เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #81  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,158
Default


ผู้จัดการออนไลน์
21-6-15


หลังเห็นภาพสุดโหด ชาวเน็ตจุดกระแสจี้รัฐจัด “กระเบนราหู” เป็นสัตว์คุ้มครอง



ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในโลกสื่อสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ภาพอันน่าโศกสลดของแวดวงประมงไทยเป็นภาพการขนถ่ายและชะแหละ “ปลากระเบนราหู (แมนตา)” ของชาวประมงไทยที่จังหวัดระนอง โดยระบุว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะในทะเลอันดามันเหลือปาชนิดนี้ไม่เกิน 50 ตัวเท่านั้น
       
       เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านระบบนิเวศทางทะเล และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า “ฆ่าแมนต้า ความตายของกระเบนใหญ่ที่สุดในโลก สนับสนุนกระเบนราหูเป็นสัตว์คุ้มครอง” พร้อมรายละเอียดว่า
       
       “ภาพอันน่าเศร้าที่เพื่อนธรณ์เห็น เกิดขึ้นที่ท่าเรือแห่งหนึ่งในประเทศไทย สัตว์ที่นอนตายกองกันอยู่ท้ายกระบะ คือหนึ่งในกลุ่มปลากระเบนใหญ่ที่สุดในโลก และสัตว์ที่เป็นเพื่อนรักของนักดำน้ำทุกราย กระเบนกลุ่มนี้ทำรายได้ให้การท่องเที่ยวมหาศาล เป็นความประทับใจแห่งอันดามันที่ผู้มาเยือนไม่เคยลืมเลือน
       
       น่าเสียดายที่ในทะเลมีเครื่องมือประมงบางอย่างที่สามารถจับแมนต้าและญาติกลุ่มนี้ที่น่ารักได้ น่าเสียดายที่มีความตายเกิดขึ้นอย่างโหดร้ายในทะเล
       
       การอนุรักษ์แมนต้าและญาติเป็นเรื่องยาก การห้ามการประมงกระเบนกลุ่มนี้เหมือนที่เคยใช้กับฉลามวาฬเป็นเรื่องที่ต้องศึกษา อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้แมนต้าและญาติตายไปเรื่อยๆ เป็นสิ่งที่คนรักทะเลยอมรับไม่ได้ ทางออกสุดท้าย...สัตว์คุ้มครอง
       
       ปลากระเบนกลุ่มแมนต้าและญาติเป็นสัตว์สงวนเช่นบรูด้าไม่ได้ เพราะเรามีข้อมูลน้อยมาก แต่เราอาจมีช่องทางในเรื่องสัตว์คุ้มครอง แม้มันจะยากแสนสาหัส แต่อย่างน้อยก็น่าจะดีกว่าเราไม่ทำอะไรเลย
       
       ผมจึงลองเสนอแผนง่ายๆ ดังนี้
       
       - พวกเราช่วยกันผลักดันวาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวน หากสำเร็จ กระทรวงทรัพยากรฯ จะจัดประชุมเพื่อพิจารณา หากเป็นไปได้ เราจะพยายามผลักดันแมนต้าและญาติให้เป็นสัตว์คุ้มครองเข้าไปในการประชุมครั้งนี้ด้วย
       
       - แมนต้าและกระเบนกลุ่มนี้เป็นปลาที่ออกลูกน้อยมาก หากแมนต้ารุ่นนี้ถูกฆ่าหมด โอกาสที่ปลากลุ่มนี้จะสูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำบริเวณนี้เป็นเรื่องง่าย
       
       - เรามีบทเรียนกับปลาฉนากกับปลาโรนินมาแล้ว ปัจจุบัน เราไม่เจอปลาฉนากอีกเลยและแทบไม่เจอโรนินอีกแล้ว (ที่นักดำน้ำพอเจออยู่บ้างคือโรนัน)
       
       - แมนต้าและเพื่อนบางชนิดอยู่ใน CITES บัญชี 2 ถือเป็นสัตว์ที่ทั่วโลกให้การคุ้มครอง โอกาสนำเสนอเป็นสัตว์คุ้มครองในไทยเป็นไปได้
       
       - ระหว่างนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอาจกรุณาศึกษาความเป็นไปได้ของปลากระเบนกลุ่มนี้ก่อนครับ
       
       เอาเป็นว่า เรามาเริ่มต้นกันตรงนี้ก่อน เพื่อนธรณ์ช่วยกันได้โดยโหวตสนับสนุนให้วาฟบรูด้าเป็นสัตว์สงวน ทำให้เกิดการประชุม เราจะช่วยกันผลักดันแมนต้าและญาติๆเป็นสัตว์คุ้มครองครับ
       
       • www.change.org/saveourwhale”
       
       ปลากระเบนแมนตา หรือ ปลากระเบนราหู (Manta ray) เป็นปลากระดูกอ่อนจำพวกหนึ่ง จัดเป็นปลากระเบนที่ใหญ่ที่สุดในโลก อาจมีความกว้างช่วงปีก (ครีบหู) ได้ถึง 6.7 เมตร หรือ 22 ฟุต มีน้ำหนักได้ถึง 1,350 กิโลกรัม หรือ 3,000 ปอนด์ อาศัยอยู่ในน่านน้ำเขตร้อนทั่วโลก โดยเฉพาะรอบ ๆ แนวปะการัง (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)
       
       ทั้งนี้จากข้อมูล ปัจจุบันปลากระเบนราหู (แมนตา) ยังไม่ได้เป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองใดๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองทางกฎหมาย ทางฝั่งกรมประมง ว่าด้วยการห้ามทำการประมง หรือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จากพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 จากทางฝั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”
       
       
__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #82  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,158
Default

ผู้จัดการออนไลน์
29-6-15


ทัพเรือภาค 2 จับเรือประมงเวียดนามลอบคราดปลิงทะเล เผย 10 เดือนจับได้แล้วกว่า 60 ลำ






ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เรือหลวงศรีราชา กองทัพเรือภาคที่ 2 จับกุมเรือประมงเวียดนาม 1 ลำ พร้อมลูกเรือ 6 คน ขณะลักลอบเข้ามาทำการประมงคราดปลิงทะเลในอ่าวไทย เผยในรอบ 10 เดือนสามารถจับกุมเรือประมงเวียดนามได้แล้วถึง 68 ลำ

วันนี้ (28 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ร.ท.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 ได้สั่งการให้เรือหลวงศรีราชา ทัพเรือภาคที่ 2 สงขลา ออกลาดตระเวนตรวจสอบในพื้นที่อ่าวไทย และสามารถจับกุมเรือประมงเวียดนาม จำนวน 1 ลำ พร้อมลูกเรือ 6 คน ที่ลักลอบเข้ามาทำการประมงคราดปลิงทะเลในเขตน่านน้ำอ่าวไทย ทางด้านทิศเหนือของเกาะโลซิน จ.ปัตตานี หลังจากได้รับแจ้งจากเรือประมงในชมรมวิทยุมดดำนาวีทัพเรือภาคที่ 2 และนำลากกลับเข้าฝั่งที่เทียบท่าเทียบเรือฐานทัพเรือสงขลา ทัพเรือภาคที่ 2 มาสอบสวนทราบว่า เดินทางมาจากเมืองเกียนยาง ประเทศเวียดนาม เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวส่ง สภ.เมืองสงขลา ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง และ พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิการประมงและการประกอบการเรือประมงไทย ก่อนที่จะผลักดันกลับประเทศต่อไป



สำหรับการจับกุมเรือประมงเวียดนามที่รุกล้ำเข้ามาทำการประมงในน่านน้ำไทยในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 19 ในรอบ 10 เดือน นับตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2557 ถึงมิถุนายนปีนี้ สามารถจับกุมเรือได้แล้ว จำนวน 68 ลำ และพบว่า ยังคงลักลอบรุกล้ำน่านน้ำอ่าวไทยเข้ามาทำการประมงคราดปลิงทะเลผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวไทย

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #83  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,158
Default


ไทยรัฐ
30-6-15

เกมวัดใจ



ปัญหาหลายด้านประดังเข้ามาพร้อมกันเล่นเอารัฐบาล หัวหมุนเป็นใบพัดเรือบิน

ปัญหาเศรษฐกิจก็หนักอยู่แล้ว ยังดันเกิดวิกฤติภัยแล้งซ้ำเติม

ปัญหาไอซีเอโอ “ปักธงแดง” ต้องเร่งแก้ไขให้เสร็จก่อนสิ้นปี

ยังมีปัญหาสหภาพยุโรป หรืออียู แจก “ใบเหลือง” ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไขให้เสร็จภายใน 6 เดือน

เจอทั้งธงแดงไอซีเอโอ เจอทั้งใบเหลืองอียู เป็นแพ็กคู่ทูอินวัน

“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่ากรณีสหภาพยุโรป หรืออียูแจก “ใบเหลือง” ให้เวลารัฐบาลไทยแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายให้เสร็จภายใน 6 เดือน

มิฉะนั้น อียูจะเปลี่ยน “ใบเหลือง”...เป็น “ใบแดง”

ห้ามสินค้าทะเลจากไทยเข้าตลาดอียูอย่างสิ้นเชิง!!

ซึ่งจะทำให้รายได้ประเทศหายไปห้าหมื่นล้านบาทต่อปี

ใบเหลืองอียู จึงเป็นวาระเร่งด่วนที่นายกฯ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ต้องจัดระเบียบการประมงอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

พรุ่งนี้ (1 ก.ค.) จะถึงกำหนดดีเดย์ที่รัฐบาลจะเริ่มตรวจสอบ จับกุมดำเนินคดี เรือประมงไทยทุกลำที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.

เอาจริงซะที...หลังจากรัฐบาลผ่อนผันมาแล้ว 2 เดือน

“แม่ลูกจันทร์” ยํ้าว่าตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป เรือประมงไทยจะต้องปฏิบัติตามกฎเหล็ก คสช.

1, เรือประมงทุกลำต้องจดทะเบียน และต้องมีใบอนุญาตใช้เรือ เพื่อแก้ปัญหาเรือเถื่อน เรือสวมทะเบียน ที่ปล่อยปละละเลยกันมานาน

2, ลูกเรือทุกคนต้องขึ้นทะเบียน และมีเลขประจำตัว เพื่อป้องกันปัญหาแรงงานเถื่อน ที่เป็นเงื่อนไขให้อียูแจกใบเหลืองใบแดง

3, ห้ามเจ้าของห้องเย็นแพปลา ผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าทะเลรับซื้อสัตว์นํ้าจากการประมงผิดกฎหมายทุกกรณี

4, การเข้าฝั่ง หรือออกจากฝั่งของเรือประมงทุกลำต้องขออนุญาตตามขั้นตอน

5, เรือประมงขนาดตั้งแต่ 30 ตันขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบติดตาม (วีเอ็มเอส) เพื่อตรวจสอบตำแหน่งเรือและจุดที่ทำประมง

6, เครื่องมือทำการประมงต้องเป็นมาตรฐานสากล ห้ามใช้เครื่องจับปลาที่ทำลายระบบนิเวศน์ ทำลายปะการัง ทำลายการวางไข่และทำให้สัตว์ทะเลเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

7, เรือประมงที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.จะถูกจับกุมดำเนินคดี มีโทษปรับครั้งละ 1 แสนบาท โทษจำคุก 1 ปี

“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่ายังไม่ทันถึงกำหนดที่รัฐบาลจะเริ่มจัดระเบียบการประมงอย่างเข้มงวดจริงจัง

กลุ่มเจ้าของเรือประมงก็เริ่มออกอาการทันที

อ้างว่าระเบียบใหม่เข้มงวดเกินไป จนเจ้าของเรือประมงปรับตัวไม่ทัน

ล่าสุด เครือข่ายเรือประมง 22 จังหวัดกว่า 30,000 ลำ ประกาศจะหยุดจับปลา เอาเรือกลับเข้าฝั่งพร้อมกัน

อ้าว...หยุดจับปลากันหมดแล้ว

ชาวบ้านจะเอาปลาที่ไหนกิน??

“แม่ลูกจันทร์” สรุปว่ารัฐบาลมีทางเลือก 2 ทาง

ถ้าจะแก้ปัญหาใบเหลืองอียู ก็ต้องเดินหน้าจัดระเบียบการประมงให้เสร็จภายใน 6 เดือน

ซึ่งจะเป็นการยกระดับการประมงไทย และรักษาทรัพยากรทางทะเลไทยให้ยั่งยืนในระยะยาว

หรือ...ถ้าไม่อยากให้เรือประมง 22 จังหวัดนัดหยุดจับปลา ซึ่งจะทำให้อาหารทะเลขาดแคลน

รัฐบาลต้องผ่อนผันการจัดระเบียบไปอีกปี...? หรือสองปี??

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้แลแฮ.

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #84  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,158
Default

ข่าว อสมท. MCOT News
30-6-15

วิถีประมงพื้นบ้าน พลิกฟื้นวิกฤติทะเลไทย



หนึ่งปัญหาที่อียูตั้งคำถามถึงการจัดการประมงไทยผิดกฎหมาย คือ การทำประมงเกินศักยภาพของท้องทะเล และมีเรือผิดกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งในไทยมีการออกใบอนุญาตเรืออีกประเภทหนึ่ง คือ เรือประมงพื้นบ้าน ล่าสุดชาวประมง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็เรียกร้องให้รัฐส่งเสริม เพราะเป็นการทำประมงที่เป็นแบบอย่าง เน้นพึ่งพาธรรมชาติ

ช่วงเวลา 02.00 น. ของทุกวัน เป็นเวลาที่ชาวประมงพื้นบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะออกเรือไปไกลกว่า 8 ไมล์ทะเล หรือราว 10 กิโลเมตร “ปิยะ” เจ้าของเรือประมงพื้นบ้านลำนี้ เล่าว่า แต่ก่อนไม่ต้องออกเรือแต่เช้า และไม่ต้องไปไกลชายฝั่งมาก ก็ได้ปลาจำนวนมากพอขายเลี้ยงครอบครัวแล้ว แต่ทุกวันนี้ปลาเหลือน้อย เรือทุกลำโดยเฉพาะเรือพาณิชย์ก็ต้องหาปลาให้ได้มากที่สุด



วิถีการทำประมงพื้นบ้านจะใช้อุปกรณ์เพียง 2-3 ชิ้น ใช้เฉพาะอวนติดตา ขนาดตาอวนไม่น้อยกว่า 2.5 เซนติเมตร

“ปิยะ” ยังเล่าเพิ่มเติมว่า ปลาที่ได้วันนี้นำไปขาย เมื่อหักต้นทุนค่าน้ำมันที่จ่ายไป เหลือเงินเป็นกำไรไม่มากนัก แต่ก็พออยู่ได้ เพราะใช้แรงงานเป็นคนในครอบครัว ปลาทูและปลาแดงที่ได้มีขนาดโตเต็มวัย ขายได้กิโลกรัมละ 40-50 บาท ถึงจะได้เงินไม่มาก แต่ก็ภูมิใจที่ได้จับสัตว์น้ำแบบไม่ทำลายท้องทะเลที่เขารัก



ชุมชนอ่าวคั่นกระได มีชาวประมงพื้นบ้านอยู่กว่า 100 ครัวเรือน เมื่อปี 2551 ทะเลที่นี่เผชิญกับภาวะวิกฤติ เหตุทำประมงผิดวิธีมานับสิบปี ใช้อวนตาถี่กวาดเอาปลาทุกชนิดที่หาได้ อาชีพประมงแทบล่มสลาย กระทั่งชาวบ้านเริ่มคิดพลิกฟื้นชายฝั่ง เปลี่ยนเครื่องมือหาปลา ใช้เวลาเพียง 1 ปี ทะเลกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง แนวกำแพงจากต้นมะพร้าวนี้เป็นแนวกั้นเริ่มต้นเขตอนุรักษ์ชายฝั่งที่ชาวบ้านทำขึ้นเอง

ไม่ไกลจากชายฝั่งเป็นที่ตั้งธนาคารปูของชุมชน “ลุงน้อย” ชาวประมงพื้นบ้านอีกคนหนึ่ง ชี้ให้ดูแม่ปูไข่ 13 ตัว ซึ่งชาวบ้านจะหมุนเวียนกันมาช่วยดูแลให้แม่ปูเหล่านี้ขยายพันธุ์ต่อไปได้อีก



ไทยมีเรือประมงพื้นบ้านประมาณ 40,000 ลำ ใน 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล เรียกร้องให้กรมประมงศึกษาผลกระทบและการมีส่วนร่วมของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ก่อนออกแผนบริหารจัดการเรือประมงใหม่ทั้งระบบ.

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #85  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,158
Default

GREENPEACE
30-6-15

เมนูเอ็นหอยจอบ กับรอยแผลบาดลึกใต้ท้องทะเล

สะดือหอย หรือเอ็นหอยจอบที่เราชอบกินกัน มีที่มาจากการประมงที่ทำร้ายท้องทะเลมากที่สุด และสร้างความขัดแย้งมากที่สุดระหว่างผู้ทำการประมงอย่างรับผิดชอบและไร้ความรับผิดชอบ หากคุณรู้ว่าการทำประมงเอ็นหอยจอบนั้น ต้องแลกมาด้วยระบบนิเวศทางทะเลที่พังทลายต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัว มาจากการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม และทำให้ผู้บริโภคเป็นปลายเหตุของปัญหาโดยไม่รู้ตัว .. คุณยังจะอยากกินเอ็นหอยจอบอยู่อีกไหม




ประมงหอยจอบ เปลี่ยนทะเลเป็นซากหอยและตะกอนดิน

การทำประมงหอยหอยจอบ เพื่อเอาเอ็นหอยมีเบื้องหลังที่ทำร้ายท้องทะเล ด้วยการดำเอาหอยขึ้นมา เลือกตัดเฉพาะเอ็นของหอยจอบเพียง 2 เซนติเมตรเท่านั้น แล้วทิ้งเนื้อหอยและเปลือกกลับลงสู่ท้องทะเล ส่งผลให้น้ำทะเลเน่าเสีย เหมือนกับการรื้อบ้านของสัตว์น้ำวัยอ่อน และปะการัง ทิ้งให้ทะเลเต็มไปด้วยเศษซากของเปลือกหอยและตะกอนดิน

“หอยจอบมีความยาวสูงสุดประมาณ 30-50 เซนติเมตร ฝังตัวอยู่ในดินแนวชายฝั่งทะเลไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล โผล่ขึ้นมาเพียงนิดเดียว ถ้าดินบริเวณนั้นอุดมสมบูรณ์สูง ในหนึ่งตารางเมตรจะมีประมาณ 10 ถึง 20 ตัว ยิ่งหนาแน่นจะมีหมึกกล้วย หมึกกระดอง เพรียง และแพลงก์ตอน อาศัยอยู่เยอะ ถือเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน และเมื่อเราขุดหอยจำนวนมากขึ้นมานั่นหมายถึงการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยสัตว์น้ำวัยอ่อนและระบบห่วงโซ่อาหาร เกิดปัญหาน้ำขุ่นน้ำเสีย สัตว์น้ำจะต้องอพยพ รวมถึงไม่สามารถทำประมงอื่นได้ อีกทั้งเศษซากเปลือกหอยส่งผลทำให้เครื่องมือประมงพื้นบ้านได้รับความเสียหาย” นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย ประจวบคีรีขันธ์ กล่าว

ผืนทะเลอันอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์กำลังถูกรุกรานด้วยการประมงหอยจอบ ตั้งแต่ปากน้ำปราณ สามร้อยยอด บ้านปากคลองเกลียว โพธิ์เรียง บ่อนอกและทุ่งน้อย ซึ่งอยู่ในแนวเขตอนุรักษ์ของจังหวัดที่ประกาศไว้ 5 ไมล์ทะเล เพื่อสร้างความมั่นคงภายในจังหวัดเพื่อยุติแก้ไขความขัดแย้งเรื่องหอยจอบ จนกว่าจะมีข้อตกลงหรือกฏหมายร่วมกัน แต่ยังถือไม่ใช่กฎหมายประมง โดยการเคลื่อนไหวของการประมงที่ทำลายท้องทะเลเพียงเพื่อสะดือหอยขนาด 2 เซนติเมตรนี้อยู่ภายใต้การจับตามองของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากการสังเกตุพบว่าเรือประมงหอยจอบอาจมีมากถึง 180 ลำต่อวัน ซึ่งแต่ละลำนั้นจะทำการประมงครั้งละ 3-5 ตันต่อลำ ส่วนมากจะเป็นเรือมาจากจังหวัดอื่น โดยที่แม้ชาวประมงพื้นบ้านประจวบคีรีขันธ์นั้นรู้ว่าตลอดแนวชายฝั่งของจังหวัดมีหอยจอบอาศัยอยู่จำนวนมากก็ตกลงร่วมกันในชุมชนว่าจะไม่ทำการประมงที่ทำลายล้างระบบนิเวศ และทำลายวิถีชีวิตชุมชน




ชีวิตและน้ำตาที่ต้องสังเวยเพื่อสะดือหอย

นายปิยะ เทศแย้ม อธิบายเพิ่มว่า “การประมงหอยจอบทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชน เนื่องจากมีการละเมิดกติกาข้อตกลงระหว่างกลุ่มดำหอยจอบ และพี่น้องประมงพื้นบ้านของปราณบุรี ซึ่งเรารับไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้ดำหอย กล่าวคือ กระบวนการดำหอยนั้นจะใช้เรือทอดสมอไว้เฉยๆ มีปั๊มลมบนเรือคล้ายปั๊มลมปะยาง เพื่อให้คนอยู่ในน้ำใช้เป็นออกซิเจน และใช้ตะกั่วลูกละกิโลกรัมจำนวน 30 ลูก เป็นน้ำหนักรวม 30 กิโลกรัม ถ่วงไว้ที่เอว คนงานมีอัตราเสียชีวิตสูงเพราะเมื่อเครื่องดับหรือสายยางรั่ว ก็จะไม่สามารถกลับขึ้นมาบนผิวน้ำได้ เนื่องจากถูกตะกั่วที่หนักถึง 30 กิโลกรัมถ่วงอยู่ โดยในปีที่ผ่านมามีการเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 25 คน ยังไม่นับรวมผู้ที่สูญหายในท้องทะเลอีกประมาณ 40 คน และมีบางกรณีที่เรือแกล้งทำสายยางแตก หรือเครื่องดับ เพื่อให้การเกิดสายยางรั่วทำให้เสียชีวิตได้ เพียงเพราะไม่สามารถจ่ายค่าแรงได้ นอกจากนี้แรงงานที่จับหอยโดยส่วนมากจะเป็นแรงงานต่างชาติอีกด้วย เนื่องจากคนไทยรับรู้ดีว่ามีความเสี่ยงที่จะจับหอยจอบด้วยวิธีนี้”

ยากที่จะคาดคิดว่าก่อนที่จะได้มาซึ่งเอ็นหอยนั้น ต้องมีผู้เดือดร้อนได้รับผลกระทบจำนวนมาก นอกจากชาวประมงพื้นบ้านผู้อนุรักษ์ท้องทะเลจะไม่สามารถทำการประมงในบริเวณนั้นได้แล้ว ยังมีประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของลูกจ้างจนกระทั่งมีกรณีเสียชีวิต ซึ่งยังไม่รวมถึงระบบนิเวศทางทะเลที่ต้องเสียหายไปจนยากจะฟื้นฟู



“ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่หมู่บ้านม่องล่าย ในชุมชนอนุญาตให้ดำหอยจอบอยู่ 2 เดือน ในพื้นที่ 5 ตารางกิโลเมตร จนกระทั่งหอยหมด ขณะนี้ผ่านมา 2 ปีแล้วแต่ยังไม่มีสัตว์น้ำให้ทำการประมง จนต้องมาทำการประมงที่หมู่บ้านคั่นกระได กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งเพิ่มเนื่องจากแต่พื้นที่มีกฎกติกาแตกต่างกันออกไป และแต่ละพื้นที่ไม่สามารถรองรับเรือประมงที่อพยพมาได้ทั้งหมด” นายปิยะ เทศแย้ม เสริม

ล่าสุดได้มีกฎหมายห้ามทำการประมงหอยจอบห่างจากชายฝั่งในระยะ 5 ไมล์ทะเล จากข้อเรียกร้องของประมงพื้นบ้านแล้ว เนื่องจากการดำหอยจอบเป็นการประมงที่ทำลายระบบนิเวศอย่างร้ายแรง จากการสำรวจตัวอย่างจากจังหวัดตราดพบว่า ต้องใช้ระยะเวลากว่า 5 ปีในการฟื้นสภาพความอุดมสมบูรณ์ของหอยจอบในท้องทะเล

ยังมีอาหารทะเลอีกมากให้เราได้เลือกทาน และเอ็นหอยจอบไม่ควรเป็นเมนูที่เราส่งเสริม ไม่ว่าจะมองในมุมไหน หากพื้นที่บริเวณที่หอยจอบอาศัยอยู่นั้นคงความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้ เราจะยังมีบ้านให้สัตว์น้ำได้อยู่อาศัย และมีปลาอร่อยๆ เติบโตให้เราได้กินอีกมาก เรายังสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทะเลชายฝั่งได้อีกมาก โดยที่ไม่ทำลายจนสิ้นเพียงเพื่อการขุดเอาเอ็นของหอยจอบ

ก่อนสั่งเมนูเอ็นหอยจอบครั้งหน้า ลองคิดถึงที่มาของหอยจอบอีกครั้งว่าคุ้มแล้วหรือกับสิ่งที่เราต้องแลกมาเพื่ออาหารหนึ่งจาน เพื่อที่คุณจะไม่เป็นปลายทางของปัญหาการประมงหอยจอบอย่างไร้ความรับผิดชอบ ทำร้ายทั้งท้องทะเลจนยากจะฟื้นฟู และทิ้งคราบน้ำตาไว้ให้กับชาวประมงพื้นบ้านผู้อนุรักษ์ทะเล

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #86  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,158
Default

ไทยรัฐ
2-7-15

ไม่โอเค



กรณีเครือข่ายประมง 22 จังหวัดประกาศฮึ่มๆให้เรือประมงทุกลำหยุดจับปลาพร้อมกัน

เพื่อกดดันรัฐบาลให้ชะลอการตรวจสอบจับกุมเรือประมงผิดกฎหมายไปก่อนชั่วคราว

ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการก่อหวอดประท้วงคำสั่งรัฐบาล คสช.

โดยใช้เรือประมงสามหมื่นลำเป็นเงื่อนไขต่อรอง

เป็นเกมวัดใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรง

“แม่ลูกจันทร์” เชื่อว่า ถ้าเป็นยุครัฐบาลปกติ จะต้องรีบเชิญแกนนำเครือข่ายเรือประมง 22 จังหวัดมาเจรจาต่อรอง

เพราะถ้าเรือประมง 22 จังหวัดนัดหยุดงานประท้วงรัฐบาลจริงๆ จะทำให้ “กุ้งหอยปูปลา” ขาดตลาด พี่น้องประชาชนจะเดือดร้อน

และกระทบการส่งออกสินค้าอาหารทะเล

แต่ยุคนี้ ยุค คสช. การประกาศปิดอ่าวไทยนัดหยุดจับปลาพร้อมกัน ไม่ทำให้รัฐบาลต้องถอยกรูดตามแรงกดดัน

เนื่องจากรัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาใบเหลืองอียูให้เสร็จเรียบร้อยภายในเวลา 6 เดือน

เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศในระยะยาว

คำตอบของรัฐบาลคือ...เดินหน้าลูกเดียว

“แม่ลูกจันทร์” ชื่นชม พล.อ.ประยุทธ์ ที่ประกาศจุดยืนเด็ดขาดชัดเจน ซึ่งจะทำให้อียูเกิดความมั่นใจว่ารัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาเรือประมงผิดกฎหมายอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

พล.อ.ประยุทธ์ ยํ้าว่าถ้าเรือประมง 22 จังหวัดจะนัดหยุดจับปลาพร้อมกันก็หยุดไป

แต่รัฐบาลจะไม่ยอมผ่อนผันการกวดขันจับกุมเรือประมงผิดกฎหมายจากกำหนดเดิม

“แม่ลูกจันทร์” เห็นใจความเดือดร้อนของเครือข่ายเรือประมง ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนนับแสนคน

เป็นธุรกิจสำคัญที่สร้างรายได้เลี้ยงประเทศหลายแสนล้านบาทต่อปี

“แม่ลูกจันทร์” ยอมรับว่ามาตรการจัดระเบียบของรัฐบาลจะทำให้เรือประมงไทยทำมาหากินไม่สะดวกเหมือนเดิม

โดยเฉพาะเรือประมงเถื่อน เรือประมงสวมทะเบียนที่มีจำนวนนับหมื่นลำ

มาตรการห้ามจ้างแรงงานเถื่อนจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจประมงต้องจ่ายค่าจ้างสูงขึ้นอีกเท่าตัว

แต่ถ้ามองในแง่ดี...นี่คือการยกมาตรฐานการประมงไทยให้เป็นระบบครบวงจร

การบังคับให้เรือประมงทุกลำต้องมีใบอนุญาตทำประมง ลูกเรือประมงทุกคนต้องมีบัตรประจำตัว ฯลฯ จะทำให้ประเทศ ไทยปลดล็อก “ใบเหลืองใบแดง” อย่างสิ้นเชิง

การควบคุมเครื่องมือประมงที่ไม่ทำให้สัตว์ทะเลสูญพันธุ์จะเกิดประโยชน์มหาศาลต่อธุรกิจประมงไทยในระยะยาว

“แม่ลูกจันทร์” ยอมรับว่าการทำสิ่งผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมายย่อมยากลำบากเป็นธรรมดา

การต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ 15 ข้อของอียูทำให้เครือข่ายประมงไทยไม่แฮปปี้แน่นอน

แต่ถ้าไม่ทำวันนี้...ปล่อยไว้จนอียูแจกใบแดงจะเดือดร้อนสาหัสยิ่งกว่าเดิม

“แม่ลูกจันทร์” อยากขอร้องเรือประมงไทยอย่านัดกันหยุดจับปลา เพราะจะทำให้สินค้าอาหารทะเลขาดแคลน

แต่ถ้าหยุดจับปลานานเกินไปจะทำให้เจ้าของเรือประมงเองได้รับผลกระทบเช่นกัน

ไม่มีอาหารทะเลกินก็ยังกินหมูเห็ดเป็ดไก่แทน

แต่ถ้าเรือประมงหยุดจับปลาก็จะไม่มีรายได้อะไรเลย

เจ้าของเรืออาจไม่เดือดร้อน แต่คนงานเดือดร้อนนะโยม.

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #87  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,158
Default

เดลินิวส์
2-7-15


'ปั้นฮีโร่' แห่งอ่าวไทย 'วาฬบรูด้า' จะติดโผ 'สัตว์สงวน?' | .................... สกู๊ปหน้า1




"วาฬบรูด้าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ปัจจุบันมีเพียง 50 ตัวในอ่าวไทย โดยจะเข้ามาหากินในพื้นที่ชายฝั่งชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพฯ ซึ่งไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีวาฬบรูด้าเข้ามาหากินใกล้กับเมืองหลวงมากที่สุด”

...นี่เป็นข้อความซึ่งได้มีการระบุผ่านทางเว็บไซต์ www.change.org/saveourwhaleที่ทางกลุ่มนักวิชาการ คนรักวาฬบรูด้า จัดทำขึ้น เพื่อรณรงค์-เรียกร้องให้ภาครัฐ “ขึ้นบัญชีวาฬบรูด้า” ในฐานะ “สัตว์สงวน” ชนิดล่าสุดของไทย

หวังให้ ’วาฬบรูด้า“ เป็น “ตัวแทนอนุรักษ์”

ปั้นเป็น ’สัญลักษณ์ปกป้องทะเลอ่าวไทย“


เกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อเสนอให้ “ขึ้นบัญชีวาฬบรูด้า” นั้น กับเรื่องนี้ได้มีกระแสมาสักพักใหญ่ ๆ ทางอินเทอร์เน็ต-ในโลกโซเชียล จากแนวคิดที่ทางกลุ่มคนรักวาฬ คนรักทะเลไทย ได้นำเสนอ และมี ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเล และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นอีกหนึ่งคนที่ร่วมผลักดันในเรื่องนี้

“วาฬบรูด้าเป็นสัตว์ทะเลชนิดเดียวที่ สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานชื่อ (สายสมุทร และสมสมุทร)...” “วาฬบรูด้าหากินในอ่าวไทยจนเกือบถึงฝั่ง ทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงแห่งเดียวที่มีสัตว์ใหญ่ที่สุดในโลกมาอวดโฉมกินปลาในระยะใกล้ถึงเพียงนี้...” “วาฬบรูด้าต่างจากสัตว์ป่าหายากบนบก เพราะไม่มีใครเพาะเลี้ยงได้ อนาคตของวาฬบรูด้าจึงขึ้นกับถิ่นฐานในธรรมชาติเท่านั้น...” ...นี่เป็นข้อมูลบางส่วนที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก thon.tham rongnawasawat ไว้ เพื่อย้ำถึงความสำคัญ...

ที่ควรจะ “ต้องอนุรักษ์วาฬบรูด้า” ฝูงนี้ไว้

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้อธิบายเกี่ยวกับ “วาฬบรูด้า” ไว้ว่า... วาฬบรูด้าขนาดโตเต็มที่อาจจะมีความยาวของลำตัวได้ถึง 14–15 เมตร และมีน้ำหนักตัวได้มากถึง 12-20 ตัน (บางตำราสูงถึง 30 ตัน) โดยวาฬเพศเมียจะมีขนาดลำตัวที่ใหญ่กว่าเพศผู้เล็กน้อย ซึ่งวาฬบรูด้าจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่อมีอายุ 8-13 ปี และจะให้ลูกครั้งละ 1 ตัวในทุก 2 ปี โดยระยะเวลาในการตั้งท้องนั้น วาฬบรูด้าใช้เวลาตั้งท้องนานประมาณ 11-12 เดือน

“อายุวาฬบรูด้า” นั้น ข้อมูลระบุว่า...’วาฬบรูด้าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาวมาก อยู่ที่ประมาณ 50 ปี แต่มีเอกสารบางฉบับบันทึกว่า...เคยพบวาฬบรูด้าที่มีอายุมากถึง 72 ปี“...เป็นข้อมูล “วาฬบรูด้า” ที่ถูกเสนอเป็น “สัตว์สงวน” ในขณะนี้

ขณะที่ “พฤติกรรมหากิน” ของวาฬชนิดนี้ ปกติชอบจับกลุ่มกันออกหาอาหาร โดยแหล่งอาหาร-แหล่งหากินของวาฬบรูด้านั้น ก็ยังใช้เป็น ’ตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของทะเล“ ในบริเวณดังกล่าวได้ด้วย ซึ่งการพบวาฬบรูด้าใน “อ่าวไทย” นั้น...

ตอกย้ำว่า...ทะเลไทย “สมบูรณ์แค่ไหน??”

ทว่า...ด้วย “จำนวนวาฬมีอยู่น้อย” มีอยู่เพียง 50 ตัวในอ่าวไทย เรื่องนี้ได้ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วง และกลัวว่า...กิจกรรมทางทะเลที่เกิดขึ้นอย่างหนาแน่นในพื้นที่อ่าวไทย อาจจะไปกระทบกับสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดชนิดนี้ได้ จึงเรียกร้องให้ “ขึ้นบัญชีวาฬบรูด้า” หลังจากที่ประเทศไทยไม่มีการขึ้นบัญชีสัตว์ชนิดใหม่ ๆ ในฐานะ “สัตว์สงวน” มานานมาก...

นับตั้งแต่ “ขึ้นบัญชีพะยูน” เมื่อ 23 ปีก่อน!!!

เมื่อพลิกดูรายชื่อบัญชีสัตว์ที่ได้รับการประกาศเป็น “สัตว์สงวน” ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 พบว่า...ประเทศไทยมีการขึ้นบัญชีสัตว์ไว้ 15 ชนิด ได้แก่...

1.นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร
2.แรด
3.กระซู่
4.กูปรี หรือโคไพร
5.ควายป่า หรือมหิงสา
6.ละอง หรือละมั่ง
7.สมัน หรือเนื้อสมัน
8.เลียงผา
9.กวางผา
10.นกแต้วแล้วท้องดำ
11.นกกระเรียน
12.แมวลายหินอ่อน
13.สมเสร็จ
14.เก้งหม้อ
โดยชนิดที่ 15 ลำดับสุดท้ายที่ได้มีการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์สงวนไว้ คือ “พะยูน” หรือ “หมูน้ำ” นั่นเอง

ซึ่งถ้า “วาฬบรูด้า” ได้รับการขึ้นบัญชี ก็จะเป็น “สัตว์สงวนชนิดที่ 16” ของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ยังต้องลุ้นกันอีกหลายยก เพราะมี “ขั้นตอน” อีกหลายส่วน ทั้งนี้ การ “รวบรวมรายชื่อ” เพื่อเสนอก็เป็นส่วนหนึ่ง โดยเมื่อได้รายชื่อ 20,000 รายชื่อขึ้นไป ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะเสนอให้กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทำการพิจารณา หากผ่านการเห็นชอบก็จะเข้าสู่ที่ประชุม “คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า” ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน...

จากนั้น ถ้าคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบ เรื่องนี้ก็จะนำเสนอต่อ “คณะรัฐมนตรี” เพื่ออนุมัติออกเป็นรายชื่อแนบท้ายพระราชกำหนดต่อไป ...นี่เป็น ’ขั้นตอนเกี่ยวกับการขึ้นบัญชี“ ตามที่เว็บไซต์ www.change.org/saveourwhaleระบุไว้...

กับ ’วาฬบรูด้า“ หลายคนหวังไว้ว่าจะไม่ล่ม!

ทั้งนี้ ในกรณีที่สำเร็จ ไม่เพียงประเทศไทยจะมี “วาฬบรูด้า” เป็น “สัตว์สัญลักษณ์ประจำอ่าวไทย” แต่ยังเกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มากมาย ทั้งทางวิชาการ ที่จะมีโครงการศึกษาวิจัยต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยจะกลายเป็น “แหล่งดูวาฬเชิงอนุรักษ์ระดับโลก” ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้ กระจายรายได้สู่ชุมชนโดยรอบแหล่งอาศัยของ “วาฬบรูด้า”...

’ปั้นวาฬบรูด้า“ เป็น ’สัญลักษณ์อ่าวไทย“


’กระแส“ เรื่องนี้ยึดโยง ’รักษ์ทะเลไทย“

แต่ที่สุดจะอย่างไร??...ยังต้องรอดู...“

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #88  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,158
Default


คม ชัด ลึก
2-7-15


ใช้ยาแรงปลด‘ใบเหลือง’ไอยูยู ยึดโมเดล‘ฟิลิปปินส์’แก้ประมง ........................ ทีมข่าวความมั่นคง



แม้เจ้าของเรือประมงจะประกาศหยุดเดินเรือเพื่อขอให้รัฐบาลยืดเวลาผ่อนผันการจับกุมเรือประมงที่ผิดกฎหมายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ตามเกณฑ์ของการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและขาดการควบคุม (ไอยูยู) แต่รัฐบาลโดยศูนย์บัญชาการการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ก็ยืนยันว่าจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด

แหล่งข่าวระดับสูงใน ศปมผ. ยืนยันว่า เรื่องนี้ ศปมผ.ได้มีการผ่อนปรน และอะลุ้มอล่วยมานานกว่า 2 เดือนแล้ว เพื่อให้มีการแก้ไขสิ่งที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหากเทียบกับประเทศฟิลิปปินส์ที่เคยโดนใบเหลืองเหมือนกันถือว่าเราผ่อนปรนมาก เพราะกรณีฟิลิปปินส์มีการสั่งห้ามทำประมงนานถึง 3 เดือนจนกระทั่งหลุดพ้นจากใบเหลืองมาได้ในที่สุด

"รัฐบาลได้ให้นโยบายเรื่องนี้ชัดเจน และเราจำเป็นต้องทำตามนโยบายของรัฐบาล ที่ผ่านมามีเรือที่จดทะเบียนกับกรมประมง 28,000 กว่าลำ จดกับกรมเจ้าท่า 42,000 กว่าลำ ซึ่งจะเห็นว่ายอดแตกต่างกันมาก เรากำลังสำรวจว่ายอดที่ต่างกันหายไปไหนบ้าง โดยฐานข้อมูลเดิมปี 2539 มีเรือผิดกฎหมาย 3,000 กว่าลำ แต่ผ่านมา 20 ปีก็ยังไม่มีการตรวจสอบข้อมูลตรงนี้"

แหล่งข่าวระดับสูงใน ศปมผ. ตั้งเป้าว่า จะมีการลดยอดการทำประมงให้น้อยลงไปอีกประมาณ 40% เพราะการทำประมงที่ผ่านมาทำให้สัตว์น้ำลดน้อยหรือสูญพันธุ์เป็นจำนวนมาก โดยสถิติการจับสัตว์น้ำในปี 2504 ชาวประมงสามารถจับสัตว์น้ำได้ในอัตราเฉลี่ยชั่วโมงละ 300 กิโลกรัม แต่ในปี 2558 สามารถจับได้เพียงชั่วโมงละ 24 กิโลกรัมเท่านั้น

เขายังแสดงความเป็นห่วงว่า หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ปริมาณของสัตว์น้ำในทะเลไทยจะลดลงเรื่อยๆ และสถิติการจับสัตว์น้ำก็อาจจะกว่า 10 กิโลกรัมต่อชั่วโมง เพราะสัตว์น้ำโตไม่ทันโดยเฉพาะการใช้อวนลากอวนรุนที่กวาดเอาสัตว์น้ำขนาดเล็กไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้สัตว์น้ำลดปริมาณลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

แหล่งข่าวระดับสูงคนเดิมระบุว่า ขณะนี้ ศปมผ.ได้จัดทำแผนในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตอนนี้ชาวประมงอาจมองว่าเป็นการสร้างความเดือดร้อนเฉพาะหน้า แต่ถ้าผ่านไปอีกสัก 5-10 ปีก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของปริมาณสัตว์น้ำที่จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

"ที่ผ่านมามีการทำผิดกฎหมายกันจนเคยชิน เปรียบไปก็เหมือนคนเผาป่าเพียงเพราะต้องการหาของป่าเท่านั้น ซึ่งเป็นการมองแต่ประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น ไม่ได้มองถึงประโยชน์ของส่วนรวม หากเป็นโทษของไอยูยูจะมีโทษปรับถึง 1 ล้าน จำคุก 1 ปี แต่ถ้าเป็นกฎหมายของเราโทษจะเบาบางลง ส่วนใหญ่เป็นความผิดลหุโทษ เช่น ใบขับขี่เรือ การจดทะเบียนเรือ เป็นต้น"

แหล่งข่าวระดับสูงใน ศปมผ. ระบุว่า ในวันที่ 2 กรกฎาคม นี้ ศปมผ.จะมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา และยืนยันว่า จะใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจัง เพราะหากไม่ทำก็จะไม่พ้นจากใบเหลืองของไอยูยู และจะแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้เลย

นอกจากนี้ ทาง ศปมผ.ยังสั่งการให้กองทัพเรือ (ทร.) ทำการสแกนพื้นที่ "อ่าวไทย" เพื่อสำรวจดูว่า มีเรือประมงที่ปฏิบัติตามกฎหมายได้แล้วจำนวนเท่าใด โดยที่ผ่านมาได้ใช้เวลาสำรวจไปแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ในฝั่งอ่าวไทยไม่ค่อยมีสัตว์น้ำแล้ว โดยปัจจุบันฝั่งทะเลอันดามันจะมีสัตว์น้ำมากกว่า ซึ่งจะมีการเข้าไปสำรวจข้อมูลในส่วนนี้ด้วย

จับปฏิกิริยาล่าสุดของระดับบนสุดตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ไล่มาจนถึงหน่วยปฏิบัติอย่างศปมผ. กองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดล้วนยืนยันในท่าทีที่จะใช้ "ยาแรง" แบบเจ็บ-แต่จบด้วยกันทั้งสิ้น เพราะหากมีการผ่อนปรนดังเช่นที่ผ่านมาคงไม่สามารถหนีพ้น "ใบเหลือง" หรืออาจถึงขั้น "ใบแดง" จากไอยูยูได้

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #89  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,158
Default


โพสต์ทูเดย์
2-7-15

ชี้ชะตาอนาคตทะเลไทย วัดใจล้างบาง "อวนลาก"



เสมือนหนึ่งว่าจับตัวเองและผู้บริโภคเป็นตัวประกัน เมื่อกลุ่ม “ประมงอวนลาก” แสดงท่าทีแข็งกร้าวประกาศหยุดเดินเรือ พร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป หากรัฐบาลไม่ยอมยืดเวลา “จับ-ปรับ” เรือประมงผิดกฎหมายออกไปในเดือน ก.ย.

มุมหนึ่งการกดดันค่อนข้างได้ผล สะท้อนจากราคาอาหารทะเลในตลาดขายส่งขนาดใหญ่ที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น

อีกมุมหนึ่งกลับเกิดข้อเคลือบแคลง... เราควรสนับสนุนให้รัฐบาลผ่อนปรนตามข้อเรียกร้องเช่นนั้นจริงหรือ?

ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจบิดเบือนได้คือ แม้เรือประมงอวนลากจะมีทั้งถูกและผิดกฎหมาย หากแต่เครื่องมือที่ใช้ซึ่งก็คือ “อวนลาก” นั้น เป็นเครื่องมือทำลายล้างทรัพยากรทางทะเลไทยอย่างแท้จริง

ปี 2523 หรือประมาณ 35 ปีที่แล้ว ประเทศไทยแสดงความกังวลต่อเครื่องมือประหัตประหารชนิดนี้ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัดสินใจออกประกาศเพื่อกำราบการเพิ่มขึ้นของเรือประมงอวนลาก ด้วยการ “หยุดจดทะเบียน” และ “หยุดต่ออายุ” อาชญาบัตร

นั่นหมายความว่า เรือประมงอวนลากถูกคุมกำเนิดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงที่สำแดงในปี 2558 กลับพบเรือประมงอวนลากจำนวนมากดำเนินกิจการอยู่ และยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

นั่นเพราะตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลเปิด “นิรโทษกรรม” ให้กับเรืออวนลากผิดกฎหมายมาแล้วถึง 5 ครั้ง

กล่าวคือในปี 2523 2524 2525 2532 และ 2539 รัฐบาลเปิดให้เรืออวนลากขึ้นทะเบียน ซึ่งจะได้รับการผ่อนผันให้ประกอบกิจการต่อไปได้ และในปี 2558 ก็มีความพยายามจะเปิดนิรโทษกรรมครั้งที่ 6 เพื่อแก้ปัญหา “ใบเหลือง” ไอยูยู หรือการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่มีการบันทึกรายงาน และไม่มีการควบคุม

เป็นที่น่าสังเกตว่าก่อนการเปิด “นิรโทษกรรม” อย่างเป็นทางการในแต่ละครั้ง จะเกิดการรวมกลุ่มของประมงอวนลากเพื่อกดดันรัฐบาลด้วยการขู่หยุดเดินเรือในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว

มูลค่าทางเศรษฐกิจถึงเดือนละ 1.5 หมื่นล้านบาท คือตัวเลขความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย หากเรืออวนลาก 22 จังหวัดทั่วประเทศพร้อมใจกันหยุดเดินเรือ

นั่นเป็นน้ำหนักที่กดดันให้รัฐบาลต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง

งานวิจัยของ สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ นักวิชาการด้านประมง ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2555 ระบุว่า มีเพียง 33.3% ของผลผลิตที่ได้จากเรืออวนลากทั้งหมด เป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่วนอีกประมาณ 66.7% เป็นปลาเป็ด-ปลาตัวเล็กตัวน้อย

นอกจากนี้ รายงานของกรมประมงซึ่งเก็บข้อมูลผลผลิตจากการลงแรงทำประมง 1 ชั่วโมง พบว่าลดลงเรื่อยๆ จากปี 2504 ระยะเวลา 1 ชั่วโมง สามารถจับปลาได้ 298 กิโลกรัม และลดลงเรื่อยๆ กระทั่งปี 2549 เหลือเพียงชั่วโมงละ 14 กิโลกรัมเท่านั้น

ทั้งสองผลการศึกษา ฉายภาพสถานการณ์วิกฤตทะเลไทย และการจับปลาอย่างไร้ความรับผิดชอบ (Over fishing)

“70% ของสัตว์น้ำที่เรือประมงอวนลากจับได้เป็นปลาเป็ด ส่วนอีก 30% เป็นอาหารคน จากตัวเลขนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าเรืออวนลากไม่ได้สร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างที่มีการกล่าวอ้าง ดังนั้นการประกาศหยุดออกเรือจะส่งผลกระทบแค่เฉพาะในธุรกิจสายนี้ไม่ได้ทำให้เกิดผลกับผู้บริโภคอย่างแน่นอน” สุภาภรณ์ ระบุ

ประเทศไทยใช้เวลามากถึง 35 ปี (ตั้งแต่ปี 2523) แต่กลับล้มเหลวในการแก้ปัญหา ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรมประมงเปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ว่า ประเทศไทยมีเรือประมงอวนลาก 4,180 ลำ (รวมกับที่ผิดกฎหมายคาดการณ์ว่ามีไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นลำ)

ตรงข้ามกับสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง “อินโดนีเซีย” ที่ได้ผ่านกฎหมายห้ามใช้อวนลาก และกล้าใช้ยาแรงถึงขั้น “ระเบิดเรือ” ที่ไม่ยอมปฏิบัติตามมาแล้ว ส่วน “มาเลเซีย” ก็กำหนดมาตรการห้ามใช้เครื่องมือทำลายล้างในปี 2559 อย่างเด็ดขาด

การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันนี้ จึงนับเป็นวันชี้ชะตาอนาคตทะเลไทยอย่างแท้จริง

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #90  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,158
Default


คม ชัด ลึก
3-7-15


นายกฯประมงนอกน่านน้ำ แจงปมปัญหาไอยูยู-เรือล้นระบบ



กรณีเรือประมงเข้าจอดฝั่ง ไม่ออกทำประมง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ หลังจากครบกำหนดที่รัฐบาลขีดเส้นต้องแก้ไขให้ถูกต้องตามไอยูยู หรือ "การทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและการควบคุม" ที่สหภาพยุโรป หรืออียู แจกใบเหลืองต่อประเทศไทย ซึ่งมีเรือประมงเข้าจอดฝั่งประมาณ 3,000 ลำ ทั้งที่รัฐบาลให้เวลา 3 เดือนก่อนถึงกำหนดใช้มาตรการเข้มงวดจับกุม 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา จึงมีคำถามว่าชาวประมงมีข้อจำกัดหรือมีอุปสรรคด้านใดถึงไม่สามารถทำตามกฎระเบียบได้ และการจอดเรือครั้งใหญ่ครั้งนี้จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมและผู้บริโภคอย่างไร
"อภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์" นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ในฐานะฝ่ายผู้ประกอบการ ได้คลี่ข้อสงสัยตลอดจนชี้แจงถึงปัญหาของชาวประมง ในรายการ "ชั่วโมงที่ 26" ทางช่องนาว 26 คืนวันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม ดำเนินรายการโดย อติชาต วงศ์วุฒิวัฒน์ อย่างละเอียดและให้ข้อคิดเห็นแนวทางแก้ปัญหาไว้ด้วย

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรีระบุต้องทำตามระเบียบตามที่อียูให้ดำเนินการในกรอบไอยูยู ไม่เช่นนั้นจะส่งผลเสียต่อภาพรวมอุตสาหกรรมประมงของประเทศที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท แต่จริงๆ แล้วชาวประมงสนับสนุนนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ข่าวที่ออกมาว่าชาวประมงออกมาประท้วง ต้องไปดูว่าใครเป็นคนให้ข้อมูล จริงแล้วไม่มีชาวประทงมาประท้วง ที่ออกมาว่าเป็นพันลำนั้นออกมาสนับสนุนรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาเรื่องไอยูยู ที่ต้องทำให้ถูกต้อง

"แต่ที่ต้องวิ่งเข้าฝั่ง เพราะยังทำไม่ถูกต้อง ซึ่งภาพที่เรือจำนวนมากเข้าฝั่งกลายเป็นมาประท้วง แต่จริงๆ ไม่ใช่ ผิดเรื่องเอกสาร ผิดเรื่องต่างๆ จึงต้องวิ่งกลับเข้ามาเพื่อจัดการให้ถูกต้อง เพราะเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมเป็นเดดไลน์ เท่าที่ทราบมีประมาณ 3,000 กว่าลำกลับเข้ามา"

ส่วนคำถามที่ว่าช่วงที่รัฐบาลให้ระยะเวลาเพื่อจัดการทุกอย่างให้ถูกระเบียบทำไมไม่จัดการ อภิสิทธิ์ ยืนยันว่า ทุกคนพยายามทำแต่รัฐบาลไม่ได้แก้ไขให้ ยกตัวอย่าง 3,000 ลำ แบ่งเป็นสองส่วน บางลำมีอาชญาบัตรแต่เครื่องมือไม่ตรง ตรงนี้ก็ผิดไอยูยู อีกส่วนไม่มีเลยก็ผิดเหมือนกัน ตัวเลข 3,000 ลำ ที่จอดฝั่ง ก่อนหน้านี้กรมประมงเคยออกไปสำรวจ และชาวประมงก็ให้ความร่วมมือและไปสารภาพบาปเลยว่ามีจำนวนเท่านี้

นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ชี้แจงถึงขั้นตอนขออนุญาตทำประมงว่า อาชญาบัตร คือการที่จะไปทำมาหากินในทะเลได้นั้น ทรัพยากรทางทะเลถือเป็นทรัพยากรของชาติ เรือประมงไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ ไม่ใช่จับปลาได้เลย ต่อเรือเสร็จต้องไปที่กรมประมงเพื่อขออาชญาบัตรทำการประมงและเครื่องมือประมงที่มีหลากหลาย โดยกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดเรามีประมงอวนลาก ตรงนี้ต้องไปจ่ายค่าธรรมเนียมถึงจะไปทำประมงได้

ดังนั้น ส่วนประกอบหลักของเรือ คือ มีใบอนุญาตใช้เรือ ทะเบียนเรือ และอาชญาบัตรทำประมงและเครื่องมือประมง นี่คือ 3 ตัวหลักที่ต้องมี รวมทั้งผู้ควบคุมเรือ หรือ "ไต้ก๋ง" ก็ต้องไปกรมเจ้าท่าเพื่อขอใบอนุญาตเช่นกัน

"ปัญหานี้เราเคยแจ้งรัฐบาลไปแล้ว แต่รัฐบาลบอกว่าเรือ 3,000 ลำ ทำให้ไม่ได้ ภาครัฐไม่ได้ช่วยชาวประมง ทางภาครัฐก็มีเหตุผล เช่นใบอาชญาบัตรที่เป็นการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยผลสำรวจของกรมประมงพบว่าเราทำประมงแบบโอเวอร์ฟิชชิ่ง คือจับสัตว์น้ำทะเลมากกว่าที่ควรจะทำ พอโอเวอร์แล้วก็เลยจะมาออกให้เรือ 3,000 ลำ ไม่ได้ จากนั้นก็มีการนั่งคุยกัน ทางชาวประมงก็ถามภาครัฐว่าเรือประมงในประเทศมีกี่ลำ ตรงนี้ก็เป็นคำถามมาสิบปีแล้ว ไม่มีใครตอบได้ พอมีศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) แต่ปรากฏว่ากรมประมงก็มีตัวเลขหนึ่ง กรมเจ้าท่าก็มีอีกตัวเลขหนึ่ง ต่างกันเป็นหมื่นลำ" อภิสิทธิ์ กล่าวถึงปมปัญหา และว่า เคยถามภาครัฐว่าจะทำไงกับ 3,000 กว่าลำนี้ แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบ แต่เห็นว่ารัฐบาลจะเยียวยา แต่ถามว่าทำไมไม่คิดก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังดีวันนี้คิดได้ก็อาจจะมีทางออก

อภิสิทธิ์ เห็นว่า ช่วงเวลาในการทำให้ถูกต้องตามระเบียบ ให้เร็วที่สุดต้องประมาณ 2 อาทิตย์ถึงหนึ่งเดือน แต่เรือประมงก็อาจออกไม่ได้อยู่ดี เพราะศูนย์วันสต๊อปเซอร์วิสของแรงงานก็ปิดไปเมื่อสิ้นเดือนที่แล้ว เพราะแม้เรือประมงจะมีอาชญาบัตร ใบอนุญาต เครื่องวิทยุและอุปกรณ์วีพีเอส ไต้ก๋ง ถูกต้องแต่ไม่มีลูกเรือ ถามว่าจะออกเรือได้อย่างไร

"คือลูกเรือไม่ได้อยู่กับเราเหมือนโรงงานหรืออาชีพอื่น ลูกเรือประมงพอลงเรือบางทีก็เบื่อไปทำโรงงาน เรือลำหนึ่งใช้ลูกเรือประมาณ 30-40 คน และเราต้องจ่ายล่วงหน้าให้ก่อนคนละหมื่นก็เป็นต้นทุนไปแล้ว 3-4 แสนบาท และศูนย์วันสต๊อปเซอร์วิสปิดอีก 3 เดือน จะไปเอาแรงงานประมงที่ไหน ขอยกตัวอย่าง เรือลำนึงมีลูกเรือ 30 คน พอนัดแรงงานที่ถูกกฎหมายออกเรือ แต่ปรากฏมาไม่ครบ ก็ต้องไปหาแรงงานอื่นที่ไหนก็ได้ ที่อาจยังไม่มีใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมายเอามาทำงานก่อน ตรงนี้ก็ผิดแล้ว ซึ่งแรงงานก็อยู่ใน ศปมผ.ด้วย และเราเคยบอกถึงปัญหาให้ทราบก่อนหน้านี้แล้ว แต่เขาเอาอย่างนี้เปิด 3 เดือน ปิด 3 เดือน ทั้งที่ควรจะเปิดตลอดปี"

อภิสิทธิ์ ขมวดปมปัญหาว่า มีสองเรื่องหลัก คือแรงงานประมงและการออกใบอนุญาตทำประมง โดยเฉพาะเรื่องการจัดทรัพยากรทางทะเลไม่ให้โอเวอร์ฟิชชิ่ง ที่มีปัญหาเรื่องข้อมูลของภาคราชการกับภาคเอกชนที่ไม่รับตรงนี้ การจัดการบริหารทางทะเลทางกรมประมงมีนักวิชาการไปทำสำรวจข้อมูลมีทรัพยากรเท่าไหร่ แต่พอตัวเลขวิชาการที่เรืออวนลากจับปลาได้กำหนดชั่วโมงละ 24 กิโลกรัม พอมีตัวเลขนี้ก็มีปัญหากับเรือประมง

"คุณไม่ต้องมาบังคับหรอก จอดเรือโดยอัตโนมัติ เพราะตัวเลขนี้เห็นๆ ว่าขาดทุนแน่นอน แรงงาน 30 คน ค่าจ้างวันละเท่าไหร่ ค่าน้ำมันอีก จับปลาแค่นี้ไม่คุ้มทุนแน่"

ส่วนการยึดตัวเลขภาครัฐดังกล่าวกับจำนวนเรือประมงที่เหมาะสม อภิสิทธิ์ ระบุว่า นอกเหนือจากเรือที่มีอาชญาบัตรถูกต้องแล้ว ในส่วนที่จอดอีก 3,000 ลำ คงต้องออกจากระบบ ทางเราก็มีคุยกันมีแนวคิดเปลี่ยนเครื่องมือประมงดีไหม ซึ่งมีเครื่องมือประมงที่ยอมรับกันทั่วโลก เช่น เรือเบ็ด แต่ว่าก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา เหมือนเปลี่ยนขับรถไปขับเครื่องบินคนละเรื่องกันเลย อีกหลายคนคิดว่าจับปลาง่ายมากแต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เครื่องมือชนิดหนึ่งความชำนาญก็แตกต่างกันแล้ว ต้องใช้ทักษะกว่า 20 ปี

"ก็มีแนวคิดว่าให้ภาครัฐซื้อเรือประมงไป อียูก็แก้ปัญหาแบบนี้ ก่อนที่อียูจะแจกใบเหลือง ทางอียูก็มีปัญหาแบบเดียวกับเรา เมื่อเราลอกแบบมาแต่ลอกไม่หมด รู้หรือไม่อียูต้องใช้งบเท่าไหร่ซื้อเรือออกจากระบบ แล้วให้คนส่วนนั้นไปทำอาชีพอื่น ไปถามอียูเลย ชาวประมงของเราบางส่วนก็ยินดีเพราะอย่างน้อยมีเงินไปทำอาชีพอื่น ส่วนอีกแนวทางหาประเทศอื่นที่ไม่ทำประมง มีทรัพยากรทางทะเลสมบูรณ์ ทำพันธมิตรกัน จับมือกันแบ่งผลประโยชน์"

นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย เสนอว่า กฎระเบียบบางตัวไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เป็นการจัดการในประเทศของเรา ไม่ต้องไปล้อวิธีการของประเทศอื่น ประเทศไทยทำเองได้โดยบนวิถีทางจัดการทรัพยากรทางทะเลแบบยั่งยืน แล้วก็ไม่ผิดสัตยาบันที่เราให้ไว้ในอนุสัญญา 1982 ซึ่งการจะให้ทุกอย่างถูกต้องทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องง่าย บางประเทศใช้เวลา 2-5 ปี ที่บอกจะทำภายใน 3 เดือน 6 เดือน มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

"ยกตัวอย่าง เรือมีทุกอย่างครบแล้ว ต้องมีล็อกบุ๊ก ที่ไต้ก๋งต้องลงบันทึก บางทีอียูอาจจะบอกว่าเชื่อถือไม่ได้ ถามว่าจะต้องทำอย่างไรให้เชื่อถือได้ วันนี้อียูใช้ระบบอีล็อกบุ๊ก จับปลาวันนี้ลงบันทึกส่งข้อมูลเข้าศูนย์กลางเลย ผมอยากเสนอรัฐบาลให้ใช้ระบบซีแอลเอสที่บริษัทนี้ไปวางระบบให้อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลี ประเทศพวกนี้หลุดใบเหลืองหมดเลย แก้ง่ายและเร็วที่สุด"

ทิ้งท้ายกับผลกระทบจากเรือประมงกว่า 3,000 ลำ หยุดออกทะเลครั้งนี้ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ระบุว่า อาหารทะเลขึ้นแน่นอน แต่คงขึ้นไม่มากมาย แต่ไม่มีจะขาย ซึ่งการหยุดครั้งนี้เรื่องบริโภคส่วนหนึ่ง แต่หนักที่สุดคืออุตสาหกรรมทางทะเล ถามว่าไม่มีวัตถุดิบจะเอาสินค้าที่ไหนไปส่งออก โจทย์เราคือส่งออก 3.5 หมื่นล้านบาท จะเอามาจากไหน

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 00:19


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger