เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 01-09-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 1 กันยายน 2564

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 1 ? 6 ก.ย. 64 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยคลื่นสูง 1-2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง



__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 01-09-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ชายหาดพัทยาพังซ้ำซาก กรมเจ้าท่าเร่งแก้ปัญหา เล็งสร้างอุโมงค์รับน้ำขนาดใหญ่

กรมเจ้าท่าลงพื้นที่หารือเมืองพัทยาเร่งแก้ปัญหาทรายชายหาดพัทยาเสียหาย จากกรณีน้ำท่วมถนนเลียบชายหาดแล้วไหลระบาย ชะล้างทรายชายหาดได้รับความเสียหายซ้ำซาก เล็งสร้างอุโมงค์น้ำเป็นจุดรับน้ำ และระบายน้ำขนาดใหญ่เป็นแผนระยะยาว



วันนี้ (31 ส.ค.) นายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (ด้านปฏิบัติการ) พร้อมด้วย นายพิสุทธิ์ อมรยุทธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 นายเอกราช คันธโร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยา ลงตรวจพื้นที่ชายหาดพัทยา และร่วมหารือกับ นายพัฒนา บุญสวัสดิ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองพัทยา, รองปลัดเมืองพัทยา และผู้อำนวยการกองช่างเมืองพัทยา เกี่ยวกับปัญหาพื้นที่ชายหาดพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นชายหาดทราย แหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกที่สำคัญของประเทศไทย ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมถนนเลียบชายหาดพัทยาแล้วไหลระบายลงสู่ชายหาด ชะล้างทรายชายหาดได้รับความเสียหายซ้ำซากในช่วงฤดูฝน

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าได้จ้างสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาออกแบบก่อสร้างเสริมทรายชายหาดตามแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเมืองพัทยาในรูปแบบการเสริมทราย (BEACHNOURISHMENT) โดยการนำทรายจากแหล่งอื่นมาถมชายหาดที่หายไปเพื่อเสริมส่วนที่ถูกกัดเซาะให้กลับมามีสภาพเดิม ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาดทราย เพื่อใช้ประโยชน์เป็นแหล่งท่องเที่ยวและสันทนาการที่สำคัญของจังหวัดชลบุรีและของประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวชายหาดพัทยาปีละ 9 ล้านคน สร้างรายได้ให้แก่จังหวัดชลบุรี

กรมเจ้าท่าได้ก่อสร้างด้วยการเสริมทรายชายหาดพัทยากว้าง 35 เมตร ความยาวประมาณ 2,800 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดพัทยาเหนือตั้งแต่โรงแรมดุสิตถึงชายหาดพัทยาใต้ รวมระยะทาง 2.8 กิโลเมตร ใช้งบประมาณค่าก่อสร้าง 429 ล้านบาท จนแล้วเสร็จส่งมอบให้เมืองพัทยาเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 สามารถช่วยกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของชายหาดพัทยาและของประเทศให้กลับมาคึกคัก สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนชายหาดพัทยาจะประสบปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยา และไหลระบายลงสู่ชายหาดพัทยา ทำให้หาดทรายได้รับความเสียหายซ้ำซาก และจากการตรวจสอบพบความเสียหายตลอดแนวชายหาดพัทยา ได้แก่

1. บริเวณพัทยาเหนือ ซอย 5 ความเสียหายความกว้างประมาณ 10 เมตร เป็นร่องลึกประมาณ 3 เมตร
2. บริเวณพัทยาเหนือ ซอย 6 ความเสียหายความกว้างประมาณ 15 เมตร เป็นร่องลึกประมาณ 3 เมตร
3. บริเวณพัทยากลาง ความเสียหายความกว้างประมาณ 8 เมตร เป็นร่องลึกประมาณ 2 เมตร
4. บริเวณพัทยากลาง ซอย 9 (หน้า Central) ความเสียหายความกว้างประมาณ 15 เมตร เป็นร่องลึกประมาณ 3 เมตร+
5. บริเวณพัทยากลาง ซอย 10 ความเสียหายความกว้างประมาณ 8 เมตร เป็นร่องลึกประมาณ 2 เมตร



จากปัญหาดังกล่าว รองอธิบดีกรมเจ้าท่าได้มีการหารือแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับรองนายกเมืองพัทยา โดยทางเมืองพัทยาจะเร่งเสริมทรายในจุดที่เสียหายให้กลับสู่สภาพชายหาด และในระยะสั้นทางเมืองพัทยาจะป้องกันชายหาดด้วยการนำวัสดุ (แผ่นยาง/แผ่น Geotextile) คลุมชายหาดบริเวณจุดระบายน้ำล้นขณะฝนตกหนักเพื่อป้องกันกระแสน้ำชะล้างทรายบริเวณชายหาด และจัดเก็บเมื่อระดับน้ำกลับสู่สภาวะปกติ ส่วนในระยะยาวจะหาแนวทางไม่ให้เกิดน้ำท่วมถนนเลียบชายหาดพัทยา เช่น สร้างอุโมงค์น้ำที่ถนนเลียบชายหาดเป็นจุดรับน้ำไปสู่จุดระบายน้ำขนาดใหญ่ของเมืองพัทยา

นอกจากนี้ จะมีการหารือการบริหารจัดการน้ำกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เนื่องจากพัทยาเป็นจุดต่ำที่น้ำฝนไหลมาจากเขตพื้นที่อื่นมาที่เมืองพัทยา ทั้งนี้ เป็นการร่วมบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยว พลิกฟื้นหาดทรายให้กลับคืนสภาพสวยงามดังเดิมอย่างยั่งยืน พร้อมรองรับนักท่องเที่ยววิถีใหม่จากทั่วทุกมุมโลก


https://mgronline.com/business/detail/9640000086099

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 01-09-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


งานวิจัยใหม่เผย 'หมึก' ตัวเมีย จะขว้างเปลือกหอยใส่ ตัวผู้ หากไม่อยากผสมพันธุ์



นักวิทยาศาสตร์พบ 'หมึก' ตัวเมีย จะพ่นและขว้างตะกอน เปลือกหอย และสาหร่ายใส่หมึกตัวผู้ หากพวกมันไม่มีความต้องการที่จะผสมพันธุ์

ตั้งแต่ปี 2558 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ได้ศึกษาหมึกในอ่าวเจอร์วิสบนชายฝั่งทางใต้ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ของออสเตรเลีย จนเมื่อไม่นานมานี้พวกเขาได้ค้นพบว่าหมึกตัวเมีย นั้นจะโยนเปลือกหอยและตะกอน ใส่หมึกตัวอื่น ๆ

ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการบันทึกว่าหมึกพ่นและขว้างเศษหมึกใส่กัน ที่อาจบ่งชี้ว่าพวกมันกำลังพยายามใช้อาวุธในการต่อสู้ อาทิ ในเหตุการณ์หนึ่งเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ที่พบว่าหมึกตัวเมียตัวหนึ่ง ได้โยนของไป 10 ครั้ง โดยห้าครั้งจะโยนใส่หมึกตัวผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้ ๆ ที่พยายามจะหาคู่และเข้ามาผสมพันธุ์กับมันหลายครั้ง ทั้งยังมีการอ้างว่าในบางครั้งปลาก็จะถูกขว้างของใส่ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้การขว้างสิ่งของไม่ใช่พฤติกรรมทั่วไปในสัตว์ แม้ว่าลิงชิมแปนซีและคาปูชิน ช้าง พังพอน และนกจะทำเช่นนั้น ทั้งการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการขว้างปายังพบเห็นได้ในสัตว์สายพันธุ์อื่น ๆ อาทิ การสะบัดขนของแมงมุม และการพ่นน้ำของปลาอาร์เชอร์ฟิช

เพราะโดยทั่วไปแล้วการขว้างปาจะถูกมองว่าเป็นการกระทำของมนุษย์โดยเฉพาะ และเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในวิวัฒนาการของมนุษย์



โดยนักวิจัยได้กล่าวว่าการขว้างปานั้นเป็นเรื่องปกติในหมึก "การขว้างสิ่งของของหมึกตามธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องปกติ อย่างน้อยก็ในสถานที่ที่ได้ระบุไว้ ซึ่งการขว้างปาเหล่านี้จะทำได้โดย การโดยการรวบรวมวัสดุและถือไว้ในอ้อมแขน ก่อนจะขว้างออกไปภายใต้แรงดัน"

ซึ่งแรงที่ใช่ส่งของออกไปนั้นจะไม่ได้ส่งมาจากแขนเหมือนในการขว้างของมนุษย์ แต่แขนจะจัดการสิ่งของเหล่านั้นก่อนที่ส่งวัตถุพุ่งออกไป ทั้งยังพบว่าการขว้างของเหล่านี้ก็เกิดในหมึกตัวผู้ด้วยเช่นกัน จากกรณีหนึ่ง หลังจากที่หมึกตัวผู้ถูกปฏิเสธ มันก็โยนเปลือกหอยไปในทิศทางแบบสุ่มและเปลี่ยนสีด้วยเช่นกัน ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นการระบายความหงุดหงิดของพวกมัน




https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_6594335

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 01-09-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก โพสต์ทูเดย์


โลกร้อนทำอากาศสุดขั้วรุนแรงขึ้น มนุษย์จะเดือดร้อนหนัก



นักวิทย์เผยโลกร้อนจะทำให้คลื่นความร้อน น้ำท่วม พายุรุนแรงขึ้น และเรามาถึงจุดที่ย้อนกลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว

เพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาโลกของเราเผชิญกับภัยธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนในแคนาดา ไฟไหม้ในแคลิฟอร์เนีย น้ำท่วมในเยอรมนี น้ำท่วมในจีน ภัยแล้งในภาคกลางของบราซิล หรือล่าสุดคือเฮอร์ริเคนไอดาที่ถล่มตอนใต้ของสหรัฐ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบอย่างหนัก

เฮอร์ริเคนไอดาขึ้นฝั่งที่รัฐลุยเซียนาของสหรัฐด้วยความเร็วลม 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 16 ปีที่เฮอร์ริเคนแคทรีนาถล่มสหรัฐ

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ทำให้พายุเฮอร์ริเคน หรือไซโคลน หรือไต้ฝุ่นที่เรียกในพื้นที่อื่น มีความรุนแรงขึ้น ทำให้ฝนตกมากขึ้น เคลื่อนที่ช้าลงหลังจากพัดขึ้นฝั่งแล้ว และยังก่อให้เกิด storm surges หรือคลืนพายุซัดฝั่ง รุนแรงขึ้น

เฮอร์ริเคนไอดาซึ่งสะสมความรุนแรงจากน้ำในอ่าวเม็กซิโกที่อุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติคือตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ และนักวิทยาศาสตร์ยังบอกว่าพายุแบบนี้จะเกิดบ่อยขึ้น เนื่องจากโลกร้อนขึ้น

พายุเฮอร์ริเคน ไซโคลน หรือไต้ฝุ่นจะทวีความรุนแรงขึ้นเมื่ออุณหภูมิของมหาสมุทรอุ่นขึ้น ซึ่งการศึกษาวิจัยพบว่ามหาสมุทรดูดซับความร้อนส่วนเกินของโลกที่ถูกก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ปล่อยออกมากักไว้ไม่ให้สะท้อนกลับออกไปนอกชั้นบรรยากาศของโลกไว้ถึง 90% และงานวิจัยล่าสุดยังพบว่าโลกเรากักความร้อนไว้มากกว่าเมื่อ 15 ปีที่แล้วราว 2 เท่า


และเมื่อโลกร้อนขึ้น พายุก็ยิ่งรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ รายงานว่าด้วยสภาพอากาศของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) พบว่า พายุไซโคลนระดับ 3-5 ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงที่สุดเกิดถี่ขึ้นกว่าช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอุณหภูมิของมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยทุกๆ 1 องศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงส่งผลให้เกิดพายุไซโคลนรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดฝนตกหนักรุนแรงขึ้นอีก 7%

ก่อนจะพัดขึ้นฝั่งเฮอร์ริเคนไอดามีความเร็วลมสูงสุดเพิ่มขึ้นรวดเร็วจนน่าตกใจคือ ภายในเวลา 24 ชั่วโมงความเร็วลมก็เพิ่มขึ้นถึง 104.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่นักวิทยาศาสตร์นิยามคำว่า "การทวีกำลังขึ้นอย่างรวดเร็ว" ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ไว้ที่การเพิ่มขึ้น 56.3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เท่ากับว่าความเร็วลมสูงสุดของเฮอร์ริเคนไอดาสูงกว่าที่กำหนดไว้เกือบ 2 เท่า

การที่พายุจะทวีกำลังขึ้นอย่างรวดเร็วจะเกิดได้นั้น อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นจะต้องเกิดขึ้นในระดับลึกกว่าพื้นผิวหลายร้อยฟุต เพื่อให้เฮอร์ริเคนสะสมพลังได้มากขึ้น สิ่งนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามหาสมุทรที่อุ่นขึ้นทำให้พายุมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้น


พายุก่อฝนมากขึ้น เคลื่อนที่ช้าลง

พายุยังทำให้ฝนตกมากขึ้นด้วย โดยทุกๆ 1 องศาที่โลกร้อนขึ้นชั้นบรรยากาศจะกักเก็บไอน้ำที่จะตกลงมาเป็นฝนเพิ่มขึ้น 7% และหลังจากพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีทำให้น้ำท่วมเมืองฮุสตัน รัฐเทกซัสของสหรัฐเมื่อปี 2017 นักวิทยาศาสตร์พบว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากน้ำมือมนุษย์ทำให้ฝนจากพายุเพิ่มขึ้น 15%

ภาพถ่ายดาวเทียมยังเผยให้เห็นว่า หลังจากพายุพัดขึ้นฝั่งแล้วจะเคลื่อนตัวช้าลงและลูกใหญ่ขึ้น ซึ่งหมายความว่าพายุนี้จะครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้างขึ้นและปล่อยน้ำฝนลงมามากขึ้นในช่วงเวลาที่กำลังเคลื่อนตัว

สอดคล้องกับผลการศึกษาเมื่อปี 2020 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ที่พบว่า พายุทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเคลื่อนตัวอยู่บนฝั่งมากกว่าเมื่อ 50 ปีก่อน และเนื่องจากเฮอร์ริเคนสะสมพลังงานจากน้ำในมหาสมุทรที่อุ่นขึ้น เมื่อขึ้นฝั่งก็มีแนวโน้มจะอ่อนกำลังลง ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพายุแผลงฤทธิ์นานขึ้นหลังจากพัดขึ้นฝั่ง

งานวิจัยชิ้นนี้จึงสรุปว่า อุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรที่สูงขึ้นทำให้พายุสลายตัวช้าลงด้วยการเพิ่มปริมาณความชื้นที่พายุเฮอร์ริเคนสะสมไว้


ฝนตกครั้งแรกที่กรีนแลนด์

นอกจากนี้ วันที่ 14-16 ส.ค. เกิดฝนตกบนยอดพืดน้ำแข็ง (ice cap) ที่สูงที่สุดของกรีนแลนด์เป็นครั้งแรกในรอบ 71 ปี และมีปริมาณฝนมากที่สุดถึง 7,000 ตัน ช่วง 3 วันที่ฝนตกตรงกับช่วงที่อุณหภูมิของกรีนแลนด์สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยถึง 18 องศาเซลเซียส ส่งผลให้น้ำแข็งของกรีนแลนด์ละลายกินพื้นที่ใหญ่กว่าอังกฤษ 4 เท่า หรือ 7 เท่าของค่าเฉลี่ยรายวันของปีนี้

ที่น่าตกใจไม่แพ้กันคือ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา น้ำแข็งของกรีนแลนด์ยังเกิดการละลายเป็นวงกว้างคือ สูญเสียน้ำแข็งพื้นผิวไปถึง 8,500 ตันภายในวันเดียว (เพียงพอที่จะทำให้ฟลอริดาน้ำท่วมสูง 5 เซนติเมตร) ส่งผลให้ปี 2021 เป็นหนึ่งใน 4 ปีในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาที่นำแข็งละลายเป็นวงกว้างต่อจากปี 2019, 2012 และ 1995

น้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายเมื่อเดือน ก.ค.และ ส.ค. เกิดจากสาเหตุเดียวกันคือ อากาศอบอุ่นถูกผลักดันขึ้นมาลอยอยู่เหนือกรีนแลนด์และค้างอยู่อย่างนั้น แม้กระแสลมนี้จะไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่นักวิทยาศาสตร์กลับพบว่ามันมีความรุนแรงขึ้น

หากมีเฉพาะอุณหภูมิที่สูงขึ้นน้ำแข็งกรีนแลนด์ก็ละลายอยู่แล้ว แต่ฝนที่ตกลงมายิ่งเร่งปฏิกิริยาเหล่านี้ให้เกิดเร็วขึ้นอีก คือ เมื่อฝนตก ความอุ่นของฝนจะทำให้หิมะละลาย ทำให้น้ำแข็งที่อยู่ด้านล่างโผล่ขึ้นมาดูดซับความร้อนมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวของหิมะสูงขึ้น นำมาสู่การละลายเพิ่มขึ้น และวนเป็นลูกโซ่อยู่เช่นนี้

ที่น่าห่วงไม่แพ้กันคือ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นทำให้ธารน้ำแข็งบางลง ก็จะมีน้ำแข็งแตกออกมาแล้วไหลลงทะเลเพิ่มขึ้น ทั้งสองสิ่งนี้ทำให้ธารน้ำแข็งไหลลงทะเลเร็วขึ้น และยังส่งผลให้พื้นผิวน้ำแข็งบางลงจนสัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้มากขึ้น สุดท้ายน้ำแข็งเหล่านี้จะละลายเพิ่มขึ้นอีก

น้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายฟังดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วมันใกล้ตัวมนุษย์ใกล้ตัวคนไทยมากกว่าที่คิด

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า น้ำแข็งของกรีนแลนด์ละลายเร็วที่สุดในช่วง 12,000 ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2019 อัตราการละลายของน้ำแข็งอยู่ที่นาทีละ 1 ล้านตัน

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เผยว่า ขณะนี้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นราว 20 เซนติเมตร และภายในปี 2100 อาจจะเพิ่มขึ้นถึง 28-100 เซนติเมตร หรืออาจจะ 200 เซนติเมตร

และหากน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายทั้งหมด ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายร้อยหรือหลายพันปี น้ำทะเลจะสูงขึ้นราว 6 เมตร แต่ขณะนี้น้ำแข็งกรีนแลนด์ที่หายไปนับล้านล้านตันตั้งแต่ปี 1994 ก็ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นและกำลังคุกคามเมืองตามชายฝั่งทั่วโลก รวมทั้งกรุงเทพมหานคร

หลายพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยเผชิญกับความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัย Deltares ของเนเธอร์แลนด์ พบว่า ประเทศในแถบพื้นที่ราบลุ่มเสี่ยงต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และพื้นดินมีแนวโน้มที่จะจมเนื่องจากการทรุดตัว อาทิ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งหมายความว่าประชาชนจำนวนมากในประเทศเหล่านี้อาจต้องเผชิญภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งมีแนวโน้มเลวร้ายลงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ทีมวิจัยประเมินว่า ขณะนี้ประชากร 157 ล้านคนในเขตร้อนของเอเชียอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความสูงต่ำกว่า 2 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นระดับที่มีการทำนายว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด และตัวเลขนี้จะเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษข้างหน้านี้

ภายใต้สมมติฐานว่าน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 1 เมตร ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2100 ชาวไทย 23 ล้านคน, ชาวเวียดนาม 38 ล้านคน และชาวอินโดนีเซีย 28 ล้านคนจะอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่น้ำจะท่วมชายฝั่งบ่อยขึ้น หรือเพิ่มขึ้นจากตัวเลขขณะนี้ถึง 21%

ผลกระทบอาจร้ายแรงในเมืองใหญ่ๆ ชุมชนชายฝั่ง และพื้นที่เกษตรกรรม โดยพื้นที่ขนาดใหญ่อาจไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกหรือสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ไปเลย

ขณะที่รายงานของ Greenpeace ซึ่งใช้ข้อมูลจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของ Climate Central เพื่อคำนวณความเสียหายทางเศรษฐกิจของ 7 เมืองใหญ่ที่สุดของเอเชียอันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2030 ประเมินว่า อาจเกิดความเสียหาย (เฉพาะในชุมชนเมือง) ราว 724,000 ล้านเหรียญสหรัฐในกรุงเทพฯ จาการ์ตา มะนิลา ไทเป โซล โตเกียว และฮ่องกง

ข่าวร้ายก็คือ IPCC บอกว่า ผลกระทบบางอย่างจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถย้อนกลับไปได้แล้ว อย่างเช่นการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล หรือการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก แม้ว่ามนุษย์จะพยายามควบคุมคาร์บอนไปนับร้อยหรือพันปีก็ไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้


https://www.posttoday.com/world/661962

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 01-09-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก บ้านเมือง


ทม.หัวหินเตือนนทท.! ระวังแมงกะพรุนขณะลงเล่นน้ำ



เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม นายจีรวัฒน์ พราหมณี ปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นำเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจตราความเรียบร้อยและประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวบริเวณชายหาดตั้งแต่ศาลเจ้าแม่ทับทิมหัวหินไปตลอดแนวหมู่บ้านเขาตะเกียบ ให้ระมัดระวังแมงกะพรุนโดยเฉพาะแมงกะพรุนกล่องขณะลงเล่นน้ำทะเล เนื่องจากช่วงนี้เกิดมรสุมมีฝนตกหนักและคลื่นลมแรงทำให้มีแมงกระพรุนบางส่วนว่ายเข้าชายฝั่งพร้อมตรวจตราทุ่นป้องกันแมงกะพรุนซึ่งอยู่ในสภาพดี

นายจีรวัฒน์ กล่าวว่าจากกรณีที่ จ.พังงา มีเด็กต่างชาติโดนพิษแมงกะพรุนกล่องจนเสียชีวิตนั้น ทางหัวหินเราก็มีการเตรียมพร้อมเช่นเดียวกัน โดยทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)ได้มีการสร้างแนวทุ่นป้องกันแมงกะพรุนเอาไว้สำหรับประชาชนนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำบริเวณชายหาดไว้ 2 จุด คือที่บริเวณหน้าโรงแรมบ้านลักษสุภา รีสอร์ท หัวหิน และชายหาดหัวดอน เขาตะเกียบ พร้อมตั้งป้ายการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากถูกแมงกะพรุน ในช่วงนี้ที่มีลมมรสุมและฝนตกหนักอาจจะมีแมงกะพรุนกล่องมาบ้างแต่ไม่มากนัก ทางเราก็มีการเตรียมพร้อมในการป้องกัน อยากให้ประชาชนลงเล่นน้ำในโซนที่มีแนวป้องกันไว้ให้ หากฝนตกหนักก็ควรหลีกเลี่ยงลงเล่นน้ำ หรือถ้าจะเล่นน้ำอยากให้ถามทางผู้ประกอบการร้านค้าหรือทางโรงแรมว่าช่วงนี้มีแมงกะพรุนเยอะหรือไม่ สามารถเล่นน้ำได้หรือไม่

"ทุ่นป้องกันแมงกะพรุนนี้เราได้วางไว้นานหลายเดือนแล้วมีระยะห่างจากชายฝั่งประมาณ 100 เมตร ก็จะวางไว้แบบนี้ตลอดซึ่งถือว่าเป็นจุดที่ปลอดภัยจุดหนึ่ง ถ้าหากประชาชนเล่นน้ำแล้วเกิดพบแมงกะพรุนหรือโดนแมงกะพรุน เราจะมีน้ำส้มสายชูซึ่งทางเทศบาลและ ทช.ได้เตรียมเอาไว้ให้ที่ชายหาดนำมาราดบริเวณที่โดนแมงกะพรุน ราดทิ้งไว้ประมาณ 30 วินาทีเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อไม่ให้ลุกลามไปที่บริเวณอื่น จากนั้นรีบแจ้งเจ้าหน้าที่เทศกิจประจำอยู่ชายฝั่งหรือทางผู้ประกอบการชายหาดเพื่อช่วยเหลือต่อไป" นายจีรวัฒน์ กล่าว.


https://www.banmuang.co.th/news/region/248477

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 20:26


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger