#21
|
||||
|
||||
โลกร้อนทำพิษ ก้อนน้ำแข็งนับร้อยลอยเข้าแดนกีวี ผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งของออสเตรเลีย ระบุ จนท.พบก้อนน้ำแข็งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกว่า 200 เมตร จำนวน 100-200 ก้อน ลอยมุ่งหน้าสู่พื้นที่ชายฝั่งทางตอนใต้ ของนิวซีแลนด์.. เหตุภัย ธรรมชาติผลพวงจากภาวะโลกร้อนนับวันยิ่งทวีความรุนแรง สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 23 พ.ย. อ้างการเปิดเผยของผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งของออสเตรเลีย ระบุเจ้าหน้าที่พบก้อนน้ำแข็งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกว่า 200 เมตร จำนวน 100-200 ก้อน ลอยมุ่งหน้าสู่พื้นที่ชายฝั่งทางตอนใต้ ของนิวซีแลนด์ เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียกล่าวว่า กลุ่มก้อนน้ำแข็งชุดนี้แตกตัวออกจากก้อนน้ำแข็งขนาดประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร ที่แตกออกมาจากน้ำแข็งขั้วโลกใต้ อีกที ซึ่งสาเหตุมาจากอากาศและน้ำทะเลในบริเวณขั้วโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเนื่องจาก ภาวะโลกร้อน นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานานตั้งแต่ปี 2549 แล้ว อย่างไรก็ตาม ทางการนิวซีแลนด์ได้ประกาศเตือนภัยไปยังผู้ที่ต้องการเดินเรือผ่านบริเวณ ทะเลดังกล่าวให้ใช้ความระมัดระวัง ด้านกองทุนสัตว์ป่าโลก หรือดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ รายงานผลการศึกษาระบุว่าหากปัญหาโลกร้อนยังไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว จะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 0.5 ถึง 2 องศาเซลเซียส ภายในปี 2593 ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นประมาณ 0.5 เมตร สร้างความเสียหายแก่เมืองท่าเรือสำคัญกว่า 136 แห่งทั่วโลก คิดเป็นมูลค่ากว่า 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 924 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานถึงความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วมในรัฐกลันตันและ ตรังกานูของมาเลเซีย ระบุชาวบ้านกว่า 12,000 รายต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย หลังเกิดน้ำท่วมเนื่อง จากฝนตกหนักระลอกสอง ถนนหลายสายถูกตัดขาด บางพื้นที่เกิดเหตุดินถล่ม แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนภัยขั้นสูงสุด ให้ประชาชนเตรียมรับมือกับพายุที่กำลังก่อตัวในทะเลจีนใต้ และอาจพัดเข้าชายฝั่งตะวันออกในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์กว่า 2,000 คน จาก 80 ประเทศ ที่ร่วมกันวิจัยสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกมาเป็นเวลากว่า 10 ปี เปิดเผยงานวิจัยไขความลับก้นมหาสมุทร ลบล้างความเชื่อว่าก้นทะเลมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่น้อย โดยระบุว่าค้นพบสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ใต้ ทะเลลึก 200-5,000 เมตร ที่แสงแดดส่องไม่ถึงเป็นจำนวนกว่า 17,650 สายพันธุ์ อนึ่ง รายงานวิจัยฉบับเต็มนี้จะถูกเปิดเผยแก่สาธารณชนใน 4 ต.ค. 2553 จาก : ไทยรัฐ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#22
|
||||
|
||||
แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตกละลาย อีกสัญญาณภาวะโลกร้อน-นักวิทย์ฯอึ้ง ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมของสหรัฐพบว่า แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันออกละลายเร็วมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สร้างความแปลกใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่ไม่คิดว่าแผ่นน้ำแข็งขนาดยักษ์นี้จะ ละลายเร็วเหมือนแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตกที่มีขนาดเล็กกว่า ออสติน (เอเอฟพี/รอยเตอร์ส) - วารสารเนเจอร์จีโอไซเอินซ์ ตีพิมพ์รายงานของศูนย์วิจัยอวกาศ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ที่วิเคราะห์ข้อมูลจากโครงการค้นหาแรงโน้มถ่วงและทดลองสภาพอากาศหรือ grace ของสำนักงานบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) ดาวเทียมคู่แฝดของโครงการนี้เคยพบว่า แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตกและแผ่นน้ำแข็งเกาะกรีนแลนด์กำลังละลายอย่าง รวดเร็ว หากสองแผ่นนี้ละลายหมดจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอีก 6-7 เมตร แต่หากแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันออกละลายหมดจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 50-60 เมตร นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่คิดว่าแผ่นน้ำแข็งนี้จะละลายเพราะอยู่ในบริเวณที่ อากาศเย็นจัด ภาพถ่ายดาวเทียมชี้ว่า ช่วงปี 2545-2549 แผ่นน้ำแข็งนี้อยู่ในสภาพเดิม แต่หลังจากปี 2549 เป็นต้นมาละลายมากถึงปีละ 57,000 ล้านตัน ขณะที่แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตกและแผ่นน้ำแข็งเกาะกรีนแลนด์ละลายปีละ 132,000 ล้านตัน และ 273,000 ล้านตันตามลำดับ ด้าน ดร.ริชาร์ด อัลลี นักธรณีวิทยาน้ำแข็งและธารน้ำแข็งชั้นนำของโลกเตือนว่า การอ่านข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมต้องรอบคอบ มีความเสี่ยงพลาดได้ เพราะทวีปแอนตาร์กติกามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว แผ่นน้ำแข็งหนาขึ้นมากในยุคน้ำแข็งล่าสุดเมื่อ 20,000 ปีก่อน และเมื่อแผ่นน้ำแข็งละลายแรงกดต่อหินใต้น้ำลดลงทำให้หินถูกดันสูงขึ้น ขณะที่รายงานของกองทุนสัตว์ป่าโลก หรือดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัทประกันภัยอลิอันซ์ของเยอรมนีระบุว่า หากอุณหภูมิในปัจจุบันจนถึงปี 2593 เพิ่มขึ้นระหว่าง 0.5 - 2 องศาเซลเซียส จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นราวครึ่งเมตร และจะทำให้เมืองท่าขนาดใหญ่กว่า 136 เมืองทั่วโลก ได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 930 ล้านล้านบาท) และหากนโยบายการปกป้องสภาพอากาศในปัจจุบันไม่ได้รับการแก้ไข มีความเป็นไปได้ที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียสในปี 2593 นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ว่า ระดับน้ำทะเลนอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ อาจเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก 15 เซนติเมตร จาก : แนวหน้า วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 24-11-2009 เมื่อ 10:10 |
#23
|
||||
|
||||
เปิดประชุมแก้โลกร้อน โพลชี้คนสนใจปัญหาลดลง ตัวแทนประเทศ190ทั่วโลกร่วมถกแก้ปัญหาโลกร้อน ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯให้มากที่สุด ขณะที่โพลระบุ 41% เป็นกังวลและต้องการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ... เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. รัฐบาลเดนมาร์กเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการ เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่กรุงโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของประเทศ ในวันที่ 7-18 ธ.ค. ร่วมกับตัวแทนประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 190 ประเทศทั่วโลก เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยสรุปเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศและนำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติแทนพิธี สารเกียวโตที่กำลังจะหมดวาระภายในปี 2555 ทั้งยังตั้งเป้าว่าจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก ลงให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมชาวอังกฤษกว่า 20,000 คน ซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้รวมตัวกันเดินขบวนตามท้องถนนในกรุงลอนดอน รวมถึงตั้งเต็นท์ประท้วงกว่า 30 หลัง ที่จัตุรัสทราฟัลการ์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษร่วมมือกับไอพีซีซี ผลักดันแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง และป้องกันมิให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในแต่ละปีเพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งนายเอ็ด มิลลิแบนด์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของอังกฤษ ได้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ พร้อมยืนยันว่ากรมอุตุนิยมวิทยาอังกฤษเตรียมเปิดเผยให้ประชาชนเห็นผลเปรียบ เทียบอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นทุกๆปีด้วย ด้านนายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ ผู้นำอังกฤษ ประกาศยืนยันว่าจะเดินทางเข้าร่วมการประชุมในกรุงโคเปนเฮเกน พร้อมด้วยประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรี มานโมฮัน สิงห์ ผู้นำอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ที่ปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนฯออกสู่ชั้นบรรยากาศมาก ติดอันดับ 1 และ 5 ของโลก และต้องโน้มน้าวให้ผู้นำจีน แคนาดา และบราซิล ที่เคยปฏิเสธการลงสัตยาบันเพื่อปฏิบัติตามข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต ให้เปลี่ยนท่าทีมาให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอีกแรงหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความเห็นผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 27,000 คน จาก 54 ประเทศทั่วโลก จัดทำโดยสถาบันสำรวจความคิดเห็นนีลเซน ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แห่งอังกฤษ เพื่อสอบถามความเห็นบุคคลทั่วไปถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน พบว่า 37 เปอร์เซ็นต์ของ ผู้ตอบแบบสอบถาม มีความวิตกกังวลอย่างสูงเรื่องภาวะโลกร้อน แต่เป็นสถิติที่ลดลงจากการสำรวจในหัวข้อเดียว กันที่จัดทำขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถาม 41 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า เป็นกังวลและต้องการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง ส่วนผลสำรวจความเห็นชาวจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซฯที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากพอๆกับสหรัฐฯ มีความกังวลเรื่องภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้นเป็น 36 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 30 เปอร์เซ็นต์ และผู้ตอบแบบสอบถามชาวฟิลิปปินส์กังวลต่อภาวะโลกร้อนมากที่สุด คิดเป็น 78 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ชาวเอสโตเนียมีความวิตกกังวลต่อปัญหาโลกร้อนน้อยที่สุด หรือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น. จาก : ไทยรัฐ วันที่ 7 ธันวาคม 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#24
|
||||
|
||||
ปฏิบัติการกู้โลกร้อน ความจริงที่ทุกคนควรฟัง การประชุมระดับโลกที่มีขึ้นในสัปดาห์นี้ ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ณ กรุงโคเปนเฮเกน เนเธอร์แลนด์ เป็นการประชุมที่สำคัญและจะมีผลต่อมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ ประเด็นสำคัญก็คือการที่โลกจะต้องมีข้อตกลงร่วมที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหา โลกร้อนเพื่อแทนพิธีสารเกียวโต ซึ่งจะหมดอายุลงในอีกสองปีข้างหน้า ควรจะเป็นข้อตกลงร่วมที่มีความคืบหน้าและไปไกลกว่าพิธีสารเกียวโต เพราะนับแต่การประชุมเอิร์ธ ซัมมิท เมื่อเกือบยี่สิบที่แล้ว ที่โลกยอมรับร่วมกันถึงปัญหาภัยคุกคามต่อมนุษยชาติจากภาวะโลกร้อน อันเนื่องมาจากฝีมือมนุษย์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนถึงวันนี้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ไม่ได้ลดลงเลย แม้จะมีความพยายามอยู่บ้างแต่ก็ยังไม่เพียงพอ และอาจจะไม่ทันหากทั้งโลกปราศจากความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกัน ในอดีตกาลนานโพ้นจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ เชื่อว่าโลกเราเคยผ่านการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่จนสิ่งมีชีวิตบนโลกเหลืออยู่ เพียงน้อยนิดมาแล้ว 5 ครั้ง ขณะที่วิถีของปัจจุบันกำลังเดินไปสู่สิ่งเดียวกัน ทว่าแตกต่างโดยสิ้นเชิง เพราะครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ เคยพูด "ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟังมาแล้ว" เมื่อหลายปีก่อนว่าด้วยปัญหาโลกร้อน สาเหตุและผลกระทบ มันทำให้คนทั่วๆ ไปตระหนักในปัญหาและเกิดความตื่นตัว อย่างน้อยๆ ในเมืองไทยเราก็ได้เห็นการรณรงค์ให้แต่ละคนช่วยกันลดวิถีชีวิตที่ส่งผลให้ เกิดภาวะโลกร้อน ถุงผ้าเกลื่อนประเทศไทยไปเลยน่ะซีครับ มาปีนี้ อัล กอร์ ออกหนังสือใหม่อีกเล่มชื่อ "Our Chouce" หรือฉบับพากย์ไทยคือ "ปฏิบัติการกู้โลกร้อน : ทางเลือกสู่ทางรอดที่ยั่งยืน" คงจะวางตามร้านหนังสือบ้านเราในสองสามวันนี้ละครับ เที่ยวนี้ อัล กอร์ พุ่งประเด็นไปที่ทางออกของปัญหา จะว่าไปแล้วเล่มนี้เป็นหนังสือที่นำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ดีที่สุด เท่าที่เคยอ่านมาเพราะแจกแจงรูปธรรมของทางเลือกต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องพลังงานเอาไว้ครบถ้วน สมบูรณ์ ละเอียดยิบ ทันสมัย และตรงไปตรงมา เช่น กอร์บอกว่า เขารู้สึกเสียใจที่สมัยเป็นรองประธานาธิบดีเขามีส่วนในการผลักดันการใช้เอทา นอล และผลของมันก็คือยิ่งเพิ่มภาวะโลกร้อน เนื่องจากความต้องการเอทานอลนำไปสู่การทำลายป่าในประเทศโลกที่สาม รวมทั้งการเบียดบังพื้นที่ปลูกอาหารไปเป็นพื้นที่ปลูกวัตถุดิบสำหรับเอทานอล เป็นต้น มีข้อมูลมากมายที่เราคิดว่ารู้แล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่รู้ในอีกหลายเรื่อง นอกจากตีประเด็นในเรื่องพลังงานแต่ละตัวและเสนอทางเลือกไว้แล้ว "ปฏิบัติการกู้โลกร้อน" ยังพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นหัวข้อใหญ่แต่ละหัว ข้อ คือ ป่า ดิน และประชากร ที่สำคัญที่สุดของหนังสือเล่มนี้ คือการเฉพาะลงไปที่ "วิธีคิด" ของระบบบัญชีในการวัดผลประกอบการของโลก ของประเทศ และของบริษัทธุรกิจ ที่เราใช้อยู่ในทุกวันนี้ โดยไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยในสาระสำคัญมายาวนานเป็นศตวรรษแล้ว ระบบบัญชีแบบนี้เป็นระบบที่บิดเบือนกลไกตลาดเนื่องจากมองข้ามความเป็นจริง ข้อหนึ่งคือธรรมชาติก็เป็นต้นทุนที่มีค่าใช้จ่าย พร้อมดอกเบี้ยทบต้นที่เรากำลังจ่ายกันอยู่ในเวลานี้แต่ไม่ได้ลงบัญชีไว้ แต่เข้าใจวิธีคิดเท่านั้นก็ยังไม่พอ จะทำให้ความเข้าใจมีพลังได้ เราแต่ละคนจะต้องเปล่งพลังนั้นออกมาผ่านผู้แทนของเรา ปัญหาก็คือ ผู้แทนของเราแต่ละคนก็ทำอะไรไม่ค่อยเป็นนอกจากกัดกันรายวันผ่านสื่อมวลชนด้วยถ้อยคำไร้สาระ จาก : มติชน วันที่ 7 ธันวาคม 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#25
|
||||
|
||||
"ก๊าซเรือนกระจก" อันตรายต่อสุขภาพ ภาพหมอกควันที่ปกคลุมเมืองในประเทศจีน ซึ่งจีนนับเป็นประเทศที่ใช้ถ่านหินปริมาณมหาศาล องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ ประกาศภัยคุกคามจากก๊าซเรือนกระจกที่กระทบต่อสุขภาพของสาธารณชน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอุณหภูมิโลกที่เพิ่มมากขึ้น คุณภาพอากาศที่กระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงภูมิแพ้จากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐฯ หรืออีพีเอ (Environmental Protection Agency: EPA) ได้ ออกมาประกาศถึงอันตรายของก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสาธารณชน เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมประกาศกำหนดระเบียบควบคุมมลภาวะจากรถยนต์ โรงไฟฟ้าและโรงงานต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ทั้งนี้อีพีเอได้ชี้ว่า ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกหลัก 6 ชนิดคือ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน และซัลเฟอร์เฮกซาฟลูออไรด์ ในชั้นบรรยากาศที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น คุกคามสุขภาพของสาธารณชนและเป็นอันตรายต่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนในยุค ปัจจุบันและคนรุ่นต่อไปในอนาคต อีกทั้งการปลดปล่อยก๊าซเหล่านี้ร่วมกันจากยานพาหนะรุ่นใหม่และ เครื่องยนต์ของยานพาหนะรุ่นใหม่ จะเสริมการกระจายของก๊าซเรือนกระจกซึ่งคุกคามสุขภาพของประชาชนได้ สำหรับคำวินิจฉัยของอีพีเอ เกี่ยวกับอันตรายของก๊าซเรือนกระจกที่ผลกระทบต่อสาธารณสุขของคนยุคปัจจุบัน และคนรุ่นถัดไปนั้น ประกอบไปด้วย 1.อุณหภูมิ ซึ่งมีหลักฐานว่า “วันที่ร้อนจัด” นั้นเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนแล้ว และคลื่นความร้อนจะรุนแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้การตายและอาการเจ็บป่วย ที่เกี่ยวเนื่องกับความร้อนเพิ่มขึ้น 2.คุณภาพอากาศ ทั้งนี้คาดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จะทำให้มลภภาวะของโอโซนภาคพื้นดินเลวร้ายลง ซึ่งโอโซนในภาคพื้นดินจะเกี่ยวพันกับปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ ตั้งแต่การทำงานของปอดที่แย่ลง ทำให้โรคหอบหืดรุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีผู้คนต้องเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น หรือแม้แต่การตายก่อนวัยอันควร 3.โรคไวต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และสารก่อภูมิแพ้อากาศ ซึ่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ทำให้เกิดสารก่อภูมิแพ้อากาศมากขึ้น รวมทั้งมีการประจายตัวของสารเหล่านั้นที่มาจากวัชพืช ต้นหญ้าและต้นไม้ต่างๆ มากขึ้น 4. ประชากรที่อ่อนแอ และการตัดสินโดยสิ่งแวดล้อม ซึ่งในจำนวนนั้นคือ คนยากจน คนแก่ ซึ่งมีสุขภาพไม่ดีอยู่แล้ว คนพิการซึ่งอาศัยอยู่คนเดียว และประชากรที่พึ่งพิงแหล่งทรัพยากรเพียงไม่กี่แห่ง ส่วนเรื่องความยุติธรรมหรือการพิพากษา ที่เป็นเสมือนบทลงโทษจากสิ่งแวดล้อม (Environmental justice) นั้นก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อย่างเช่น อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นในพื้นที่เมือง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ 5.เหตุการณ์สุดขั้ว ผลกระทบจากพายุดูจะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะตลอดอ่าวและชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก มีฝนตกหนักขึ้น ซึ่งเสี่ยงน้ำท่วมที่ไหลบ่ารุนแรง และปัญหาการกัดเซาะ จนถึงผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้จะฉายให้เห็นแนวโน้มของประชาชนที่มีความเสี่ยงจากโรคภัยต่างๆ อาการบาดเจ็บระหว่างน้ำท่วม พายุ ภัยแล้งและไฟป่า “คำนิจฉัยนี้ทำให้ปี 2552 กลายเป็นปีที่รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มต้นปัญหาก๊าซเรือนกระจกที่ท้าทายและการถือโอกาสปฏิรูปพลังงานสะอาด ผู้นำด้านธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง เจ้าหน้าที่รัฐบาล พลเมืองผู้มีความตระหนักทั้งหลาย และศาลสูงของสหรัฐฯ ได้รับการเรียกร้องให้ยืนหยัด และลงมือปฏิบัติเพื่อลดมลภาวะจากก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน" "สิ่งนี้ได้เดินหน้าการทำงานของเราไปสู่การปฏิรูปพลังงานสะอาดที่จะช่วยลดก๊าซ เรือนกระจกและลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างชาติ ซึ่งคุกคามความมั่นคงของชาติและเศรษฐกิจของเรา” ลิซา แจ็คสัน (Lisa Jackson) ผู้อำนวยการของอีพีเอกล่าว จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 14 ธันวาคม 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#26
|
||||
|
||||
โลกร้อนคุกคามคน อาหารขาด โรคเพิ่ม ภาวะโลกร้อน...เป็นคำฮิตที่ได้ยินได้ฟังจนคุ้นหู แต่ความหมายมีหลายระดับในความเข้าใจ ระดับพื้นๆรู้ความหมาย โลกร้อนอากาศร้อนมากขึ้น แต่ก็ยังข้องใจ โลกร้อนขึ้นน่าจะแห้งแล้งมากขึ้น ทำไมบางฝนกลับตกมากขึ้น อากาศหนาวเย็นมากขึ้น และทำไมบางพื้นที่หิมะไม่เคยตก กลับมีหิมะตกมาได้...แล้วมาบอกว่าโลกร้อนได้อย่างไร ความเข้าใจอีกระดับ โลกร้อนมาจากมนุษย์ทำลายธรรมชาติ ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก โลกถูกใช้งานมาอย่างหนัก ตอนนี้โลกอยู่ในอาการไม่ต่างกับคนผ่านการออกกำลังกายทำงานมาอย่างหนัก ร่างกายร้อนจนเหงื่อแตกท่วมตัว น้ำแข็งขั้วโลกที่กำลังละลาย อากาศหนาวเย็นและมีฝนตกมากขึ้น เป็นอาการของเหงื่อโลกร้อนที่กำลังพรั่งพรูออกมา กระนั้นก็ตามความเข้าใจหลายระดับของคนส่วนใหญ่ ยังพุ่งเป้ามองไปที่โลกร้อนทำให้ภูมิอากาศ ฤดูกาลเปลี่ยนไป ในขณะคนที่เข้าใจในภาวะโลกร้อนระดับที่สูงขึ้น...ไม่ได้มองแค่เรื่องสภาพดินฟ้าอากาศอย่างเดียว มองลึกละเอียดไปกว่านั้น...แต่ใกล้ชิดกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ยิ่งนัก ด้วยวันนี้ ภาวะโลกร้อนได้รุกคืบคุกคามมาถึงความอยู่รอดของมนุษย์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว...รุกคืบมาแบบเงียบๆ โดยเราไม่รู้ตัว " วันนี้มีสัญญาณหลายอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดภาวะอาหารขาดแคลนขึ้นกับมนุษย์ และอาหารที่มีให้บริโภคจะมีภาวะเป็นพิษมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น เชื้อโรคต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรคอุบัติใหม่กับมนุษย์ก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน" ดร.ทรงศักดิ์ รศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต ประธานจัดการประชุมพิษวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อน : ปัญหาความปลอดภัยของอาหารที่อุบัติใหม่ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง 17-18 ธ.ค.นี้ ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ ชี้ให้เห็นผลกระทบอีกด้านของภาวะโลกร้อน ภาวะอาหารขาดแคลน ผลิตได้ไม่พอต่อความต้องการบริโภคของมนุษย์...ภาวะเช่นนี้คนไทยเริ่มได้เห็นกันบ้างแล้ว จากอุทกภัยฝนตกน้ำท่วมถี่บ่อยกว่าเมื่อก่อน แต่บ้านเรานับว่าโชคดีตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดีพายุพัดถล่มไม่รุนแรง แต่ประเทศอื่นๆนั้นโดนกันระนาว ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน จีน เวียดนาม อินเดีย ฯลฯ อุทกภัยน้ำท่วม ทำไร่นาผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้อาหารขาดแคลน อย่างที่รู้กัน...แต่ที่ไม่ค่อยรู้กัน รศ.ดร. ทรงศักดิ์ บอกว่า... " โลกร้อนภูมิอากาศเปลี่ยนไป บางพื้นที่ฝนตกมากขึ้น บางพื้นที่อากาศร้อนแห้งแล้งมากขึ้น ฤดูกาลเปลี่ยนไปสั้นยาวนานไม่เหมือนเดิม การเพาะปลูกพืชตามฤดูกาลจะให้ผลผลิตไม่เหมือนเดิม รายงานการศึกษาวิจัยในอังกฤษและเดนมาร์กพบว่า แค่เพียงอุณหภูมิของฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป สูงขึ้นยาวนานกว่าปกติแค่ 2-3 วัน ส่งผลให้ผลผลิตของข้าวสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสงลดลง" ส่วนอุณหภูมิสูงยาวนานเพิ่ม 2-3 วัน มีผลให้ข้าวหอมมะลิ ข้าวปทุมธานี 1 ข้าวเจ้า ข้าวเหนียวลดลงหรือไม่...ในบ้านเราไม่มีรายงานการศึกษาในเรื่องนี้ และ ผลของภาวะโลกร้อนทำให้อาหารในอนาคตขาดแคลนอีกอย่างที่คนไทยไม่ค่อยรู้กัน แต่ใกล้ตัวยิ่งนัก...โลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลเพิ่มมากขึ้น น้ำเค็มจะรุกคืบแย่งชิงพื้นที่น้ำจืดมากขึ้น พื้นที่เพาะปลูกใกล้ชายฝั่งที่เคยปลูกพืชได้ จะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ ปัญหานี้เกิดแล้ว โดยเฉพาะในประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกา โลกร้อนขึ้นทำให้อาหารเป็นพิษ...ปลาทะเลแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์ วันนี้มีสัญญาณบอกเหตุแล้วว่า ปลาทะเลที่เคยกินได้มีพิษมากขึ้น " โรคชิกัวเธอร่า โรคที่เกิดจากการกินปลาที่มีสารพิษสะสม กินเข้าไปแล้วคนจะมีอาการปวดหัวคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และมีอาการทางระบบประสาทตามมา ชาวูบวาบ ปวดแสบปวดร้อนไปทั่วตัว หายใจลำบาก เป็นมากๆ อาการรุนแรงจะถึงขั้นโคม่าและก็เสียชีวิต โรคนี้เดิมจะพบกันในหมู่เกาะฟิจิ กลางมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ กับแถบทะเลแคริเบียน ที่อื่นไม่เคยพบโรคนี้มาก่อน" แต่วันนี้...พบแล้วที่อินเดีย...ไม่ห่างไปไกลจากบ้านเราไปเท่าไร รศ.ดร.ทรงศักดิ์ อธิบายที่มาที่ไปของการพบโรคนี้ผิดแปลกไปจากปกติว่า...เป็นผลมาจากโลกร้อนนี่แหละ พิษที่สะสมอยู่ในตัวปลานั้น ไม่ใช่สารพิษมาจากไหน...เป็นสารพิษ ควันพิษ มลภาวะต่างๆ ที่มนุษย์ก่อขึ้นนี่แหละ ควันพิษที่มนุษย์ก่อขึ้นทั้งหลาย ลอยตัวขึ้นไปบนฟ้า ถูกลมพัดพาไปที่ขั้วโลก...เมื่อก่อนโลกยังไม่ร้อนเท่าขนาดนี้ สารพิษก็เลยไปหมักสะสมตัวอยู่ในก้อนน้ำแข็ง แต่เมื่อโลกร้อนขึ้นน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็ว...สารพิษที่ถูกธารน้ำแข็งเก็บกักไว้พลอยถูกปลดปล่อย ไหลลงสู่ทะเล ให้ปลาได้กินสะสมอยู่ในตัว ให้คนไปจับมากิน สารพิษจากอีกแหล่ง สารพิษจากบนบกที่มนุษย์อาศัยอยู่ ไม่ว่าสารพิษจากควันรถ จากโรงงาน จากการทำเกษตร สารพิษที่ลมหอบไปได้ไม่ไกลถึงขั้วโลก สะสมอยู่ในดินใกล้บ้านเรา...โลกร้อนขึ้น ฝนตกน้ำท่วมถี่บ่อย อุทกภัยชะล้างสารพิษบนดินให้ไหลลงไปสะสมทะเลให้ปลาได้กินสะสมสารพิษมากขึ้น เป็นเหตุผลว่าทำไมโรคชื่อไม่คุ้นหู...ชิกัวเธอร่า (Ciguatera) ถึงได้ลามระบาดกินพื้นที่กว้างขวางมากขึ้น ใกล้บ้านเราเข้ามาทุกที ผลของภาวะโลกร้อนไม่เพียงทำให้สารพิษได้สะสมในทะเลมหาสมุทรที่เปรียบเสมือน เป็นบ่อเพาะเลี้ยงปลาแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์เท่านั้น รศ.ดร.ทรงศักดิ์ บอกอีกว่า โลกร้อน อุณหภูมิที่อุ่น ช่วยให้เชื้อโรค จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ไวรัสบางตัว เจริญเติบโตขยายพันธุ์ได้ดีขึ้นอีกด้วย เชื้อโรคเจริญได้ดี การพัฒนากลายพันธุ์ก็จะดีด้วย และจะมีโรคใหม่ๆเกิดตามมา " ซาร์ส ไข้หวัดนก รวมทั้งไข้หวัดหมู หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ นี่ก็เป็นผลมาจากอุณหภูมิของโลกที่เปลี่ยนไปเช่นกัน และที่น่ากังวลก็คือ โรคเก่าที่เราคิดว่าจะหมดไปแล้ว จะกลับมาอุบัติใหม่ด้วย อย่างวัณโรค ตอนนี้ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ขององค์การอนามัยโลกแล้ว เพราะตอนนี้ได้กลับมาระบาดมากขึ้นในคนปกติ ระบาดใน วงกว้างไปทั่วโลก ไม่เหมือนในอดีตที่ระบาดไม่กว้างขวางขนาดนี้ เป็นเพราะเชื้อวัณโรคเจริญเติบโตขยายพันธุ์ได้ดีขึ้น" และโรคเก่าที่ใกล้ชิดคนไทยยิ่งกว่านั้น นั่นคือ โรคท้องร่วง บิด อหิวาตกโรค จะหวนกลับมาอุบัติใหม่ได้ง่ายขึ้นเหมือนกัน ด้วยอากาศที่ร้อนขึ้น อาหารที่เคยเก็บได้นาน จะไม่นานเหมือนเก่า เพราะเชื้อโรคเติบโตได้เร็ว...จะทำให้อาหารบูดเน่าเสียเร็วขึ้น ปัญหาโลกร้อน ไม่ใช่แค่เรื่องลมฝนฟ้า วันนี้ได้รุกคืบ ใกล้ตัว ใกล้ปาก คนเราเข้าไปทุกขณะแล้ว. จาก : ไทยรัฐ คอลัมน์ สกู๊ปหน้า 1 วันที่ 16 ธันวาคม 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#27
|
||||
|
||||
วันนี้ฟังจากข่าวตอนเช้า เค้าบอกว่าภาวะโลกร้อนมีผลต่อสัตว์หลายๆชนิด ..
หมีขั้วโลก .. เพนกวินจักรพรรดิ .. ปลาการ์ตูนที่อาจสูญเสียประสาทการรับกลิ่น จนอาจตกเป็นเหยื่อของนักล่าตามธรรมชาติได้ง่ายขึ้น .. รวมถึงโคอาล่าที่กินอาหารได้น้อยลงจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากขึ้นด้วย .. ภาวะโลกร้อนใกล้ตัวกว่าที่คิดจริงๆ ..
__________________
If we see the hearts of others, peace will follow You may say I'm a dreamer .. but I'm not the only one: John Lennon |
#28
|
||||
|
||||
ที่ประชุมโลกร้อนเตือน ระวังทะเลจะกลายเป็นกรด อังกฤษจะได้เตือนที่ประชุมสุดยอดโลกร้อนให้ระวังว่า ทะเลจะกลายเป็นกรด ซึ่งเป็นอันตรายต่อบรรดาสัตว์น้ำทั้งหลาย ตั้งแต่กุ้ง หอย ปูปลาไปจนถึงปะการัง.. เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. อังกฤษจะได้เตือนที่ประชุมสุดยอดโลกร้อนให้ระวังว่า ทะเลจะกลายเป็นกรด ซึ่งเป็นอันตรายต่อบรรดาสัตว์น้ำทั้งหลาย ตั้งแต่กุ้ง หอย ปูปลาไปจนถึงปะการัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอังกฤษ กล่าวว่า เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่า การที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศละลายในทะเล จะเป็นเหตุให้สภาพทางเคมีของน้ำในมหาสมุทรเปลี่ยนแปรไป การมีปริมาณของก๊าซในอากาศเพิ่มขึ้น จะยิ่งทำให้น้ำกลายเป็นกรดมากยิ่งขึ้น ผู้เชี่ยวชาญบางคน เห็นด้วยว่า มันจะก่อให้เกิดผลขึ้นได้ ไม่แพ้กับการปล่อยให้ระดับของก๊าซนั้นสูงขึ้น ซึ่งมีผลทำให้สภาพดินฟ้าอากาศแปรเปลี่ยนไป แต่กลับไม่ค่อยมีการพูดถึงเรื่องทะเลจะกลายเป็นกรด ในที่ประชุมสภาพดินฟ้าอากาศของสหประชาชาติ "ผู้คนมักไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ ทั้งที่มันเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ" เขากล่าว. จาก : ไทยรัฐ วันที่ 18 ธันวาคม 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#29
|
||||
|
||||
โลกร้อนกับปัญหามาบตาพุด ณ เวลานี้ผู้นำประเทศต่างๆทั่วโลกได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกที่ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เพื่อที่จะได้บรรลุข้อตกลงในการแก้ปัญหาโลกร้อนที่ทั่วภูมิภาคของโลกต่างประสบปัญหาในเรื่องวิกฤติโลกร้อน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทยก็ได้เดินทางไปร่วมประชุมกับผู้นำโลกชาติอื่นๆด้วยเช่นกัน ถ้าผู้นำของโลกสามารถตกลงกันในที่ประชุมในการลดโลกร้อนได้ไปในทิศทางเดียวกันก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะจะทำให้การแก้ไขวิกฤติโลกร้อนบรรลุผลสำเร็จเพื่ออนาคตโลกและมวลมนุษยชาติ อย่างไรก็ดี หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางกลับมาจากการประชุมลดโลกร้อนที่ประเทศเดนมาร์กแล้ว ปัญหาโลกร้อนในประเทศไทยที่กระทบถึงสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศตามภูมิภาคต่างๆ คงจะมีแนวทางที่แก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้ประเทศไทยและโลกรอดพ้นจากภาวะโลกร้อนที่เป็นประเด็นใหญ่ของโลกใน ปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะประเทศไทยนั้นจะมีผลกระทบถึงเศรษฐกิจ การลงทุน และสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยส่วนรวม ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังให้ตรงจุดของวิกฤติที่เกิดขึ้น ภาวะโลกร้อนอย่างหนึ่งที่ไทยมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ ก็คือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่ศาลปกครองสูงสุดได้สั่งระงับโครงการการลงทุนที่มาบตาพุด 65 โครงการเป็นการชั่วคราว อันเนื่องมาจากเป็นโครงการที่จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่และกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในชุมชน ผลการระงับดังกล่าวได้มีการตอกย้ำถึงเรื่องความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจที่จะหดตัวลงในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งรัฐบาลก็เตรียมแนวทางในการแก้ไขให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาในวันอังคารหน้านี้ ก็หวังว่าวิธีการดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นประเทศไทยกลับคืนมา เหตุของวิกฤติมาบตาพุดครั้งนี้ก็เพราะละเลยต่อ ปัญหาโลกร้อน ก็ย่อมส่งผลกระทบถึงโครงการต่างๆในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เมื่อเกิดปัญหาแล้วนักลงทุนก็ต้องเป็นห่วงที่ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวมที่จะตามมาในอนาคตก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง กลุ่มเอ็นจีโอที่ห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิษที่จะกัดกร่อนชีวิตของประชาชนในพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องเช่นกัน แต่ทุกฝ่ายไม่ควรที่จะสร้างกระแสให้สุดโต่งจนเกินไป ควรต้องร่วมมือกันหาทางออกที่ให้เกิดความพอดีของแต่ละฝ่าย ปัญหามลพิษจากโลกร้อนและเศรษฐกิจของชาติก็จะเดินหน้าแก้ไขไปได้ด้วยดี. จาก : เดลินิวส์ วันที่ 18 ธันวาคม 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#30
|
||||
|
||||
ชะตากรรม "โลก" ผลกรรม “เรา” ในวันที่ร้อนจนเกินเยียวยา นักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมประชุม UNFCCC ที่กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก แสดงให้เห็นว่าถ้ายังไม่ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกในปี 2100 จะเพิ่มขึ้น 2 (สีเหลือง) - 4 องศาเซลเซียส (สีส้ม) ในสิ้นศตวรรษนี้แน่นอน (AFP) หากอุณหภูมิบนพื้นผิวโลกสูงขึ้นจนผิดวิสัย มหันตภัยหลากหลายรูปแบบจะถาโถมเข้ามาสู่ดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ และสิ่งมีชีวิตที่เคยอาศัยอยู่ได้อย่างปกติสุข อาจต้องเผชิญกับความทุกข์ยากจนสุดจะทนทานไหว บางเผ่าพันธุ์อาจถูกกวาดล้างจนสิ้นซากไปพร้อมกับสิ้นศตวรรษนี้ นี่ไม่ใช่แค่ฉากหนึ่งในภาพยนตร์เกี่ยวกับมหันตภัยล้างโลกที่ทำรายได้ มหาศาล แต่เป็นหนึ่งในหลายฉากที่มนุษย์อย่างพวกเราอาจได้เผชิญด้วยตัวเอง ดั่งที่ปรากฏในรายงานฉบับที่ 4 (Fourth Assessment Report) ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ “ไอพีซีซี” (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ที่เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2007 ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในรายงานฉบับดังกล่าว เผยให้เห็นถึงมหันตภัยรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับโลกใบนี้ภายในศตวรรษนี้ หากอุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นอีกราว 1.8-4 องศาเซลเซียส จีน แม้จะเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่มาแรงแซงโค้งประเทศอุตสาหกรรมในฐานะผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก (AFP) เอเชียเผชิญอุทกภัยทั่ว พืชพันธุ์ถูกทำลาย โรคร้ายระบาด ประชากรในทวีปเอเชียราว 120-1,200 ล้านคน จะต้องเผชิญกับอุทกภัยที่เพิ่มมากขึ้นภายในปี 2020 และอีกราว 185-981 ล้านคน ที่ต้องประสบชะตากรรมแบบเดียวกันภายในปี 2050 พร้อมกับผลผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารในบางพื้นที่ของเอเชียใต้จะถูกทำลายลงไป 30% จากปัจจุบัน แม้ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นไม่มาก แต่ก็หนุนให้แม่น้ำสายสำคัญหลายแห่งเอ่อล้นทะลักตลิ่ง และสร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำสายสำคัญๆที่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เช่น แม่น้ำแยงซีในจีน แม่น้ำแดงในเวียดนาม และแม่น้ำคงคา-พรหมบุตร ในบังกลาเทศ เมื่ออุทกภัยแผ่ขยายกินบริเวณกว้างมากขึ้น อหิวาตกโรคและมาลาเรียก็ระบาดหนักยิ่งกว่าเดิม หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียส ธารน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยที่มีขนาดไม่ถึง 4 กิโลเมตร จะละลายหายไปหมด และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มตามมา แต่ท้ายที่สุดจะจบลงด้วยความแห้งเหือดของแม่น้ำที่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยธารน้ำ แข็งจากเทือกเขาหิมาลัย ชาวอินเดียจะมีน้ำใช้ต่อหัวลดลงจาก 1,900 ลูกบาศก์เมตร เหลือเพียงแค่ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ภายในปี 2025 แอฟริกาทำลายโลกน้อยสุด แต่โดนหนักสุด นับร้อยล้านชีวิตขาดน้ำ-อาหาร แม้แอฟริกาจะเป็นพื้นที่ปลดปล่อยก๊าซก่อเรือนกระจกน้อยที่สุด แต่กลับกลายเป็นทวีปที่ต้องเผชิญชะตากรรมเลวร้ายกว่าใครเพื่อน เพราะจะมีประชากรในทวีปนี้หลายร้อยล้านคนหรือราว 90% ของประชากรทั้งหมด จะต้องประสบกับภาวะขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มอย่างรุนแรงในปี 2080 หรืออาจเร็วกว่านั้น และในตอนนั้นประชากรโลกที่ขาดแคลนอาหารราว 40-50% คือชาวแอฟริกันที่อาศัยอยู่ใกล้กับทะเลทรายซาฮารา เมื่อเทียบกับจำนวนในปัจจุบันนี้ที่คิดเป็น 25% ของผู้ที่ขาดแคลนอาหารจากทั่วโลก ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลให้ฤดูเพาะปลูกหดสั้นลง และหลายพื้นที่ทำการเกษตรไม่ได้อีกต่อไป ทำให้ในบางประเทศเพาะปลูกได้ผลผลิตน้อยลงกว่าครึ่งหนึ่ง ความแห้งแล้งแผ่ปกคลุมผืนดินกินพื้นที่กว้าง 6-9 แสนตารางกิโลเมตร ประชากรในแอฟริกากว่า 500 ล้านคนจะต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำดื่มอย่างฉับพลัน หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจากปี 1990 แม้เพียง 2 องศาเซลเซียส อหิวาตกโรค เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และไข้เลือดออก จะระบาดหนักและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เกิดอุทกภัยสร้างความเสียหายแก่ประชาชนและพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณสามเหลี่ยม ปากแม่น้ำไนล์และไนเจอร์ อันเป็นผลพวงมาจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ต้นปาล์มริมชายฝั่งบนเกาะ Ghormara ของอินเดีย ที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งลึกจนเห็นรากต้นปาล์มสูงท่วมหัว (AFP) ยุโรปหิมะละลาย ความหลากหลายหายมากกว่า 60% ประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนจะสามารถยืนหยัดอยู่บนความเสี่ยงต่อภัยแล้งที่รุนแรง ผลผลิตตกต่ำ และมหันตภัยจากคลื่นความร้อนได้มากกว่า ขณะที่ประเทศในยุโรปที่ตั้งอยู่บนละติจูดที่สูงขึ้นไป จะต้องเผชิญกับน้ำท่วมและสภาพอากาศที่เลวร้าย ทว่าจะได้รับความสมดุลจากการที่มีฤดูเพาะปลูกยาวนานขึ้น และมีพื้นที่เกษตรกรรมและป่าไม้ขยายกว้างมากขึ้น อุณหภูมิบริเวณเทือกเขาแอลป์จะพุ่งสูงขึ้นจนสร้างความเสียหายร้ายแรง ต่ออุตสาหกรรมการเล่นสกี ตลอดจนกวาดล้างชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ให้หมดไปจากบริเวณดังกล่าวมากถึง 60% พื้นที่ลุ่มแม่น้ำที่ได้รับผลจากภาวะน้ำท่วมขยายตัวจาก 19% ในปัจจุบัน เป็น 36% ในปี 2070 อุทกภัยฤดูหนาวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นบริเวณชายฝั่งของยุโรป ขณะที่บริเวณตอนกลางของยุโรปจะประสบกับอุทกภัยและน้ำท่วมฉับพลันอันเนื่องมา จากหิมะละลาย เกิดผลกระทบอย่างเลวร้ายต่อความหลากหลายทางชีวภาพในยุโรป พืชพรรณในท้องถิ่นเกือบทั้งหมดต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หรือบางชนิดอาจสูญพันธุ์เมื่อสิ้นศตวรรษนี้ คลื่นร้อนรุนแรง-พายุถาโถมอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ไร้ธารน้ำแข็งเขตร้อน ภาวะโลกร้อนจะเป็นตัวหนุนให้พายุเขตร้อนและคลื่นความร้อนมีพละกำลังรุนแรงมากขึ้นในอเมริกาเหนือ พร้อมกับที่เป็นภัยคุกคามหลายสปีชีส์ในอเมริกาใต้ที่ต้องตกเป็นเหยื่อถูกทำให้สูญพันธุ์ และต้องอดอยากหิวโหยอีกมากมาย ดินเยือกแข็งรวมทั้งน้ำแข็งในทะเลแถบแคนาดาและอะแลสกาถูกเร่งให้ ละลายเร็วขึ้น แมวน้ำและหมีขั้วโลก ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตหลักในบริเวณดังกล่าวจะถูกคุกคามก่อนใครเพื่อน ทั้งยังเป็นการเกื้อหนุนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นให้แพร่กระจายไปในบริเวณนั้นได้มากยิ่งขึ้น และไปเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตประจำถิ่นมากกว่าเดิม ผู้คนกว่าครึ่งในทวีปอเมริกาต้องตกอยู่ในภาวะยากแค้นจากอุทกภัย วาตภัย คลื่นความร้อน โรคระบาด และหมอกควันในย่านชุมชนเมือง การเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองริมชายฝั่งจะทำให้เสี่ยงได้รับความเสียหายจากพายุมากยิ่งขึ้น และจะหนักหน่วงยิ่งกว่าเดิมเมื่อได้รับแรงหนุนจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ในอเมริกาใต้มีแนวโน้มสูงมากที่ธารน้ำแข็งเขตร้อนจะละลายหายไปภายในช่วงปี 2020 และมีประชากรราว 7-77 ล้านคนต้องทนทุกข์ทรมานจากการขาดแคลนน้ำ และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 60-150 ล้านคน ในปี 2100 ส่วนในบริเวณอ่างแคริบเบียนจะมีพายุเฮอริเคนเกิดถี่และรุนแรงมากขึ้น ขณะที่หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส จะเกิดการสูญเสียน้ำในดินไปในบริเวณอะเมซอนตะวันออก และป่าฝนเขตร้อนทางตอนกลางและตอนใต้ของเม็กซิโกจะกลายสภาพเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา โลกร้อนพ่วงท่องเที่ยวทำลายแนวปะการังยักษ์ ประเทศและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จะสูญเสียทั้งชนิดพันธุ์ต่างถิ่นและสิ่งมีชีวิตดั้งเดิมในท้องถิ่นนั้น อันเป็นผลพวงมาจากการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องกับภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะระบบนิเวศบริเวณแนวปะการังยักษ์ (Great Barrier Reef) และอุทยานแห่งชาติคาคาดูในออสเตรเลีย ที่เสี่ยงจะถูกทำลายได้มากที่สุด ปัญหาขาดแคลนน้ำที่สั่งสมมานานทางใต้และตะวันออกของออสเตรเลียจะยิ่ง ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2030 พื้นที่ลุ่มน้ำเมอเรย์-ดาร์ลิ่ง (Murray-Darling Basin) จะลดลงอีก 10-25% ในปี 2050 ผลิตผลจากภาคเกษตรกรรมและป่าไม้ลดลงอย่างมากทั้งในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แต่ยังมีบางพื้นที่ของนิวซีแลนด์ที่มีแนวโน้มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น ส่วนหมู่เกาะต่างๆในแปซิฟิกจะได้รับผลกระทบทั้งจากระดับน้ำทะเลและอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูง ขึ้น ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรวดเร็ว กำแพงตามธรรมชาติถูกทำลายลง ทั้งป่าชายเลนและแนวปะการัง ท่าเรือบางแห่งของเกาะฟิจิและซามัวถูกน้ำทะเลท่วม ผลผลิตลดลง 18% ในปี 2030 ธารน้ำแข็งขนาดยักษ์แตกออกจาก Knox Coast บริเวณเขตแอนตาร์กติกที่อยู่ใกล้กับออสเตรเลีย (AFP) ขั้วโลกร้อนยาวนาน ลดปริมาตรธารน้ำแข็ง สิ้นศตวรรษนี้มีแนวโน้มว่าน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกจะหายไปราว 23% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาด้วย ส่วนธารน้ำแข็งขนาดใหญ่บริเวณขั้วโลกเหนือ รวมถึงดินแดนแถบขั้วโลกเหนือที่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งและกรีนแลนด์ ก็จะสูญเสียความหนาของชั้นน้ำแข็งไป ชั้นน้ำแข็งจะบางลงแค่ไหนเป็นสิ่งที่ยากเกินคาดเดาได้ แต่จะมีประชากรที่อาศัยในบริเวณดังกล่าวราว 4 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน ส่วนชั้นดินเยือกแข็งในแถบอาร์กติกจะลดลงไปราว 20-35% ในปี 2050 และฤดูร้อนของขั้วโลกเหนือจะยาวนานขึ้นกว่าปัจจุบันราว 15-25% ซึ่งน้ำแข็งที่ละลายในฤดูร้อนก็จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในบริเวณนั้นด้วย น้ำแข็งขั้วโลกใต้จะค่อยๆ ละลายหายไปตั้งแต่บริเวณแหลมแอนตาร์กติก ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นจุดหนึ่งบนโลกที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนว่ามีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีแนวโน้มเป็นเช่นนี้ต่อไปอีก และคาดการณ์ว่าก้อนน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกจะละลายเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ และละลายจนเกือบหมดในฤดูร้อนของขั้วโลกใต้ ขณะที่อนาคตของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกยังไม่มีความแน่นอน เพราะมีหลักฐานที่แสดงถึงแผ่นน้ำแข็งด้านตะวันตกถูกทำลายลง ทว่าผู้เชี่ยวชาญบางคนระบุว่า แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกนี้จะยังคงอยู่ เพราะยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายเมื่อราว 12,000 ปีที่แล้ว มากกว่าที่จะละลายหายไปเพราะภาวะโลกร้อนที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์เมื่อไม่นานมานี้ แม้ข้อมูลจากไอพีซีซีตามที่เราหยิบยกมาจะทำให้หลายฝ่ายตระหนักดีว่า โลกในวันข้างหน้าเป็นเช่นไรหากยังไร้การควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ผู้แทนรัฐบาลจาก 192 ประเทศทั่วโลกที่กำลังร่วมโต๊ะประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กก็ยังคงมีความขัดแย้งและไม่ลงตัวกับการเจรจาต่อรองจากผู้แทนของรัฐบาลจากหลายๆ ประเทศ ถ้าเวทีที่โคเปนเฮเกนปิดลง โดยที่ยังไม่สามารถตกลงแนวทางหลังปี 2012 ได้ ขณะเดียวกันกิจกรรมของมนุษย์ที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเพิ่มความร้อนให้โลกได้ วันสิ้นโลกอาจมาถึงเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้. จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 18 ธันวาคม 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
เรียบเรียงคำตอบ | |
|
|