เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 22-08-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม 2564

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อน แต่ยังคงทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะนี้ โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง ในภาคใต้ฝั่งตะวันตก

อนึ่ง พายุโซนร้อน "โอไมส์" บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนรุนแรงแล้ว และมีแนวโน้มเคลื่อนตัวสู่ทะเลจีนตะวันออก พายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 22 - 23 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้

ส่วนในช่วงวันที่ 24 - 26 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะในที่ในช่วงวันที่ 25 ? 27 ส.ค. 64 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ตลอดช่วง


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 24 - 27 ส.ค. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 22-08-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation TV


วิเคราะห์ "เนเธอร์แลนด์" ต้นแบบป้องกันน้ำท่วม มีดีอย่างไร?



วันนี้จะชวนมาศึกษาวิเคราะห์แนวทางการรับมือน้ำท่วม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถือเป็นต้นแบบที่ดี ด้วยมีสภาพภูมิประเทศที่ลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศไทยมาก คือเป็นพื้นที่ต่ำ แต่ทำไมทางเนเธอร์แลนด์ จึงมีมาตรการมรการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมได้อย่างดีมาก ติดตามได้จากรายงานนี้


เนเธอร์แลนด์เจอพิษน้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 1953

ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีพื้นที่ 20 เปอร์เซนต์ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เนเธอร์แลนด์ เป็น 1 ในประเทศที่มีสถานะเป็น ?ประเทศแผ่นดินต่ำ? (Low Countries) เช่นเดียวกันกับ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และฝรั่งเศส (ทางตอนเหนือ) เนื่องจากประเทศเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ต่ำกว่าน้ำทะเล ดังนั้นเมื่อยุคสมัยก่อนจึงมักได้ยินการรายงานข่าวเกี่ยวกับการเกิดอุทกภัยจากประเทศเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง



ย้อนกลับไปเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งสำคัญ วันที่ 31 มกราคม 1953 เนเธอร์แลนด์ ประเทศแห่งนี้ เคยเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ ที่มีชื่อว่า ?The 1953 North Sea Flood? โดยสาเหตุเกิดจากการรวมกันของน้จำนวนมหาศาล บวกกับลมพายุตะวันตกเฉียงเหนือที่รุนแรงจนทำให้เกิดคลื่นสูง ส่งผลให้เขื่อนพังทลายลง ทำให้พื้นที่ร้อยละ 9 ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ และเหตุการณ์ครั้งนั้นคร่าชีวิตชาวดัตช์ 1,836 คน (หากรวม ประเทศ อื่นๆ ที่โดนพิษจากเหตุการณ์นี้ด้วย จะมียอดจำนวนผู้เสียชีวิตเป็น 2,551 คน) ประชาชนกว่า 100,000 คนที่กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย



จากผลของความเสียหายในครั้งนั้น กลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ หา วิธีแก้ปัญหาน้ำท่วม ยอมทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลไปกับโครงการ Delta Project ที่ประกอบด้วยการสร้างคันกั้นน้ำ เขื่อน และสร้างกำแพงกันคลื่นจากลมพายุกว่า 14 แห่งรอบพื้นที่ที่ติดทะเลทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง และประเทศที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ก็ไม่เคยเจอพิษน้ำท่วม แบบรุนแรงสาหัสอีกเลย


โครงการจัดระบบน้ำ Delta Works

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 1953, ประเทศเนเธอร์แลนด์เล็งเห็น วิธีแก้ปัญหาน้ำท่วม มาก่อนหน้านี้แล้ว และพอมีปัญหากระตุ้นและเร่ง นั่นส่งผลให้ พวกเขาเริ่มโครงการ 'Delta Works' ซึ่งจะมาใช้จัดการระบบน้ำทันที

สำหรับ โครงการ Delta Works คือโครงการพัฒนาระบบจัดการน้ำ และควบคุมผลกระทบจากภัยพิบัติทางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก อยู่บริเวณปากแม่น้ำไรน์-เมิส-เชลดา ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งดำเนินการโดย หน่วยงานจัดการน้ำ Rijkswaterstaat (RWS) ประกอบไปด้วย เขื่อน พนังกั้นน้ำ กำแพงกันคลื่น รวมทั้งสร้างประตูระบายน้ำบริเวณปากอ่าว เพื่อควบคุมน้ำทะเลไม่ให้ทะลักเข้าแม่น้ำ ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมในพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน

โดยตามข้อมูล โครงการ Delta Works การก่อสร้างยาวนานตั้งแต่ปี 1954-1997 โดยใช้งบประมาณกว่า 2.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 0.84 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ทั้งประเทศ จากเดิมที่ตั้งไว้เพียง 3.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

หากจะอธิบายหลักการในแบบรวบรัดที่สุด Delta Works คือ ทำหน้าที่กั้นน้ำทะเลและแม่น้ำออกจากกัน นอกจากนี้ ยังส่งผลดีต่อตัวชายฝั่ง เพราะน้ำนั้นถูกเลื่อนให้อยู่ไกลจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยของประชาชน ส่วนที่อยู่ด้านในเขื่อนก็ยังคงเป็นน้ำจืดไม่มีน้ำเค็มจากทะเลเข้ามาปนเปื้อน สามารถนำมาใช้ในการเกษตรได้

โดยที่ประตูระบายน้ำไม่ได้ทำหน้าที่ปิดกั้นน้ำทะเลอย่างถาวร แต่จะปิดเฉพาะเวลาที่มีคลื่นลมแรง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำทะเลทะลักเข้ามาในพื้นที่ที่อยู่อาศัยของประชาชนได้




ถอดบทเรียนจากเนเธอร์แลนด์

จากบทเรียนของ เนเธอร์แลนด์ ที่ประสบภัยน้ำท่วม และมีปัญหาเกี่ยวกับระดับพื้นที่ต่ำกว่า ระดับน้ำทะเลด้วยซ้ำ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่จุดประกายให้ทางรัฐบาลหรือผู้บริหารของประเทศไทย ได้หันมาทบทวน หันมาพิจารณาสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมแบบยั่งยืนได้ ในเชิงหลักการและนโยบาย

แม้ต้องยอมลงทุนอย่างมหาศาลในเบื้องต้น แต่ในระยะยาวก็จะสามารถช่วยป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทย จะต้องก้าวเดินตามรอยของ เนเธอร์แลนด์ทุกฝีก้าว แต่ก็ควรเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมต่างๆ มากที่สุด เพราะต้องลืมว่ามนุษย์ไม่มีวันควบคุมธรรมชาติได้

ฝนตกทุกครั้ง ไม่ว่าจะหนัก หรือเบา คนในประเทศไทย ก็ยังหวั่นกลัวกับภัยจากน้ำท่วมในทุกครั้งและทุกๆปีเช่นกัน ขณะที่ เนเธอร์แลนด์ ประเทศที่ 20 เปอร์เซนต์ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล พวกเขาได้สั่งสมองค์ความรู้ การแก้ไขกันมาจากบทเรียนครั้งอดีตนานแล้ว!


https://www.nationtv.tv/news/378834788

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 22-08-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


เขื่อนกลางเขาใหญ่มรดกโลก ?ไม่จริง แค่ขอบป่าหลายพันไร่? กรมชลแจง

กรมชลประทานยอมรับกำลังดัน 5 โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โต้ไม่ได้อยู่กลางป่า แต่กินพื้นที่ขอบป่าหลายพันไร่ และต้องถอดที่ออกจากเขตป่าอนุรักษ์หากอนุมัติสร้างโครงการ ขณะชาวบ้าน-อุทยานฯ ยันไม่ต้องการอ่าง ด้านนักอนุรักษ์เตือนจะกระทบหนักสัตว์ป่า-สะเทือนสถานภาพมรดกโลก


(ภาพ: อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่)


"กำลังดำเนินการ" 5 อ่าง ไม่ใช่ 7

วานนี้ (20 สิงหาคม 2564) เวลา 10.00 ? 12.00 น. เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์รอบผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดเสวนาออนไลน์ "เขื่อน (อ่างฯ) คุกคาม มรดกโลก? ดงพญาเย็น ? เขาใหญ่" เนื้อหาหลักของเวทีได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกรณีการสร้างอ่างเก็บน้ำ 7 แห่งรอบพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งมีสถานะเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของไทยตั้งแต่ปี 2548

กรกฎาคมที่ผ่านมา ข่าวเรื่องสร้างอ่างเก็บน้ำทับผืนป่าตะวันตะวันออกนี้กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 44 ได้ประชุมถึงสถานะทางการอนุรักษ์ของป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ว่าการตัดถนนและแผนสร้างอ่างเก็บน้ำจะทำให้พื้นที่สูญเสียคุณค่าโดนเด่นอันเป็นสากล จนทำให้ผืนป่าต้องขึ้นบัญชี "สถานะอันตราย" ก่อนหลุดสถานะมรดกโลกหรือไม่

ที่ประชุมมีมติยังไม่ให้ใบเหลือง พร้อมย้ำให้ไทยชะลอแผนสร้างอ่างเก็บน้ำต่างๆ จนกว่าจะประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ (SEA) สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งหมดและเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมครั้งถัดไป

ล่าสุด วันที่ 19 สิงหาคม คณะกรรมการมรดกโลกของไทย นำโดยประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ประเทศไทย "ชะลอ" โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ ซึ่งการไม่ได้ยกเลิกอย่างสิ้นเชิง ยังคงสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย

มหิทธิ์ วงศ์ษา นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ (ส่วนสิ่งแวดล้อม) สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน อธิบายหลายฝ่ายเกิดความเข้าใจผิดว่า อ่างเก็บน้ำจะสร้างขึ้น "กลาง" ป่ามรดกโลก เพราะโครงการไม่ได้มีจะสร้างในใจกลางป่า แต่พื้นที่รอบข้างและมีเพียงส่วนน้อยที่กินพื้นที่มรดกโลก ตัวอย่างเช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อจะใช้พื้นที่เพียง 0.003% ของป่ามรดกโลก (พื้นที่รวม 3.8 ล้านไร่)

"โครงการอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อจะใช้พื้นที่ 1,800 ไร่ กินพื้นที่ในอุทยานฯ เพียง 1,100 ไร่ ซึ่งส่วนมากเป็นพื้นที่อุทยานซึ่งจัดสรรให้ประชาชนใช้ประโยชน์ตามมติครม."

อีกหนึ่งความเข้าใจผิด คือ จำนวนโครงการที่พูดกันว่าจะสร้าง 7 อ่าง มหิทธิ์ชี้แจงว่านั้นเป็นเพราะกรมอุทยานได้ข้อให้กรมชลประทานส่งข้อมูลศึกษาให้ ซึ่งกรมชลฯ ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรูปแบบต่างๆ ไว้นานแล้วเป็นเวลากว่า 30-40 ปี ก่อนการประกาศพื้นที่เขาใหญ่เป็นอุทยาน

"บางโครงการเช่นอ่างเก็บน้ำหนองแก้ว มีการศึกษาไว้ แต่ไม่ได้มีแผนจะสร้าง แต่มันสื่อสารออกไปอย่างนั้น"

ตัวแทนกรมชลฯ ชี้แจงสถานะของแต่ละโครงการอ่างเก็บน้ำที่เป็นประเด็น ซึ่งมีแนวโน้มจะสร้าง 5 แห่ง จำนวนหนึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)


สถานภาพโครงการอ่างเก็บน้ำรอบมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ สิงหาคม 2564 (ข้อมูล: กรมชลประทาน)

เขาอธิบายว่ากรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำโดยคำนึงถึงพื้นที่ทั้งลุ่มน้ำบางปะกง

"ลุ่มน้ำบางปะกงมีน้ำท่ากว่าเจ็ดพันล้านลูกบาศก์เมตร เรากักเก็บได้กว่าหนึ่งพันล้านเจ็ดแสน อีกห้าพันล้านไหลทิ้งลงทะเล เรามีน้ำ แต่เราไม่มีที่เก็บเท่านั้นเอง"

"เราไม่ได้มีอ่างเก็บน้ำแค่ 7 อ่าง มีรอบอุทยานเขาใหญ่และลำพระธารเป็นสิบ ทั้งขนาดกลาง เล็ก ใหญ่"

"อ่างเก็บน้ำไม่ได้สามารถทำที่ไหนก็ได้ ต้องทำในพื้นที่เหมาะสม บริเวณป่ามรดกโลกมีลักษณะเป็นหลังคา การพัฒนาพื้นที่เชิงเขาจึงดำเนินการขึ้นมา"


สถานภาพโครงการอ่างเก็บน้ำรอบมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ สิงหาคม 2564 มีทั้งก่อสร้างแล้ว กำลังศึกษาและอยู่ในแผนศึกษา (ภาพ: กรมชลประทาน)

ในเรื่องความจำเป็นที่ต้องสร้างอ่างเก็บน้ำ มหิทธิ์ อธิบายว่าเหตุผลสำคัญหนึ่งคือสร้างเพื่อแก้ปัญหาแล้ง ตัวอย่างเช่น โครงการอ่างเก็บน้ำโตนสะตอที่คณะกรรมการอุทยานเคยมีมติให้เพิกถอนไปแล้ว แต่ชาวบ้านเรียกร้องให้สร้างเพราะบริเวณตาพระยาแห้งแล้งมาก ทำนาไม่ได้ จึงนำโครงการมาปัดฝุ่นอีกครั้ง

นอกจากนั้น ยังมีความจำเป็นต้องเก็บน้ำเพื่อช่วยส่งน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็ม รักษาระบบนิเวศให้ใช้ทำการเกษตรได้ อ่างเก็บน้ำยังช่วยกักเก็บน้ำและเกิดหญ้าขึ้นบริเวณรอบข้าง กลายเป็นที่หากินของสัตว์ป่า เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นฤบดินทรจินดา) ที่กรมอุทยานเก็บข้อมูลพบสัตว์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้เขื่อนยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ เช่น เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เที่ยวล่องแก่งได้ตลอดทั้งปีและมีคนมาเที่ยวเขื่อนกว่า 7-8 แสนคนในช่วงสงกรานต์


"เราไม่ได้ต้องการอ่าง" ผู้ใหญ่บ้าน-หัวหน้าอุทยานเผย

"ฟังแล้วใจหาย เพราะคลองมะเดื่อเป็นพื้นที่ต้นน้ำชั้น A และเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้าน"

ไพบูลย์ จิตร์เสงี่ยม ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 บ้านดง ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก คนในพื้นที่เป้าหมายสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ กล่าว

เขาอธิบายว่าชุมชนไม่ได้ต้องการให้มีอ่างเก็บน้ำ เหมือนที่มีการกล่าวอ้างเป็นเหตุผลในการสร้าง เพราะชุมชนไม่ได้ประสบภัยแล้งขนาดที่ขาดแคลนน้ำถึงขั้นไม่มีใช้ในการเกษตร และไม่ได้เกิดน้ำท่วมสร้างความเสียหายบ่อย ยังไม่นับว่าชุมชนอาจจะไม่ได้ประโยชน์จากโครงการเพราะไม่มีการวางท่อส่งน้ำเข้ามาในหมู่บ้านในแผนแต่แรก

เรื่องการท่องเที่ยว เขายืนยันว่าคลองมะเดื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่นักท่องเที่ยวมามากไม่แพ้เขื่อนขุนด่านฯ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีเขื่อน

"พอทราบข่าวอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ มีการจัดประชุมรับฟังความเห็นครั้งแรก ตอนนั้นชาวบ้านยังไม่รู้ มีแค่ผู้ประกอบการรีสอร์ตสิบเอ็ดรายที่บริษัททำหนังสือแจ้งมา เลยมีแค่นั้นที่ได้เข้าร่วมประชุม"

ไพบูลย์ อธิบายว่า จะมี 49 ครัวเรือนที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานเพราะเป็นพื้นที่เป้าหมายสร้างอ่าง แต่แผนรองรับว่าย้ายไปไหนกลับไม่แน่ชัด อีกทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำจะทำให้น้ำท่วมพื้นที่สวนผลไม้อย่างทุเรียนและส้มโอ ที่นโยบายเยียวยาของรัฐกำหนดเงินชดเชยไว้ต่ำกว่ารายได้ที่แท้จริง

เสียงของคนในพื้นที่สอดคล้องกับตัวแทนเจ้าหน้าที่อุทยาน ประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่อธิบายว่าเจ้าหน้าที่อุทยานได้ทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อรักษาผืนป่ามรดกโลกมาตลอด หากเกิดเขื่อนขึ้นจะทำลายความพยายามของคนที่ร่วมรักษาผืนป่า เพราะระบบนิเวศป่านั้นมากกว่าเขตอุทยานบนแผนที่ แต่รวมถึงพื้นที่ "สวนป่า" ที่อุทยานฯ ได้ปลูกป่าชั้นล่างเพื่อฟื้นฟูป่าไว้

"ผมไม่โกรธ ไม่เคยว่ากรมชลฯ เลยว่าทำไมต้องทำ ผมรู้ว่าราชการเป็นอย่างไร แต่ผมว่าแผนก่อสร้างมันปรับได้หากทำผลกระทบกับมรดกโลก เรามีทางเลือกปรับให้อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กลงและชุมชนได้ประโยชน์ไหม"


นักอนุรักษ์เตือนกระทบหนักสัตว์ป่า สะเทือนสถานะมรดกโลก

ฝั่งนักอนุรักษ์เสือโคร่ง กฤษณา แก้วปลั่ง ผู้อำนวยการแผนงานประเทศไทย องค์การแพนเทอรา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ กล่าวว่าป่ามีสัตว์กว่า 53 ชนิด บางชนิดมีสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์

หนึ่งในนั้นคือเสือโคร่ง สัตว์สถานะใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งพื้นที่เป้าหมายสร้างอ่างเก็บน้ำจะทับกับอาณาเขตหากิน

"เราพบว่ามีเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติทับลาน ปางสีดา และตาพระยาอย่างน้อย 20 ตัว ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นบ้านความหวังหลังที่สองของเสือโคร่ง รองมาจากห้วยขาแข้ง"

ปัจจุบัน เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ คาดการณ์ว่าสมัยก่อนพบทั่วโลกกว่าแสนตัว ปัจจุบันประเมินไม่เหลือ 3,000 ตัว เป็นเพราะถูกล่าและถิ่นอาศัยเปลี่ยนไป นอกจากนั้นเหยื่อของเสือ เช่น เก้ง กวาง หมูป่า ยังจำนวนลดน้อยลง

อีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่น่ากังวลและกำลังเป็นปัญหาที่ใหญ่มากขึ้นในไทย คือ ช้างป่า พิเชฐ นุ่นโต ผู้ประสานงานเครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง สมาชิกผู้เชี่ยวชาญช้างป่าเอเชีย ฉายภาพโมเดลจำลองสถานการณ์มีเขื่อนในป่าผืนนี้ การสูญเสียพื้นที่ในอุทยานจะกระทบกับพื้นที่อยู่อาศัยของช้างป่าและทำให้ช้างออกมารบกวนชุมชนรอบข้างมากยิ่งขึ้น

"แถบคลองมะเดื่อ มีช้าง 40 ตัว จากแบบจำลองถ้ามีเขื่อน มีความน่าจะเป็นที่ช้างจะเคลื่อนออกมาใช้พื้นที่ในและนอกอุทยานมากขึ้น ซ้ำเติมปัญหาคนกับช้างที่ทุกวันนี้ช้างก็มีแนวโน้มว่าขยายอาณาเขตออกนอกอุทยานเรื่อยๆ อยู่แล้ว" พิเชฐ กล่าว


ช้างในป่าตะวันออกมีแนวโน้มหากินนอกพื้นที่อุทยานมากขึ้น จุดสีเหลืองแสดงบริเวณหากินในปี 2561 และจุดสีแดงแสดงปี 2563 (ภาพ: พิเชฐ นุ่นโต)

การท้วงถามถึงแนวคิดสร้างอ่างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ ซึ่งอาจจะต้องแลกมาด้วยผืนป่าไม่ใช่ภารกิจใหม่สำหรับมูลนิธิอย่างสืบนาคะเสถียร ซึ่งเป็นองค์กรผู้ร่วมจัดเสวนาครั้งนี้ สุรพล ดวงแข กรรมการมูลนิธิ สะท้อนว่าไทยมีบทเรียนมากมายถึงผลกระทบจากเขื่อน เช่น กรณีสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ซึ่งสืบ นาคะเสถียร ได้ไปช่วยเหลือสัตว์จมน้ำเมื่อหลายปีก่อน

ในฐานะผู้ที่ทำงานในวงการอนุรักษ์มาหลายปี เขามองว่าการสร้างเขื่อนจะกระทบสถานะมรดกโลกของป่าตะวันออกนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ และตั้งคำถามถึงมุมมองของรัฐไทยในการบริหารจัดการน้ำ

"น้ำไม่ได้อยู่ในเขื่อนอย่างเดียว น้ำที่ไหลมาในธรรมชาติก็มีประโยชน์ แต่ความคิดนี้ยังเป็นสิ่งที่ขัดแย้งอยู่ในไทย การสร้างเขื่อนมักอ้างเหตุผลว่าน้ำไหลลงทะเลโดยเปล่าประโยชน์ แต่หารู้ไม่ว่าการที่มันไหลลงทำให้เกิดแร่ธาตุอาหารและประโยชน์มากมาย"

"ไทยต้องเปลี่ยนแนวคิดบริหารจัดการน้ำ มากกว่าตัดสินใจว่าจะกักเก็บให้ได้ปริมาณเยอะสุดเท่าไหร่เท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงภาพรวมทรัพยากรทั้งประเทศ เช่น สนับสนุนการปลูกพืชเกษตรที่ใช้น้ำน้อยและได้ราคา ประเทศไทยมีแต่การกระจายภารกิจให้แต่ละหน่วยงานสร้างสาธารณูปโภค โดยขาดแผนว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร นี้เป็นเรื่องที่เราต้องคิด" สุรพล กล่าว


https://greennews.agency/?p=25008

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 15:52


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger