เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > Main Category > ห้องรับแขก

 
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
Prev คำตอบที่แล้วมา   คำตอบถัดไป Next
  #29  
เก่า 28-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,248
Default


ดูแล 'บ้านน้ำท่วม' นานาเคล็ดลับปลอดภัยประหยัดเงิน



การดูแลบ้านก่อนและหลังน้ำท่วมเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้เจ้าของบ้านได้ซ่อมแซมกันได้อย่างถูกวิธี โดย เจือ คุปติทัฬหิ โซลูชั่นแม็กซีไมซ์เซอร์ (หมอบ้าน) บริษัท เอสซีจี เอ็กซพีเรียนซ์ จำกัด ให้ความเห็นว่า บ้านไม้ค่อนข้างมีปัญหาหลังน้ำลดเพราะเนื้อไม้มีการพองตัว ซึ่งควรให้แห้งแล้วทาน้ำยารักษาเนื้อไม้ป้องกันความชื้น สำหรับไม้สักไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แต่ถ้าไม้แดงเวลาแห้งเนื้อไม้อาจมีการปริแตกได้

สิ่งที่สำคัญเวลาเข้าไปตรวจบ้านที่ประตูและวงกบเป็นไม้ อาจเจอปัญหาปิดประตูไม่ได้ ไม่ควรใช้กบไสไม้เพราะหลังจากไม้แห้งอาจเข้ารูปเหมือนเดิม ซึ่งจะเป็นปัญหาให้ปิดประตูไม่สนิท ขณะเดียวกันตัวโครงสร้างบ้านไม้ถ้ามีปัญหาให้ติดต่อวิศวกรเพราะช่วงน้ำท่วมอาจมีขอนไม้ที่มากับน้ำเชี่ยวพัดมาทำลายโครงสร้างได้

ส่วน บ้านปูน ตัวโครงสร้างมีปัญหาน้อย แต่สำหรับกำแพงที่มีรอยร้าวและน้ำซึมผ่านเข้าไปได้อาจมีฝุ่นผงอยู่ด้านใน ควรทำความสะอาดโดยกวาดฝุ่นไว้กองรวมกันแล้วค่อยตักใส่ถังขยะ เพราะถ้าใช้น้ำจากสายยางฉีดอาจทำให้ฝุ่นต่างๆ ไหลไปตามท่อและทำให้อุดตัน กำแพงปูนควรทิ้งให้แห้งประมาณ 7–14 วัน ซึ่ง สีที่เหมาะกับการทนน้ำจะเป็นสีพลาสติก ด้านบ้านที่ปูพื้นจากหินธรรมชาติเมื่อน้ำท่วมนานอาจมีรูพรุน แม้น้ำจะเลิกท่วมแต่ขอบโดยรอบยังมีน้ำซึมควรติดต่อวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ

“เมื่อน้ำแห้งและเข้าบ้านควรเปิดประตูหน้าต่างทุกบานเพื่อให้ลมเข้า และควรมีถุงมือและไม้ที่ใช้ในการทำความสะอาด หากส่วนใดเป็นมุมอับที่สัตว์มีพิษอาจซ่อนตัวได้ให้ลองฉีดยาฆ่าแมลงนำไปก่อนแล้วค่อยใช้ไม้เขี่ย”

พงศ์เทพ ตั้งประเสริฐกิจ โซลูชั่นพาร์ทเนอร์ (หมอบ้าน) บริษัท เอสซีจี เอ็กซพีเรียนซ์ จำกัด ให้ความรู้ว่าต้องทำความเข้าใจว่า น้ำที่ท่วมนั้นมักไม่ทำความเสียหายในระดับโครงสร้างกับตัวบ้าน แต่มักทำความเสียหายกับวัสดุตกแต่งต่างๆ เช่น พื้นผนัง ดังนั้นการดูแลจึงทำอะไรมากไม่ได้ในช่วงเวลาน้ำท่วม และอาจไม่ต้องกังวลมากนัก เนื่องจากทั้งพื้นและผนังคงรื้อออกก่อนขณะน้ำท่วมไม่ได้ ในช่วงเวลาน้ำท่วมจึงควรให้ความสนใจกับชีวิต และทรัพย์สินมีค่าชิ้นเล็กๆจะดีกว่า เช่น เรื่องความปลอดภัยจากไฟช็อต ไฟรั่ว ซึ่งควรตรวจสอบว่าไฟฟ้าได้ตัดดีแล้วหรือไม่

สิ่งอื่นๆ จะเป็นความเสียหายจากของที่ยกขึ้นสูง หรือของที่ยกหนีน้ำไม่ทัน เช่นตู้เย็น เครื่องซักผ้า สิ่งที่ต้องระวังคือของที่ยกขึ้นสูงนั้นยกไปตั้งไว้บนอะไร มีความแข็งแรงขนาดไหน หลายคนมักวางบนตู้ ชั้น เฟอร์นิเจอร์ หากเฟอร์นิเจอร์นั้นเป็นไม้ก็ต้องระวังการล้มลงมา เนื่องจากไม้ไม่ถูกกับน้ำ โดยเฉพาะไม้อัดเมื่อแช่น้ำนานๆ จะพอง เสียหาย แล้วรับน้ำหนักของที่เรายกไปวางไว้ไม่ได้ จะทำให้ของเหล่านั้นล้มตกลงมาเสียหายได้

สำหรับผนังบ้านที่ตกแต่งด้วยวอลเปเปอร์ หากน้ำเพิ่งท่วมเข้ามาใหม่ๆ หรือท่วมไม่นาน สามารถป้องกันความเสียหายได้ โดยการกรีดตัดวอลเปเปอร์ในส่วนที่โดนน้ำออก ส่วนที่ยังไม่โดนน้ำก็จะยังไม่เสียหายมากนัก เนื่องจากเป็นกระดาษน้ำสามารถซึมขึ้นสูงกว่าระดับน้ำที่ท่วมได้ การกรีดตัดก่อนจะช่วยเก็บรักษาส่วนที่อยู่เหนือน้ำได้ แต่หากบ้านแช่น้ำหลายวันแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องทำเพราะอาจเสียหายจากน้ำไปแล้ว

หากที่บ้านมีประตูหรือบานกระจก จะต้องระมัดระวัง เพราะอาจเกิดแตกเสียหายได้ เมื่อเกิดแรงดันน้ำมากๆ ทั้งมาจากการเปิดปิดใช้งาน การเดินไปจนทำให้เกิดคลื่นไปกระแทกกับกระจก หรือประตูกระจก ก็จะทำให้เกิดความเสียหาย แตกร้าว หรือประตู หน้าต่าง หลุดออกจากรางได้เช่นกัน

การดูแลบ้านไม้กับบ้านปูนหลังจากน้ำลดจะต่างกันตรงที่ไม้จะเกิดปัญหามากหากเจอน้ำเพราะไม้จะบวมพอง หลังจากน้ำลดจึงอาจต้องรื้อไม้ที่แช่น้ำออกมาทิ้งไว้ให้แห้ง หากไม่เสียหายมาก ก็จะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่สำหรับบ้านปูนนั้นจะไม่ค่อยเกิดปัญหา

ในแง่ของโครงสร้างหากบ้านตั้งอยู่บนเสาเข็มลึก จะไม่ต้องกังวลในเรื่องบ้านทรุดเท่าใดนัก แต่หากบ้านตั้งอยู่บนเสาเข็มสั้น (เสาเข็มยาว 4-12 เมตร) อาจจะเกิดปัญหาการทรุดตัวได้

เมื่อน้ำลดแล้วการดูแลบ้านหลักๆ คงจะเป็นเรื่องการทำความสะอาดและตรวจสอบความเสียหาย ในการทำความสะอาดนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือ ท่อน้ำรอบบ้าน ให้ขุดลอกให้เรียบร้อยเสียก่อน เนื่องจากน้ำที่ท่วมมักจะนำดินโคลนมาด้วยจะทำให้ท่อน้ำหรือคูระบายน้ำอุดตันตื้นเขินได้

การทำความสะอาดเบื้องต้น อาจทำความสะอาดที่พื้นคร่าวๆ เพื่อให้เดินได้สะดวก แต่ต้องระวังไม่ให้พื้นลื่น เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ หลังจากนั้นให้ทำความสะอาดจากส่วนบนลงมาด้านล่าง สิ่งของต่างๆที่อมน้ำให้ย้ายออกมาไว้นอกบ้าน เช่น เครื่องไม้ โซฟา กระดาษ เพื่อลดปัญหาเรื่องกลิ่นอับชื้นเน่าเหม็น เช่น ผนังติดวอลเปเปอร์ให้ทำการลอกออกแล้วนำไปทิ้งนอกบ้าน ชุดโซฟาเครื่องเรือนต่างๆ ให้นำออกไปตากแดด ไล่ความชื้น หากเป็นพื้นไม้ปาร์เกต์ ให้ทำการรื้อไม้ปาร์เกต์ออก นำไปผึ่งตากแดดไว้

หลังจากนั้นพยายามเปิดผิวพื้น และผนังให้ระบายอากาศ ระบายความชื้นออกมาได้สะดวก รอให้พื้นผนังแห้งอย่างน้อย 7 วันหลังน้ำแห้ง แล้วจึงทำการซ่อมแซม

ตรวจสอบงานระบบต่างๆ ทั้งไฟฟ้าและประปา การตรวจสอบระบบไฟฟ้าต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะอันตรายถึงชีวิตได้ ควรทำการปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งไม่ต่ำกว่า 7 วัน แล้วทำการสับคัตเอาต์ ปล่อยกระแสไฟเข้า หากยังมีการช็อตอยู่ให้ทิ้งไว้ให้แห้งต่อหรือตามช่างไฟมาทำการตรวจสอบ

ระบบประปาให้ทำการตรวจสอบถังน้ำทั้ง ถังบำบัด ถังเก็บน้ำ และถังดักไขมัน ให้ทำความสะอาดให้เรียบร้อย เอาดินโคลนออกจากถัง สำหรับถังบำบัด ให้นำเชื้อแบคทีเรียเติมลงในระบบฝั่งช่องที่มีลูกบอลพลาสติกเล็กๆ ก็จะกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ถังน้ำหากเป็นบนดินให้ตรวจสอบความเสียหาย และทำความสะอาดสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่หากเป็นถังน้ำใต้ดินจะลำบากในการทำความสะอาดเพราะหากทำไม่ถูกต้องอาจทำให้ถังแตกเสียหาย

การเตรียมรับมือน้ำท่วมในอนาคต เนื่องจากเราไม่อาจคาดเดาได้ว่าน้ำจะท่วมอีกเมื่อใด สิ่งที่ต้องเตรียมตัวคือเรื่องของสิ่งของต่างๆ ที่จะต้องพร้อมในการใช้งานเมื่อเกิดน้ำท่วม เช่น อาหารสำรอง ไฟฉาย ยารักษาโรค น้ำดื่ม น้ำใช้ หรืออุปกรณ์บำบัดน้ำเพื่อใช้สอยหรือระบายทิ้ง

ขณะเดียวกันอาจทำการตรวจสอบว่าน้ำเข้าบ้านมาจากที่ใดบ้าง พื้นที่ใดของบ้านจะมีน้ำเข้ามาก่อนหลัง แล้วสามารถวางแผนในการป้องกัน หรือชะลอให้น้ำเข้าบ้านเราได้ช้าลง หรือแจ้งเตือนการมาถึงของน้ำเพื่อที่จะเตรียมพร้อมและควรประเมินความยอมรับน้ำที่เข้าท่วมเสียก่อนว่าจะยอมให้เข้ามาได้ขนาดไหน เช่น ยอมให้เข้าได้ในระดับไม่เกิน 1 เมตร แสดงว่า ตั้งแต่ระดับพื้นจนถึง 1 เมตร จะต้องตั้งหรือวางสิ่งของที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ไม่หนัก และเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ที่อยู่ในระดับดังกล่าวจะต้องคงทนต่อการจมน้ำ และแข็งแรงเพียงพอในการรับน้ำหนัก

พีระพงษ์ บุญรังสี โซลูชั่นพาร์ทเนอร์ (หมอบ้าน) บริษัท เอสซีจี เอ็กซพีเรียนซ์ จำกัด เล่าว่า บ้านในเขตเมืองส่วนใหญ่มักเป็นบ้านปูน ขณะที่น้ำกำลังจะท่วม สิ่งที่ควรประเมินก่อน คือระดับความสูงของน้ำและความรุนแรงของสถานการณ์ ควรประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ จากนั้นจะได้วางแผนป้องกัน สิ่งที่ตามมาคือ การจัดเตรียมข้าวของต่างๆที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต และการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์เพื่อสร้างแนวป้องกันน้ำ สิ่งที่เกิดขึ้น คือวัสดุอุปกรณ์ที่จะนำมาป้องกันน้ำท่วมนั้นค่อนข้างหาซื้อยากและมีราคาสูงกว่าปกติ รวมทั้งตัวช่างก็หาได้ยากด้วย ถ้าเป็นไปได้ควรเตรียมตัวล่วงหน้าประมาณ 2 สัปดาห์ แนวทางในการปฏิบัตินั้นแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ เช่น ถ้าน้ำแค่ไหลผ่านระดับน้ำไม่สูงกว่า 20 เซนติเมตร การทำเพียงแผงกั้นน้ำบริเวณทางเข้าบ้านน่าจะเพียงพอ เพราะแรงดันและน้ำหนักของมวลน้ำนั้นไม่มากพอที่จะสร้างความเสียหาย วัสดุที่นำมาใช้ก็เป็นเพียงวัสดุชั่วคราวรื้อถอนได้ง่าย

แต่ถ้าระดับน้ำสูงประมาณครึ่งเมตรจำเป็นต้องทำแผงกั้นที่แข็งแรงถาวรมากขึ้น อุดปิดท่อระบายน้ำ โถชักโครก เนื่องจากน้ำจะพยายามรักษาระดับแรงดันให้สมดุล และจำเป็นต้องตัดกระแสไฟฟ้าที่ชั้นล่าง เนื่องจากปลั๊กไฟส่วนใหญ่มักติดตั้งสูงจากระดับพื้นชั้นล่างประมาณ 30 เซนติเมตร ในกรณีที่ระดับน้ำสูงเกินกว่าครึ่งเมตรควรจะอพยพออกจากบ้าน

ลองนึกดูว่าน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร มีน้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม ถ้าเกิดน้ำท่วมขังที่บ้านเป็นเวลานาน น้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม ที่กดทับลงบนพื้นบ้านขนาด 1 ตารางเมตร หรือซัดกระแทกแนวรั้วบ้านเป็นระยะ ๆ จะสร้างความเสียหายให้กับบ้านได้มากแค่ไหน นอกจากนี้น้ำยังสามารถดันตัวเองผ่านเข้ามาทางรอยต่อ รอยแยก ตามพื้น ผนัง วงกบ ช่องเปิดซึ่งถ้าบ้านปูนก่อสร้างพื้นด้วยแผ่นพื้นสำเร็จน้ำสามารถซึมขึ้นตามรอยต่อแผ่นได้ ถ้าบ้านปลูกสร้างมานานแล้วน้ำสามารถซึมผ่านรอยต่อผนังกับวงกบ รอยแตกร้าวช่วงต่อพื้นกับผนัง ยาแนวกระเบื้องที่พื้น แม้จะมีการป้องกันน้ำเข้าทางประตูแล้วก็ตาม อาจจะพบน้ำซึมเอ่อบนพื้นบ้านอยู่บ้างก็ถือว่าเป็นปกติ

เมื่อน้ำลดแล้วสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจซ่อมแซมบ้าน ได้แก่ งบประมาณที่มี และรายการงานซึ่งควรตรวจสอบจากความเสียหายเริ่มจากแนวรั้วภายนอกไล่เข้ามาที่พื้น ผนัง เพดาน งานระบบไฟฟ้า ระบบสุขาภิบาล โครงสร้างเสาคานภายในตัวบ้าน จนถึงข้าวของเครื่องใช้ เครื่องเรือน ซึ่งควรซ่อมแซมตามลำดับความจำเป็นในการใช้งาน หลังจากล้างทำความสะอาดบ้านเสร็จแล้วควรรอจนกว่าตัวบ้านจะแห้งสนิทก่อนทำการซ่อมแซมซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลาถึง 2 สัปดาห์

สำหรับการเตรียมบ้านรับน้ำท่วมในครั้งต่อไป สิ่งที่ควรใส่ใจได้แก่ ระบบท่อระบายน้ำไม่ให้อุดตัน พื้นบ้านชั้นล่างควรปรับเปลี่ยนใช้วัสดุปูพื้นที่ดูแลทำความสะอาดได้ง่าย เช่น กระเบื้องเซรามิก หรือซีเมนต์ขัด ควรจัดให้มีเบรกเกอร์ควบคุมปลั๊กไฟที่ระดับน้ำท่วมถึงแยกออกมาต่างหาก อาจออกแบบวิธีการติดตั้งแผงกั้นน้ำให้สามารถติดตั้งได้โดยสะดวกรวดเร็ว.




จาก ....................... เดลินิวส์ คอลัมน์วาไรตี้ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
 


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 23:55


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger