#81
|
||||
|
||||
ไขปริศนาหายนะปี 2012 โลกาวินาศ - มนุษยชาติสูญสิ้น!? (ต่อ) เรื่องที่ 4 ’พายุสุริยะ“ เรื่องนี้มีกระแสรุนแรงเนื่องจากเพิ่งเกิดไปเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งพายุสุริยะจะมีผลกระทบโดยตรงต่อโลกคือ เราจะเห็นในรูปแสงสีแปลกตาที่เราเรียกว่าแสงออโรร่าหรือแสงเหนือแสงใต้ อนุภาคบางส่วนที่ถูกปลดปล่อยออกมาอาจไปสะสมที่ผิวของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของดาวเทียมเมื่อถึงจุดหนึ่งมีการคลายประจุออกมาทำให้เกิดความเสียหายได้ บรรดารังสีต่าง ๆ ที่มาจากพายุสุริยะ เช่น รังสีเอ็กซ์ ทำให้มีการรบกวนสัญญาณวิทยุที่อยู่บนโลกได้ รังสียูวีเพิ่มขึ้นทำให้ชั้นบรรยากาศร้อนและลอยตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามดวงอาทิตย์มีวัฏจักรในการทำงานและพักผ่อนห่างกันประมาณ 11 ปีโดยเฉลี่ย เนื่องจากครั้งล่าสุดดวงอาทิตย์ขยันมากสุดเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2000 จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่าดวงอาทิตย์จะกลับมาขยันอีกในอีก 10-12 ปี ถัดมานั่นคือปี ค.ศ. 2012 แต่ ผลกระทบต่อโลกและมนุษย์อย่างที่ทราบกันว่ามีน้อยมาก และเรื่องสุดท้าย ’การสลับขั้วของแม่เหล็กโลก” โดยโลกของเรามีสนามแม่เหล็กและขั้วแม่เหล็กที่ทำให้เข็มทิศชี้ไปทั้งขั้วเหนือและใต้ได้ ซึ่งสนามแม่เหล็กเกิดจากการเลื่อนไหลของโลหะที่หลอมอยู่ใต้โลก ทำให้เกิดเป็นกระแสไฟฟ้า และเกิดสนามแม่เหล็กใหม่มาทดแทนสนามแม่เหล็กเดิมที่อ่อนกำลังลงไปอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีกระแสข่าวว่าโลกอยู่ในช่วงที่สนามแม่เหล็กโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอาจได้รับผลกระทบรุนแรง แต่นักธรณีวิทยาพบหลักฐานที่ทำให้เราทราบว่าขั้วแม่เหล็กโลกนั้นมีการพลิกกลับขั้วอยู่เป็นระยะมาโดยตลอด ช่วงระยะเวลาในการคงสภาพขั้วไว้ได้นั้นอาจยาวนานถึง 100,000-1,000,000 ล้านปี ปัจจุบันมีการยืนยันแล้วว่าการกลับขั้วเคยเกิดขึ้นแล้ว 2 ช่วง อย่างไรก็ตามระยะเวลาที่ใช้ในการเปลี่ยนขั้วแม่เหล็กโลกนั้นไม่ได้เกิดในระยะเวลาสั้นๆ ต้องใช้เวลาราว 1,000-10,000 ปี โดยขั้วเดิมจะค่อยๆอ่อนกำลังลงแล้วจะมีขั้วใหม่ผุดขึ้นมาในบริเวณต่างๆจนครบสมบูรณ์ สำหรับสิ่งที่กลัวกันว่าการสลับขั้วของแม่เหล็กโลกจะทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือละลาย เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมโลกนั้น เราต้องลองพิจารณาดูว่าน้ำนั้นมีภาชนะใส่อยู่หรือไม่มี เช่น น้ำแข็งที่อยู่ในแก้วน้ำละลายก็จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย หรืออยู่ที่ขนาดของภาชนะถ้ามีน้ำแข็งมากแต่ภาชนะเล็กก็อาจจะล้นออกมาบ้างแต่ก็ไม่มาก กรณีน้ำแข็งขั้วโลกละลายก็เช่นกันหากมีการละลายก็คงจะไม่กระทบถึงกรุงเทพฯ และน่ากลัวเท่ากับเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เพราะการขุดเจาะน้ำบาดาลไปใช้เป็นจำนวนมากจนทำให้แผ่นดินทรุดเป็นแน่..!! หากเราเข้าใจที่มาของการคาดการณ์ กระแสข่าวการกล่าวอ้างต่างๆ และพยายามหาความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์จากแหล่งข้อมูลหรือนักวิชาการที่เชื่อถือได้ ก็จะสามารถใช้ข้อมูลและเหตุผลในการวิเคราะห์กรองข่าวต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าจะหลงเชื่อจนจิตตกไม่เป็นอันทำอะไร หรือว่าจะเลือกปฏิบัติตนตามปกติกับคำทำนายเหล่านั้น... .................................................................................................. ย้อนประวัติศาสตร์โลกถูกดาวเคราะห์พุ่งชน ในอดีตเคยเกิดเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางพุ่งชนโลกครั้งใหญ่จริง มีผลทำให้ไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตประมาณ 3 ใน 4 ที่อยู่บนผิวโลกสูญพันธุ์ในอายุใกล้เคียงกันเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว นักธรณีวิทยาพบหลักฐานหลุมอุกกาบาตชิคซูลูป ที่คาบสมุทรยูคาตัน หรือในปี ค.ศ. 1908 เกิดระเบิดของอุกกาบาตหรือดาวเคราะห์น้อยเหนือท้องฟ้าที่ทังกัสก้า ประเทศไซบีเรีย หรือหลุมอุกกาบาตแบริงเจอร์ อยู่ในมลรัฐแอริโซนา เป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุด โดยการชนบนทะเลทรายด้วยวัตถุขนาด 50 เมตร เมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.6 กิโลเมตร ถ้าไปยืนตรงกลางจะมองไม่เห็นต้องใช้กล้องส่องทางไกล ส่วนชื่อหลุมตั้งชื่อตามครอบครัวที่ซื้อหลุมนี้ เพราะนักธรณีวิทยาศึกษาแล้วพบว่าเป็นการชนจากวัตถุนอกโลก และมีเหล็กกระจายอยู่มาก ทำให้แบริ่งเชื่อว่าใต้หลุมมีอุกกาบาตก้อนใหญ่ซึ่งเป็นเหล็กบริสุทธิ์ขนาดเป็นตันอยู่ เพราะเหล็กบนโลกไม่ใช่เหล็กบริสุทธิ์เวลาจะนำมาใช้ต้องนำไปถลุง หากได้มาจะต้องร่ำรวยมากแน่ๆ ปัจจุบันพบว่าไม่มีใครเคยเจออุกกาบาตก้อนนั้นมีแต่หลุม เพราะความรุนแรงจากการปลดปล่อยพลังงานทำให้หลอมละลายไปหมดไม่เหลืออะไรเลย ปัจจุบันครอบครัวแบริงเจอร์ร่ำรวยจริง แต่ไม่ใช่เพราะขายเหล็กแต่ร่ำรวยจากการเปิดหลุมให้ประชาชนเข้าชม อย่างไรก็ตามดาวเคราะห์น้อยคือวัตถุขนาดเล็กที่หลงเหลือจากการเกิดดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ อยู่ในวงโคจรระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี มีจำนวนมากมาย ปัจจุบันเรายังค้นพบไม่หมด วัตถุขนาดเล็กพวกนี้มีองค์ประกอบแตกต่างกันออกไป บางวัตถุก็มีองค์ประกอบเป็นคาร์บอน บางวัตถุก็เป็นเหล็ก บางครั้งถ้าได้รับแรงรบกวนจากดาวเคราะห์ข้างเคียงหรือมีการเปลี่ยนแปลงวงโคจรก็ตัดเข้ามาในระบบสุริยะด้านใน และบางครั้งก็ตัดกับวงโคจรของโลก ซึ่งความถี่ของการชนพบว่าการชนแบบอุกกาบาตชิคซูลูปมีความถี่ประมาณหลายร้อยล้านปี ส่วนกรณีการชนที่ทังกัสก้ามีความถี่ก็หลายร้อยปี แต่จะมีขนาด 1-2 เมตร ไม่มีปัญหาอะไร เพราะโลกมีชั้นบรรยากาศเป็นเกราะป้องกันอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็ไม่มีใครทราบว่าในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2554 มีดาวเคราะห์น้อยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 300 เมตร เฉียดโลกไปในระยะ 324,900 กิโลเมตร ชื่อดาวเคราะห์น้อย 2005 YU55 เป็นดาวเคราะห์น้อยที่ค้นพบในปี ค.ศ. 2005 โคจรรอบดวงอาทิตย์ในเวลา 1.22 ปี ต่อ 1 รอบ ซึ่งไม่มีภัยอันตรายต่อโลกอีกเช่นกัน. จาก ........................ เดลินิวส์ วันที่ 5 มีนาคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#82
|
||||
|
||||
‘2583’ อุกกาบาตพุ่งชนโลก!?! ตื่นตระหนกมหาวิบัติภัยล้างโลกบนฐานแห่งความจริง แม้เหตุอุกกาบาตพุ่งชนโลกครั้งร้ายแรงที่สุดตามที่มีผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือข้อมูลได้ จะล่วงเลยมากว่า 65 ล้านปีแล้ว แต่บทเรียนแห่งมหาวิบัติภัยในครั้งนั้นก็ยังสร้างความน่าสะพรึงกลัวแก่มนุษยชาติเสียทุกครั้งไป ยิ่งมีข่าวคราวของวัตถุไม่พึ่งประสงค์บนท้องฟ้าอย่าง ‘อุกกาบาต’ จ่อพุ่งชนโลกทีไร...ความตื่นกลัวก็เข้าปกคลุมไปทุกอาณาเขตของโลก เพราะนั้นเท่ากับว่าจุดจบของสรรพสิ่งบนโลกใกล้เข้ามาทุกที แต่อย่างน้อยวิทยาการในยุคปัจจุบัน ก็สามารถทำให้ชาวโลกสามารถรับรู้ข้อเท็จจริงได้ทันท่วงที เมื่อไม่นานมานี้เอง องค์การนาซา (องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ของประเทศสหรัฐอเมริกา) ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า จะมีอุกกาบาตชื่อ ‘2011 เอจี 5’ พุ่งชนโลกในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2040 หรือในพ.ศ.2583 มีขนาดความกว้างประมาณ 140 เมตร คาดการณ์ว่าหากอุกกาบาตลูกนี้ตรงดิ่งบริเวณพื้นที่ชุมชนจะทำให้สิ่งมีชีวิตล้มตายนับล้านโดยเฉพาะมนุษย์ แต่ทางองค์การนาซาก็ยอมรับถึงความไม่แน่นอนว่า ระยะอีก 28 ปีข้างหน้านั้น ความเสี่ยงที่ ‘2011 เอจี 5’ จะพุ่งชนโลกในการคิดคำนวณ ณ ปัจจุบันมีความเสี่ยง 1 : 625 แต่อนาคตความเสี่ยงที่มันจะพุ่งชนโลกอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เบื้องต้นทางนาซาเองยังไม่มีข้อมูลของอุกกาบาตลูกนี้เสียเท่าไหร่นัก ว่ากันว่าจะมีการตรวจสอบกันอีกครั้งในปีหน้า และจะมีการคำนวณความเสี่ยงกันอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่องค์การนาซาแถลงออกมาครั้งนี้ ก็สั่นสะเทือนประชาคมโลกไม่น้อย ด้านสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็สนองตอบในเรื่องอุกกาบาตพุ่งชนโลกโดยการระดมมันสมองของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำเร่งหาทางออกของวิบัติภัยที่จ่อทำลายโลก ทำความรู้จัก ‘อุกกาบาต’ หากกำหนดนิยามของคำว่า 'อุกกาบาต' ง่ายๆ ก็คงต้องบอกว่า มันคือวัตถุขนาดเล็กที่ล่องลอยอยู่ในห้วงอวกาศ และถูกแรงดึงดูดให้ตกลงมาบนพื้นโลก ซึ่งช่วงที่อยู่ในอวกาศ มันจะถูกขนานนามว่า 'สะเก็ดดาว' มีขนาดตั้งแต่ก้อนหินขนาดใหญ่เรื่อยไปถึงละอองฝุ่น และเมื่อมันเคลื่อนที่ไปสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ต่างๆ จะทำให้ความร้อนและแสงสว่าง จนคนจำนวนมากเรียกมันว่า 'ดาวตก' ซึ่งแสงที่ว่านั้น มาจากแรงเสียดทานระหว่างสะเก็ดดาวกับชั้นบรรยากาศนั่นเอง เพราะเมื่อสะเก็ดดาวหลุดเข้ามาจะเกิดการแตกตัวเป็นไอออน และหากมีสะเก็ดใดตกลงมาถึงพื้นโลก ก็จะเปลี่ยนไปเรียกว่า 'อุกกาบาต' แทน ซึ่งองค์ประกอบของอุกกาบาตนั้นจะแตกต่างกันออกไป แต่หลักๆที่พบมี 3 ชนิดคือ หิน เหล็ก และเหล็กปนหิน แต่ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นชนิดหิน ซึ่งก้อนหินใหญ่ที่สุดในโลก ชื่อ ‘จีหลิง’ ตกที่อำเภอจีหลิง ประเทศจีน เมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ.2519 หนักเกือบ 2,000 กิโลกรัม ส่วนอุกกาบาตชนิดเหล็ก ก้อนใหญ่ที่สุดที่พบคือ ‘โฮบา เวสท์’ หนักประมาณ 66 ตัน ตกกลางป่าในแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ โดยอุกกาบาตชนิดหินส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนหินบนโลก และมักกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของโลก เพราะฉะนั้นจึงมีแต่ ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่จะบอกได้ว่า หินก้อนใดที่เป็นอุกกาบาตกันแน่ อย่างไรก็ดี การตกลงมาของอุกกาบาตของโลกนั้นมีหลายแสนหลายล้านครั้งแล้ว และแต่ละก้อนคนก็จะนำมาสู่ผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป โดยครั้งที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ส่งผลกระทบมากที่สุด ก็คือเมื่อ 65 ล้านปีก่อน ที่ว่ากันว่า อุกกาบาตพุ่งชนโลก จนสัตว์ในตำนานอย่างไดโนเสาร์สูญพันธุ์ โดยข้อเขียนของ ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ราชบัณฑิตสาขาฟิสิกส์ ระบุว่า ในปี 2523 หลุยส์ อัลวาเรซ และวอลเตอร์ อัลวาเรซ นักวิทยาศาสตร์ 2 พ่อลูก ได้นำเสนอผลงานทางวิชาการที่ชื่อว่า ‘การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีก่อนหรือที่เรียกว่าการสูญพันธุ์ยุคครีตาเชียส-เทอร์ทิอารี’ โดยมีเนื้อหาว่า “...ได้มีอุกกาบาต หรือดาวหางขนาดใหญ่ลูกหนึ่ง ตกลงมาชนโลก พลังระเบิดครั้งนั้น มีความรุนแรง เทียบเท่ากับการระเบิดของลูกระเบิดปรมาณู หนึ่งแสนลูกพร้อมกัน....และเมื่ออุกกาบาตลูกนั้นพุ่งชนโลก ฝุ่นละอองธุลีหินและดินต่างๆ ได้พุ่งกระจัดกระจายสู่ท้องฟ้า เมฆฝุ่นได้บดบังแสงอาทิตย์ มิให้ส่งกระทบโลกนานเป็นปี ส่วนแผ่นดิน เมื่ออุกกาบาตชน ได้ลุกไหม้ทำให้เกิดไฟป่าลุกท่วมโลก นอกจากนี้ก๊าซไนโตรเจน ไอน้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ได้รวมตัวกันเป็นฝนกรด ตกรดพืชและสัตว์ต่างๆ ทำให้สัตว์และพืชหลายชนิดล้มตาย ตัวไดโนเสาร์เมื่อขาดอาหารจึงได้ล้มตายมากมายจนสูญพันธ์ในที่สุด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อ่อนแอกว่าจึงมีโอกาสวิวัฒนาการตนขึ้นจนเป็นเจ้าโลกในที่สุด...” นอกจากนี้ อุกกาบาตยักษ์ยังทำให้เกิดหลุมขนาดใหญ่ขึ้นมาหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ตก โดยมีการบันทึกว่า หลุมใต้น้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาซึ่งลึกกว่า 400 กิโลเมตร ก็เป็นผลงานของอุกกาบาต หรือแม้แต่ในทะเลทรายอริโซน่า ซึ่งเกิดเมื่อ 20,000 ปีก่อน ก็เกิดหลุมปริศนากว้างถึง 1 กิโลเมตร ซึ่งว่ากันว่า การเกิดแต่ละครั้งจะเกิดการระเบิดที่แรงมาก บางคนก็โชคร้ายเจอลูกอุกกาบาตตกใส่เสียชีวิตก็มี ส่วนในประเทศไทยเองก็มีหลักฐานว่า เกิดเหตุอุกกาบาตแบบหินตกใส่เหมือนกัน โดยในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2466 มีรายงานว่าลูกอุกกาบาตตกที่ตำบลดอนยายหอม จังหวัดนครปฐม โดยแตกออก 2 ก้อน น้ำหนักรวม 32 กิโลกรัม ปัจจุบันแสดงอยู่ที่ท้องฟ้าจำลอง และอีกครั้งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2524 ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นอุกกาบาตชนิดเนื้อหินเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ก็ยังมีหลักฐานแน่ชัดว่า อุกกาบาตจะมีพลังเพียงพอในการทำลายโลก อย่างที่หลายคนและภาพยนตร์บางเรื่องจินตนาการเอาไว้ ‘ดาราศาสตร์’ ศาสตร์แห่งการคาดคะเน “ดาวเคราะห์น้อย ‘2011 เอจี 5’ มันเกิดขึ้นเนื่องจากมีการพูดคุยกันในที่ประชุมของสหประชาชาติในคณะกรรมการเฝ้าระวังวัตถุที่เข้ามาใกล้โลก (Near-Earth Objects) เขาก็เอ่ยถึงดาวเคราะห์น้อย 2011 เอจี 5 และก็พูดถึงความเป็นไปได้ว่าในอีก 28 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ.2583 ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะชนโลก แต่โอกาสที่จะเป็น 1 : 625 ไม่ใช่ว่าชนแน่นอน ต้องขออธิบายว่าเจ้าดาวเคราะห์ดวงนี้ มันเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่บัญชีที่เขาจัดว่าอยู่ในบัญชีวัตถุใกล้โลก หรือเป็นวัตถุที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อโลกของเราได้ เป็นหนึ่งในเจ็ดพันกว่าดวง” รศ. บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อธิบายถึงปรากฏการณ์อุกกาบาตจ่อพุ่งชนโลกในอีก 28 ปี ข้างหน้าที่องค์การนาซาได้ออกมาแถลงต่อชาวโลก ชึ่งดาวเคราะห์ดวงนี้พบเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว โคจรเป็นวงรีโดยจุดที่ไกลที่สุดจะเลยดาวอังคารออกไป และจุดที่ใกล้ที่สุดมันจะอยู่แถวดาวศุกร์ และจะผ่านวงโคจรของโลกเราด้วย มีวงโคจรรอบละประมาณ 1.7 ปี เพราะฉะนั้นทุกๆ 1.7 ปี มันจะเข้ามาตัดกับวงโคจรของโลกเรา แต่ว่าช่วงเวลาต่างๆ มันจะไม่ใกล้โลกเพราะโลกเองก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ ฉะนั้นเวลาที่ผ่านวงโคจรโลกอาจไม่ได้อยู่ตำแหน่งนั้น มีการคำนวณวงโคจรและมีข้อสรุปว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ว่า ในปี พ.ศ. 2583 โลกกับดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อาจจะอยู่ใกล้กันมากและก็มีความเป็นไปได้มันจะเฉียดชนโลก แม้จะยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า ดาวเคราะห์น้อย 2011 เอจี 5 จะพุ่งชนโลกตามที่คาดคะเนกันไว้หรือไม่ แต่ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่โดยอย่างองค์การนาซา องค์กรที่มีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีบนอวกาศและองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางด้านดาราศาสตร์และอวกาศของประเทศสหรัฐอเมริกา ย่อมผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์และความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง “ส่วนใหญ่ข่าวที่ออกมาจากทางองค์การนาซานั้น จะค่อนข้างน่าเชื่อถือ เพียงแต่ว่าเมื่อมีข่าวออกมาแล้วความเข้าใจของสังคม หรือของประชาชนจะถูกต้องตามที่นาซาเปิดเผยมาหรือไม่ การเข้ามาของดาวเคราะห์น้อยในแต่ละครั้ง วงโคจรมันเปลี่ยนไปหมดมันไม่ได้เข้ามาเหมือนเดิมตลอด ถ้าคงที่แบบที่คำนวณกันมันก็อาจมีโอกาสเข้าใกล้อาจจะเฉียดชนได้ แต่ว่าวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยที่เข้ามาในแต่ละครั้งมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา เพราะฉะนั้นนาซาก็บอกว่า ประมาณเดือนกันยายนปีหน้าจะมีการคำนวณอีกครั้ง ซึ่งวงโคจรมันอาจจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นและอาจมีการสรุปว่า จริงๆ แล้วมันอาจจะห่างมากก็ได้ เพราะการคำนวณจะไม่เหมือนกันสักครั้งเดียว ดังนั้น ทำนายว่าอีก 28 ปีแล้วชนแน่ๆ มันไม่น่าเชื่อถือ มันเป็นอะไรที่เราไม่ต้องกังวลเพราะว่าวงโคจรมันเปลี่ยนตลอดเวลา” จะว่าไปแล้ววิบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นกับโลกอย่างกรณีอุกกาบาตพุ่งชนโลก อย่างองค์การนาซาก็จะมีหน่วยงานติดตามวัตถุที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อโลกของเรา มีรายชื่อเต็มไปหมดซึ่งตรงนี้ก็มีการเผยแพร่ รศ. บุญรักษา กล่าวทิ้งท้ายว่า การป้องกันโลกจากวัตถุนอกโลกที่อาจพุ่งชนโลกนั้นต้องมีการวิจัยและพัฒนาในด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี ซึ่งก็มีความมั่นใจว่าในอนาคตมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสมองล้ำเลิศก็คงจะสามารถปกป้องโลกของเราไว้ได้ “พอเฝ้าระวัง แน่นอนเขาก็ต้องคิดเทคโนโลยีเฝ้าระวัง ถ้าหากมีดวงใดดวงหนึ่งเข้ามาใกล้โลกและเกิดควงสว่านชนโลกเรา มันก็มีความเป็นไปด้ที่เขาจะจัดการตรงนี้ มันก็มีการพูดกันเยอะเลยว่าจะทำอย่างไรดีหากมีการพุ่งชนโลก มีการเสนอว่าก็ยิงจรวดไปทำลายมันอย่าง 2011 เอจี 5 มันก็ขนาดประมาณ 100 กว่าเมตร มันก็ไม่ใหญ่มาก แต่การยิงทำลายมันก็ค่อนข้างจะอันตรายเพราะว่าโอกาสที่มันจะกระจายชนเราก็มีสูง เพราะฉะนั้นดาราศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์ก็เสนอถึงการเปลี่ยนวงโคจร อาจจะใช้รังสีที่มันมีพลังงานสูงที่จะผลักวัตถุก้อนนี้มันเบี่ยงวงโคจรที่จะไม่ชนโลก เป็นวิธีการที่ไม่ทำลายมันและมันไม่ชนเรา” (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#83
|
||||
|
||||
‘2583’ อุกกาบาตพุ่งชนโลก!?! ตื่นตระหนกมหาวิบัติภัยล้างโลกบนฐานแห่งความจริง (ต่อ) คิดกันตามหลักความเป็นจริง ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่สนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ แทนไท ประเสริฐกุล เมื่อได้ยินข่าวว่าองค์การนาซาออกมาเตือนเรื่องอุกาบาตจะชนโลกในปี พ.ศ.2583 เขาก็แสดงความคิดเห็นว่ามันเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์น่าสนใจ และน่าตื่นเต้นแต่ไม่ใช่เรื่องให้ตื่นตระหนก ต้องดูกันในรายละเอียดด้วยเพราะโอกาสในการชนคือ 1 ใน 600 กว่าๆ ถือว่าค่อนข้างน้อย ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนยังไงคงต้องศึกษาเส้นทางโคจรอีก “ลูกนี้มีความเสี่ยง เขาก็จะมีการจดบันทึกไว้อยู่แล้ว คนก็อาจจะตกใจกันทีหนึ่ง ซึ่งถ้าลูกนี้มันจะชนโลก ภารกิจในการหยุดยั้งไม่ให้อุกาบาตชนก็จะน่าสนใจ ปกติดูจากหนังอาจจะแค่เอาลูกระเบิดไปฝังอุกกาบาตแล้วจบ แต่จริงๆมันไม่ได้ง่ายอย่างงั้น ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ‘เดธ ฟรอม เดอะ สกาย’ เขาเล่าให้ฟังว่า การป้องกันโลกมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น อุกกาบาตบางลูกแข็งมาก เป็นเหล็กทั้งก้อน ต่อให้ระเบิดโดยนิวเคลียร์ก็แทบไม่เกิดอะไรกับมันเลย บางลูกเป็นรูพรุนแรงระเบิดก็กระจาย ไม่เสียรูปทรง หรือหากเราระเบิดมันได้จริง มันกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย มันอาจจะซับซ้อนกว่าเดิม ชนสองจุดอาจจะเสียหายมากกว่าจุดเดียว” สำหรับองค์การนาซานั้น จะมีการแจ้งเตือนทุกครั้งที่มีวัตถุที่โคจรเข้ามาใกล้โลก ในมุมมองของ แทนไท ถือเป็นองค์กรที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ในทางประวัติศาตร์ก่อตั้งขึ้นจากการแข่งขันในช่วงสงครามเย็น แต่เขามีการจดรายงานเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว ปัจจุบันทิศทางของนาซาเขาก็ยังเป็นผู้นำของโลกในการอวกาศอยู่ องค์กรนาซาก็ถือว่ามีคุณูปการเยอะ ผมค่อนข้างจะมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กรนี้ แต่มันก็ยังมีดีเบท (โต้แย้ง) อยู่ว่า การสำรวจอวกาศควรเป็นเรื่องของเอกชนได้แล้ว หรือการส่งหุ่นหรือคนออกไปอวกาศดี” ........... การออกมาแสดงข้อมูลขององค์การนาซาในครั้งนี้ ก็คงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติหากตรวจพบวัตถุใดเข้าใกล้โลก ซึ่งที่แน่ๆ คงไม่ได้ต้องการให้เกิดความแตกตื่น...เพียงแต่ต้องการสร้างความตื่นตัวในการเปิดรับข่าวสารข้อมูลความเป็นไปของสถานการณ์โลก ‘ดาวเคราะห์น้อย 2011 เอจี 5’ แม้จะมีการคาดการณ์ว่าจ่อพุ่งชนโลกในปี พ.ศ. 2583 แต่ก็ต้องยอมรับว่าในศาสตร์ของดาราศาสตร์นั้น การโคจรของดวงดาวในระบบสุริยะไม่ได้มีความแน่นอนหรือคงที่เสมอไป อย่างไรก็ตาม พัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์อาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยปกป้องโลกใบนี้ไว้ได้ จาก ........................ ผู้จัดการรายวัน วันที่ 5 มีนาคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#84
|
||||
|
||||
หลุมยุบ / ดินทรุด หากยังจำเหตุการณ์การเกิดหลุมยุบขนาดใหญ่ที่ประเทศกัวเตมาลา เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2553 กันได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ทุกคนต่างพากันสงสัยว่าอะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดหลุมยุบขนาดใหญ่ยักษ์กลางสี่แยก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 18 เมตร ลึก 30 เมตร ได้ และหลุมยุบแบบนี้มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในบ้านเราได้หรือไม่ มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ธรณีวิทยามีคำตอบ หลุมยุบ เป็นธรณีพิบัติภัยแบบหนึ่ง ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่กิจกรรมของมนุษย์เราเองก็เป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดหลุมยุบขึ้นได้เหมือนกัน ลักษณะหลุมยุบเกิดขึ้นจากการทรุดตัวของพื้นดินลงเป็นหลุม มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไป เช่น รูปเกือบกลมหรือเป็นวงรี มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1-200 เมตร ลึกตั้งแต่ 1 เมตร ถึงมากกว่า 20 เมตร หลุมยุบมีสาเหตุการเกิดหลักๆ อยู่ 3 แบบ คือ 1. เกิดจากโพรงหินปูนใต้ดินระดับตื้น สาเหตุแบบนี้เกิดจากกระบวนการที่น้ำละลายหินปูน โดยเมื่อฝนตกผ่านชั้นบรรยากาศ จะได้รับก๊าซคาร์บอไดออกไซด์ ทำให้น้ำฝนมีความเป็นกรดอย่างอ่อน (กรดคาร์บอนิก) เมื่อไหลผ่านและสัมผัสกับหินปูนจะละลายหินปูนออกไปด้วย ในที่สุดก็จะค่อยๆ เกิดเป็นโพรงหรือถ้ำอยู่ใต้ดินขึ้น เมื่อโพรงใต้ดินเหล่านี้มีการขยายขนาดใหญ่ขึ้นและอยู่ใกล้ผิวดินมากยิ่งขึ้น จนกระทั้งเพดานโพรงไม่สามารถต้านทานน้ำหนักของดินและสิ่งก่อสร้างที่กดทับด้านบนได้ ก็จะถล่มพังลงไปด้านล่างและกลายเป็นหลุมยุบในที่สุด หากทุกคนอยากทราบว่าโพรงหินปูนมีหน้าตาเป็นอย่างไร ขอให้นึกถึงตอนที่เราไปเที่ยวกันในถ้ำนะครับ ซึ่งนั่นก็คือ โพรงหินปูนนั่นเอง ปกติถ้าโพรงหินปูนอยู่พ้นผิวดินก็คือ ถ้ำ ถ้าไม่โผล่เรียกว่าโพรงหินปูนใต้ดิน สามารถจำแนกเป็น 2 ระดับ คือ โพรงหินปูนใต้ดินระดับลึก (ลึกจากผิวดินมากกว่า 50 เมตร) และโพรงหินปูนใต้ดินระดับตื้น (ลึกจากผิวดินไม่เกิน 50 เมตร) ส่วนใหญ่หลุมยุบจะเกิดในบริเวณที่มีโพรงหินปูนใต้ดินระดับตื้น เช่น เหตุการณ์หลุมยุบบริเวณสนามฟุตบอลโรงเรียนบ้านไร่ป้า ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เป็นต้น 2. หลุมยุบจากโพรงเกลือหิน เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีชั้นเกลือหินรองรับอยู่ด้านใต้ ซึ่งเกลือหินมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ง่ายทำให้เกิดโพรงใต้ดิน และมีโอกาสเกิดหลุมยุบได้ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการสูบน้ำเกลือจากใต้ดินขึ้นมาผลิตเป็นเกลือสินเธาว์ เมื่อเพดานโพรงพังทลายอันเนื่องมาจากระดับความดันภายในโพรงเปลี่ยนแปลง จึงเกิดเป็นหลุมยุบขึ้น สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินของประชาชนได้ ตัวอย่างเช่น หลุมยุบที่บ้านหนองราง ต.ค้างพูล อ.โนนไทย จ.นครราชสีมาหลุมยุบที่บ้านหนองราง ต.ค้างพูล อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เมตร ลึก 10 เมตร 3. ชั้นทรายถูกน้ำใต้ดินพัดพาออกไป ทำให้เกิดดินทรุด ตลิ่งพัง มักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีชั้นทรายรองรับอยู่ใต้ดินและอยู่ใกล้แม่น้ำ ลำคลอง สาเหตุแบบนี้ส่วนใหญ่เกิดจากเมื่อมีฝนตกหนักหรือตกต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณและแรงพัดพาของน้ำใต้ดินเพิ่มขึ้นจึงพัดพาเอาตะกอนทรายใต้ดินลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง หรือการลดลงของระดับน้ำในแม่น้ำอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดโพรงใต้ดินขึ้น และอาจทำความเสียหายให้กับตลิ่งแม่น้ำ ทำให้สิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหายได้ เช่น เหตุการณ์ดินทรุดตัวในพื้นที่บ้านหัวสะแก หมู่ที่ 3 ตำบลโพสะ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง เมื่อเราพอจะทราบสาเหตุหลักๆของการเกิดหลุมยุบแล้ว ทีนี้เราย้อนกลับไปดูเหตุการณ์หลุมยุบที่กัวเตมาลากันครับ เหตุกาณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากพายุโซนร้อนอกาธา ทำให้มีฝนตกหนักโดยในบริเวณที่เกิดหลุมยุบรองรับด้วยชั้นหินปูนที่โพรงถ้ำใต้ดินและปิดทับตอนบนด้วยตะกอนดินเมื่อฝนตกหนัก น้ำฝนซึมลงสู่โพรงถ้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงความดันน้ำใต้ดินและเมื่อเพดานต้านทานน้ำหนักของดินและสิ่งก่อสร้างที่กดทับด้านบนไม่ไหวจึงพังกลายเป็นหลุมยุบ สำหรับในประเทศไทย เกิดปรากฎการณ์หลุมยุบขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันไป หลุมยุบบางแห่งปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม นั่นก็คือ ทะเลบัน จังหวัดสตูล ถ้ำมรกต จ.กระบี่ และทะเลในหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี เหตุกาณ์หลุมยุบขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเกิดขึ้นที่บ้านพละใหม่ ตำบลขะเนจื้อ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ขนาด 30 X 30 เมตร ลึก 20 เมตร ทำให้บ้านเรือนเสียหาย 1 หลัง ส่วนเหตุการณ์ดินทรุดตัวที่บ้านหัวสะแก หมู่ที่ 3 ตำบลโพสะ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ทำให้บ้านเรือนเสียหาย 14 หลัง สาเหตุเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวรองรับด้วยชั้นทรายขี้เป็ด เมื่อระดับน้ำเจ้าพระยาลดลง แรงดันน้ำใต้ดินบนตลิ่งได้ดันทรายในชั้นทรายขี้เป็ดไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เกิดโพรงใต้ดินขึ้น เมื่อมีตัวกระตุ้นทั้งจากน้ำหนักการถมที่เพิ่มขึ้นหรือการก่อสร้างในบริเวณนั้น จะทำให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดการทรุดตัว และทำให้บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหายตามที่ปรากฎตามข่าว สนับสนุนข้อมูลโดย สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย จาก ........................ สำนักข่าว INN คอลัมน์เรื่องเล่าดีๆ วันที่ 18 กรกฎาคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#85
|
||||
|
||||
พายุทอร์นาโด Tornado
จาก ........................ ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 14 ธันวาคม 2557
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
17-01-2017 |
prakanthai |
ข้อความนี้ถูกลบโดย สายชล.
เหตุผล: แฝงโฆษณา
|
06-05-2020 |
epicenter01 |
ข้อความนี้ถูกลบโดย สายชล.
|
28-09-2021 |
cafeandmeal |
ข้อความนี้ถูกลบโดย สายชล.
|
คำสั่งเพิ่มเติม | |
เรียบเรียงคำตอบ | |
|
|