เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 09-02-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ประเทศไทยมีอากาศร้อนโดยทั่วไป ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีแนวโน้มของการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์เล็กน้อยเว้นแต่ภาคเหนือ เนื่องจากมีการระบายที่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 9 ? 14 ก.พ. 66 เนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย เข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน กับมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดพาความหนาวเย็นจากที่ราบสูงทิเบตและประเทศเมียนมาเข้ามาปกคลุมบริเวณภาคเหนือ ทำให้ภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า และอุณหภูมิลดลง 1 ? 2 องศาเซลเซียสในระยะแรก สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ตลอดช่วง


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และระมัดระวังอันตรายจากการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ตลอดช่วง









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 09-02-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


เปรูเจอ 'ไข้หวัดนกระบาด' รอบใหม่ ทำสิงโตทะเลตายหลายร้อยตัว

รัฐบาลเปรูออกแถลงว่า สิงโตทะเลราว 585 ตัว และนกป่าอย่างน้อย 55,000 ตัว ตายจากเชื้อไวรัสไข้หวัดนก "เอช 5 เอ็น 1" ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นรายงานล่าสุดสำหรับผลกระทบของการระบาดในประเทศ


เครดิตภาพ : AFP

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากกรุงลิมา ประเทศเปรู เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ว่า ภายหลังการพบนกประมาณ 55,000 ตัว ตายในพื้นที่คุ้มครองทางชายฝั่ง 8 แห่ง หน่วยงานคุ้มครองพื้นที่ธรรมชาติ "เซอร์นันป์" พบว่า ไข้หวัดนกชนิดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้สิงโตทะเลราว 585 ตัว ตายในพื้นที่คุ้มครองทางทะเล 7 แห่ง ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการยังยืนยันการพบเชื้อไวรัสเอช 5 เอ็น 1 ในศพสิงโตทะเล ส่งผลให้ทางการประกาศ "มาตรการเฝ้าระวังทางชีวภาพ"

ขณะที่ องค์การบริหารป่าไม้และสัตว์ป่าแห่งชาติเปรู (เซอร์ฟอร์) เตือนให้ประชาชนและสัตว์เลี้ยงของพวกเขาหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิงโตทะเลและนกทะเลที่อยู่บนชายหาด

เมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว รัฐบาลเปรูประกาศเตือนภัยด้านสุขภาพเป็นเวลา 180 วัน หลังมีการพบไวรัสไข้หวัดนกในนกกระทุง 3 ตัว ส่วนเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ทางการเปรูดำเนินการฆ่าสัตว์ปีก 37,000 ตัวในฟาร์มไก่แห่งหนึ่ง หลังการระบาดครั้งก่อนหน้าส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า ซึ่งการฆ่าสัตว์ปีกที่ติดเชื้อเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบปฏิบัติปกติ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก

ตามข้อมูลของหน่วยงานด้านสุขภาพการเกษตร "เซนาซา" ต้นตอของโรคไข้หวัดนกที่กำลังระบาดอยู่ในเปรูนี้ คือ นกที่อพยพมาจากทวีปอเมริกาเหนือ

อนึ่ง นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ยุโรปเผชิญกับการระบาดของไข้หวัดนกครั้งเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมา ขณะที่ อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ กำลังประสบกับการแพร่ระบาดอย่างหนักเช่นกัน.


https://www.dailynews.co.th/news/1975435/


******************************************************************************************************


งานวิจัยชี้ ขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2562-2564

งานวิจัยชิ้นใหม่ที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้แสดงให้เห็นว่า การผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่ก่อมลพิษ เพิ่มขึ้น 6 ล้านตันต่อปี ตั้งแต่ปี 2562-2564 แม้จะมีกฎระเบียบที่เข้มงวดกว่าเดิมทั่วโลกก็ตาม โดยผู้ผลิต "มีความคืบหน้าเล็กน้อย" ในการจัดการปัญหาดังกล่าว และเพิ่มการรีไซเคิล


เครดิตภาพ : AFP

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ว่า พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวกลายเป็นหนึ่งในภัยคุกคามเร่งด่วนด้านสิ่งแวดล้อมของโลก โดยมีขยะพลาสติกจำนวนมากถูกฝังกลบ หรือถูกทิ้งโดยไม่ได้รับการบำบัดในแม่น้ำและมหาสมุทร อีกทั้งกระบวนการผลิตยังเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วย

แม้การเติบโตจะชะลอตัวเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่การผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล "บริสุทธิ์" ยังไม่ถึงระดับสูงสุด และการใช้วัตถุดิบตั้งต้นที่นำมารีไซเคิลได้อยู่ในระดับ "เล็กน้อย" โดยมูลนิธิมินเดอรูในออสเตรเลีย ระบุว่า วิกฤติขยะพลาสติกจะเลวร้ายกว่าเดิม ก่อนที่จะการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจะลดลง เมื่อเทียบเป็นรายปี

ทั้งนี้ จีนขับเคลื่อนความต้องการพลาสติกทั่วโลกให้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะมีการห้ามผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งบางประเภท เมื่อปี 2562 แต่มันเป็นแค่ครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตใหม่ 15 ล้านตันในช่วงปี 2562-2564

เมื่อปีที่แล้ว จีนระบุใน "แผน 5 ปี" ในการจัดการการผลิตพลาสติดว่า จะลดการผลิตและการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอย่างมาก รวมถึงห้ามผลิตภัณฑ์บางอย่างโดยสิ้นเชิง ซึ่งการเติบโตของการผลิตพลาสติกในจีนคาดว่าจะชะลอตัว แต่มูลนิธิมินเดอรู กล่าวว่า จีนยังคงมีส่วนในบริษัทชั้นนำ 20 แห่ง ที่วางแผนเพิ่มกำลังการผลิตพอลิเมอร์บริสุทธิ์จนถึงปี 2570

นักวิจัยหลายคน กล่าวว่า พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งประมาณ 137 ล้านตัน ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในปี 2564 และคาดว่ามันจะเพิ่มขึ้นอีก 17 ล้านตันภายในปี 2570


https://www.dailynews.co.th/news/1975434/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 09-02-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ตะลึง! "พะยูน" โผล่ลอยตัวให้ได้ยลโฉมอย่างใกล้ชิด เร่งคุมเข้ม "ทัวร์พะยูน" กำลังฮิต

ตรัง - นักท่องเที่ยวตะลึง "พะยูน" ทะเลตรัง โผล่ลอยตัวให้ได้ยลโฉมอย่างใกล้ชิด โดยไม่ตื่นกลัว ไม่หนีหรือตกใจเหมือนเมื่อก่อน ขณะที่หน่วยงานอนุรักษ์เร่งคุมเข้ม หลังจากที่ "ทัวร์พะยูน" กำลังฮิต



"พะยูน" สัตว์อนุรักษ์ชื่อดังคู่ จ.ตรัง กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงไฮซีซันนี้ เนื่องจากพวกมันจะโผล่ขึ้นมาลอยตัวให้นักท่องเที่ยวได้ยลโฉมอย่างใกล้ชิด โดยไม่ตื่นกลัว ไม่หนีหรือตกใจ รวมทั้งมีความคุ้นเคยกับผู้คนมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นหนึ่งในโปรแกรมทัวร์ที่นักท่องเที่ยวให้ความนิยมอย่างมาก ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทั้งนี้ หากนักท่องเที่ยวลงเรือจากท่าเรือหาดยาว จะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้เรือหางยาว พร้อมคนขับซึ่งจะเป็นไกด์ไปในตัว ลำละ 2,500-3,500 บาท แต่ถ้าหากนักท่องเที่ยวลงเรือที่เกาะลิบง จะเสียค่าใช้จ่ายลำละ 1,200-1,500 บาท

โดยนายสุริยะ หาดเด็น หรือบังยัด ผู้ประกอบการเรือทัวร์เกาะลิบง กล่าวว่า ช่วงนี้สามารถเดินทางมาชมพะยูนได้ทุกวัน โดยเฉพาะช่วงเช้า ซึ่งจะมีสภาพอากาศแจ่มใส เนื่องจากกำลังเข้าสู่หน้าร้อน ทำให้ท้องทะเลสงบ ไร้คลื่นลมแรง น้ำทะเลจึงสวยใสอย่างมาก และส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โควิดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการปิดแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ธรรมชาติจึงได้หยุดพักฟื้นเต็มที่ รวมทั้งพะยูน ส่วนจุดที่เหมาะต่อการชมพะยูน และมีโอกาสได้เจอมากที่สุดคือบริเวณหมู่บ้านบาตูปูเต๊ะ หมู่ 4 ต.เกาะลิบง และหน้าเขาโต๊ะเต๊ะ หรือเขามุกดา รวมถึงเกาะมุกด์ด้วย

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้เกิดปัญหาในการล่องเรือชมพะยูน สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 โดยผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จึงได้ลงพื้นที่เกาะมุกด์ อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อประชุมกับแกนนำชุมชน และชาวบ้านที่ประกอบกิจการเรือประมง และเรือท่องเที่ยวในพื้นที่

เนื่องด้วยในช่วงนี้ได้มีพะยูนเข้ามาหากิน และโชว์ตัวอย่างต่อเนื่องทุกวัน ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาดูพะยูนเยอะขึ้น และเริ่มมีธุรกิจเรือนำเที่ยวชมพะยูนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงได้กำหนดกติกา 5 ข้อ ดังนี้ 1.ให้เรือทุกลำไม่ว่าจะเป็นเรือนำเที่ยว หรือเรือของชาวบ้านจะต้องชะลอความเร็วเมื่อเข้าสู่บริเวณพื้นที่แหล่งหญ้าทะเล 2.ห้ามทำการประมงทุกชนิดบริเวณพื้นที่แนวหญ้าทะเล 3.ห้ามทอดสมอเรือบริเวณแนวหญ้าทะเล 4.ห้ามให้อาหารปลาในบริเวณดังกล่าว และ 5.การเที่ยวชมพะยูน ห้ามใช้เรือวิ่งไล่ต้อน ต้องขึ้นยืนดูบนสะพานท่าเทียบเรือเท่านั้น


https://mgronline.com/south/detail/9660000012480

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 09-02-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


รายงานพิเศษ : เปิดเส้นทาง "ปลาเก๋าหยก" เอเลี่ยนสปีชีส์ในมือ CPF



แม้นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง จะยืนยันว่า CPF ทำผิดเงื่อนไขการวิจัย โดยเฉพาะการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ปลาเก๋าหยก (Jade Perch) หรือปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ มาขายในงานเกษตรแฟร์ เนื่องจากขณะนี้โครงการดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการทดลองร่วมกับกรมประมง

แต่ก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งระงับการโฆษณาและเก็บบูท ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. ทาง CPF ได้นำผลิตภัณฑ์ปลาเก๋าหยกแปรรูปมาวางจำหน่ายในรูปแบบแช่แข็ง และอาหารสด ให้ประชาชน แม้จะมีคำถามว่า เหตุใด CPF จึงกล้าดำเนินการโดยพลการทั้ง ๆ ที่ยังไม่สามารถตอบคำถามเรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมได้

เนื่องจากปลาดังกล่าวถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือ เอเลี่ยนสปีชีส์ เลี้ยงอยู่ในระบบปิด ที่สำคัญยังไม่มีการอนุญาตให้นำไปใช้ในเชิงการค้า โดยกรมประมงเป็นผู้ออกประกาศคุมปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ 13 ชนิดไม่ให้เพาะเลี้ยง ซึ่งจำนวนนี้มีปลาเก๋าหยกรวมอยู่ด้วย

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ชี้ให้เห็นอันตรายของปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ว่า หากหลุดรอดลงในแหล่งน้ำธรรมชาติจะส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่นเดียวกับปลาหมอสีคางดำ

ข้อมูลอีกด้านหนึ่งของกรมประมงระบุว่า ปี 2558 ทางซีพีขออนุญาตนำเข้าปลาเก๋าหยกเพื่อวิจัยและประเมินความเสี่ยงร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา ผลวิจัยพบปลาเก๋าหยก อยู่ในลำดับผลกระทบต่อนิเวศปานกลาง สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีค่าความเค็ม 10 PPT และกรณีที่หลุดรอดออกไปจะกินสัตว์น้ำ พืช แพลงก์ตอนได้ทุกชนิด

การวิจัยยังทำต่อเนื่อง โดยปี 2561-2564 บริษัทซีพีได้ขอนำเข้าทดลองเลี้ยงผ่านระบบปิด ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด IBC ออกระเบียบท้ายใบอนุญาตว่าการเลี้ยงต้องควบคุมอย่างระมัดระวัง

แต่มีเงื่อนไข ห้ามหลุดรอดลงในแหล่งน้ำธรรมชาติและหากหลุดรอดจะมีความผิดตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงฯ 2564 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"ยังอยู่ในกระบวนการทดลองร่วมกับกรมประมงตั้งแต่ปี 2565-2567 เราอนุญาตให้มีพ่อแม่พันธุ์แค่ 40 ตัวในระบบปิด ตอนนี้มีลูกปลาในสต็อกแค่ 10,000 ตัว ส่วนผลกระทบต่อนิเวศยังตอบไม่ได้เพราะยังไม่มีผลการศึกษาในไทย"
อธิบดีกรมประมงกล่าว

ในส่วนของ ซีพี น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์น้ำ CPF ซึ่งออกมาแถลงเปิดตัวเรื่องผลิตภัณฑ์จากปลาเก๋าหยกในงานเกษตรแฟร์ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ว่า เป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ วัตถุดิบพรีเมียมระดับโลก พร้อมส่งจำหน่ายร้านอาหารและภัตตาคารต่างๆ

พร้อมอธิบายขั้นตอนการเลี้ยงว่า ใช้เทคโนโลยีทันสมัยในห่วงโซ่การผลิตปลาเก๋าหยก เป็นปลาที่ CPF นำร่องนำเข้าไข่ปลาจากประเทศออสเตรเลีย มาเพาะเลี้ยงที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เลี้ยงในโรงเรือนระบบปิด มีความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) ตลอดกระบวนการเลี้ยง

ตั้งแต่การคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ปลอดโรค เลี้ยงในบ่อคอนกรีต ปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้การอนุญาตและกำกับดูแลจากกรมประมง

ในขณะที่ข้อความจากแผ่นพับที่แจก มีเพียงคำแนะนำรู้จักกับปลาเก๋าหยก วัตถุพรีเมียม และคุณค่าทาโภชนาการ สำหรับคุณรักสุขภาพว่ามีดีอย่างไร และเมนูรังสรรค์ประเภทใดบ้าง พร้อมทั้งร้านอาหารและภัตตาคารแนะนำ

แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำชี้แจงว่า เหตุใด CPF จึงนำปลาเก๋าหยก หรือปลาเอเลี่ยนซึ่งยังอยู่ระหว่างการทดลองทำวิจัยร่วมกับกรมประมง มาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ใครเป็นผู้อนุญาต และจะรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่าง ไร สังคมยังรอคำตอบ


https://www.thaipbs.or.th/news/content/324316

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 13:47


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger