#61
|
||||
|
||||
'ปะการังฟอกขาว' สัญญาณเตือน'อันดามัน' เสื่อม! หลังจากนักวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยผลสำรวจสถานการณ์ "ปะการังฟอกขาว" ซึ่งทำกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2534 ถึงปี 2553 ว่า "ฝั่งทะเลอันดามัน" อันสวยงามของประเทศไทยกำลังเกิดสภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่และรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั่วท้องทะเลไทย กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง 70% ของท้องทะเลทั้งหมด! สาเหตุเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติจากปกติ 29 องศาเซลเซียส สูงขึ้นกว่า 30 องศาเซลเซียส ตั้งแต่เดือนมี.ค.2553 ต่อเนื่องกันถึง 3 เดือน รวมทั้งของเสียจากเรือที่พานักท่องเที่ยวมาเล่นน้ำจอดอยู่จำนวนมาก มีการถ่ายเทลงน้ำทะเล หรือของเสียที่ไหลซึมผ่านชั้นดิน เพราะปะการังที่เสียหายในหลายพื้นที่อยู่ไม่ไกลจากที่พักนักท่องเที่ยวหรือจากการท่องเที่ยวที่มีนักดำน้ำไปยืนเหยียบปะการัง แม้แต่ทะเลอ่าวไทยก็เกิดปะการังฟอกขาวไม่แพ้กัน นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวถึงปัญหาปะการังฟอกขาวดังกล่าว ว่า จากรายงานที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ได้สำรวจในหลายพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค.2553 โดยเฉพาะหมู่เกาะสุรินทร์ -สิมิลัน จ.พังงา รวมทั้งหมู่เกาะพีพีและเกาะใกล้เคียง เช่น เกาะยูง เกาะไผ่ เกาะไข่นอก จ.กระบี่ เกาะราชา จ.ภูเก็ต พบว่า ในแหล่งแนวปะการังได้รับผลกระทบ เกิดความเสียหายจากการฟอกขาวจำนวนมาก เช่น เกาะสุรินทร์เหนือ อ่าวแม่ยาย มีปะการังตายถึง 99.9% เกาะสุรินทร์เหนือ หน้าช่องแคบตอนใน ปะการังตายถึง 93.6% เกาะป่าชุมบา ตะวันออกเฉียงใต้ ตาย 95% เกาะตาชัย ตะวันออกเฉียงใต้ ตาย 84% เกาะสุรินทร์ใต้ฝั่งตะวันออก (อ่าวเต่า) ตาย 85% นายเกษมสันต์ กล่าวต่อว่า ส่วนเกาะสิมิลันตะวันออก หน้าประภาคาร ตาย 89.3% เกาะตาชัย ตะวันออกเฉียงใต้ ตาย 84% เกาะบางงูทิศใต้ ตาย 60.8% อ่าวต้นไทร ตะวันตก ตาย 94.9% เกาะยูง ตาย 88.5% เกาะไข่นอก ตาย 68.5% เกาะแอว ตะวันตกเฉียงเหนือ ตาย 69.9% เป็นต้น ขณะที่เกาะพีพีและเกาะใกล้เคียง อาทิ เกาะพีพีดอน เกาะพีพีเล เกาะไผ่ เกาะยูง เกาะบิต๊ะใน และเกาะบิต๊ะนอก พบว่า แนวปะการังส่วนใหญ่ของทุกๆ เกาะอยู่ในสภาพเสียหาย มีปะการังตายมากกว่าปะการังมีชีวิตประมาณ 2-3 เท่าและเสียหายมาก 1.นายชัยมงคล แย้มอรุณพัฒนา โดยเฉพาะจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น อ่าวมาหยา อ่าวต้นไทร หาดยาว อ่าวรันตี แหลมตง มีปะการังเขากวางเป็นชนิดเด่น อยู่ในแนวปะการังน้ำตื้นพบว่า ปะการังเขากวางกว่า 90% ได้ตายลงเช่นเดียว ในหลายพื้นที่ไม่พบปะการังวัยอ่อนเลย ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ความเสียหายของแนวปะการังจากการฟอกขาวในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงมากกว่าความเสียหายจากสึนามิ เมื่อเดือนธ.ค.2547 "ควรมีการลดกิจกรรมท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง รวมทั้งผลักดันให้เรือท่องเที่ยวปรับปรุงเรือด้วยการให้มีถังกักเก็บของเสียในเรือไม่ให้ปล่อยลงน้ำ ควรปิดพื้นที่ไม่ให้มีการใช้ประโยชน์ในแนวปะการังที่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเร่งด่วน ซึ่งหากไม่เร่งแก้ปัญหาดังกล่าวโอกาสที่แนวปะการังในท้องทะเลไทยจะกลับมาสวยงามสมบูรณ์ดังเดิมคงเป็นได้ยากหรืออาจต้องใช้เวลานานมาก" อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลฯ กล่าว ด้าน รศ.ดร.ไทยถาวร เลิศวิทยาประสิทธิ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยา ศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ยอมรับว่า ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่สถาบัน วิจัยของทช. ได้สำรวจและรายงานนั้นอยู่ในขั้นวิกฤตจริงๆ สิ่งที่ "รัฐ" ต้องทำมี 2 ส่วน คือ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องการจัดการกลุ่มคน นักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปพื้นที่ หากเห็นว่าพื้นที่ไหนเสื่อมโทรมมากๆ จำเป็นต้องปิดเพื่อให้ฟื้นตัวก็ต้องทำ ถ้าปิดแล้วทำอะไร ปิดเฉยๆไม่ได้ อันดับแรกต้องชี้แจงเหตุผล และต้องบอกว่าขั้นตอนต่อไปในพื้นที่ปิดนั้นเราจะทำอย่างไรให้มันฟื้นฟูเร็วยิ่งขึ้น ปะการังเสียหายเสื่อมโทรมมันไม่ได้กระทบแค่การท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่มันกระทบระบบนิเวศในทะเล ซึ่งเป็น "แหล่งอาหารของมนุษย์" ด้วย "การที่ ทช.ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะก็ช่วยทรัพยากรของชาติอยู่แล้ว และนี่เป็นจังหวะดีที่เขาจะได้เห็นข้อเท็จจริง ส่วนผู้ประกอบการบางคนปฏิเสธไม่สนใจ ผมคิดว่าคนพวกนี้เราคงไปพูดอะไรเขาไม่ได้ แต่ต้องให้ข้อคิดว่าต่อไปอาชีพของเขาจะไม่ยั่งยืน ผมคิดว่าตอนนี้สิ่งสำคัญต้องเร่งให้การศึกษาให้การชี้แจงมากที่สุด" รศ.ดร.ไทยถาวรให้คำแนะนำ ส่วนมาตรการระยะยาวคือการทำวิจัยในการฟื้นฟูและขยายพันธุ์โดยเทคนิควิธี ต่างๆ หรือการควบคุมบางบริเวณที่ทำได้หรือบางบริเวณปิด เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์วิจัยเพื่อให้สภาพของปะการังอยู่ได้อย่างสมบูรณ์ อาจจะทำได้หลายกรณี เช่น การฟื้นตัวของปะการังแหล่งเสื่อมโทรมอาจจะปิดบางจุด เปิดบางจุด แต่ไม่ได้ปิดทั้งอ่าวซึ่งคนที่รู้ดีที่สุด คือ ทช. ขณะนี้ทางคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังมีการศึกษาการสืบพันธุ์ของปะการังแบบยั่งยืนแพร่พันธุ์ปะการังโดยอาศัยเพศหรือธรรมชาติ เราต้องเข้าใจก่อนว่าปะการังฟอกขาว เกิดจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปกติแค่ 1-2 องศา ตัว "ซูแซนเทลลี" หรือสาหร่ายที่อาศัยร่วมกับปะการังหลุดออกมาปะการังจึงมีสีขาว การที่ปะการังจะกลับฟื้นขึ้นมาทั้งสองตัวนั้นอาศัยอยู่แบบพึ่งพา ถ้าตัวหนึ่งหลุดไปปะการังก็จะตายไม่มีตัวช่วย ดังนั้น การศึกษาต้องศึกษาควบคู่กันไปตัวปะการังและตัว "ซูแซนเทลลี" หรือสาหร่ายที่อยู่ร่วมกับปะการัง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ตั้งแต่ทำงานเรื่องนี้มาเป็นเวลา 10 ปี ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่ปะการังตายมากที่สุด เรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตเรื่องปะการังที่รุนแรงอย่างที่เราไม่เคยเจอมาก่อน จริงๆแล้วควรที่จะทำอะไรก่อนหน้านี้ไม่ใช่ปล่อยไว้ 3-4 เดือนแล้วถึงมาทำ รวมทั้งต้องมีระบบที่ชัดเจน ส่วนแรกคือการอนุรักษ์การฟื้นฟู หมู่เกาะแต่ละแห่งได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน ไม่ควรจัดการคนแบบนโยบายเดียวครอบจักรวาล เรื่องการอนุรักษ์ปิดอ่าว ผมคิดว่าไม่ควรปิดอุทยานฯทั้งหมด ต้องดูว่าอันไหนที่มันหนักและพื้นที่ไหนควรปิดและควรเปิด "ส่วนที่นอกเหนือจากกรมอุทยานฯ กระทรวงทรัพยากรฯ ดูแลคิดว่าทางจังหวัดต้องเข้ามาดูแลด้วย ถ้าท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้รับทราบแล้วให้นักท่องเที่ยวจากเมืองจีนมาเหยียบปะการังในประเทศไทย ผมไม่รู้จะพูดอย่างไร เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์เราสามารถตัดสินใจได้เมื่อเห็นเหตุการณ์อย่างนั้น แล้วควรทำอย่างไร สถานการณ์แบบนี้คิดว่าถ้าคนร่างกายดีๆมายืนเหยียบ ตอนนี้มันไอซียูแล้ว ยังไปยืนทับมันอีก ถ้านอกเขตอุทยานฯก็ต้องเป็นผู้ว่าฯ ดังนั้นหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการที่ชัดเจนออกมาและต้องทำอย่างจริงจังด้วย ซึ่งท้องถิ่นมีอำนาจเต็มที่อยู่แล้ว อาจจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยด่วนและต้องตรวจตราดูแลอย่างจริงจังและเข้มงวด "ส่วนข้อเสนอแนะแก้ไขปัญหา คือ 1.ปลูกปะการัง 2.สร้างปะการังเทียม ซึ่งต้องมีการศึกษาและพัฒนาให้ชัดเจน 3.แหล่งดำน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อให้คนออกจากแนวปะการังรวมทั้งต้องมีการ จำกัดคนหรือนักท่องเที่ยวด้วย" ดร.ธรณ์ ระบุ นายชัยมงคล แย้มอรุณพัฒนา นักวิชาการประมง กลุ่มชีววิทยาและนิเวศวิทยาทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ทางสถาบันวิจัยฯ ได้รายงานถึงผลกระทบปะการังฟอกขาวรุนแรงไปแล้ว ตนได้พาสื่อมวลชนไปดูสถานการณ์ปะการังฟอกขาวบริเวณเกาะเฮและเกาะแอล ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต และอยู่ใกล้กับสถาบันวิจัยฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการฟอกขาวมากเช่นกัน โดยมีปะการังที่ยังมีชีวิตประมาณ 10% "เกาะเฮ" จัดว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะมาดำดูปะการังหนาแน่นมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย มีสภาพปะการังในอ่าวที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวเยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นปะการังโขด ปะการังเขากวาง ส่วนปะการังอ่อนก็มีแต่จะน้อยกว่า ส่วนเกาะเฮและเกาะแอล จะอยู่ใกล้ชายฝั่ง ค่อนข้างตื้น นักท่องเที่ยวมาเที่ยวบางครั้งก็ลงไปเหยียบย่ำ รวมไปถึงการให้อาหารปลาต่างๆก็มีส่วนทำให้เกิดปะการังฟอกขาวได้เช่นกัน บางครั้งนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเหนื่อยก็จะถือโอกาสยืนบนแนวปะการัง นายชัยมงคล กล่าวว่า การฟอกขาวของปะการังมีหลายสาเหตุ โดยเฉพาะปัจจัยอุณหภูมิสูงขึ้นหรือจากมนุษย์ ปะการังเกิดการฟอกขาวถ้าไม่มีปัจจัยรบกวนอาจจะใช้เวลาแค่ 1 ปี หรือ 6 เดือนฟื้นสภาพ แต่พอมีปัจจัยต่างๆจากฝีมือมนุษย์ทำ ก็ทำให้กระบวนการฟื้นของปะการังช้าลงแบบน่าใจหาย อย่างปีนี้ทะเลฝั่งอันดามันของประเทศไทย การฟอกขาวของปะการังคาดการณ์ไว้ว่าการที่จะฟื้นกลับมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งถือว่าเร็วแล้ว ส่วนเรื่องการปิดอุทยานฯหรือปิดอ่าวนี้ควรจะ "ปิด" มานานแล้ว เพราะเริ่มเกิดและวิกฤตอย่างหนักและรุนแรงมากมาตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค.2553 แต่ตอนนี้เป็นช่วงไฮซีซั่นของฝั่งอันดามัน ที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกจะมาเที่ยวกันจำนวนมาก ถ้าจะปิดก็คงจะมีผลกระทบ ในความเห็นของผมคิดว่าน่าจะมีมาตรการอะไรสักอย่างออกมาชัดเจนในเรื่องของการฟื้นฟู เพราะปะการังนั้นมันมีส่วนสำคัญต่อระบบนิเวศในทะเลเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เพิ่มรายได้ดึงเงินจากต่างประเทศเข้าประเทศไทยสูงมาก หากเราไม่เร่งฟื้นฟูหรือจัดการที่ดีแล้วมัน เหมือนกับเราทุบหม้อข้าวตัวเอง" นายชัยมงคล กล่าว จาก ..................... ข่าวสด วันที่ 25 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#62
|
|||
|
|||
นึกถึงจุดดำน้ำที่เรียกว่าแฟนตาซี สมัยก่อนสวยมากๆๆ ปะการังแน่นขนัดหลากหลายไปด้วยสรรพสิ่ง แต่พอพังเหลือแต่หินโล้นๆและเปลือกหอย ... แล้วจึงประกาศปิด
อย่าให้ทุกๆแห่ง กลายเป็นอดีต แล้วจึงประกาศปิด เลย จุดดำน้ำที่ยังสมบูรณ์ พวกเก่าๆ คงพอรู้ๆกันอยู่ ไม่บอกใครหรอก เก็บไว้...... ตราบใดที่ภาครัฐยังไม่เข้มแข็ง ควบคุมทั้งเรือและนักดำน้ำไม่ได้ ก็ยังไม่น่าจะเปิดจุดใหม่ๆ ให้ไปกัน |
#63
|
||||
|
||||
เก็บที่สวยๆไว้เชยชมกันเองนิ....น้องกบ....
__________________
Saaychol |
#64
|
||||
|
||||
ปิดแหล่งดำน้ำ 7 อุทยานฯ ........................ วินิจ รังผึ้ง ผมเพิ่งกลับมาจากดำน้ำสำรวจแนวปะการังบริเวณหมู่เกาะสิมิลัน เกาะบอน เกาะตาชัย และกองหินริเชริว จังหวัดพังงา ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าน่าเศร้าใจครับที่ปะการังส่วนใหญ่ราวร้อยละ 70-80 ต้องตายไปเนื่องจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอันเกิดจากอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นเกินกว่า 30 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานถึง 2-3 เดือนเมื่อราวกลางเดือนเมษายน 2553 ที่ผ่านมา ทั้งที่ปรกติมันจะอยู่ราว 27-28 องศาเซลเซียส อันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งรุนแรงและกินพื้นที่กว้างขวางมากที่สุดของท้องทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันเท่าที่เคยพบเห็นหรือเคยศึกษากันมา ปะการังเกิดการฟอกขาวเพราะสาหร่ายซูแซนเทลลี่ที่ผสมอยู่ในเนื้อเยื่อปะการัง มีหน้าที่สังเคราะห์แสงให้พลังงานแก่ปะการังเกิดทนอุณหภูมิที่เปลี่ยน แปลงอย่างมากมายไม่ไหว มันก็จะแยกตัวหลุดออกจากตัวปะการัง ที่สุดปะการังก็จะตายลง ตอนนี้ปะการังที่ฟอกขาวเมื่อ 8-9 เดือนก่อนเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็ตายสนิท เหลือไว้เพียงซากโครงสร้างปะการังที่เป็นหินปูนสีน้ำตาลดำโทรมๆ ดูเหมือนอาคารร้างที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่อาศัย เมื่อหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน เมืองทั้งเมืองเกิดพิบัติภัยจนผู้คนที่อาศัยอยู่ล้มหายตายจากไปเกือบหมด บ้านก็กลายเป็นบ้านร้าง เมืองก็กลายเป็นเมืองร้าง ชีวิตอื่นๆที่อาศัยกิ่งก้านปะการังอยู่ ก็ไม่สามารถจะอาศัยอยู่ได้ในบ้านร้าง ชุมชนร้าง ฝูงปลาเล็กๆ เช่นปลาทอง ปลาบู่ทะเล ปลาสลิดหิน ที่เคยอยู่อาศัยกันเป็นกลุ่มตามกอปะการัง กุ้ง หอย ปู ปลาขนาดเล็กๆ ที่เคยใช้ปะการังเป็นบ้าน ก็พลอยหายหน้าหายตาไปด้วย ปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าที่เคยแวะเวียนเข้ามาหาปลาเล็กกินเป็นอาหารก็พลอยหายหน้าหายตา ล้มหายตายจากไปด้วยเพราะไม่มีอาหารจะกิน ทุกอย่างส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงกันไปหมด ความตายและการเสื่อมโทรมของแนวปะการังครั้งใหญ่ของทะเลไทยครั้งนี้ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ศึกษาข้อมูลร่วมกันแล้วก็ได้ประกาศปิดพื้นที่แหล่งดำน้ำบางจุดใน 7 อุทยานแห่งชาติงดกิจกรรมดำน้ำดูปะการัง เพื่อจะได้ไม่เป็นการเข้าซ้ำเติมธรรมชาติให้เสื่อมโทรมมากเข้าไปอีก โดยมีจุดดำน้ำที่ปิดให้ธรรมชาติพื้นฟูมีดังนี้ 1. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง บริเวณเกาะเชือก 2. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล บริเวณเกาะบุโหลนไม้ไผ่ เกาะบุโหลนรังผึ้ง 3. อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล บริเวณเกาะตะเกียง เกาะหินงาม เกาะราวี หาดทรายขาว เกาะดง 4. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร บริเวณเกาะมะพร้าว 5. อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี บริเวณแนวปะการังบริเวณหินกลาง 6. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา บริเวณอ่าวสุเทพ อ่าวไม้งาม เกาะสตอร์ค หินกอง อ่าวผักกาด และแนวปะการังหน้าที่ทำการอุทยาน 7. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา บริเวณอ่าวไฟแว๊ป และอีส ออฟ อีเด็น ในความเห็นของผมนั้นการจะประกาศปิดพื้นที่ส่วนใด เพื่ออะไร ควรจะมีการศึกษาให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า การเข้าไปดำน้ำของนักดำน้ำโดยเฉพาะดำน้ำลึกแบบสกูบานั้น เข้าไปมีผลกระทบหรือสร้างความเสียหายกับแนวปะการังมากน้อยเพียงใด หรือนักดำน้ำและกิจกรรมดำน้ำนั้นเป็นเพียงจำเลย หรือข้ออ้างเพื่อเป็นทางออกของปัญหาเท่านั้น เพราะผมเชื่อว่านักดำน้ำแบบสกูบ้านั้นส่วนใหญ่ล้วนมีจิตใจที่จะช่วยกันดูแลรักษาแนวปะการังและโลกใต้น้ำด้วยกันทั้งนั้น ส่วนที่น่าเป็นห่วงก็คงเป็นทัวร์ดำน้ำตื้นแบบสนอร์เกิ้ลที่มีผู้คนหลากหลาย บางคนมีประสบการณ์ดำน้ำมาบ้าง บางคนไม่เคยลงดำน้ำมาเลย พอสวมเสื้อชูชีพได้สวมหน้ากากสนอร์เกิ้ลได้ก็ลงไปแหวกว่ายดำน้ำดูปะการัง พอเหนื่อยก็หาที่เยียบยืนเพื่อพักหายใจบนก้อนปะการัง บนโขดปะการัง ซึ่งจะทำให้ปะการังตายหรือแตกหักเสียหายได้ ยิ่งเมื่อแนวปะการังป่วยไข้เช่นในปัจจุบัน ก็ยิ่งมีความอ่อนไหวบอบบาง ดังนั้นแหล่งดำน้ำดูปะการังบริเวณน้ำตื้นๆที่นักท่องเที่ยวสามารถเยียบยืนถึงนั้น ก็ควรจะปิดและงดเว้นกิจกรรมบริเวณนั้นเสีย หรืออาจจะทำแนวทุ่นลอยป้องกันไว้ให้นักดำน้ำเข้าไปชมได้เฉพาะแนวระดับน้ำที่ต้องลอยตัวดูเท่านั้น ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวและล้มตายครั้งใหญ่ที่สุดครั้งนี้ นับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นกับท้องทะเลไทย ซึ่งสาเหตุเกิดจากภาวะโลกร้อนที่มนุษย์ทุกคนบนโลกมีส่วนร่วมกันสร้าง ร่วมทำมันขึ้นมา เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ใหญ่โตและรุนแรงเกินกว่าใครคนใดคนหนึ่ง หรือมาตรการเยียวยาเพียงมาตรการใดมาตรการหนึ่งจะสามารถแก้ไขได้ นอกจากความร่วมมือของเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันลดภาวะโลกร้อนจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ลดการใช้ทรัพยากรของโลกลง ลดการสร้างก๊าซเรือนกระจกอันเป็นปัจจัยสำคัญก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ส่วนหนทางที่จะช่วยเหลือฟื้นฟูแนวปะการังที่ดีที่สุดก็คือการให้เวลากับธรรมชาติ เพื่อปล่อยให้ธรรมชาติเยียวยารักษาตัวเองเท่านั้น มาตรการฟื้นฟูอื่นๆ เช่นแนวคิดการปลูกปะการัง หรือย้ายปะการังเข้าไปช่วยปลูกซ่อมแซมอย่างที่บางคนเสนอนั้น อย่าทำเลยครับ เพราะคงไม่สามารถช่วยอะไรกับท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาลได้ การตัดกิ่งปะการังจากที่หนึ่งเพื่อย้ายมาปลูกก็เหมือนการก่อให้เกิดการทำลายขึ้นใหม่ในจุดนั้น และเมื่อนำมาลงปลูกส่วนใหญ่ก็จะตาย และหากรอดได้ก็จะไม่แข็งแรงเหมือนอย่างที่ไข่ปะการังจากธรรมชาติจะเลือกทำเลฝังตัวและก่อเกิดขึ้นเป็นหมู่ปะการังและแนวปะการังอย่างที่เราเห็นกัน การปลูกปะการังนั้นไม่มีใครทำได้หรอกครับนอกจากท้องทะเลและธรรมชาติเท่านั้น การเสนอปิดอุทยานทางทะเลแห่งนั้นๆไปเลยตามข้อเสนอของบางฝ่าย ซึ่งเป็นเสมือนการกันคนออกไปจากธรรมชาติอาจจะไม่ใช่หนทางแก้ไขที่ถูกต้อง แต่บางครั้งเมื่อคนไข้อาการหนักก็อาจจำเป็นต้องงดเยี่ยมกันบ้างเพื่อให้คนไข้ได้พักผ่อน ได้พักฟื้นร่างกายให้แข็งแรงเสียก่อน จึงค่อยเปิดให้เยี่ยมเยี่ยน การประกาศปิดเฉพาะจุดที่วิกฤตินั้นน่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมกว่า เพราะการประกาศปิดพื้นที่ทั้งอุทยานไม่ให้คนย่างกรายเข้าไปศึกษาเข้าไปท่องเที่ยวเลยนั้น เป็นการปิดกั้นไม่ให้ผู้คนเข้าไปรู้เข้าไปเห็นปัญหา ปิดกั้นไม่ให้ผู้คนเข้าไปมีส่วนร่วม ก็อาจจะทำให้คนที่รักและห่วงใยท้องทะเลไม่เห็นความสำคัญของปัญหาและอาจจะลืม เลือนเลิกคิดถึง เลิกห่วงใย เลิกเอาใจใส่ไปเลยก็เป็นได้ เมื่อท้องทะเลเกิดปัญหาเกิดวิกฤติ เราก็ควรจะใช้วิกฤติครั้งนี้สร้างจิตสำนึกให้ทุกฝ่ายร่วมกันมองเห็นความ สำคัญของปัญหา ร่วมกันปกป้องดูแลรักษาแนวปะการังและความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ใช้โอกาสให้นักดำน้ำที่เข้าไปดำน้ำในจุดที่ยังไม่ประกาศปิดมีส่วนช่วยกัน เป็นอาสาสมัครรายงานข้อมูลหรือภาพถ่ายการเปลี่ยนแปลง เพื่อศึกษาวิจัยถึงระยะเวลาของการฟื้นตัวของแนวปะการังและสรรพชีวิตใต้ท้องทะเล เพื่อนำมาเป็นประโยชน์ต่อแนวปะการังและท้องทะเลไทยต่อไปในอนาคตน่าจะเป็นทางออกที่ดีในยามนี้ จาก ..................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 25 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#65
|
||||
|
||||
งดดำน้ำในอุทยาน 7 แห่ง ฝ่าฝืนมีโทษปรับ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เตือนนักท่องเที่ยวงดดำน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติที่ประกาศทั้ง 7 แห่ง หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด ตั้งแต่ 1,000-10,000 บาท นายศรัณย์ ใจสอาด ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเข้มงวดในการปฏิบัติหน้าที่และตรวจตราไม่ให้มีนักท่องเที่ยวฝ่าฝืนลงดำน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติที่ประกาศงดกิจกรรมดำน้ำทั้ง 7 แห่ง ในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อให้ปะการังที่เสียหายฟื้นตัวกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง โดยเร่งจัดทำทุ่นสีขาวล้อมรอบบริเวณจุดที่ประกาศงดกิจกรรมดำน้ำให้ครบทุกแห่ง พร้อมจัดทีมเรือลาดตระเวนไปยังจุดต่าง ๆและถอดทุ่นผูกเรือเพื่อไม่ให้เรือนักท่องเที่ยวมีจุดแวะพัก ซึ่งหากพบนักท่องเที่ยวลงดำน้ำในจุดดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตักเตือน และในสัปดาห์หน้าจะเริ่มทำการเปรียบเทียบปรับผู้ที่ฝ่าฝืนตั้งแต่ 1,000-10,000 บาท. จาก ..................... ข่าว อสมท. MCOT News วันที่ 26 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#66
|
||||
|
||||
ภาพจาก FB ของ ดร.เนะ นลินี ทองแถม "อุทยานประกาศปิดพื้นที่แนวปะการังบางส่วนแล้ว แต่ก็ยังมีการนำนักท่องเที่ยวเข้าไปดำน้ำเหมือนเดิม บรเวณหินกลาง หมู่เกาะพีพี ที่ๆเคยมีปะการังสวยที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งตอนนี้เหลือปะการังไม่ถึง 30% สังคมควรจะทำอย่างไรกับผู้ที่มีหน้าที่ดูแลพื้นที่ และผู้ประกอบการที่เห็นแก่ตัวเหล่านี้ ทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมรังเกียจพฤติกรรมของมัน..."
__________________
Saaychol |
#67
|
||||
|
||||
เราน่าจะช่วยกันรณรงค์โดยให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ประสบเหตุการณ์อย่่างข้างบน รวบรวมภาพ หรือข้อมูล เอามาโพสผ่านสื่อให้เห็นกันชัดๆเลยทีเดียว ระบุ วันเวลาสถานที่เสร็จสรรพ
อย่างน้อยน่าจะกระตุ้นหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ขยันตรวจตราสอดส่องได้บ้าง ..
__________________
If we see the hearts of others, peace will follow You may say I'm a dreamer .. but I'm not the only one: John Lennon |
#68
|
||||
|
||||
อย่างที่น้องดอกปีบพูดนั้น ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า "ประจาน" นะคะ เห็นด้วยค่ะว่าเราไม่ควรจะนั่งดูเฉยๆ ปล่อยให้คนเห็นแก่ตัวมาทำลายทรัพยากรธรรมชาติของเรา โดยเราไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วค่อยมานั่งเสียใจ เสียดายของดีๆในภายหลัง
__________________
Saaychol |
#69
|
|||
|
|||
ผมหวังเพียงว่าเมื่อประกาศปิดแล้วก็ขอให้ปิดได้จริงๆ ที่ผ่านมาผลงานจากการปิดจุดดำน้ำยัง
ไม่ค่อยดีนัก เพียงแฟนตาซีจุดเดียวยังมีการลักลอบดำกันบ่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่ม VIP (Very Idiot Porson) ทั้งหลาย ผู้ที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้หลายคนอาจมีคำถามว่าการปิดจุดดำ น้ำแล้วปะการังจะฟื้นตัวได้อย่างไร การดำน้ำแบบscuba มีผลกระทบต่อแนวปะการังจริงหรือ ผมขออนุญาติอธิบายความเป็นส่วนๆตามความคิดของผมโดยอ้างอิงจากสิ่งที่ควรจะเป็นอีกที 1 ระดับการดำน้ำและจิตสำนึกอนุรักษ์ การดำน้ำแบบ scuba มีผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะนักดำน้ำมือใหม่ๆ ซึ่งการทำ bouyancy control ยังไม่ดีนัก ซึ่งในพื้นที่ๆมี ประกาศปิด มักจะเป็นแนวปะการังน้ำตื้นที่มีเซิร์จโยนตัวขึ้นลง โอกาสที่นักดำเหล่านี้จะสัมผัส กระแทก หรือเตะฟินโดนปะการังจึงมีสูง และตราบใดที่ยังไม่สามารถจัด zone ดำน้ำโดย จำกัดระดับหรือประสบการณ์ดำน้ำที่จะดำในแต่ละจุดได้ การที่จะเอานักดำน้ำที่ไร้ประสบการณ์ ไปดำน้ำในแหล่งปะการังที่มีความอ่อนไหวนั้น ถือเป็นความเสี่ยงต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ใน ส่วนของจิตสำนึกนั้นยิ่งเป็นความยากลำบากในการตรวจสอบ นักดำน้ำระดับครูอาจมีจิตสำนึก ที่น้อยกว่าเด็กสมัยใหม่ก็ได้ ทั้งนี้การปิดไม่ให้มีกิจกรรมการดำน้ำไม่ว่าจะเป็น scuba หรือ snorkel ในพื้นที่ที่มีความล่อแหลมต่อการเสื่อมโทรมควรจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการลด ความเสี่ยงต่อแนวปะการัง 2 การทิ้งน้ำเสียหรือของเสียหรือกิจกรรมอื่นๆที่สืบเนื่องจากการดำน้ำ ตามที่กล่าวมา ในข้อ 1 คือแนวปะการังแข็งที่ประกาศปิดส่วนใหญ่เป็นแนวปะการังน้ำตื้น แน่นอนเหลือเกินว่า ความอ่อนไหวจะต้องสูง การสัมผัสน้ำทิ้งหรือของเสียเหล่านี้ย่อมง่ายกว่า ยกตัวอย่าง ในแนว ปะการังที่น้ำลึกมาก หรือกองหิน การทิ้งน้ำเสียหรือของเสียลงจากเรือกว่าจะลงถึงผิวแนวก็จะ โดนกระแสน้ำพัดไปไกลจากแนวแล้ว ส่วนในน้ำตื้นของเสียเหล่านี้จะตกลงบนแนวโดยที่กระแส น้ำยังไม่สามารถพัดพาออกไปได้ นอกจากนี้ยามว่างจากการดำน้ำหรือเพื่อนๆที่ไม่ได้ดำน้ำ อาจถือโอกาสให้อาหารปลาเพื่อคววามเพลิดเพลิน ปลากินสาหร่ายที่ปกคลุมปะการังก็มากิน โต๊ะจีนและละเลยหน้าที่ตัวเอง เป็นผลกระทบหลายชั้นต่อแนวปะการัง การปิดพื้นที่ก็จะช่วย ลดความเสี่ยงในส่วนนี้ลงไปได้ในระดับหนึ่ง 3 กิจกรรมดำน้ำบางลักษณะซึ่งต้องทำในบริเวณน้ำตื้นๆ และมีแนวปะการังโดยเฉพาะพื้นที่ๆ ประกาศปิดนั้น เป็นอันตรายต่อแนวปะการังและรบกวนการใช้ชีวิตของสิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง เช่นกิจกรรม night dive ซึ่งโดยทั่วไปจะทำในที่ตื้น ซึ่งการดำน้ำในที่ตื้นนั้นปกติก็ส่งผล กระทบอยู่แล้วยิ่งมาดำ night dive ซึ่งทัศนวิสัยจำกัดทำให้การควบคุมการลอยตัวก็ลำบาก โดยเฉพาะพวกที่ลักไก่เอาเด็กนักเรียนลงดำ จะสร้างความเสียหายต่อแนวปะการังได้มาก เป็น พิเศษ ในความเป็นจริงเรายังไม่มีความสามารถในการคัดกรองการลักไก่เช่นนี้ได้ ดังนั้นการปิด พื้นที่เพื่อลดการกระทำเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ 4 การปิดพื้นที่ซึ่งหมายถึงการหยุดกิจกรรมทุกอย่างในพื้นที่นั้นที่ล้วนเป็นการลดผลกระทบ ต่อแนวปะการังที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันก็ควรมีการเสริมกำลังในการ ตรวจตรา และสนับสนุนให้มีการติดตามตรวจสอบหรืองานวิจัยควบคู่กันไป ไม่ใช่ปิดดำน้ำแล้ว ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล ก็หวานพวกประมงเขาล่ะ และสุดท้ายอย่างที่ผมเคยบอกย้ำบ่อยๆคือปิดแล้วก็ต้องปิดให้จริง การช่วยลดผลกระทบ เหล่านี้ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย อาจกระทบต่อผู้มีธุรกิจด้านนี้บ้างแต่ควรยอมเสียเล็กๆน้อยๆบ้าง เพื่อให้วันข้างหน้าสิ่งเหล่านี้จะอยู่คู่ลูกหลานเราต่อไป ผู้ประกอบการบางท่านอาจมั่นใจใน มาตรฐานการบริการ และจิตสำนึกการอนุรักษ์ของท่านเอง ซึ่งในส่วนนี้ผมก็อนุโมทนาด้วย แต่ ท่านอื่นๆที่ไม่เป็นอย่างท่านนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มี ดังนั้นการปิดเพื่อป้องกันคนเหล่านี้ไม่ให้มาซ้ำ เติมทรัพยากรจึงเป็นสิ่งควรทำครับ ผมจะยกตัวอย่าง มีคนดี 100 คนปลูกต้นไม้ 100 ต้นให้ โตขึ้นใช้เวลา 10 ปี แต่หากจะทำลายละก็ มีแค่คนชั่ว 1 คนก็สามารถตัดต้นไม้ทั้ง 100 ต้นลง ได้ในเวลาแค่ 1 วัน ในหมู่ท่านทั้งหลายแน่ใจหรือว่าจะไม่มีคนชั่วแทรกซึมหากินอยู่ ดังนั้น ช่วยๆกันเถอะครับเพื่อทะเลของเรา |
#70
|
||||
|
||||
ยอดเยี่ยมไปเลยค่ะน้อง sea addict.....เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะว่าปิดแล้วก็ขอให้ปิดจริงๆอย่าให้ใคร (ไม่ว่าจะวิเศษวิโสหรือใหญ๋แค่ไหน) เข้าไปทำกิจกรรมรบกวนแนวปะการังนั้นอีกเลย น้อง sea addict ได้ยกตัวอย่างจุดดำน้ำ Fantasy Point ที่เกาะแปด สิมิลัน ซึ่งถูกประกาศปิดไปเมื่อ 3 ปีก่อน แต่ก็ยังมีคนเส้นใหญ่ขอลงดำอยู่เรื่อยนั้น เคยเห็นคนใช้เส้น ไปลงดำน้ำที่นี่แล้วมาคุยฟุ้งอวดคนอื่นแล้ว ก็รู้สึกทนไม่ได้เหมือนกัน เราเองได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานฯ ให้เข้าไปทำงานปล่อยสัตว์น้ำ เก็บขยะและตัดอวนในเขตอุทยานฯที่สิมิลัน แม้ว่าทางเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้เราลงดำน้ำที่ Fantasy Point ได้ เราก็ยังปฏิเสธที่จะลงดำน้ำ เพราะเกรงจะพลาดพลั้งไปทำร้ายแนวปะการังที่กำลังฟื้นคืนดี ช่วยอะไรกันได้ก็รีบช่วยเถิดนะคะ...ก่อนที่จะไม่เหลือแนวปะการังสวยๆให้เราได้ชื่นชม....
__________________
Saaychol แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 26-01-2011 เมื่อ 11:20 |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
เรียบเรียงคำตอบ | |
|
|