เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 08-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is online now
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,107
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 8 มกราคม 2563

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย ในตอนกลางวันมีแสงแดดจัด บริเวณพื้นราบของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-15 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออก อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส สำหรับภาคใต้มีฝนน้อย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีหมอกในตอนเช้ากับมีเมฆบางส่วน อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 8 ? 9 ม.ค. 63 ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า

ส่วนในช่วงวันที่ 10 - 13 ม.ค. 63 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 8 ? 9 ม.ค. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย





__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 08-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is online now
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,107
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


กระดูกกรามหัก! ทช.ชี้ "วาฬโอมูระ" เกาะลันตา ตายจากฝีมือคน



ทช.สรุปผลชันสูตรซากวาฬโอมูระตายที่เกาะลันตา จ.กระบี่ พบเป็นวาฬตัวผู้ ความยาว 3.6 เมตร เจอร่องรอยบาดแผลฉกรรจ์ คาดว่าบาดแผลเกิดจากการถูกเชือกดึงรั้งอย่างแรง จนทำให้กระดูกขากรรไกรหัก กล้ามเนื้อบริเวณกระดูกขากรรไกรฉีกขาด

จากกรณีพบซากวาฬโอมูระ เกยตื้นบริเวณหาดทุ่งทะเล ต.เกาะกลาง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ซึ่งถือเป็นความสูญเสียเนื่องจากวาฬโอมูระ เป็นสัตว์หายาก ไม่ค่อยเจอตัวได้ง่ายนัก ล่าสุดวันนี้ (7 ม.ค.2563) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เผยผลการผ่าชันสูตร โดยทีมสัตวแพทย์จาก ทช. พบว่าเป็นวาฬโอมูระ ตัวผู้ขนาดความยาวลำตัว 3.6 เมตร อายุไม่เกิน 1 ปี เพศผู้ สภาพสมบูรณ์ มีบาดแผลจากการเกยตื้นรอบลำตัว และพบบาดแผลฉกรรจ์ บริเวณกรามล่างด้านขวา กระดูกขากรรไกรหัก ร่วมกับมุมปากฉีกขาดจนถึงชั้นกล้ามเนื้อ มีร่องรอยการเสียดสีของเชือกบริเวณกรามทั้งสองข้าง

"คาดว่าบาดแผลเกิดจากการถูกเชือกดึงรั้งอย่างแรง จนทำให้กระดูกขากรรไกรหัก กล้ามเนื้อบริเวณกระดูกขากรรไกรฉีกขาด"


ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)


ตายจากกิจกรรมคน-บาดแผลถูกเชือกดึงรั้ง

นอกจากนี้ พบว่ามีการอักเสบติดเชื้อบริเวณโดยรอบบาดแผล และกระดูก และยังพบฟองอากาศออกจากช่องหายใจจำนวนมาก เนื่องจากมีการสำลักน้ำก่อนเสียชีวิต ตรวจสอบความผิดปกติของอวัยวะภายใน พบความผิดปกติของม้ามบ่งชี้ว่ามีการเสียเลือด และมีการติดเชื้อในร่างกาย ส่วนของทางเดินอาหารไม่พบอาหารตลอดทางเดินอาหาร เนื่องมาจากการบาดเจ็บที่บริเวณกรามทำให้ไม่สามารถหาอาหารได้ตามปกติ

"ทั้งนี้สาเหตุการเสียชีวิตจึงระบุได้ว่า เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์"

โดยทช.ได้เก็บตัวอย่างผิวหนังและชิ้นเนื้อ เพื่อตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรม และเก็บตัวอย่างอวัยวะภายในเพื่อส่งตรวจโลหะหนักและสารชีวพิษ (biotoxin) พร้อมเก็บตัวอย่างกระดูกขากรรไกรเพื่อตรวจระยะเวลาการเกิดบาดแผลที่แน่ชัด และเก็บตัวอย่างอวัยวะภายในเพื่อตรวจรอยโรคทางจุลพยาธิวิทยาทางห้องปฏิบัติการต่อไป


ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

สำหรับวาฬโอมูระ เพิ่งได้รับการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์สงวนของไทยเพิ่มเติม โดยประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 29 พ.ค.2562 ซึ่งถือเป็นสัตว์ทะเลหายาก และเป็นครั้งแรกในรอบ 27 ปีที่บรรจุสัตว์ทะเลหายากเข้าเป็นสัตว์สงวนรวม 4 ชนิดคือ วาฬบรูด้า-เต่ามะเฟือง -ปลาฉลามวาฬ-วาฬโอมูระ ทำให้ไทยมีสัตว์ป่าสงวนรวม 19 ชนิด โดยเมื่อช่วงปลายเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา วาฬโอมูระ เพิ่งปรากฎตัวให้นักท่องเที่ยว โผล่ว่ายน้ำโชว์ก่อนถึงเกาะเมียง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา

ทั้งนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานว่าวาฬโอมูระ ญาติใกล้ชิดกับวาฬบรูด้า เป็นวาฬไม่มีฟันขนาดกลาง พบหากินใกล้ฝั่ง มีลำตัวยาวประมาณ 11.5 เมตร น้ำหนักสูงสุด 20 ตัน ลักษณะเฉพาะคือส่วนหัวมีสันนูน 1 สัน จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม


https://news.thaipbs.or.th/content/287738

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 08-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is online now
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,107
Default

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


วิกฤตไฟป่ามหากาฬในออสเตรเลีย ...................... โดย ธารา บัวคำศรี

นักอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ถึงการเกิดไฟป่าขั้นรุนแรงทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลียในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา(4-5 มกราคม 2563) ได้อย่างถูกต้อง ภาพถ่ายที่บันทึกโดยเครื่องมือ Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer (MODIS) บนดาวเทียม Aqua ในวันที่ 4 มกราคม 2563 แสดงควันไฟป่าในส่วนที่เป็นสีแทน เมฆคือส่วนที่เป็นสีขาว ในขณะสีขาวที่กระจัดกระจายอยู่เหนือควันไฟป่าคือเมฆไพโรคิวมูโลนิมบัส (pyrocumulonimbus) ซึ่งเป็นเมฆฝนชนิดพิเศษที่ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากแรงยกตัวของกระแสอากาศร้อนที่เกิดจากไฟป่า


ภาพจาก Earth Observatory

ไฟป่ามหากาฬที่ออสเตรเลียสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ประเมินโดยรวมว่ามีสัตว์ป่า 480 ล้านตัวได้รับผลกระทบนับตั้งแต่เกิดไฟป่านับในรัฐนิวเซาท์เวลล์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 จนถึงเดือนธันวาคม 2562 ไฟป่าในรัฐนิวเซาท์เวลส์กินบริเวณ 27,000 ตารางกิโลเมตร (10,000 ตารางไมล์) ขนาดราว 26 เท่าของเนื้อที่กรุงมหานคร รัฐบาลออสเตรเลียประกาศภาวะฉุกเฉินในเดือนพฤศจิกายน 2562 เมื่อไฟป่ามหากาศขยายลุกลามออกไป มีผู้เสียชีวิต 23 คน สูญหาย 6 คน นับตั้งแต่เกิดฤดูไฟป่าขึ้นในรัฐนิวเซาท์เวลส์และวิกตอเรีย เฉพาะในรัฐวิกตอเรีย บ้านเรือน 1,500 หลังสูญไปในเปลวไฟ

ไฟป่ากลายเป็นดรามาในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม 2562 และช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2563 จากการที่ท้องฟ้ากลางวันสีแดงฉานจากควันไฟป่าหนาทึบปกคลุมเต็มท้องฟ้า ผู้คนแถบชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้ต้องหนีออกจากบ้านเรือนของตน และกองทัพเรือออสเตรเลียต้องใช้เรืออพยพประชาชนและนักท่องเที่ยวกว่า 1 พันคนออกจากพื้นที่เมืองชายฝั่ง Mallacoota

ใน Mallacoota เมืองท่องเที่ยวชายฝั่ง ไฟป่ามหากาฬเข้าขวางถนนสายหลัก เพื่อหาที่ปลอดภัย ชาวเมือง นักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ป้องกันไฟป่าต้องร่นมาอยู่ตามชายหาดจากการที่ไฟป่ารุกเข้ามา หน่วยงานรัฐบาลเตือนนักท่องเที่ยวให้ออกจากพื้นที่ชายฝั่งของรัฐวิกตอเรียและนิวเซาท์เวลส์ และมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน 7 วัน นับจากวันที่ 3 มกราคม 2563 การประกาศภาวะฉุกเฉินรวมถึงการบังคับให้ย้ายออกหากคาดการณ์ว่าอันตรายจากไฟป่ามีมากขึ้นในวันต่อ ๆ ไป

ควันไฟป่าและมลพิษทางอากาศเข้าปกคลุมพื้นที่ตามบริเวณชายฝั่งและเมืองต่างๆ เป็นบริเวณกว้างนานหลายสัปดาห์ จากการรายงานข่าว หลายส่วนของซิดนีย์ เมืองใหญ่ที่มีประชากร 5 ล้านคนต้องผจญกับมลพิษทางอากาศที่สูงกว่าระดับปลอดภัยหลายเท่า ดัชนีคุณภาพอากาศในออสเตรเลียตะวันตกเฉียงใต้และไปไกลจนถึงนิวซีแลนด์อยู่ในระดับสูงสุดเท่าที่มีการรายงาน ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากไฟป่าคิดเป็น 2 พันล้านเหรียญออสเตรเลียและยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ


ฤดูกาลไฟที่มาเร็วขึ้น

โดยทั่วไป ฤดูกาลไฟในรัฐนิวเซาท์เวลของออสเตรเลียเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม ในปี พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา อากาศที่ร้อนและความแห้งแล้งที่ผิดปกติ เข้าปกคลุมพื้นที่นับตั้งแต่เดือนตุลาคม สองเดือนหลังจากนั้น เกิดไฟมากกว่า 100 จุด ในผืนป่าและป่าไม้พุ่ม(bush)ทางแถบพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ป่าที่เกิดไฟรวมถึงป่าฝนกึ่งเขตร้อน และป่ายูคาลิปตัสแบบชื้นซึ่งปกติมักไม่เกิดไฟ

ไฟสร้างความเสียหายต่อป่ายูคาลิปตัสและป่าปลูกซึ่งอยู่รอดในพื้นที่แห้งแล้งและมีธาตุอาหารต่ำ พื้นที่ป่าไม้เหล่านี้เสี่ยงต่อการเกิดไฟเนื่องจากสายพันธุ์ของพืชหลายชนิดอุดมไปด้วยน้ำมันที่จุดไฟติดง่ายมาก แผนที่จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรแห่งออสเตรเลียแสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวของพื้นที่ป่ายูคาลิปตัส จุดสีแดงแสดงให้เห็นถึงจุดความร้อนที่ตรวจวัดโดย Visible Infrared Imaging Radiometer Suite (VIIRS) บนดาวเทียม Suomi ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายนถึง 5 ธันวาคม 2562


ภาพจาก Earth Observatory

รายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งออสเตรเลียปลายเดือนธันวาคม 2562 ระบุว่าดัชนีอันตรายของไฟป่า (Forest Fire Danger Index-FFDI) ที่วิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลอุณหภูมิอากาศ ความชื้น น้ำฟ้า ลม และปัจจัยอื่นๆ มีค่าเฉลี่ยอันตรายรุนแรง(extreme) ทั้งประเทศ ในขณะที่ฤดูร้อนเพิ่งจะเริ่มต้น


ไฟป่า ? วิกฤตสภาพภูมิอากาศ : ความเชื่อมโยงที่ซับซ้อน

การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกและความเสี่ยงของเหตุการณ์ไฟป่าที่มากขึ้นเป็นความเชื่อมโยงที่ซับซ้อน แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้ทำให้เกิดไฟป่าแต่สามารถทำให้ไฟป่าสร้างความหายนะมากขึ้น เงื่อนไขของความเสี่ยงการเกิดไฟป่าคืออุณหภูมิ เชื้อเพลิง(เศษชีวมวลในป่า) ความแห้ง ความเร็วลมและความชื้น

กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งออสเตรเลีย ระบุว่า อุณหภูมิพื้นผิวของออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 1 องศา นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1910 และจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(IPCC) ชี้ให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่สูงมากๆ ว่าการเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศนับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 คือสาเหตุหลักของการที่อุณหภูมิผิวโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติและไฟป่า เห็นว่าความแปรปรวนจากเหตการณ์ปกตินั้นคือประเด็นหลัก อากาศที่ร้อนขึ้นทำให้จำนวนวันที่ร้อนขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดไฟป่ามากขึ้น

ปัจจัยความแห้ง (Dryness) ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก ผลจากแบบจำลองคอมพิวเตอร์ไม่พบถึงความเชื่อมโยงที่สอดคล้องต้องกันของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นและปริมาณฝนที่ลดลงซึ่งนำไปสู่สภาพที่แห้งแล้งของออสเตรเลียตะวันออก แต่อุณหภูมิที่สูงขึ้นได้เร่งการระเหยของน้ำ และทำให้ฤดูกาลเพาะปลูกพืชขยายออกไป นำไปสู่การคายน้ำจากพืชที่ดึงความชื้นจากดินมากขึ้น ผลคือดิน พืชและอากาศแห้งขึ้นกว่าที่ผ่านมาโดยที่ปริมาณการตกของฝนยังเท่าเดิม

เราจึงได้เห็นช่วงฤดูร้อนปี 2562-2563 ของออสเตรเลียร้อนกว่าปกติและพื้นที่ส่วนใหญ่ของออสเตรเลียมีความแห้งแล้ง ในออสเตรเลีย เดือนที่ร้อนที่สุดทุบสถิติความร้อนคือมกราคม 2562, its รองลงไปคือเดือนกรกฏาคม 2562 และ ในบางพื้นที่ วันที่ร้อนที่สุดเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม


ถึงเวลาประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ

ไฟป่ามหากาฬของออสเตรเลียที่เร่งเร้าโดยความสุดขั้วของสภาพภูมิอากาศยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดลง ในขณะที่ ชาวออสเตรเลียที่ได้รับผลกระทบกำลังมองบ้านเรือนของตนมอดไหม้จากผลของมัน และหน่วยงานด้านภาวะฉุกเฉินต่างๆ (Australia's emergency services) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครอยู่ในแนวหน้าของการรับมือกับวิกฤตนี้ต่างทำงานอย่างกล้าหาญ อดทน และอุทิศตน แต่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีสก็อต มอริสัน (Scott Morrison) กลับล้มเหลวที่จะลงมือเพื่อกู้วิกฤตไฟป่ามหากาฬของประเทศเพราะคิดว่าเป็นเพียงไฟป่าธรรมดา ซ้ำร้าย พวกเขายังคงมุ่งผลักดันให้ออสเตรเลียเป็นแชมป์ของผู้ส่งออกถ่านหินในตลาดโลกที่นำไปสู่ความปั่นป่วนของสภาพภูมิอากาศยิ่งขึ้น ในขณะที่สภาว่าด้วยการประกันภัยแห่งออสเตรเลีย(the Insurance Council of Australia) ประกาศชัดเจนว่า ?รัฐบาล (ออสเตรเลีย) ต้องลงทุนในมาตรการที่ยั่งยืนถาวรเพื่อลดผลกระทบและสร้างศักยภาพในการฟื้นคืนจากวิกฤตเพื่อปกป้องชุมชนที่ได้รับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นพายุไซโคลน พายุฝน อุทกภัยหรือไฟป่า?


ประชาชนในเมืองซิดนีย์เดินประท้วงเรียกร้องให้สก็อต มอริสันลงมือปกป้องสภาพภูมิอากาศ ? Dean Sewell / Greenpeace ? Dean Sewell / Greenpeace

การประกาศ "ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ" มิใช่เพื่อสร้างความแตกตื่น แต่คือการตระหนักวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังเชิญอยู่ และลงมือทำในสิ่งที่ควรในขณะที่เรายังมีเวลา


https://www.greenpeace.org/thailand/...an-bush-fires/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 08-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is online now
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,107
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


10 ประเด็นเด่นสิ่งแวดล้อมไทยในรอบปี 2562 (ตอนที่ 2: ฆาตกรเงียบ ฝุ่นจิ๋ว PM2.5) ................... โดย ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เริ่มมีการพูดถึงในสังคมไทยในปลายปี 2561 เมื่อมีการตรวจพบว่าคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ มีฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เกินค่ามาตรฐานหลายแห่ง หลังจากนั้น ประเด็นนี้ก็ถูกเผยแพร่ผ่านสื่ออย่างกว้างขวาง ขณะที่การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเต็มไปด้วยคำถามว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องและได้ผลหรือไม่ หรือเป็นการสร้างภาพ เช่น การปล่อยขบวนรถดับเพลิงเพื่อฉีดน้ำขึ้นไปในท้องฟ้า การนำเครื่องบิน BT-67 ของกองทัพอากาศมาบินโปรยละอองน้ำ

ขณะที่หน่วยงานรัฐและชนชั้นกลางส่วนหนึ่งลุกขึ้นมากล่าวหาว่าฝุ่นจิ๋วในกรุงเทพฯ มาจากการเผาซังข้าวของชาวนา แต่ต้นตอของปัญหา เช่น มลพิษที่ปล่อยออกมาจากรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมนับหมื่นโรงในกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่ได้รับการควบคุม รัฐบาลทำได้ก็แต่เพียงขอความร่วมมือจากโรงงาน


ท้องฟ้ากรุงเทพมหานครหม่นไปด้วยฝุ่นควัน PM2.5 / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

หลังจากที่ปัญหาฝุ่นจิ๋วในกรุงเทพฯ ทุเลาลง ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนกลับเกิดปัญหาหมอกควันพิษปกคลุมหลายจังหวัดของภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนที่ติดกับลาวโดยเฉพาะเลยและหนองคาย พร้อมๆ กับการเกิดการไฟป่าหลายพื้นที่

ในเมืองใหญ่ๆ ปรากฏว่าท้องฟ้าแทบไม่มีแสงอาทิตย์ ผู้คนต้องปิดบ้าน และอยู่แต่ในบ้าน สถานศึกษาและมหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องปิดการเรียนการสอน ผู้ที่มีเงินก็หาซื้อแอร์ที่มีคุณภาพสูงกรองฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่เชียงใหม่ ในวันที่ 12 มีนาคม 2562 ค่าฝุ่น PM2.5 ทะยานขึ้นสูงสุดติดอันดับหนึ่งของโลก

การเกิดหมอกควันพิษรอบนี้ ปรากฏว่าได้มีการชี้นิ้วไปที่กลุ่มชาติพันธุ์และชาวบ้านว่าเป็นต้นตอของปัญหาการเผาป่าเพื่อทำไร่ ล่าสัตว์ และเก็บเห็ด โรงแรมและสื่อบางสำนักถึงขั้นรณรงค์ให้แบนเห็ดถอบ ขณะที่นักวิชาการ นักพัฒนา และนักสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ระบุว่า ช่วงที่เกิดการเผาป่าและมีหมอกควัน ไม่ใช่การเริ่มฤดูกาลการทำไร่ และไม่มีใครเผาป่าเพื่อหาเห็ดถอบ แต่คนในเมืองอาจเข้าใจผิดที่เห็นเห็ดถอบเป็นสีดำจึงคิดว่าเกิดจากการเผาป่าเพื่อหาเห็ด

นอกจากนั้น กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ตกเป็นแพะได้พยายามพิสูจน์ความจริงโดยการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมไฟป่าของกลุ่มชาติพันธุ์ การทำแนวกันไฟ ไปจนถึงการรวมกันดับไฟป่าจนบางคนต้องสังเวยชีวิตให้กับไฟป่า

ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงต้นตอของไฟป่าและหมอกควันว่ามีทั้งการเผาป่าเอางบ การเผาป่าเพื่อกลั่นแกล้งและจับกุมชาวบ้าน การส่งเสริมเกษตรพันธสัญญาโดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อนำไปทำวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่มีการเคลียร์พื้นที่ป่าทั้งในประเทศไทยและเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ รวมทั้งการเคลียร์พื้นที่ป่าเพื่อขยายพื้นที่การปลูกกล้วยในลาวของทุนจีน

ขณะที่หมอกควันพิษในภาคเหนือยังไม่จาง ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์และกลางเดือนมีนาคม ภาคอีสานก็ต้องเผชิญกับหมอกควันพิษและ PM2.5 โดยเฉพาะขอนแก่น แต่ปัญหาหมอกควันและฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่ขอนแก่นและหลายพื้นที่ในภาคอีสานกลับมาจากการเผาอ้อยเนื่องจากขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย และการเผาอ้อยเพื่อบังคับให้ชาวไร่อ้อยที่ปลูกอ้อยเสรีขายอ้อยในราคาถูก ปัญหาหมอกควันพิษและฝุ่นจิ๋ว โดยภาครัฐได้ขอความร่วมมือไม่ให้มีการเผาอ้อย แต่ก็แทบไม่เป็นผล

นอกจากประเทศไทยที่ต้องเผชิญปัญหาหมอกควันพิษแล้ว ปัญหาหมอกควันพิษยังเกิดขึ้นในพม่าโดยเฉพาะรัฐฉานที่มีการเคลียร์พื้นที่เพื่อปลูกข้าวโพดส่งมาขายไทย ปัญหาหมอกควันพิษในลาว จากการเผาป่าเคลียร์พื้นที่ปลูกอ้อยของทุนจีน และหมกอดควันพิษจากการเผาป่าในอินโดนีเซียและมาเลเซียที่บางครั้งลมได้พัดพาหมอกควันพิษและ PM2.5 มาถึงภาคใต้ของไทย

แม้ดูเหมือนว่าหมอกควันพิษและฝุ่นจิ๋วจะซาลง แต่แท้จริงแล้ว ปัญหาหมอกควันพิษและฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ยังคงโจมตีไทยเป็นระยะๆ ทั้งกรุงเทพฯ ภาคเหนือ และภาคอีสาน และดูเหมือนว่าความตื่นเต้นของสังคมถึงอันตรายของคุณภาพอากาศกลับมีน้อยลงจนแทบจะกลายเป็นความชาชิน ขณะที่รัฐบาลประกาศให้การแก้ปัญหา PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ แต่การแก้ไขปัญหานี้ก็ยังไม่สามารถหยุดหรือลด PM2.5 ได้ แม้แต่นายกฯ เองก็ได้แต่ขอความร่วมมือว่าถ้าไม่มีธุระอย่าออกนอกบ้าน ถ้าจำเป็นก็ให้ใช้หน้ากากอนามัย แม้ว่าแท้จริงแล้ว หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ไม่ได้

ขณะที่แม้ว่าปัญหานี้เป็นปัญหาในระดับภูมิภาค แต่อาเซียนก็ไม่เคยนำประเด็นนี้มาประชุมกันเพื่อแก้ไขปัญหาแต่อย่างใดฃ


https://greennews.agency/?p=19984

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 08-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is online now
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,107
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


ไฟป่าออสเตรเลีย : โลกขยับเข้าใกล้ "การสูญพันธุ์ระดับมหึมา ครั้งที่ 6"


Image copyrightMATTHEW ABBOTT / NEW YORK TIMES / REDUX / EYEVINE

เปลวเพลิงที่ไหม้ลุกลามผืนป่ากว้างใหญ่ของออสเตรเลียมาเป็นเวลานานกว่าหนึ่งเดือน ได้ทำลายระบบนิเวศและคร่าชีวิตสัตว์ต่าง ๆ ไปแล้วเกือบ 500 ล้านตัว ไม่ต้องสงสัยว่าความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ที่ถูกคุกคามจากน้ำมือมนุษย์อยู่แล้ว จะต้องมาสูญหายไปเพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าตกใจยิ่งกว่าเดิม

นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งมองว่า เหตุไฟป่ารุนแรงในออสเตรเลียครั้งนี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนล่าสุดว่าสิ่งมีชีวิตทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะการสูญพันธุ์ระดับมหึมา ครั้งที่ 6 (the sixth mass extinction) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นับตั้งแต่ยุคบรรพกาลที่สิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ใหม่ ๆ เริ่มเกิดขึ้น และขยายจำนวนเพิ่มอย่างรวดเร็วในยุคแคมเบรียนเมื่อ 540 ล้านปีก่อนเป็นต้นมา โลกได้พบกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตมาแล้วถึง 5 ครั้ง ซึ่งโดยเฉลี่ยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในทุก 100 ล้านปี จากเหตุความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความเปลี่ยนแปลงฉับพลันทางธรณีวิทยาเช่นภูเขาไฟระเบิดรุนแรง หรือเหตุอุกกาบาตยักษ์จากห้วงอวกาศพุ่งชนโลกซึ่งทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไป


Image copyright GETTY IMAGES

ดร. เฟรเดริก ซัลเทร์ และ ดร. คอรีย์ เจ.เอ. แบรดชอว์ นักนิเวศวิทยาจากศูนย์เพื่อความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพและมรดกของออสเตรเลีย (CABAH) อธิบายถึงเกณฑ์พื้นฐานที่ใช้ตัดสินว่าโลกปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ภาวะการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่แล้วหรือไม่ เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ 5 ครั้งที่ผ่านมา โดยชี้ว่าจะต้องเกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตราว 3 ใน 4 ของชนิดพันธุ์หรือสปีชีส์ที่มีอยู่ทั้งหมด "ในระยะเวลาอันสั้น" ซึ่งในทางธรณีกาล (geologic time) หมายถึงไม่เกิน 2.8 ล้านปี

นักนิเวศวิทยาทั้งสองระบุในบทความของพวกเขาที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ The Conversation ว่าตามปกติแล้วอัตราพื้นหลัง (background rate) หรืออัตราปกติของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตตามวงจรธรรมชาติ จะอยู่ที่ 1-2 ชนิดพันธุ์ต่อระยะเวลา 1 ล้านปี แต่ในยุคปัจจุบันที่กิจกรรมของมนุษย์มีส่วนเร่งให้เกิดการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์มากขึ้น อัตราการสูญพันธุ์ที่ประมาณการได้ล่าสุด กลับพุ่งสูงไปกว่าอัตราปกติแล้วกว่า 100 - 10,000 เท่า

ตัวเลขดังกล่าวชี้ชัดว่า โลกได้ก้าวย่างเข้าสู่ยุคการสูญพันธุ์ระดับมหึมาครั้งที่ 6 แล้วอย่างแน่นอน ซึ่งกรณีของไฟป่าออสเตรเลียนั้น นับว่าเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งของการสูญพันธุ์ระดับมหึมาที่กำลังเกิดขึ้นนี้ด้วย


Image copyright EPA

ออสเตรเลียเป็น 1 ใน 17 ประเทศที่จัดว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพในระดับสูงอย่างยิ่งยวด (megadiverse) แต่ถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่แถบที่เกิดไฟป่าครั้งล่าสุด ออสเตรเลียยังมีประวัติการสูญพันธุ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่าทวีปใด ๆ โดยสัตว์มีกระดูกสันหลังกว่า 100 ชนิดพันธุ์ต้องหมดสิ้นไป หลังจากการมาถึงของมนุษย์เมื่อราว 50,000 ปีก่อน และปัจจุบันมีสัตว์ราว 300 ชนิด และพืชอีกกว่า 1,000 ชนิด ที่เสี่ยงใกล้จะสูญพันธุ์

ศาสตราจารย์ ไมค์ ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาวิวัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์สของออสเตรเลียชี้ว่า เหตุไฟป่ารุนแรงในอดีตซึ่งคล้ายกับที่เกิดขึ้นล่าสุด ก็เคยเป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสรรพชีวิตบนโลกมาแล้ว

ศ. ลีบอกว่าในยุคครีเทเชียสเมื่อ 66 ล้านปีก่อน แรงปะทะจากอุกกาบาตยักษ์ที่พุ่งชนโลกได้ทำให้เกิดเชื้อไฟกระจัดกระจายไปทั่วชั้นบรรยากาศ นักวิทยาศาสตร์พบเขม่าที่เกิดจากการเผาไหม้ปริมาณมหาศาลในฟอสซิลจากยุคนี้ อันเป็นหลักฐานชี้ว่าเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ซึ่งลุกลามครอบคลุมพื้นที่ป่าส่วนมากของโลก

สิ่งมีชีวิตถึง 75% รวมทั้งไดโนเสาร์เกือบทุกชนิดพันธุ์ ถูกลบหายไปจากหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ธรรมชาติ โดยในตอนแรกพวกมันถูกสังหารด้วยไฟป่า ก่อนที่สภาพอากาศแบบฤดูหนาวนิวเคลียร์จะมาซ้ำเติมให้ล้มตายกันเป็นจำนวนมหาศาลในระยะยาว


Image copyright REUTERS

ในกรณีของไฟป่าออสเตรเลีย ศ. ลี ชี้ว่าสัตว์จำพวกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังซึ่งเคลื่อนที่อย่างไม่คล่องตัวมากนัก เช่นแมลงและหอยทากนานาชนิด ซึ่งจัดว่าเป็นสัตว์ประเภทที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง แต่มีแนวโน้มที่จะต้องสูญพันธุ์ไปก่อนเพื่อน

"สัตว์บกที่เอาตัวรอดได้จากไฟป่าครั้งนี้จะต้องมีความสามารถพิเศษ เช่นอาจจะลงไปอาศัยในน้ำได้ชั่วคราวแบบสัตว์เลื้อยคลานบางประเภท หรือสามารถกลบฝังตัวเองไว้ใต้ดิน หรือซ่อนตัวหนีไฟในซอกหลืบที่ลึกและแคบแบบหนูตัวเล็ก ๆ ได้" ศ. ลีกล่าว

"อันที่จริงแล้ว สัตว์บกที่ตัวใหญ่กว่าแมวบ้านทั้งหมด แทบจะไม่มีโอกาสรอดชีวิตจากไฟป่าครั้งนี้ไปได้ แม้แต่นกที่สามารถจะบินหนีไฟไปง่าย ๆ ก็อาจจะไม่รอดในระยะยาว เพราะไม่เหลือต้นไม้ให้จับคอน สร้างรัง และหาอาหารอีกต่อไป สัตว์ที่รอดจากไฟป่าต้องอาศัยในที่โล่งและตกเป็นเหยื่อของสัตว์นักล่าได้ง่ายขึ้น"

"การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่เกิดจากไฟป่าถือเป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโครงสร้างชีวมณฑลโลก เช่นเดียวกับที่การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ได้เปิดทางให้เกิดยุคสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมครองโลกมาแล้ว"


https://www.bbc.com/thai/international-51022104
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 02:04


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger