#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2567
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาว เข้าสู่ความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน และประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนเริ่มมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ช่วงวันที่ 9 ? 10 มิ.ย. 67 ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ยังคงทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 11 ? 15 มิ.ย. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ตลอดช่วง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
ปลาแสงอาทิตย์พันธุ์หายาก ขนาด 2.2 เมตร เกยตื้นหาดสหรัฐฯ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำซีไซด์ อควาเรียม ในรัฐโอเรกอนของสหรัฐฯ เปิดเผยปลาซันฟิช ฮูดวิงเกอร์ ซึ่งเป็นปลาแสงอาทิตย์พันธุ์หายาก ขนาด 2.2 เมตร เกยตื้นบนชายฝั่งรัฐโอเรกอนเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สัตว์น้ำขนาดใหญ่ชนิดนี้ถูกพบบนชายหาดเกียร์ฮาร์ต ทางทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐโอเรกอน เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ระบุว่า กระแสฮือฮาบนโซเชียลมีเดียทำให้ผู้คนที่อยากรู้อยากเห็น ต่างแห่กันไปที่ชายหาดเพื่อดูปลาแปลกชนิดนี้จำนวนมาก ในภาพถ่ายที่แชร์โดยพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำฯ ปลารูปร่างแปลกขนาดยักษ์ที่มีรูปร่างทรงกลมคล้ายเหรียญเงินดอลลาร์ นอนตะแคงอยู่ในทรายโดยอ้าปากค้าง ตามรายงานของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำซีไซด์ ในตอนแรกเชื่อกันว่าปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ในน่านน้ำแถบซีกโลกใต้ ที่น้ำมีอุณหภูมิปานกลางเท่านั้น แต่ทฤษฎีดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเมื่อเร็วๆ นี้ มีการพบปลาซันฟิช ฮูดวิงเกอร์ เกยตื้นบริเวณชายฝั่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย และอีกหนึ่งตัวเกยตื้นที่รัฐอะแลสกา พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำฯ กล่าวว่าข่าวการเกยตื้นของปลาชนิดนี้ แพร่กระจายไปถึง มาริแอนน์ ไนการ์ด นักวิจัยชาวนิวซีแลนด์ ซึ่งกล่าวว่าภาพที่มีการเผยแพร่ ไม่ใช่ปลาแสงอาทิตย์ทั่วๆ ไป หรือ "โมลา โมลา" ไนการ์ด ระบุว่า ปลาสายพันธุ์ที่เกยตื้นบนชายฝั่งของรัฐโอริกอน เป็นปลาซันฟิช ฮูดวิงเกอร์ หรือ "โมลา เทกตา" ก่อนหน้านี้ ไนการ์ดได้ค้นพบปลาแสงอาทิตย์สายพันธุ์ใหม่ผ่านงานวิจัยของเธอ และบรรยายถึงการค้นพบในรายงานที่ตีพิมพ์ในปี 2560 จากการระบุของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำฯ ปลาชนิดนี้ซ่อนตัวอยู่ในที่โล่ง และมักถูกพบเห็นหรือเกยตื้นขึ้นฝั่งแปซิฟิก ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ แต่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปลาโมลา โมลา ที่พบได้ทั่วไป ไนการ์ด ได้ติดต่อพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำฯ เพื่อขอตัวอย่างทางพันธุกรรมของปลา และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำก็ได้ถ่ายภาพและการวัดขนาดเพิ่มเติม ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปว่า "นี่อาจเป็นตัวอย่างที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา" อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำฯ ยืนยันว่า ปลาซันฟิช ฮูดวิงเกอร์ ยังคงนอนเกยตื้นอยู่บนชายหาดเมื่อวันเสาร์ (8 มิ.ย.) โดยระบุว่า ปลาอาจจะคงอยู่ในสภาพดังกล่าวต่อไปอีก 2-3 วัน หรืออาจจะหลายสัปดาห์ เนื่องจากผิวหนังที่แข็งของพวกมัน ทำให้สัตว์ที่กินของเน่าเจาะเข้าไปได้ยาก. ที่มา CNN https://www.thairath.co.th/news/foreign/2791748
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์
วันทะเลโลก "อ.ธรณ์" พาเด็กดูความตาย "เวลาของพวกเราหมดแล้ว ทะเลร้องไห้นานเกินไปแล้ว ปะการังฟอกขาวทุกหนแห่ง เป็นช่วงที่ทะเลไทย เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยเจอ ไม่เคยเห็นหญ้าทะเลหายเป็นหมื่นๆ ไร่ พะยูนหนีตายจากบ้านเกิด ไม่มีอะไรชัดกว่านี้อีกแล้ว วันทะเลโลก โลกร้อนฉ่า ทะเลเดือดพล่าน นี่คือโอกาสสุดท้ายที่เราจะรักเธอ เพราะในอีก 5-10 ปี เราจะไม่มีอะไรเหลือให้รัก" คำพูดจากผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล ดร.ธรณ์?ธำรงนาวาสวัสดิ์?นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องในวันทะเลโลก 8มิ.ย.(World Ocean Day ) หัวข้อในการรณรงค์ในปี 2567 ให้ความสำคัญของการลงมือทำ? "ลงมือเพื่อทะเล และภูมิอากาศ" (Catalyzing Action for our Ocean &Climate) กิจกรรมลงมือทำที่สร้างจิตสำนึกและส่งต่อภาระหน้าที่ดูแลโลกใบนี้ "ค่ายทะเลเดือด"? จัดโดยภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ เป็นตัวอย่างของการลงมือทำอย่างแท้จริง "ตั้งเป้าว่าจะนำนิสิตที่เรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเลโดยตรงไปเจอกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้เด็กๆ ที่จะกลายเป็นผู้ดูแลทะเลวันหน้าได้เรียนรู้และเข้าใจว่าพวกเธอพวกเขากำลังเจออะไร การศึกษาวิจัยต้องทำแบบไหน และทำอย่างไรถึงสามารถถ่ายทอดข้อมูลให้คนอื่นทราบ" ดร.ธรณ์ บอกถึงหัวใจสำคัญของค่ายทะเลเดือด โดยบอกเล่าเรื่องราวผ่านในเว็บไซต์ ?Carbon markets? club ดร.ธรณ์ ระบุว่า เราฝากความหวังกับอนาคต เราต้องการคนรุ่นใหม่ แต่การฝึกอบรมในรูปแบบค่ายทั่วไป จะพาเด็กมัธยมปลายไปทะเลเพื่อเรียนรู้ธรรมชาติ ไปดูสัตว์ดูป่าชายเลนดูปะการังงดงาม เราไม่ได้เตรียมเด็กให้พร้อมกับสถานการณ์โลกร้อนที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง โดยค่ายทะเลเดือดมีนิสิตวิทยาศาสตร์ทางทะเลตั้งแต่ปี 2 เรื่อยไปจนถึงปริญญาโท มีคณาจารย์และนักวิจัยจากคณะประมง รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านแนวปะการังและแหล่งหญ้าทะเลจากกรมทรัพยากรทางทะเลฯ เข้ามาช่วยให้ข้อมูล รวมถึงเครือข่ายอนุรักษ์ท้องถิ่น อบต. และบุคลากร "บางจากฯ" เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ รวมแล้วมากกว่า 100 คน บันทึกการทำกิจกรรมค่ายดร.ธรณ์? บอกเล่าไว้ว่า คณะไปถึงทะเลเกาะหมากในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ฝนที่เคยตกต่อเนื่อง 1 สัปดาห์หายไปหมดแล้ว ตลอด 5 วันของการเข้าค่าย แดดจ้าฟ้าใสอากาศร้อนสุด ๆ ยังเป็นช่วงน้ำทะเลลงต่ำ ทั้งแนวปะการังและแหล่งหญ้าทะเลโผล่พ้นน้ำ/ปริ่มน้ำ อุณหภูมิน้ำในเขตแนวปะการัง 32-33 องศา และความตายมีอยู่ทั่วไป "ความตายเห็นได้ตั้งแต่มาถึง เมื่อเราเข้าที่พักริมอ่าวสนใหญ่ ทางตอนเหนือเกาะหมาก ผมเรียกเด็กมารวมกันก่อนจัดกิจกรรมทักทายปะการังฟอกขาว ซึ่งเป็นเรื่องง่ายมาก เพราะปะการังหน้าหาดฟอกขาวเต็มไปหมด แค่เดินลุยน้ำลงไปนิดเดียวก็เห็นแล้ว ไม่ต้องดำน้ำด้วยซ้ำ เรายังใช้โดรนเพื่อบันทึกภาพเปรียบเทียบ Before & After เพื่อให้เด็ก ๆ เห็นสภาพความเปลี่ยนแปลง จากเดือนเมษายนที่ผมมาสำรวจเตรียมทำค่าย ปะการังบริเวณนี้ฟอกขาว 20 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นฟอกขาวเกือบหมดเลย หอยมือเสือและดอกไม้ทะเลก็ขาวโพลนด้วยความร้อนของน้ำ ยังถูกซ้ำเติมด้วยแสงแดดแรงกล้าในยามน้ำลงต่ำเหมือนวันนี้ที่นิสิตกำลังเดินลงไปดูสัตว์ที่น่าสงสารเหล่านั้น" กิจกรรมเริ่มต้น ด้วยงานติดตามแบบง่าย ๆ โดยให้นิสิตกำหนดพื้นที่บนแนวปะการัง นับหอยมือเสือที่กำลังฟอกขาว ใช้โดรนบินขึ้นไปเพื่อถ่ายภาพแนวดิ่งทำแผนที่ นำข้อมูลจากการสำรวจภาคสนามและภาพถ่ายจากโดรนมาเปรียบเทียบกันว่าได้จำนวนหอยมือเสือใกล้เคียงกันไหม ยังเปลี่ยนระดับเพดานบินโดรนในความสูงต่างๆ ก่อนพบว่าที่ความสูง 20 เมตรแม่นยำต่อการติดตามหอยมือเสือในระยะยาว นิสิตหลายคนจะเริ่มทำปัญหาพิเศษจากหัวข้อเหล่านี้ ทั้งการติดตามหอย ปะการัง และสัตว์ทะเลเกาะติดอื่น ๆ เพื่อดูว่าหลังจากเหตุการณ์ทะเลเดือดผ่านไป จะมีอะไรเหลือรอดอยู่บ้าง "กิจกรรมเด็กดูความตายอันดับต่อมาถึงว่าเป็นไฮไลท์ นั่นคือการพานิสิตไปดำน้ำที่ "เกาะผี" จุดดำน้ำตื้นสำคัญที่สุดของเกาะหมากและพื้นที่ใกล้เคียง ยังเป็นจุดฟื้นฟูปะการังของเครือข่ายอนุรักษ์บนเกาะหมาก ผมมาสำรวจล่วงหน้าที่นี่ 1 เดือน พบว่าปะการังฟอกขาวอยู่บ้างในระดับ 10-20 เปอร์เซ็นต์ในเขตน้ำตื้น ถ้าออกมาน้ำลึกจะเป็นแค่ระดับเปลี่ยนสียังไม่ฟอก แต่มาหนนี้ ทุกอย่างขาวโพลนโหดร้ายมาก ถ้าเข้าไปในที่ตื้นขาวจนเหมือนสุสานแห่งความตาย ออกมาลึกหน่อยก็ยังซีดจนขาวหรือแม้กระทั่งขาวโพลน ยังมีบางก้อนตายแล้วมีตะกอนขึ้นปกคลุม" ดร.ธรณ์ บอกว่า เมื่อลองถามความรู้สึกนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลรุ่นใหม่เหล่านั้น พวกเธอพวกเขาล้วนหน้าซีด มันรุนแรงขนาดนี้เชียวหรือคะ หนูต้องบันทึกข้อมูลปะการังฟอกขาว หนูเจอ 50 ก้อน ฟอกขาว 50 ก้อน นิสิตอีกคนบันทึกเรื่องปลาบอกว่าแทบไม่มีปลาอะไรให้ผมเขียนบันทึกเลย น้ำร้อนขนาดนี้ปลาหนีไปไหนหมดแล้ว ที่น่าสงสารสุดคือเด็กที่ต้องไปดูดอกไม้ทะเล เธอเจอเยอะเลย แต่ทุกกอฟอกขาว มีตั้งแต่สีซีดไปจนถึงสีขาวสุด ๆ แถมยังเหี่ยวป้อแป้ ไม่ต้องให้อาจารย์บอก เธอก็รู้ว่าคงตายแน่ บนดอกไม้ทะเลใกล้ตายยังมีลูกปลาการ์ตูน 1 ตัว ปลาน้อยไม่รู้จะหนีไปไหน ออกไปข้างนอกก็คงโดนปลาอื่นที่หิวโซกิน จึงได้แต่ซ่อนตัวอยู่ในบ้านที่ใกล้ตายของเธอ "นี่แหละคือโลกร้อน" ดร.สรุปให้นิสิตหลายสิบคนฟัง นี่คือความหมายของหายนะ เมื่อก๊าซเรือนกระจกสะสมอยู่บนฟ้ามากพอทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ทะเลที่ดูดซับความร้อนของโลก 90 เปอร์เซ็นต์ไม่สามารถทำหน้าที่ของเธอต่อไป น้ำร้อนขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อถึงจังหวะที่เกิดเอลนีโญ น้ำจะร้อนแบบ 2 เด้ง กลายเป็นทะเลเดือด ปะการัง หอยมือเสือ และดอกไม้ทะเล แช่น้ำร้อนเกินเส้นวิกฤตที่ 31 องศา ติดต่อกันมา 10 สัปดาห์ จึงกลายเป็นสถานการณ์ปะการังฟอกขาวระดับหายนะของทะเลไทย หากเป็นพื้นที่ในภาคตะวันออก หมู่เกาะทั้งหมดในจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี จนถึงตราด เกาะช้าง เกาะหวาย เกาะหมาก เรื่อยไปจนถึงเกาะกูด แนวปะการังล้วนฟอกขาวเป็นอย่างที่เธอเห็น หากน้ำยังคงร้อนเกินเส้นวิกฤตต่อไป ปะการังจะฟอกขาวจนตายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นระบบนิเวศล่มสลาย แหล่งท่องเที่ยว แหล่งอยู่อาศัยสัตว์น้ำ เขื่อนกั้นคลื่นตามธรรมชาติ จะไม่มีอะไรเหลือ ดร.ธรณ์บรรยายเรื่องราวในข้อเขียนอีกว่า เด็ก ๆ ล้วนหน้าซีด แต่ซีดแค่นี้ยังไม่พอ ผมพานิสิตบางรายไปที่เกาะกระดาด เพื่อดูความพินาศครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของแหล่งหญ้าทะเลใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคตะวันออก ที่นี่เคยมีหญ้าทะเล 810 ไร่ ปัจจุบันหายไปเกือบหมด เหลือแต่พื้นทรายโล่ง ๆ และตอหญ้าทะเลหรอมแหรม คราวก่อนที่มา คณะประมงร่วมกับบางจากฯ ปลูกหญ้าทะเลไว้บ้างเพื่อทดลองหาทางฟื้นฟู ที่น่าตกใจคือหญ้ารอด! แม้ตายมากกว่ารอด แต่แค่เพียงไม่กี่ต้นก็ทำให้ผมยิ้มได้แล้ว มันเหลือเชื่อมาก ๆ เพราะตอนปลูกคิดว่าตายหมดแน่ ผมจึงสรุปสถานการณ์ให้เด็ก ๆ ฟังว่า ที่นี่เริ่มดูดีขึ้นนะ หญ้าตามธรรมชาติก็เริ่มเขียวขึ้นนิดหน่อย ถือว่ามีความหวังเมื่อเทียบกับเมื่อเดือนก่อนที่เจอแต่ความตาย ถึงตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าทำไมถึงดูดีขึ้น แต่ผมยังยิ้มได้นิด ๆ ค่ายทะเลเดือดยังพากลุ่มคนที่จะกลุ่มคนที่จะต้องรับผิดชอบทางทะเลไปดูชีวิตของชาวประมงในพื้นที่ "เราไปหาพี่ชาวประมง พวกเขานั่งแกะปูอยู่ที่เกาะกระดาด พี่เขายิ้มเศร้า ๆ เมื่อนิสิตถามว่าลุงได้ปูเยอะไหม? คำตอบคือวางอวนจมปู 5 กอง แต่ละกองยาว 100 เมตร รวมเป็น 500 เมตร ทั้งหมดได้ปูมา 2 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 300 บาท รวมแล้วได้เงิน 600 บาทกับการทำงานตั้งแต่เย็นจรดเช้า ยังไม่นับค่าน้ำมัน ค่าซ่อมอวน ค่านี่นั่น ฯลฯ แต่ลุงก็ไม่รู้จะไปทำอะไร ลุงมีเรือเล็ก ๆ อยู่ลำเดียว ทำเป็นอยู่อย่างเดียว จะให้ขายเรือไปทำอาชีพอื่นก็คงเป็นไปไม่ได้" มันเป็นความจริงที่แสนเศร้า น้ำร้อนจัด สัตว์น้ำหนีหาย ปะการังฟอกขาวตาย หญ้าทะเลสูญสลาย แล้วสัตว์น้ำจะกลับมาได้อย่างไร อนาคตอยู่ที่ไหน นั่นแหละคือความโหดร้ายของโลกร้อนทะเลเดือด และความโหดร้ายที่เราเจอนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เรื่องน่าเศร้ายังมีมากกว่านี้ตามอุณหภูมิโลกที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทะเลจะตายมากขึ้นเรื่อย ๆ คนอย่างคุณลุงจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่พวกเราคนอื่นได้แต่ปลอบใจตัวเองว่าเรากำลังช่วยโลก เราพยายามทำดีที่สุดแล้ว? น่าเสียดายที่ดีที่สุดแล้วมันยังไม่พอ คำปลอบใจตัวเองก็ต่างจากการโกหกตัวเองเพียงเล็กน้อย ผมอธิบายให้เด็ก ๆ ฟังเช่นนี้ แน่นอนว่าเขาเศร้าเธอหน้าหมองคล้ำ แล้วพวกหนูจะเรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเลไปทำไม ในเมื่อทุกอย่างในทะเลใกล้สูญสลาย กว่าหนูจะเป็นนักวิทยาศาสตร์เก่ง ๆ เหมือนอาจารย์ได้ ก็คงไม่เหลืออะไรให้พวกหนูต้องดูแลอีกแล้ว "ครูไม่ได้เก่ง ผมตอบเด็ก ๆ แต่ครูรักทะเลมากพอ ครูตั้งใจมาเป็นแนวหน้ารักษาทะเล ในยามที่ทะเลกำลังเดือด ความตายทุกแห่งหน นั่นคือช่วงเวลาที่ครูจะเก่งที่สุด ครูจะแกร่งเกินกว่าใครคิด ครูจะทำงานหนักไปทะเลทุกสารทิศ เพราะครูรักทะเลมากพอ" พวกเธอล่ะ? พวกเธอรักทะเลมากพอหรือยัง? นี่ไม่ใช่คำถามต่อนิสิต แต่เป็นคำถามต่อคุณผู้อ่านทุกท่าน https://www.dailynews.co.th/news/3514097/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์
กรมทะเล จับมือ เชฟรอน เปิดตัว "Marine Warning" ระบบเตือนภัยท่องเที่ยวทางทะเล กรมทะเล จับมือ เชฟรอน เปิดตัวแอปพลิเคชั่น "Marine Warning" ระบบเตือนภัยท่องเที่ยวทางทะเล พร้อมกันทั้ง 10 พื้นที่ชายฝั่งทะเล ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 8 มิถุนายน เป็นวันทะเลโลก ในปีนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจัดกิจกรรมขึ้นโดยจะมีกิจกรรมหลักที่ Sea Life Bangkok Ocean World สยามพารากอน กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด "Awaken New Depths ปลุกกระแส แก้วิกฤตมหาสมุทร" พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า "Marine Warning" ระบบเตือนภัยท่องเที่ยวทางทะเล ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นแจ้งเตือนภัยบริเวณอาจเกิดภัยพิบัติขึ้นได้ รวมถึงข้อปฏิบัติเมื่อเผชิญเหตุพร้อมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับบาดเจ็บจากแมงกะพรุนพิษและภัยทางทะเลอื่นๆ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผ่านการทำงานของระบบเตือนภัยท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว รวมทั้งติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล และเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจในการเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตามนโยบายของพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องการให้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล โดยให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสามารถเช็คข้อมูลสถานการณ์เพื่อวางแผนเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเลให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ Marine Warning Application on Mobile ระบบเตือนภัยท่องเที่ยวทางทะเล (Marine Tourism Warning System) ยังเป็นระบบแจ้งเตือนภัยนักท่องเที่ยวหรือประชาชนในพื้นที่ใกล้จุดเกิดเหตุ ในการเฝ้าระวังและรวบรวมสถิติการเกิดปรากฏการณ์ภัยทางทะเล เช่น แมงกะพรุนพิษ น้ำทะเลเปลี่ยนสี คลื่นย้อนกลับ ปัญหาคราบน้ำมัน และการกัดเซาะชายฝั่งในรูปแบบ Web Application และ Mobile Application โดยมีเมนูการใช้งาน ประกอบด้วย แสดงจุดเตือนภัยตามพิกัดที่เกิดเหตุในรัศมีที่กำหนด ระบบแจ้งเตือนบนมือถือระหว่างที่ application ทำงาน พร้อมให้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับภัยพิบัติทางทะเลและชายฝั่งทั้ง 5 เหตุการณ์ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดตัวแอปพลิเคชั่น Marine Warning ตนเชื่อมั่นว่า จะเป็นประโยชน์ต่อนักท่องเที่ยว เครือข่ายชุมชนชายฝั่ง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ในการรับรู้ช่องทางเพื่อที่จะวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวหรือรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อลดการบาดเจ็บและสูญเสีย อีกทั้งสามารถรับทราบสถานการณ์ทางทะเลและชายฝั่งได้ง่ายขึ้น ตลอดจนป้องกันตนเองจากภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงทีอีกด้วย "ดร.ปิ่นสักก์ กล่าว" นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า เชฟรอนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้การสนับสนุนกรม ทช. ในการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยท่องเที่ยวทางทะเล (Marine Tourism Warning System) เพื่อให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้เข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างทันท่วงที ที่ผ่านมา เราได้ประสานความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยส่งทีมงานด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ ร่วมหาแนวทางในการพัฒนาระบบ ที่ตอบโจทย์ด้านความปลอดภัย โดยแอปพลิเคชั่นนี้มีระบบแจ้งเตือนภัยทางทะเลในกรณีต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ข้อควรระวัง รวมถึงแนวทางรับมือและการปฐมพยาบาล ตลอดจนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ทางทะเล ซึ่งการสนับสนุนในครั้งนี้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของเชฟรอน ในฐานะบริษัทพลังงานที่มุ่งให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่งต่อชุมชนและบุคลากร รวมถึงปกป้องสิ่งแวดล้อม ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานในประเทศไทยมากว่า 6 ทศวรรษ https://www.dailynews.co.th/news/3517386/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
นักวิทย์เผยข้อมูลใหม่ มหาสมุทรไม่ได้เผชิญแค่ความร้อน แต่ยังถูกคุกคามด้วยความเป็นกรดและการสูญเสียออกซิเจน เราทราบดีกันว่ามหาสมุทรในยุคปัจจุบันกำลังเผชิญกับอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้นจนทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวทั่วโลก นอกจากภัยจากความร้อน นักวิทยาศาสตร์ได้มีการเผยข้อมูลใหม่ว่ามหาสมุทรไม่ได้เผชิญแค่ความร้อนอย่างเดียว แต่ยังต้องเผชิญกับความเป็นกรดและการสูญเสียออกซิเจน ซึ่งเป็น 3 ภัยคุกคามที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก ความน่ากังวลของ 3 ภัยคุกคามที่มีต่อมหาสมุทรได้ถูกตีพิมพ์ใน วารสาร AGU Advances ข้อมูลได้เผยการวิเคราะห์ว่า การเกิดความร้อน ความเป็นกรด การลดของออกซิเจนในน้ำ สามารถสร้างผลกระทบต่อน้ำในมหาสมุทรได้นานถึง 30 วัน โดยมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือได้รับผลกระทบเป็นพิเศษจากภัยคุกคามที่ปะปนกัน และพื้นที่ 1 ใน 5 ของมหาสมุทรโลกมีภัยพิบัติที่รุนแรงกว่าปี 1960 ถึง 6 เท่า ผู้เขียนหลักของงานวิจัยนี้ได้เตือนว่ามหาสมุทรของโลกกำลังถูกผลักดันเข้าสู่สภาวะใหม่ที่รุนแรงเนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ "เราได้เห็นและสัมผัสถึงผลกระทบของสิ่งนี้แล้ว" Joel Wong นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส ซือริช (ETH Zurich) มหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้อ้างถึงปรากฏารณ์ 'ก้อนความร้อน' (Heat Blob) ซึ่งเป็นพื้นที่ความร้อนขนาดใหญ่เกิดขึ้นในมหาสมุทร ความร้อนที่ทำให้สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกต้องสูญพันธุ์ "เหตุการณ์รุนแรงที่รุนแรงเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและการประมงทั่วโลก" ? Joel Wong กล่าวเสริม ในปัจจุบันกิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุหลัก ทั้งการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า วิกฤตสภาพอากาศที่โถมกระหน่ำโลก และผู้ได้รับผลกระทบมากสุดคือมหาสมุทรของโลกเรานั้นเอง สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่คอยรองรับทุกสิ่งทุกอย่างทั้งความร้อนจากดวงอาทิตย์ ก๊าซเรือนกระจก และมลพิษจำนวนมากที่เราลักลอบปล่อยลงทะเล ผลกระทบจากสิ่งเหล่านั้นกำลังค่อยๆ เผยผลกระทบที่ไม่คาดฝันออกมาให้เราเห็น เช่น ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่สร้างความเสียหายให้กับแนวปะการังในพื้นที่มหาสมุทรทั่วโลก Andrea Dutton นักธรณีวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน the University of Wisconsin?Madison ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการวิจัยใหม่นี้ กล่าวว่า "ความร้อนไม่อยู่ในแผนภูมิเลยจริงๆ เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจที่ได้เห็นเราไม่สามารถอธิบายอุณหภูมิที่เราเห็นในมหาสมุทรแอตแลนติกได้ครบถ้วน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลว่าทำไมฤดูพายุเฮอริเคนจึงเป็นข้อกังวลในปีนี้ มันค่อนข้างน่ากลัว" "มหาสมุทรไม่ได้เป็นเพียงฉากหลังที่สวยงามสำหรับการเซลฟี่ของคุณในช่วงฤดูร้อน แต่เราพึ่งพามันเพื่อชีวิตของเรา การตระหนักถึงสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก" ?. Dutton กล่าวเสริม ภัยคุมคามที่น่ากังวลนี้ ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศตื่นตระหนกกับความร้อนที่เพิ่มขึ้นในมหาสมุทร ความร้อนในน้ำที่พุ่งสูงขึ้นอย่างผิดปกติในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ภัยคุกคามทั้ง 3 ทำให้มหาสมุทรสูญเสียความสามารถของมันมากขึ้นไปอีก ทำให้กลายเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แทนที่จะดูดซับเหมือนในช่วงเวลาที่ผ่านมา ความร้อนสุดขั้วที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายกันกับช่วงปลายยุคเพอร์เมียนเมื่อประมาณ 252 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โลกประสบการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 4.5 พันล้านปี ข้อมูล ? รูปอ้างอิง - news.agu.org - theguardian.com - news-oceanacidification-icc.org - FB : Environman https://mgronline.com/science/detail/9670000049298
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก มติชน
ผวา! ฉลามกัดนทท.ฟลอริดา 3 ราย เจ็บหนักต้องตัดแขน ทางการเตือนระมัดระวัง ? เครดิตภาพ X: South Walton Fire District สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า สำนักงานดับเพลิงเซาท์วัลตันในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐได้ออกคำเตือนให้นักท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งของ Gulf Coast of Florida ให้ระมัดระวัง หลังมีรายงานว่าประชาชน 3 รายถูกฉลามกัดระหว่างว่ายน้ำจนได้รับบาดเจ็บ โดยเหยื่อ 1 ราย ต้องตัดแขนบางส่วนออกหลังถูกฉลามกัด เหตุการณ์คนถูกฉลามกัดในฟลอริดาครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเวลาราว 13.20 น. ของวันที่ 7 มิถุนายน ตามเวลาท้องถิ่น ผู้หญิงวัย 45 ปีคนหนึ่งถูกฉลามกัดใกล้กับชายหาด WaterSound จนได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่บริเวณสะโพกและแขนซ้ายส่วนล่าง เธอถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งแขนบางส่วนของเธอต้องถูกตัดออก หลังจากนั้นไม่ถึง 2 ชั่วโมง ก็มีรายงานผู้หญิงอายุราว 15 ปี 2 คน ถูกฉลามกัดที่ชายหาด Seacrest ที่ห่างจากจุดเกิดเหตุก่อนหน้าเพียง 6 กิโลเมตร เหยื่อคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่ท่อนขาส่วนบนและมือ 1 ข้าง ขณะที่เหยื่ออีกคนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยที่เท้า 1 ข้าง ภายหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ทางการได้ใช้เรือลาดตระเวนใกล้กับชายฝั่งและมีการปิดชายหาดบางแห่ง ซึ่งกลับมาเปิดอีกครั้งในวันที่ 8 มิถุนายน แต่มีการปักธงสีม่วงให้ระมัดระวังสัตว์น้ำที่อาจเป็นอันตรายต่อนักว่ายน้ำ สำนักงานนายอำเภอของวาลตันเคาน์ตีเปิดเผยว่า พบฉลามหัวค้อนความยาว 4.2 เมตร ที่หาด Santa Rosa ระหว่างทำการลาดตระเวน แต่บอกว่าการพบฉลามตัวดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีฉลามจำนวนมากอาศัยอยู่ใน Gulf Coast of Florida ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่เดินเล่นบนหาดหรือนักว่ายน้ำควรที่จะระมัดระวังสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว https://www.matichon.co.th/foreign/news_4618772
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#7
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า
มิถุนาฯชี้เป็นชี้ตาย 'ดร.ธรณ์'ชี้ปะการังยังคงฟอกขาวจนน่ากลัว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567 ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" ระบุเกี่ยวกับสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ว่า วันทะเลโลกผ่านไปแล้ว แต่ปะการังยังคงฟอกขาวจนน่ากลัว ภาพที่เห็นคือหมู่เกาะราชา ภูเก็ต เพื่อนธรณ์เพิ่งลงไปทำกิจกรรมเก็บขยะทะเลเมื่อวาน ที่นี่เป็นเกาะห่างฝั่งน้ำใส แต่ปะการังก็ยังฟอกขาวโพลน สรุปสถานการณ์ตอนนี้คืออุณหภูมิน้ำทะเลเริ่มลดลง ไม่ร้อนจัดเหมือน 2 เดือนก่อน แต่ปะการังที่แช่น้ำร้อนมานานอยู่ในสภาพอ่อนแอมาก มิถุนายนจึงเป็นเดือนชี้เป็นชี้ตาย ผมแบ่งง่ายๆ เป็น 4 แบบ แบบแรก เกาะใกล้ฝั่งหรือติดฝั่ง ทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน ปะการังน้ำตื้นโดนเยอะมาก บริเวณนี้น่าจะตายเยอะสุด ในเขตน้ำลึก ปะการังฟอกขาวเช่นกัน แต่น่าจะตายน้อยกว่าน้ำตื้น ยกเว้นเกาะที่น้ำลึกหน่อย (8-10 เมตร) แนวลึกอาจรอดตายมากกว่า แบบสอง เกาะไกลฝั่ง เช่น เกาะเต่า โลซิน พีพี ราชา อาดัง/ราวี ปะการังฟอกขาวเยอะ แนวตื้นมีปัญหาแต่อาจรอดบ้าง แนวลึกอาจฟื้นมากกว่า ตอนนี้ปะการังบางแห่งก็เริ่มมีสีกลับมาบ้าง แบบสาม เกาะไกลฝั่ง เช่น สุรินทร์ สิมิลัน ฟอกขาวไม่มาก คงฟื้นเกือบหมด แบบสี่ น่าติดตามมาก คือแนวปะการังแถวพัทยา น้ำตื้นแต่กลับฟอกขาวไม่มาก ยังหาสาเหตุไม่ได้ แต่หากเราเจาะลึกตรงนี้ เราอาจพบทางออกในอนาคต โดยสรุปแล้ว เขตอันตรายแท้จริงคือหลายแห่งในภาคตะวันออก โดยเฉพาะในเขตน้ำตื้นของเกาะใกล้ฝั่ง ยังรวมบางจุดในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ความหวังยังมี สุรินทร์สิมิลันรอด เกาะไกลฝั่งน้ำลึกยังรอด และพัทยาที่รอดคล้ายปาฏิหาริย์ เอลนีโญจะกลับมาอีก ปะการังฟอกขาวจะเกิดขึ้นอีก ทุกอย่างที่เราเรียนรู้ในครั้งนี้ จะมีค่ามหาศาลในครั้งต่อไป เดือนกรกฎาคมน่าจะเป็นช่วงที่เราสามารถประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นได้แล้ว เดือนนี้เดือนหน้ายังเข้าหน้าฝนจริงจัง ปรากฏการณ์น้ำเขียว (แพลงก์ตอนบลูม) จะซ้ำเติมปะการัง เช่นเดียวกับตะกอนและขยะจากแผ่นดินที่ไหลลงสู่ทะเล เดือนมิถุนายน/กรกฎาคม จึงเป็นช่วงที่เราต้องระมัดระวังมากที่สุด ช่วยกันดูแลทะเลทุกทาง เลิกให้อาหารปลา เก็บขยะทะเล อย่าทำร้ายสัตว์หายาก ลดน้ำทิ้ง/น้ำเสีย ลดตะกอนทุกรูปแบบ ท่องเที่ยวแบบระวังสุดขีด สนับสนุนผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบ ทุกอย่างที่เราทำ คือตัวตัดสินชี้เป็นชี้ตายของปะการังที่พยายามฟื้นตัวเอง ช่วยกันนะครับ https://www.naewna.com/likesara/809572
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#8
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
ภาวะโลกร้อน-แผนสร้างนิคมอุตสาหกรรม ภัยร้ายทำลาย 'ประมงพื้นบ้านไทย' ............ โดย กฤตพล สุธีภัทรกุล กรุงเทพธุรกิจได้พูดคุยกับ วิภาวดี แอมสูงเนิน Oceans campaigner นักรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร ของกรีนพีซประเทศไทย ถึงการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ทะเลของชุมชนและสถานการณ์ทะเลไทยที่ส่งผลกระทบต่อการทำประมงพื้นบ้าน เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ (Rainbow Warrior) เรือธงของกรีนพีซเดินทางมายังประเทศไทยที่จังหวัดชุมพร ระหว่างวันที่ 8-13 มิถุนายน 2567 และจังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 17- 24 มิถุนายน 2567 เพื่อทำงานร่วมกับชุมชน ภาคประชาสังคม องค์กร และหน่วยงานต่าง ๆ ผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล เพื่อปกป้องทะเลไทย และสิทธิชุมชนชายฝั่ง สาเหตุที่เรือของกรีนพีซเลือกเดินทางมายังอ. จะนะ จ.สงขลา และชุมพร เป็นเพราะว่าในปัจจุบันทั้งสองพื้นที่มีการใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ทะเลที่มีความสำคัญ เพราะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และที่วางไข่ของปลาทูทั้งหมด ชาวบ้านจึงต้องการอนุรักษ์สัตว์ทะเลในบริเวณนี้ไว้ ทำให้ชาวบ้านคัดค้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในจะนะ และ โครงการแลนด์บริดจ์ โปรเจ็กท์ใหญ่ของรัฐบาล อีกทั้งในชายฝั่งระนองถือเป็นป่าชายเลนที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยที่ระบบนิเวศของทั้งฝ่ายอ่าวไทยและอันดามันเชื่อมต่อถึงกัน และนับว่าเป็น "ระบบนิเวศทางทะเลขนาดใหญ่" หรือ Large Marine Ecosystems (LMEs) ดังนั้น หากมีการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ ที่จำเป็นต้องถมทะเลเกือบ 7,000 ไร่ จะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายชีวภาพ เช่นเดียวกับการสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่จะนะก็จะทำให้ระบบนิเวศเสียหายทั้งแถบ กรุงเทพธุรกิจได้พูดคุยกับ วิภาวดี แอมสูงเนิน Oceans campaigner นักรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร ของกรีนพีซประเทศไทย ถึงการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ทะเลของชุมชนและสถานการณ์ทะเลไทย โดยวิภาวดีเล่าให้ฟังทั้งสองโครงการยังไม่ได้ยุติโครงการ สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ก็เริ่มเห็น ?ความพยายามบางอย่าง? เช่น การกว้านซื้อที่ดินบริเวณที่จะดำเนินโครงการ ส่วนจะนะอยู่ในขั้นตอนการประเมินสิ่งแวดล้อม หรือ SCA (Strategic Environmental Assessment) ซึ่งเป็นการประเมินสภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เหมาะสมจะพัฒนาเป็นอะไรได้บ้าง และอะไรจะเป็นประโยชน์มากที่สุด เพื่อให้รู้ว่าในพื้นที่มีศักยภาพทำอะไรบ้าง กรีนพีซ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวกันทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูล จนได้ออกมาเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาจะนะ 15 ข้อ เช่น ความมั่นคงทางอาหาร พลังงานหมุนเวียน วิภาวดีย้ำอีกครั้งว่า ในการรวบรวมข้อมูลทุกขั้นตอนชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมเสมอ เพราะการพัฒนาที่ดีควรจะต้องคำนึงถึงความต้องการของคนในพื้นที่ ตามแนวคิด "บ้านเราให้เรามีส่วนร่วม" ข้อมูลที่ได้มาจะสามารถมออกแบบเป็นนโยบายพัฒนาที่มันยั่งยืนมากขึ้น และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ชาวบ้านเองก็รวมตัวกันสร้าง "พื้นที่คุ้มครองทางทะเล" ตามพื้นที่ชายฝั่งกันมากขึ้น ซึ่งชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการอนุรักษ์ และสามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยที่ไม่ต้องมีนิคมอุตสาหกรรม วิภาวดีเล่าต่อว่า หลายชุมชนทำเรื่องขอจดทะเบียนกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ?ชุมชนเชื่อว่าหน้าบ้านเรา เราจะดูแลกันเอง และชาวบ้านจะออกแบบธรรมนูญชุมชน กำหนดว่าพื้นที่ไหนเข้าได้ พื้นที่ไหนต้องใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำแบบไหน โซนนี้ห้ามเข้าเพราะมีปะการังอยู่? ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชน อีกทั้งทุกคนในชุมชนยังได้มีส่วนร่วม ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะชุมชนเข้มแข็ง ในอีกมุมหนึ่ง นโยบายต่าง ๆ ของรัฐไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการอนุรักษ์ที่ชาวบ้านทำมา "หลายครั้งที่นโยบายรัฐบาลมันเบี้ยหัวแตกมาก ๆ อย่างเมื่อก่อนบอกชุมพรว่าให้อนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติ พอชาวบ้านทำกันมา 30 ปี ก็จะเอาแลนด์บริดจ์มาลง แล้วโครงการมันจะตัดผ่านภูเขาต้นน้ำที่ไหลลงทะเล แล้วเดี๋ยวจะเปิดให้ใช้อวนลากอีก ชาวบ้านนั่งร้องไห้เลย กลายเป็นว่าความพยายามที่ผ่านมา เราทำไปเพื่ออะไร ถ้าเกิดขึ้นทุกอย่างมันจะพังไปหมดเลยที่เราทำมาทั้งหมด" วิภาวดีกล่าว ภาวะโลกร้อน ทำประมงพื้นบ้านปั่นป่วน "ประมงพื้นบ้าน" เป็นวิธีทำการประมงของชาวบ้านในชุมชนที่ไม่ได้ออกจากฝั่งไกล โดยจะจับเฉพาะสัตว์ที่โตเต็มวัย ปล่อยมีให้สัตว์น้ำมีช่วงเวลาได้วางไข่และเติบโต ในระหว่างนั้นชาวบ้านก็จะหันไปจับสัตว์ชนิดอื่นสับเปลี่ยนตามฤดูกาลที่แตกต่างกัน และใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมกับสายพันธุ์นั้น ๆ หรืออาจจะมีทำฟาร์มและกระชังเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ไกลจากชายฝั่ง ซึ่งวิภาวดีเล่าว่าในช่วงหลัง แต่ละชุมชนมีการวางแผนว่าแต่ละฤดูกาลสามารถจับสัตว์ชนิดใดได้และห้ามจับอะไร แตกต่างจากเรือประมงพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ เวลาออกทะเลแต่ละครั้งจำเป็นต้องจับสัตว์ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้คุ้มค่าน้ำมัน จึงมักจะใช้อวนขนาดใหญ่กวาดสัตว์ทุกชนิดทุกขนาดมารวมกัน ทำให้สัตว์ทะเลไม่มีโอกาสได้เติบโต นับว่าเป็น "การประมงเกินขีดจำกัด" ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และความหลากหลายทางชีวภาพ และไม่มีพื้นที่สำหรับให้ประมงพื้นบ้านได้ประกอบอาชีพ นอกจากเรือประมงพาณิชย์จะสร้างผลกระทบต่ออาชีพของชุมชนแล้ว "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ก็เป็นอีกปัจจัยที่สร้างผลกระทบร้ายต่อประมงพื้นบ้านและท้องทะเลไทยเช่นกัน "โลกเดือดทำให้เมตาบอลิซึมภายในตัวปลาพังไปหมด เหมือนปลาเป็นฮีทสโตรก พวกมันจะลอยตายขึ้นมา โดยเฉพาะพวกปลามูลค่าสูง เช่น ปลากะพง" วิภาวดีกล่าว ส่วนสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่ยังพอปรับตัวได้ ก็จะย้ายไปอยู่ในพื้นที่เย็นกว่า และเหมาะสมในการใช้ชีวิตมากกว่า ซึ่งหากมีการก่อสร้างอุตสาหกรรมก็จะยิ่งทำให้สัตว์น้ำต่าง ๆ หนีไปไกลกว่าเดิม นำให้กลุ่มประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำได้ยากกว่าเดิม วิภาวดีกล่าวต่อว่า ช่วงที่เกิด "ปรากฏการณ์เอลนีโญ" ก็ส่งผลให้ชาวประมงจับปลาได้น้อยลง อีกทั้งยังมีสัตว์รบกวน เช่น แมงกะพรุน และเกิดแพลงก์ตอนบูมเยอะขึ้น ซึ่งความแปรปรวนเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการทำประมง กลุ่มชาวบ้านกล่าวว่าตอนนี้มีแต่ความไม่แน่นอนไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย ไม่เป็นไปตามฤดูกาลที่วางเอาไว้ ในปัจจุบันทะเลไทยยังคงเต็มด้วยขยะและคราบน้ำมัน ซึ่งถูกซัดเข้ามายังชายฝั่ง แม้ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาว่า "ไมโครพลาสติก" ในขยะส่งผลกระทบอะไรต่อสิ่งมีชีวิต แต่การศึกษาหลายชิ้นก็พบว่าในปลาก็มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ ขณะนี้คราบน้ำมันทั้งจากเรือขนส่ง เรือประมงต่าง ๆ รวมไปถึงจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำก็จะทำให้ปลามีกลิ่น สีเปลี่ยนไป มีก้อนน้ำมันอยู่ในตัว และตายลงในที่สุด https://www.bangkokbiznews.com/environment/1130591
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#9
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก อสมท.
จีนออกแผนสร้าง "อ่าวสวยงาม" กว่า 110 แห่งทั่วจีน ภายในปี 2027 กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของจีนยกระดับการก่อสร้าง "อ่าวสวยงาม" ภายใต้ความพยายามในการอนุรักษ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมทางทะเล กระทรวงฯ ออกแผนการสร้างอ่าวกว่า 110 แห่งทั่วจีนภายในปี 2027 ซึ่งจะคิดเป็นราวร้อยละ 40 ของอ่าวแห่งสำคัญในจีน โดยอ่าวเหล่านี้จะมีสภาพแวดล้อมที่มีความกลมกลืนระหว่างผู้คนและสิ่งแวดล้อมทางทะเล และรายล้อมด้วยผืนน้ำใส หาดทรายสะอาด รวมทั้งเป็นบ้านของฝูงปลาและฝูงนก แผนการข้างต้นยังตั้งเป้าหมายเปลี่ยนเมือง 7 แห่ง ซึ่งรวมถึงเซี่ยเหมิน ให้เป็นเขตต้นแบบซึ่งมีพื้นที่ชายฝั่งที่มีคุณสมบัติถูกจัดเป็นอ่าวสวยงามได้ทั้งหมด พร้อมเผยรายละเอียดเกี่ยวกับพันธกิจ 3 ประการ อาทิ การคุ้มครองและการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลทั่วไป และการปรับปรุงแหล่งระบายน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลแห่งสำคัญ กระทรวงฯ กล่าวว่าเป้าหมายระยะยาวของจีนคือการสร้างอ่าวสำคัญทั้งหมด 283 แห่งให้เป็นอ่าวสวยงามภายในปี 2035 โดยตัวเลขดังกล่าวรวมถึงอ่าว 110 แห่งที่ได้ระบุไว้ด้วย จีนยกระดับการคุ้มครองระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมทางทะเลมากขึ้นช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการส่งเสริมการสร้างจีนที่สวยงาม (Beautiful China) อนึ่ง กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเลฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2024 โดยได้เพิ่มความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นและจัดตั้งระบบใหม่ๆ อาทิ การจัดการการแบ่งเขต และระบบการควบคุมที่ครอบคลุม ขอบคุณที่มา : สำนักข่าวซินหัว https://www.xinhuathai.com/china/442208_20240608 https://www.mcot.net/view/xsNr6YY8
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#10
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
ไขคำตอบ "ทะเลรวน" ลดฮวบ 30 ซม.หญ้าทะเลตาย-พะยูนย้ายบ้าน อุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเพียง 1-2 องศาในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา ไม่เพียงส่งผลกระทบให้ปะการังในท้องทะเลไทย ทั้งฝั่งอันดามัน และอ่าวไทยเกิดภาวะฟอกขาวมากกว่า 40% ซึ่งถือเป็นภาวะวิกฤตในรอบหลายปี จนต้องประ กาศปิดการท่องเที่ยวในเกาะสวยงามหลายแห่ง เพื่อไม่ให้ปะการังที่ป่วยเสื่อมโทรมลงไปมากขึ้น ท่ามกลางความกังวลของผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล ที่เฝ้ามอง "ความรวน" ในท้องทะเลไทย ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) บอกว่า สถานการณ์ทะเลมีปัญหามาก อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ไม่ใช่แค่ทำให้เกิดปะการังฟอกขาว ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ปัญหาที่ซ่อนอยู่ นอกจากน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นนั้นทะเลยังรวนขึ้นด้วย ในช่วงน้ำสูงก็สูงผิดปกติและถ้าน้ำต่ำก็ต่ำผิดปกติ เรียกว่าทะเลเกิดความรวน ทะเลรวน-หญ้าทะเลตาย พะยูนย้ายถิ่น ""ความรวน" ทำให้ระดับน้ำต่ำกว่าผิดปกติกว่าในปีอื่นๆ ถึง 30 ซม." ปิ่นสักก์ อธิบายต่อว่า หมายความว่าสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศชายฝั่งแห้ง โดนแดดนานกว่าปกติ โดยเฉพาะหญ้าทะเล ซึ่งเป็นระบบนิเวศสำคัญแหล่งอาศัยสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น พะยูน เต่าทะเลจะได้รับผลกระทบ เมื่อหญ้าทะเลเสื่อมโทรมขึ้น จากการสำรวจของ ทช. พบว่าแหล่งหญ้าทะเลบริเวณ เกาะมุกด์ เกาะลิบง เกาะกระดาน จ.กระบี่ ซึ่งแรกๆ ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่เมื่อมีการส่งทีมนักวิชาการไปศึกษาพบปัญหาซ้อนกันอยู่ แต่ได้คำตอบถึงสาเหตุที่หญ้าทะเลตายลง พะยูนตายพ.ค.เดือนเดียว 4 ตัว พบว่าหญ้าทะเลตาย เพราะความเหือดแห้งของน้ำทะเลที่ลดลง 30 ซม. ถือว่ามากกว่าปกติ หากไม่ตายใบจะขาด เหลือง จากที่เคยเป็นป่าสมบูรณ์บริเวณชายฝั่ง และเป็นแหล่งอาศัยของของเต่าทะเล พะยูน บทบาทในการชะลอการกัดเซาะชายฝั่งก็หายไป ปิ่นสักก์ บอกว่า จากการประเมินพบภาพรวมแหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมบางจุดมากกว่า 70% แต่หากรวมทั้ง 2 จังหวัดคือตรังและกระบี่ มากกว่า 50% จึงกังวลผลกระทบกับกลุ่มที่ต้องใช้พื้นที่หากินเช่น คนหาหอยชักตีน กุ้ง ซึ่งต้องพึ่งพาชายฝั่ง "สัตว์ทะเลที่พึ่งพาหญ้าทะเล โดยเฉพาะจ.ตรัง ถือเป็นบ้านของพะยูนฝูงใหญ่ที่เคยมี 220 ตัว จะไม่มีอาหารกินและตายได้ ซึ่งเริ่มความผิดปกติเมื่อจำนวนพะยูนบริเวณนี้เพียง 100 ตัว จนห่วงว่าพะยูนจะตาย แต่เนื่องจากไม่พบซาก ข้อสันนิษฐานว่าพะยูนอาจกระจายตัวไปที่หากินที่จุดอื่น" อธิบดี ทช.บอกว่า สมมติฐานก็เป็นจริง เมื่อพบฝูงพะยูนกระจายออกไปหากินในท้องทะเลจังหวัดอื่น เช่น กระบี่ และพังงา แต่ที่น่าห่วงกว่านั้นคือ การที่พะยูนอพยพไปในพื้นที่อื่น อาจจะเพิ่มความเสี่ยง เกิดอันตรายได้ เช่น วิ่งชนเรือ ติดเครื่องมือประมง อาจจะกระทบกับการแพร่กระจายของพะยูน "ข้อกังวลเกิดขึ้นแล้วเมื่อพบว่าเพียงแค่ต้นเดือน พ.ค.นี้ มีพะยูนตายติดๆกันถึง 4 ตัว โดย 2 ตัว เกิดจากติดอวน อีก 1 ตัวตายจากการ" ขณะนี้ได้พยายามร่วมกับชาวบ้านในการปกป้องพื้นที่ลดคสวามเสี่ยงจากคนและลดความเร็วเรือ ติดป้าย เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อพะยูนที่เป็นสัตว์ป่าสงวนที่ลดน้อยลง หญ้าทะเลพัง-ระบบนิเวศรวน ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง รายงานผลการปฏิบัติงานตามโครงการสำรวจจำนวนและพฤติกรรมของพะยูนในแหล่งหญ้าทะเลเกาะมุกด์-หาดหยงหลำ เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ทำการสำรวจโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (drone) บริเวณท่าเทียบเรือเกาะมุกด์ ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง พบฝูงพะยูนเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะมุกด์ 25-30 ตัว ถือเป็นจำนวนที่มากที่สุด ตั้งแต่ทำการสำรวจมา ทั้งนี้จะต้องมีการศึกษาติดตาม ข้อมูลสถานการณ์หญ้าทะเลในพื้นที่ เกาะลิบง มีพื้นที่หญ้าทะเล 15,457 ไร่ จากการสำรวจเมื่อปี 2563 มีพื้นที่หญ้าทะเลเสื่อมโทรม 7,997 ไร่ ทั้งนี้เมื่อ ก.พ.2566 เปอร์เซ็นต์การปกคลุมลดลงจาก 24% ในเดือน ธ.ค.2566 เหลือเพียง 9% ส่วนพื้นที่เกาะมุกด์ มีพื้นที่หญ้าทะเล 9,017 ไร่ จากการสำรวจเมื่อปี 2566 มีพื้นที่หญ้าทะเลเสื่อมโทรม 6,910 ไร่ ทั้งนี้เมื่อ ก.พ.2566 เปอร์เซ็นต์การปกคลุมลดลงจาก 51% ในเดือน ธ.ค.2566เหลือเพียง 14% https://www.thaipbs.or.th/news/content/340813
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
เรียบเรียงคำตอบ | |
|
|