailand/...plastic-pleng/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 01:07


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger