เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #11  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,282
Default

ขอบคุณข่าวจาก อสมท.


ระวัง "แมงกะพรุนลอดช่อง" โผล่เกลื่อนชายหาดปากเมง จ.ตรัง เตือนนักท่องเที่ยวอย่าสัมผัส



ที่บริเวณหาดปากเมง ม.4 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง พบแมงกะพรุนลอดช่องจำนวนมาก ถูกคลื่นซัดขึ้นกองเรียงรายตลอดแนวชายหาดปากเมง เขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ลักษณะเป็นวุ้นใส ขนาด 3-5 นิ้ว

ด้านหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เล่าว่าช่วงนี้มีรายงานพบแมงกะพรุนชนิดนี้อยู่ในทะเลฝั่งอันดามันพื้นที่จ.ตรัง-กระบี่ สำหรับแมงกะพรุนชนิดนี้เป็นแมงกะพรุนที่นำไปทำอาหารได้ ไม่มีอันตรายเหมือนแมงกะพรุนชนิดอื่นๆ พบมากในช่วงเดือน เม.ย.- พ.ค.

โดยชาวประมงพื้นบ้านจะออกเรือไปตักแมงกะพรุนสร้างรายได้ตัวละ 5-6 บาทอย่างไรก็ตามเตือนนักท่องเที่ยวที่มีอาการแพ้ง่ายอย่าไปสัมผัสตัวโดยตรง เพราะจะทำให้เกิดระคายเคืองที่ผิวหนังได้

ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบแมงกะพรุนลอดช่องจำนวนมาก ลอยอยู่ในทะเลอันดามัน บริเวณเกาะห้องก่อนถูกคลื่นซัดขึ้นหาดผักเบี้ย ต.เขาทอง อ.เมืองกระบี่ เขตอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จ.กระบี่ เช่นกัน

นอกจากนี้มีข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ว่า การพบแมงกะพรุนเยอะมากในช่วงนี้มีที่มาจากปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชัน (Eutrofication) หรือการเพิ่มขึ้นของแพลงก์ตอนบลูม อย่างต่อเนื่องในน่านน้ำไทย

เนื่องจากมีธาตุอาหารในทะเลจำพวก สารประกอบฟอสฟอรัสและไนโตรเจนเป็นจำนวนมาก การเพิ่มขึ้นของปริมาณสารอาหาร อาจเกิดจากการปล่อยน้ำเสีย หรือการทำเกษตรที่ไหลมาพร้อมกับน้ำจากปากแม่น้ำ หรือเกิดจากปริมาณธาตุอาหารที่ไหลขึ้นมาจากพื้นท้องทะเล

ขอบคุณภาพข้อมูล : สวนเสม็ดแดง แคมป์ปิ้ง ปากเมง,สวพ.FM91


https://www.mcot.net/view/669FDGLA

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #12  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,282
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


วิกฤตแล้ง "เกาะพีพี" อ่างเก็บน้ำแห้งขอด-ขาดแคลนน้ำประปา

ชาวบ้านและผู้ประกอบการขนาดเล็กบนเกาะพีพี จ.กระบี่ เดือดร้อนหลังบริษัทผลิตน้ำประปาประกาศยุติส่งน้ำ เพราะอ่างเก็บน้ำอยู่ในสภาพแห้งขอด ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาซื้อน้ำจากภูเก็ตมาเติม



วันนี้ (24 เม.ย.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อ่างเก็บน้ำเนื้อที่กว่า 5 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่บนเขาของเกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ ขณะนี้มีสภาพแห้งขอด โดยบริษัทเอกชนผู้ผลิตน้ำประปา ประกาศยุติการผลิตน้ำต่อเนื่องเป็นวันที่ 3

เช่นเดียวกับอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน เนื้อที่ 3 ไร่ ซึ่งอยู่ในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็มีสภาพไม่ต่างกัน ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านและสถานประกอบการขนาดเล็กที่ไม่มีบ่อบาดาล หรือแหล่งน้ำเป็นของตัวเอง ต้องซื้อน้ำในราคาสูงถึงลูกบาศก์เมตรหรือคิวละ 150-200 บาท

ชาวบ้านบนเกาะพีพี บอกว่า เริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ หรือมีการปล่อยน้ำเฉพาะช่วงเช้าและช่วงเย็นมานานเกือบ 1 เดือน จนเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา มีการแจ้งในบิลค่าน้ำประปาว่าจะยุติการส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.เป็นต้นไป

แต่สิ่งที่สร้างความวิตกกังวลให้กับชาวบ้าน หลังจากทราบข่าวว่าเจ้าของบริษัทเอกชนผู้ให้บริการผลิตน้ำประปาเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว จึงเกรงว่าทายาทจะไม่สนใจสืบทอดธุรกิจ อย่างไรก็ตามทีมข่าวไทยพีบีเอสได้รับการยืนยันจากบรรดาคนงานว่า เถ้าแก่ได้มอบกิจการให้ลูกชายเป็นผู้บริหารจัดการตั้งแต่ครั้งยังมีชีวิต จึงไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด

ด้านนางสุกัญญา วงศ์ดี เจ้าของร้านซัก อบ รีด บนเกาะพีพี กล่าวว่า แม้จะซื้อน้ำจากบริษัทเอกชน ผู้ขุดเจาะน้ำบาดาล และเลือกทำเลเช่าร้านติดกับบ่อ จึงไม่ส่งผลกระทบมากนัก ยังคงเปิดให้บริการลูกค้าในราคาปกติ แต่อาจมีบางวันที่เจ้าของบ่อบริหารจัดการโดยการปล่อยน้ำเป็นเวลา

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ได้รับการยืนยันจากองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง ว่า ระยะสั้น บริษัทเอกชนอยู่ระหว่างเจรจาตกลงราคาซื้อน้ำจากขุมเหมืองใน จ.ภูเก็ต มาเติม ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน เนื่องจากภูเก็ตมีการคาดการณ์ว่าหากไม่มีฝนตกลงมา จะมีน้ำใช้ไปถึงเดือน พ.ค.

หลายภาคส่วนจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ เนื่องจากเกาะพีพี เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับโลก มีการจัดเก็บภาษีแต่ละปีจำนวนมาก จึงไม่ควรต้องประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ


https://www.thaipbs.or.th/news/content/339351

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #13  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,282
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


ชัดปีแรก โลกเดือดทำหญ้าทะเลเหง้าเน่า-เต่าทะเลตัวผู้ลด จับตาปะการังฟอกขาว



GreenBrief "ชัดปีแรก ผลกระทบโลกเดือดต่อทะเลไทยหนักระดับ หญ้าทะเลเหง้าเน่า?เต่าทะเลตัวผู้ลด จนขาดสมดุลเพศในการผสมพันธุ์" กรมทะเลเผย พร้อมระบุกำลังจับตา?รับมืออีกวิกฤตใหญ่ "#ปะการังฟอกขาวจากอุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่ม"


ทำหญ้าทะเลเหง้าเน่า

"(กรมฯ) พบว่า #ภาวะโลกเดือด สร้างความเสียหายต่อ #หญ้าทะเลทำให้หญ้าทะเลเกิดความเสื่อมโทรมและตายในที่สุดโดยปกติหญ้าทะเลที่ตายใบจะร่วงแล้วงอกขึ้นมาใหม่

แต่ในปีนี้นับเป็นปีแรกที่สถานการณ์โลกเดือดทำให้เหง้าของหญ้าทะเลเกิดการเน่าเปื่อย เนื่องจากดินมีความร้อนสูงกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น จึงส่งผลทำให้หญ้าทะเลเกิดการอืดแห้งนาน แต่ส่วนหนึ่งก็เกิดจากระดับน้ำทะเลต่ำกว่าปกติ 30 ? 50 เซนติเมตรทำให้หญ้าทะเลอืดแห้งนานกว่าปกติมากกว่าหนึ่งชั่วโมง

กรมฯได้ส่งทีมนักวิชาการร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานและสถาบันการศึกษาดำเนินการค้นคว้าและวิจัยหาสาเหตุการตายของหญ้าทะเลปรากฏว่าภาวะโลกเดือดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมลงและหญ้าทะเลที่หายไปยังส่งผลกระทบต่อพะยูนและเต่าทะเลเพราะหญ้าทะเลคืออาหารของพวกมัน

อย่างไรก็ตามกรมฯได้ดำเนินการปฏิบัติตามมาตรการในการแก้ปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมเพื่อเร่งฟื้นฟูสภาพแหล่งหญ้าทะเลให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม"

ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยวันนี้ พร้อมชี้แจงแนวทางการจัดการของกรมฯ ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงว่า กำลังติดตามสถานการณ์วิกฤตนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมรับมือ


ทำเต่าทะเลตัวผู้ลดจนขาดสมดุลเพศ

"อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือด คือ การขาดความสมดุลเพศของเต่าทะเล เนื่องจากอุณหภูมิเป็นตัวกำหนดเพศของเต่าทะเล ในอดีตสามารถรักษาสมดุลให้มีเพศผู้และเพศเมียอย่างละครึ่ง ปรากฏว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากภาวะโลกเดือดทำให้เต่าเพศเมียเยอะขึ้นเพศผู้ก็ลดลง ในส่วนปัญหาที่พบเจอเพศผู้ลดน้อยลงไม่มีการผสมพันธุ์ ทำให้เกิดเป็นไข่ลมและเน่าเสียได้" อธิบดี ทช. กล่าว

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เมื่อ 14 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา ในกรณีผลกระทบโลกเดือดต่อสมดุลเพศเต่าทะเลว่า

"ไม่ว่าเราทุ่มเทขนาดไหน มีบางครั้งที่โลกไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวัง ไข่เต่ามะเฟืองของแม่ 14 กุมภา 120+ ฟอง ไม่ได้รับการผสมทั้งหมด ไม่มีลูกเต่าเกิดแม้แต่ตัวเดียว

ปัญหาไข่ไม่มีเชื้อเกิดทั่วโลก บางแห่งถึงขั้นทำให้เต่ามะเฟืองหายไปจากพื้นที่นั้นถาวร เหตุเพราะเพศของเต่าจะขึ้นกับอุณหภูมิในรัง หากอุณหภูมิสูงเป็นเพศเมีย ต่ำเป็นเพศผู้ แต่โลกร้อนขึ้น ทรายร้อนขึ้น เต่าเกือบทั้งหมดฟักเป็นเพศเมีย เหลือตัวผู้เพียงน้อยนิด ยิ่งเวลาผ่านไป โลกร้อนขึ้นและร้อนขึ้น ตัวผู้ยิ่งน้อยลงและน้อยลง แม่เต่าบางตัวเจอตัวผู้ผสมพันธุ์เพียงไม่มาก ทำให้สัดส่วนของไข่ไม่มีเชื้อสูงขึ้น

แต่สำหรับรังนี้ ไม่มีเลย แม่เต่าไม่เจอคู่ของเธอเลย ทั้งที่เธอขึ้นมาวางไข่ในวันที่ 14 กุมภา วันแห่งความรัก เธออยากมีความรัก แต่โลกที่มนุษย์ทำให้เปลี่ยนไป ไม่ยินยอมให้เธอมีรัก และไม่ยอมให้เธอมีลูก" ดร.ธรณ์ ระบุ


จับตา ปะการังฟอกขาว

"กรมฯ ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และสัตว์ทะเลหายาก ได้ติดตามสถานการณ์โลกเดือดอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้หน่วยงานในพื้นที่เตรียมความพร้อมในการรับมือและดำเนินการวางแผนเฝ้าระวังสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในฤดูร้อนช่วงเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม โดยในปีนี้ได้คาดการณ์ว่าจะเกิด ปะการังฟอกขาวเป็นวิกฤตโลก ส่งผลกระทบด้านการเจริญเติบโตของปะการัง ซึ่งปกติกว่าปะการังจะกลับคืนมาสภาพเดิมได้นั้น ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 5 ? 10 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ ภายใน 10 ปีได้เกิดสถานการณ์ปะการังฟอกขาวรายใหญ่ 2 ครั้งทำให้ปะการังเติบโตไม่ทันส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเล

จากรายงานขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ NOAA เผยถึงภาวะ ?ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่? รอบที่ 4 ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลกส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์และส่งผลต่อแนวปะการังทั่วโลก

อย่างไรก็ตามกรมฯไม่ได้นิ่งนอนใจได้ดำเนินการเตรียมพร้อมรับมือร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์ปะการังรวมถึงกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาวโดยมีระบบติดตามเฝ้าระวังการตรวจวัดอุณหภูมิใต้ทะเลหากพบน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติ

กรมฯจะดำเนินการตามกฎระเบียบและข้อบังคับที่กำหนดโดยการลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดปัญหาต่อปะการังรวมถึงลดภัยคุกคามต่างๆที่ทำให้ปะการังเครียดเช่นกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลกิจกรรมดำน้ำดูปะการังและการปล่อยน้ำเสียลงในทะเลเป็นต้น

นอกจากนี้ กรมฯ ได้เปิดโอกาสให้เครือข่ายชุมชนชายฝั่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เมื่อพบจุดปะการังฟอกขาวที่รุนแรง หรือ มีแนวโน้มที่กำลังจะตาย ให้รีบแจ้งเบาะแสไปยังสำนักงานภายในพื้นที่สังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้ง 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล หรือโทรไปที่เบอร์ 1362 สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อที่กรมฯ จะดำเนินการประเมินและพิจารณาในการตัดสินใจย้ายปะการังไปไว้ในที่ปลอดภัยบริเวณพื้นที่ทะเลที่มีอุณหภูมิเย็น เพื่อปะการังจะฟื้นตัวกลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิมอีกครั้ง" ปิ่นสักก์ เปิดเผยเพิ่มเติม


พัชรวาทสั่งกรมทะเลฯ "เตรียมพร้อมรับมือ-สร้างความตระหนักประชาชน"

"ปัจจุบันโลกของเราได้ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิดทั่วโลก ต่างต้องเผชิญหน้ากับการแปรปรวนของสภาพอากาศแบบสุดขั้วที่เรียกว่า ?ภาวะโลกเดือด? ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะระบบนิเวศทางทะเลคือสิ่งที่ระบบนิเวศทางทะเลกำลังเผชิญกับผลกระทบหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นหญ้าทะเลเกิดความเสื่อมโทรมอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติและการเกิดสถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงนี้นับว่าเป็นสัญญาณเตือนของวิกฤตทะเลเดือด

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ตนในฐานะผู้นำของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รู้สึกเป็นห่วงสถานการณ์ดังกล่าวจึงได้หารือกับนายจตุพรบุรุษพัฒน์ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเร่งหาแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการจัดการและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามที่ได้ประกาศไว้

พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้ อันเป็นทรัพยากรสำคัญของระบบนิเวศทางทะเล

นอกจากนี้การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกเดือดให้กับประชาชนนับเป็นเรื่องที่สำคัญ ควรมีการจัดเวทีประชุมให้ทุกคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตโลกเดือด การปล่อยของเสีย และการทิ้งขยะลงในทะเล รวมถึงดึงภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และเครือข่ายอนุรักษ์เข้ามามีบทบาทในการปกป้องดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลเพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น

โดยเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนเรื่องใกล้ตัวให้เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบ ปรับเปลี่ยนทัศนคติและรูปแบบการใช้ชีวิตชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งรับ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดทั้งร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำไปสู่การเปลี่ยนโลกเพื่อ "ลดโลกเดือด" ต่อไป"

พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายจัดการปัญหาดังกล่าวล่าสุด


https://greennews.agency/?p=37591

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #14  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,282
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


ตั้งคณะทำงานแก้ "กำแพงกันคลื่น-กัดเซาะชายฝั่ง" ภาคปช.เผยสัญญาณบวก

กรมทะเลสั่งตั้งคณะทำงานแก้ปัญหา "กำแพงกันคลื่น?กัดเซาะชายฝั่ง" เครือข่ายภาคประชาชนเผย "เป็นสัญญาณบวก?มิติใหม่" จากภาคราชการ




คำสั่งตั้งคณะทำงานฯ

"22 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่งได้มีคำสั่งเเต่งตั้ง "คณะทำงานขับเคลื่อนแนวทางและมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง" ประกอบด้วยผู้แทนจากทั้งภาครัฐและ ประชาสังคม?ประชาชน รวม 20 คน ทั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่ม Beach for life เเละเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด เมื่อปลายปี 2565

ก่อนหน้านั้น รัฐบาลได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้มีการศึกษากรอบเเนวทางในการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเชิงระบบของประเทศไทย และผลการศึกษาของคณะกรรมการได้สิ้นสุด ทำให้กรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงได้มี "คำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง" เเต่งตั้งคณะทำงานฯ นี้ ลงนามโดยนายปิ่นสักส์ สุรัสวดี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยของหน่วยงานต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรมสอดคล้องกับหลักวิชาการและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่

คณะทำงานดังกล่าว มีองค์ประกอบ ดังนี้

1 .นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ที่ปรึกษาคณะทำงาน

2. นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ประธานคณะทำงาน

3. ผู้แทนสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คณะทำงาน

4. ผู้แทนกรมเจ้าท่า คณะทำงาน

5. ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง คณะทำงาน

6. ผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คณะทำงาน

7. ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะทำงาน

8. ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น คณะทำงาน

9. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง คณะทำงาน

10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนัสพงษ์ โภควนิช คณะทำงาน

11. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะทำงาน

12. นายกิตติพจน์ เพิ่มพูล คณะทำงาน

13. นายอุกกฤต สตภูมินทร์ คณะทำงาน

14. นายนิรันดร์ ชัยมณี คณะทำงาน

15. นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล คณะทำงาน

16. นายอภิศักดิ์ ทัศนี คณะทำงาน

17. ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง คณะทำงาน และเลขานุการ

18. ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง คณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ

19. ผู้อำนวยการส่วนแผนงานบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง คณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ

20. นายอธิวัฒน์ เส้งคุ่ย คณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ

โดยคณะทำงานชุดนี้ จะมีอำนาจหน้าที่ พิจารณา ปรับปรุง และแก้ไขแนวทางและกรอบการดำเนินงานเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเชิงระบบ ตามผลการศึกษาของคณะทำงานกำหนดกรอบแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งภายใต้คณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศ

เเละ เสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อน แนวทางการจัดทำแผนงาน/โครงการ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวปฏิบัติ" รายงานข่าวเปิดเผย


"เป็นความหวัง" Beach for life

"ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ผ่านมานั้นเกิดจากการสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง เเละการรบกวนกระบวนการชายฝั่งเป็นหลัก เเละหน่วยงานใช้การเเก้ไขปัญหาด้วยการใช้โครงสร้าง ?กำเเพงกันคลื่น? รูปเเบบเดียวในการเเก้ไขปัญหาโดยปราศจากการวิเคราะห์ต้นต่อปัญหาบริบทของพื้นที่เเละความเป็นไปได้อื่นๆ

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างกรอบการปฏิบัติงานของหน่วยงานในการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่บูรณาการทุกหน่วยงานพิจารณาสภาพพื้นที่เเละกระบวนการชายฝั่งมองทางเลือกที่หลากหลายเเละเลือกทางเลือกที่กระทบชายหาดน้อยที่สุด

การตั้งคณะทำงานชุดนี้ จึงเป็นความหวังของการผลักดันวิธีคิดของการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเเบบใหม่ไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงานราชการ เเละประชาชนมีส่วนร่วมได้ เเน่นอนว่าคณะชุดนี้จะไม่เพียงเเค่ประชุมในห้องเเต่ต้องทำให้เกิดการเรียนรู้เเละออกเเบบร่วมกันของสาธารณะด้วย" อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานกลุ่ม Beach for life ให้ความเห็นต่อคำสั่งฯ


"มิติใหม่การมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย" มูลนิธิภาคใต้สีเขียว

"การตั้งคณะทำงานชุดนี้ขึ้นมาเป็นผลจากข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ที่พยายามจะมีส่วนร่วมในการสร้างเเละออกเเบบกฎหมายระเบียบของทางราชการในการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพราะที่ผ่านมากรณีการเเก้ไขปัญหาด้วยกำเเพงกันคลื่นจนเกิดความเสียหายต่อชายหาดมากมายนั้น พิสูจน์เเล้วว่ากฎกติกาในการปฏิบัติราชการเพื่อการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งนั้นมีปัญหา เเละหากยังคงเป็นเเบบเดิม ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยจะวิกฤติมากกว่านี้

ดังนั้นภาคประชาชนที่ตื่นตัว เเละมีความรู้ทางวิชาการจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างกติกาใหม่นี้ร่วมกัน รวมถึงสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางสาธารณะที่ทำให้ภาคประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการเสนอ ออกเเบบกฎหมายเเละนโยบายได้ ผมคิดว่าเรื่องชายหาดคือรูปธรรมที่น่าจับตามองของภาคประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ" ประสิทธิ์ชัย หนูนวล มูลนิธิภาคใต้สีเขียว หนึ่งในคณะทำงานฯ ให้ความเห็น


https://greennews.agency/?p=37639

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #15  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,282
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


ระบบนิเวศทะเลไทยถูกทำลาย สัตว์น้ำลด ทำ "อุตสาหกรรมประมง" สูญแสนล้านบาท


SHORT CUT

- ระบบนิเวศทางทะเลไทยถูกทำลายมากขึ้น ทำสัตว์น้ำลด หายาก จับได้น้อยลง

- สวนทางราคาที่ต่ำลง หลังถูกอาหารทะเลต่างประเทศเข้ามาตีตลาด

- ปัญหาต่างๆ มีการประเมินว่าจะทำให้ตลาดอาหารทะเลไทยสูญเงินไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท




"ระบบนิเวศทางทะเลไทย" ถูกทำลายมากขึ้น ทำสัตว์น้ำลด หายาก จับได้น้อยลง สวนทางราคาที่ต่ำลง หลังถูกอาหารทะเลต่างประเทศเข้ามาตีตลาด

ทะเลเดือด จากปัญหาโลกร้อนส่อรุนแรงมากขึ้น ล่าสุด พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ปัจจุบันโลกของเราได้ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิดทั่วโลก ต่างต้องเผชิญหน้ากับการแปรปรวนของสภาพอากาศแบบสุดขั้วที่เรียกว่า "ภาวะโลกเดือด"

ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะระบบนิเวศทางทะเล คือสิ่งที่ระบบนิเวศทางทะเลกำลังเผชิญกับผลกระทบหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นหญ้าทะเลเกิดความเสื่อมโทรมอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติ ทั้งนี้ได้ทั้งมอบหมายให้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้ อันเป็นทรัพยากรสำคัญของระบบนิเวศทางทะเล

นอกจากนี้การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกเดือดให้กับประชาชนนับเป็นเรื่องที่สำคัญ ควรมีการจัดเวทีประชุมให้ทุกคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตโลกเดือด การปล่อยของเสีย และการทิ้งขยะลงในทะเล นอกจากนี้ดึงภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และเครือข่ายอนุรักษ์ เข้ามามีบทบาทในการปกป้อง ดูแล รักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

โดยเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนเรื่องใกล้ตัวให้เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบ ปรับเปลี่ยนทัศนคติและรูปแบบการใช้ชีวิตชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งรับ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดทั้งร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำไปสู่การเปลี่ยนโลกเพื่อ "ลดโลกเดือด" ต่อไป

แน่นอนว่าเรื่องปัญหาทะเลเดือดได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างมาก ทำให้สัตว์น้ำมีปริมาณที่ลดลง #สปริงนิวส์ สัมภาษณ์พิเศษ นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ซึ่งได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณสัตว์น้ำในทะเลลดลงจริง ส่งผลกระทบอย่างมากในอุตสาหกรรมประมง รวมถึงการแปรรูปส่งออก

ทั้งนี้สาเหตุหลักมาจากสัตว์น้ำได้รับผลกระทบจากระบบนิเวศทางทะเลไทยถูกทำลายมากขึ้น ความอุดมสมบูรณ์ต่ำลง รวมถึงปัญหาโลกร้อนทำทะเลเดือด นอกจากนี้ยังประสบปัญหาเรือประมงขนาดเล็กมีปริมาณมากขึ้น

นอกจากนี้ยังประสบปัญหาอาหารทะเลจากต่างประเทศ อย่างเวียดนาม เมียนมา กัมพูชา ราคาถูกเข้ามาตีตลาด จึงทำให้อาหารทะเลวิกฤตเผชิญปัจจัยรุมเร้าทั้งราคาตกต่ำ สัตว์น้ำหายาก แถมยังถูกสินค้าจากต่างประเทศตีตลาด โดยเบื้องต้นประเมินว่าปัญหาต่างๆที่กล่าวมาจะทำให้ตลาดอาหารทะเลไทยสูญเงินไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โลกร้อน ทะเลเดือด ระบบนิเวศทางทะเลถูกทำลาย ทำให้อุตสาหกรรมทะเลปั่นป่วนไม่น้อยเลยเดียว


https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/849620

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #16  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,282
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


พร้อมยัง? ไทยรับมือ 'เอลนีโญ' สิ้น พ.ค. สู่ 'ลานีญา' ? ก.ย.จับตาผลกระทบรอยต่อ


SHORT CUT

- ระทึก! "ไทย" รับมือสถานการณ์น้ำเปลี่ยนจากภาวะ "เอลนีโญ" ที่จะสิ้นสุด พ.ค.นี้

- เตรียมเข้าสู่ "ลานีญา" ก.ย.นี้ จับตาฝนทิ้งช่วงระหว่างรอยต่อ

- คาดมีทั้งฝนทิ้งช่วง และฝนมากปลายฤดู มีโอกาสเกิดลานีญา 60%




ระทึก! "ไทย" รับมือสถานการณ์น้ำเปลี่ยนจากภาวะ "เอลนีโญ" ที่จะสิ้นสุด พ.ค.2567 เตรียมเข้าสู่ "ลานีญา" ก.ย.นี้ จับตาฝนทิ้งช่วงระหว่างรอยต่อ คาดมีทั้งฝนทิ้งช่วง และฝนมากปลายฤดู มีโอกาสเกิดลานีญา 60%

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทุกวันนี้ คือ สิ่งที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง และเร่งออกมาตรการรับมือโลกปั่นป่วน โดยเฉพาะ 'เอลนีโญ' ที่สร้างผลกระทบภัยแล้งทั่วไทย และทั่วโลก สลับกับบางพื้นที่เกิดลานีญา ทำให้โลกใบนี้โกลาหลไม่น้อย ส่วนของไทยก็ได้รับผลกระทบในลักษณะนี้เช่นกัน จึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งออกมารับมือ อย่างเช่นล่าสุด กระทรวงเกษตรฯ เผยจัดสรรน้ำตามแผนแล้งปี 66/67 ว่าเป็นไปตามแผน พร้อมให้ความมั่นใจรับมือฝนทิ้งช่วง-แล้งยืดเยื้อ จับตา ก.ย.-ต.ค.ปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยได้

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ช่วงรอยต่อระหว่าง "เอลนีโญ" ส่งผลให้ปริมาณฝนลดลงในปี 2565-2566 และกำลังเข้าสู่สถานการณ์ "ลานีญา" ที่จะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น โดยกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า สภาวะเอลนีโญกำลังปานกลางในปัจจุบัน จะอ่อนลงและเปลี่ยน เข้าสู่สถาวะเป็นกลางในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.2567 จากนั้น มีความน่าจะเป็น 62% ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค.2567

ขณะที่ กรมชลประทาน รายงานว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกขนาดทั่วประเทศ 470 แห่ง วันที่ 20 เม.ย.2567 มีความจุน้ำรวม 76,337 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณน้ำในอ่าง 43,443 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 57% ของความจุอ่าง และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 19,500 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 37% ของความจุอ่าง ทำให้ยังรับน้ำได้อีก 32,894 ล้านลูกบาศก์เมตร

ล่าสุด #กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทีมกรุ๊ป กล่าวว่า เอลนีโญในไทยนั้นจะอ่อนกำลังลงตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นเรื่องดีเพราะปริมาณน้ำสำรองในประเทศลดลงมากรวมทั้งจากการวิเคราะห์ข้อมูลองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ระบุว่า ไม่เพียงแต่เอลนีโญจะอ่อนกำลังลงเพียงแต่มีโอกาสเกิดลานีญาในไทย 60% และจะหนักขึ้นในช่วง ก.ย.-ต.ค.2567 ทำให้ต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำในอ่างเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ต้องติดตามร่องฝนจาก กรมอุตุนิยมวิทยา ทุกวันเพื่อตรวจสอบพายุที่จะเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝนที่จะทำให้ปริมาณน้ำมากกว่าปกติ เพื่อเตรียมการรับมือกับน้ำที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ เท่าที่ติดตามข้อมูลพบว่าภาครัฐเตรียมการรับมือปริมาณน้ำฝนที่จะเกิดขึ้นจากการถอดบทเรียนจากปี 2564-2565 ที่ปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยมีการลอกคลองหรือการกำจัดขยะและวัชพืชในแม่น้ำและท่อระบายน้ำ รวมถึงการบำรุงรักษาบานประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มากที่สุดและปรับปรุงคลองรัฐโพธิ์ให้พร้อมรับน้ำช่วงหน้าฝนเพื่อปกกันน้ำท่วมในอนาคต

"เป็นเรื่องดีที่เอลนีโญนั้นอ่อนกำลังลง แต่ต้องรับมือปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นจากสถานลานีญาในอนาคต เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมซ้ำรอยเหมือนในอดีต" นายชวลิต กล่าว

ขณะที่ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในขณะที่เดือน ก.ย.2567 ผลพยากรณ์จากอุตุนิยมวิทยา 13 สำนักทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนทิศทาง โดยบ่งชี้ว่าปริมาณฝนจะกลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติในเกือบทุกภูมิภาคเล็กน้อย ต้องระวังน้ำท่วมเพราะเป็นเดือนที่ปริมาณฝนสูงสุดในรอบปี ส่วนเดือน ต.ค.2567 ปริมาณฝนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคเหนือที่ฝนจะอยู่ระดับปกติ ต้องระวังน้ำท่วมภาคใต้ โดยเฉพาะใต้ตอนบนเพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนใหญ่ของภาคใต้

"อากาศร้อนจัดและความแห้งแล้งที่อาจยืดเยื้อ ดังนั้นต้องเตรียมวางแผนการใช้น้ำช่วงฤดูแล้งและช่วงฤดูฝนที่ฝนอาจมาล่าช้ากว่าปกติ และเตรียมรับมือน้ำท่วมและอากาศหนาวเย็นช่วงปลายปี" ร้อยเอกธรรมนัส กล่าว


https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/849706

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #17  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,282
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


"โลกเดือด" ส่งผลอย่างไรกับ "ทะเลไทย" และมีอะไรบ้างที่เราต้องเฝ้าระวัง


SHORT CUT

- อ.ธรณ์ เผย "สวัสดีวัน Earth Day ด้วยความร้อน 43 องศา ทะเลร้อนเกิน 32 องศา ตั้งแต่ 7 โมงเช้า ไม่รักโลกตอนนี้ ก็ไม่เหลือเวลาให้รักแล้วครับ"

- อ่าวไทยร้อนเกิน 32 องศา, เกิดปรากฏการณ์ "หญ้านึ่ง", แพลงก์ตอนบลูม, ไข่เต่ามะเฟืองไม่มีเชื้อ, ปะการังเกาะยา จ.ตรัง ฟอกขาวแล้ว

- พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้ ทช. รับมือปะการังฟอกขาว




เมืองไทยอากาศร้อนทะลุ 43 องศา บนบกก็ว่าร้อนตับจะแตกแล้ว ดำลงน้ำก็ร้อนพอกัน อ.ธรณ์ เปิดเผยว่า วัดอุณหภูมิท้องทะเลช่วง 7 โมงเช้า ได้ 32 องศาเข้าไปแล้ว มารีเช็กกันหน่อยว่า ทะเลไทยในยุคโลกเดือดได้รับผลกระทบยังไงบ้าง?


โลกเดือด ทะเลเดือดยิ่งกว่า!

องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ NOAA ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแล้วว่า โลกกำลังเจอกับปะการังฟอกขาวระดับหายนะ (Global Coral Bleaching Event) ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 4 ของโลก และถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปี ซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลมาจากอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น

เป็นเหตุให้ขณะนี้ กว่า 53 ประเทศทั่วโลกกำลังเจอกับปะการังฟอกขาว ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีเลย เพราะปะการังเหล่านี้ถือเป็นที่อิงอาศัยให้กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ และคอยมอบความอุดมสมบูรณ์ให้กับประเทศต่าง ๆ แต่ดูเหมือนว่า "The Giverแห่งท้องทะเล" กำลังถูกทะเลเดือดเล่นงานแบบไม่ให้พักยก


"สวัสดีวัน Earth Day ด้วยความร้อน 43 องศา ทะเลร้อนเกิน 32 องศา ตั้งแต่ 7 โมงเช้า ไม่รักโลกตอนนี้ ก็ไม่เหลือเวลาให้รักแล้วครับ"

นี่คือประโยคสั้น ๆ จาก ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือ อ.ธรณ์ ในแบบที่เรารู้จัก แสดงให้เห็นว่า แม้แต่เวลาที่เช้ามาก ๆ ท้องทะเลก็มิได้เย็นตามความเข้าใจ เราต้องยอมรับและตื่นตัวกันอย่างจริงจังได้แล้ว เพื่อหาวิธี "ทุเลา" ทะเลไทย เพราะสายเกินไปแล้วที่จะกลับไปแก้...


เนื่องในโอกาสวันคุ้มครองโลก (Earth Day) หรือวันที่ 22 เมษายนของทุกปี สปริงนิวส์ถือโอกาสรวบรวมปัญหาโลกเดือดกับทะเลไทยมาให้อ่านกัน เอาแค่เฉพาะปี 2024 ทะเลไทยเจอวิกฤตจากโลกเดือดไปแล้วกี่กระทง


อ่าวไทยร้อนเกิน 32 องศา

ประเดิมด้วยอุณหภูมิน้ำ ขณะนี้โลกเดือด แดดจัด ผนึกกำลังกันทำให้ท้องทะเลอ่าวไทยกลายเป็น "หม้อไฟ" โดยพบว่าตอนนี้อ่าวไทยอุณหภูมิพุ่งทะลุ 32.5 องศาไปแล้ว ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ แม้ในตอนกลางคืน ช่วงที่ไม่มีแดด ต้องแต่แสงพระจันทร์ อุณหภูมิน้ำทะเลอ่าวไทยก็ยังแตะ 32 องศา โดยรวมแล้ว อุณหภูมิอ่าวไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยจากปีที่แล้วประมาณ 1.5 องศา ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องปกติเอาเสียเลย


เกิดปรากฏการณ์ "หญ้านึ่ง" อันดามันใต้ ตรัง-กระบี่

เบื้องต้น หญ้าทะเลที่อันดามันใต้ จังหวัดตรัง ? กระบี่ (ตอนล่าง) ลากลามไปจนถึงพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสตูล เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "หญ้านึ่ง" นอกจากนี้ น้ำที่ลดต่ำลง ผนวกกับแดดแรงทำให้หญ้าทะเลไหม้และตายไปหมด ส่งผลโดยตรงให้พะยูนในพื้นที่กระจายกันไปหาอาหารในแหล่งอื่น


บางแสน จ.ชลบุรี เกิดแพลงก์ตอนบลูม เปลี่ยนน้ำทะเลเป็นสีเขียว

จำข่าวทะเลบางแสนสีเขียวกันได้ไหม แม้จะได้รับการยืนยันแล้วว่าไม่เป็นอันตราย และยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ดี แพลงก์ตอนบลูมถือเป็นอีก 1 เหตุการณ์ที่มีต้นตอมาจากโลกเดือด

เพราะเดิมที แพลงก์ตอนบลูมจะเกิดเฉพาะช่วงหน้าฝนเท่านั้น แต่ในยุคโลกเดือด แพลงก์ตอนบลูมโผล่ให้เห็นกันตั้งแต่ต้นปีเลยทีเดียว และในหนึ่งปีมักเกิดแค่ 15 ครั้ง แต่ปีที่ผ่านมาเกิดไปทั้งสิ้น 70 ครั้ง แม้จะไม่เป็นอันตรายต่อคน แต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ


ไข่เต่ามะเฟืองไม่มีเชื้อ และมีเต่าตัวผู้น้อยลง

แม่เต่ามะเฟือง 14 กุมภา จำนวน 120 ฟอง ที่ตั้งไว้ริมชายหาด พบว่าไข่ทุกใบไม่ได้รับการผสม ไม่มีลูกเต่าเกิดแม้แต่ตัวเดียว สิ่งนี้เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่าง แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้เต่ามะเฟืองตัวผู้หายากขึ้นทุกวัน ๆ

สาเหตุเพราะว่า เพศของเต่าจะขึ้นตรงกับอุณหภูมิในรัง หากโลกร้อนจะเกิดเป็นเต่าเพศเมีย หากอุณหภูมิต่ำจะเป็นเพศผู้ จึงไม่แปลกใจเลยที่เราเหลือเต่าตัวผู้เพียงน้อยนิด


ปะการังเกาะยา จ.ตรัง ฟอกขาวแล้ว 1%

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวด้วยวิธีสุ่มตรวจ และติดเครื่องวัดอุณหภูมิน้ำทะเลที่บริเวณเกาะยา จังหวัดตรัง เบื้องต้นพบว่า ปะการังในบริเวณดังกล่าวเริ่มมีสีซีดเซียว คิดเป็น 1% ของพื้นที่สำรวจ และน้ำทะเลมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 31.8 องศา


เฝ้าระวังปะการังฟอกขาวอ่าวไทย-อันดามัน

เบื้องต้น พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เตรียมรับมือสถานการณ์ปะการังฟอกขาว และเดินหน้าสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ "ภาวะโลกเดือด" ให้กับประชาชน

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่า ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือและดำเนินการวางแผนเฝ้าระวังสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในฤดูร้อนช่วงเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม โดยในปีนี้ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดปะการังฟอกขาวเป็นวิกฤตโลก

ที่มา: Thon Thamrongnawasawat


https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/849716
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #18  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,282
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


เดือดแน่! อุณหภูมิเฉลี่ยไทย จ่อเทียบเท่า "ทะเลทรายซาฮารา" ภายในปี 2613


SHORT CUT

- นักวิทยาศาสตร์เผยผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่น่าตกใจ อนาคตอุณหภูมิเฉลี่ยของไทยอาจพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

- คาดการณ์ว่าภายในปี 2613 อุณหภูมิเฉลี่ยรายปีของไทยจะพุ่งสูงเทียบเท่ากับอุณหภูมิในทะเลทรายซาฮารา

- คลื่นความร้อนสุดโหด จะส่งผลให้พื้นที่ชุมชนเมืองใหญ่ในประเทศไทยไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ตลอดทั้งปี




อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยอาจพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เทียบเท่ากับอุณหภูมิทะเลทรายซาฮารา ภายในปี 2613 กลายเป็น "ประเทศที่ร้อนเกินกว่าจะอยู่อาศัยได้" คนรุ่นต่อไป อาจต้องเผชิญกับวิกฤตภัยพิบัติที่หนักหน่วง

นักวิทยาศาสตร์รายงานผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่น่าตกใจ อนาคตอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยอาจพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เทียบเท่ากับอุณหภูมิทะเลทรายซาฮารา ภายในปี 2613

การคาดการณ์ครั้งนี้สะท้อนถึงภาพฝันร้ายที่ประเทศไทยอาจกลายเป็น "ประเทศที่ร้อนเกินกว่าจะอยู่อาศัยได้" หากโลกยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราสูงสุดต่อไป สภาพอากาศร้อนจัดเช่นนี้จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคเกษตรกรรมและการดำรงชีวิตของประชาชนจำนวนมาก

ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงมีอากาศร้อนเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ปัญหาโลกร้อนไม่ได้เกิดจากสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง แต่เป็นผลรวมของแนวโน้มในระยะยาวของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิผิวโลกอันเนื่องจากก๊าซเรือนกระจก

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ฤดูร้อนปี 2567 ประเทศไทยจะมีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 35-38?C โดยคาดการณ์อุณหภูมิสูงที่สุด 43 ? 44.5?C ซึ่งใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับสถิติของประเทศไทย

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของไทยเพิ่มขึ้น 1.5?C นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งมากกว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่ 1.3?C นอกจากนี้ แบบจำลองยังคาดการณ์ว่าหากไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิเฉลี่ยของไทยจะเพิ่มขึ้นอีก 2.5-5.5?C ภายในปี 2643

"สิ่งที่น่ากังวลคือแนวโน้มอุณหภูมิสูงเฉลี่ยของประเทศไทย ในปี 2566 อยู่ที่ 28.1?C สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (2534-2563) และมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2613 อุณหภูมิเฉลี่ยรายปีของไทยจะพุ่งสูงกว่านั้นอย่างมาก เทียบเท่ากับอุณหภูมิในทะเลทรายซาฮารา ซึ่งคลื่นความร้อนสุดโหดในระดับดังกล่าวจะส่งผลให้พื้นที่ชุมชนเมืองใหญ่ในประเทศไทยไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ตลอดทั้งปี"

ผลกระทบรุนแรงเช่นนี้ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องมีแผนรับมือ และปรับตัวกับวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน ทั้งคลื่นความร้อน ภัยแล้ง อุทกภัย และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เพื่อบรรเทาปัญหา

มิฉะนั้นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่อทุกภาคส่วนในประเทศไทย โดยเฉพาะคนรายได้น้อย ภาคเกษตรกรรม และประชากรกลุ่มเปราะบาง รวมถึงอนาคตของคนไทยรุ่นต่อไป ต้องเผชิญกับวิกฤตภัยพิบัติที่หนักหน่วง

หากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใน 5 ทศวรรษข้างหน้า โลกจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่ใช่แค่กับประเทศไทย แต่เกือบหนึ่งในสามของประชากรโลก จะต้องดำรงชีวิตท่ามกลางสภาวะอากาศร้อนรุนแรงเสมือนทะเลทรายซาฮารา


https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/849778

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 21:10


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger