เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 31-05-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม 2564

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


เส้นทางขยะหน้ากากอนามัย! วันละ 2 ล้านชิ้น ควรจบที่ไหน? คพ.ย้ำให้ครัวเรือน (ทิ้งรวมถังเดียว) "อย่าละเลยคัดแยก"



ช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยังไม่จบง่ายๆ "หน้ากากอนามัย" ที่เราสวมใส่กันทุกวันเมื่อถอดทิ้งเป็นขยะแล้ว ถ้าทิ้งอย่างไม่ถูกต้อง มีโอกาสสูงที่จะไปทำร้ายคนอื่นได้ เพราะหน้ากากอนามัยใช้แล้ว อยู่ในข่าย "ขยะติดเชื้อ" จำเป็นต้องมีการกำจัดอย่างถูกต้อง ด้วยการเผาทำลาย

ทว่าพฤติกรรมการทิ้งขยะตามครัวเรือนของคนไทยส่วนใหญ่ยังเป็นการทิ้งแบบเหมารวม (ทิ้งรวมลงถังเดียวโดยไม่ได้คัดแยก)

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) บอกว่า สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีการแพร่ระบาดขยายวงกว้างขึ้น ส่งผลให้ปริมาณขยะที่เกิดจากหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วเพิ่มสูงขึ้นตามด้วย หากเทียบจากอัตรากำลังการผลิตหน้ากากอนามัยของประเทศต่อวันอยู่ที่ 1.2 - 1.3 ล้านชิ้น และจากการนำเข้าจากต่างประเทศ ก็จะทำให้เกิดขยะติดเชื้อจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วประมาณ 1-2 ล้านชิ้นต่อวัน

"ถ้าเทียบจากปริมาณที่ผลิตในไทยคาดว่าจะมีขยะติดเชื้อหน้ากากอนามัยราว 1-2 ล้านชิ้นต่อวัน หรือประมาณ 240 กิโลกรัม หรือเฉลี่ย 1 ชิ้น น้ำหนักประมาณ 0.012 กิโลกรัม"

กรมควบคุมมลพิษ ย้ำให้ประชาชนทั่วไปทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากขยะติดเชื้อจากหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วว่า

1.) ให้รวบรวมถุงขยะที่มีหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วแยกออกจากถุงขยะอื่น ๆ

2.) ระบุข้อความบนถุงขยะว่า ?หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว? ให้เห็นได้อย่างชัดเจน

3.) ส่งให้กรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป


ส่วนข้อแนะนำสำหรับสถานที่ราชการ สถานที่ทำงานเอกชน สถานประกอบการ อาคารชุด

1.) จัดให้มีถังขยะสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วโดยเฉพาะ และติดสัญลักษณ์ รูปภาพข้อความที่สื่อถึงหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ควรวางไว้ในจุดรวบรวมที่สามารถเห็นได้ชัดเจน และไม่ควรมีจุดรวบรวมเกิน 2 จุด

2.) ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วในองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยควรแสดงแผนผังหรือรูปภาพแสดงวิธีการทิ้งที่ถูกต้องไว้บริเวณที่ตั้งถังขยะ

3.) รวบรวมโดยแยกทิ้งจากขยะอื่น ๆ เพื่อส่งให้กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือส่งให้สถานที่กำจัดเอกชนนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป




ขยะหน้ากากอนามัยที่ถอดทิ้งอย่างผิดวิธี...ไปอยู่ที่ไหน?

ขยะติดเชื้อจากหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ในเวลากว่า 1 ปีที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แน่นอนว่ามีจำนวนไม่น้อยถูกถอดทิ้งอย่างไม่ถูกวิธี และกลายเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเจ้าหน้าที่เก็บขยะที่จะต้องคัดแยกก่อนส่งต่อไปยังขั้นตอนการเผาทำลาย

เมื่อขยะหน้ากากใช้แล้วปะปนอยู่กับขยะอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกแยกทิ้ง ทำให้พนักงานเก็บขยะที่ต้องสัมผัสโดยตรงมีโอกาสได้รับอันตราย และบางส่วนอาจจะกระจายไปตามที่ต่างๆ เช่น ตามชายฝั่ง หรือในทะเล ส่งผลต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม ทั้งจากข่าวขยะหน้ากากอนามัยที่เกลื่อนอยู่เต็มชายหาด หรือแม้แต่การตายของเหล่าสัตว์ทะเลที่ถูกขยะหน้ากากอนามัยฆาตกรรมน่าจะทำให้พวกเราเห็นแล้วว่าหน้ากากอนามัย คือ ขยะที่อันตรายแค่ไหน




แล้วเราจะต้องทิ้งอย่างถูกวิธีได้อย่างไร?

ขั้นตอนในการทิ้งขยะหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีตามด้านล่างนี้ ทุกคนสามารถส่งต่อให้กับคนรู้จักได้เลย เพื่อเป็นการช่วยกันลดขยะติดเชื้อ และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

1 #ถอดโดยไม่สัมผัสด้านใน และ พับ/มัด ให้ด้านในประกบกัน ก่อนจะใช้สายม้วนโดยรอบ

2 #ใส่ถุงทำสัญลักษณ์ มัดปากถุงให้แน่น หรือห่อด้วยกระดาษ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และอย่าลืมเขียนให้ชัดเจนว่า หน้ากากอนามัย

3 #ทิ้งแยกถัง โดยมองหาถังสีแดงใกล้ตัวที่ระบุว่า "ขยะติดเชื้อ" เท่านั้น หรือถังขยะสำหรับหน้ากากอนามัยโดยเฉพาะ และอย่าลืมล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์

ไม่มีใครรู้หรอกว่าหน้ากากอนามัยที่กลายเป็นฆาตกรมาจากใคร แต่มันจะไม่ใช่คุณอย่างแน่นอน ถ้าคุณ #ถอดและทิ้งถูกทาง

แต่ตามความเป็นจริงที่ยังเกิดอยู่ทุกวันนี้ ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังทิ้งขยะแบบถังเดียวรวมกัน ไม่ได้มีการคัดแยกทิ้ง ดังนั้น ขยะหน้ากากอนามัย ทุกคนช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค และลดสร้างภาระให้แก่เจ้าหน้าที่เก็บขยะได้ด้วยการใช้ถุงห่อ หรือภาชนะอื่นๆ เช่น ขวดเพ็ทใส่เอาไว้โดยเฉพาะ พร้อมเขียนระบุว่าเป็นขยะหน้ากากอนามัยเพื่อให้เจ้าหน้าที่เห็นชัด ซึ่งจะนำไปคัดแยกอย่างสะดวกและปลอดภัย ก่อนนำไปกำจัดโดยการเผาต่อไป


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9640000052200

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 31-05-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


สำรวจอุณหภูมิประเทศไทย แนวโน้ม 'ร้อนยาว- หนาวสั้น'



ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้หลายพื้นที่ในประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพมหานคร อุณหภูมิสูงขึ้น อากาศร้อนจัด แม้บางวันจะมีเมฆครึ้มในบางช่วง แต่ก็เคลื่อนคล้อยลอยผ่านไป ฝนไม่ตกอย่างที่คิด ทิ้งไว้แต่อากาศที่ร้อนอบอ้าว ทั้งที่เป็นเดือนพฤษภาคมย่างเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว

ก่อนหน้านี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่า วันที่ 15 พฤษภาคม ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัว แต่ฝนก็ไม่ตกอย่างที่ประมาณการไว้ จึงมีข้อสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับสภาพอากาศในปีนี้ นายอนุรัตน์ ศฤงคารภาษิต ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง เห็นได้จากอากาศที่ร้อนอบอ้าวมากขึ้นในทุกช่วงฤดู รวมถึงฤดูหนาวที่อากาศไม่หนาวเย็นนัก และไม่หนาวต่อเนื่องเหมือนในอดีต

ผอ.กองพัฒนาอุตุฯ ยังกล่าวอีกว่า ความแตกต่างของอุณหภูมิในช่วงเวลากลางวันกับกลางคืนไม่แตกต่างกันมาก ลมที่พัดประจำฤดูก็มีความผิดปกติไปจากที่เคย ส่งผลให้สภาพอากาศอื่นๆ รวมทั้งฝนมีความผันแปรไปจากเดิม เอื้อต่อการเกิดสภาวะอากาศที่รุนแรงทั้งในทางที่น้อยผิดปกติและมากผิดปกติ

" ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ อุณหภูมิที่สูงขึ้นในแต่ละปี แต่ความผันแปรของอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและลดต่ำลงในแต่ละปี มีปัจจัยมาจากปรากฏการณ์ทางภูมิอากาศต่างๆ อย่างปรากฏการณ์ลานีญากำลังปานกลางในครั้งนี้ พัฒนาตัวมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 และยังคงอยู่ในสภาวะลานีญามาจนถึงตอนนี้ แต่ค่อยๆ อ่อนกำลังลง โดยมีแนวโน้มสูง ที่จะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะปกติ ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2564 ส่งผลให้ภาคใต้ของไทยมีปริมาณฝนมากขึ้นจากปกติ รวมถึงอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนปี 2564 ไม่ร้อนอบอ้าวมากนัก " นายอนุรัตน์ กล่าว



อย่างไรก็ตาม ผอ.กองพัฒนาอุตุฯ สรุปสภาพอากาศร้อนในเดือนเมษายนปีนี้ เหตุที่ทำให้ไม่ร้อนเหมือนทุกปี เพราะลานีญาส่งผลให้ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้เป็นระยะๆ ในขณะที่ไทยมีอากาศร้อน ประกอบกับมีคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงต้นเดือนและกลางเดือน ทำให้ไทยตอนบนมีฝนและฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ช่วยคลายความร้อนลงไปได้มาก ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนเมษายนต่ำกว่าค่าปกติในทุกภาค โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติ 1.2 และ 1.1 องศาเซลเซียส

" มวลอากาศสูงที่เบียดเข้ามาบ่อยๆ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เดือนเมษายนที่ผ่านมา ไทยมีพายุฤดูร้อนตั้งแต่ต้นเดือนและปลายเดือน มีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ บางช่วงฝนไม่มา แต่มีลมแรง ทำให้บ้านเรือนทรัพย์สินเสียหาย พบว่า ปริมาณฝนเมษายนปีนี้สูงกว่าค่าปกติในทุกภาค โดยเฉลี่ยทั้งประเทศเดือนนี้ประเทศไทยมีปริมาณสูงกว่าค่าปกติ 96 เปอร์เซ็นต์ " นักอุตุนิยมวิทยาบอก

จากการติดตามสภาพภูมิอากาศเดือนเมษายน 2564 ประเทศไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ย 28.7 องศา ต่ำกว่าค่าปกติ 0.8 องศาเซลเซียส (ค่าปกติอุณหภูมิเฉลี่ยของไทยในเดือนเมษายน คือ 29.5 องศา)

ขณะที่อุณหภูมิสูงที่สุดในเดือนเมษายน 2564 วัดได้ 41.7 องศาที่สถานีบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัด ลพบุรี เมื่อวันที่ 2 เม.ย. เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 และ 2562 พบว่า เดือนเมษายนปีนี้มีอากาศร้อนน้อยกว่า 2 ปีที่ผ่านมานอกจากนี้ จากสถิติที่ผ่านมา พบว่า อุณหภูมิสูงสุดในฤดูร้อนของไทยวัดได้ 44.6 องศาเซลเซียส ที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 28 เม.ย. 2559

" สำหรับฤดูร้อนปีนี้มีจำนวนวันที่มีอากาศร้อน อุณหภูมิสูงสุด 35.0 - 39.9 องศา และร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุดตั้งแต่ 40.0 องศา น้อยกว่าปีที่ผ่านมาชัดเจน โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม " นายอนุรัตน์ กล่าวเสริม

แม้ว่าเดือนเมษาปีนี้ไม่ร้อนปรอทแตก แต่ในเดือนพฤษภาคมอยู่ในช่วงเปลี่ยนจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน ระยะครึ่งแรกของเดือนเกือบทุกภาคของประเทศยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าว และเกิดพายุฝนฟ้าคะนองหรือพายุฤดูร้อนได้บ่อย

เขาอธิบายว่า ปกติคนจะคุ้นเคยการพูดถึงดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 27 เมษายน มักมีคำทำนายว่าอากาศจะร้อนที่สุด ซึ่งปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมของทุกปี แต่ปีนี้แนวโคจรดวงอาทิตย์ค่อยๆ เคลื่อนมาตั้งฉากที่บริเวณภาคเหนือของไทยต้นเดือนพฤษภาคม ทำให้มีอากาศร้อนเกือบทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดในบางพื้นที่ของ จ.อุตรดิตถ์ ล่าพูน ลำปางและแม่ฮ่องสอน อุณหภูมิสูงสุดวัดได้ 43 องศา ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ อุณหภูมิสูงสุดของเดือน พ.ค. วัดได้ 40.8 องศา ถือว่าร้อนจัด แต่มีอุณหภูมิเฉลี่ย อยู่ที่ 33-35 องศา

" คนกรุงเทพฯ จะรู้สึกร้อนมาก เพราะเป็นเมืองแห่งความร้อน ที่เรียกว่า ฮีท โดม (HEAT DOME) สภาพแวดล้อมเมือง เต็มไปด้วยตึกสูงคอนโดมิเนียมหนาแน่นแออัด กักเก็บความร้อนไว้ ทำให้ความร้อนที่ได้รับไม่สามารถระบายออกไปได้คล้ายกับมีฝาแก้วครอบอบู่ แล้วยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ส่วนตัว รถขนส่งสาธารณะ และการใช้งานเครื่องปรับอากาศ ซึ่งระบายความร้อนออกมา ทำให้สภาพอากาศในกรุงเทพฯ ร้อนขึ้นไปอีก เห็นได้ชัดเจนฤดูหนาวทุกปี กทม. มีแค่อากาศเย็น เพราะปัญหาโดมความร้อนสูง ขณะที่ภาคเหนืออากาศหนาวถึงหนาวจัด " นายอนุรัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า ครึ่งหลังของเดือน พ.ค. เข้าสู่ต้นฤดูฝน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มพัดปกคลุมประเทศไทยชัดเจนและร่องความกดอากาศต่ำเลื่อนจากประเทศมาเลเซีย ขึ้นมาพาดผ่านภาคใต้และภาคกลางตามล่าดับ ทำให้มีฝนตกชุก



เวลานี้ประเทศไทยเข้าฤดูฝนแล้ว ผอ.กองพัฒนาอุตุฯ บอกว่าจากการพยากรณ์คาดว่า ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนจะมากกว่าค่าปกติ ประมาณร้อยละ 5 และจะมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยช่วงครึ่งแรกของฤดูฝน ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะมากกว่าค่าปกติร้อยละ 10

ช่วงครึ่งหลังฤดูฝน เดือนสิงหาคมถึงประมาณกลางตุลาคม ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะใกล้เคียงค่าปกติ ฤดูฝนของไทยปีนี้จะสิ้นสุดกลางเดือนตุลาคม ทั้งนี้ ปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นกรกฎาคมยังคงต้องระมัดระวังเกิดฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณและการกระจายของฝนลดลงไป

สำหรับช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุดในหน้าฝน คือ ช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน มีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และอาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงน้ำล้นตลิ่งได้

อย่างไรก็ตาม นักอุตุนิยมวิทยา เตือนว่า ในฤดูฝนนี้พื้นที่กรุงเทพฯ ต้องระวังเรื่องฝนตกหนัก จนเกิดการระบายน้ำไม่ทัน เนื่องจากสภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปและมีจ่านวนประชากรเพิ่มมากขึ้น มีการก่อสร้าง มีถนน และมีขยะที่กีดขวางทางระบายน้ำ ส่งผลให้ความสามารถของพื้นที่ในการรองรับต่อปริมาณฝนในระดับหนักถึงหนักมากลดน้อยลงไป มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น



ในความน่ากังวลของ กทม. นั้น นายอนุรัตน์ กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ เกิดฝนตกหนักรุนแรงมาก ผลจากการเติบโตเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ยกมวลอากาศสูง เกิดทั้งในและฝนกระโชกแรง เรียกว่า กระแสลมปั่นป่วน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อผ่านบริเวณอาคารหนาแน่น

" 30 ปีก่อน ฝนพันปีทำให้เกิดน้ำท่วม กทม. ทุกวันนี้แค่ฝนตกหนักหนาแน่น 60 มิลลิเมตรต่อวัน ก็น้ำท่วมแล้ว สาเหตุไม่ใช่จากปริมาณน้ำฝน มาจากปัจจัยเสี่ยงของมหานครแห่งนี้ ถ้ายังไม่รักษาสภาพของเมือง ไม่ดูแลรักษาคูคลองให้ทำหน้าที่ระบายน้ำ แล้วก็ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม จะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เกิดการแปรปรวนสภาพอากาศ "

นักอุตุนิยมวิทยาคนเดิม กล่าวว่า แนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่แต่สูงขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนมีสูงมีลดต่ำลง ตอนนี้บ้านเรากว่าจะเข้าฤดูหนาวต้องเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์อากาศเริ่มอุ่นแล้ว แนวโน้มฤดูหนาวสั้นลง ขณะที่อุณหภูมิต่ำสุดก็มีแนวโน้มขยับสูงมากขึ้น อุณหภูมิสูงสุดมีแต่ขยับเพิ่มขึ้น ต้องช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปล่อยก๊าซ ลดการใช้สารเคมีในการเกษตร และฟื้นฟูป่าปลูกต้นไม้ เพราะต้นไม้จะช่วยรักษาความชื้นในอากาศ ทำให้สภาพอากาศโดยรวมเย็นลง ต้องสร้างสังคมสีเขียว นอกจากช่วยลดอุณหภูมิ ยังยกระดับคุณภาพชีวิตสุขภาพคนไทนให้ดีขึ้น

ส่วนการพัฒนาอุตุนิยมวิทยาในไทย ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุตุฯ เร่งพัฒนาแบบจำลองคาดหมายอุณหภูมิและภูมิอากาศให้ยาวไกลและแม่นยำมากขึ้น โดยนักอุตุนิยมวิทยาไทยทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาต่างประเทศ ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า จะมีแบบจำลองที่ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น โดยพยากรณ์ระยะสั้น 24 ชั่วโมง ถึง 3 วัน แม่นยำมากกว่า 80% ส่วนพยากรณ์ระยะปานกลางและระยะนานถูกต้องเกิน 75% เกิดประโยชน์ต่อการวางแผนจัดการทรัพยากรน้ำและป้องกันภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ ลดผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตสภาพอากาศ ลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน


https://www.thaipost.net/main/detail/104623
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 18:18


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger