เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 19-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

สำหรับทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย

อนึ่ง พายุดีเปรสชัน "ตาลิม" บริเวณเมืองเตวียนกวง ประเทศเวียดนาม กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก โดยพายุนี้มีแนวโน้มจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน


คาดหมาย

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และ อ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ตลอดช่วง ประกอบกับในช่วงวันที่ 19 - 20 ก.ค. 66 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 25 ก.ค. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และ อ่าวไทยยังคงมีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง ตลอดช่วง โดยมีคลื่นสูง 2 ? 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งตลอดช่วง












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 19-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ตะลึง วัตถุปริศนาเกยหาดออสเตรเลีย ชาวบ้านสงสัยอาจมาจาก MH370

ตะลึง วัตถุปริศนารูปโดม ถูกคลื่นซัดมาเกยหาดออสเตรเลีย ห่างจากเมืองเพิร์ธราว 249 กม. ชาวบ้านสงสัยใช่จากเครื่องบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ เที่ยวบิน MH370 ที่สูญหายไปเมื่อ 9 ปีกว่าหรือไม่



เมื่อ 18 ก.ค. 2566 สื่อต่างประเทศรายงานว่า ชาวออสเตรเลียตะลึงงัน เมื่อมีวัตถุปริศนารูปโดมขนาดใหญ่ถูกพัดมาเกยชายหาดกรีน เฮด ห่างจากเมืองเพิร์ธของออสเตรเลียไปทางเหนือประมาณ 155 ไมล์ หรือประมาณ 249 กิโลเมตร โดยขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังไขปริศนาว่ามันคืออะไร

วัตถุปรินารูปโดมนี้เป็นวัตถุที่ดูเหมือนไม่เคยเห็นกันมาก่อนว่ามันคือส่วนไหนในอุตสาหกรรมการบิน โดยมีคนที่มาเดินเล่นริมหาดกรีนเฮด เห็นมันโดยบังเอิญ จนทำให้ชาวบ้านในพื้นที่พากันมาดูว่าวัตถุปริศนาดังกล่าวคืออะไร บางคนถึงกับบอกว่า 'มันดูน่ารัก' และวันรุ่งขึ้นได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมายังบริเวณที่พบวัตถุปริศนาถูกคลื่นซัดมาเกยชายหาด และได้มีการกั้นพื้นที่ไว้

ตามความเห็นของ นายเจฟฟรีย์ โทมัส ผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน กล่าวว่า วัตถุปริศนานี้อาจเป็นถังเชื้อเพลิงของจรวดที่ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศ และคาดว่าวัตถุนี้ได้ตกลงสู่มหาสมุทรอินเดียตั้งแต่ 12 เดือนที่แล้ว

นอกจากนั้น นายโทมัส ยังแสดงความเห็นต่อกรณีที่มีการสันนิษฐานกันในเบื้องต้นด้วยว่ามันอาจจะเป็นชิ้นส่วนของเครื่องบินโดยสารของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ เที่ยวบิน MH370 ที่หายไปอย่างลึกลับ พร้อมผู้โดยสาร 239 ชีวิต นอกชายฝั่งตะวันตกของออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2557 โดยที่ นายโทมัส บอกว่า ดูจากรูปร่างลักษณะของวัตถุนี้แล้วไม่มีโอกาสที่จะเป็นไปได้

'วัตถุนี้ไม่ได้เป็นชิ้นส่วนของเครื่องบินโบอิ้ง 777 และข้อเท็จจริงก็คือ MH370 ได้สูญหายไปตั้งแต่ 9 ปี 6 เดือนแล้ว ดังนั้นสภาพของวัตถุจะต้องมีสิ่งมีชีวิตมาเกาะมากกว่านี้ หรือมีสภาพเป็นเศษซากมากกว่านี้' นายโทมัส แสดงความเห็น.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2710453


******************************************************************************************************


รู้จัก "ก๊าซเรือนกระจก" ตัวการ "ภาวะโลกร้อน"

- รู้จัก "ก๊าซเรือนกระจก" ตัวการ "ภาวะโลกร้อน"
- มนุษย์อย่างเรา เป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "ก๊าซเรือนกระจก"




ปรากฏการณ์ "ก๊าซเรือนกระจก" คือ

ก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วยก๊าซหลายชนิดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ โอโซน สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน และฮาโลคาร์บอน ซึ่งก๊าซเหล่านี้จะมีหน้าที่เก็บกักรังสีความร้อนจากผิวโลก แล้วคายรังสีความร้อนนั้นกลับลงมา ทำให้อุณหภูมิบนผิวโลกร้อนขึ้นกว่าเดิม เปรียบเหมือนกระจกที่สะท้อนรังสีความร้อนไม่ให้ออกไปจากโลก จึงเรียกว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) และเรียกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เข้าใจง่ายว่า การปล่อยคาร์บอน (carbon emission)


"ก๊าซเรือนกระจก" มาจากไหน?

นายอภิสิทธิ์ เสนาวงค์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ สำนักรับรองคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หากหลายคนยังมองว่า ก๊าซเรือนกระจก ตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนั้นเป็นเรื่องไกลตัว แต่อยากให้รู้เลยว่า "มนุษย์" อย่างเราก็เป็นหนึ่งสิ่งที่ทำให้เกิด "ก๊าซเรือนกระจก" ได้เหมือนกัน เพราะมนุษย์ คือ ตัวการที่ปล่อยคาร์บอนฯ ออกสู่ชั้นบรรยากาศ

โดย "ก๊าซเรือนกระจก" เปรียบเสมือนฟิล์มที่ห่อหุ้มโลก ลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศบางๆ มีหน้าที่กรองแสงอาทิตย์ไม่ให้รังสีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ลงมาสู่โลกมากเกินไป ขณะเดียวกันก็ช่วยให้โลกมีอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการอาศัยอยู่ของสิ่งมีชีวิต แต่ถ้ามี "ก๊าซเรือนกระจก" มากเกินไปก็จะทำให้โลกอุ่นขึ้นเรื่อยๆ ที่เราเรียกว่า "ภาวะโลกร้อน" กระทั่งเกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต

แต่ถ้าถามว่า โลกเราไม่ควรมีคาร์บอนฯ ในชั้นบรรยากาศเลยจะดีไหม? นายอภิสิทธิ์ อธิบายว่า ไม่ เพราะจะไม่มีชั้นบรรยากาศที่กรองรังสีอันตรายจากดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมายังโลก และที่ไม่ดีไปกว่านั้น ถ้าเราไม่มีก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเลย กลางวันเราจะร้อนมาก และกลางคืนก็จะหนาวมาก

ทั้งนี้ ก๊าซเรือนกระจก มีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (Natural Greenhouse Gas) เช่น ไอน้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการหายใจของสิ่งมีชีวิต เป็นต้น

และก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้น (Anthropogenic Greenhouse Gas) เช่น ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินในกระบวนการการผลิตไฟฟ้า การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์ กระบวนการหมักของจุลินทรีย์จากน้ำในนาข้าว กระบวนการในภาคอุตสาหกรรม สารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ แอร์รถยนต์ และระบบทำความเย็นในอาคาร เป็นต้น

ดังนั้น อยากให้ตระหนักไว้ว่า มนุษย์ ตัวเล็กๆ อย่างเรานี่แหละที่ช่วยทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถ ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ การสร้างขยะ ฯลฯ


ก๊าซเรือนกระจก ทำให้ "โลกร้อน" ขึ้นจริงหรือ

มีหลักฐานและปรากฏการณ์มากมายที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ร่วมกันศึกษา ติดตาม และวิจัย จนยืนยันได้ว่าภาวะโลกร้อนกำลังจะเกิดขึ้นจริงๆ

นายอภิสิทธิ์ อธิบายว่า หลักฐานที่บ่งบอกว่าโลกร้อนขึ้นคือ ก๊าซเรือนกระจกในอากาศเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ โดย 8 พันกว่าปีก่อน คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมีอยู่ประมาณ 300 PPM (PPM คือ 1 ส่วนในล้านส่วน) แต่ 100 กว่าปีที่ผ่านมามันเพิ่มจาก 300 PPM มาอยู่ที่ 419 PPM แม้จะยังไม่ทำให้ใครตาย แต่ก็ทำให้หลายคนตระหนักถึงคำว่าโลกร้อน เพราะมีทฤษฎีที่บอกไว้ว่า หากมีคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเกิน 450 PPM จะทำให้โลกวิบัติ สิ่งมีชีวิตจะอยู่ไม่ได้แล้ว

นอกจากนี้ สมัยก่อนอุณหภูมิเฉลี่ยจะไม่เกิน 1 องศาฯ แต่ในช่วงไม่ถึง 100 ปี อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1 องศาฯ เหมือนจะเล็กน้อย แต่หลายคนรู้สึกได้ว่าอุณหภูมิความร้อนในบ้านเราเพิ่มมากขึ้น ดังเช่นเมื่อช่วงปลายเมษายน 2566 ที่เกิดคลื่นความร้อนปกคลุมเอเชีย และสุดท้าย น้ำแข็งขั้วโลกที่ละลาย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นเพียง 1-2 องศาฯ แต่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอาจไม่สมดุลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม่ หรือการเกิดของสิ่งมีชีวิต โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าสิ่งมีชีวิตกว่าร้อยละ 30 เผชิญความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ผลผลิตข้าวและธัญพืชอาจลดลง มนุษย์ในฐานะที่ต้องพึ่งระบบนิเวศและอาหาร ก็อาจจะได้รับผลกระทบไปด้วย

นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อน ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้อากาศแปรปรวนไปจากเดิม และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น.


https://www.thairath.co.th/news/sustainable/2706884

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 19-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


สถิติ 5 ปี เต่าทะเลตายจากขยะ อนุรักษ์แล้วยังเหลือรอดเฉลี่ย 20%



คุยกับ ผอ.ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เผยสถิติในรอบ 5 ปี พบเต่าตายจากขยะทะเลเฉลี่ย 20 ตัว/ปี รอดชีวิตหลังวางไข่เฉลี่ย 20% ทั้งที่มีการอนุรักษ์แล้ว หากปล่อยตามธรรมชาติ จะเหลือรอด 0.1%

หากเราปล่อยให้เต่าวางไข่ตามธรรมชาติ เขาจะมีโอกาสรอดแค่ 1 ใน 1,000

นี่คือหัวใจสำคัญที่ต้องมีหน่วยงานใดสักหน่วยที่คอยดูแล "เต่า" เหล่านี้ และหน่วยงานนั้นก็คือ "กองทัพเรือ" นอกจากจะดูแลผลประโยชน์ทางทะเลแล้ว ยังต้องประคับประคอง "ชีวิตสัตว์ทะเล" ให้เหลือรอดจากผู้ล่าที่เป็นทั้งคนและสัตว์

นาวาเอก เหรียญชัย พ่วงเชย ผู้บังคับการศูนย์ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ เกริ่นว่า "เต่าทะเล" ก็เหมือนกับสัตว์อื่นๆ ในทะเล เพียงแต่เขาเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่เริ่มมีการลดน้อยลงไป

จุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.2493 ซึ่งถึงวันนี้ก็ 73 ปีมาแล้ว โดยตอนนั้นกองทัพเรือได้ออกประกาศ พ.ร.บ.ว่าด้วยเรื่องเขตปลอดภัยทางราชการ โดยใช้พื้นที่สถานีทหารเรือสัตหีบบางส่วนในการดูแล และกรมประมงได้มอบหมายให้ กองทัพเรือ เป็นผู้เก็บไข่และอนุรักษ์เต่า

กระทั่งปี 2522 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระดำริให้กองทัพเรือตั้งศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ตั้งอยู่ที่เกาะมันใน อ.แกลง จ.ระยอง มาช่วยดูแลรักษาไข่เต่าในพื้นที่ที่กองทัพเรือดูแลอยู่ โดยเฉพาะที่ เกาะคราม เกาะอีร้า เกาะจาน ซึ่งเป็นแหล่งที่เงียบสงบ ไม่มีคนมารบกวน เต่าจึงมาวางไข่ที่เกาะเหล่านี้

โดย หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง รับผิดชอบการดูแลเกาะคราม แทนกองการฝึกกองเรือยุทธการ ดังนั้น หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง จึงได้เข้ามาดำเนินการเกี่ยวกับเต่าทะเลของกองทัพเรือตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ในปี พ.ศ.2535 กองทัพเรือได้จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลโดยมุ่งเน้นขยายผลการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนร่วมกันในการพัฒนาและรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ผอ.ศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเล เผยว่า เกาะที่มีเต่ามาวางไข่มากที่สุด คือ เกาะคราม แต่ละปีมีเต่ามาวางไข่นับพันฟอง แต่โอกาสรอด หากเราไม่ดูแล หรืออนุรักษ์เลย โอกาสรอดเมื่อมีการวางไข่คือ 1 ต่อ 1,000 ฟอง เพราะเมื่อมีการวางไข่แล้วก็จะกลายเป็นอาหารของสัตว์ที่อยู่บนเกาะ หากรอดจากตรงนั้นได้ ฟักออกมาเขาก็จะคลานลงทะเลทันที ตัวอ่อนเต่าเหล่านี้เมื่อคลานลงหาดก็จะกลายเป็นอาหารของเหยี่ยว นก ตัวเงินตัวทอง หรือแม้แต่ลงทะเลไปแล้วก็เจอสัตว์ในทะเลกินอีก แม้แต่ปูก็ยังกินลูกเต่า

ฉะนั้น การอนุบาลฯ ของเราคือ เมื่อมีแม่เต่ามาวางไข่แล้ว เราก็จะนำมาอนุบาลด้วยการฝังกลบไว้ และรออีกประมาณ 45-60 วัน หลังจากนั้นเต่าทะเลก็จะเพาะฟักออกมาเป็นตัว จากนั้นเราก็ดูแลสักพักก็เอามาอนุบาลต่อที่ศูนย์อนุรักษ์ที่เราทำไว้ที่เกาะครามด้วย

"หากเลี้ยงได้สัก 3 เดือนแล้ว ดูว่าตัวไหนแข็งแรง จริงๆ เราก็จะปล่อยลงสู่ทะเล และบางส่วนจะนำมาไว้ที่สัตหีบ ที่ศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเล ที่สัตหีบ ซึ่งเต่าที่เราดูแลจะมีการทำทะเบียนควบคุม โดยมีการแบ่งเป็นบ่อๆ ตามอายุ เช่น 3 เดือน 1 ปี ซึ่งศูนย์นี้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชนได้มาศึกษาด้วย"


ประชากรเต่า และการปล่อยสู่ธรรมชาติ

นาวาเอก เหรียญชัย เผยว่า แต่ละปี ศูนย์อนุรักษ์ฯ ปล่อยเต่าลงท้องทะเลเฉลี่ยเกือบพันตัว แต่ปล่อยแล้วโอกาสรอดก็อยู่ที่ประมาณ 50% ฉะนั้นโอกาสรอดของเต่าในแต่ละปีคือราว 500 ตัว

แต่ถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไร คำตอบของคำถามนี้ คือต้องรอ 15 ปี คือการกลับมาวางไข่ที่เกาะที่ตัวมันเกิด เพราะธรรมชาติของเต่าจะเป็นแบบนี้ ซึ่งเต่าในประเทศไทยนี้มี 4 ชนิด คือ 1.เต่าตนุ 2.เต่ามะเฟือง 3.เต่ากระ 4.เต่าหญ้า โดยในฝั่งอ่าวไทยมีเพียง 2 ประเภท คือ เต่ากระ กับ เต่าตนุ ขณะที่ฝั่งอันดามันมีทุกประเภท

ซึ่งตามปกติแล้วเต่าจากฝั่งอันดามันจะไม่ย้ายถิ่นฐานมายังอ่าวไทย เพราะธรรมชาติต่างๆ ในทะเลของอ่าวไทย กับ อันดามัน มีความแตกต่างกัน รวมทั้งอาหารและกระแสน้ำก็มีความแตกต่างกัน

นาวาเอก เหรียญชัย เผยว่า ที่ผ่านมาเราเคยติด GPS ให้เต่า ก็พบว่า เต่าเดินทางไปไกลมาก ไปทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือเมียนมา จากนั้นมันก็กลับมาวางไข่ที่เกาะคราม เรื่องนี้มีการทำวิจัยกันอยู่ อย่างไรก็ตามวิธีการติดตามดังกล่าวปัจจุบันนี้ได้ยกเลิกไปแล้ว เพราะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่าดูแลเครื่องมือที่ใช้ติดตามเต่า ค่าเฉลี่ยในการตามดูเต่า 1 ตัวเป็นล้านบาท ด้วยเหตุนี้จึงมีการยกเลิกไป เหลือเพียงการติดไมโครชิปที่เราฝังไปในตัวเต่า โดยมีทะเบียนคุมไว้ โดยระบุวันเดือนปีในการปล่อย และมันวางไข่ที่ไหน

"ในรอบการปล่อย 5-6 ปีที่ผ่านมา ก็คาดว่าอีกสัก 10 ปี มันจะกลับมาวางไข่ที่เกาะที่มันเกิด แต่...ถ้ามันมาเจอคน มันก็จะไม่วางไข่ ปล่อยให้ไข่เสียภายในตัวมัน ฉะนั้นการวางไข่ของเต่าสำคัญคือต้องเป็นสถานที่สงบเงียบ ฉะนั้นเราถึงต้องจำกัดพื้นที่ไว้ โดยเต่าหนึ่งตัวเฉลี่ยวางไข่ครั้งละ 80-150 ฟอง"


อัตราการรอด-ตาย จากธรรมชาติ และขยะทะเล

สำหรับความสำคัญของเต่าในระบบนิเวศน์ทางทะเลเป็นอย่างไร นาวาเอก เหรียญชัย อธิบายว่า เต่าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งในทะเลเหมือนกับปลาชนิดต่างๆ โดยมีอาหารเป็นสาหร่าย ปลาเล็ก แมงกะพรุน ซึ่งก็เป็นหนึ่งในวัฏจักรของการมีชีวิตในทะเล เพียงแต่อัตราการรอดตามธรรมชาติมันน้อยมาก แต่หากเราไม่ดูแล หรืออนุรักษ์มัน วันหนึ่งมันก็จะหายไปเหมือนสัตว์อื่นๆ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุม ซึ่งประกอบด้วย

1.พ.ร.บ.ประมง พ.ศ.2490

2.พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522

3.พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535

4.พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504

โดย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาตินี้เป็นกฎหมายมุ่งที่จะคุ้มครองแหล่งที่อยู่อาศัย และหาดวางไข่ของเต่าทะเล ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลหลายแห่ง

นาวาเอก เหรียญชัย กล่าวว่า ภัยที่ส่งผลกับชีวิตเต่าทะเลก็มีหลายแบบ เช่น อุบัติเหตุโดนใบจักรเรือ การถูกจับที่ติดอวนชาวประมง การกินขยะ โดยเฉพาะพลาสติก ซึ่งแต่ละปีเราพบเต่าเสียชีวิตที่มีปัจจัยมาจากขยะในทะเลเฉลี่ย 20 ตัว/ปี โดยในระยะเวลา 5 ปี เราพบเต่าทะเลเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับขยะ 97 ตัว


ส่วนที่เกยตื้นตามธรรมชาติ ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา

ปี 2560 พบเกยตื้น 22 ตัว รักษาหาย 14 ตัว

ปี 2561 พบเกยตื้น 37 ตัว รักษาหาย 22 ตัว

ปี 2562 พบเกยตื้น 19 ตัว รักษาหาย 11 ตัว

ปี 2563 พบเกยตื้น 20 ตัว รักษาหาย 12 ตัว

ปี 2564 พบเกยตื้น 48 ตัว รักษาหาย 32 ตัว

ปี 2565 พบเกยตื้น 20 ตัว รักษาหาย 12 ตัว

นาวาเอก เหรียญชัย ระบุว่า อัตราเกยตื้นตามธรรมชาติจะอยู่ที่ 65% ทั้งนี้บางส่วนเราก็ไม่รู้สาเหตุ เพราะสภาพที่พบก็ยากที่จะตรวจสอบดูได้แล้ว ส่วนอัตราการรอดของเต่า ถ้าเทียบจากการฟักไข่แล้วเกิดเป็นตัวและมีชีวิต เฉลี่ยอยู่ที่เกือบ 20% ในรอบปี 2560-2565 (ตามกราฟ)


ลดทิ้งขยะ ประมง-ท่องเที่ยว อย่างมีจิตสำนึก เพิ่มความยั่งยืนทางทะเล

ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญของประเด็นนี้คือ "จิตสำนึก" อยากให้ทุกคนร่วมกันรักษาชีวิตสัตว์ทุกชนิดในทะเล โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายาก เช่น พะยูน หรือเต่าทะเล โดยเฉพาะ "พะยูน" ที่มาเล่นกับเต่า

"การรับผิดชอบชีวิตของสัตว์เหล่านี้ คือ การลดการทิ้งขยะในทะเล เพราะขยะทะเลจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สัตว์เหล่านี้ตายจากการกินขยะพลาสติก และอื่นๆ ในขณะที่ธุรกิจจับสัตว์น้ำก็ควรคำนึงด้วยว่าจะมีสัตว์เหล่านี้ติดมา หากเห็นก็ควรรีบปล่อย อย่าลากแบบทั้งวันทั้งคืน เพราะเต่าคือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มันจำเป็นต้องขึ้นมาหายใจ หากมันขึ้นมาไม่ได้ ส่วนการท่องเที่ยว กลุ่มไกด์ทัวร์ควรให้ความรู้ความเข้าใจกับนักท่องเที่ยว และควรมีจิตสำนึก พื้นที่ไหนห้าม พื้นที่ไหนไม่ควรดำน้ำดูปะการัง หากเจ้าหน้าที่ห้ามแล้วก็อย่าฝ่าฝืน เหล่านี้หากทุกคนช่วยคนละไม้คนละมือก็จะช่วยได้".


https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2710280

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 19-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


นักวิจัยแดนมังกรพบ "วาฬ 15 สายพันธุ์" ในการสำรวจทะเลจีนใต้


ข้อมูล-ภาพ : XINHUA

เมื่อไม่นานมานี้ คณะนักวิจัยจีนจากห้องปฏิบัติการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมและการใช้เสียงของสัตว์ทะเล ภายใต้สถาบันวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ใต้ทะเลลึก สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน พบวาฬอย่างน้อย 15 สายพันธุ์ ระหว่างการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ ในน่านน้ำทางตอนเหนือของทะเลจีนใต้

นักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองซานย่า ประเทศจีน เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ว่า หลังจากเดินทางนาน 20 วัน เป็นระยะทางกว่า 3,500 กิโลเมตร ทีมวิจัยได้กลับถึงเมืองซานย่าของมณฑลไห่หนาน หรือไหหลำ ทางตอนใต้ของจีน เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา

นักวิจัยผสมผสานการสังเกตด้วยสายตา และการตรวจสอบด้วยเสียงแบบพาสซีฟ (PAM) พร้อมกับเก็บดีเอ็นเอสิ่งแวดล้อมระหว่างการวิจัย โดยทีมนักวิจัยสังเกตเห็นวาฬอย่างน้อย 15 สายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงวาฬดำน้ำลึก 10 สายพันธุ์ และโลมา 5 สายพันธุ์ ที่อาศัยไกลออกไปในทะเล

การสำรวจทางวิทยาศาสตร์ครั้งล่าสุดนี้ มอบหลักฐานเพิ่มเติม เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพของวาฬที่อุดมสมบูรณ์ ภายในน่านน้ำที่สำรวจ โดยในฐานะสัตว์ชนิดพันธุ์เรือธง (flagship species) ของระบบนิเวศทางทะเล วาฬเป็นตัวบ่งชี้ถึงสภาวะสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น และมีคุณค่าด้านการวิจัยเป็นอย่างมาก สำหรับการปกป้องสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาในทะเลจีนใต้ให้ดียิ่งขึ้น

ห้องปฏิบัติการจัดการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ในทะเลจีนใต้ 6 ครั้ง เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2562 โดยคาดว่าผลลัพธ์การวิจัยจะเป็นรากฐานทางวิทยาศาสตร์ สำหรับการคุ้มครองสัตว์ทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์และหายากในน่านน้ำดังกล่าวต่อไป.


https://www.dailynews.co.th/news/2544277/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 00:04


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger