#25
|
||||
|
||||
'โลกป่วย คนป่วน' ..... อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (ต่อ) เรื่องการเตือนภัยก็มีข้อบกพร่องเยอะเหมือนกัน? ผมคิดว่าก่อนอื่นเราต้องไปสร้างขีดความสามารถที่ปลายทาง แปลผลตรงนั้น พยากรณ์ตรงนั้น เตือนตรงนั้น การเตือนที่ปลายทางดีกว่าการเตือนที่ต้นทาง เพราะถ้าคุณเตือนผิด คนที่เตือนผิดจะมาด่าเดี๋ยวนั้นเลย แต่เราต้องไปสร้างขีดความสามารถที่ปลายทางให้ได้ เรื่องการถ่ายทอดความรู้ตรงนี้สำคัญ ความรู้ไม่ใช่ความรู้แบบวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไกลตัวคน บางอันอาจใช้ empirical เช่น มดมันคาบไข่ขึ้นมาตรงนั้นแล้วฝนจะตก อธิบายไม่ได้หรอกแต่มันเวิร์กก็ใช้ไปก่อน เราต้องพยายามเอามาโยงใช้ประโยชน์ให้ได้บ้าง แต่ตอนนี้ทุกคนไม่มองสิ่งรอบตัวเลย จะฟังวิทยุโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์นิดหน่อย เป็นช่องทางเดียวแล้วเดี๋ยวนี้ แทนที่จะคอยฟังว่าวันนี้ฝนจะตกรึเปล่า ก็ออกไปชะโงกหน้าต่างดูว่าฝนตกรึเปล่า ถ้าสังคมไปติดอยู่กับตรงนี้มากเกินไปจะลำบาก แล้วทัศนคติของคนมีปัญหาไหม มี คือที่ผ่านมาเรานึกเอาเองว่าอยู่กรุงเทพฯต้องแห้ง ที่มันแย่คือเงื่อนไขทางธรรมชาติกับเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมา พอมาถึงจุดหนึ่งเราจะไปไม่ไหว คนที่อายุน้อยว่าสามสิบปีที่ไม่เคยเห็นภาพกรุงเทพน้ำท่วมก็รู้สึกอีกอย่างหนึ่ง ไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนหกสิบเจ็ดสิบปีที่แล้วที่น้ำท่วมปีเว้นปีเลย ก็จะรู้สึกอย่างหนึ่ง ทีนี้พอเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นมามันก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ แต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้จัดการเรื่องนี้ได้ดีขึ้น อย่างกรุงเทพฯ คงต้องปล่อยไปแล้ว มันมาไกลเกินกว่าจะถอยกลับไปได้ แต่มันมีเมืองอื่นๆอีกหลายเมืองที่เข้าคิวรอจะเป็นเหมือนกรุงเทพฯ ถ้าเกิดเมืองในประเทศไทยเป็นเหมือนกรุงเทพฯหมดคงไม่ไหว การลงทุนตรงนี้จะมหาศาลมาก เพราะว่าถ้าเราออกแบบเมืองโดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องปริมาณน้ำ ในที่สุดน้ำมันก็จะย้อนกลับมาหาเราอยู่ดี คือเราสามารถจัดการให้เราอยู่กับน้ำได้ แต่ตอนนี้เราผลักให้การจัดการน้ำเป็นของหน่วยงานรัฐเป็นส่วนใหญ่ ถ้ามีระบบเอกชนหรือให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม สามารถทำให้เป็นธุรกิจที่มีรายได้ ตรงนั้นจะทำให้น้ำที่ไม่มีประโยชน์ที่ต้องปัดทิ้งลงทะเลมีมูลค่าขึ้นมา พอน้ำมีมูลค่าก็จะมีคนสนใจลงทุน นอกจากการตั้งรับแล้ว อาจารย์คิดอย่างไรกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมธรรมชาติ บางเรื่องมันอาจจะทำได้ แต่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวมันทำไม่ได้ อย่างเรื่องพายุในทางทฤษฎี ถ้าผมมีเครื่องบินสักลำหนึ่ง แล้วมีพายุใหญ่มา ผมก็ทิ้งระเบิดที่มีความเย็นมากๆ ลงไปคุณก็สลายพายุได้ หลักการไม่ได้ไฮเทคอะไร แต่อยู่ที่การปฏิบัติ ซึ่งเรื่องการสลายพายุ หรือการสลายฝนที่จีนเขาก็ใช้นะในโอลิมปิก อาจจะได้ประมาณ 40-60 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่าได้ผล ตอนนี้บางเรื่องมันมีความเป็นไปได้ แต่ต้องดูว่าคุ้มขนาดไหน ต้องจัดการให้ดี เทคโนโลยีถ้าใช้มากเกินไปมันก็เป็นอันตราย เพราะฉะนั้นผมมองว่าเราน่าจะใช้เทคโนโลยีไปทำให้คนมีความเข้มแข็งในระดับปลายทางดีกว่า เพราะต้นทางถ้าทำให้คนมายึดติดตรงนี้มากไป จะทำให้คนที่คุมตรงนี้ชี้ทางได้เลยว่าจะให้ฝนไปตกที่ไหน ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการคุมแบบนี้ มันจะนำไปสู่ปัญหาเชิงสังคมอีกมาก ตอนนี้มีคนไม่กี่คนที่จะตัดสินใจว่าให้กรุงเทพน้ำท่วมหรือไม่ท่วม มันก็ทำให้คนเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยอยู่แล้ว ในมุมกลับอาจจะอันตรายมากกว่า? ในภาพรวมผมว่ามันจะทำให้สถานการณ์เปราะบางมากขึ้น ถ้าให้เลือกระหว่างมีเทคโนโลยีคุมที่ต้นทางได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ กับไม่มีเทคโนโลยีเลย แล้วปล่อยไปตามบุญตามกรรม อย่างหลังอาจจะดีกว่า เพราะคนเราจะหาทางเอาตัวรอดของตัวเองอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต นั่นคือทุกคนจะมีวิธีที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง แล้ววิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะไปช่วยส่งเสริมกัน แต่ไม่ใช่คอนเซ็ปต์แบบท็อปดาวน์นะ สำหรับเมืองไทยนอกจากปัญหาเรื่องการจัดการแล้ว มีอะไรที่ต้องกังวลอีกบ้าง ปัญหาเรื่องชายฝั่ง ระยะเวลาไม่นานหรอก ยี่สิบปี สามสิบปีก็เห็นแล้ว มันจะทำให้การบริหารการจัดการยุ่งยากมากขึ้น เพราะเรามีปัญหาเรื่องการทรุดตัวของแผ่นดินในอัตราที่สูงมาก ตอนนี้เรามีนักวิจัยโดยเฉพาะเลยนะที่ใช้ดาวเทียมเรดาห์ดูว่าเป็นอย่างไร พบว่ามันทรุดตัว 2-3 เซนติเมตรต่อปี 10 ปีก็หนึ่งฟุต 20 ปี ก็ 2 ฟุต 30 ปีก็หนึ่งเมตร บวกเรื่องน้ำทะเลเพิ่มขึ้นทุกปี มันยากที่จะจัดการ บางคนบอกว่าไม่เป็นไรหรอกแค่กั้นกำแพง แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้น หลายปีก่อนอาจารย์เคยบอกว่าโลกยังไม่ป่วย ตอนนี้ถือว่าอาการแย่ลงไหมคะ ตอนนี้จะเรียกว่าป่วยก็ได้ในระดับหนึ่ง แต่ว่าป่วย ความหมายคือผิดปกติไปจากเดิม แล้วเราพยายามดึงมันกลับมาให้เหมือนเดิม แต่ตอนนี้โลกกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปอีกสถานภาพหนึ่ง สำหรับตัวโลกเองมันไม่ได้เดือดร้อนอะไรหรอก ที่เดือดร้อนจริงๆ คือมนุษย์ โลกก็มีวิวัฒนาการของมันไป จริงๆ บรรยากาศรอบโลกเป็นส่วนนิดเดียวเท่านั้นเอง ถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้นมาแล้วทำให้มนุษย์ทั้งโลกตายเรียบไปเลยนะ 7 พันล้านคน โลกใช้เวลาอีกไม่เกิน...ระดับเป็นหมื่นปีเท่านั้นเองมันก็กลับมาได้ เพราะตัวปัญหาจริงๆ ก็คือมนุษย์? อันนี้แน่นอน ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ต้องทำวิจัย แต่ตอนนี้เรากำลังจะดูว่าจะทำได้อย่างไรโดยที่ไม่เอาตัวปัญหา 7 พันล้านคนออกไป แถมยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอีก คือตอนนี้โจทย์ที่ตั้งกันอยู่นี่จะเอาทุกอย่างเลย ผมมองว่าป็นโจทย์ที่หาคำตอบไม่ได้ สำหรับผมเรื่องเชื้อเพลิงฟอสซิลอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะอีกไม่กี่ร้อยปีก็หมด ปัญหาเรื่องโลกร้อนเดี๋ยวมันแก้ของมันเอง ในระยะยาวผมไม่ได้แคร์หรอก ร้อยกว่าปีก็แค่ 2 เจเนอเรชั่นเอง แต่ผมสนใจประเด็นปัญหาใหม่ๆที่เกิดขึ้นมา เช่นเรื่องคุณภาพดิน พวกนี้อันตรายมาก เพราะดินถ้ามันเสื่อมสภาพไปแล้ว แก้ยาก นับหมื่นปี นับแสนปี ในการจะฟื้นสภาพมันเค็มแล้วมันเค็มเลย กว่าจะจืดใหม่ใช้เวลานานกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเยอะ เหมือนเรากำลังโฟกัสผิดจุด? เรามักจะมองอะไรที่มันใกล้ตัว แต่แค่มองเรื่องโลกร้อนก็นับว่าดีขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว เป็นการมองที่ระดับร้อยสองร้อยปี เมื่อก่อนมองแค่วันต่อวัน เราขยับจากมองวันต่อวันมาเป็นระดับร้อยปีถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลแล้ว ทุกอย่างมันต้องมีกระบวนการของมันไป แล้วก็ต้องมีการเจ็บตัวบ้าง แต่การเจ็บตัวที่ดีควรเป็นการเจ็บตัวโดยสมัครใจ ถือเป็นต้นทุนที่ทุกคนต้องแชร์กัน จาก .............. กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Life Style วันที่ 10 พฤศจิกายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
เรียบเรียงคำตอบ | |
|
|