#51
|
||||
|
||||
โลกพ่นคาร์บอนเพิ่ม-ตัวเร่งโลกร้อน 'โลกร้อน' ถือเป็นปัญหา 'โลกแตก' เพราะนอกจากจะทำให้โลกแตกได้จริงๆแล้ว ยังเป็นสิ่งที่นักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกอกจะแตกกับภาระหนักหน่วงในการผลักดันให้รัฐบาลทั่วโลกให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นก๊าซเรือนกระจกตัวการหลักที่ทำให้โลกร้อน เมื่อปีก่อนโลกของเราปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศถึง 30,600 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ถึง 1,600 ล้านตัน ซึ่งด้วยปริมาณเท่านี้สามารถทำให้อุณหภูมิพุ่งขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส ขณะที่องค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือ ไออีเอ เตือนว่า โลกจะเลี่ยงพ้นผลกระทบเลวร้ายจากภาวะโลกร้อนได้ ถ้าปล่อยก๊าซไม่เกิน 32,000 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2563 ฟาตีห์ บิโรล หัวหน้าคณะเศรษฐศาสตร์ไออีเอ กล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายเวลานี้คือการรักษาอุณหภูมิไว้ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศา แม้จะมีคนมองโลกในแง่ดีว่าภาวะถดถอยทางการเงินอาจจะช่วยชะลอการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ ด้าน ศ.ลอร์ด สเติร์น จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ลอนดอน กล่าวว่า ถ้าเราทำได้ ยังมีโอกาสร้อยละ 50 ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส ภายในปี 2643 แต่หากอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนสูงถึง 200,000 ล้านตัน ก้อนน้ำแข็งทั่วโลกจะละลายหมดไป 2 ใน 3 ในปี 2763 และจะไม่มีวันหวนกลับมาเป็นน้ำแข็งได้อีก จาก .................. ข่าวสด วันที่ 3 มิถุนายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#52
|
||||
|
||||
โลกร้อนขึ้น พืช-สัตว์เล็กลง ......................... โดย อุไรวรรณ นอร์มา นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่า ธารน้ำแข็งหลอมละลาย ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เวลาการอพยพของนก หรือการผลิบานของดอกไม้เคลื่อนเปลี่ยน ล้วนเป็นผลที่ตามมาจากภาวะโลกร้อน ล่าสุด มีผลกระทบที่เพิ่มเข้ามาอีกอย่าง จากผลวิจัยชิ้นใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร "เนเจอร์ ไคเมต เชนจ์" ที่พบว่า มีสัตว์และพืช 38 ชนิดด้วยกันจาก 85 ชนิด ที่มีขนาดเล็กลงในรอบหลายสิบปีมานี้ อาทิ ฝ้าย ข้าวโพด สตรอเบอร์รี่ หอยเชลล์ กุ้ง ปลาคาร์พ ปลาแซลมอนแอตแลนติก ปลาเฮอร์ริง กบ คางคก อิกัวนา นกโรบินหัว นางนวลจงอยแดง กระรอกแคลิฟอร์เนีย แมวป่า และหนูป่า รวมทั้งแกะชนิดหนึ่งในสกอตแลนด์ที่ตัวเล็กลง 5% เมื่อเทียบกับขนาดในปี 2528 ก่อนหนานี้ มีผลการศึกษาหลายชิ้นที่บ่งว่า หมีขั้วโลก ตัวไม่ใหญ่ไม่โตเหมือนเมื่อก่อน และนี่เป็นผลการศึกษาอีกชิ้นที่พบแนวโน้มเดียวกัน เช่น น้ำหนักตัวนกแก้ว ลดลง 1 ใน 7 จากช่วงปี 2493-2533 และนกกระจิบ ก็มีน้ำหนักลดลง 26% ในช่วงเวลาเดียวกัน เจนนิเฟอร์ เชริแดน นักวิจัยด้านชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยอลาบามา กล่าวว่า สิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืช หรือสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังจำนวนหนึ่ง มีแนวโน้มขนาดเล็กลงเรื่อยๆ สอดคล้องกับกฎเบิร์กมานน์ ที่ว่า อากาศเย็นลงเท่าไหร่ สิ่งมีชีวิตจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเท่านั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นอีกด้านหนึ่งของทฤษฎีที่ไม่ได้เขียนไว้นั่นเอง กล่าวคือเมื่ออากาศอุ่นขึ้น สิ่งมีชีวิตเหล่านั้น ก็ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญนัก และสัตว์กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นสัตว์เลือดเย็น ยิ่งอากาศอุ่นเท่าไหร่ ระบบการเผาผลาญอาหารและพลังงานก็จะยิ่งเร็ว คำถามที่น่าคิดคือ ในระยะยาว ขนาดของพืชสัตว์ที่เปลี่ยนแปลงไป จะมีผลถึงปริมาณพืชผลการเกษตรและแหล่งโปรตีนสำคัญอย่างเช่น ปลาหรือไม่ นักวิจัยท่านนี้และคณะ ได้ทำการศึกษาเรื่องขนาดของสัตว์โดยอาศัยผลการศึกษาก่อนๆ แต่นายโยรัม ยัม ทอฟ นักสัตววิทยาที่มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟเจ้าของหนึ่งในผลการศึกษาที่เชริแดน ใช้ในงานวิจัย ได้แย้งว่า จริงอยู่ที่สัตว์และพืชมีขนาดเล็กลง แต่ไม่อาจโทษว่าเป็นเพราะภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงขนาดของร่างกาย เป็นปรากฏการณ์ปกติ คือเมื่อเงื่อนไขเอื้ออำนวย พวกมันอาจเพิ่มขนาด หรือผลิตซ้ำในอัตราที่สูงขึ้น และเมื่อสภาพแวดล้อมไม่เอื้อ ก็จะทำในสิ่งตรงกันข้าม ตนคิดว่าสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่จะปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อความอยู่รอด ดังนั้น โลกร้อนไม่ใช่สาเหตุ จาก ................... คม ชัด ลึก คอลัมน์ เวิลด์วาไรตี้ วันที่ 22 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#53
|
||||
|
||||
ยืนยันอีกครั้ง “โลก” กำลังร้อนขึ้น แม้จะยอมรับกันทั่วไปว่าโลกร้อนขึ้นจริงๆ แต่ในทางวิทยาศาสตร์แล้วจำเป็นต้องมีหลักฐานที่ยืนยันและพิสูจน์ได้ อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์บางส่วนก็ไม่ได้เห็นด้วยว่าโลกกำลังร้อนขึ้น ซึ่งการศึกษาล่าสุดของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ได้ใช้วิธีศึกษาใหม่แต่ให้ข้อมูลใหม่ที่ย้ำว่าพื้นผิวโลกกำลังร้อนขึ้นจริงเหมือนการศึกษาอื่นๆ ก่อนหน้านี้ โครงการวิจัยเดอะเบิร์กเลย์เอิร์ธ (The Berkeley Earth Project) การศึกษาอุณหภูมิพื้นผิวโลกได้พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยนับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1950 มาถึงปัจจุบัน เพิ่มขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียส โดยไซน์เดลีรายงานว่าทีมวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลอุณหภูมิพื้นผิวโลกจากแหล่งข้อมูล 15 แหล่ง การศึกษานี้มุ่งตรงไปยังประเด็นที่ส่งผลให้คนเคลือบแคลงต่อปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อนว่าเป็นจริงหรือไม่ โดยครอบคลุมประเด็นผลกระทบจาก “เกาะความร้อนในเมือง” (urban heat island ) คุณภาพของสถานีตรวจวัดอุณหภูมิ และอคติในการเลือกข้อมูล ทีมวิจัยที่นำโดย ศ.ริชาร์ด เอ.มูลเลอร์ (Prof. Richard A. Muller) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการเบิร์กเลย์เอิร์ธ พบว่า การศึกษาล่าสุดของพวกเขานั้นได้ผลที่ใกล้เคียงกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ของทีมวิจัยสหรัฐฯ และอังกฤษ ซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลขอบเขตความร้อนของพื้นผิวดินอันแม่นยำ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าการศึกษาก่อนหน้านั้นทำอย่างรอบคอบและอคติตามที่กลุ่มผู้ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนระบุนั้นไม่ได้ส่งผลใหญ่หลวงต่อการศึกษา สำหรับการศึกษาก่อนหน้าที่กล่าวถึงนั้นเป็นงานวิจัยขององค์การมหาสมุทรและบรรยากาศสหรัฐฯ (NOAA) องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และศูนย์แฮดเลย์ (Hadley Center) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและคาดการณ์ภูมิอากาศในสหราชอาณาจักร โดยต่างพบว่านับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1950 มานั้น อุณหภูมิผิวโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียส และผลจากเกาะความร้อนในเมือง รวมถึงสถานีวัดอุณหภูมิที่มีคุณภาพต่ำนั้นไม่ส่งผลที่บิดเบือนต่อการศึกษา หากแต่การค้นพบจากการศึกษาก่อนหน้านี้ถูกวิจารณ์จากกลุ่มคนที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน ซึ่งกังวลว่างานวิจัยนั้นอาศัยเทคนิคที่ให้ข้อมูลที่ไม่สามารถทำการทดลองตรวจสอบซ้ำได้ แต่ โรเบิร์ต รอห์ด (Robert Rohde) นักวิทยาศาสตร์ผู้นำในโครงการเบิร์กเลย์เอิร์ธกล่าวว่า การวิเคราะห์ของทีมพวกเขานั้นเป็นการศึกษาแรกที่แก้ประเด็นในเรื่องการเลือกข้อมูลอย่างอคติ โดยพวกเขาได้รวบรวมข้อมูลมากเท่าที่จะเป็นไปได้ในปริมาณที่มากกว่าการศึกษาก่อนหน้านี้ 5 เท่า อลิซาเบธ มูลเลอร์ (Elizabeth Muller) ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารของโครงการเบิร์กเลย์เอิร์ธนี้ กล่าวว่าเธอคาดหวังว่าการศึกษาของกลุ่มวิจัยในโครงการนี้ จะช่วยลดอุณหภูมิการโต้เถียงในเรื่องภาวะโลกร้อน ด้วยการคลายข้อสงสัยและเคลือบแคลงต่อความเชื่อเรื่องโลกร้อนด้วยวิธีที่ชัดเจนและแม่นยำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการเดินหน้าสู่รการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 17 (COP 17) ณ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ ในปลายปีนี้ ซึ่งผู้ร่วมประชุมจะถกกันถึงเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรอบเวลาที่กำหนด และรวมถึงประเด็นเรื่องเงินทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยีและปฏิบัติการทำงานร่วมกัน ทีมวิจัยของเบิร์กเลย์เอิร์ธนี้มีทั้งนักฟิสิกส์ นักภูมิอากาศวิทยาและนักสถิติ ทั้งจากแคลิฟอร์เนีย โอเรกอนและจอร์เจีย ในสหรัฐฯ ซึ่งในจำนวนนี้มี ซอล เพิร์ลมุลเลอร์ (Saul Perlmutter) ผู้ได้รับล่าวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2011 จากผลงานทางด้านจักรวาลวิทยา รวมอยู่ด้วย โดยไซน์เดลีระบุว่า ในงานวิจัยครั้งนี้พวกเขาได้นำวิธีทางสถิติใหม่ในการรวมชุดข้อมูลมาใช้ แต่ทางกลุ่มวิจัยไม่ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในมหาสมุทร ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ “ไอพีซีซี” (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ระบุนั้น อุณหภูมิในมหาสมุทรไม่ได้ร้อนมากเท่ากับบนพื้นดิน และเมื่อนำข้ออุณหภูมิในมหาสมุทรมาคำนวณด้วยทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาลดลงเหลือเพียง 2 ใน 3 ของอุณหภูมิ 1 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ดี สิ่งที่โครงการเบิร์กเลย์เอิร์ธยังไม่ได้ทำคือการประเมินว่าอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์เท่าไร และขั้นต่อไปในงานวิจัยของพวกเขาคือการศึกษาอุณหภูมิมหาสมุทรที่เพิ่มสูงขึ้น ด้วยเป้าหมายที่จะหาอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งหมดอย่างแม่นยำมากขึ้น ข้อสรุปสำคัญที่ได้จากการศึกษาของกลุ่มเบิร์กเลย์เอิร์ธ ได้แก่ - เกาะความร้อนในเมืองนั้นมีผลจริงในระดับท้องถิ่น แต่ไม่มีส่งผลสำคัญต่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มขึ้น นั่นเป็นเพราะพื้นที่ในเมืองทั่วโลกนั้นคิดเป็นเพียง 1% ของพื้นดินทั้งหมด - 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั่วโลกมีอุณหภูมิที่เย็นลงในรอบ 70 ปี ซึ่งรวมถึงพื้นที่ในสหรัฐฯ และตอนเหนือของยุโรป แต่พื้นที่ 2 ใน 3 ทั่วโลกแสดงแนวโน้มว่าร้อนขึ้น ซึ่งการรายงานข้อมูลอุณหภูมิย้อนหลังของพื้นใดเพียงหนึ่งเดียวนั้นเป็นข้อมูลที่ถูกรบกวนสูงและไม่น่าเชื่อถือ อีกทั้งจำเป็นต้องเปรียบเทียบและรวมการบันทึกข้อมูลหลายๆ ครั้ง เพื่อให้เข้าใจในลักษณะของภาวะโลกร้อนที่แท้จริง - การพบว่าหลายพื้นที่มีอุณหภูมิลดต่ำลงนั้นอาจช่วยอธิบายถึงการไม่ยอมรับในเรื่องโลกร้อนได้ โดยรอห์ดให้ความเห็นว่า โลกร้อนนั้นเกิดขึ้นช้าๆ ในความรู้สึกของมนุษย์ และหากนักอุตุนิยมวิทยุท้องถิ่นบอกว่าอุณหภูมิเท่าเดิมหรือเย็นกว่าที่เคยเป็นเมื่อ 100 ปีก่อน เราก็พร้อมจะเชื่อได้อย่างง่ายดาย และในความเป็นจริงเป็นเรื่องยากที่จะวัดสภาพอากาศเมื่อหลายทศวรรษหรือหลายศตวรรษที่ผ่านมาได้อย่างต่อเนื่อง และรายงานบางที่มีอุณหภูมิต่ำลงนั้นเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการถูกรบกวนจากตัวแปรระดับท้องถิ่น การประเมินที่ดีในเรื่องการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นโลกนั้นไม่ทำได้โดยอาศัยการวัดอุณหภูมิจากเพียงไม่กี่สถานี จำเป็นต้องศึกษาอุณหภูมิจากสถานีตรวจวัดให้ได้หลายร้อยหรือหลายพันสถานียิ่งดี เพื่อตรวจและวัดความร้อนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น และเมื่อเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิที่อยู่ใกล้ๆ จำนวนมากให้ผลการวัดในรูปแบบเดียวกัน จะทำให้รู้ได้ว่าการวัดของเรานั้นเชื่อถือได้ - การสำรวจอุณหภูมิผิวโลกจากสถานีตรวจวัด “คุณภาพต่ำ” มีรูปแบบไปในทางเดียวกันกับการสำรวจอุณหภูมิผิวโลกจากสถานีตรวจวัดที่มี “คุณภาพใช้ได้” และอุณหภูมิสัมบูรณ์จากสถานีตรวจวัดคุณภาพต่ำนั้นอาจให้ข้อมูลที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าข้อมูลที่แม่นยำกว่า แต่เมื่อดูภาพรวมทั้งหมดแล้วให้แนวโน้มไปในทางเดียวกัน ซึ่งทางกลุ่มเบิร์กเลย์เอิร์ธก็สรุปว่าข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพต่ำนั้นไม่ส่งผลที่บิดเบือนเกินจริง ขอบคุณข้อมูลจาก...http://www.manager.co.th/Science/Vie...=9540000135076
__________________
Saaychol แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 25-10-2011 เมื่อ 12:15 |
#54
|
||||
|
||||
เอ็กซตรีม เวทเตอร์ เหตุอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยครั้งนี้ นับว่ายิ่งใหญ่รุนแรงกว่าทุกครั้ง และคงต้องจดจำสถิติ เล่าขานกันไปอีกนาน ส่วนสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดมวลน้ำขนาดใหญ่ขึ้นทางภาคเหนือของประเทศ ก็คือการเกิดฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน และตกในปริมาณที่มากกว่าปกติ จากนั้นมวลน้ำมหาศาลก็เคลื่อนผ่านลงมาสู่ภาคกลาง เพื่อหาทางออกสู่ทะเลตามธรรมชาติของน้ำย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ สำหรับการเกิดพายุฝนตกติดต่อกันยาวนานนั้น เรียกว่า "ภาวะลมฟ้าอากาศสุดโต่ง (Extreme Weather)" ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนั้นก็เป็นที่ยอมรับกันในแวดวงวิชาการทั่วโลกแล้วว่า มาจาก "ปรากฏการณ์โลกร้อน" นั่นเอง ปรากฏการณ์โลกร้อน (Global Warming) หมายถึง การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศใกล้พื้นผิวโลกและน้ำในมหาสมุทร ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 และมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง สำหรับช่วง 100 ปีที่ผ่านมา นับถึง พ.ศ.2548 อากาศใกล้ผิวดินทั่วโลกโดยเฉลี่ยมีค่าสูงขึ้น 0.74-0.18 องศาเซลเซียส ซึ่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี (IPCC) ของสหประชาชาติได้สรุปไว้ว่า จากการสังเกตการณ์การเพิ่มอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกที่เกิดขึ้น ค่อนข้างแน่ชัดว่าเกิดจากการเพิ่มความเข้มของก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดขึ้นโดยกิจกรรมของมนุษย์ที่เป็นผลในรูปของ "ปรากฏการณ์เรือนกระจก" ข้อสรุปพื้นฐานดังกล่าวนี้ได้รับการรับรองโดยสมาคมและสถาบันการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ไม่น้อยกว่า 30 แห่ง แม้นักวิทยาศาสตร์บางคนจะมีความเห็นโต้แย้งกับข้อสรุปของไอพีซีซีอยู่บ้าง แต่เสียงส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ ที่ทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศของโลกโดยตรงเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้ แบบจำลองการคาดคะเนภูมิอากาศที่สรุปโดยไอพีซีซี บ่งชี้ว่าอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยที่ผิวโลกจะเพิ่มขึ้น 1.1 ถึง 6.4 องศาเซลเซียส ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 21 หรือช่วงพ.ศ. 2544-2643 การที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และคาดว่าทำให้เกิด "ภาวะลมฟ้าอากาศสุดโต่ง" ที่รุนแรงมากขึ้นด้วย ปริมาณและรูปแบบการเกิดหยาดน้ำฟ้าและพายุฝนจะเปลี่ยนแปลงไป! ส่วนผลกระทบอื่นๆ ของปรากฏการณ์โลกร้อนได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของผลิตผลทางเกษตร การเคลื่อนถอยของธารน้ำแข็ง การสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์บางชนิด รวมทั้งการกลายพันธุ์และแพร่ขยายโรคต่างๆเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ยังคงมีความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง ได้แก่ปริมาณของความร้อนที่คาดว่าจะเพิ่มในอนาคต ผลของความร้อนที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบอื่นๆ ที่จะเกิดกับแต่ละภูมิภาคบนโลกว่าจะแตกต่างกันอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยอยู่บ้าง โดยเฉพาะกับประเทศอุตสาหกรรมว่า ปรากฏการณ์โลกร้อนนั้นรุนแรงจริงหรือไม่ แต่ล่าสุด มีผลงานวิจัยยืนยันอีกครั้งว่าโลกของเรากำลังร้อนขึ้นจริง โดยคราวนี้เป็นทีมนักวิทยาศาสตร์ของโครงการเบิร์กเลย์ เอิร์ธ โปรเจ็กต์ สหรัฐ ซึ่งเก็บข้อมูลจากสถานีบันทึกข้อมูลภูมิอากาศกว่า 40,000 แห่งทั่วโลก เป็นข้อมูลอ้างอิงในการทดลอง ระบุว่าอุณหภูมิพื้นผิวโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยอาศัยวิธีการศึกษา วิธีการเก็บข้อมูล และขั้นตอนการวิเคราะห์ใหม่ทั้งหมด โดยไม่อ้างอิงข้อมูลจากการศึกษาอื่นใดก่อนหน้านี้ จาก ................. มติชน คอลัมน์ คอลัมน์ที่ 13 วันที่ 27 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#55
|
||||
|
||||
ธารน้ำแข็งจีนกำลัง “ละลาย” ในภาพธารน้ำแข็งแถบลุ่มน้ำเผิงฉี่ว์ ขณะนี้นักวิจัยเผย ธารน้ำแข็งจีนกำลังละลายอันเป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อนเป็นหลัก (ภาพเอเยนซี) เอเอฟพี - ผลการศึกษาวิจัยเผยวานนี้ (25 ต.ค.) ว่า อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากอันเป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อน กร่อนเซาะธารน้ำแข็งหิมาลัยในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนให้ละลายลง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การท่องเที่ยว และการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ข้อมูลจากการศึกษา ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารเอ็นไวรอนเม้นต์ รีเสิร์ช เล็ทเทอรส์ ของอังกฤษ ระบุว่า “ในบรรดาสถานีตรวจอากาศ 111 แห่งทั่วภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ร้อยละ 77 พบว่า มีการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอากาศทีละน้อยในช่วงปี 2504-2551” ข้อมูลจากสถานีติดตาม 14 แห่งซึ่งตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 4,000 เมตร เผยว่า อุณหภูมิในช่วงดังกล่าวกระโดดขึ้นมา 1.73 องศาเซลเซียส ซึ่งคิดเป็น 2 เท่าของอัตราเฉลี่ยอุณหภูมิของทั้งโลกเมื่อศตวรรษที่แล้วทีเดียว หลี่ จงซิง นักวิจัยประจำสำนักสังคมศาสตร์จีน ระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลง 3 ครั้งกับธารน้ำแข็ง ซึ่งเป็นเหตุให้น้ำแข็งละลาย และสาเหตุที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ “ภาวะโลกร้อน” รายงานระบุว่า “การตรวจสอบพบว่าธารน้ำแข็งหลายแห่งกำลังละลายอย่างน่ากลัว จนทำให้เสียมวลน้ำแข็งไปเป็นจำนวนมาก” ลุ่มน้ำเผิงฉี่ว์ ซึ่งมีธารน้ำแข็ง 999 แห่ง ได้สูญเสียพื้นที่ธารน้ำแข็งไปแล้ว 131 ตร.กม. ในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (จากปี 2523 จนถึงปี 2544) ผลการศึกษายังระบุด้วยว่า ทะเลสาบธารน้ำแข็ง ที่รองรับน้ำที่ละลายจากน้ำแข็งกำลังเพิ่มขยายตัวขึ้น นั่นก็แสดงว่า น้ำแข็งกำลังละลายกลายเป็นน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ นักวิจัยเตือนว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กำลังกลายเป็นปัญหาที่น่ากังวล ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศให้เปลี่ยนสภาพไป “ธารน้ำแข็งเป็นการผสมผสานนับพันปีของระบบนิเวศตามธรรมชาติ และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการค้ำจุนประชากรมนุษย์ให้ดำรงอยู่ต่อไปได้” ข้อมูลระบุว่า แถบตะวันตกเฉียงใต้ของจีนมีธารน้ำแข็ง 23,488 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 29,523 ตร.กม. ผ่านภูเขาหิมาลัยและ Nyainqntanglha, Tanggula และแถบภูเขาเหิงต้วน การศึกษาเผยอีกว่า “การเปลี่ยนแปลงในเรื่องปริมาณน้ำฝนและหิมะนั้นอยู่ในระดับที่ไม่มาก และสอดคล้องกับรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงที่ได้คาดการณ์ไว้” “มันคงเลี่ยงไม่ได้ที่พวกเราจะต้องกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ และความแปรผันของธารน้ำแข็ง เพราะว่าขณะนี้ธารน้ำแข็งเริ่มลดลงมากแล้ว” หลี่ทิ้งท้าย จาก ...................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 26 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#56
|
||||
|
||||
ร่างรายงานสุดท้าย “ไอพีซีซี” ชี้สภาพอากาศจะวิปริตสุดขั้วบ่อยขึ้น ภาพน้ำท่วมในเมืองไทย (เอพี) เอพีเผยร่างรายงานขั้นสุดท้ายของ “ไอพีซีซี” ชี้สภาพอากาศวิปริตสุดขั้วอย่างมหาอุทกภัยที่ไทยกำลังประสบจนถึงพายุหิมะใน “วันฮาโลวีน” ที่สหรัฐฯ จะเกิดบ่อยขึ้น เป็นสาเหตุของความเสียหายมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และบางท้องถิ่นจะกลายเป็นพื้นที่ไม่เหมาะแก่การดำรงชีวิตมากขึ้น ร่างรายงานขั้นสุดท้ายของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ “ไอพีซีซี” (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ชี้ให้เห็นอนาคตอันเลวร้ายของโลกซึ่งกำลังบอบช้ำจากหายนะทางสภาพอากาศที่มีมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า มูลค่าความเสียหายจะเพิ่มขึ้น และเป็นไปได้ว่าบางพื้นที่อาจจะกลายเป็น “แหล่งที่ไม่เหมาะแก่การดำรงชีวิต” มากขึ้น ร่างรายงานของไอพีซีซีที่เป็นผลจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ทางด้านสภาพภูมิอากาศระดับหัวกะทิของโลกนี้จะเป็นประเด็นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หลังการประชุมในอูกานดา โดยรายงานดังกล่าวระบุด้วยว่ามีโอกาสอย่างน้อย 2 ใน 3 ที่สภาพอากาศสุดขั้วได้เลวร้ายลงแล้ว เพราะก๊าซเรือนกระจกที่เป็นผลจากมนุษย์ อย่างไรก็ดี เอพีระบุว่าในกรณีของปรากฏการณ์พายุหิมะที่ผิดปกติในสหรัฐฯ นั้นผู้เชี่ยวชาญยังไม่อาจผูกเข้ากับประเด็นภาวะโลกร้อนได้ โดยผู้เชี่ยวชาญจับตาการเพิ่มขึ้นของจำนวนพายุฝนที่รุนแรง แต่ไม่ได้รวมกรณีของพายุหิมะ ส่วนภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบตรงกันข้ามอย่าง “ภัยแล้ง” นั้น จะเกิดบ่อยขึ้นตามสภาพโลกที่ร้อนขึ้น ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีการศึกษาชี้เฉพาะที่ผูกประเด็นภาวะโลกร้อนกับภัยแล้ง แต่มีความสอดคล้องของแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ที่ชี้ว่าสภาพอากาศปัจจุบันนั้นจะทำให้ความแห้งแล้งที่มีอยู่เดิมเลวร้ายขึ้น ในหลายการศึกษายังทำนายถึงพายุฝนที่รุนแรงขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อน โดยอากาศที่ร้อนขึ้นจะจะโอบอุ้มน้ำที่มากขึ้นและเพิ่มพลังงานมากขึ้นให้ระบบสภาพอากาศ แล้วเปลี่ยนแปลงพลวัตของพายุ รวมถึงสถานที่และลักษณะการโจมตีของพายุ โดยในกรณีของประเทศไทยขณะนี้กำลังรับมือกับมหาอุทกภัยที่เป็นผลจากฝนอันเนื่องจากมรสุม ด้าน กาวิน ชมิดท์ (Gavin Schmidt) นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิศาสตร์ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) กล่าวว่า น้ำท่วมในเมืองไทยเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าภูมิอากาศนั้นเชื่อมโยงกับผลกระทบอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นมาอย่างไร อาทิ ประชากรกับการพัฒนาความเป็นเมือง การจัดการแม่น้ำกับพื้นที่จมน้ำ เป็นต้น ภาพพายุหิมะที่มาเร็ววกว่าปกติในสหรัฐฯ (บีบีซีนิวส์) ในรายงานระบุว่า ภูมิอากาศสุดขั้วในหลายๆพื้นที่นั้นปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่จะทำให้การสูญเสียเพิ่มมากขึ้นนั้นมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม มากกว่าก๊าซเรือนกระจก ส่วนเรื่องเหตุการณ์สุดขั้วที่เป็นเพียงข้อมูลประปรายในรายงานของไอพีซีซีก่อนหน้านี้ได้ถูกรวมเข้าไว้ด้วยกัน โดยรายงานพยายามที่จะประเมินความมั่นใจที่นักวิทยาศาสตร์มีต่อการประเมินความสุดขั้วของภูมิอากาศทั้งในอดีตและอนาคต อย่างไรก็ดี คริส ฟิล์ด (Chris Field) หนึ่งในผู้นำของคณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กล่าวว่าเขาและคณะที่เขียนรายงานครั้งนี้จะไม่แสดงความเห็นใด เพราะรายงานฉบับนั้นยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีก และบทสรุปของรายงานก็ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าพื้นใดในโลกที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจนถึงขั้นต้องทิ้งให้อยู่ในพื้นที่อาศัยอันจำกัด นอกจากนี้ในรายงานยังระบุด้วยว่าเมื่อสิ้นศตวรรษนี้พายุฝนที่รุนแรงที่จะเกิดขึ้นภายในวันเดียวจะเกิดบ่อยขึ้น จากปกติที่เกิดขึ้นทุก 20 ปี เป็นเป็นเกิดขึ้นประมาณ 2 ครั้งภายใน 10 ปี จาก ......................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#57
|
||||
|
||||
อัลกอร์ น้ำท่วม การเมือง คนไทย ถึง จดหมายขอโทษธรรมชาติ…?
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#58
|
||||
|
||||
อัลกอร์ น้ำท่วม การเมือง คนไทย ถึง จดหมายขอโทษธรรมชาติ…? (ต่อ) จาก ..................... ไทยรัฐ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#59
|
||||
|
||||
โลกร้อนน้ำท่วม ตอนที่ 1 นักวิทยาศาสตร์มีความเชื่อว่าปรากฏการณ์โลกร้อน การเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปยังชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ฝนตกมากผิดปกติมากขึ้น และทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ได้มาก ประเทศไทยขณะนี้ซึ่งประสบสภาวะน้ำท่วม ก็ได้เป็นข่าวพาดหัวใหญ่ของสำนักข่าวใหญ่อย่าง ซีเอ็นเอ็น บีบีซีและอีกหลายแห่ง ซึ่งก็สร้างผลกระทบต่อประเทศหนักมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และอาจจะส่งผลกระทบทางการเมืองที่ต้องการวิธีการวางแผนแก้ปัญหาที่ดีขึ้นในอนาคต ทุกประเทศก็เป็นเช่นนี้ ในงานวิจัยล่าสุดซึ่งมีนักวิจัยสองกลุ่มที่ได้มีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ หรือ เรื่องของธรรมชาติ โดยใช้ข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นในอดีตมาวิเคราะห์และสร้างเป็นแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์เพื่อหาข้อสรุปจากผลการทดลอง กลุ่มแรกสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างสภาวะเรือนกระจกที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปกับการสังเกตการณ์เรื่องปริมาณน้ำฝนซึ่งมีความผิดปกติมากขึ้น โดยเฉพาะโลก ซีกด้านเหนือก็คือ ยุโรป อเมริกาเหนือ เอเชีย ก็ตั้งแต่ สิงคโปร์ และไทยขึ้นไปถึงไซบีเรีย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง วิจัยพบว่าสภาวะเรือนกระจก โลกร้อน น่าจะทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2000 ที่ผ่านมา โดยมีการนำหลักฐานการบันทึกปริมาณน้ำฝนในประเทศอังกฤษและเวลส์ (England and Wales) ตั้งแต่ปี 1766 หรือเกือบ 250 ปีมาทำการวิเคราะห์ น้ำท่วมในประเทศอังกฤษครั้งนั้น ทำให้หมู่บ้านแฮมเชียร์อยู่ใต้น้ำ 6 สัปดาห์และทำให้ประเทศเสียหาย ไปประมาณ 50,000 ล้านบาท และยังมีนักวิจัยอีกทีมหนึ่ง นำโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University) ได้ทำการคำนวณโดยใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์จากสภาพบรรยากาศของโลกโดยที่ยังไม่นำผลของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสภาพสภาวะเรือนกระจกอื่นใดที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์มาคิด เพื่อสร้างผลการพยากรณ์รูปแบบของปริมาณน้ำฝนแล้วนำผลอันนี้มาดูปริมาณน้ำฝนที่ตกลงบริเวณต่าง ๆ และวัดดูผลกระทบปริมาณที่ไหลลงสู่แม่น้ำสายต่าง ๆ ทั่วประเทศอังกฤษและเวลส์ และหลังจากนั้น มาเทียบเคียงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเมื่อตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 2000 ปรากฏว่าผลของการปล่อยก๊าซในสภาวะ เรือนกระจกทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างผิดปกติ ดร.พาร์ดีพ พอลล์ หัวหน้านักวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ระบุไว้ว่า “เราพบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้เกิดน้ำท่วมมากขึ้นผิดปกติอย่างเห็นได้ชัดในปี 2000 ซึ่งทำให้น้ำท่วมมากขึ้นเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว” ซึ่งก็สรุปได้ว่าในส่วนของกลุ่มประเทศอังกฤษ เชื่อว่าโลกร้อนทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมใหญ่ ในตอนหน้าผมจะได้นำผลวิจัยจากแคนาดาซึ่งอยู่ทวีปอเมริกาเหนือมานำเสนอให้ท่านผู้อ่าน รวมทั้งผลกระทบจาก ปรากฏการณ์เอลนิโน (El Nino) เมื่อทราบแล้วรัฐบาลและฝ่ายการเมืองได้มีผลกระทบอย่างไร ก็ติดตามได้ในบทความต่อไป. จาก .................. เดลินิวส์ คอลัมน์โลกาภิวัฒน์ โดย รศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด วันที่ 3 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#60
|
||||
|
||||
วันที่โลกปราศจากน้ำแข็ง .................... โดย โรเบิร์ต คุนซิก เมื่อ 56 ล้านปีก่อน การเพิ่มขึ้นอย่างเป็นปริศนาของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิโลกพุ่งพรวด ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชั่วพริบตาของธรณีกาลนี้ทำให้สรรพชีวิตพลิกผันไปตลอดกาล โลกเมื่อราว 56 ล้านปีก่อนผิดแผกจากโลกในปัจจุบัน มหาสมุทรแอตแลนติกยังไม่เปิดเต็มที่ และส่ำสัตว์ซึ่งอาจรวมถึงบรรพบุรุษไพรเมตของมนุษย์ สามารถเดินทางจากเอเชียผ่านยุโรปข้ามกรีนแลนด์ไปถึงอเมริกาเหนือได้ โดยไม่เห็นหิมะสักปุยเดียว กระทั่งก่อนหน้าช่วงเวลาดังกล่าว โลกก็อุ่นกว่าทุกวันนี้มากแล้ว แต่ในช่วงรอยต่อระหว่างสมัยพาลีโอซีนกับอีโอซีน โลกกลับอุ่นขึ้นมากอย่างรวดเร็ว สาเหตุคือการปล่อยคาร์บอนครั้งใหญ่อย่างฉับพลันเมื่อเทียบกับธรณีกาล เพียงแต่ปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยขึ้นสู่บรรยากาศในช่วงความร้อนสูงสุดในสมัยพาลีโอซีน-อีโอซีนหรือพีอีทีเอ็ม (Paleocene-Eocene Thermal Maximum: PETM) ยังไม่แน่ชัด ประมาณคร่าวๆ ว่าน่าจะสูสีกับการปล่อยคาร์บอนในปัจจุบันถ้ามนุษย์เผาถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก ช่วงพีอีทีเอ็มกินเวลายาวกว่า 150,000 ปี กระทั่งคาร์บอนส่วนเกินถูกดูดซับไปสิ้น ก่อให้เกิดภัยแล้ง อุทกภัย แมลงระบาด และสิ่งมีชีวิตบางชนิดสูญพันธุ์ไป แม้ชีวิตบนโลกยังอยู่รอดปลอดภัย ซ้ำยังเจริญงอกงามเสียด้วย แต่ก็เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างลิบลับ ปัจจุบันผลกระทบทางวิวัฒนาการที่เกิดจากปรากฏการณ์คาร์บอนพุ่งสูงในครั้งนั้น พบเห็นได้รอบตัวเรา หรือจะว่าไปก็รวมถึงตัวเราด้วย และทุกวันนี้พวกเรากำลังทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเสียเอง คาร์บอนทั้งหมดเหล่านั้นมาจากไหน เรารู้ว่าคาร์บอนส่วนเกินในบรรยากาศตอนนี้มาจากตัวเรา แต่เมื่อ 56 ล้านปีก่อนยังไม่มีมนุษย์ แล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึงรถยนต์และโรงไฟฟ้า คาร์บอนพุ่งสูงช่วงพีอีทีเอ็มมีแหล่งที่มาที่เป็นไปได้หลายแหล่ง เป็นต้นว่าเกิดการระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟหลายครั้ง ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากตะกอนอินทรีย์ก้นสมุทรออกมา ไฟป่ายังอาจเผาผลาญตะกอนพีตในสมัยพาลีโอซีน หรือจะเป็นดาวหางยักษ์ที่พุ่งชนหินคาร์บอเนต จนเป็นสาเหตุของการปล่อยคาร์บอนปริมาณมหาศาลอย่างรวดเร็ว สมมุติฐานเก่าแก่ที่สุดและยังคงเป็นที่ยอมรับมากที่สุดคือ คาร์บอนส่วนใหญ่มาจากตะกอนมหาศาลของมีเทนไฮเดรต ซึ่งเป็นสารประกอบประหลาดคล้ายน้ำแข็ง มีโมเลกุลของน้ำหลายโมเลกุลก่อตัวล้อมรอบโมเลกุลมีเทนเดี่ยวๆ ไฮเดรตจะคงตัวที่ความดันสูงและอุณหภูมิต่ำในช่วงแคบๆเท่านั้น ทุกวันนี้เราพบตะกอนไฮเดรตปริมาณมากใต้เขตทุนดราของอาร์กติกและใต้พื้นสมุทร ในช่วงพีอีทีเอ็ม ความร้อนแรกเริ่มมาจากไหนสักแห่ง อาจเป็นภูเขาไฟหรือวงโคจรของโลกที่ปรวนแปรเล็กน้อย จนทำให้บางส่วนของโลกได้รับแสงอาทิตย์มากกว่าปกติ อาจส่งผลให้ไฮเดรตหลอมละลายจนโมเลกุลมีเทนหลุดจากวงล้อมของน้ำและลอยขึ้นสู่บรรยากาศ สมมุติฐานดังกล่าวช่างน่าพรั่นพรึง ก๊าซมีเทนในบรรยากาศทำให้โลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงกว่า 20 เท่าเมื่อเทียบโมเลกุลต่อโมเลกุล พอผ่านไป 10 ปีหรือ 20 ปี มันจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และทำให้โลกร้อนต่อไปอีกนาน นักวิทยาศาสตร์หลายคนเตือนว่า ความร้อนจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในยุคปัจจุบัน อาจนำไปสู่การปล่อยก๊าซมีเทนครั้งใหญ่จากทะเลลึกและขั้วโลกเหนือ ขณะที่มหาสมุทรดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งทำให้โลกร้อน น้ำทะเลก็กลายเป็นกรดมากขึ้น และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในศตวรรษหน้า เมื่อระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์พุ่งสูงอีกครั้ง หลักฐานนี้พบเห็นได้ในตะกอนใต้ทะเลลึกบางแห่งซึ่งบ่งชี้ถึงช่วงพีอีทีเอ็มอย่างชัดเจน ในช่วงพีอีทีเอ็ม มหาสมุทรที่เป็นกรดจะละลายแคลเซียมคาร์บอเนตไปหมด พอถึงจุดนี้ เราอาจนึกถึงชะตากรรมที่ตามมาได้ไม่ยาก เมื่อน้ำทะเลที่เป็นกรดทำลายล้างสรรพชีวิตจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะการกัดกร่อนเปลือกและโครงสร้างหินปูนของปะการัง หอยกาบ และฟอแรม ซึ่งเป็นสภาพการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนในปัจจุบันคาดว่าอาจเกิดขึ้นในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด หากพิจารณาระดับความเป็นกรดของมหาสมุทร นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า การพุ่งสูงระลอกแรกน่าจะมีคาร์บอนราวสามล้านล้านตันเข้าสู่บรรยากาศ จากนั้นอีก 1.5 ล้านล้านตันจึงค่อยๆปล่อยออกมา ปริมาณรวม 4.5 ล้านล้านตันนั้นใกล้เคียงกับปริมาณคาร์บอนทั้งหมด ที่คาดการณ์กันในปัจจุบันว่าน่าจะกักเก็บอยู่ในแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่ในโลก การพุ่งสูงครั้งแรกสอดคล้องกับการปล่อยคาร์บอนของมนุษย์ในอัตราปัจจุบันเป็นเวลา 300 ปี ถึงแม้ข้อมูลจะไม่แน่นอน แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็สันนิษฐานว่า การปล่อยคาร์บอนในช่วงพีอีทีเอ็มนั้นเกิดขึ้นช้ากว่ามากโดยใช้เวลาหลายพันปี ไม่ว่าการปล่อยคาร์บอนจะเร็วหรือช้า กระบวนการทางธรณีวิทยาต้องใช้เวลาในการกำจัดนานกว่ามาก ขณะที่คาร์บอเนตบนพื้นสมุทรละลายความเป็นกรดก็ลดลง มหาสมุทรจึงดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากขึ้น และภายในไม่กี่ร้อยปีหรือพันปีหลังการปล่อยคาร์บอนอย่างฉับพลัน ช่วงที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศมีปริมาณสูงสุดก็ผ่านไป ในเวลาเดียวกัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ละลายอยู่ในเม็ดฝน ก็ชะล้างแคลเซียมจากหินและดินไหลลงสู่ทะเล ไปรวมกับคาร์บอเนตไอออนเพื่อสร้างแคลเซียมคาร์บอเนตเพิ่มขึ้น ฝนค่อยๆชะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินในบรรยากาศ และกลายเป็นหินปูนที่ก้นทะเลในที่สุด แล้วสภาพอากาศก็ค่อยๆกลับคืนสู่สภาวะก่อนหน้า การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลปลดปล่อยคาร์บอนกว่า 300,000 ล้านตันนับตั้งแต่ศตวรรษที่สิบแปด นั่นอาจยังไม่ถึงหนึ่งในสิบของคาร์บอนที่กักเก็บอยู่ใต้ดิน หรือคาร์บอนที่ปล่อยออกมาในช่วงพีอีทีเอ็มด้วยซ้ำ จริงอยู่ที่ว่าช่วงเวลาอันไกลโพ้นนั้นไม่ได้ให้คำตอบว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตบนโลก ถ้าเราเลือกเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เหลือ เป็นไปได้ว่าอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางวิวัฒนาการอย่างขนานใหญ่ และเมื่อคำนึงถึงความกดดันอีกสารพัดที่มีต่อสิ่งมีชีวิต นั่นอาจทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ช่วงพีอีทีเอ็มแค่ช่วยให้เราประเมินทางเลือกที่มีอยู่เท่านั้น ช่วงเวลาหลายสิบล้านปีนับจากนี้ ไม่ว่าโฉมหน้าของมนุษยชาติจะเป็นอย่างไร รูปแบบของชีวิตทั้งหมดบนโลกอาจผิดแผกไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นอย่างสิ้นเชิง เพียงเพราะวิธีในการเติมพลังงานเพื่อขับเคลื่อนชีวิตของเราในระยะเวลาเพียงไม่กี่ร้อยปี. จาก ...................... ไทยโพสต์ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
เรียบเรียงคำตอบ | |
|
|