#61
|
||||
|
||||
ไทยรัฐ
07-05-2015 เงี่ยหูฟังแก้ปัญหาประมง “ประยุทธ์” เช็กข้อมูลก่อนทีมอียูถึงไทย ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ผู้แทนกองทัพเรือได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชี้ แจงถึงความก้าวหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการประมง ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) โดยขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างการร่างกฎหมายลำดับรอง 70 ฉบับ ที่จะต้องออกตาม พ.ร.บ.ประมง พ.ศ.2558 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจะมีผลบังคับใช้ใน 60 วัน ส่วนการจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกันยับยั้งไอยูยูน ั้น นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้ทำให้เสร็จก่อนเดือน พ.ค.นี้ ด้านนายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 พ.ค.นี้ เจ้าหน้าที่จากอียูจะเดินทางมาไทย เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาไอยูยู ซึ่งกรมได้แปล พ.ร.บ.การประมง 2558 ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเรือ ความก้าวหน้าการติดตั้งระบบติดตามเรือ (วีเอ็มเอส) ไว้รองรับ และพร้อมพาไปดูระบบการจัดการเรือเข้า-ออกจากท่าเรือไทย (พอร์ตอิน-พอร์ตเอาต์) หากอียูต้องการลงพื้นที่ ซึ่งหลังจากการเข้ามาประเมินในวันที่ 10 พ.ค.นี้ อียูก็จะเข้ามาประเมินอีกเป็นระยะ และจะตัดสินสินค้าประมงไทยอีกครั้งประมาณเดือน ต.ค.นี้” ส่วนการเตรียมการออก พ.ร.ก.ประมง เพื่อให้มีผลบังคับใช้แก้ปัญหาไอยูยูได้อย่างรวดเร็ว อุดช่องโหว่ทางกฎหมายในช่วงที่ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 ยังไม่ทันมีผลบังคับใช้นั้น ขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ.
__________________
Saaychol |
#62
|
||||
|
||||
คม ชัด ลึก
10-05-2015 เรื่องเล่าอ่าวคั่นกระได จาก 'ผู้ร้าย' กลายเป็น 'พระเอก' ..................... รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม โดย เสาวลักษณ์ ประทุมทอง สมาคมรักษ์ทะเลไทย คนต้องการ "บ้าน" เป็นที่อยู่อาศัย สัตว์น้ำก็เช่นเดียวกัน ! ในปี 2551 สภาพเศรษฐกิจในหมู่บ้านคั่นกระไดย่ำแย่มาก เพราะทะเลเสื่อมโทรมอย่างหนัก ชาวบ้านบางคนต้องหันไปเป็นคนงานก่อสร้าง ทุกคนต่างมีคำถามอยู่ในใจว่า จะทำอย่างไรให้ปลากลับมา ? หลังจากได้เดินทางไปศึกษาดูงานการอนุรักษ์ทะเลที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช และได้เห็นชาวบ้านที่นั่นทำ บ้านปู พวกเขาก็กลับมาด้วยความหวัง พี่รุ่งแกเคยไปออกเรือใหญ่แถวทางใต้ แกเล่าให้ฟังว่า พวกเรือประมงพาณิชย์ชอบใช้วิธีทำ ซั้ง เพื่อล่อปลาเข้ามาเป็นฝูงแล้วก็ล้อมจับ วิธีนี้น่าจะเอามาดัดแปลงเป็น บ้านปลา ได้ แต่เราจะไม่ทำเหมือนเรือพาณิชย์ที่ใช้ซั้งล่อปลามาจับ เราจะทำซั้งเพื่อให้ลูกปลาได้เข้ามาหลบภัย ให้มันได้เจริญเติบโต แล้วก็ต้องตกลงกติกากันว่า ห้ามจับปลาที่ซั้ง เราจะปล่อยให้มันโต ซั้งกอ หรือบ้านปลา คือภูมิปัญญาชาวบ้านที่ประยุกต์มาจากการสังเกตธรรมชาติของฝูงปลา ที่จะต้องมีแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน มีที่หลบภัย ซั้งกอจะทำหน้าที่คล้ายปะการังเทียม แต่ใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในหมู่บ้าน ประกอบไปด้วย ทางมะพร้าว สำหรับทำเป็นกิ่งก้านของซั้งกอ เพื่อให้สัตว์น้ำได้เข้ามาหลบภัยโดยทางมะพร้าวที่ใช้นั้น ต้องเป็นทางมะพร้าวสด เพราะจะมีกลิ่นหอมที่ปลาชอบ ซั้งกอ 1 ต้นใช้ทางมะพร้าวราว 3-4 ต้น ขึ้นอยู่กับความลึกของน้ำ ไม้ไผ่ยาว 8-10 เมตร ใช้สำหรับทำเป็นต้นซั้งกอ ทุ่นซีเมนต์หล่อเป็นแท่ง หนักประมาณ 80 กิโลกรัม ใช้สำหรับถ่วงต้นซั้งไว้ให้อยู่กับที่เมื่อทิ้งซั้งกอลงสู่ทะเล ครั้งแรกเลยที่ทำซั้งกัน เราไปทิ้ง 3 กอ พอเช้ามา น้าเล็กแกมาโวยวายใหญ่เลย พวกมึงมาทิ้งกันอย่างนี้แล้วกูจะวางอวนได้ยังไง มันเกะกะนะ กูไม่ให้ทิ้ง ว่าแล้วแกก็ไปของแกคนเดียวเลย จัดการลากซั้ง 3 กอมารวมกันเป็นกระจุกเดียว เราก็ได้แต่มองหน้ากันเพราะน้าเล็กแกเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ แล้วอีกอย่างเราก็ยังไม่รู้ว่าซั้งมันจะได้ผลหรือเปล่าด้วย ปรากฏว่าแค่ 3 วันเท่านั้นเอง ปลาไอ้หม่องโกยมันมาจากไหนก็ไม่รู้ มันมาตอมอยู่ตรงนั้นแหละ แล้วก็มีแต่น้าเล็กคนเดียวที่วางอวนอยู่ตรงนั้น รอบนั้นคาดว่าแกจะวางไอ้หม่องโกยขายได้เป็นแสน เติมน้ำมันออกไปแค่ 3 ลิตรเอง เราก็ไปถาม เป็นไงล่ะคุณน้า ซั้งของพวกฉัน แกก็ยิ้มบอกว่า เออๆ ใช้ได้ๆ หลังจากนั้นมาเวลาที่เราทิ้งซั้งกัน น้าเล็กจะเข้ามาช่วยเป็นตัวหลักทุกครั้ง นอกจากซั้งกอแล้ว บ้านคั่นกระไดยังมีกระชังปูไข่ หรือ ธนาคารปู ที่ปัจจุบันชุมชนประมงพื้นบ้านในหลายจังหวัดเริ่มทำกันแพร่หลายมากขึ้น เพราะเป็นวิธีการขยายพันธุ์ปูม้าให้เพิ่มขึ้นอย่างได้ผล กิจกรรมนี้จะมีกลุ่มเด็กๆ เยาวชนในหมู่บ้านเป็นผู้ดูแลอย่างกระตือรือร้น เพราะนอกจากความสนุกสนานแล้ว แม่ปูที่สลัดไข่เสร็จ เด็กๆ ก็จะนำไปขายเป็นรายได้ของกลุ่มเยาวชน ทุกวันนี้ เราจะทิ้งซั้งกันปีละ 2 ครั้ง มีคนถามว่าที่จริงซั้งก็เหมือนกับปะการังเทียม ทำไมเราไม่ทิ้งปะการังเทียมไปเลย เราคิดว่า ซั้งกอมันมีความหมายมากกว่าปะการังเทียมที่ต้องใช้งบประมาณมาก ต้องติดต่อประสานให้ประมงจังหวัดมาช่วย แต่ซั้งเราทำจากวัสดุที่หาได้เอง ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก เวลาทำซั้งคนในหมู่บ้านก็จะมาช่วยกันทำ พอทุกคนได้มีส่วนร่วมก็จะรู้สึกว่าเป็นเจ้าของซั้งแล้วก็จะช่วยกันดูแล ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ แต่พวกเด็กๆ ก็จะมาช่วยกัน ทำให้เด็กๆ ของเราได้เรียนรู้ซึมซับการดูแลรักษาทะเลไปพร้อมๆ กับผู้ใหญ่ด้วย เมื่อปลากลับบ้าน... เกิดอะไรขึ้นที่นี่ โอ้โหย ขึ้นกันหัวขาวๆ เลย พี่น้อย โกศล จิตรจำลอง นายกสมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระได ชี้ให้เด็กๆ ในเรือดูลูกปลาทูฝูงใหญ่ที่ดำผุดดำว่ายอยู่ตามแนวซั้งกอ วันนี้ชาวบ้านออกมาทิ้งซั้งเพิ่มเพื่อเสริมแนวซั้งชุดเก่าที่เริ่มผุพัง กิจกรรมนี้พวกเขาทำต่อเนื่องกันมาหลายปีแล้ว เพราะการทำซั้งกอบังเกิดผลอย่างเกินคาดหมาย ทุกวันนี้ชาวประมงคั่นกระไดแทบไม่ต้องออกเรือไปหาปลาไกลถึงต่างหมู่บ้านอีกเลย เดี๋ยวนี้เราไม่ต้องออกเรือไปไกล แค่หน้าบ้านก็มีปลาให้จับ บางช่วงหมู่บ้านอื่นไม่ได้ปลากันเลย แต่หน้าบ้านเราได้กุ้งเป็นร้อยๆ กิโล แถมยังเป็นกุ้งไซส์ใหญ่ทั้งนั้น ขนาดน้าเล็กแกเรือลำเล็ก ออกได้แต่น้ำตื้น บางวันยังได้ปลาตั้งสองสามร้อยกิโล ไม่เพียงแต่ปลาเท่านั้น การทำธนาคารปูมากว่า 3 ปีก็ทำให้ปูม้าในอ่าวคั่นกระไดชุกชุมขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พ่อเลยลงทุนทำอวนปูให้ผมออก ออกเองใช้เวลาว่างตอนกลับจากโรงเรียนมาก็วางอวนปูทิ้งไว้ อีก 2-3 วันก็ออกไปเก็บครั้งหนึ่ง ขายปูได้ พ่อก็ให้เป็นรายได้ของผมเลยครับ บางครั้งขายปูได้ 1,000-2,000 บาท รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะเป็นปูที่ผมกับเพื่อนๆ ทำกระชังเลี้ยงปูไข่ น้องนนท์ ลูกชายของหน่องเล่าถึงงานอดิเรกของตัวเอง ไม่เพียงแต่ชาวบ้านคั่นกระไดที่ได้ประโยชน์จากการทำซั้งกอ ปัจจุบันอ่าวคั่นกระไดได้กลายเป็นทำเลหากินที่ดึงดูดเรือประมงต่างถิ่นเข้ามามากมาย ซึ่งในระยะแรกๆ พวกเขาต้องหมั่นเพียรชี้แจงทำความเข้าใจกฎระเบียบที่ห้ามจับปลาในซั้ง จนเป็นที่เข้าใจกันในหมู่ชาวประมงพื้นบ้านใกล้เคียง แต่ที่เป็นปัญหาก็คือ เรืออวนล้อม และเรือปั่นไฟที่มักแอบเข้ามาล้อมจับลูกปลาในแนวซั้ง 3 วันต่อมา พี่น้อยก็บ่นพึมพำอย่างหัวเสีย ปลาทูฝูงนั้นหายไปแล้ว พวกอวนล้อมมากวาดไปเรียบ เช้าวันรุ่งขึ้น เรือคั่นกระได 4 ลำออกทะเลแต่เช้ามืด มุ่งหน้าตรงสู่เรือประมงพาณิชย์ที่กำลังปล่อยอวนล้อมลูกปลาทู พวกเราทำเขตอนุรักษ์ แต่พวกพี่มาจับลูกปลา มันไม่ถูกนะพี่นะ หน่อง ส่งเสียงถึงคู่กรณีผ่านทางวิทยุสื่อสาร มีเสียงโต้ตอบกลับมาทันใดทางดอกลำโพง เฮ้ย ลูกปลาอะไร เขาจับกันมาตั้งแต่สมัยไหนแล้ว ของเราเป็นประมงพื้นบ้าน เรือต่ำกว่า 7 วา ผมรู้ว่าเรือพี่เป็นประมงพื้นบ้าน แต่ไอ้เครื่องมือของพี่น่ะ มันไม่ใช่นะ... การโต้เถียงยังดำเนินต่อไปจนกระทั่งเรือคั่นกระไดทั้ง 4 ลำแล่นประชิดเข้ารายล้อมเรือประมงพาณิชย์ลำดังกล่าว สุดท้าย เรืออวนล้อมยอมล่าถอยออกนอกเขตซั้งแต่โดยดี โชคดีที่วันนี้ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ฉากเหตุการณ์เช่นนี้ มักเกิดขึ้นเสมอหลังจากที่พวกเขาทำให้ ปลากลับบ้าน ได้เป็นผลสำเร็จ มันได้ทำให้พวกเขาเรียนรู้มากขึ้นว่า การที่จะฟื้นฟูทรัพยากรให้ได้นั้น นอกจากองค์ความรู้แล้ว พวกเขายังต้องมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งเพื่อปกป้องเขตอนุรักษ์จากการทำประมงแบบทำลายล้าง ช่วงแรกๆ มีปัญหาบ่อยมาก ถึงขั้นชักปืนขู่กันก็เคยมี บางทีเรือพวกนี้มาลากซั้งไปทั้งกอเลย เราทำซั้งแล้วไม่ใช่ไปทิ้งไว้เฉยๆ แต่ต้องคอยดูแล ต้องสร้างกฎกติกาของบ้านเราขึ้นมา แล้วคนอื่นที่เข้ามา เราก็ต้องทำให้เขาเคารพในกติกาของบ้านเราด้วย เมื่อมีการรวมกลุ่มกัน สิ่งดีๆ ก็เกิดขึ้นเยอะ เสียงเราก็จะดังขึ้น อำนาจต่อรองก็เกิดขึ้นเมื่อต้องเจรจาแก้ไขปัญหา หน่องสรุปประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ของเขา...
__________________
Saaychol |
#63
|
||||
|
||||
คม ชัด ลึก
เรื่องเล่าอ่าวคั่นกระได จาก 'ผู้ร้าย' กลายเป็น 'พระเอก' (จบ) ................... รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม โดย เสาวลักษณ์ ประทุมทอง สมาคมรักษ์ทะเลไทย เมื่อพวกเขารวมตัวกันได้ จึงก้าวข้ามความกลัว!!! ในปี 2552 บ้านคั่นกระไดต้องเผชิญปัญหาครั้งใหญ่จากโครงการบ่อบำบัดขยะและโรงไฟฟ้าขยะที่จะเกิดขึ้นในบริเวณช่องเขาทางทิศเหนือของหมู่บ้าน โครงการนี้ถูกชักนำเข้ามาโดยผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่ชาวบ้านใน ต.อ่าวน้อย ต่างเกรงกลัวมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ภูเขาดังกล่าว มีชื่อว่า ทุ่งกระต่ายขัง ตั้งอยู่ห่างชายฝั่ง 500 เมตร และเป็นจุดกำเนิดต้นน้ำที่ใช้สำหรับผลิตน้ำประปาของหมู่บ้านในบริเวณดังกล่าว ส่วนพื้นที่ระหว่างช่องเขาก็ถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะจากเทศบาลเมืองประจวบฯ มาหลายปีแล้ว จนกองขยะเริ่มใหญ่โต ส่งกลิ่นเหม็น และควันไฟจากการเผาขยะก็แพร่ไปไกลถึงเรือประมงที่กำลังวางอวนหาปลา ภายใต้โครงการดังกล่าวนี้ ในอนาคตขยะจากทั้งจังหวัดหรืออาจรวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียงด้วย จะถูกขนมาจัดการที่นี่ ทำให้ชาวบ้านวิตกกังวลกันมาก แต่ที่สำคัญกว่าอื่นใดก็คือ ความหวาดกลัวต่ออิทธิพลของผู้ที่ชักนำโครงการโรงไฟฟ้าขยะเข้ามา “เรายกขบวนกันไปปรึกษาพี่กระรอก (กรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก) ว่าจะเอายังไงกันดี พี่รอกบอกว่า อันดับแรกเลยต้องถามก่อนว่า ถ้าจะค้านเรื่องนี้ กลัวไหม ? พวกเรามองหน้ากันเลิ่กลั่กๆ พี่รอกก็ว่าถ้าจะค้าน อันดับแรกต้อง ก้าวข้ามความกลัว ให้ได้ก่อน แล้วค่อยกลับมาคุยกันว่าจะเดินกันยังไงต่อ” ความโหดเหี้ยมมาแต่ครั้งอดีตของผู้มีอิทธิพลดังกล่าว เป็นสิ่งที่คนใน ต.อ่าวน้อย เล่าขานกันเรื่องแล้วเรื่องเล่า และคนคั่นกระไดเองบางคนก็เคยถูกข่มเหงรังแกมาก่อน การลุกขึ้นคัดง้างกับอำนาจอิทธิพลเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนในแถบชายทะเล ต.อ่าวน้อย “ตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่เรามา เวลาอยู่ต่อหน้าเขาได้แต่ยืนเอามือกุมเป้า ถ้าเราไม่มีความกล้า ลูกเราก็ต้องยืนกุมเป้าต่อหน้าลูกเขาต่อไป” หรั่ง มองย้อนไปถึงความคิดในตอนนั้น “ถ้าเรากลัวก็ต้องลำบากไปชั่วลูกชั่วหลาน แต่ถ้าเราสู้ตั้งแต่ตอนนี้ เรายังมีโอกาสรอด พี่น้อยบอกว่างั้นเราค้านกัน มากรีดเลือดกินน้ำสาบานกันเลย” พวกเขายกขบวนกลับไปหาพี่กระรอกอีกครั้ง จากนั้นการวางแผน “เดินงานมวลชน” ก็เริ่มต้นขึ้น ภายใต้การหนุนช่วยของพันธมิตรจากบ้านทุ่งน้อย บ่อนอก บ้านกรูด ที่มีประสบการณ์ในการต่อสู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินมาก่อน อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ถูกกำชับมาจากนักต่อสู้รุ่นพี่ก็คือ พวกเขาจะต้องสู้ด้วยตัวเอง ต้องสร้างความคิด “พึ่งพาตนเอง” ให้เกิดขึ้นในหมู่พี่น้องสมาชิกในชุมชนให้ได้ “วันแรกที่ออกไปแจกใบปลิว กลับมาถึงบ้านไม่กล้านอนบนเตียง ลงไปนอนอยู่ใต้เตียง กลัวมาก” บุช เล่าถึงตัวเองอย่างขันๆ ชาวบ้านคั่นกระไดได้ก้าวข้ามความกลัวที่ฝังรากลึกอยู่ในชุมชนจนสำเร็จ ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าขยะได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ส่วนช่องเขาทุ่งกระต่ายขัง ที่ถูกเอกชนบุกรุกยึดครองไปเป็นที่ทิ้งขยะ ก็ถูกทางการยึดกลับมาเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินตามเดิม นี่คือผลพวงจากพลังแห่งความร่วมมือของคนเล็กคนน้อยในชุมชน การ “ก้าวข้ามความกลัว” และหันกลับมา “พึ่งตัวเอง” ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในสำนึกของชาวบ้านคั่นกระได พวกเขาได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของการเคารพตนเอง เลิกมองตัวเองเป็นผู้ต่ำต้อยอ่อนแอ กลุ่มประมงเรือเล็กอ่าวคั่นกระได มี “เสื้อเขียว” เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม และกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ขบวนการคนเสื้อเขียว” ที่ประกอบไปด้วยชุมชนนักต่อสู้รุ่นพี่อื่นๆ ตั้งแต่ อ.กุยบุรี อ.เมือง อ.ทับสะแก ไปจนถึง อ.บางสะพาน ชุมชนเหล่านี้ประสานกันเป็นเครือข่ายในนาม “พันธมิตรสิ่งแวดล้อม จ.ประจวบคีรีขันธ์” และเมื่อใดที่ชุมชนประสบปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่มาจากนโยบายของรัฐ พวกเขาก็จะรวมตัวกัน “ยังจำคำพูดของพี่เจริญ(เจริญ วัดอักษร อดีตประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก)ได้ดี ที่บอกว่า เราสู้ได้ ถ้าพี่น้องประชาชนรวมตัวกัน” คือคำพูดของหรั่งที่มักบอกเล่าต่อผู้มาเยี่ยมเยือนเสมอ แต่ปัญหาก็ไม่จบเพียงแค่นั้น 11 สิงหาคม 2556 ปิยะ เทศแย้ม ชาวประมงแห่งบ้านทุ่งน้อย อ.กุยบุรี ถูกรุมซ้อมจนสะบักสะบอมขณะขึ้นปลาที่สะพานปลาประจวบฯ เขาคือนายกสมาคมประมงพื้นบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้มีบทบาทในการดูแลรักษาทะเลมานานกว่าสิบปี ปิยะ ถูกรุมทำร้ายโดยสมุนของนายทุน “เรือคราดหอยลาย” ซึ่งมักจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับกลุ่มประมงพื้นบ้านแทบจะทุกๆ ชายฝั่งของประเทศไทยมาช้านาน และกลางท้องทะเลที่ไกปืนเที่ยง การสาดกระสุนปืนเข้าใส่เรือของกันและกันเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในทุกภูมิภาค และอาจยังคงเกิดขึ้นได้อีกเสมอ ราวปี 2554 เครือข่ายประมงพื้นบ้านจากหลายอำเภอเริ่มรณรงค์เคลื่อนไหวกดดันต่อทางจังหวัดให้แก้ไขปัญหาเรือคราดหอยอย่างจริงจัง โดยมีการเสนอข้อมูลวิชาการและข้อเรียกร้องต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ปรับปรุงกฎหมาย ขยายเขตห้ามคราดหอยจากระยะ 3,000 เมตรเป็น 12 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง และให้ทางจังหวัดจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างชุมชนและราชการเพื่อเฝ้าระวังเรือคราดหอยที่รุกล้ำเขตหวงห้าม ด้วยการเกาะติดปัญหาของชาวบ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่อาจละเลยการปฏิบัติหน้าที่ดังเช่นที่เป็นมาได้อีกต่อไป เพียงไม่นานหลังจากนั้น เรือคราดหอยในอ่าวประจวบที่มีอยู่ทั้งสิ้น 7 ลำก็ต้องเปลี่ยนเครื่องมือไปทำประมงอย่างอื่น คงเหลือเพียง 2 ลำ ที่ยังออกคราดหอยลายตามเดิม ในขณะเดียวกัน การแก้ไขกฎหมายที่ชาวบ้านผลักดันต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็มีความก้าวหน้าเป็นลำดับ ทางกระทรวงรับข้อเรียกร้องของชาวบ้านไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับระยะแนวเขตที่เหมาะสมในทางวิชาการที่จะกำหนดเป็นเขตหวงห้ามสำหรับเครื่องมือคราดหอย จนในที่สุดเดือนธันวาคม 2555 ก็มีการออกประกาศกระทรวงฯ กำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมือคราดหอยจากเดิม 3,000 เมตร เป็น 5,400 เมตร หรือ 3 ไมล์ทะเล ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่ง 5 อำเภอนับตั้งแต่ อ.หัวหิน จนถึง อ.เมืองประจวบฯ แม้ว่าประกาศกระทรวงดังกล่าวจะกำหนดระยะหวงห้ามไว้เพียง 3 ไมล์ทะเล ไม่ใช่ 12 ไมล์ทะเลตามที่ชาวบ้านเรียกร้อง แต่ก็ถือเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจ เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยินยอมออกประกาศขยายเขตห้ามเรือคราดหอยตามคำเรียกร้องของชาวประมง ทำให้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นจังหวัดเดียวของประเทศไทยในขณะนี้ที่มีการขยายเขตอนุรักษ์ชายทะเลออกไปถึง 5,400 เมตร อย่างไรก็ตาม เรือคราดหอย 2 ลำ ที่เหลือในอ่าวประจวบ ยังคงออกทำการอย่างไม่เกรงใจผู้ใด เมื่อถูกชาวบ้านแจ้งจับหลายครั้งเข้าก็เกิดความโกรธแค้น และสั่งลูกน้องให้มาดักรุม ปิยะ ที่สะพานปลา วันรุ่งขึ้นหลังจากที่ ปิยะ ถูกทำร้ายบาดเจ็บ ชาวบ้านร่วมร้อยคนจากหลายหมู่บ้านตำบลก็มาประชุมที่ศาลาบ้านโพธิ์เรียง ปิยะ ในสภาพหน้าตาบวมช้ำบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สะพานปลาจนกระทั่งไปถึงสถานีตำรวจ ซึ่งผลปรากฏว่าตำรวจสั่งปรับทั้งสองฝ่ายโดยสรุปว่าเป็นเหตุทะเลาะวิวาท ทั้งๆ ที่ตัวเองถูกดักรุมทำร้ายโดยชายฉกรรจ์ถึง 3 คน และในระหว่างที่ถูกรุม เขาได้ยินฝ่ายตรงข้ามพูดว่า “เสือกแจ้งดีนัก” “ผมโทรแจ้งประมงให้ออกไปจับ ก็มีแต่ประมงที่รู้ว่าผมเป็นคนแจ้ง แล้วมันรู้ได้ไง” ปิยะ ถามขึ้นโดยไม่ต้องการคำตอบ ที่ประชุมชาวบ้านต่างก่นด่า “ประมง” กันดังขรม ก่อนที่จะปรึกษาหารือกันถึงการเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ ปิยะ หัวข้อถกเถียงมาสะดุดอยู่ที่การกำหนดวันเคลื่อนไหวที่หาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้เสียที เพราะชาวบ้านต้องประสานงานนัดหมายกันถึง 14 หมู่บ้านอย่างกะทันหัน “โต้ง” ภูษิต จิตรจำลอง จากบ้านคั่นกระได ที่ปกติแล้วเป็นคนพูดน้อย จึงลุกขึ้นกล่าวเสียงดังว่า “เราไม่ใช่คนทุ่งน้อยก็จริง แต่เห็นแล้วยอมไม่ได้ ถ้าใครไปเห็นปิยะถูกทำเมื่อวานนี้ เห็นลูกปิยะที่เดือดร้อนตอนนี้ จะบอกได้เลยว่าพรุ่งนี้ก็ไปได้ ถ้าไปไม่ได้ก็อย่าทำมันเลยเรื่องอนุรักษ์น่ะ” ทุกคนต่างปรบมือสนับสนุนความเห็นของโต้ง การตัดสินใจของเครือข่ายประมงพื้นบ้านครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างง่ายๆ เช่นนี้เอง 13 สิงหาคม 2556 ขบวนชาวบ้านจาก 14 หมู่บ้านใน อ.กุยบุรี และ อ.เมือง ตั้งแถวยาวเหยียดออกเดินรณรงค์รอบเทศบาลเมืองประจวบฯ ปราศรัยบอกเล่าปัญหาของเรือคราดหอยที่ทำลายทรัพยากร และความป่าเถื่อนที่กระทำต่อ ปิยะ เทศแย้ม ต่อสังคม สุดท้าย ขบวนแถวชาวบ้านก็ไปหยุดยั้งอยู่ที่สุดปลายอ่าวประจวบ ใกล้บ้านของนายทุนเรือคราดหอยคู่กรณี เรือคราดหอยยังคงลอยลำสงบนิ่งอยู่หน้าหาด เสียงปราศรัยของ ปิยะ ดังก้องไปทั่วตลาด เพื่อให้นายทุนเห็นว่า จะต้องต่อสู้กับอะไร ถ้ายังขืนใช้อิทธิพลเถื่อนคราดหอยแบบเดิม ท่ามกลางขบวนชาวประมง 14 หมู่บ้านที่หน้าตาเคร่งเครียดขมึงทึง การเจ็บตัวของปิยะไม่ใช่เรื่องสูญเปล่า เพราะพี่น้องชาวประมงไม่ปล่อยให้เขาโดดเดี่ยว หลังจากออกมารณรงค์ปัญหาต่อสาธารณะในครั้งนี้ ก่อนสิ้นปี 2556 ชาวบ้านก็ได้รับข่าวดีว่า เรือคราดหอยเกเร 2 ลำสุดท้ายของอ่าวประจวบ ได้ยุติอาชีพคราดหอยลงแล้วโดยสิ้นเชิง
__________________
Saaychol แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 21-07-2015 เมื่อ 15:40 |
#64
|
||||
|
||||
GREENPEACE
13-05-2015 ใบเหลืองอียู แปรวิกฤตให้เป็นโอกาสก่อนทะเลไทยจะล่มสลาย เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมาสหภาพยุโรป(อียู) ออกประกาศอย่างเป็นทางการ โดยขึ้นบัญชีประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีความล้มเหลวต่อเรื่องนี้ ใบเหลืองอียูยังสะท้อนวิกฤตห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมประมงไทยที่โยงกับนโยบายประมงโลก แม้จะเข้าใจกันดีว่า หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อปลดใบเหลืองอียูภายใน 6 เดือนตามที่กำหนด แต่หากละเลยมิติความยั่งยืนในเรื่องการฟื้นฟูทะเลและทรัพยากรชายฝั่งให้ไปพ้นจากการประมงทำลายล้าง การมุ่งปลดใบเหลืองอียูโดยให้ความสำคัญกับผลประโยขน์ทางเศรษฐกิจระยะสั้นของอุตสาหกรรมประมงนั้นจะเป็นผลชั่วครู่ชั่วยามบนซากปรักหักพลังของระบบนิเวศทะเลไทย ใบเหลืองจากอียูสำคัญอย่างไรต่อการประมงไทย ข้อมูลการส่งออกสินค้าประมงไทยไปอียูโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) ระบุว่า ในปี 57 ไทยส่งออกสินค้าทะเลไปอียูปริมาณ 148,995 ตัน มูลค่า 26,292 ล้านบาท ในปี 56 ส่งออกปริมาณ 176,939 ตัน มูลค่า 31,072 ล้านบาท และปี 55 ส่งออกปริมาณ 189,904 ตัน มูลค่า 33,782 ล้านบาท นี่เป็นเพียงตัวเลขของการส่งออกที่เป็นยอดเงินที่ยังไม่คำนวนถึงมูลค่าความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจจากการทำประมงที่ผิดกฎหมายที่คิดเป็นเงินราว 659 พันล้านบาท สาเหตุที่มาของสัญญาณเตือนใบเหลืองนี้ เนื่องมาจากตั้งแต่ปี 2554 อียูได้ตรวจสอบการควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมาย IUU ในประเทศไทย และไม่มีการปรับปรุงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายการออกกฎหมาย และการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมาเป็นระยะเวลา 3 ปี ประเทศไทยจึงกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (IUU) โดยให้เวลา 6 เดือนในการดำเนินแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา หมายความว่า หากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในเดือนตุลาคมนี้จะให้ใบแดง และระงับการสั่งซื้อสินค้าประมงจากประเทศไทยทันที เช่นเดียวกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับประเทศกัมพูชา กินี และศรีลังกา ช่องโหว่ในมาตรการแก้ไขของรัฐบาลไทย ชะตาการส่งออกสินค้าประมงของไทยจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการจัดการของรัฐบาลไทยในช่วง 6 เดือนนี้ โดยอาจเป็นได้สามแนวทาง คือ การออกใบเขียว-ยกเลิกการเตือนสินค้าประมง การออกใบแดง-ห้ามการนำเข้าสินค้าประมงไทย ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น หรือสุดท้ายคือยืดเวลาให้ไทยแก้ปัญหาต่อไปอีก อย่างไรก็ตามแต่การออกมาตรการแก้ไขเร่งด่วนของรัฐหลายประการไม่ว่าจะเป็นการตั้งทีมเฉพาะกิจควบคุมเรือประมงที่ออกจากท่าในพื้นที่ 22 จังหวัด การต้อนเรือประมงมาจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้น มิได้รับประกันว่าจะนำไปสู่การปลดใบเหลืองอียู แต่กลับละเลยมิติของความยั่งยืนในการฟื้นฟูทะเลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำการประมงเกินขนาด อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิเคราะห์ว่า 6 มาตรการการจัดของของภาครัฐยังมีช่องโหว่ที่ส่งเสริมให้เกิดปัญหาร้ายแรงต่อทรัพยากรทางทะเลของไทย กล่าวคือ 1. การจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง หรือการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน จะเป็นการเปิดโอกาสให้เครื่องมือประมงทำลายล้าง เช่น เรืออวนลากเข้ามาสู่ระบบ ทั้งที่เรืออวนลากเป็นการทำประมงที่ทำลายล้าง กวาดล้างปลา และพันธุ์สัตว์น้ำในทะเลไทย รวมถึงทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศทางทะเลที่มีความสำคัญ การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนี้ได้สร้างผลกระทบต่อชุมชนชายฝั่งที่พึ่งพาระบบนิเวศทางทะเลอย่างมาก และส่งผลร้ายแรงต่ออนาคตของความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทย 2. การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง ยังต้องอาศัยการบังคับใช้กฎหมายประมงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดถือประโยชน์ของประชาชน ชาวประมงพื้นบ้าน และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้ง 3. การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (วีเอ็มเอส) ยังขาดแผนการทำงานที่เป็นระบบ การตรวจสอบควรนำไปสู่การมีส่วนร่วมที่เป็นระบบ และน่าเชื่อถือ 4. การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ แต่ปัจจุบันยังเป็นการตรวจสอบผ่านเอกสารเนื่องจากบุคลากรไม่เพียงพอ 5. การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรอง มาตรการการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพได้เต็มที่จำเป็นต้องรอกฏหมายลูกอีกหลายฉบับมารองรับเพื่อให้เกิดผลบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังขาดกฏหมายที่คุ้มครองสัตว์น้ำวัยอ่อนซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ยังไม่มีใครพูดถึง 6. การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกันสินค้า IUU แต่การจัดทำแผนระดับชาติในครั้งนี้มุ่งแต่การป้องป้องสินค้าส่งออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมประมง แต่ไม่คำนึงถึงการรักษาทรัพยากรทางทะเลโดยรวม ปลาในทะเลไทยกำลังหายไป จุดมุ่งหมายสำคัญของกรรมธิการยุโรปในการกำหนดและสร้างข้อตกลงร่วมกันในสหภาพยุโรปในเรื่องการนำเข้าสินค้าประมงเข้ามาในสหภาพยุโรป คือ ต้องการให้นานาประเทศยกระดับการจัดการประมงทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาทรัพยากรและแหล่งอาหารไว้ให้คนรุ่นต่อไป ขณะนี้จากรายงานของ FAO ปี 2558 พบว่าผลผลิตการจับปลามวลรวมของประเทศไทยลดลงถึงร้ยละ 39 เมื่อเปรียบเทียบย้อนไป 10 ปี (2546-2555) โดยการลดลงของทรัพยากรทางทะเลบางส่วนมีสาเหตุจากการทำประมงเกินขนาด และปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมในอ่าวไทย ซึ่งสอดคล้องกับสถิติของกรมประมงพบว่า อัตราการจับสัตว์น้ำเฉลี่ยของการทำประมงอวนลากลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2504 มีอัตราอยู่ที่ 297.6 กก.ต่อชม. ในปี 2525 ลดลงเหลือ 49.2 กก.ต่อชม. ในปี 2549 อัตราการจับสัตว์น้ำเฉลี่ยของอ่าวไทยตอนบนเหลืออยู่เพียง 14.126 กก.ต่อชม. การจัดการประมงอย่างยั่งยืน คือ การคืนชีวิตให้ทะเลไทย และนั่นคือทางออกสำหรับอนาคตการประมงของไทย ประเทศไทยมีทรัพยากรทางทะเลเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงชาวไทยและส่งออกไปภูมิภาคต่างๆ ของโลกได้อย่างยั่งยืนหากเราตระหนักที่จะดูแลท้องทะเลร่วมกัน แต่ที่ผ่านมาการพัฒนากิจการประมงของไทยเป็นไปในทางทำลายเพื่อกอบโกยเงินให้มากที่สุด หกเดือนต่อจากนี้คือการตัดสินสำคัญของอนาคตทะเลไทยที่ภาครัฐจะต้องปรับปรุงระบบการประมงทั้งระบบให้ถูกต้องและยั่งยืน เพราะหากภาครัฐไม่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและปกป้องรักษาท้องทะเลต้องแต่ตอนนี้ ทะเลไทยจะยิ่งเสื่อมโทรมและไม่อาจกลับคืนสภาพสมบูรณ์ได้อีกเลย
__________________
Saaychol แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 21-07-2015 เมื่อ 15:41 |
#65
|
||||
|
||||
GREENPEACE
14-05-2015 เครือข่ายประชาสังคมเสนอรัฐใช้วิกฤตใบเหลืองอียูเพื่อฟื้นฟูทะเลไทยอย่างยั่งยืนโดยยกเลิกเครื่องมือประมงที่ทำลายล้างและหยุดนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานปกป้องทะเลไทย (1) ตั้งข้อสังเกตและเสนอทางออกกรณีคณะกรรมธิการยุโรป (EU) ขึ้นบัญชีประเทศไทยเป็นประเทศที่เข้าข่ายไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงานและไร้การควบคุม(IUU Fishing) โดยเครือข่ายภาคประชาสังคมระบุว่า การออกมาตรการแก้ไขของรัฐบาลนั้นเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นที่ตอบสนองผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลขนาดใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว และมิได้รับประกันว่าจะนำไปสู่การปลดใบเหลืองอียูได้อย่างถาวร ที่สำคัญ มาตราการเหล่านั้นได้ละเลยมิติของความยั่งยืนในการฟื้นฟูทะเลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำประมงเกินขนาด การใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้าง และการจัดการและเข้าถึงทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลอย่างเป็นธรรม ในวันที่ 21 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป(EU) แจ้งเตือนต่อรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการ (2) กรณีที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการเพียงพอในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) โดยให้เวลา 6 เดือนในการดำเนินตามมาตรการในแผนปฏิบัติการ กรมประมงได้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และขาดการควบคุม (IUU) โดยตั้งทีมเฉพาะกิจควบคุมเรือประมงที่ออกจากท่าในพื้นที่ 22 จังหวัด และออกมาตรการ 6 ข้อในการจัดการปัญหาประมงไทยได้แก่ 1. การเร่งขึ้นทะเบียนเรือประมง และออกใบอนุญาตทำการประมง 2.การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง 3.การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS) 4.การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ 5.ปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรอง และ 6. จัดทำแผนระดับชาติในการป้องกันสินค้าไอยูยู ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง มูลนิธิสายใยแผ่นดินได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวว่า "ด้วยเจตนารมณ์ของมาตรการการต่อต้าน IUU Fishing (combat IUU Fishing) และการที่ประเทศไทยได้ใบเหลืองจากสหภาพยุโรปในกรณีนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการจัดการประมงของประเทศไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ทั้งในเรื่องการทำประมงผิดกฏหมาย การทำลายระบบนิเวศทางทะเล และความไม่โปร่งใสของแหล่งที่มาของสินค้าสัตว์น้ำ เป็นต้น ผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบควรใช้โอกาสนี้ในการสะสางปัญหาประมงไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนานและนับวันจะรุนแรงมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อการแก้ปัญหาและให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างรับผิดชอบ เพื่อนำไปสู่ความอย่างยั่งยืนของระบบนิเวศและวิถีประมงไทยที่เปิดโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่แค่การตั้งเป้าหมายการแก้ปัญหาเพื่อการปลดล๊อคใบเหลืองเท่านั้น" เครือข่ายภาคประชาสังคมยังได้แสดงข้อกังวลถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีขึ้น เนื่องจากมาตรการแก้ไขของหน่วยงานรัฐบาลยังคงมองข้ามการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลของไทย ประสบการณ์การทำงานอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งร่วมกับพี่น้องชุมชนประมงชายฝั่งมา 30 กว่าปี ผมพบว่าทะเลไทยเป็นแหล่งอาหารโปรตีนในธรรมชาติที่สำคัญสำหรับสังคมไทย ทั้งยังเป็นอาชีพและแหล่งรายได้ของผู้คนจำนวนมาก การเร่งการจดทะเบียนเรือหรือนิรโทษกรรมเรือประมงทำลายล้างเป็นการทำร้ายและทำลายทะเลไทย และเป็นการการทำลายวิถีชุมชน ทำลายอาชีพและความเป็นอยู่ของพี่น้องร่วมชาติอย่างเลือดเย็นที่สุด ทางออกต่อเรื่องนี้คือต้องลดจำนวนเรืออวนลากลงครึ่งหนึ่งตามที่กรมประมงทำวิจัยร่วมกับ FAO และเสนอรัฐบาลไว้เมื่อปี2547(3) นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยกล่าว เราควรดูแบบอย่างจากประเทศที่รอดพ้นจากใบเหลืองกรณีการประมงผิดกฎหมาย เช่น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่ได้ปรับปรุงและพัฒนาการจัดการด้านการประมงโดยยึดหลักการทำงานร่วมกันระหว่างประชาสังคมและภาครัฐ กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาภายใต้แนวคิดการจัดการอย่างมีส่วนร่วมโดยให้ความสำคัญกับประมงพื้นบ้านเท่ากับตัวเลขการส่งออกของประมงพาณิชย์ การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องทำทั้งระบบไม่ใช่เพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานปกป้องทะเลไทยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1) ยกเลิกการใช้เครื่องมือประมงทำลายล้างรวมถึงอวนลาก อวนรุน ซึ่งทำลายแหล่งปลาและระบบนิเวศของทะเลไทย 2) ยุติการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถือนที่ล้างผลาญทะเลไทยและลดจำนวนเรืออวนลากลงครึ่งหนึ่งตามที่กรมประมงทำวิจัยร่วมกับ FAO และเสนอรัฐบาลไว้เมื่อปี 2547 3) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายประมงและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ และยกระดับธรรมาภิบาลด้านการประมงเพื่อต่อกรกับการทำประมงเกินขนาดที่นำไปสู่ความเสื่อมโทรมของทะเลและมหาสมุทร 4) ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจังกับระบบการควบคุม ติดตามตรวจสอบรวมถึงมีการประสานงานเชิงนโยบายและการจัดการประมงในระดับภูมิภาคอย่างจริงจังเพื่อที่จะอุดช่องโหว่ของการทำประมงผิดกฎหมาย เช่น การขนถ่ายสินค้าจากการประมงนอกน่านน้ำกลางมหาสมุทร เป็นต้น หมายเหตุ (1) เครือข่ายภาคประชาสังคมประกอบด้วย 1. สมาคมรักษ์ทะเลไทย 2. มูลนิธิสายใยแผ่นดิน 3. สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย 4. องค์การอ็อกแฟมแห่งประเทศไทย 5.กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2) http://europa.eu/rapid/press-release_IP-15-4806_en.htm (3) http://www.rebyc-cti.org/downloads/d...city-reduction ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลง ร่วมปกป้องและฟื้นฟูทะเลไทยได้ที่ www.greenpeace.or.th/s/call-for-Ocean-protection
__________________
Saaychol |
#66
|
||||
|
||||
greennewstv
14-05-2015 "เรือปั่นไฟ" ปัญหาเรื้อรังสู่หายนะทะเลไทย นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย-สหพันธ์ประมงพื้นบ้านเอือมปัญหา เรือปั่นไฟ มฤตยูของทรัพยากรทางทะเลที่กำลังสร้างหายนะอย่างต่อเนื่อง ปัญหาที่แก้ได้ง่ายแต่รัฐไม่ยอมทำ ปัญหาการทำประมงด้วยเรือปั่นไฟ นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในท้องทะเลอย่างรุนแรง และต่อระบบเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมประมงอย่างใหญ่หลวง ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนับว่าไม่ต่างจากการประมงโดยใช้อวนลากหรืออวนรุน แต่กลับไม่ค่อยถูกพูดถึงหรือเป็นที่รู้จักมากนัก บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย หนึ่งในผู้ต่อต้านการประมงโดยวิธีการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง อธิบายว่า การจับปลาโดยวิธีการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อจับปลากะตักในเวลากลางคืน โดยใช้แสงไฟล่อให้ปลาเข้ามาหาจำนวนมากแล้วจึงลงอวนจับ แต่สิ่งที่ได้มานอกจากปลากะตักแล้วยังมีลูกปลาเศรษฐกิจอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่มีโอกาสได้เจริญเติบโต ทั้งหมดถูกลากขึ้นมากองเป็นภูเขา หนึ่งในนั้นที่เห็นได้ชัดคือลูกปลาทู ที่ถูกนำมาขายราคาถูกๆอย่างไร้คุณค่า กลายเป็นอาหารสัตว์ แทนที่เมื่อเจริญเติบโตจะมีราคาดีและเป็นอาหารของมนุษย์ นักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกล่าวว่า จริงๆแล้วเรื่องดังกล่าวสามารถห้ามได้เพียงการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงคือ เคยถูกบังคับใช้มาแล้วเมื่อปี พ.ศ.2526 โดย นพ.บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในสมัยนั้น ที่ได้ออกประกาศกระทรวงให้ยกเลิกการทำการประมงด้วยวิธีปั่นไฟ แต่พอมาในปี พ.ศ.2539 ยุค พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี กลับถูกยกเลิกประกาศเก่าแล้วออกประกาศกระทรวงฉบับใหม่ โดย นายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(ขณะนั้น) เปิดโอกาสให้กลับมาใช้วิธีการทำการประมงด้วยวิธีใช้แสงไฟล่อปลาได้เช่นเดิม ทำให้พันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนชนิดต่างๆจำนวนมาก ก็ยังถูกทำลายเหมือนเดิมจนถึงปัจจุบัน แม้เป็นระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ลูกปลาตัวเล็กๆยังคงถูกจับโดยวิธีทำลายล้างเช่นนี้มาตลอด แต่จำนวนปลาที่จับได้ในแต่ละครั้งยังคงมีจำนวนมาก นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ระบุว่า นั่นคือสิ่งที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย ลองจินตนาการดูว่าหากเราสามารถหยุดการกระทำเหล่านี้ได้ เราจะมีสัตว์ทะเลมากมายสมบูรณ์เพียงใด แต่สิ่งที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้คือระบบนิเวศน์ถูกทำลาย ปลาใหญ่ไม่มีโอกาสโตและมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากไม่มีปลาเล็กให้กิน นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยกล่าว ด้าน วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พ.ร.บ.ประมง 2558 ที่ผ่านออกมานั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวมากนัก เป็นเพียงการพูดหลักการกว้างๆ และยังคงให้อำนาจรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะหากให้อำนาจกลุ่มท้องถิ่นเป็นผู้ตัดสินใจคงจะมีการยกเลิกการประมงวิธีการดังกล่าวไปแล้ว สิ่งที่เป็นอยู่คือการทำลายวงจรทั้งทางระบบนิเวศน์และเศรษฐกิจ ทรัพยากรที่มีอยู่นั้นจำกัดด้วยศักยภาพการผลิตของทะเลไทย หากปล่อยให้มีกลุ่มประมงสัก 10-20 รายกวาดเอาปลาตัวเล็กตัวน้อยไปขายถูกๆจนหมด แล้วคืนอื่นจะเหลืออะไร ในเมื่อหากปล่อยไว้แล้วมาจับใหม่ปริมาณจะเพิ่มมากขึ้นหลายร้อยหลายพัน วิโชคศักดิ์กล่าว ผู้จัดการสมาคมสหพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยยังกล่าวว่า อีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้ผู้คนตระหนักคือ อาหารทะเลที่มีคุณภาพเกือบทั้งหมดมาจากประมงรายเล็กซึ่งใช้วิธีจับแบบพื้นบ้าน และไม่มีสารที่เป็นอันตราย ต่างจากอาหารทะเลที่มาจากประมงรายใหญ่ที่มักมีสารแปลกปลอม อาทิฟอร์มาลีนที่ถูกใช้เป็นวัตถุดิบหลักเพื่อรักษาปลาให้สดเป็นระยะเวลานาน และกว่าครึ่งหนึ่งของการประมงโดยใช้อวนลาก อวนรุน หรือเรือปั่นไฟเช่นนี้เป็นไปเพื่อนำมาเลี้ยงสัตว์ ไม่ใช่เลี้ยงคน
__________________
Saaychol |
#67
|
||||
|
||||
GREENPEACE
15-05-2015 ชะตากรรมทะเลไทยในสถานการณ์ปลดล๊อดใบเหลืองอียู ภาคประชาสังคมได้มาร่วมกันถกถึงปัญหาวิกฤตประมงไทยและใบเหลืองจากอียู ในประเด็น ใบเหลืองอียู: ชะตากรรมทะเลไทยในอุ้งมือรัฐและอุตสาหกรรมประมง ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและรายได้เข้าของประเทศเป็นหลัก โดยไม่คิดถึงการรักษาทรัพยากรเพื่อผลประโยชน์ในระยะยาว จึงมีมาตรการเร่งรัดเพื่อรักษาตลาด พยายามแก้พรบ.การประมง แก้ไขเรื่องทรัพยากรชายฝั่ง แต่ต้องดูว่าจะเป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือเปล่า จะเป็นการแก้ให้เราทุกคนหรือแก้ให้ใคร คุณบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าว เมื่อวันที่13 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมได้มาร่วมกันถกถึงปัญหาวิกฤตประมงไทยและใบเหลืองจากอียู ในประเด็น ใบเหลืองอียู: ชะตากรรมทะเลไทยในอุ้งมือรัฐและอุตสาหกรรมประมง ซึ่งเป็นการมาพูดคุยกันถึงข้อวิตกกังวลในเรื่องทรัพยากรทางทะเลไทยที่กำลังถูกตักตวงเกินประสิทธิภาพในการฟื้นฟู จากมุมมองของเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ผู้ที่ทำประมงอย่างอนุรักษ์และฟื้นฟูท้องทะเล และเห็นถึงวิกฤตปัญหาทางทรัพยากรที่เกิดขึ้น แต่ภาครัฐกลับมองข้ามไม่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของประมงพื้นบ้าน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นทางออกในการทำประมงอย่างยั่งยืน เพื่อความมั่นคงทางอาหารของไทย ไม่ใช่อุตสาหกรรมประมงที่ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนเพียงไม่กี่กลุ่ม นี่คือโจทย์ที่ภาครัฐต้องเลือกและหาคำตอบให้ได้ระหว่างผลประโยชน์ทางธุรกิจและผลประโยชน์ของประชาชน เป็นความท้าทายที่ว่ารัฐบาลจะทำให้ผลประโยชน์กลับมาสู่ประชาชน และระบบนิเวศของทุกคนได้หรือไม่ และที่สำคัญที่สุดคือจะรักษาผลประโยชน์ของชาติ โดยที่ผลประโยชน์ของธุรกิจเป็นรองได้หรือไม่ คุณบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เรือประมงแบบทำลายล้าง ศัตรูของท้องทะเลที่ไม่ควรได้รับนิรโทษกรรม ข้อกังวลที่ผู้เข้าร่วมเสวนาจาก สมาคมรักษ์ทะเลไทย มูลนิธิสายใยแผ่นดิน สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย องค์การอ็อกแฟมแห่งประเทศไทย และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นพ้องตรงกัน คือ ปัญหาการประมงแบบทำลายล้างและเกินขนาดที่สร้างความเสื่อมโทรมให้กับทรัพยากรทางทะเล และความหละหลวมในการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐ คุณสะมะแอ เจ๊ะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย 5,919 ลำ คือจำนวนเรืออวนลากที่อ่าวไทยรับได้จากข้อมูลการวิจัยโดยกรมประมง ณ วันนี้ เรืออวนลากมีกว่า 12,000 ลำแล้ว เป็นข้อคำถามถึงความตั้งใจในมาตรการของกรมประมงว่าต้องการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลของไทยจริงหรือไม่ ภาครัฐของไทยเปิดโอกาสให้เรือประมงพาณิชย์ทำลายล้างทุกอย่าง หลายประเทศมีการปิดประเทศไม่ให้เรืออวนลากเข้า เช่น อินโดนีเซียมีการยกเลิกเรืออวนลาก อวนล้อม แต่ในไทยเป้าหมายของผู้ประกอบการคือเรืออวนลาก กับการนิรโทษกรรมเรืออวนลาก ซึ่งต่อไปถ้าปล่อยให้เกิดการจดทะเบียน ทะเลไทยจะทรัพยากรลดลงเรื่อยๆ หลังจากได้รับใบเหลือง ภาครัฐไม่ได้มองถึงกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านซึ่งมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 85 ว่าเป็นกลุ่มที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศเดิน ทั้งที่มีการรับซื้อและส่งออกไปต่างประเทศ ไม่ได้มองว่าเราเป็นหนึ่งคู่กับทะเล มีการฟื้นฟูทะเล และทรัพยากรหน้าบ้านของตนเองมาตลอด แต่เรือประมงแบบทำลายล้างที่เต็มทะเลต่างหากทำให้ชะตาทะเลไทยอยู่ในขั้นวิกฤต คุณสะมะแอ เจ๊ะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าว อันที่จริงแล้วทะเลไทยมีศักยภาพสูง หากเราเปิดโอกาสให้ระบบนิเวศได้ฟื้นตัว ไม่นานนักทะเลก็จะสามารถคืนความอุดมสมบูรณ์กลับมาได้ ดังที่คุณบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีเรืออวนลากจำนวนกว่า 12,000 ลำในทะเลไทย แต่ยังสามารถจับปลาเล็กมาได้จำนวนกว่า 9 แสนตันต่อปี แสดงถึงศักยภาพของทะเลไทยถึงแม้จะถูกเรือประมงแบบทำลายล้างทำร้ายระบบนิเวศกวาดเอาทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาจากท้องทะเลตั้งแต่ผิวดินถึงผิวน้ำ หากเราปล่อยให้ลูกปลาเหล่านี้เติบโตจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาลมากว่ามูลค่าของปลาป่น เรือประมงแบบทำลายล้างอย่างเรืออวนรุน อวนลาก เรือคราดหอย และเรือปั่นไฟ ถึงแม้ว่ารัฐจะบอกสามารถจดทะเบียนให้ถูกกฎหมาย แต่สังคมไทยจะว่าอย่างไร จะยอมให้ทะเลไทยถูกทำลายเช่นนี้ต่อไปไหม ทางออกต่อเรื่องนี้คือต้องลดจำนวนเรืออวนลากลงครึ่งหนึ่งตามที่กรมประมงทำวิจัยร่วมกับ FAO และเสนอรัฐบาลไว้เมื่อปี2547 การบังคับใช้กฎหมายประมงอย่างมีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล หนทางปลดล็อควิกฤตทะเลไทย ที่ผ่านมาการบังคับใช้ของกฎหมายประมงที่มีช่องโหว่อย่างเห็นได้ชัดทำให้ คุณวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรีผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ถึงกับกล่าวออกมาว่า ผมไม่คาดหวังเลยกับกฎหมายประมง วิกฤตทะเลไม่ได้เพิ่งมาเกิดตอนได้ใบเหลือง แต่ FAO ได้ระบุว่าเราจับเกินระยะฟื้นฟูของทะเลตั้งแต่ปี 2523 ล่าสุดภาครัฐได้ออกกฎหมายประมงฉบับใหม่เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา แต่ภาคประชาสังคมยังมีข้อกังวลว่ากฎหมายนี้ยังคงมีช่องโหว่ ซึ่งคุณวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี เสริมว่า ความสำคัญในกฎหมายประมง 104 มาตรา ยังไม่สามารถฝากความหวังได้ แต่เป็นการสร้างปัญหาเพิ่ม ไม่คำนึงถึงการประมงพื้นบ้าน อีกทั้งอำนาจกฎหมายยังผูกขาดอยู่ในมือรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่เพียงผู้เดียว ที่สำคัญคือไม่มีบทลงโทษสำหรับเรือประมงพาณิชย์ที่ละเมิดกฎหมาย มีเพียงการปรับ ซึ่งเมื่อเทียบระหว่างรายได้ 1 แสนบาท และค่าปรับ 2 พันบาทแล้ว คงไม่มีใครกลัวเกรงการกระทำผิด แต่ในขณะที่เรือประมงพื้นบ้านกรณีที่ออกนอกเขตสามไมล์ทะเล จะถูกส่งฟ้องศาลเพื่อรอดำเนินอาญาเท่านั้น กฎหมายเช่นนี้จะทำให้ทะเลวินาศในอีกสองเดือน ไม่ใช่ดีขึ้น ซูม การแก้ปัญหาวิกฤตทะเลไทย และปลดล็อคได้อย่างตรงจุดที่สุดนั้นต้องระบุถึงปัญหาอย่างจริงใจ ไม่ใช่ปกปิด และมีการจัดการในระยะยาว สิ่งสำคัญที่ภาครัฐต้องคำนึงถึงคือ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นไม่ใช่แค่อุตสาหกรรม แต่มีชาวประมงพื้นบ้านที่อนุรักษ์และฟื้นฟู รวมถึงผู้บริโภคที่มีส่วนในการกินอาหารทะเล และเป็นเจ้าของทะเลเช่นกัน ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าสาเหตุของใบเหลืองเพราะมีแรงงานไม่ถูกกฎหมาย แต่จริงๆ แล้วเป็นหน้าที่ของกรมประมงที่ต้องอธิบายว่าทำไมเรือเหล่านี้ถึงผิดกฎหมาย ซึ่งมีงานวิจัยออกมาแล้วว่าทะเลไทยไม่ควรมีเรือพวกนี้อยู่ หากสิ่งที่เราสู้กันมากลับถูกปลดล็อคง่ายๆ คงเป็นปัญหาแน่ การส่งออกในปัจจุบันมีความไม่โปร่งใสในการได้มา เช่น การประมงที่ผิดกฎหมาย หรือการขโมยมา อันที่จริงแล้วปัญหาเป็นเรื่องของการจัดการประมงในระยะยาว ไม่ใช่ได้มาแบบทางลัดแก้ปัญหาในระยะสั้น ประมงยังอยู่กับเราไปอีกยาวนาน เป็นเรื่องของโจทย์สำหรับผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายจะต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง มูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าววิเคราะห์ คุณอัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณอัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวสรุปว่า ทางออกในการจัดการประมงไทยเราสามารถศึกษาจากตัวอย่างของประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้ใบเขียวมาหลังจากการถูกเตือน ซึ่งมีหัวใจหลักคือ การมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน ให้น้ำหนักกับประมงพื้นบ้านเท่ากับประมงพาณิชย์ คำนึงถึงทรัพยากรที่จะสูญเสียไป พร้อมกับกฎหมายใหม่ที่ใช้ได้จริง ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ หรือจะเป็นประเทศอินโดนีเซียที่เอาจริงกับการวางระบบการเฝ้าระวังการประมงผิดกฎหมาย ดังที่เคยมีเหตุการณ์การจมเรืออวนลากของไทยในน่านน้ำอินโดนีเซีย รัฐบาลไทยควรหันมาให้ความสำคัญกับประมงพื้นบ้าน การปกป้องทรัพยากรประมงชายฝั่ง กระจายอำนาจ ดังที่บ้านเราก็มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าทำได้จริง เช่น ชุมชนคั่นกระไดกับการสร้างกติกาชุมชน ทะเลไทยคือสมบัติของชาวไทยทุกคน ไม่ใช่เฉพาะอุตสาหกรรมการประมงของบริษัทใด ขณะที่ภาครัฐยังไม่ได้ดำเนินการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเพื่อเร่งปลดล็อคใบเหลืองอียู ผู้บริโภคอย่างเราทุกคนมีพลังในการผลักดันให้รัฐเลือกกำหนดอนาคตที่ยั่งยืนให้กับทะเลไทย ยุติการสนับสนุนเรือประมงแบบทำลายล้างที่กอบโกยผลประโยชน์จากทะเลเพื่อรายได้ทางเศรษฐกิจระยะสั้นของอุตสาหกรรมประมง หันมาบังคับใช้กฎหมายประมงใหม่ให้มีประสิทธิภาพ ยึดถือประโยชน์ของประชาชน ชาวประมงพื้นบ้าน และความยั่งยืนทางสิงแวดล้อมเป็นที่ตั้ง เพื่อทะเลอันอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารให้กับชาวไทย และทั่วโลกได้อย่างยั่งยืน
__________________
Saaychol |
#68
|
||||
|
||||
greennewstv
16-05-2015 ส่องเพื่อนบ้านอาเซียน จัดการประมงอย่างไรจึงรอดพ้นใบเหลือง EU ตัวอย่างจากอินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ รอดพ้นใบเหลือง EU ด้วยหลักการมีส่วนร่วมของชุมชน และเด็ดขาดกับประมงผิดกฎหมาย ขณะที่ภาคประชาสังคมชี้ประเทศไทยยังเดินหน้าแก้ใบเหลืองผิดทาง ภาพจาก dailymail.co.uk ประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ล้วนเป็นประเทศที่ก่อนหน้านี้มีความเสี่ยงได้ใบเหลืองกรณีการประมงจากคณะกรรมการยุโรป (EU) ซึ่งสิ่งที่ 3 ประเทศทำเหมือนกันคือ คลอดกฎหมายประมงฉบับใหม่ออกมา ผลจากกฎหมายใหม่ทำให้ประเทศอินโดนีเซียกลายเป็นตัวอย่างความเด็ดขาดของการบังคับใช้ สิ่งที่ประเทศนี้ทำคือเมื่อตรวจพบการจับปลาแบบผิดกฏหมายในน่านน้ำของตน ทางการจะยึดเรือทันที จากนั้นมีการตัดสินโดยศาลอย่างรวดเร็ว ก่อนจะทิ้งระเบิดจมเรือเหล่านั้นสู่ก้นทะเล และท้ายที่สุดอินโดนีเซียไม่เคยได้รับใบเหลืองจาก EU เลย “อินโดนีเซียทำเพื่อแสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้มันร้ายแรง และแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา เพราะอย่างนี้จึงไม่ได้โดนใบเหลืองเลย” อัญชลี พิพัฒนาวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุททรกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ใช้เวลา 11 เดือน ในการปลดล็อคใบเหลือง ที่ EU มอบให้ตั้งแต่กลางปี 2557 “อัญชลี พิพัฒนาวัฒนากุล” ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทรกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นว่าสิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งรัฐบาลของฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับประมงพื้นบ้านไม่ต่างกับตัวเลขการส่งออกของประมงพาณิชย์ เห็นได้จากเมื่อประมงพื้นบ้านรวมตัวกันเสนอรายชื่อเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง ภาครัฐก็รับฟังและรีบออกมาตรการเพื่อมาจัดการกับประมงเหล่านั้น หรือให้ชาวประมงในชุมชนร่วมตรวจการณ์กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อเฝ้าระวังเรือประมงผิดกฎหมาย เวทีเสวนา “ใบเหลืองอียู : ชะตากรรมทะเลไทยในอุ้งมือรัฐและอุตสาหกรรมประมง” ส่วนสถานการณ์ของไทยภายหลัง EU ตัดสินใจให้ใบเหลืองด้านประมงเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้พระราชบัญญัติการประมงใหม่ของไทยเปิดช่องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยสามารถรวมกลุ่มประมงพื้นบ้านและมีโอกาสส่งตัวแทนเข้าไปเป็นคณะกรรมการของจังหวัด ซึ่งมีสิทธิ์ผลักดันนโยบายได้ แต่ “วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี” ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยเห็นว่าโอกาสนี้จะเกิดขึ้นสำหรับชุมชนที่ตื่นตัวเท่านั้น ซ้ำการตัดสินใจที่แท้จริงยังคงอยู่ในมือของฝ่ายบริหาร “สมมติว่ากรรมการจังหวัดมีมติร่วมกันทั้งจังหวัดว่าประมงชนิดนี้จังหวัดตนถือว่าเป็นประมงแบบผิดกฎหมาย แต่ถ้ารัฐมนตรีไม่อนุญาตก็ประกาศใช้ไม่ได้ เพราะอำนาจในกฎหมายยังคงเป็นของฝ่ายการเมือง หรืออยู่ในมือคนเดียวคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” สิ่งสำคัญมากไปกว่านั้นคือการจัดการกับประมงผิดกฎหมาย โดยเฉพาะประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่เมื่อฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการใช้เครื่องมือผิดประเภท หรือเข้ามาทำประมงในเขตหวงห้าม ยังคงระบุโทษไว้เพียงการปรับเท่านั้น “กฎหมายใหม่ถ้าจะปรับให้ถาม 3 คน อัยการ หัวหน้าตำรวจ และประมงจังหวัด ผมเป็นอวนลากผมจ่าย 3 คนเลยคราวนี้ เพราะสิ่งที่ผมกลัวคือการริบเรือ ผมไม่กลัวค่าปรับ ซ้ำทำผิดแล้วไม่ต้องส่งฟ้องศาลแต่เปรียบเทียบปรับได้เลย ผมก็จ่ายค่าปรับตอนเช้าก็ออกเรือเหมือนเดิม” วิโชคศักดิ์อธิบายถึงช่องโหว่ขนาดใหญ่ของกฏหมาย ทำให้ข้อสรุปจากเวทีจึงเห็นตรงกันว่า มาตรการของไทยออกมาอย่างรีบร้อนเกินไป ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่อาจจะลวง EU ได้สักพัก แต่เมื่อมองไกลไปในระยะยาว ยังไม่มีข้อใดที่สามารถแก้ไขปัญหาประมงได้อย่างแท้จริง
__________________
Saaychol |
#69
|
||||
|
||||
ไทยรัฐ
20-05-2015 อียูทำโฆษณาต้านสินค้าประมงไทย นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ในสหภาพยุโรป (อียู) ได้สร้างโฆษณาเรื่องประมงไทย รณรงค์ให้ผู้บริโภคในอียูเกิดความรังเกียจ และเลิก หรือเลี่ยงการบริโภคสินค้าประมงจากประเทศไทย ซึ่งหากเกิด กระแสต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ กระแสการต่อต้านสินค้าไทยจะเป็นตัวผลักดันการพิจารณาใบเหลือง กรณีการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (ไอยูยู) ให้เป็นใบแดงได้ และเมื่อนั้นสินค้าประมงไทยก็จะถูกอียูห้ามนำเข้า กระทบและซ้ำเติมการส่งออกของไทย “ขณะนี้คณะผู้แทนไทยที่ดับบลิวทีโอ และบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อชี้แจงความคืบหน้าการแก้ปัญหาไอยูยูของไทย ในประเด็นที่อียูตั้งข้อสงสัยว่าไทยเอาเปรียบคู่ค้า โดยใช้แรงงานผิดกฎหมาย เพื่อให้ต้นทุนการค้าต่ำกว่าคู่แข่ง หากผลการตรวจสอบออกมาว่าไทยไม่ได้เอาเปรียบคู่ค้า ไม่ได้ทำการค้าผิดกฎหมาย อียูก็จะประกาศยกเลิกใบเหลือง เหมือนกรณีเกาหลีและฟิลิปปินส์ ขณะนี้รัฐบาลไทยกำลังเร่งดำเนินการเพื่อปรับปรุงให้การทำประมงไทยได้มาตรฐานสากล หากแก้ปัญหาได้ ภาพพจน์สินค้าประมงไทยจะดีขึ้น” นายผณิชศวร ชำนาญเวช ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ที่ปรึกษานายก กล่าวว่า ไทยต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เป็นไปได้อยากให้นายกรัฐมนตรีประกาศห้ามส่งออกสินค้าประมง 2 ปี เพื่อปรับอุตสาหกรรมทั้งระบบจนกว่าอียูจะให้การยอมรับ. เดลินิวส์ 21-05-2015 อินโดนีเซียจมเรือประมงต่างชาติ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงจาการ์ตาประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่21พ.ค.ว่าทางการอินโดนีเซียได้ตัดสินใจจมเรือประมงต่างชาติทิ้งจำนวน41ลำเพื่อเป็นสัญญาณเตือนเรื่องการลักลอบเข้ามาจับปลาโดยผิดกฎหมายในเขตน่านน้ำของอินโดนีเซีย เรือประมงต่างชาติมาจากหลายประเทศด้วยกันถูกระเบิดทิ้งที่ท่าเรือหลายแห่งทั่วอินโดนีเซียซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในแหล่งหาปลาที่ดีที่สุดในโลกด้วย ส่วนโฆษกกองทัพเรืออินโดนีเซียแถลงว่า เรือประมง 35ลำถูกระเบิดทิ้งด้วยกองทัพเรืออินโดนีเซียและอีก 6 ลำนั้นทางตำรวจน้ำอินโดนีเซียเป็นผู้ดำเนินการ นางซูซีปุดจิอาสตูติ รัฐมนตรีประมงของอินโดนีเซียกล่าวว่าอินโดนีเซียได้จมเรือประมงต่างชาติทิ้งไปหลายลำแล้วนับตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศเมื่อปีที่แล้วนำโดยนายโจโค วิโดโดประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซีย“
__________________
Saaychol แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 21-07-2015 เมื่อ 15:53 |
#70
|
||||
|
||||
ผู้จัดการ
25-05-2015 ดูกันชัดๆ เจ้าหน้าที่รัฐทำอะไรอยู่ ปล่อยเรืออวนลากคู่ล้างผลาญสบายใจในเขตอุทยานแห่งชาติ เรืออวนลากลักลอบจับปลาในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา (ภาพ : บรรจง นะแส) ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แฉภาพเรืออวนลากคู่ออกจับสัตว์น้ำในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ชี้เป็นหลักฐานยืนยันชัดว่า กฎหมายประมง-อุทยาน ไม่สามารถปกป้องทรัพยากรของประเทศชาติ หรือเอาผิดต่อผู้ฝ่าฝืนได้ เชื่อต่อไปสัตว์น้ำถูกจับส่งโรงงานผลิตอาหารสัตว์หมดทะเล ส่อเกิดวิกฤตโภชนาการในอนาคต ซ้ำธุรกิจประมงไทยอาจไม่รอดถูกใบแดงจากกลุ่มอียู วันนี้ (24 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ได้โพสต์ภาพในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ บรรจง นะแส พร้อมเขียนข้อความว่า อวนลากคู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตาวันนี้เจอหลายคู่ ท่านอธิบดีกรมอุทยานคงนอนหลับสบายดีนะครับ เรืออวนลากลักลอบจับปลาในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา (ภาพ : บรรจง นะแส) โดยโพสต์ดังกล่าวขณะนี้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กเข้ามากดถูกใจกว่า 976 คน และมีการแชร์ต่อไปยังหน้าเพจอื่นๆ อีกกว่า 230 ครั้ง และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ตามมาหลายความคิดเห็น นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยต่อ ASTVผู้จัดการภาคใต้ ว่า ถ่ายภาพเรืออวนลากคู่กำลังลักลอบจับปลาในเขตอุทยานแห่งชาติได้เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะลงพื้นที่พบปะเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านใน จ.สตูล ซึ่งภาพดังกล่าวเป็นหลักฐานยืนยันที่ตอกย้ำให้สังคมได้รับรู้ว่า การปล่อยปละละเลยให้การทำประมงแบบผิดกฎหมายยังคงมีอยู่ในประเทศไทย แม้ภาครัฐจะอ้างว่าขณะนี้กำลังเข้มงวดกวดขันในเรื่องนี้หลังจากถูกใบเหลืองจากกลุ่มประเทศอียู ขณะนี้ไทยยังคงติดโทษใบเหลืองจากอียู ทำให้สินค้าประมงส่งออกมีปัญหา รัฐบาลแก้ปัญหานี้โดยไม่ฟังเสียงจากกลุ่มพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านซึ่งมีประสบการณ์รับรู้ปัญหาในวงการประมงไทยมาโดยตลอด ภาพที่เห็นแสดงให้เรารู้ว่า กฎหมายประมง กฎหมายอุทยานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันประกอบกับจิตสำนึกของเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถปกป้องรักษาทรัพยากรในท้องทะเลของประเทศชาติได้ ถ้าเป็นแบบนี้ปัญหานี้ก็จะยังไม่มีทางหมดไป นายบรรจง กล่าวว่า การลักลอบจับสัตว์น้ำของเรืออวนลาก อวนรุน ในเขตหวงห้ามเพื่อลักลอบจับสัตว์น้ำทุกขนาดส่งขายให้แก่โรงงานปลาป่นยังคงเกิดขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ยังเป็นต่อไปเช่นนี้ต่อไปทรัพยากรในทะเลจะค่อยๆ หมดไป คนไทยจะไม่ได้กินอาหารโปรตีนดีๆ จากท้องทะเลอีก เพราะสัตว์ทะเลวัยอ่อนถูกกวาดต้อนเข้าโรงงานปลาป่นเพื่อนำไปขายเป็นอาหารสัตว์ทั้งหมด อนาคตลูกหลานไทยจะประสบปัญหาด้านโภชนาการอาหารอย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน ก็อาจได้รับใบแดงจากกลุ่มสหภาพยุโรปในที่สุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครื่องมือประมงแบบอวนลาก อวนรุน เป็นเครื่องมือประมงที่สามารถจับสัตว์น้ำได้ทุกขนาด ถือเป็นเครื่องมือประมงประเภททำลายล้างชนิดหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียได้ได้ออกกฎหมายยกเลิกการใช้เครื่องมือประเภทนี้แล้วเมื่อต้นปี 2558 ที่ผ่านมา ขณะที่ในประเทศไทยยังคงไม่มีกฎหมายห้ามใช้เครื่องมือชนิดนี้ และยังคงมีเรืออวนลากจำนวนมากที่ลักลอบจับปลาในเขตหวงห้ามซึ่งเป็นปัฐหาที่เกิดขึ้นมานาน และยังไม่สามารถจัดการแก้ไขได้
__________________
Saaychol |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
เรียบเรียงคำตอบ | |
|
|