เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 01-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน 2563

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 1 - 2 มิ.ย. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ยังคงทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 6 มิ.ย. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกกดอากาศต่ำกำลังค่อนข้างแรงปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอล ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ ตลอดช่วง












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 01-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ศึกหอยแครงสุราษฎร์ฯ เดือด เรือต่างถิ่นบุกจับหอยชุมชนลีเล็ด แถมเผาขนำทิ้ง

ศึกหอยแครงสุราษฎร์เดือด เรือประมงพื้นบ้านห้ามไม่ฟัง บุกเข้าจับหอยเลี้ยงชุมชนลีเล็ด แถมเผาขนำเฝ้าหอยเขตห้ามจับ ก่อนหน้านี้ ผอ.สำนักทรัพยากรฯ ที่ 4 มาห้ามทัพ พอ จนท.กลับก็แห่มาจับเหมือนเดิม



เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. วันที่ 31 พ.ค.63 ได้เกิดเหตุไฟไหม้ขนำเฝ้าคอกหอยกลางทะเลของชาวบ้านชุมชนบ้านคลองราง ท้องที่หมู่ 2 ต.ลีเล็ด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ภายหลังทราบเหตุ นายประเสริฐ ชัญจุกร กำนันตำบลลีเล็ด พร้อมชาวบ้านรีบรุดไปยังที่เกิดเหตุ แต่ไม่สามารถช่วยอะไรได้ แต่ยังโชคดีไม่มีผู้ใดติดอยู่บนขนำ โดยพบเพลิงกำลังลุกไหม้อย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นขนำไม้ที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ตั้งอยู่สูงจากพื้นน้ำประมาณ 5 เมตร ทำให้เพลิงไหม้เสียหายเกือบทั้งหมดเหลือแต่เสา สำหรับคอกหอยดังกล่าวมีเนื้อที่เลี้ยงหอยแครงประมาณ 80 ไร่ ก่อนนี้เจ้าของได้ซื้อลูกหอยมาปล่อยเลี้ยงไว้ ได้ถูกชาวบ้านจากถิ่นอื่นเข้ามาจับลูกหอยไปขายจนหมดแล้ว

เบื้องต้นทราบว่า ก่อนเกิดเหตุได้มีชาวประมงพื้นบ้านกว่า 500 คน นำเรือหางยาวประมาณกว่า 300 ลำ เข้าไปจับหอยแครงในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวอีก โดยชาวบ้านในชุมชน ต.ลีเล็ด และเจ้าของคอกหอยนำเรือติดลำโพงออกมาประกาศขอร้องและห้ามไม่ให้เข้าพื้นที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่สงวนของชุมชน ได้ซื้อลูกหอยมาเลี้ยงไม่ใช่ลูกหอยตามธรรมชาติ และหอยมีขนาดใหญ่ รอการจับขาย ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของชุมชน

ข่าวแจ้งว่า ช่วงมีการประกาศออกลำโพงนั้น อีกฟากหนึ่งได้เร่งเครื่องเรือหางยาวดังสนั่น และมีชาวชุมชนลีเล็ดเห็นเรือฮอนด้าขนาดเล็ก 1 ลำ มีคนนั่งอยู่ในเรือ 3 คน แล่นเข้าไปยังขนำเฝ้าหอยที่เกิดเหตุ แล้วขว้างขวดลักษณะคล้ายขวดระเบิดเพลิงใส่น้ำมันขึ้นไปยังขนำเกิดไฟลุกไหม้ โดยเรือที่ก่อเหตุได้แล่นมุ่งหน้าไปทางเขต อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ล่าสุด นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มอบให้ นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วน

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้าเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม มีชาวประมงพื้นบ้านจากหลายแห่งประมาณ 1 หมื่นคน นำเรือหางยาวกว่า 1,000 ลำ มาจอดลอยลำเตรียมลงจับหอยแครง โดยนายวิชัย สมรูป ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 สุราษฎร์ธานี และนายประเสริฐ ชัญจุกร กำนัน ต.ลีเล็ด อ.พุนพิน ได้ชี้แจงเป็นพื้นที่ขออุทธรณ์เลี้ยงของชุมชน เนื่องจากอยู่นอกเขตอนุรักษ์ 1,000 เมตร ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีอนุญาตให้ชาวประมงพื้นบ้านเข้าจับลูกหอยได้ ขอให้ชาวประมงพื้นบ้านออกจากพื้นที่ไปก่อน โดยจะมีการประชุมหาข้อสรุปในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ซึ่งได้ยอมออกไป แต่เมื่อเรือนายวิชัยเดินทางกลับ ชาวประมงพื้นบ้านกลับนำเรือร่วม 200 ลำ กลับเข้าไปในพื้นที่จับหอยอีก


https://www.thairath.co.th/news/local/south/1857834

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 01-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ปิด "อ่าวมาหยา" 2 ปี สวรรค์อันดามันฟื้นตัว สุดทึ่งปรากฏการณ์ฉลามหูดำ ..................... โดย ปิ่น บุตรี


อ่าวมาหยา สวรรค์แห่งอันดามัน กับการปิดอ่าวให้ให้ธรรมชาติฟื้นตัว ที่ดำเนินการมา 2 ปีแล้ว

ครบ 2 ปี ปิดอ่าวมาหยา สวรรค์อันดามันทยอยฟื้นตัว ธรรมชาติร่วมสร้างปรากฏการณ์ชวนทึ่งส่งสัตว์ทะเลมากหน้าหลายตาเข้ามาในอ่าว โดยเฉพาะสัตว์หายากฝูงฉลามหูดำเกือบ 100 ตัว ยืนยันประสิทธิผลของการปิดอ่าวมาหยา

1 มิถุนายน 2561 เป็นวันที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ได้ประกาศปิด "อ่าวมาหยา" (และอ่าวโล๊ะซามะ) ไม่อนุญาตให้ประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวหรือกิจกรรมใด ๆ ในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้ธรรมชาติพักฟื้นตัว ซึ่งแม้จะมีผู้สูญเสียผลประโยชน์บางส่วนคัดค้าน แต่ก็ไม่อาจต้านทานกระแสของคนไทยส่วนใหญ่ที่เห็นด้วยกับการปิดอ่าวดังกล่าว

แล้วทำไม ? ถึงต้องปิดอ่าวมาหยา ทั้ง ๆ ที่อ่าวแห่งนี้ยังคงเดินหน้าสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ !?!


สวรรค์ป่วย จึงต้องปิด !

อ่าวมาหยา ตั้งอยู่ที่เกาะพีพีเล แห่งหมู่เกาะพีพี (มี 2 เกาะใหญ่สำคัญคือ เกาะพีพีเลและพีพีดอน) อยู่ภายใต้การดูแลของ "อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี" จังหวัดกระบี่

อ่าวมาหยา มีลักษณะเป็นเวิ้งอ่าวเล็ก ๆ ที่มีภูเขาหินปูนโอบล้อม มีหาดทรายทอดตัวโค้งงาม พื้นทรายละเอียดยิบขาวเนียน น้ำทะเลสวยใสดุจดังสระว่ายน้ำธรรมชาติแห่งท้องทะเลอันดามัน จนอ่าวมาหยาถูกยกให้เป็น "สวรรค์แห่งอันดามัน"

นอกจากมนต์เสน่ห์ความงามที่เป็นชื่อเสียงดึงดูด เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว อ่าวมาหยาเคยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง "เดอะบีช" (The Beach) ก่อนออกฉายเมื่อปี 2543 ซึ่งทำให้อ่าวแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดังระบือไกลมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันอ่าวมาหยาเป็นทะเลไทยอันดับต้น ๆ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหมายปอง ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของทุกปี แต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวมากถึง 3-4 พันคน เดินทางสู่อ่าวมาหยา ขึ้นไปเหยียบอัดแน่นกันบนพื้นที่เล็ก ๆ ของอ่าวชื่อดังแห่งนี้ ทั้ง ๆ ที่อ่าวมาหยามีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวได้เพียงแค่ 375 คน/วัน เท่านั้น (ข้อมูลจาก อส.)

เมื่อมีคนมาเที่ยวอ่าวมาหยาจนล้นทะลักเกินพอดีไปมาก ทำให้อ่าวมาหยามีสภาพเสื่อมโทรม หาดทรายที่เต็มแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวทำให้หาดทรายทรุดตัว มีขยะเกลื่อนกลาด น้ำทะเลแม้เบื้องบนสวยใส แต่เบื้องล่างกลับขุ่นมัว โลกใต้ทะเลแนวการังเสียหายพังยับจากการถูกเหยียบย่ำและการเจาะกระแทกของสมอเรือ

อ่าวมาหยามีสภาพแบบนี้มายาวนานนับสิบปี จนเกิดอาการป่วยไข้สะสมเรื่อยมา ก่อนจะเข้าสู่สภาพเสื่อมโทรมอย่างหนัก จนกรมอุทยานฯ ในฐานะของหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ต้องประกาศปิดเกาะฟื้นฟูสภาพธรรมชาติ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูให้สภาพธรรมชาติของอ่าวทั้งบนบกและใต้น้ำค่อย ๆ ฟื้นคืนชีวิตกลับมาสมบูรณ์สวยงามอีกครั้ง


ธรรมชาติส่งสัญญาณ

การปิดอ่าวมาหยา เบื้องต้น กรมอุทยานฯ ได้กำหนดปิดอ่าวเป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ 1 มิถุนายน ? 30 กันยายน 2561 เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องผลกระทบจากการท่องเที่ยว และก็ไม่ได้เป็นการปิดตายอ่าวมาหยา แต่อนุญาตให้ผู้ประกอบการนำนักท่องเที่ยวมาลอยเรือชมความงามของอ่าวมาหยาจากภายนอกในจุดที่กำหนดโดยมีทุ่นไข่ปลาเป็นแนวกั้น


ฉลามหูดำ สัตว์ทะเลหายากที่มาสร้างปรากฏการณ์อันน่าทึ่งให้กับอ่าวมาหยามากที่สุด

อย่างไรก็ดีหลังการปิดอ่าวมาหยาได้ไม่นาน เหมือนกับว่าธรรมชาติได้ส่งสัญญาณบางอย่าง เมื่อ "ฉลามหูดำ" สัตว์หายากที่หายจากอ่าวมาหยาไปนาน ได้เข้ามาแหวกว่ายหาอาหารในอ่าวแห่งนี้ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีฉลาม และฉลามหูดำเข้ามาในพื้นที่อ่าวมาหยาอย่างต่อเนื่อง

นั่นจึงทำให้ทีมนักวิจัยที่ติดตามเรื่องนี้ เสนอให้มีการปิดอ่าวมาหยาต่อไปเพื่อให้สภาพธรรมชาติฟื้นตัวอย่างเต็มที่ อันนำมาสู่แผนการปิดอ่าวมาหยาแบบไม่ให้มีกิจกรรมท่องเที่ยว ซึ่ง ณ ตอนนี้กำหนดเวลาปิดอ่าวไว้ 3 ปี (มิ.ย.61-พ.ค.64)


ฟื้นฟูสู่อ่าวมาหยาโฉมใหม่

หลังปิดอ่าวมาหยา ทางกรมอุทยานฯ ได้จับมือกับหลายหน่วยงานดำเนินการต่าง ๆ ตามแผนฟื้นฟูต่าง ๆ อาทิ

การปิดน่านน้ำด้วยการติดตั้งทุ่นไข่ปลา พร้อมธงสัญญาญเตือนห้ามเข้าอย่างชัดเจน, จับมือกับคนในพื้นที่และอาสาสมัครดำเนินการ Big Cleaning ขนานใหญ่ ทั้งทำความสะอาดอ่าว เก็บขยะบนบกและใต้ท้องทะเล ทำความสะอาดแนวปะการัง

หลังจากนั้นก็ได้มีการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวฟื้นฟูสภาพป่าชายหาด ซึ่งมีทั้งพืชที่เคยมีอยู่แล้วบนเกาะ และพืชบางชนิดที่ช่วยเกาะยึดหน้าดิน เพื่อป้องกันการพังทลายของเนินทราย



ขณะที่การฟื้นฟูโลกใต้ทะเลก็ได้ทำการปลูกและฟื้นฟูแนวปะการัง เนื่องจากปะการังจำนวนมากบริเวณอ่าวมาหยา เสียหายยับเยิน (โดยเฉพาะทางฝั่งซ้าย) รวมถึงมีการติดตั้งกล้องถ่ายภาพใต้น้ำ เพื่อสำรวจระบบนิเวศของอ่าวมาหยา ซึ่งก็ทำให้ได้พบกับสัตว์ทะเลหลากหลายมาปรากฏกายอยู่ในบริเวณอ่าวมาหยาแห่งนี้

นอกจากนี้กรมอุทยานฯ ยังทำการสร้างท่าเทียบเรือเพื่ออำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวที่อ่าวโล๊ะซามะ ซึ่งเป็นบริเวณหลังอ่าวมาหยา พร้อมทั้งเส้นทางเดินจากท่าเทียบเรือเชื่อมต่อไปยังอ่าวมาหยา เพื่อป้องกันไม่ให้เรือไปจอดเทียบท่าที่หน้าอ่าวแล้วส่งผลกระทบต่อธรรมชาติเหมือนช่วงก่อนปิดอ่าว อีกทั้งยังมีแผนการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวหลังอ่าวมาหยากลับมาเปิดอีกครั้ง


ภาพจำลองท่าเทียบเรือที่อ่าวโล๊ะซามะ (หลังอ่าวมาหยา)


2 ปี ปิดอ่าวมาหยา

หลังการปิดอ่าวมาหยา ทำให้ไม่มีกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์เข้ามาบริเวณอ่าวแห่งนี้ ทำให้ธรรมชาติที่เคยเสื่อมโทรมค่อย ๆ ฟื้นตัว พืชพันธุ์ป่าชายหาดขยายตัว ผักบุ้งทะเลเกิดขึ้นมาเองบนชายหาด ซึ่งมันเป็นพืชที่ช่วยยึดเกาะและป้องกันการพังทลายของแนวหาดทราย

น้ำทะเลกลับมาสวยใส หาดทรายสะอาด สงบ สวยงาม ปะการังใต้ทะเลฟื้นตัวทยอยกันเติบโต ที่สำคัญคือเมื่ออ่าวมาหยาไม่มีมนุษย์รบกวน บรรดาสัตว์ทะเลต่าง ๆ ก็พากันเริงร่า แสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ตัวจริงอีกครั้ง

สัตว์หลายชนิดหลังจากหนีมนุษย์ห่างหายไม่พบที่อ่าวมาหยามานานก็ทยอยกลับคืนสู่อ่าวอันงดงามแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น

-ปูลม ปูทหาร (ปูปั้นทราย) และปูเสฉวนบก พากันปรากฏโฉม ต่างจากเมื่อครั้งที่มีนักท่องเที่ยวคลาคล่ำบนชายหาดซึ่งแทบจะไม่เคยพบปูเหล่านี้เลย

-ปูไก่ สัตว์หายากที่หายตัวจากอ่าวมาหยาไปนาน กลับมาปรากฏตัวอีกครั้งนับสิบตัว บ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของสถนที่แห่งนี้หลังการปิดเกาะฟื้นฟู

-ปลาการ์ตูนส้มขาว เจ้านีโมน้อยผู้น่ารัก ปลาชนิดนี้ไม่ปรากฏที่อ่าวมาหยาในช่วงที่เปิดการท่องเที่ยว เพราะดอกไม้ทะเลที่เป็นบ้านของเจ้านีโมน้อย ถูกใบพัดเรือพัดปลิวกระจาย แต่เมื่อปิดอ่าว ดอกไม้ทะเลเติบโตไม่ถูกทำลาย เจ้านีโมก็ว่ายเข้ามาอยู่อาศัยในกอดอกไม้ทะเล บ้านหลังใหม่ของมันที่อ่าวมาหยา

-ฉลามวาฬ ยักษ์ใหญ่ใจแห่งท้องทะเล 1 ในสัตว์สงวนของไทยก็มาแหวกว่ายอวดโฉมบริเวณใกล้อ่าวมาหยา สร้างความฮือฮาให้ผู้พบเห็น แถมยังเป็นฉลามวาฬตัวใหญ่ยาวกว่า 5 เมตร คาดว่ามีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 2 ตัน ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งผลพวงจากการปิดอ่าวมาหยา

-ฉลามหูดำ สัตว์ทะเลหายาก ที่สร้างปรากฏการณ์อันน่าทึ่งให้กับอ่าวมาหยามากที่สุด เนื่องจากมีรายงานการพบฉลามหูดำมาแหวกว่ายที่อ่าวมาหยาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ 6 ตัว เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 61 จากนั้นท้องทะเลอ่าวมาหยาก็มีฉลามหูดำเข้ามาแหวกว่ายปรากฏเป็นข่าวอย่างเนื่อง จาก 20 ตัว 60 ตัว ไปจนถึงเกือบ 100 ตัว

นอกจากนี้แม่ฉลามยังได้เลือกอ่าวมาหยาคลอดลูกอีกหลายครั้ง สะท้อนให้เห็นว่าหลังปิดอ่าวฟื้นฟู ระบบนิเวศที่อ่าวมาหยาสมบูรณ์ขึ้นมาก เพราะฉลามเป็นสัตว์ทะเลอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร การมีฉลามแปลว่าต้องมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้วันนี้อ่าวมาหยาเป็นหนึ่งในจุดที่มีฉลามชุกชุมที่สุดในเมืองไทย

และนี่ก็คือเรื่องราว 2 ปีของการปิดอ่าวหมายา กับการกลับคืนมาของธรรมชาติ และสัตว์ทะเลต่าง ๆ ซึ่งเป็นดังดัชนีชี้วัดประสิทธิผลของการปิดอ่าว เพราะเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว ธรรมชาติก็หวนคืน สัตว์ต่าง ๆ พากันเริงร่า

ฟื้นชีวิตความงดงามของสวรรค์แห่งอันดามันให้กลับคืนมาอีกครั้ง


https://mgronline.com/travel/detail/9630000056526

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 01-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


อย่าเข้าใจผิด!! แยกขยะที่บ้านก่อนทิ้งทำไม! สุดท้ายเอาไปเทกองรวมกัน


เจ้าหน้าที่เก็บขยะกำลังคัดแยกขยะ ขั้นตอนนี้หลายคนอาจจะไม่เห็น จึงเข้าใจผิด

หลายคนไม่ตระหนัก ไม่ใส่ใจถึงการแยกขยะก่อนทิ้งว่ามีความสำคัญมากอย่างไร แถมยังไปเข้าใจผิดๆ อีกว่าพนักงานเก็บขยะมักง่าย เพราะยกถังขยะจากที่บ้านไปเทกองรวมกันในรถเก็บขยะ

แต่ความเป็นจริงนั้น "พวกเขาต้องทำงานแข่งกับเวลา จึงเทรวมกันไว้ก่อน" อีกทั้งแต่ละบ้านส่วนมากก็ยังไม่ได้แยกขยะทิ้งอีกด้วย พวกเขาจึงเทถังขยะของเราเพื่อนำไปคัดแยกประเภทขยะอีกรอบบนรถ ไม่ใช่เอาไปเทรวมกัน

ต่อจากนั้น พวกเขาจะคัดแยกขยะแต่ละประเภทกระจายไปตามโรงงานรับซื้อของเก่า หรือโรงงานจัดการขยะรีไซเคิล เพราะขยะประเภทต่างๆ ไม่ใช่ขยะทั้งหมดที่จะเอาไปรีไซเคิลได้ (ชมลิงก์ แยกขยะไปทำไม)

ยิ่งช่วงนี้ เป็นช่วงที่ลดการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ทำให้ขยะตามบ้านเรือนมีปริมาณมากขึ้น จากการ Work from Home หยุดเชื้อ เพื่อชาติ แต่คงหยุดไม่ได้ที่ต้องทิ้งขยะในแต่ละวัน แต่ถ้าเราร่วมกันทำตั้งแต่ต้นทางโดยการคัดแยกก่อนทิ้ง ย่อมจะทำให้การจัดการขยะโดยพนักงานเก็บขยะรวดเร็ว และเกิดประสิทธิภาพต่อการเอาไปรีไซเคิลมากขึ้นด้วย

และในยามยากลำบากเช่นตอนนี้ การนำขยะกลับมารีไซเคิล (Recycle) เพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ ไม่ว่าเราจะทิ้งผ่านรถเก็บขยะของ กทม. ของเทศบาล ก็ถือว่าเรานั้นช่วยทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น หรือจะนำไปขายให้กับซาเล้ง หรือรถรับซื้อของเก่าที่เราเห็นจนชินตาตั้งแต่เด็ก ก็สามารถสร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ ให้กับครอบครัวได้อีกทางหนึ่งด้วย


เจ้าหน้าที่เก็บขยะ กำลังคัดแยกขยะ ถ้าเราคัดแยกก่อนทิ้งย่อมจะทำให้ขยะไม่ปนเปื้อน นำกลับมารีไซเคิลมากกว่านำไปสู่หลุมฝังกลบ

ส่วนใครที่ต้องการก้าวไปสู่วิถีชีวิตใหม่ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม New Normal ของพวกเราก็ควรจะมีส่วนร่วมในการเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวของเราเอง ใครที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร ก็ให้เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการลดการสร้างขยะ เช่น การลดการใช้บรรจุภัณฑ์ (Reduce) อย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างๆ ที่ใช้แล้วทิ้ง (Single-use plastic) ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติกก๊อบแก๊บ หลอดพลาสติก ซึ่งตอนนี้ห้างสรรพสินค้า-ร้านสะดวกซื้อเขาก็ไม่ใส่ให้เราฟรีๆ จนพวกเราเริ่มคุ้นชินกันแล้ว

ส่วนการนำวัสดุหรือสิ่งของกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญที่ทุกคนช่วยลดปริมาณขยะได้ทันที อย่างการเลือกใช้ หรือพกพาภาชนะต่างๆ ทดแทนการใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น กระบอกน้ำ แก้วน้ำ หรือแก้วกาแฟส่วนตัว การนำกล่องบรรจุอาหารไปใช้ซื้ออาหารสดตามตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต หรือการพกกล่องข้าวไปซื้ออาหารตามสั่งเลยก็ได้เพื่อช่วยลดการใช้กล่องโฟมหรือกล่องกระดาษ

หรือแม้แต่ถุงก๊อบแก๊บที่ยังใช้ได้ ลองหัดเป็นคนยุคใหม่ที่แคร์ต่อสิ่งแวดล้อม ง่ายๆ โดยการนำถุงมาใช้ซ้ำหลายๆ ครั้ง และฝึกปฏิเสธการรับถุงจากร้านค้า พกถุงใส่ของ แก้วน้ำส่วนตัวติดตัวอยู่เสมอ เป็นต้น พอทุกคนปฏิบัติตัวแบบวิถีชีวิตใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมเกิดผลกระทบที่ดีขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอนในอีกไม่ช้า


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9630000056632

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 01-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


"วราวุธ" แนะหาทางเฝ้าระวัง "ฉลาม" อย่าตั้งค่าหัวล่า

รมว.ทส.ระบุห่วงทุกฝ่าย ขอให้ปรับแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ พร้อมผลักดันใช้กฎหมายคุ้มครองฉลาม แต่อย่าตั้งค่าหัวเพื่อให้ชาวบ้านล่า เพราะน่าจะเป็นสัญชาตญาณป้องกันตัวของสัตว์

จากกรณีนายกเทศมนตรีตำบลเจ๊ะบิลัง จ.สตูล ประกาศตั้งค่าล่าหัวฉลาม 1,000 บาท หากใครจับได้ในเขตคลองเจ๊ะบิลง ตั้งแต่จุดท่าเรือโลมาจนถึงท่าเรือ อบจ. สตูล หลังเกิดเหตุฉลามกัดเด็กชายวัย 12 ปี จนต้องเย็บกว่า 50 เข็ม



วันนี้ (31 พ.ค.2563) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า แม้ยังไม่มีกฎหมายกำหนดโทษในการล่าฉลาม แต่ฉลามนับเป็นสัตว์ทะเลที่หายากและเป็นสัตว์ที่ควบคุมสมดุลระบบนิเวศทางทะเล ขออย่าล่าเพื่อเงินรางวัล วอนให้ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนจะดีกว่า เน้นย้ำห่วงใยเด็ก ๆ และประชาชนในพื้นที่ ให้เล่นน้ำอย่างระมัดระวัง และอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ พร้อมเสนอคุ้มครองฉลามเป็นสัตว์สงวนคุ้มครองตามกฎหมาย ต่อไป

นายวราวุธกล่าวว่า ตนได้รับข่าวกรณีมีการตั้งค่าหัวล่าฉลามในพื้นที่ ต.เจ๊ะบิลัง จ.สตูล ตนยอมรับว่ารู้สึกตำหนิการกระทำดังกล่าว เนื่องจาก ฉลามเป็นสัตว์ทะเลที่หายากในปัจจุบัน อีกทั้งนับเป็นสัตว์ที่เป็นผู้ควบคุมความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล นอกจากนี้ ช่วงหลายปีที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พยายามรณรงค์เลิกการล่าฉลามเพื่อการบริโภค เพื่อให้จำนวนประชากรฉลามเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับเต่าทะเล วาฬ โลมา และพะยูน

"การกำหนดค่าหัวฉลาม เปรียบเสมือนสนับสนุนให้ออกล่าเพื่อเงินรางวัล ซึ่งหากเทียบประโยชน์ที่ฉลามเป็นสัตว์ที่ควบคุมสมดุลของระบบนิเวศแล้ว ก็ไม่อาจประเมินเป็นจำนวนเงินได้"

อยากจะฝากถึงท่านนายกเทศมนตรีตำบลเจ๊ะบิลัง อย่าได้ตั้งค่าหัวฉลามหรือสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนออกไล่ล่าฉลามเพื่อเงินรางวัล แต่อยากให้ประกาศหรือติดป้ายแจ้งเตือนแทนจะดีกว่า

สำหรับตนจะขอบันทึกไว้ว่า ต.เจ๊ะบิลัง คือ พื้นที่ที่มีระบบนิเวศทางทะเลสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งความสมบูรณ์แบบนี้นับวันยิ่งหาได้น้อยลง

อย่างไรก็ตามก็ยังคงเป็นห่วงเด็ก ๆ ที่ลงเล่นน้ำในบริเวณดังกล่าว อาจจะต้องเล่นน้ำด้วยความระมัดระวัง และควรอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่

"ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ย่อม มีพฤติกรรมการป้องกันตัวเองโดยธรรมชาติ แต่เพียงเพื่อการอยู่รอดและการดำรงชีวิต การสั่งล่าไม่ใช่เป็นการป้องกันตัวตามธรรมชาติ แม้อาจจะยังไม่ผิดกฎหมาย แต่นับว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดจากที่ธรรมชาติกำหนด ธรรมชาติสร้างสิ่งต่าง ๆ บนพื้นฐานความสมเหตุสมผล โดยทุกอย่างจะสร้างสมดุลกันเองตามธรรมชาติ การล่าไม่ใช่การลงโทษสัตว์ทะเล แต่เป็นการทำลายสมบัติที่จะต้องตกเป็นของลูกหลานในอนาคต"

ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ตนได้ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ พร้อมนักวิชาการลงตรวจสอบทันที ทราบว่า ฉลามดังกล่าวเป็นฉลามหัวบาตร ซึ่งโดยธรรมชาติมีนิสัยรักสงบ ไม่ดุร้าย จากกรณีดังกล่าว น่าจะเกิดจากการตกใจ หรืออาจจะเข้าใกล้ตัวฉลามมากเกินไป ซึ่งอาจคิดว่าศัตรูจึงป้องกันตัว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฉลามจะยังไม่ถูกกำหนดเป็นสัตว์คุ้มครองหรือมีกฎหมายคุ้มครอง แต่ในปัจจุบันจำนวนประชากรฉลามในประเทศไทยก็พบไม่มากและจัดอยู่ในประเภทสัตว์ทะเลใกล้ที่จะหายาก ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสมัยที่นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ดำรงตำแหน่งอธิบดี ได้มีนโยบายการผลักดันให้ฉลามในประเทศไทย ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เช่นเดียวกับฉลามวาฬ วาฬโอมุระ เต่ามะเฟือง และพะยูน

ทั้งนี้ตนได้สานงานต่อและได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่และนักวิชาการติดตามพฤติกรรมฉลามหัวบาตร ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพิเศษ รวมทั้งสำรวจจำนวนฉลามในพื้นที่และรายงานให้ตนทราบ เพื่อจะได้กำหนดมาตรการในการคุ้มครองและป้องกัน ต่อไป

อยากย้ำกับพี่น้องประชาชนที่พบเห็นฉลามหัวบาตรในพื้นที่ ขออย่าล่า แต่ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจะได้ส่งทีมเจ้าหน้าดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนและหลักวิชาการที่ถูกต้อง


https://news.thaipbs.or.th/content/293148

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 01:26


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger