#11
|
||||
|
||||
ทะเลบางขุนเทียน ก้องโลก ตีแผ่ภาวะโลกร้อน สื่อต่างชาตินับ 10 แห่ง เตรียมตีแผ่ปัญหาน้ำกัดเซาะฝั่งบางขุนเทียน หลังเกิดวิกฤติโลกร้อน เพื่อนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในไทยเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก ขณะโครงการเขื่อนไม้ไผ่ยังไม่คืบ .... เมื่อวันที่ 1 ต.ค. นายชัยนาท นิยมธูร ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบหลัก สำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดประมูลหาผู้รับเหมาผ่านระบบอี-อ็อคชั่นเพื่อเข้ามา ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนชั่วคราว แบบปักไม้ไผ่ เป็นแนวขนานห่างจากชายฝั่ง 50-100 เมตร ยาว 3.7 กิโลเมตรตลอดแนวฝั่งของ กทม. 4.7 กิโลเมตร รวมกับของเดิมที่มีองค์กรการกุศลสร้างไว้แล้ว 1 กิโลเมตร ภายใต้งบประมาณ 10 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะได้ตัวผู้รับเหมาและเตรียมจัดหาเครื่องมือและวัตถุดิบ เสร็จสิ้นภายในเดือน ต.ค.นี้ จากนั้นจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนพฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงาน สถานการณ์ล่าสุดบริเวณชายฝั่งทะเลเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครภายหลังพายุไต้ฝุ่นกิสนาเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย โดยส่งผลกระทบให้เกิดคลื่นสูงขนาด 1 เมตร พัดเข้าสู่ฝั่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่ามีความรุนแรงจากปกติที่คลื่นจะมีความสูง 50-80 เซนติเมตร จากผลดังกล่าวทำให้ประชาชนในพื้นที่วิตกว่าที่ดินทำกิน และบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งกว่า 100 ครอบครัวจะได้รับความเสียหาย ทั้ง นี้ มีรายงานข่าวว่าคณะสื่อมวลชนจากต่างประเทศ อาทิ สำนักข่าวเอพี-รอยเตอร์ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น สำนักข่าวบีบีซี และอีกกว่า 10 สถานีซึ่งเดินทางมาทำข่าวการประชุมภาวะโลกร้อนที่ประเทศไทย ได้มีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ทำข่าวผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนที่ ย่านชายทะเลบางขุนเทียน กทม.ในวันที่ 3 ต.ค.นี้ เพื่อนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยสู่สายตาชาวโลกต่อไป. จาก : ไทยรัฐ วันที่ 2 ตุลาคม 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#12
|
||||
|
||||
ผศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตรพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญสมุทรศาสตร์ กับทางแก้คลื่นกัดเซาะชายฝั่ง สัมภาษณ์ โดย สันต์ชิต ชิตวงศ์ หมายเหตุ - ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในฤดูมรสุม โดยเฉพาะช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้น หลายฝ่ายพยายามจะแก้ไขปัญหาด้วยการทำแนวกันคลื่นชั่วคราวด้วยการวางหินขนาด ใหญ่ วางกระสอบทราย ยางล้อรถยนต์ หรือแม้แต่การทำแนวกันคลื่นด้วยหินขนาดใหญ่ลงในทะเล แต่กลับไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ได้ และยิ่งเป็นการขยายพื้นที่การกัดเซาะออกไปอีก ผศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตรพงศ์ วิศวกรทางทะเล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์ที่มีอยู่ไม่กี่คนในประเทศ จะนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาว สถานการณ์คลื่นกัดเซาะชายฝั่งในขณะนี้เป็นอย่างไร - คลื่นกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเล มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเมื่อมีปัญหาคลื่นกัดเซาะบริเวณใด ก็จะยิ่งมีการสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะพยายามหยุดยั้งการกัดเซาะ แต่นั่นกลับทำให้มีการกัดเซาะขยายออกไปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยขณะนี้พื้นที่ชายฝั่งที่สมบูรณ์นั้นมีเหลืออยู่น้อยมาก อย่างชายฝั่งใน จ.สงขลา ขณะนี้เหลือสภาพสมบูรณ์ไม่เกิน 10 กิโลเมตรเท่านั้น หลายปีที่ผ่านมาปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งทวีความรุนแรงมากขึ้น สาเหตุหลักมาจากการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำชายฝั่งมากยิ่งขึ้น โดยที่ภาครัฐไม่ควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชายฝั่งจึงทำให้มีปัญหา เกิดขึ้นต่อเนื่อง จะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร - ต้องเกิดการเรียนรู้ก่อน ที่ผ่านมาแก้ไม่ถูกทาง ทุกฝ่ายต่างมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมาจากคลื่นซัดถล่ม คลื่นลมแรง ซัดเข้าทำลายชายฝั่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คลื่นลมนั้นยังคงพัดเข้าชายฝั่งในระดับปกติ แต่ที่กัดเซาะชายฝั่งเป็นเพราะโครงสร้างของชายฝั่งถูกเปลี่ยนแปลงด้วยการก่อ สร้างรุกล้ำลำน้ำกันมากยิ่งขึ้น ยิ่งอยากจะแก้ปัญหาก็ยิ่งก่อสร้างลงไปทั้งในทะเลและชายฝั่ง ยิ่งทำให้การกัดเซาะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ทางแก้จึงต้องหยุดก่อสร้างเสียก่อน แล้วย้อนกลับมามองปัญหาคืออะไร สภาพชายฝั่งเปลี่ยนไปจากเมื่อหลายสิบปีอย่างไร ต้องยอมรับว่าสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำชายหาดคือปัญหาเสียก่อน จึงจะตั้งต้นหาวิธีแก้ได้ ชายหาดของภาคใต้ฝั่งตะวันออกขณะนี้เสียหายระดับไหน - เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งผมได้เก็บรวบรวมภาพถ่ายสถานที่จริงในจังหวัดทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก จ.สุราษฎร์ธานี จนถึง นราธิวาส พบความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก แต่ละปีคลื่นกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมากขึ้น จากเดิมที่กัดเซาะเฉพาะชายฝั่ง ก็มาถึงแนวชายหาด ต้นไม้ริมหาด บ้านเรือนริมทะเล ถึงถนนเลียบชายฝั่ง รุนแรงขึ้นทุกปี ทางวิศวกรรมศาสตร์ จึงมองว่าชายหาดอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้แล้ว หากเป็นคนก็เปรียบเสมือนผู้ป่วย ที่นอนรอวันสิ้นใจในห้องไอซียู ชายหาดเป็นทรัพยากรธรรมชาติทรงคุณค่า ไม่สามารถประเมินความเสียหายเป็นเม็ดเงินได้ ดังนั้น นอกจากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละพื้นที่คอยดูแลชายหาดแล้ว รัฐบาลเองก็ควรจะให้ความสำคัญกับชายหาด ไม่น้อยไปกว่าปะการัง และป่าชายเลน หลังจากนี้ชายหาดจะมีสภาพอย่างไร - อนาคตก็คงจะไม่มีชายหาดสวยงามให้ลูกหลาน คงเหลือเพียงสภาพแนวกันคลื่น กระสอบทราย หินขนาดใหญ่ ตามแต่มนุษย์จะสรรหามากระทำกับชายหาด ควรให้ความสำคัญกับชายหาดมากกว่าที่เป็นอยู่ ปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้รู้จักรักชายหาด รู้ถึงคุณค่าและประโยชน์มากกว่าเป็นที่สวยงาม เดินเล่น และอยู่ริมทะเลเท่านั้น ควรจะบันทึกลงในวิชาการเรียนการสอน เรื่อง ระบบนิเวศชายหาด เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ สร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว เป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมประมง สร้างเศรษฐกิจชุมชน เป็นต้น จะให้ชายหาดฟื้นคืนได้อย่างไร - สิ่งที่พยายามนำเสนอ คือการทำกิจกรรมที่ไม่มีเม็ดเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งการสร้างจิตสำนึกคุณค่าของชายหาดแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร่งด่วน ให้ความรู้ประชาชนตามแนวชายฝั่ง กำหนดให้ชายฝั่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เร่งประเมินโครงการเขื่อนริมทะเลเพื่อหามาตรการฟื้นฟูที่เหมาะสม ประเมินความเสียหายที่ผ่านมาและเยียวยาแก่ผู้เสียหายโดยเร่งด่วน เลือกใช้มาตรการฟื้นฟูชายหาดให้กลับคืนมา เช่น การถ่ายเททราย การเติมทรายให้ชายฝั่ง รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้ว หรือที่ไม่มีความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ออก ส่งเสริมกระบวนการจัดการทรัพยากรชายฝั่งที่ยั่งยืน กำหนดเขตพื้นที่ชายฝั่ง การเวนคืน และห้ามการขุดทรายออกจากชายฝั่งไม่ว่ากรณีใดๆ จาก : มติชน วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#13
|
||||
|
||||
แค่คิดว่า ต่อไปทะเลไทยจะไม่มีชายหาด .. แค่นี้ก็อึ้งแล้ว
กว่าที่่เราจะรู้คุณค่าของสิ่งๆนึง ก็ต่อเมื่อเวลาที่เราสูญเสียมันไป แต่เพิ่งเข้าใจครับว่า ขณะที่เราพยายามจะแก้ กลับกลายเป็นว่า เรากำลังทำลายอยู่ จากข้อความนี้เอง "ที่ผ่านมาแก้ไม่ถูกทาง ทุกฝ่ายต่างมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมาจากคลื่นซัด ถล่ม คลื่นลมแรง ซัดเข้าทำลายชายฝั่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คลื่นลมนั้นยังคงพัดเข้าชายฝั่งในระดับปกติ แต่ที่กัดเซาะชายฝั่งเป็นเพราะโครงสร้างของชายฝั่งถู กเปลี่ยนแปลงด้วยการก่อ สร้างรุกล้ำลำน้ำกันมากยิ่งขึ้น ยิ่งอยากจะแก้ปัญหาก็ยิ่งก่อสร้างลงไปทั้งในทะเลและช ายฝั่ง ยิ่งทำให้การกัดเซาะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ทางแก้จึงต้องหยุดก่อสร้างเสียก่อน แล้วย้อนกลับมามองปัญหาคืออะไร สภาพชายฝั่งเปลี่ยนไปจากเมื่อหลายสิบปีอย่างไร ต้องยอมรับว่าสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำชายหาดคือปัญหาเสีย ก่อน จึงจะตั้งต้นหาวิธีแก้ได้"
__________________
If we see the hearts of others, peace will follow You may say I'm a dreamer .. but I'm not the only one: John Lennon |
#14
|
||||
|
||||
อ่าวไทยคลื่นยังแรงกัดเซาะชายหาดสมิหลาพังเป็นแนวยาวกว่า 2 กม. สงขลา 19 พ.ย.-ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก แจ้งเตือนว่า ในระยะนี้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมพื้นที่ภาคใต้และ ทะเลอ่าวไทย ยังคงมีกำลังแรง เรือประมงขนาดเล็ก ใน 5 จังหวัด ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ควรงดออกจากฝั่งตั้งแต่ระยะนี้ไปจนถึงวันที่ 22 พ.ย.นี้ ขณะที่คลื่นในทะเลอ่าวไทยยังคงถาโถมเข้าถล่มชายหาดสมิหลา ในเขตเทศบาลนครสงขลา อย่างต่อเนื่องเป็นรอบที่สอง จนทำให้ชายหาดสมิหลา ซึ่งเป็นหาดทรายยาวกว่า 9 กิโลเมตร ถูกความแรงของคลื่นกัดเซาะแนวต้นสนและหาดทราย ได้รับความเสียหายไปแล้วกว่า 2 กิโลเมตร ทางเจ้าหน้าที่เทศบาลนครสงขลาได้เร่งทำแนวกันคลื่น ด้วยล้อยางรถยนต์ กระสอบทรายกว่า 50,000 ลูก และเสาไม้อีกกว่า 300 ต้น เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะขยายเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อชายหาดสมิหลาเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันได้มากนัก นอกจากนี้ ความแรงของคลื่นยังทำให้ถนนเชื่อมระหว่างเทศบาลตำบลเกาะแต้ว อ.เมืองสงขลากับองค์การบริหารส่วนตำบลนาทับ อ.จะนะ ได้รับความเสียหายเป็นทางยาวกว่า 100 เมตร จาก : ข่าว อสมท. MCOT News วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#15
|
||||
|
||||
จันทบุรี ประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการป้องกันน้ำกัดเซาะชายฝั่ง จังหวัดจันทบุรี จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณตำบลเกาะเปริด อำเภอแหลมสิงห์ ถึง ตำบลบางชัน อำเภอขลุง นายณรงค์ ธีระจันทรางกูร ปลัดจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็นทางเทคนิค โครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณตำบลเกาะเปริด อำเภอแหลมสิงห์ ถึง ตำบลบางชัน อำเภอขลุง โดยมีองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมในการประชุม ทั้งนี้ตามที่จังหวัดจันทบุรี ได้ดำเนินการจัดทำโครงการศึกษาจัดทำแผนหลักและออกแบบเบื้องต้นการแก้ไขปัญหา การกัดเซาะชายฝั่ง ตำบลเกาะเปริด อำเภอแหลมสิงห์ ถึง พื้นที่ตำบลบางชัน อำเภอขลุง เพื่อรวบรวมและศึกษาสถานภาพของชายฝั่งทะเลบริเวณพื้นที่ศึกษา จัดทำแผนหลักการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างบูรณาการ จัดทำเป็นแผนการปฏิบัติการที่มีความเป็นไปได้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะในพื้นที่ เพื่อออกแบบป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่วิกฤต โดยมีพื้นที่ศึกษาโครงการครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่อำเภอแหลมสิงห์และอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี และได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม รับผิดชอบและกำกับดูแล ซึ่งการกัดเซาะชายฝั่งได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง ให้กับถนนเลียบชายฝั่งตำบลเกาะเปริด บ่อเลี้ยงกุ้ง อาคารบ้านเรือนที่อยู่ใกล้ชายฝั่งได้ถูกคลื่นทำลายไปเป็นจำนวนมาก การดำเนินการศึกษาและออกแบบเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งอย่าง ยั่งยืนจึงจำเป็นต้องให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นก่อนดำเนินการตามโครงการต่อ ไป จาก : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#16
|
||||
|
||||
สำรวจฝั่งอ่าวไทย โลกร้อน-กัดเซาะ แนวเขื่อนไม้ไผ่ " ภาวะโลกร้อน" หรือ "Global Warming" เกิดจากอุณหภูมิของโลกที่ปรับสูงขึ้น อันเนื่องมาจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งทำให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจก ผลกระทบที่ตามมา คืออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น น้ำแข็งในขั้วโลกละลายรวดเร็ว เกิดความแห้งแล้งในหลายพื้นที่ ทะเลทรายขยายตัว พื้นที่เพาะปลูกลดน้อยลง ฤดูกาล และสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง บางพื้นที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้ริมทะเล หรือเกาะต่างๆ จมหาย เมื่อปลายปีพ.ศ.2552 มีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 15 และพิธีสารเกียวโตสมัยที่ 5 ที่ประเทศเดนมาร์ก มีมหาอำนาจหลายประเทศตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงประเทศไทย เข้าร่วมด้วย แต่สุดท้ายไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาได้ จึงต้องรอการประชุมที่ประเทศเม็กซิโก ในปีพ.ศ.2553 ว่า จะได้ข้อสรุปอย่างไร ส่วนประเทศไทยยังคงปฏิบัติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 เรื่องการใช้พลังงานทดแทน การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และปลูกป่าทดแทน โดยเฉพาะป่าชายเลน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องปฏิบัติตามแผนนโยบายนี้ ล่าสุดยกคณะลงเรือสำรวจพื้นที่ป่าชายเลน ตั้งแต่คลองบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เรื่อยไปจนถึง ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง มากแห่งหนึ่ง 1.เวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล 2.หลักเขตกรุงเทพฯ 3.นายสุวิทย์ คุณกิตติ 4.ลุงทวีปพาดูแนวเขื่อนไม้ไผ่ 5.น้ำทะเลกัดเซาะตลิ่ง 6.คลองพิทยาลงกรณ์ เริ่มจากคลองพิทยาลงกรณ์ เขตบางขุนเทียน ระยะทาง 3 กิโลเมตร ก่อนเลี้ยวขวาล่องไปตามคลองขุนราชพินิจใจ ระยะทาง 4 กิโลเมตร ถึงปากคลองบางขุนเทียนออกอ่าวไทย บริเวณนี้จะพบหลักกิโลเมตรที่ 28 กรุงเทพฯ จากนั้นแล่นเรือเลาะไปตามชายฝั่งอ่าวไทย สำรวจเรื่อยไปเป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร จนถึงศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และชาวฝั่งที่ 2 ต.โคกขาม จากการสำรวจทั้ง 2 ฝั่งคลอง และชายฝั่ง พบว่าป่าชายเลนลดลงเป็นอย่างมาก บางพื้นที่ชาวบ้านต้องทำเขื่อนเชื่อมคันดิน เพื่อไม่ให้น้ำทะเลท่วมทะลักเข้ามา แต่บางช่วงเป็นพื้นที่ต่ำ น้ำทะเลทะลักเข้ามาในพื้นที่อยู่อาศัยเป็นอาณาบริเวณกว้าง นายทวีป เมตสุวรรณ อายุ 58 ปี ประธานชุมชนคลองพิทยาลงกรณ์ ให้ข้อมูลว่า อาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศบริเวณนี้มาทั้งชีวิต โดยเฉพาะป่าชายเลนที่เมื่อก่อนมีความอุดมสมบูรณ์ทั้ง 2 ฝั่งคลอง และชายฝั่งอ่าวไทยเต็มไปด้วยป่าโกงกาง "แต่ปัจจุบันแทบจะไม่หลงเหลือแล้ว อนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า บางขุนเทียนจะจมอยู่ใต้ทะเล และน้ำทะเลจะไหลเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างแน่นอน" ลุงทวีปเล่าอีกว่า 30 กว่าปีที่ผ่าน แต่เดิมคลองพิทยาฯ เป็นคลองขุดมีความกว้างเพียง 3 เมตร แต่ปัจจุบันกว้างกว่า 40 เมตร หรือแม้แต่คลองขุนฯ จากเดิมกว้างเพียง 20 เมตร ขณะนี้ขยายกว้างกว่า 90 เมตร กลายเป็นแม่น้ำไปแล้ว บางแห่งน้ำท่วมลึกเข้าไปกว่า 10 เมตร ชาวบ้านต้องย้ายบ้านหนีขึ้นไปพื้นที่สูง น้ำทะเลท่วมบ้าน " ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือหลังหลักกิโลเมตรที่ 28 และ 29 จากเดิมที่สร้างอยู่บนพื้นดินริมชายฝั่งทะเล แต่ปัจจุบันถูกน้ำทะเลเข้ายึดพื้นที่ไว้หมดแล้ว ท่วมกินแผ่นดินที่เป็นพื้นที่ของชาวบ้านเข้าไปอีก 1 กิโลเมตร ปัญหาทั้งหมดเกิดจากภาวะโลกร้อนอย่างแน่นอน" ลุงทวีป ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยแปลงที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นคณะเดินทางเข้าไปสำรวจพื้นที่ศูนย์อนุรักษ์ชาวฝั่งที่ 2 ต.โคกขาม เป็นพื้นที่ทดลองปลูกป่าชายเลนกว่า 40 ไร่ โดยมีโครงการสร้างเขื่อนไม้ไผ่ กั้นตลอดแนวชายฝั่ง จ.สมุทรสาคร ถึงบางขุนเทียน เป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์ให้ข้อมูลถึงเขื่อนไม้ไผ่ว่า ขั้นตอนการทดลองวางแนวเขื่อนไม้ไผ่ เริ่มทำมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 3 ปี ขั้นตอนแรกนำไม้ไผ่ที่มีความยาวขนาด 6 เมตร ปักลงไปในพื้นดิน 4 เมตร ให้ไม้ไผ่อยู่เหนือพ้นน้ำทะเล 2 เมตร โดยปักซ้อนกันหนา 50 เซนติเมตร ก่อนปักเป็นแนวยาว 1 กิโลเมตร ขนานไปกับแนวตลิ่ง แนวแรกห่างจากฝั่ง 20 เมตร หลังจากนั้นปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ 1 ปี จะพบว่าหลังแนวเขื่อนไม้ไผ่ ดินเลนเริ่มสะสมหนาขึ้น เจ้าหน้าที่จะนำต้นโกงกางมาปลูกเป็นแนวยาว จากนั้นเริ่มสร้างเขื่อนแนวที่ 2 โดยนำไม้ไผ่ไปปักให้ห่างจากแนวแรกประมาณ 30 เมตร ปักรูปแบบเดียวกับแนวแรก ทิ้งไว้ 1 ปี จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในแนวแรก และแนวที่ 2 ส่วนแนวที่ 3 นำไม้ไผ่ไปปักให้ห่างจากแนวที่ 2 ประมาณ 50 เมตร ตามด้วยขั้นตอนการปลูกป่าโกงกางในแนวที่ 2 ถือว่าเป็นโครงการนำร่อง คาดว่าหลังจากนี้อีกประมาณ 3 ปี หากพบว่าทั้งดินและป่าชายเลนเริ่มอยู่ได้ สิ่งมีชีวิตเริ่มกลับเข้ามา ทางโครงการอนุรักษ์ชายฝั่ง จะเริ่มขยายแนวเขื่อนไม้ไผ่ ให้เชื่อมต่อกับทางแนวเขื่อนทางเขตบางขุนเทียน ด้าน นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวว่า โครงการสร้างเขื่อนไม้ไผ่ ทำมาอย่างต่อเนื่องกว่า 3 ปี ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะแนวหลังเขื่อนไม้ไผ่ที่ 1 เริ่มมีสัตว์น้ำ ทั้งปลาปูเข้ามาอาศัย รวมทั้งรากของต้นโกงกางสามารถยึดดินได้ดี จากนี้ทางกระทรวงจะสร้างเขื่อนไม้ไผ่ให้เชื่อมต่อกับพื้นที่ของเขต บางขุนเทียนให้เสร็จ หากโครงการที่โคกขาม-บางขุนเทียน ได้ผลดี จะนำโครงการนี้ไปขยายผลต่อในพื้นที่จังหวัดที่ติดกับทะเล โดยเฉพาะที่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี และตราด หากสามารถฟื้นป่าชายเลนให้กลับมาสมบูรณ์เช่นเดิมได้ ทรัพยากรอาหารตามธรรมชาติก็จะกลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม ประชาชนที่อยู่ตามแนวป่าชายเลน จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ที่สำคัญสามารถช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้ทางหนึ่ง จาก : ข่าวสด วันที่ 4 มกราคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#17
|
||||
|
||||
ปัญหาน้ำทะเล 'กัดเซาะชายฝั่ง' แก้ตรงจุดหรือยังพลาดเป้า!? "เขาเรียกไส้กรอกทรายตา?! มาจากประเทศนอกเอาไว้กันคลื่นทะเล อยู่ได้นาน 30 ปี” คำพูดของช่างคนหนึ่งที่มาพร้อมกับเรือขนาดมหึมาเพื่อทำแนวกั้นคลื่นราวปี พ.ศ. 2547 บริเวณปากอ่าวคลองด่าน จ.สมุทรปราการ สร้างความหวังให้กับผู้เฒ่าอย่าง สืบ ใจยิ้ม ชาวบ้านหมู่ 9 ในซอยวัดสว่างอารมณ์ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ที่หวังว่า ชุมชนชาวประมงริมทะเลกว่า 100 หลังคาเรือนในอดีตจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังจากถูกคลื่นกัดเซาะพื้นดินที่อยู่อาศัยจนหลายครอบครัวอพยพย้ายถิ่นฐาน แต่ “ไส้กรอกจาก ประเทศนอก” ไม่เป็นอย่างไอ้หนุ่มผู้นั้นว่า!!! ไม่ถึงสองปีพังทลาย จมลงไปใต้โคลนทะเล ทรายในถุง ไหลลงทะเลส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่อยู่บริเวณปากอ่าว เพราะพื้นที่ของอ่าวไทยส่วนใหญ่เป็นหาดโคลนทำให้สัตว์น้ำพอได้รับทรายการดำรงชีวิตก็เปลี่ยนไป “ฉันใจหายที่เห็นคนในชุมชนค่อยๆย้ายกันไปทีละครอบครัว หมู่บ้านที่เคยทำประมงลูกหลานก็ไม่สืบทอดต่อ มีแต่คนอยากทำงานโรงงานเพราะมันสบายกว่าหาปลา ตอนนี้ออกเรือทีต้องไปไกลเปลืองค่าน้ำมัน ค่าแรงลูกน้อง ลำพังจะหากินริมชายฝั่งเหมือน แต่ก่อน ไม่ค่อยได้เพราะปู ปลามันลดลง ส่วนหอยที่พอจะเก็บได้มันก็มีแต่ทราย ระบบชีวิตพวกมันเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะหอยพวกนี้จะอ้าฝารับโคลน แต่เดี๋ยวนี้มันรับทรายจากไส้กรอกทรายที่แตก พอเก็บไปขายไอ้คนไม่รู้ก็กินเข้าไปสะสมในร่างกาย” สืบ “เฒ่าทะเล” ระบายความรู้สึกที่อัดอั้นมานาน ขณะเดียวกันปัญหาของคลื่นทะเลในยามหน้าลมก็สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้เฒ่าสืบ เพราะบ้านไม้ริมชายฝั่งเพิ่งยกพื้นสูงจากน้ำทะเลไม่ถึงปีก็ทรุดตัวลง จำต้องเตรียมยกพื้นให้สูงใหม่อีกครั้ง เนื่องจากยามหน้าลมคลื่นจะก่อตัวสูงจนท่วมพื้นบ้านชั้นล่าง ความโหดร้ายเหล่านี้สอนให้ชาวบ้านรู้ว่า เมื่อฤดูแห่งความโหดร้ายมาถึงต้องอพยพลูกหลานและคนชราที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไปอยู่บนฝั่งเฉพาะในรายที่มีอันจะกิน ส่วนครอบครัวที่ยากจนอย่างตาสืบ ได้แต่จำทนรับชะตากรรมที่ยังไม่รู้ว่า อนาคตหลานๆที่กำลังเติบโตจะมีที่อยู่หรือไม่ ? ด้าน กรองทอง จันดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ พา “ทีมวาไรตี้” ไปสำรวจปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณ ปากอ่าวคลองด่าน ที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนพบว่าสะพานที่ข้ามไปยังชุมชนกว่า 100 หลังคาเรือนที่สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จมไปกับน้ำทะเล ซึ่งในปี พ.ศ. 2547-2549 ชาวบ้าน ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากน้ำทะเลท่วมพื้นที่อาศัยทำให้ต้องอพยพขึ้นฝั่งและ ร่นถอยจนไม่เหลือภาพชุมชนอันรุ่งเรืองในอดีต ป่าชายเลนที่มีความหนาแน่นในอดีตลดลง เหลือเพียงไม้ใหญ่บางส่วนยืนต้นโงนเงนตามกระแสคลื่น ปัจจุบันบ้านริมชายฝั่งหลายหลังรื้อถอนอพยพเข้าไปอยู่บนพื้นที่ธรณีสงฆ์ วัดสว่างอารมณ์ ส่วนบ้านที่มีเรือหาปลาขนาดใหญ่จำต้องทนอยู่ต่อไปเพราะหากย้ายเข้าฝั่งไปลึกกว่านี้เรือประมงไม่สามารถเข้าไปได้ “การทำไส้กรอกทรายภาครัฐไม่เคยลงมาคุยกับชาวบ้านถึงความคิดเห็นผลดีและผลเสีย ชาวบ้านมารู้อีกทีก็ปีนี้เพราะมีการทำประชาพิจารณ์ โดยมีนักวิชาการมาให้ความรู้ว่า สัตว์น้ำที่เรากินขายกันอยู่ทุกวันมันได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ขณะเดียวกันชาวบ้าน ที่ออกหาปลาทุกวันก็ไม่รู้ว่า แนวไส้กรอกทรายอยู่ตรงไหนเวลาน้ำขึ้น เพราะไม่มีสัญลักษณ์บอกทำให้เรือประมงชาวบ้านวิ่งไปชนไส้กรอกทรายหรือการทำประมงชายฝั่งชาวบ้านไม่รู้ก็เอาไม้ไปปักหาปลาจนทิ่มถุงทรายแตก การกระทำของรัฐทำให้ชาวบ้านผิดหวังเพราะไม่เคยลงมาคุยกันก่อนเหมือนการนำเงินประชาชนไปตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” กรองทอง เล่าถึงปัญหา ชาวบ้านได้ลงประชามติกันโดยใช้ภูมิปัญญาที่มีอยู่ พบว่า การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดต้องทำเขื่อนหินที่สูงกว่าคลื่น แล้วปลูกป่าชายเลนไว้ด้านหลัง เพราะถ้าทำแนวกันคลื่นโดยใช้ไม้ไผ่เหมือนหมู่บ้านอื่นไม่ได้ผลเพราะไม่นานคลื่นก็จะทำลายไม้ไผ่พังหมด แนวป่าชายเลนที่ปลูกไว้ด้านหลังก็ถูกคลื่นซัดหายไปในทะเล ไม่ต่างจากชาวบ้านใน ต.โคกขาม จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีพื้นที่ติดกับอ่าวไทยที่ได้รับผลกระทบจากไส้กรอกทรายเช่นกัน นรินทร์ บุญร่วม (ลุงทะเล) ปราชญ์ชาวบ้านเล่าว่า เมื่อไส้กรอกทรายแตกทำให้ผ้าใยสังเคราะห์ที่ห่อทรายฉีกขาดหลุดไปทำลายระบบนิเวศ ส่วนทรายก็ปนเปื้อนกับหาดโคลนทำให้การทำประมงชายฝั่งได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะพื้นที่ในการหากินของสัตว์ไม่สมบูรณ์เหมือนแต่ก่อนทำให้ประชากรสัตว์น้ำลดลงและอาจสูญพันธุ์ไปในที่สุด หากมองถึงแนวทาง การกู้ไส้กรอกทรายขึ้นมาจากท้องทะเล ลุงทะเล มองว่า “ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ !?! เพราะเป็นเรื่องยากลำบากในการโกยทรายที่ปนเปื้อนกับโคลนขึ้นมา แต่ก็มีการพูดเล่นกันว่า เอาทรายมาถมให้เป็นหาดทรายเลยดีไหมจะได้ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว!! ซึ่งนั่นก็เป็นเพียงความคิดชาวบ้านที่ไม่สามารถเป็นจริงได้” แนวทางการแก้ปัญหาที่ดีต้องใช้วัสดุจากธรรมชาติอย่างไม้ไผ่มาทำเป็นแนวกั้นคลื่น ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ร่วมใจกันทำมาแล้วกว่า 2 ปี จนประสบความสำเร็จฟื้นฟูป่าชายเลนขึ้นมาได้ใหม่ และทำให้ตะกอนจากทะเลพัดเข้ามาทับถมริมชายฝั่งด้านหลังแนวกั้นไม้ไผ่มากขึ้น ส่งผลให้ได้ผืนดินกลับมาอีกครั้ง พลอย ฉายสวัสดิ์ เลขา ธิการกลุ่มรักษ์อ่าวไทย ที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ต.โคกขาม จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า การทำแนวกั้นคลื่นจากไม้ไผ่ใช้งบประมาณไม่สูง และไม่มีผลต่อระบบนิเวศ เพราะสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม้ไผ่สามารถอยู่ได้ 3-5 ปี ซึ่งแนวคิดการทำงานได้มาจากการปักหอยแมลงภู่ของชาวบ้านที่ปักหอยแล้วต้องย้ายหอยหนีเพราะว่าดินเลนมันจะมาทับตัวหอย เช่นเดียวกับแนวกั้นไม้ไผ่พอหอยติดเป็นพวงใหญ่ตะกอนเลนมันก็สูงขึ้น โดยต้องปักห่างๆกันเพื่อให้ดินพอกพูนเป็นกำแพงธรรมชาติ สำหรับการแก้ปัญหาไส้กรอกทรายแตกปนเปื้อนหาดโคลนในอ่าวไทย สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ต้องเร่งดูแลแก้ไขโดยใช้ระบบธรรมชาติบำบัด ซึ่งจะนำเรื่องนี้ไปคุยกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อหาแนวทางแก้ไข การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะแต่ละปีเราสูญเสีย ผืนแผ่นดินไปไม่รู้กี่หมื่นไร่ กระบวนการการแก้ไขปัญหารัฐได้ดำเนินการศึกษา มีวิธีการหลายวิธีการเช่น ทำเขื่อนกันคลื่นหรือใช้เสาคอนกรีต มาเรียงกัน ในขณะเดียวกันบริเวณสมุทรสาครเป็นพื้นที่ป่าชายเลน การใช้ระบบธรรมชาติเข้ามาบำบัดโดยใช้เขื่อนไม้ไผ่ก็เป็นแนวทางหนึ่ง ซึ่งจากการที่ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งเห็นว่า ได้ผลดีพอสมควร แต่ระยะยาวต้องศึกษากันต่อไป กระบวนการการฟื้นฟูป่าชายเลนเป็นหัวใจสำคัญที่สุด เพราะแนวไม้ไผ่กันคลื่นเป็นการป้องกันเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะไม้ไผ่มีระยะเวลาของการเสื่อมสลายไป การปลูกป่าชายเลนเทียม ในระยะแรกจึงเลียนแบบป่าชายเลนตามธรรมชาติ เอาไม้ไผ่ไปลงเป็นแนวป่า แล้วเอาต้นแสมและโกงกางผูกติดกับไม้ไผ่เพื่อป้องกันการชะล้าง เพื่อให้ต้นไม้ได้หยั่งรากลึกอย่างน้อย 2-3 ปี การปักจะไม่เป็นแถวเป็นแนว แต่จะปักสลับเป็นลักษณะเหมือนธรรมชาติ ด้านปัญหาการดูแลการกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนที่เป็นพื้นที่ซึ่งถูกน้ำทะเลกัดเซาะมากที่สุด สุวิทย์ กล่าวว่า ผมมีความเป็นห่วงอีกอย่างมากในการไปสร้างที่พักชั่วคราวในทะเลหรือพวกเครื่องมือประมงที่มีการขยายตัวค่อนข้างมากตรง จ.เพชรบุรี อันจะส่งผลต่อระบบนิเวศ ถ้าไม่มีการจัดระเบียบป้องกันแก้ไขปัญหา ซึ่งในส่วนนี้ ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลแล้ว ไม่เช่นนั้นปัญหาจะขยายตัวมากขึ้น เหมือนทะเลสาบสงขลาที่ทำให้เกิดปัญหาการไหลเวียนของน้ำ ปัญหาเรื่องตะกอน ปัญหาเรื่องน้ำเสีย เรื่องของระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบทำให้ปลาไม่สามารถวางไข่ได้ ปริมาณก็ลดลง ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เป็นห่วงมากในระยะยาว จึงอยากวิงวอนให้ประชาชนลดการใช้น้ำบาดาล เพราะส่งผลกระทบต่อปัญหาการทรุดตัวของพื้นที่ ซึ่งอนาคตปัญหาน้ำท่วมคิดว่าน่าเป็นห่วงเนื่องจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ด้าน รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาภัยพิบัติและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า 5 จังหวัดบริเวณอ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง ไปจนถึงปากแม่น้ำเพชรบุรี มีโอกาสสูงที่น้ำจะท่วม เพราะแนวโน้มอีก 20 ปีข้างหน้า พื้นที่จะหายไปอีกกว่า 67,000 ไร่ ขณะนี้มีหลายหน่วยงานพยายามป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหาดโคลน อย่างไม่ถูกวิธี ตั้งแต่การนำหินมาถมตลิ่งที่ยิ่งทำให้เกิดความเสียหายเร็วขึ้นเมื่อโดนคลื่นที่มีความแรงซัด หรือการใช้ไส้กรอกทรายวางเป็นแนวกั้น ที่ไม่นานจะแตกทำให้ทรายและหินปนเปื้อนบนหาดโคลน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เนื่องจากสัตว์และพืชพันธุ์ที่อาศัยอยู่บริเวณหาดโคลนไม่ชอบหินและทรายทำให้ค่อยๆสูญพันธุ์ลง จนชาวบ้านบริเวณชายฝั่งที่ทำประมงได้รับผลกระทบอย่างหนัก ส่วนแนวกันคลื่นที่ทำจากไม้ไผ่มีอายุได้เพียง 3-5 ปี แล้วไม้ไผ่ก็จะหักส่งผลกระทบต่อการทำประมงชายฝั่ง “ตอนนี้เราได้ทำการวิจัยการป้องกันการกัดเซาะของน้ำทะเลด้วยเขื่อนขุนสมุทรจีน ที่นำเสาไฟฟ้ามาปักเป็นแนวยาว 2-3 ชั้น เพื่อป้องกันคลื่นที่จะทำลายหาดโคลน ตอนนี้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถฟื้นฟูหาดโคลนด้วยการปลูกป่าชายเลนทำให้สัตว์ต่างๆในระบบนิเวศเริ่มกลับคืนมา” การแก้ปัญหาอย่างได้ผลรัฐต้องวางนโยบายการฟื้นฟูในระยะ 20 ปีขึ้นไปเพื่อสร้างแนวทางพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะเดียวกันต้องให้ชาวบ้านและนักวิชาการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ทุกนาทีที่มนุษย์หายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา น้ำทะเลยังคงกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งพร้อมกับความ ฝันที่ “เฒ่าทะเล” จะเห็นชุมชนชาวประมงชายฝั่งกลับคืนมาค่อยๆเลือนหายไปพร้อมกับดวงตาที่ฝ้าฟาง ขณะที่หลายคนยังหวั่นเกรงกับปัญหาน้ำทะเลกลืนกิน กรุงเทพฯ อันเป็นปลายเหตุของปัญหา ส่วนต้นขั้วของปัญหาการกัดเซาะพื้นดินริมทะเลยังดูแลไม่ทั่วถึง ไม่แน่อนาคตคนกรุงอาจไม่ต่างจาก “เฒ่าทะเล”. จาก : เดลินิวส์ วันที่ 12 มกราคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#18
|
||||
|
||||
แฉแก้ปัญหาคลื่นเซาะชายฝั่งล่มสูญงบฟรี เวลา 10.00 น. วันที่ 11 มกราคม คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภาลงพื้นที่ จ.สงขลา ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและรับฟังข้อมูลจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยตัวแทนชาวบ้านปากบาง หมู่ 4 ต.สะกอม ยืนยันว่า หลังจากมีการสร้างเขื่อนทรายแล้วก็แก้ปัญหาไม่ได้ กรมขนส่งทางน้ำยังต้องดูดทรายบริเวณร่องน้ำปากคลองทุกปี สูญเสียงบประมาณซ้ำซ้อน ส่วนตัวแทนชาวบ้านบ้านโคกสัด หมู่ 6 ต.สะกอม กล่าวว่า ชายหาดสะกอมในอดีตเป็นลักษณะหาด 2 ชั้น แต่หลังจากสร้างเขื่อนทรายกันคลื่นบริเวณปากน้ำสะกอม ทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะ จากเดิมบ้านโคกสักห่างจากทะเล 100 เมตร ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 50 เมตร และมีลักษณะเป็นโคลนตม ปัจจุบันการแก้ปัญหาการกัดเซาะไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงไปครั้งละ 200-300 ล้านบาท เป็นการลงทุนแก้ปัญหาแล้วไม่เกิดผล มูลค่าชายหาดที่ถูกกัดเซาะไปในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท วิธีที่ดีที่สุดคือหยุดการก่อสร้างอย่าทำเพิ่ม ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านบ่อโซน หมู่ 7 ต.สะกอม กล่าวว่า หลังสร้างเขื่อนแล้วทำให้วิถีชีวิตของชาวประมงเปลี่ยนแปลงไป เพราะน้ำลึกขึ้น ทำให้ปลาหลายชนิดวางไข่บริเวณชายหาดไม่ได้ โดยเฉพาะเต่าทะเล จึงควรยกเลิก เพราะปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นปกติช่วงมรสุม พอช่วงฤดูแล้งคลื่นจะแต่งชายหาดให้เหมือนเดิม แต่หลังสร้างเขื่อนอีกด้านงอก แต่อีกด้านหายไป มินำซ้ำงบประมาณยังสูญเปล่า จาก : ไทยโพสต์ วันที่ 12 มกราคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#19
|
||||
|
||||
ทช.ชูสมุทรสาคร พท.ตัวอย่าง นำร่องแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า จากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พบว่าชายฝั่งทะเลอ่าวไทยทั้งด้านตะวันออกและตะวันตกประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นอย่างมาก โดยชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกงหวัดฉะเชิงเทราจนถึงปากแม่น้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่มีการกัดเซาะขั้นรุนแรง บางพื้นที่มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งมากถึง 25 เมตรต่อปี โดยเฉพาะในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ที่ ต.โคกขาม และ ต.พันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่โดนกัดเซาะมากที่สุด มีอัตราการกัดเซาะปีละ 2.48 เมตรและ 1.88 เมตรตามลำดับ ทช.จึงร่วมกับชุมชนในพื้นที่ดำเนินการโครงการแก้ไข อาทิ ปักไม้ไผ่ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น การเพาะชำกล้าไม้ป่าชายเลน การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นต้น ด้านนายนิทัศน์ ภู่วัฒนกุล รองอธิบดี ทช. กล่าวว่า ทช.ได้รับความร่วมมือจากชุมชนอย่างดี โดย 2 ปีที่ผ่านมา มีตะกอนดินหลังแนวไม้ไผ่เพิ่มสูงขึ้น 1.5 เมตร ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีการปักแนวไม้ไผ่ไปแล้วทั้งสิ้นเป็นระยะทาง 3,000 เมตร และได้ทดลองปลูกป่าโกงกางขึ้นเพื่อเป็นแรงซับน้ำและลมอีกทอดหนึ่ง ซึ่งในระยะแรกที่ทำประสบปัญหาต้นไม้ล้ม เนื่องจากปลูกไปในแนวเดียวกัน ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็นการปลูกแบบไม่มีระเบียบ สลับไปมา เลียนแบบธรรมชาติ เรียกว่าป่าชายเลนเทียมขึ้น โดยได้เริ่มดำเนินการที่ ต.โคกขาม และ ต.พันท้ายนรสิงห์ พบว่าได้ผลดีขึ้น ซึ่งจะดำเนินการเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าชายเลนต่อไป จาก : แนวหน้า วันที่ 29 มกราคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#20
|
||||
|
||||
ชาวบ้านห่วงไม้ไผ่แนวกันคลื่นเซาะบางขุนเทียนเกรดต่ำ ผู้รับเหมาเริ่มลงพื้นที่สร้างแนวไม้ ไผ่กันคลื่นกัดเซาะชายทะเลบางขุนเทียน ขณะที่ชาวบ้านเป็นห่วงใช้ไม้ไผ่คนละเกรดทำอยู่ไม่ทน หวั่นไม่ทันช่วงมรสุมเข้ามีนาคมนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง บางขุนเทียน ของกรุงเทพมหานคร(กทม.) ระยะทาง 4.7 กม. หลังจากที่ผู้บริหารกทม.ชุดปัจจุบันได้อนุมัติงบประมาณเร่งด่วนแก่สำนักการระบายน้ำ(สนน.) เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการสร้างเขื่อนไม้ไผ่สลายกำลังคลื่นและช่วยดักตะกอนดินเลน มูลค่า 5.8 ล้านบาท ซึ่งได้ผู้รับเหมาโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปีพ.ศ.2552 ซึ่งล่าสุดทางผู้รับเหมาได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแนวเขื่อนไม้ไผ่ แล้วตั้งแต่กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาโดยจะดำเนินการต่ออีก 3.7 กิโลเมตรต่อจากแนวไม้ไผ่เดิมที่ชาวบ้านทำไว้ก่อนหน้านี้ 1 กิโลเมตร ภายใน 6 เดือนนี้ อย่างไรก็ตาม มีข้อเป็นกังวลจากชาวบ้านในพื้นที่เนื่องจากใกล้เข้าสู่ฤดูมรสุมซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไป ทำให้ชาวบ้านต่างวิตกว่าโครงการดังกล่าวอาจสร้างเสร็จไม่ทันกำหนด เนื่องจากมีคลื่นลมแรงจึงอาจเป็นอุปสรรคในการดำเนินการ ขณะที่หากรอให้น้ำลดก็จะไม่สามารถลำเลียงวัสดุได้ ซึ่งส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินทำกินและระบบนิเวศชายฝั่งแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลอันเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในพื้นที่ รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ชาวบ้านบางส่วนยังคงมีข้อกังขาถึงโครงการเขื่อนไม้ไผ่ของกทม.ว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ผลหรือไม่หลังพบว่าไม้ไผ่ที่กทม.กำหนดสเป็กให้ผู้รับเหมาจัด หามาใช้นั้นค่อนข้างต่ำกว่ามาตรฐานเดิมที่ชาวบ้านได้ทำมาก่อนหน้านี้ที่ใช้ไม้ไผ่ตงซึ่งมีเนื้อไม้หนาและทนทาน ความยาว 6 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้วที่กลางลำ ปักลึกจากพื้นเลนซ้อนกันตารางเมตรละ 26 ต้น สามารถอยู่ได้อย่างต่ำ 5 ปี ขณะที่ไม้ไผ่ที่ผู้รับเหมานำมาใช้นั้นไม่ใช่ไม้ไผ่ตง และมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 3 นิ้วเท่านั้น อีกทั้งเนื้อไม้มีความบางกว่าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจไม่มีความทนทานและหลุดลอยง่ายโดยเฉพาะเมื่อปักซ้อนตารางเมตรละ 26 ต้นเท่ากันแต่กลับมีระยะห่างช่องไฟมากกว่า ขณะที่งบประมาณที่ใช้ของชาวบ้านก็ใช้งบมากกว่าเพราะจากที่ทำไป 1 กิโลเมตรใช้งบถึง 3.66 ล้านบาทโดยไม่มีค่าแรงเพราะชาวบ้านช่วยกันทำหลังได้รับงบฯอุดหนุนจากองค์กรการกุศล แต่ของกทม.ทำเกือบ 4 กม.กลับใช้เงินแค่ 5.8 ล้านบาทเท่านั้น ชาวบ้านจึงเป็นห่วงว่าเขื่อนไม้ไผ่ที่กทม.ทำให้จะอยู่ได้นานแค่ไหน จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
เรียบเรียงคำตอบ | |
|
|