#31
|
||||
|
||||
เหมือนโลกหนาว เพราะปมโลกร้อน! สัปดาห์นี้ทั้งในกรุงเทพฯ และในอีกหลายจังหวัดของไทยเจอกับสายฝนหลงฤดู ทำเอาหลายท่านเกิดอาการมึนงงว่า "นี่มันฤดูอะไรกันแน่" ส่วนในต่างประเทศ ทั้งเอเชีย ยุโรป และอเมริกา เช่น จีน อังกฤษ แคนาดา และสหรัฐบางส่วนที่ประสบกับภาวะหนาวจับขั้วหัวใจ ต่างพูดคุยถึงประเด็นความแปรปรวนของอากาศเพราะภาวะโลกร้อนหนาหูไม่แพ้กัน โดยมีคำพูดเป็นมุขตลกว่า "ไหนว่าโลกร้อน ในเมื่อหนาวจะตายอยู่แล้ว" คำชี้แจงด้านวิทยาศาสตร์จากบรรดานักวิชาการและนักอุตุนิยมวิทยาก็คือ อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของอากาศทางซีกโลกเหนือเส้นศูนย์สูตรหลายพื้นที่มีแนวโน้มอุ่นมากขึ้น 5-10 องศาเซลเซียส เช่น ทวีปอลาสกาและแคนาดาเหนือ แม้อุณหภูมิเฉลี่ยของขั้วโลกเหนือยังยะเยือกอยู่ที่ -30 องศาเซลเซียส ด้าน แอฟริกาเหนือและแถบเมดิเตอเรเนียนอุ่นขึ้นเฉลี่ยราว 10 องศาเซลเซียส ขณะที่ยุโรปทางเหนืออุ่นขึ้น 5 องศาเซลเซียส แต่ในบางพื้นที่กลับมีอุณหภูมิลดลงทำให้หนาวจัดขึ้น นายสตีเฟน ดอร์ลิ่ง อาจารย์จากสำนักวิชาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ตนไม่รู้สึกแปลกใจที่จะมีผู้คนหันมาตั้งคำถามกันเกี่ยวกับเรื่องวิกฤตโลกร้อนมากขึ้นในช่วงที่กำลังประสบกับภาวะอากาศหนาวจัดผิดปกติ แต่ไม่ควรนำเรื่องนี้มาตัดสินว่า โลกไม่ได้ร้อนขึ้น เนื่องจากการที่อากาศหนาวจัดไม่ได้หมายความว่าปัญหาโลกร้อนกำลังลดลงหรือหมดไป ต่อไปนี้ มนุษยชาติจะต้องประสบกับภาวะอากาศที่ร้อนและเย็นผิดปกติ ซึ่งจะชัดเจนที่สุดในระหว่างเดือนธันวาคมถึงมกราคม เป็นเพียงผลลัพธ์จากต้นเหตุที่แท้จริง สถิติการบันทึกพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในทศวรรษที่ผ่านมานั้นสูงที่สุด โดยใน 3 ปีสุดท้ายนั้น หากเฉลี่ยต่อ 1 ปีจะสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในทศวรรษก่อนหน้านั้นอีกด้วย ขณะที่การสำรวจในปีล่าสุดพบว่า โลกกำลังอุ่นขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง นายดอร์ลิ่งระบุว่าจะต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อหยุดยั้งแนวโน้มดังกล่าวของอุณหภูมิไม่ให้พุ่งสูงขึ้นเกินขีดอันตรายซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงอย่างมากต่อสภาพอากาศของโลก เนื่องจากความกดอากาศสูงทำหน้าที่เสมือนกับกำแพงซึ่งตั้งขวางการเคลื่อนที่ของลม ทำให้ลมต้องพัดหนีไปทางอื่น ความกดอากาศสูงดังกล่าวพาดผ่านตั้งแต่ยุโรปตะวันออกไปจนถึงไซบีเรีย ทำให้ลมอุ่นจากมหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันตกของเกาะอังกฤษพัดเข้ามาไม่ได้ จึงต้องเผชิญกับอากาศหนาวจัดที่มาจากแถบขั้วโลกเหนือ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้อุณหภูมิในสกอตแลนด์ดิ่งลงติดลบแม้ในเวลากลางวัน อย่างไรก็ตามนักอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหิมะในฤดูหนาวของประเทศทางเหนือละลาย ผนวกกับปรากฏการณ์เอล นิโน่ ในมหาสุทรแปซิฟิก ซึ่งจะส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น จาก : ข่าวสด คอลัมน์สกู๊ปพิเศษ วันที่ 9 มกราคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#32
|
||||
|
||||
ธารน้ำแข็งหิมาลัยละลายเร็วขึ้น ปัญหาโลกร้อนเป็นกระแสที่อยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกแล้วขณะนี้ หลังจากที่ปล่อยปละละเลยมานาน เพราะมันเริ่มส่งผลกระทบต่อตัวเราแล้ว กล่าวกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากน้ำมือมนุษย์ เช่นเดียวกับธารน้ำแข็งหิมาลัยที่มีรายงานว่ากำลังละลายเร็วขึ้น ซึ่งย่อจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำสำคัญอย่างแม่น้ำเหลือง แม่น้ำคงคงและแม่น้ำโขง ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสมุทรศาสตร์ สคริปป์ในแคลิฟอร์เนีย ได้ใช้เครื่องบินบังคับเพื่อตรวจวัดความร้อนในชั้นบรรยากาศเหนือมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นส่วนของเอเชียที่ถูกปกคลุมด้วยกลุ่มหมอกควันมลพิษที่เกิดจากฝีมือมนุษย์(Brown Cloud) โดยพบว่ากลุ่มหมอกควันมลพิษดังกล่าวได้เพิ่มความร้อนในปริมาณถึงร้อยละ 50 ซึ่งจะช่วยเร่งให้ธารน้ำแข็งหิมาลัยละลายรวดเร็วขึ้น รายงานระบุว่าหมอกควันดังกล่าวจะดูดซับความร้อนของแสงอาทิตย์เอาไว้จำนวนมาก และปล่อยความร้อนออกสู่อากาศซึ่งมีผลทำให้ธารน้ำแข็งละลายได้เร็วขึ้น สำหรับหมอกควันดังกล่าว ประกอบด้วยอนุภาคเล็กๆที่เรียกว่า "แอโรซอล" ที่มาจากไฟป่า ยวดยานพาหนะ และมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งการเผาถ่านและมูลวัวเพื่อใช้ในการทำอาหาร โดยเฉพาะในหลายๆครัวเรือนของประเทศที่กำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทยเราด้วย ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการสูญเสียธารน้ำแข็งหิมาลัย จะทำให้ประขาชนหลายล้านคนในเอเชียประสบภาวะขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้ธารน้ำแข็งของที่ราบสูงทิเบตเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของแม่น้ำสายหลักในภูมิภาคเช่นแม้น้ำเหลืองของจีน แม่น้ำโขงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแม่น้ำคงคาในอินเดีย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มกรีนพิซในประเทศจีน เปิดเผยว่าอุณหภูมิบริเวณยอดเขาของภูเขาเอเวอร์เรสต์มีความร้อนมากกว่าอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกถึง 3 เท่า ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางคนเตือนว่าหากอัตราความร้อนยังเป็นอยู่อย่างนั้น ธารน้ำแข็งจากเทือกเขาหิมาลัยจะสูญหายไปภายในปี 2578 หรือ อีก 28 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าวิธีเดียวที่จะลดหมอกควันมลพิษคือเปลี่ยนพฤติกรรมของครัวเรือนหลายล้านครัวเรือนในเอเชียให้หันมาเริ่มใช้เครื่องปรุง อาหารพลังแสงอาทิตย์ หรือลดการเผาถ่าน จาก : แนวหน้า เก็บโลกมาเล่า วันที่ 6 เมษายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#33
|
||||
|
||||
สำรวจธรณีฟิสิกส์ทางทะเล กรมทรัพยากรธรณีรับมือ 'Climate Change' ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change ) หรือโลกร้อน เห็นได้จัดชัดเจนยิ่งขึ้นในปัจจุบันภัยพิบัติทางธรรมชาติและธรณีพิบัติภัยอันสืบเนื่องมาจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ทวีความรุนแรงและมีความถี่มากขึ้นทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกี่ยวเนื่องกับธรณีวิทยาที่สำคัญ คือ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งอาจทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งมะเลมากขึ้นส่งผลต่อระบบนิเวศน์ชายฝั่งทะเลและการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชายฝั่งการเกิดพายุรุนแรงและสภาพอากาศแปรปรวนบ่อยครั้งขึ้น ทำให้เกิดอุทกภัย น้ำบ่าไหลหลาก ดินถล่ม ดินไหล บ่อยครั้งขึ้น นายอดิศักดิ์ ทองไข่มุกต์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกล่าวว่า กรมทรัพยากรธรณีในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสำรวจ ศึกษา บริหารจัดการธรณีวิทยา และธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมของประเทศ ตลอดจนเสนอแนะมาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาบริหารจัดการด้านธรณีพิบัติภัยของประเทศ จึงได้ดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและธรณีวิทยา เพื่อศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพถูมิอากาศที่อาจจะส่งผลทำให้เกิดธรณีพิบัติภัยและกำหนดแนวทางหรือมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบทางธรณีวิทยาให้แก่ทุกภาคส่วน ซึ่งจะก่อให้เกิดการเตรียมความพร้อมในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้โดยมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยใน 2 แนวหลัก แนวทางแรก คือ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลอย่างเป็นระบบ และแนวทางที่2คือการศึกษาการเปลี่ยนแปลงธรณีสัณฐานชายทะเล ทั้งนี้โดยล่าสุดกรมทรัพยากรธรณี ได้นำสื่อมวลชนกว่า 20 ชีวิต เดินทางไปดูการศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งมาตรวัดระดับน้ำทะเล การศึกษาการทรุดตัวของพื้นดิน การศึกษาคุณสมบัติทางวิศวกรรมของชั้นดิน ร่วมทั้งการศึกษาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลต่อพื้นที่ชายฝั่งทะเล รวมทั้งการศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลอย่างเป็นระบบด้วยการศึกษาอัตราการเคลื่อนตัวของแผ่นดินบริเวณที่ตั้งของมาตรวัดะดับน้ำทะเล ศึกษาการทรุดตัวของพื้นดิน ศึกษาคุณสมบัติทางวิศวกรรมของชั้นดิน และการศึกษาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลต่อพื้นที่ชายฝั่งทะเลและการศึกษาการเปลี่ยนแปลงธรณีสัณฐานชายฝั่งทะเล ประกอบด้วยการศึกษาการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งทะเล การศึกษาธรณีสัณฐานชายฝั่ง การศึกษาธรณีวิทยาพื้นท้องทะเลและสมุทรศาสตร์ การสำรวจโครงสร้างทางวิศวกรรมชายทะเล และการศึกษาวิจัย เพื่อหาแนวทางการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงธรณีสัณฐานชายฝั่งทะเล ในพื้นที่ประปัญหาวิกฤติระดับน้ำทะเลอย่างเป็นระบบที่ชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดเพชรบุรี สำหรับการสำรวจธรณีฟิสิกส์ทางทะเลนั้น กรมทรัพยากรธรณีได้ส่งทีมงานลงไปดำเนินการสำรวจในพื้นที่ มีนักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษพร้อมเครื่องมือเครื่องมือกว่า 10 ล้านบาท เช่น อุปกรณ์สำรวจที่มีระบบบันทึกและประมวลผล(Sediment Echo Sounder: SES) ใช้ร่วมกับการบันทึกภาพพื้นทะเลด้วยโซนาร์ เป็นการสำรวจความลึกน้ำและทำการบันทึกภาพหน้าตัดข้างคลื่นไหวสะเทือนแบบสะท้อนกลับระดับตื้น การวัดความเร็วและทิศทางกระแสน้ำชายฝั่ง โดยใช้เครื่องมือแบบ Acoustic Doppler Current Profile : ADCP การควบคุมเส้นทางเดินเรือสำรวจ โดยใช้เครื่องมือหาพิกัดทางภูมิศาสตร์บนพื้นโลกด้วยระบบดาวเทียม Global Positioning system : GPS และการเก็บตัวอย่างตะกอนพื้นทะเล เพื่อตรวจสอบชนิดและการกระจายตัวของตะกอนบนพื้นทะเล หลังจากได้ข้อมูลทั้งหมดแล้วจะมีการแปรข้อมูลอ่านค่าและทำรายงานเสนอเพื่อให้เป็นหลักฐานทางวิชาการต่อไป นอกจากนี้ กรมทัพยากรธรณียังได้มุ่งเน้นการส่งเสริมความรู้ด้านธรณีวิทยาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัหวัดชายทะเล ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและธรณีวิทยา ให้มีความรู้ความเข้าใจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เพื่อติดตามเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องต่อการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยได้จัดทำโครงการฝึกอบรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัหงวัดชายฝั่งทะเลด้านการอนุรักษ์และป้องกันพื้นที่ชายฝั่งทะเลและกิจกรรมปลูกป่าชายเลนในครั้งนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้คนพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจสภาพแวดล้อม ที่อาศัยอยู่ และพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยได้ดำเนินการไปแล้วในพื้นที่จ.เพชรบุรี และจ.ประจวบคีรีขันธ์ และมีโครงการที่จะดำเนินการให้ครบทุกจังหวัดพื้นที่มีพื้นที่ชายฝั่งทะเล ทั้ง 23 จังหวัดต่อไป จากการเดินทางไปร่วมสื่อมวลชนสัญจรและโครงการฝึกอบรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดชายฝั่งทะเลด้านการอนุรักษ์และป้องกันพื้ที่ชายฝั่งทะเลแล้ว พบว่าความพยามที่จะใช้หลักวิชาการทางวิทยาศาสตร์และฐานข้อมูล หลักฐานทางธรรณีวิทยา การศึกษาสภาภูมิอากาศในอดีต มาอธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผ่านมาและการเปลี่ยนแปลงที่เป็นอยู่ในปัจจุบันรวมถึงการพยากรณ์สภาพภูมิอากาศในอนาคต จะต้องใช้ขอมูลหลักฐานที่เป็นวิทยาศาตร์มาอธิบาย เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องลงทุนลงแรงอย่างมาก ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน การที่กรมทรัพยากรธรณีได้จัดโครงการนี้ขึ้นมาถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องและน่าสนับสนุนเป็นอย่างมาก จาก : แนวหน้า รายงานพิเศษ วันที่ 7 เมษายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#34
|
||||
|
||||
วิกฤติโลกร้อนในจีน ประตูระบายน้ำสำหรับป้องกันน้ำท่วมของเขื่อนสามโตรกที่เมืองอี๋ชาง มณฑลหูเป่ย กำลังปล่อยน้ำปริมาณมหาศาลในวันที่ 20 ก.ค. 2553 หลังจากที่พายุฝนได้กระหน่ำหนักในบริเวณแม่น้ำแยงซีเกียง กระแสน้ำมหาศาลในแม่น้ำแยงซีเกียงนับเป็นบททดสอบใหญ่ของเขื่อนสามโตรกซึ่งเป็นโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ภาพเอเอฟพี) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น หิมะตกหนักที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปลายปีที่แล้ว และส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศ ขณะที่นับวันปรากฏการณ์โลกร้อนก็ยิ่งปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลายมณฑลทางใต้ของประเทศจีนต้องเผชิญกับพายุฝนถล่มอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำในแต่ละพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนก่อให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบหลายปี และเกิดดินโคลนถล่ม ถนนถูกตัดขาด บ้านเรือนพังเสียหาย ประชาชนจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัย จนถึงตอนนี้มีผู้ประสบภัยใน 11 มณฑล (รวมเขตปกครองตนเองและมหานคร) จำนวนกว่า 40 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน หายสาบสูญเฉียด 200 คน บ้านเรือนพังเสียหายกว่า 300,000 หลังคาเรือน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยตรงประมาณ 64,570 ล้านหยวน โดยมีมณฑลฝูเจี้ยน กวางซี หูหนาน เจียงซี กุ้ยโจว ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมและสร้างความเสียหายอย่างมากในครั้งนี้ คือ ประการแรก เพราะ ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้น้อยมาก ปริมาณน้ำฝนในหลายอำเภอทางลุ่มแม่น้ำหมิ่นเจียงในมณฑลฝูเจี้ยนมีปริมาณมากกว่าค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปีถึง 2.2 เท่า ทำสถิติมากสุดในประวัติศาสตร์ ประการที่สอง ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก แม่น้ำสายหลักและสายรองในมณฑลฝูเจี้ยน เจียงซี หูหนาน มีปริมาณน้ำเกินกว่าระดับที่รองรับได้และเกินกว่าสถิติที่บันทึกไว้ ประการที่สาม ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นถือได้ว่าหนักมาก ความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า มีบ้านเรือนพังเสียหายเพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ทางภาคใต้ที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2548 - 2552 ในช่วงเวลาเดียวกัน ประการที่สี่ เพราะเกิดภัยพิบัติเป็นบริเวณกว้างและรุนแรง ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนจำนวนมากอย่างกว้างขวาง ปริมาณน้ำฝนที่มากก่อให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและอ่างเก็บน้ำแตก ทำให้บ้านเรือนประชาชน อาคารบริษัทต่างๆ และถนนหนทางจมอยู่ใต้น้ำ เพื่อบรรเทาภัยพิบัติจากเหตุน้ำท่วมเนื่องจากพายุฝนถล่ม กระทรวงการคลังและกระทรวงกิจการพลเรือนของจีนร่วมกันอนุมัติงบประมาณ 377 ล้านหยวน โดยงบประมาณส่วนใหญ่จะใช้ในการอพยพและฟื้นฟูที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประสบภัยใน มณฑลฝูเจี้ยน เจ้อเจียง เจียงซี และหูหนาน และทั้งสองกระทรวงได้จัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 867 ล้านหยวนให้กับพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้ง 8 มณฑลทางใต้ของจีน และพื้นที่เขตปกครองตนเองที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าว ในขณะเดียวกัน ประชาชนชาวจีนก็ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ เมื่ออุณหภูมิภายในประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคเหนือและภาคตะวันออกที่ขณะนี้หลายๆเมือง อุณหภูมิทะลุผ่าน 35 องศาเซลเซียสไปแล้ว แค่เพียงสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม อุณหภูมิในกรุงปักกิ่งพุ่งสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ทำสถิติใหม่สูงสุดในรอบ 60 ปี ตามสถิติก่อนหน้านี้ อุณหภูมิเดือนกรกฎาคมในกรุงปักกิ่งเคยสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ.2542 วัดได้ 41.9 องศาเซลเซียส ครั้งที่สองในปี พ.ศ.2545 วัดได้ 41.1 องศาเซลเซียส มีผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่า ปีนี้อุณหภูมิอาจพุ่งเกิน 55 องศาเซลเซียสได้ ความร้อนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงพยาบาลต้องรับผู้ที่ป่วยจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นมากกว่าช่วงเวลาปกติถึง 3 เท่า โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนแล้ว 2 รายในกรุงปักกิ่งและเมืองเซินเจิ้น ในแต่ละเมืองต่างก็พยายามหาวิธีการต่างๆที่จะช่วยคลายร้อน ยกตัวอย่างการบริการขนส่งสาธารณะในกรุงปักกิ่ง เพื่อสร้างความสบายให้กับผู้ใช้บริการรถประจำทาง บริษัทรถประจำทางในกรุงปักกิ่งสั่งให้รถประจำทางปรับอากาศเปิดแอร์ไว้ตลอด ส่วนรถที่ไม่มีแอร์ก็ให้รักษาความสะอาดเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ในขณะเดียวกันบริษัทที่ให้บริการรถไฟใต้ดินได้มีนโยบายให้รถไฟทุกขบวนเปิดแอร์ก่อนที่จะเริ่มให้บริการ 20 นาที เพื่อให้ความเย็นในแต่ละตู้คงไว้ตลอด เป็นต้น ส่วนในมณฑลเจ้อเจียง ได้สั่งให้บริษัทต่างๆในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงาน รวมถึงบริษัทผู้ผลิตกระดาษและหลอมเหล็กมากกว่า 1,000 บริษัท ยุติหรือลดการผลิตชั่วคราวเป็นเวลา 15 วัน เพื่อเพิ่มการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ประชาชน กรมอุตุนิยมวิทยาของจีน เผยว่า หลังจากนี้พื้นที่ตอนบนและตอนล่างจะมีสภาพอากาศสลับกัน ทางเหนือจะมีพายุฝน ทำให้อุณหภูมิลดลง ส่วนทางใต้ฝนจะตกน้อยลง แต่อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้พื้นที่อันกว้างใหญ่ของประเทศจีนจะทำให้บริเวณตอนบนและตอนล่าง ของประเทศต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่แทบจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภัยธรรมชาติที่กำลังเผชิญอยู่ไม่ใช่เป็นผลจากการที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น และเราก็คงปฏิเสธไม่ได้อีกว่าสาเหตุที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น มนุษย์เราไม่ได้มีส่วนสร้างให้เกิดสภาวะโลกร้อนเช่นเดียวกัน จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 24 กรกฎาคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#35
|
||||
|
||||
ขั้วโลกจะไร้น้ำแข็ง ภายในเวลาอีกชั่ว 30-40 ปี ที่ี่จะมาถึง ศูนย์อุตุนิยมวิทยาของรัสเซียแจ้งการพยากรณ์อากาศว่า น้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วโลกเหนือ จะพากันละลายกลายเป็นน้ำจนหมด ภายในกลางศตวรรษหน้านี้ นายอเล็กซานเดอร์ โฟรลอฟ เจ้าหน้าที่ของศูนย์ กล่าวโดยอ้างข้อมูลจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพลมฟ้าอากาศว่า "ภายในอีก 30-40 ปีนี้ เขตอาร์คติก รวมทั้งขั้วโลกเหนือในช่วงฤดูร้อนจะไม่มีน้ำแข็งเหลืออยู่เลย นอกจากนั้นปริมาณน้ำแข็งที่ลดลงในปี พ.ศ. 2553 นี้ จะยิ่งสูงเกินกว่าระดับเมื่อ พ.ศ. 2550 อีก" เขาแจ้งว่า "มันมากเกินปริมาณเฉลี่ยมานานแล้ว ปริมาณน้ำแข็งที่เคยเหลืออยู่น้อยที่สุดแต่ก่อนอยู่ที่ 11 ล้านตารางกิโลเมตร แต่ขณะนี้ตามภาพถ่ายดาวเทียม แสดงว่ามันเหลือสัก 10.8 ตารางกิโลเมตร". ขอบคุณข่าวและภาพจาก...http://www.thairath.co.th/content/tech/99523
__________________
Saaychol |
#36
|
||||
|
||||
ความหวังและการต่อสู้ท่ามกลาง “ทะเลกลืนแผ่นดิน” ที่ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน โดย โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน ศูนย์ข่าวอิศรา www.community.isranews.org/ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าปรากฏการณ์เรือนกระจกเป็นเรื่องไกลตัวแล้ว แต่ผลกระทบที่หลายคนคาดไม่ถึงคือโลกร้อนทำให้แผ่นดินทรุด-ชายฝั่งถูกกัดเซาะ จนปัจจุบันพื้นที่สมุทรปราการหายไป 1.1 หมื่นไร่ ภายใน 20 ปีจะหายไป 3.7 หมื่นไร่ และอีก 100 ปีข้างหน้ากรุงเทพฯบางส่วนอาจอยู่ใต้ทะเล โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน สถาบันอิศรา พาไปพบการต่อสู้เมื่อทะเลกำลังกลืนแผ่นดินที่ชุมชนขุนสมุทรจีน บ้านขุนสมุทรจีน ต.นาเกลือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เป็นเพียงชุมชนเล็กๆ แต่ถูกกล่าวขานไปทั่วโลก เพราะคือรูปธรรมชัดเจนถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจนทะเลกลืนแผ่นดินจมหายไปใน อ่าวไทยเกือบ 3 กิโลเมตร โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน สถาบันอิศรา พาไปร่วมสร้างความตระหนักแก่สังคมว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องช่วยกันลดผลกระทบ ในอนาคต ดังเช่นคนที่นี่พยายามต่อสู้อยู่บนความหวังที่จะอยู่รอด @ ปรากฏการณ์ทะเลกลืนแผ่นดิน ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาผลกระทบของแผ่นดินทรุดต่อการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน พบว่ารุนแรงมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ชายฝั่งหายไปทุกปีๆละ 30 เมตร และในอีก 20 ปีข้างหน้าหากเราไม่ช่วยทำอะไรกันเลย ความรุนแรงของการกัดเซาะอาจเพิ่มเป็น 65 เมตร สาเหตุหลักคือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายมากเกินปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เกิดคลื่นลมทะเลซัดรุนแรง รองลงมาคือการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำทำให้ตะกอนลงมาสู่ทะเลลดลง พบว่าแม่น้ำเจ้าพระยามีตะกอนลดลง 75% “น้ำทะเลอาจจะเพิ่มขึ้น 30-60 เซนติเมตร ในอีกร้อยปีข้างหน้าคลื่นลมและการกัดเซาะจะรุนแรงขึ้น ถึงตอนนั้นกรุงเทพฯบางส่วนอาจจมอยู่ใต้ทะเล ซึ่งวันนี้ปรากฏการณ์บางอย่างได้ส่อเค้าชัดเจนว่าที่ดินบางแห่งจมอยู่ใต้ ทะเล และกำลังตามมาอีกหลายแห่ง” และที่บ้านขุนสมุทรจีน พบว่ามีปัญหาการกัดเซาะรุนแรงที่สุดในประเทศไทย!! @ ความทุกข์เมื่อแผ่นดินหายไป ห่างจากกรุงเทพฯ 20 กว่ากิโลเมตร ผ่านแนวคลองคดเคี้ยวสู่ชุมชนที่ยังมีกลิ่นอายชนบท เดือนมกราคมของทุกๆปีชาวบ้านขุนสมุทรจีนจากทั่วทุกสารทิศจะกลับมาเยือนถิ่น ฐานเดิมในเทศกาลสักการะ “ศาลเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชาย” เพื่อรำลึกถึงแผ่นดินที่รากเหง้าบรรพบุรุษย้อนความไปถึงสมัยสำเภาจีนเทียบ ฝั่งมาตั้งรกราก และรำลึกความหลังเมื่อยังมีผืนดินตั้งบ้านเรือนที่นี่ “เมื่อก่อนสุดลูกหูลูกตามีแต่แผ่นดิน กว่าจะถึงชายตลิ่งก็ต้องเข็นเรือไปเป็นกิโลๆทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ออกเรือเดี๋ยวก็ได้แล้ว” นี่คือความทรงจำเมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้วของ ผู้ใหญ่สมร เข่งสมุทรจีน ก่อนที่ทะเลจะค่อยๆกลืนแผ่นดินที่พวกเขาตั้งรกรากมาแต่ปู่ย่าตาทวด “ไปอยู่ชลบุรี 30 กว่าปีแล้ว เพราะที่มันพังลงทะเลไปหมด เลยต้องไปหาทำกินที่อื่น” มนัส ลิ้มประเสริฐ กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดที่ต้องพลัดพรากไปนานเพราะผืนดินตั้งบ้านเรือนหายไปกับ น้ำทะเล ชุมชนที่ตั้งรกรากมาหลายชั่วอายุคนต้องแตกกระสานซ่านเซ็น หลายคนอพยพถิ่นเพราะไม่มีแผ่นดินจะอยู่ กระทั่งศาลเจ้าพ่อยังต้องถอยหนีคลื่น วัดต้องยกพื้นโบสถ์หนีน้ำ “ทำมาหากิน พอจะมีเงินเหลือเก็บสักหน่อยก็ต้องมารื้อบ้านย้ายน้ำ มันก็ไม่มีจะกินกัน” ผู้ใหญ่ สมร ที่ต้องรื้อบ้านหนีน้ำกว่า 3 ครั้งแล้ว เล่าว่าชาวบ้านต้องถอยร่นครั้งแล้วครั้งเล่า หลายคนทนไม่ไหวอพยพจากหมู่บ้านไป จากเกือบ 200 หลังคาเรือนเหลือเพียง 112 หลังในปัจจุบัน @ พิทักษ์รักษาศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธ ปี 2536 อนามัยชุมชนเริ่มพังเพราะน้ำทะเลกัดเซาะ แผ่นดินทรุด จากนั้นชาวบ้านก็ต้องต่อสู้กับคลื่นทะเลอย่างทรหดมาตลอด จนกระทั่งเกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ปี 2541 พายุใต้ฝุ่นรุนแรงพัดบ้านหลายหลังหายไปกับทะเล ผู้คนพากันหนีตายอาศัยโรงเรียนและสถานีอนามัยเป็นที่พัก นั่นคือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้หลายครอบครัวถอดใจอพยพหนีถิ่นฐาน แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่ยังยืดหยัดอยู่ และไม่ทิ้งความหวังว่าสักวันพวกเขาจะได้แผ่นดินคืนมา ควบคู่ไปกับศาลเจ้าที่ชาวไทยเชื้อสายจีนเคารพนับถือ คนที่นี่ยังศรัทธาในพุทธศาสนา จาก สำนักสงฆ์ที่เคยถูกทิ้งร้าง ชาวบ้านบริจาคที่ดินและช่วยกันบูรณะฟื้นฟูจนยกฐานะเป็นวัดประจำชุมชน แต่พิบัติภัยธรรมชาติก็ไม่ได้เลือกที่เกิด พื้นที่วัดมากกว่า 70 ไร่ ถูกคลื่นกัดเซาะเหลือแค่ 5 ไร่ พระอธิการสมนึก ปติปัญโญ เจ้าอาวาสวัดขุนสมุทรจีน เล่าว่า “มีปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ปี 2547 อาตมาต้องยกพื้นหนีน้ำ จะได้เข้ามาสวดมนต์ทำวัดในโบสถ์ได้” จะเป็นเช่นไร หากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพจิตใจหวาดระแวงตลอดเวลาว่าน้ำจะท่วมบ้าน วิถีชีวิตจะถูกกลืนหายไปกับทะเล ท่ามกลางความทุกข์ส่วนตัว แต่ด้วยแรงศรัทธาชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างแนวป้องกันคลื่นถึง 2 ชั้น แนวหินด้านนอก และเขื่อนแนวที่ห่างไปอีก 20 เมตร เพื่อรักษาวัดขุนสมุทราวาส ศูนย์รวมจิตใจชุมชนไว้ไม่ให้จมหายไปกับทะเล ศาสนสถานแห่งนี้จึงยังคงตั้งเด่นเป็นสง่าท่ามกลางพื้นที่โดยรอบที่ถูกน้ำ ทะเลกลืนไปหมดแล้ว โดยมีแนวชายฝั่งที่รุกเข้ามาจนเหลือแค่ 1 กิโลเมตร เป็นความน่าทึ่งจากแรงศรัทธา @ การต่อสู้ท่ามกลางความหวังของคนขุนสมุทรจีน หลายปีที่ผ่านมาบ้านขุนสมุทรถูกนำเสนอผ่านข่าวและมีหน่วยงานต่างๆ เข้าไปดูพื้นที่ครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งชาวบ้านก็ได้แต่หวังว่าจะนำไปสู่การช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม “หน่วยราชการบอกว่าไม่รู้จะช่วยอย่างไร มันใหญ่เกินความสามารถ บางแห่งบอกถ้าช่วยไปแล้วเดี๋ยวที่งอกขึ้นมา ชาวบ้านก็เอาไปอีก ก็ดิ้นรนช่วยกันเอง แล้วเราก็ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมคือรักษาวัดไว้ได้” ผู้ใหญ่สมร เล่าว่าการต่อสู้ของชุมชนดำเนินไปตามมีตามเกิดด้วยน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้าน เป็นหลัก ปราการแนวหินของวัดได้มาจากเงินบริจาคที่ช่วยกันทอดผ้าป่ากฐินของชาวบ้าน ประชาชน พระในจังหวัด เขื่อนสลายกำลังคลื่นมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยมาช่วย พลังที่สามารถรักษาวัดไว้ ได้สานศรัทธาของชาวบ้านว่าจะสามารถต่อสู้รักษาผืนดินถิ่นเกิดเอาไว้ได้ ด้วยความหวังว่าแนวป้องกันที่พวกเขาร่วมกันสร้างขึ้น นอกจากป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จะสามารถเป็นแนวดักดินให้สะสมอยู่จนเกิดแผ่นดินใหม่ที่อาจได้มาทดแทนแผ่นดิน ที่หายไปกลับมาสู่ชุมชนในอนาคต เพราะในวันนี้ พวกเขาได้เห็นภาพที่น่ายินดีว่าแผ่นดินที่ได้จากการดักตะกอนเรี่มมีความหนา แน่นและแข็งแรงสามารถลงไปช่วยกันปลูกต้นโกงกางจนเกิดเป็นพื้นที่ป่าชายเลน ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เริ่มกลับคืนมาภายใต้พื้นที่สงบสุขรอบเขตวัด ปัจจุบัน ทุนจากการสร้างแนวเขื่อนป้องกันคลื่นทะเล ยังคงมาจากการรวบรวมของชาวบ้าน ผลที่ได้รับจึงเกิดอยู่รอบตัววัดเท่านั้น ทุกครั้งที่คลื่นซัดพวกเขาจึงยังอยู่อย่างไม่เป็นสุขเพราะไม่รู้ว่าเมื่อไร น้ำทะเลจะกลืนแผ่นดินอีก ภัยธรรมชาติครั้งนี้ใหญ่หลวงเกินกว่าเพียงกำลังชาวขุนสมุทรจีน ทำอย่างไรให้เสียงเรียกร้องของพวกเขาไม่หายไปพร้อมกลับเกลียวคลื่นเชี่ยว ทุกคนที่ล้วนสร้างผลกระทบจากภาวะโลกร้อน จะมีส่วนลดทุกข์สร้างสุขและเผื่อแผ่ถึงกันได้อย่างไร และได้ทำเพียงพอแล้วหรือ เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวและขยายออกไปเพื่อทุกคนบนโลกใบเดียวกัน สิ่งที่ชุมชนขุนสมุทรจีนทำได้ พวกเขาก็ทำแล้ว บนพื้นฐานความศรัทธา-ความหวังที่จะอยู่รอด และพบความสุข . ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก....http://www.matichon.co.th/news_detai...rpid=&catid=04
__________________
Saaychol แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 26-08-2010 เมื่อ 09:48 |
#37
|
||||
|
||||
นักวิทย์ชี้น้ำแข็งขั้วโลกละลายช้ากว่าที่คาด กระแสความตื่นตัวเรื่องโลกร้อนที่กระจายอยู่ทั่วทุกสังคมโลก ทำให้เกิดวิตกกังวลถึงการละลายตัวของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ที่จะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นจนท่วมท้นล้นฝั่ง ทำให้เกาะบางแห่งเช่น มัลดีฟส์ถึงกับจมอยู่ใต้น้ำภายในครึ่งศตวรรษ แม้กระทั่งแผ่นดินทางตอนใต้ของไทยจนถึงกรุงเทพฯ จะหายไปใต้น้ำทะเล เป็นต้น เมื่อ 2 ปีก่อนนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าน้ำแข็งขั้วโลกเหนือบริเวณเกาะกรีนแลนด์จะละลายกลายเป็นน้ำประมาณ 2.3 แสนตันต่อปี ขณะที่น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกใต้ฝั่งตะวันตกละลายกลายเป็นน้ำปีละ 1.32 แสนตันต่อปี ด้วยอัตราการละลายของน้ำแข็งทั้งสองขั้วโลกจะทำให้น้ำทะเลทั่วโลกมีระดับสูงขึ้นประมาณ 3 มิลลิเมตรต่อปี สูงกว่าสถิติในช่วงต้นของยุคทศวรรษ 2503 ถึงเกือบ 2 เท่า อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลดังกล่าวอาจจะเกิดจากคาดการณ์ถึงเหตุรุนแรงเกินกว่าความเป็นจริง เพราะผลการศึกษาฉบับล่าสุดของทีมนักวิทยาศาสตร์สหรัฐและเนเธอร์แลนด์ที่ได้รับการยอมรับจนสามารถตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์เนเจอร์ จีโอไซแอนซ์ ระบุว่าอัตราการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกที่แท้จริงนั้นน้อยกว่าที่คาดไว้ถึงครึ่งหนึ่ง เหตุเกิดเพราะการคำนวณของนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้นำปัจจัยปรากฏการณ์ "การปรับตัวของก้อนน้ำแข็ง" เข้ามาคำนวณในสมการ ทีมนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองประเทศได้นำปรากฏการณ์การปรับตัวของก้อนน้ำแข็งมาประกอบการคำนวณ ผลที่ได้มาคือการละลายของก้อนน้ำแข็งขั้วโลกเหนืออยู่ที่ 1.04 แสนตันต่อปี (ผิดพลาดไม่เกิน 23,000 ตันต่อปี) ขณะที่น้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายออกมาในระดับ 64,000 ตัน (บวกลบไม่เกิน 32,000 ตันต่อปี) ปรากฏการณ์การปรับตัวของก้อนน้ำแข็งเปรียบได้กับการดีดตัวกลับของที่นอน เพื่อรองรับน้ำหนักผู้นอน ซึ่งก้อนน้ำแข็งก็เปรียบเสมือนที่นอนที่ถูกกดทับมานานหลายล้านปี จนเมื่อผู้นอนลุกขึ้นจากเตียงน้ำหนักที่หายไปจึงทำให้สปริงในที่นอน ซึ่งในที่นี้คือส่วนของก้อนน้ำแข็งตอนกลางที่ยังจมอยู่ใต้น้ำดีดตัวกลับขึ้นมาทำให้ที่นอนราบเรียบเช่นเดิมเหมือนกับที่เคยเป็นเมื่อหลายล้านปีก่อน ด้วยปรากฏการณ์นี้เองทำให้การละลายของน้ำแข็งน้อยลงตามไปด้วย นายเบิร์ท เวอร์เมียร์เสน นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเดลฟท์ เทคนิคัล แห่งเนเธอร์แลนด์ ที่ร่วมทำงานกับนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการจรวดขับดันของนาซา และสถาบันวิจัยอวกาศแห่งเนเธอร์แลนด์ ศึกษาปรากฏการณ์การปรับตัวของก้อนน้ำแข็งยืนยันว่าอัตราการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือและใต้ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ถึงครึ่งหนึ่ง และหากตัวเลขอัตราการสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลในปัจจุบันนั้นถูกต้องแม่นยำ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ก็คำนวณแล้วว่าปริมาณน้ำในน้ำแข็งขั้วโลกคิดเป็นเพียง 30% ของปริมาณน้ำในโลกไม่ใช่ครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำในโลกดังที่มีการคำนวณใว้ก่อนหน้านี้ จาก ............ คม ชัด ลึก วันที่ 11 กันยายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#38
|
||||
|
||||
รู้จริงกับภาวะโลกร้อน
นักวิทยาศาสตร์มีความเห็นเชิงลึกอย่างไรในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดย คลอเดีย คอร์นวอลล์ โลกของเราร้อนขึ้นจริงหรือ มนุษย์เป็นต้นเหตุใช่ไหม คำถามจากนักวิชาการซึ่งซุ่มเงียบนี้แพร่ออกไปสู่หนังสือพิมพ์ รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือ และบล็อกต่างๆจนเป็นประเด็นร้อน แต่หากพิจารณาให้รอบคอบ จริงๆแล้ว นักวิทยาศาสตร์มีความเห็นว่าอย่างไร รีดเดอร์ส ไดเจสท์จึงตัดสินใจหาคำตอบ หลายรายงานสรุปว่าร้อนขึ้นจริง ตั้งแต่ปี 2393 เป็นต้นมา เกิดปีที่ร้อนที่สุด 11 ครั้งในช่วงปี 2538 ถึง 2549 เมื่อปีก่อน คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ของสหประชาชาติ ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2550 ร่วมกับอัล กอร์ รายงานว่า โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าเมื่อปี 2393 ประมาณ 0.75 องศา แม้ตัวเลขจะดูไม่มาก แต่การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยเพียงเล็กน้อยสามารถทำให้สภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างใหญ่หลวง โลกในช่วงยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายมีอากาศเย็นกว่าปัจจุบันประมาณห้าองศาเท่านั้น เนื่องจากอากาศอบอุ่นขึ้น สัตว์และพืชจึงขยายเขตการกระจายพันธุ์ไปสู่ขั้วโลกเพื่อค้นหาถิ่นอาศัยที่เย็นกว่า ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 นักวิจัยชาวอังกฤษพบปลาเขตร้อนที่ไม่เคยพบมาก่อนในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เมื่อปี 2544 ชาวประมงจับปลาสากได้ในบริเวณนอกชายฝั่งคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งอยู่ไกลกว่าเขตการกระจายพันธุ์ปกติของปลาชนิดนี้มาก ในปี 2548 องค์การศึกษาธารน้ำแข็งโลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่ซูริกในสวิตเซอร์แลนด์แถลงว่า ธารน้ำแข็งในยุโรปลดปริมาตรลงครึ่งหนึ่งจากที่เคยมีเมื่อปี 2393 เดือนมีนาคม 2550 นักวิจัยชาวรัสเซียรายงานการพบชั้นดินเยือกแข็งที่ไม่คงตัวในแถบไบคาล มองโกเลีย และจีน ในเดือนตุลาคม 2550 นักวิจัยชาวอังกฤษแสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิที่อบอุ่นขึ้นเป็นสาเหตุให้โลกมีความชื้นเพิ่มขึ้นร้อยละ2.2 ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โลกเคยร้อนเท่านี้ไหม เคย แถมยังร้อนกว่านี้ด้วย เมื่อ 450,000 ถึง 800,000 ปีก่อน กรีนแลนด์เคยเป็นผืนป่า ดังนั้น อุณหภูมิต้องอบอุ่นกว่าปัจจุบันพอสมควร และยังมีช่วงเวลาอื่นๆอีกด้วย ทำไมต้องกังวลด้วย ที่น่าเป็นห่วงก็ตรงความเร็วที่อุณหภูมิเกิดการเปลี่ยนแปลง ในอดีต อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ในศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2519 อุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าช่วงศตวรรษใดๆในรอบ 1,000 ปีที่ผ่านมา สำหรับประเทศทางตอนเหนือของโลก เช่น แคนาดา หรือรัสเซีย อากาศที่อบอุ่นขึ้นอาจช่วยเพิ่มพืชผลทางการเกษตรมากขึ้นและประโยชน์อื่นๆ อะไรทำให้โลกร้อนขึ้น ไอพีซีซีสรุปว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ซึ่งเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกและปรากฏการณ์เรือนกระจก กว่า 25 สมาคมวิทยาศาสตร์และสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของกลุ่มประเทศจี 8 รับรองผลสรุปนี้ แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนยังไม่เห็นพ้องโดยแย้งว่าผลกระทบจากมนุษย์มีน้อยมาก ปรากฏการณ์เรือนกระจกคืออะไร ศาสตราจารย์โรเบิร์ต ชาร์ลสันแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันอธิบายว่า ปรากฏการณ์นี้ "มีอยู่ในตำราวิทยาศาสตร์มากว่าร้อยปีแล้วและได้รับการทดสอบอย่างถี่ถ้วน" ก๊าซจำพวกหนึ่งจะทำให้ชั้นบรรยากาศกักพลังงานความร้อนให้อยู่บนผิวโลก หากปราศจากปรากฏการณ์เรือนกระจก อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะอยู่ที่ -18 องศาเซลเซียส แทนที่จะเป็น 14.6 องศาซึ่งกำลังสบาย ก๊าซเรือนกระจกคืออะไร ก๊าซเรือนกระจกหลัก ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (ซีเอฟซี) และไอน้ำ ซึ่งมีอยู่ในธรรมชาติ ยกเว้นซีเอฟซีซึ่งเป็นสารทางการค้า การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เผาป่า และเผาไร่จะเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ เช่นเดียวกับบ่อขยะ โรงกลั่นน้ำมันและเหมืองถ่านหิน การกระทำของเรายังส่งผลกระทบต่อไอน้ำทางอ้อม เมื่อโลกร้อนขึ้น น้ำจะระเหยเป็นไอน้ำมากขึ้น ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นแค่ไหน "ตั้งแต่เริ่มยุคอุตสาหกรรม คาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 35" กาวิน ชมิดท์ นักอุตุนิยมวิทยาแห่งสถาบันวิจัยอวกาศก็อดดาร์ดของนาซา กล่าว "มีเทนเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า ไนตรัสออกไซด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 17" นักวิทยาศาสตร์เป็นห่วงเรื่องคาร์บอนไดออกไซด์เพราะเป็นก๊าซที่มีมากที่สุดซึ่งมีผลกระทบกับเราโดยตรง ขณะเราควบคุมการปล่อยสารซีเอฟซีและมีเทนได้แล้ว แต่ยังควบคุมก๊าซนี้ไม่ได้ คาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศยังคงสูงขึ้นประมาณร้อยละ 0.4 ต่อปีจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 85 ของพลังงานที่เราต้องการ คาร์บอนไดออกไซด์จะกระจายหายไปเองไหม "ก๊าซนี้ไม่หายไปเอง แต่จะอยู่ได้หลายร้อยปี" ชมิดท์แห่งนาซากล่าว แต่ละปีทั่วโลกปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 23.5 กิกาตัน (หนึ่งกิกาตันเท่ากับหนึ่งล้านล้านกิโลกรัม) โชคดีที่ปริมาณดังกล่าวจะยังคงอยู่ในบรรยากาศเพียงครึ่งเดียว ส่วนที่เหลือธรรมชาติจะดูดซับไป แหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ใหญ่ที่สุดคือมหาสมุทร ซึ่งจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราปล่อยออกมามากกว่าหนึ่งในสี่ทุกปี ขณะนี้ มหาสมุทรดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 50 เท่าของที่มีอยู่ในบรรยากาศและสิบเท่าของที่มีในสิ่งมีชีวิตบนบก แต่ยังไม่ชัดเจนว่ามหาสมุทรจะเก็บกักอย่างปลอดภัยได้มากกว่านี้เท่าไร เคน คาลไดรา นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศประจำสถาบันคาร์เนกีแห่งวอชิงตันในรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า คาร์บอนไดออกไซด์ในมหาสมุทรจะกลายเป็น กรดคาร์บอนิกซึ่งกัดกร่อนโครงร่างที่เป็นแคลเซียมคาร์บอเนตของสัตว์ทะเล ป่าและพืชพรรณดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกือบหนึ่งในสี่ เมื่อพืชสังเคราะห์แสงก็จะสลายคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นออกซิเจนที่พืชคายออกมาและคาร์บอนที่พืชนำไปสร้างเซลล์ ศาสตราจารย์เดวิด เอลสเวิร์ตแห่งมหาวิทยาลัยเวสต์เทิร์นซิดนีย์ ออสเตรเลีย กำลังศึกษาว่าต้นไม้และพืชจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นโดยการปลูกต้นยูคาลิปตัสในห้องที่เพิ่มระดับคาร์บอนไดออกไซด์ให้สูงขึ้น
__________________
Saaychol แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 17-11-2010 เมื่อ 21:54 |
#39
|
||||
|
||||
นอกจากก๊าซเรือนกระจก มีปัจจัยอื่นอีกไหมที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ
การเปลี่ยนแปลงวงโคจรของโลกและการเปลี่ยนแปลงการเอียงของแกนหมุนของโลกซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นแบบแผนเปลี่ยนแปลงการรับแสงอาทิตย์ของบริเวณต่างๆบนโลก และอาจเป็นสาเหตุว่าทำไมยุคน้ำแข็งจึงเกิดเป็นช่วงๆ ดวงอาทิตย์ส่งพลังงานที่มีความผันแปรเล็กน้อยด้วย เมื่อความเข้มของดวงอาทิตย์สูง จุดดับบนดวงอาทิตย์จะเพิ่มจำนวนขึ้นและดวงอาทิตย์สว่างขึ้น แต่นักวิจัยแห่งสถาบันแมกซ์พลังก์เพื่อการวิจัยระบบสุริยจักรวาลกล่าวว่าความผันแปรในความเข้มของดวงอาทิตย์ไม่ได้ทำให้อุณหภูมิช่วงที่ผ่านมานี้สูงขึ้น ในปี 2547 พวกเขาสังเกตพบว่าขณะอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ดวงอาทิตย์ไม่ได้สว่างมากไปกว่าเดิมเลย อนุภาคขนาดเล็กที่ภูเขาไฟปล่อยออกมาและมลพิษจากอุตสาหกรรมสามารถสะท้อน พลังงานบางส่วนจากดวงอาทิตย์กลับออกไปสู่อวกาศทำให้อากาศเย็นลง ในปี 2534 ภูเขาไฟพินาทูโบในฟิลิปปินส์พ่นเถ้าออกมาสู่ชั้นบรรยากาศมากจนอุณหภูมิลดลงครึ่งองศาเซลเซียสเป็นเวลาสองปี ไอน้ำและเมฆมีบทบาทเช่นกัน แต่ยากจะคาดการณ์ผลกระทบได้ น้ำที่ระเหยจากมหาสมุทรที่อบอุ่นจะเกิดเป็นเมฆที่ทั้งสามารถเก็บกักความร้อนและสะท้อนความร้อนออกไปในอวกาศ "เมฆชั้นต่ำมีแนวโน้มจะทำให้โลกเย็นลง" ศาสตราจารย์ชาร์ลสันกล่าว เมฆชั้นสูงจะทำให้โลกร้อนขึ้น วงจรย้อนกลับส่งผลถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและยากจะคำนวณ เช่น เมื่อโลกร้อนขึ้น ธารน้ำแข็งและน้ำแข็งในทะเลละลาย พื้นผิวโลกก็จะสะท้อนแสงออกไปอวกาศน้อยลง โลกจะร้อนขึ้น น้ำแข็งก็ละลายมากขึ้น โลกจึงยิ่งร้อนขึ้นไปอีก เป็นต้น อะไรทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวการให้โลกร้อนขึ้น นักวิจัยหลายคนสรุปว่า ลำพังธรรมชาติไม่เป็นสาเหตุให้อุณหภูมิสูงขึ้นตลอด 30 หรือ 40 ปีที่ผ่านมา บรูซ เบาเออร์ซึ่งศึกษาระบบภูมิอากาศโบราณที่ศูนย์ข้อมูลโบราณอุตุนิยมวิทยาโลกในโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด กล่าวว่า "หากจะหาสาเหตุ วิธีเดียวที่คุณจะคำนวณสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้คือต้องรวมผลกระทบจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์สร้างขึ้นเข้าไปด้วย" ทฤษฎีก๊าซเก็บกักความร้อนระบุว่าหากปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากขึ้น อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศระดับต่ำและที่ผิวโลกจะเพิ่มขึ้น โทมัส คาร์ล ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ สำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ กล่าวว่า "หลักฐานยังชี้ให้เห็นผลกระทบของมนุษย์ที่มีต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น" ริชาร์ด ลินด์เซน ศาสตราจารย์ด้านอุตุนิยมวิทยาแห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ กล่าวว่า "ผลกระทบ (จากการสร้างก๊าซเรือนกระจก) นั้นมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงตามปกติของสภาพอากาศ" ลินด์เซนเชื่อว่าการที่อุณหภมิสูงขึ้นตลอดช่วง 100 ปีที่ผ่านมาเกิดจาก "ความผันแปรตามธรรมชาติ" เราสามารถคาดการณ์ได้ไหม "ตอนนี้ไม่ได้" เขายืนยัน แล้วในอนาคตเราจะคาดการณ์ได้ไหม "ยังไม่มีหลักฐานมากนัก" สเตฟาน ราห์มสตอฟ ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ของมหาสมุทรที่สถาบันพอตสดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบของสภาพอากาศในเยอรมนีไม่เห็นด้วย ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ เดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว ราห์มสตอฟชี้ให้เห็นว่า การคาดการณ์อุณหภูมิของไอพีซีซีสอดคล้องกับข้อมูลปัจจุบัน ในปี 2533 ไอพีซีซีคาดการณ์ว่า เมื่อถึงปี 2549 อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นระหว่าง 0.15 ถึง 0.37 องศา ขณะอุณหภูมิที่เพิ่มจริงก็อยู่ในช่วงดังกล่าวคือ 0.33 องศา นักวิทยาศาสตร์มั่นใจในข้อสรุปของตนแค่ไหน เมื่อถามว่ามนุษย์ทำให้โลกร้อนขึ้นใช่ไหม คาร์ล วุนช์ ศาสตราจารย์ด้านสมุทรศาสตร์กายภาพ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ กล่าวว่า "จากที่ผมเห็นน่าจะใช่ แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีส่วนน้อยที่เกิดจากธรรมชาติ" หมายความว่าเราควรรอดูอย่างนั้นหรือ วุนช์ตอบว่าไม่เลย เขาเปรียบให้เห็นว่าเราซื้อประกันอัคคีภัยไม่ใช่เพราะเชื่อว่าบ้านจะไฟไหม้ แต่เพราะเป็นความเสี่ยงที่เราเลี่ยงได้ ในปี 2549 อดีตหัวหน้าเศรษฐกรของธนาคารโลก นิโคลาส สเทิร์น เขียนรายงานหนา 700 หน้าเสนอรัฐบาลอังกฤษ สรุปว่ายิ่งลงมือเร็วเท่าไรงานก็ยิ่งง่ายเท่านั้น ในอนาคตอุณหภูมิจะสูงแค่ไหน ตามความเห็นของไอพีซีซี เมื่อถึงปี 2643 อุณหภูมิเฉลี่ยอาจสูงขึ้นถึง 5.8 องศาเซลเซียส แต่รายงานของไอพีซีซียังเสนอว่า เราสามารถรักษาระดับอุณหภูมิที่สูงกว่าก่อนยุคอุตสาหกรรมสององศาซึ่งพอยอมรับได้ หากทุกปีเราลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงเกินกว่าร้อยละหนึ่งเพียงเล็กน้อยของระดับปัจจุบัน เมื่อถึงปี 2593 เราจะลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาลงได้ครึ่งหนึ่ง เราจะลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร การใช้พลังงานทางเลือกและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นแบบอย่างที่ดีจากการออกกฎหมายและให้แรงจูงใจทางการเงิน รัฐนี้คงระดับการใช้ไฟฟ้าต่อหัวได้เท่ากับเมื่อปี 2513 ขณะรัฐอื่นๆมีอัตราการใช้ต่อหัวสูงเกือบสองเท่า ปัจจุบัน การบุกรุกแผ้วถางป่าในเขตร้อนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกราวร้อยละ 20 จากที่เราปล่อยออกมา ปีเตอร์ ฟรัมฮอฟฟ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์และนโยบายของสหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้ห่วงใยโลก กล่าวว่า "เราจะลดภาวะโลกร้อนไม่ได้หากไม่ลดการทำลายป่าด้วย" การอนุรักษ์ป่าเขตร้อนยังมีประโยชน์เป็นสองเท่าเพราะป่าดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มเมฆที่ช่วยให้ร่มเงา นักวิทยาศาสตร์อยากจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากบรรยากาศเพื่อลดปริมาณคาร์บอน โอมาร์ ยากี ศาสตราจารย์ ด้านเคมีคิดค้นฟองน้ำคริสตัลที่มีรูขนาดนาโนและสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกือบสองเท่าของน้ำหนัก ถังที่บรรจุคริสตัลนี้สามารถเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าถังขนาดเท่ากันที่ไม่มีคริสตัลถึงเก้าเท่า ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งใช้ปล่องควันดักมลพิษ ยากีหวังว่าภาคอุตสาหกรรมจะนำฟองน้ำของเขาใช้ไปดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ยังดูดซับก๊าซนี้จากอากาศได้ด้วย "วัสดุที่เราทำขึ้นมีความเฉพาะเจาะจงต่อคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งสามารถดูดซับก๊าซจากบรรยากาศได้" การค้นพบนี้ได้รับการตีพิมพ์อย่างกว้างขวาง ล่าสุด ในวารสารวิทยาศาสตร์ เดือนเมษายน 2550 แม้บริษัทน้ำมันจะถูกกล่าวหาอยู่บ่อยๆว่าเป็นตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน บางบริษัทก็กำลังหาทางแก้ไข เมื่อปี 2548 บริษัทน้ำมันบีพีของอังกฤษร่วมกับโซนาทราชของแอลจีเรียและสแทตออยล์ของนอร์เวย์เริ่มฝังคาร์บอนไดออกไซด์ที่แหล่งน้ำมันอินซาลาห์ในแอลจีเรียแทนที่จะปล่อยออกสู่บรรยากาศ ในก๊าซธรรมชาติที่ขุดเจาะที่นั่นมีคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ด้วย ตามที่โรเบิร์ต ไวน์ โฆษกของบีพี กล่าว คาร์บอนไดออกไซด์ 17 ตันจะถูกฝังลึกลงไปใต้ดิน 1,800 เมตร เทียบได้กับการเลิกใช้รถยนต์ 250,000 คัน "หากคุณเชื่อว่าปัญหาหนึ่งต้องการการแก้ไข คุณจะต้องแสดงให้เห็น" ไวน์กล่าว วิทยาศาสตร์ของสภาพอากาศเป็น "วิทยาศาสตร์ซับซ้อนที่สุดแขนงหนึ่ง" วุนช์กล่าว แม้เราจะไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีก 100 ปีข้างหน้า แต่ "มีความเสี่ยงที่จะเป็นไปได้ ผมคิดว่าการไม่ทำอะไรเลยนั้นช่างไร้สติสิ้นดี" ขอขอบคุณข้อมูลจาก .....http://www.readersdigestthailand.co.th
__________________
Saaychol แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 17-11-2010 เมื่อ 21:55 |
#40
|
||||
|
||||
ถาม-ตอบ 'ความจริง' 'เรื่องโลกร้อน' 'ความลวง 'ก็ระอุ ?? “ความจริงเรื่องโลกร้อน : รอยเท้า ถุงผ้า และการเปลี่ยนแปลง” ...นี่คือชื่องาน มหกรรมประชาชนเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม 2553 ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 30 พ.ย.นี้ ณ สวนสันติชัยปราการ ช่วงเวลา 09.00-20.00 น. โดยคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม ซึ่งพิจารณาลึกๆจากชื่องาน...ก็น่าสนใจ กระแส “ลดโลกร้อน” มี “ความจริง” บางอย่างที่น่ารู้ และคำว่า “โลกเย็นที่เป็นธรรม” ก็เป็นอีกคำที่น่าสนใจ ทั้งนี้ ก่อนจะถึงวันจัดงานมหกรรมนี้ หากจะว่ากันก่อนถึงเรื่อง “โลกร้อน” จากข้อมูลในเว็บไซต์ www.ThaiClimateJustice. org โดยคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม ก็มีประเด็นน่าพิจารณา ซึ่งโดยสังเขปก็เช่น... คำถาม... โลกร้อนคืออะไร? ทำไมถึงต้องสนใจด้วย? คำตอบ... โลกร้อนคือการที่อุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น เกิดจากการที่มนุษย์ได้ขุดพลังงานฟอสซิลจากใต้ดินมาใช้อย่างมหาศาล เกิดการปลดปล่อยก๊าซบางชนิดสู่ชั้นบรรยากาศ และไปปิดกั้นไม่ให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกสะท้อนออกไป ทำให้โลกเกิดสภาพเหมือนเรือนกระจก และนำสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก คำถาม... ใครเป็นต้นเหตุทำให้โลกร้อน? คำตอบ... เมื่อประเทศพัฒนาแล้วเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างขนานใหญ่ ทำให้เกิดการผลาญทรัพยากรธรรมชาติและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศและสะสมมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศกำลังพัฒนาเดินตามรอยประเทศพัฒนาแล้ว การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากประเทศเหล่านี้ก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว จนปรากฏว่า ปัจจุบันบางประเทศปล่อยก๊าซมากกว่าประเทศอุตสาหกรรมเสียอีก, คำถาม... พูดให้ชัดกว่านี้ได้ไหมว่ากิจกรรมส่วนไหนของมนุษย์ที่เป็นปัญหามากที่สุด? คำตอบ... การใช้พลังงานของมนุษย์เป็นต้นเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะพลังงานส่วนใหญ่เป็นพลังงานสกปรกที่มาจากซากฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน เป็นต้น คำถาม... ภาคเกษตรเองก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่หรือ? คำตอบ... การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีอยู่ในทุกภาคส่วน แต่เราจำเป็นจะต้องแยกให้ชัดเจนระหว่างการปล่อยก๊าซเพื่อความอยู่รอดกับการปล่อยก๊าซแบบฟุ่มเฟือย การปล่อยก๊าซในภาคเกษตรจำนวนมากเป็นไปเพื่อการผลิตอาหาร จึงเป็นความจำเป็น คำถาม... โลกร้อนมีผลกระทบต่อคนอย่างไรบ้าง? คำตอบ... ผลกระทบของโลกร้อนมีหลายอย่าง แต่ที่สำคัญคือสุขภาพและอาหารจะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพก็จะทำให้โรคระบาดในเขตร้อนเกิดมากขึ้น เช่น ไข้มาลาเรีย เพราะอากาศร้อนขึ้น เชื้อโรคอยู่ได้นานขึ้น บนภูเขาหลายพื้นที่เคยเย็น เดี๋ยวนี้ร้อนขึ้น ก็พบว่ามียุงมากขึ้น เป็นต้น ส่วนอาหารก็จะได้รับผลกระทบจากสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป บางปีฝนตกหนักน้ำท่วม บางปีฝนแล้ง อากาศร้อนเกินไปก็มีผลต่อพืช ทำให้การผลิตอาหารทำได้ลำบากขึ้น, คำถาม... ใครจะได้รับผลกระทบมากที่สุด? คำตอบ... เป็นเรื่องจริงที่น่าเศร้าที่ว่าประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว และ คนจนไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนๆ ก็มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากกว่าคนรวย เพราะขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว คนรวยมีเครื่องไม้เครื่องมือ มีเงิน ทรัพยากรต่างๆสำหรับการปรับตัวหรือเตรียมการรับผลกระทบ แต่ประเทศกำลังพัฒนา ประเทศยากจน คนจน จะมีน้อยกว่ามาก แล้วก็ต่อเนื่องถึงคำถาม... โลกร้อนไปเกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นธรรมตรงไหน? คำตอบ... ... แรกสุดเลยต้องนึกก่อนว่าปัญหาโลกร้อนมีต้นเหตุมาจากประเทศพัฒนาแล้ว มากกว่าประเทศกำลังพัฒนา มาจากคนรวยมากกว่าคนจน แต่พอเกิดผลกระทบ คนจนกลับได้รับผลกระทบมากกว่า ...สอง...เวลาแก้ปัญหาคนที่มีอำนาจในการออกมาตรการหรือนโยบายมักจะไม่ดูว่า สังคมมีปัญหาอะไรอื่นๆอยู่ก่อนหน้านั้น มุ่งแต่จะแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเดียว ซึ่ง วิธีแก้ปัญหาโลกร้อนหลายอย่างอาจช่วยให้โลกเย็นลงได้บ้าง แต่จะทำให้สังคมร้อนระอุขึ้นแทนมากกว่า เช่น การที่ชุมชนในเขตป่ามีปัญหากับหน่วยงานของรัฐเรื่องสิทธิที่ดิน เพราะชุมชนอยู่อาศัยในป่ามานานก่อนประกาศเป็นเขตอุทยาน แต่ราชการก็ยึดถือว่าเป็นพื้นที่ป่า เป็นของรัฐแล้ว ถ้าคิดจะแก้โลกร้อนอย่างเดียว รัฐบาลอาจนึกถึงแต่การไล่ชาวบ้านออก เอาพื้นที่มาปลูกป่า ปัญหาสังคมและความขัดแย้งจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ถ้าจะทำให้โลกเย็นก็ต้องแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมไปพร้อมๆกัน เหล่านี้เป็นบางส่วนจากข้อมูลถาม-ตอบเรื่องโลกเย็น-ร้อนที่น่าคิด ขณะที่สิ่งที่จะมีการเปิดออกมาในงานมหกรรมประชาชนเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม 2553 “ความจริงเรื่องโลกร้อน : รอยเท้า ถุงผ้า และการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ www.ThaiClimateJustice.org และ info@thaiclimatejustice. org คงจะมีประเด็นร้อนเกี่ยวกับกระแสโลกร้อน-รณรงค์ลดโลกร้อนอีกไม่น้อย เพราะไม่เพียงเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมเสนอไอเดียเพื่อร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง... แต่ยังมีการระบุว่างานนี้เหมาะกับผู้ที่อยาก “ตาสว่าง” และ “รับรู้ความจริงในความลวงเรื่องโลกร้อน???”. จาก .............. เดลินิวส์ คอลัมน์สก๊ปหน้า 1 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
เรียบเรียงคำตอบ | |
|
|