เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 23-04-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน 2563

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านตะวันออกของภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ซึ่งมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และลูกเห็บตกที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 28-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 23 ? 26 เม.ย. 63 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมถึงฟ้าผ่า และลูกเห็บตกบางพื้นที่ โดยจะเริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกก่อน ส่วนภาคอื่นๆจะได้รับผลกระในระยะต่อไป ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนคลายความร้อนลง

ส่วนช่วงในวันที่ 27 - 28 เม.ย. 63 ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไป แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก สำหรับภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้น ในช่วงวันที่ 25-28 เม.ย. 63 กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 23 ? 26 เม.ย. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงลูกเห็บตก โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ในช่วงวันที่ 25-28 เม.ย. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง และชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง



*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบถึงวันที่ 26 เมษายน 2563)" ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 23 เมษายน 2563

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่เข้าปกคลุมภาคกลาง และภาคตะวันออกในวันนี้ (วันที่ 23 เมษายน 2563) ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้เกิดการปะทะกันของมวลอากาศเย็นและอากาศร้อน ส่งผลทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ซึ่งมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ซึ่งจะมีผลกระทบถึงวันที่ 26 เมษายน 2563 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และลูกเห็บตกที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

สำหรับภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้นในช่วงวันที่ 25-26 เมษายน 2563 กับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ และคลื่นลมจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป จะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้


วันที่ 23 เมษายน 2563

ภาคเหนือ: จังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด


วันที่ 24 เมษายน 2563

ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด


ในช่วงวันที่ 25-26 เมษายน 2563

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา และบุรีรัมย์

ภาคกลาง: จังหวัดสุพรรณบุรี อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 23-04-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ดร.ธรณ์สุดดีใจ! อวดภาพฝูงฉลามหูดำ-วาฬเพชฌฆาตเพิ่ม ย้ำมนุษย์หายไป ทะเลยิ่งใหญ่จริงๆ

ดร.ธรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเลได้เผยภาพฝูงฉลามหูดำที่มาหยาและ ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำที่ลันตา ซึ่งก่อนหน้านี้เพิ่งอวดภาพฝูงพะยูนที่จังหวัดตรังไป ระบุเป็นการปิดท้ายสำหรับ The Great Earth Day อย่างยิ่งใหญ่ในปีนี้ ซึ่งทั้ง 3 ภาพถ่ายภายในวันนี้วันเดียว วอนคนไทยดูแลทะเลแบบนี้อยู่กับเราต่อไปนานๆ



วันนี้ (22 เม.ย.) เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ภาพน่าปิติอีก 2 ชุดคือภาพ ฝูงฉลามหูดำที่มาหยากว่า 30 ตัว ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำที่ลันตา 10-15 ตัว โดยก่อนหน้านี้ได้โพสต์ภาพฝูงพะยูนที่จังหวัดตรัง ร่วม 30 ตัวโดยย้ำว่านี่แค่วันเดียววันนี้ แเฉพาะที3 อุทยานใน 2 จังหวัดกระบี่และจังหวัดตรัง

โดยระบุเนื้อหาโพสต์ว่า "ปิดท้ายอย่างยิ่งใหญ่สำหรับ The Great Earth Day ในปีนี้ ด้วยฝูงวาฬเพชฌฆาตดำที่อุทยานหมู่เกาะลันตา ขึ้นมาอาบแสงอาทิตย์อัสดง บอกแบบฟันธงเลยว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีเอิร์ธเดย์ปีไหนสะใจเท่าปีนี้ ทั้งพะยูน ทั้งฉลาม ทั้งวาฬ มากันท่วมทะเล ผมลงโพสต์แรกก่อนเที่ยง ยิงยาวถึงตอนนี้ 4 โพสต์รวดไม่มีหยุด ทบทวนกันอีกที หนึ่งวันเจออะไรบ้าง ฝูงพะยูนที่ตรัง ร่วม 30 ตัว ฝูงฉลามหูดำที่มาหยา 30+ ตัว ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำที่ลันตา 10-15 ตัว เน้นย้ำว่านี่แค่วันเดียว และเฉพาะที่ 3 อุทยานใน 2 จังหวัด กระบี่และตรังเมื่อมนุษย์หายไป ทะเลยิ่งใหญ่จริงๆ อยากเห็นทะเลแบบนี้อยู่กับเราต่อไปนานๆ เราต้องเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการอยู่ร่วมกับเธอ เราต้องรักเธอให้มากกว่าเดิม ขอบคุณภาพจากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตาครับ"

ทั้งนี้ ดร.ธรณ์ ได้ให้รายละเอียดวาฬเพชฌฆาตดำ วาฬเพชฌฆาตดำ (false killer whale) ไม่ใช่วาฬ แต่เป็นโลมาขนาดใหญ่ อาจมีความยาวได้ถึง 6 เมตร แต่ปรกติเล็กกว่านั้น ในไทยที่เคยพบ ส่วนใหญ่ยาว 3-4 เมตร อย่างไรก็ตาม เรายังคงเรียกว่าวาฬ เหมือนวาฬออร์ก้าหรือ วาฬเพชฌฆาต ที่เป็นโลมาขนาดใหญ่เช่นกัน คำว่า false killer whale มาจากขนาดที่ใหญ่เกือบเท่าวาฬเพชฌฆาต อีกทั้งมีโครงกระดูกคล้ายคลึงกัน แม้รูปร่างและสีจะแตกต่างเห็นชัด มีพฤติกรรมรวมฝูงแนบแน่น บางฝูงอาจมีจำนวนนับร้อย แต่ที่พบในไทยส่วนใหญ่อยู่ระดับ 10-20 ตัว พบได้ทั่วโลก ในไทยพบตามทะเลเปิดหรือน้ำลึกหรือเกาะห่างไกล เช่น เกาะสิมิลัน เกาะเต่า เกาะราชา ฯลฯ ในอดีตเคยมีวาฬชนิดนี้เกยตื้นที่เกาะราชา (พ.ศ.2551) จำนวน 30 ตัว มีอาสาสมัครไปช่วยกันพาวาฬออกจากฝั่ง แต่มีบ้างที่จากไป และเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 62 เพิ่งพบหลงเข้ามาที่เกาะกูด จากนั้นก็เกยตื้นที่พัทยา แต่น้องอำลาจากไปในที่สุด วาฬพวกนี้ชอบอยู่เป็นฝูง เป็นสัตว์สังคม หลงฝูงไปรอดยากมากครับมีรายงานล่าสุดปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่สิมิลัน และพบอีกครั้งในวันนี้ที่ลันตา ไม่ค่อยมีรายงานในอุทยานหมู่เกาะลันตาวาฬเพชฌฆาตดำถือเป็นสัตว์คุ้มครองของไทย

และภาพ ฝูงฉลาดหูดำนั้น ดร.ธรณ์ได้แชร์มาจาก เพจ"อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี" ทางเพจระบุเนื้อหาโพสต์ว่า "เช้าวันนี้เวลาประมาณ 7.00 น. พบฉลามหูดำฝูงใหญ่มากกว่า 70 ตัว เข้ามาแหวกว่ายหากินอยู่ในบริเวณอ่าวมาหยา"


https://mgronline.com/onlinesection/.../9630000042316

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 23-04-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


สงครามที่ยืดเยื้อกับขยะพลาสติก โลกจะเอาชนะได้จริงหรือ!



จากนี้ไปการติดตามความคืบหน้าในการลดปริมาณขยะพลาสติก จะไม่เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ เมื่อนานาประเทศทั่วโลกตื่นตัวในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ตามรายงานของ www.worldpoliticsreview.com ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การทำสงครามกับขยะพลาสติก

ความใส่ใจต่อมาตรการลดปริมาณขยะพลาสติก เริ่มตั้งแต่กันยายน 2018 ที่คลอดโปรแกรม The Ocean Cleanup project launched System 001 เป็นทุ่นกั้นลอยน้ำเพื่อกันขยะพลาสติกออกไปกระทบมหาสมุทรแปซิฟิก และมาตรการที่ฝรั่งเศสริเริ่ม The Great Pacific Garbage Patch แม้ว่าผลการติดตามพบว่าไม่ได้ผลตามที่คาดไว้ พอมาปี 2019 ยังมีโปรแกรมขยายผลเป็น System 001/B เมื่อเดือนมิถุนายน และยังมีอีกหลายโปรแกรมริเริ่มเพิ่มเติมขึ้นเป็นระยะ ๆ ในช่วงที่ผ่านมา

แม้ว่าผลการติดตามโดยรวมจะพบว่ามีสัญญาณเพียงส่วนน้อยและไม่ชัดเจนที่สะท้อนความสำเร็จของสงครามสู้รบกับขยะพลาสติกจากโปรแกรมทั้งหลายที่จัดทำไปแล้ว ทำให้ขยะพลาสติกยังคงทะลักลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ

ขณะเดียวกัน การออกนโยบายรัฐใดๆ ที่จะเป็นการจำกัดการใช้พลาสติกแต่แรกเพื่อกันการสร้างขยะพลาสติกในระยะต่อไป ยังคงเป็นเรื่องการเมืองที่ก่อให้เกิดประเด็นร้อนแรง และยังไม่มีแนวทางอื่นทดแทน ส่วนการที่จีนประกาศปิดประเทศจากการเป็นเป้าหมายปลายทางของขยะพลาสติกทั่วโลก โดยเฉพาะจากประเทศเจริญแล้ว ทำให้ขยะพลาสติกยังทับถมบนผืนดินอย่างต่อเนื่อง




ประเด็นสำคัญที่ผู้ศึกษาได้สรุปไว้อย่างน่าสนใจ คือ

ประการแรก การเติบโตของตลาดรีไซเคิลพลาสติก ยังคงขึ้นอยู่กับระดับราคาตลาดของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในสภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างมากและต่อเนื่องเช่นนี้ ผู้ประกอบการที่ทำการผลิตพลาสติก มีแนวโน้มที่จะหวนกลับไปใช้โพลีเมอร์ใหม่ ที่มีราคาถูกกว่าเหมือนเดิม

ความกระตือรือร้นของประชาคมและสังคม ตลอดจนนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่ได้ริเริ่มแนวความคิดต่าง ๆ ไว้แต่แรก รวมทั้งการผลักดันให้แบนการใช้พลาสติก ดูเหมือนว่าแผ่วลง เมื่อพบว่ามีประเด็นสุ่มเสี่ยงใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนทำให้ความใส่ใจกับการตอบสนองทางการเมืองลดลงไป นั่นทำให้สงครามเพื่อกำจัดขยะพลาสติกพลอยแผ่วตามไปด้วย

ประการที่สอง กระนั้นก็ตาม ความพยายามในการหยุดยั้งขยะและมลภาวะจากพลาสติกก็ยังคงมีอยู่ โดยมาในรูปแบบของการทุ่มเงินในงานวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้โซลูชั่นที่ดีกว่าเดิม ซึ่งน่าเสียดายว่าจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีเทคนิคใดที่จะทำให้ได้วัสดุอื่นๆ มาทดแทนพลาสติกได้อย่างคุ้มค่าในเชิงของ Cost-benefit analysis นั่นจึงทำให้วัสดุทดแทนพลาสติกยังมีอัตราการเติบโตไม่มากนัก ขณะที่ความพยายามยังคงดำเนินต่อไป



ประการที่สาม การใช้พลาสติกในรูปแบบ "Compostable plastics" ให้ผลออกมาไม่น่าพอใจ ทำให้ความพยายามยังคงเน้นไปที่การแสวงหาเทคโนโลยีก้าวหน้าใหม่ๆ มาช่วยพัฒนาอัตราการรีไซเคิลและคุณภาพการรีไซเคิล ตลอดจนเน้นไปที่ความพยายามจะหาตลาดแหล่งใหม่ของขยะพลาสติกทดแทนจีน หรือปรับปรุงยกระดับวิธีการรีไซเคิลปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีอื่น ที่ลดผลผลิตคุณภาพต่ำในกระบวนการรีไซเคิลให้คงเหลือแต่คุณภาพระดับสูงเท่านั้น อย่างเช่น การรีไซเคิลทางเคมี

ในประเด็นเหล่านี้ทำให้เกิดเป็นทางสองแพร่ง ระหว่างทางเลือกให้หาทางทำกระบวนการรีไซเคิลให้ดีขึ้น หรืออีกทางเลือก การกำจัดการใช้พลาสติกโดยการตัดขาด ไม่ให้มีที่ยืนอยู่ในตลาด ผ่านกรอบ Zero Waste Plastic

ประการที่สี่ สงครามในส่วนของการกำจัดขยะพลาสติกในทะเล การกลั่นปิโตรเคมี และการกำจัดพลาสติกออกไปจากซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มีแนวโน้มดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยการริเริ่มโครงการ มาตรการในระดับโลกยังคงมุ่งไปที่มลภาวะจากขยะพลาสติกในทะเล ทำให้ผลงานในส่วนนี้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม แต่ยังค่อนข้างเชื่องช้า แบบค่อยเป็นค่อยไป สวนทางกับผลผลิตพลาสติกที่ยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน แม้ว่าจะเป้นที่ตระหนักรู้ในผลกระทบด้านมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมก็ตาม



ความสำเร็จต่อการทำสงครามกับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use plastics) มีความชัดเจนในชัยชนะในแถบยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งไม่สอดคล้องกับปริมาณพลาสติกที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาในหลายเมืองหลักในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา ตามปริมาณการบริโภค

ประการที่ห้า พลาสติกยังคงชนะทุกประเทศในโลก ณ วันนี้ คือ ภาชนะและหีบห่อที่เป็นพลาสติก รวม 38% ของพลาสติกทั้งหมด ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค และงานก่อสร้างมีลำดับความสำคัญรองลงมา ซึ่งทำให้คาดว่าในราวปี 2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า ปริมาณขยะพลาสติกจากวัสดุใช้งานเหล่านี้จะเกินกว่า 34,000 ล้านตัน

ประการที่หก ประเด็นเชิงนโยบายของภาครัฐทั่วโลก ยังไม่เคยทิ้งนโยบายในการพยายามลดจำนวนของขยะและมลภาวะจากพลาสติก ทำให้บทบาทภาครัฐยังเป็นความหวังสำคัญของมวลมนุษย หากในอนาคตความสามารถทางเทคโนโลยีให้คำตอบที่น่าพอใจ โอกาสที่จะมีชัยชนะในสงครามการจัดการพลาสติกยังมีอยู่ แต่อาจจะยังอีกนานและห่างไกล จนไม่อาจจะประเมินช่วงเวลาได้อย่างชัดเจน


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9630000041976

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 23-04-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


หรือโรคระบาดเป็นสัญญาณเตือนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ?

.... โดย Lia Patsavoudi ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา มหาวิทยาลัย เวสท์ แอทติกา และอาสาสมัครของกรีนพีซ กรีซ

ตอนนี้โลกของเรากำลังเผชิญกับวิกฤตอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนจากการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 และยังมีแนวโน้มว่าโรคระบาดครั้งนี้จะสร้างความสูญเสียมากมายให้กับทุก ๆ ภาคส่วน


เนื้อหาโดยสรุป

- สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Event) สามารถเพิ่มการแพร่กระจายของพาหะนำเชื้อโรค เช่น แมลงต่าง ๆ แบคทีเรีย และไวรัส เพราะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะยิ่งทำให้อากาศชื้น และส่งผลให้เชื้อโรคและพาหะ (มักจะเป็นสัตว์ต่าง ๆ)พัฒนาตัวเอง อยู่รอด และแพร่กระจายได้ดีกว่าเดิม

- การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อเกษตรอุตสาหกรรม การทำเหมือง ไม่ได้เป็นแค่สาเหตุที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง แต่ยังทำให้สัตว์ต่าง ๆ ต้องอพยพไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ เป็นมนุษย์เองที่บังคับให้พวกมันอพยพมาใกล้กับที่อยู่อาศัยของมนุษย์และใกล้ชิดกับคน เมื่อคนกับสัตว์พาหะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น จึงทำให้มีแนวโน้มว่าคนจะติดเชื้อโรคจากสัตว์ได้ง่ายขึ้น เป็นการเพิ่มการระบาดของโรคอย่างมีนัยยะสำคัญ

- หากลองเอาทฤษฎีสภาวะเจือจาง (dilution effect) มาอธิบายแล้วก็จะเห็นว่า ยิ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่ามาก ก็จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคเจือจางลง เพราะยิ่งมีความหนาแน่นของสัตว์พาหะน้อยลงเท่าไร ไวรัสก็จะแพร่ระบาดได้น้อยลงตามและจะช่วยลดการแพร่เชื้อโรคไปยังมนุษย์ได้
พื้นที่ขนาดใหญ่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ตามธรรมชาติจะเป็นเหมือนกำแพงที่แยกที่อยู่อาศัยของคนและสัตว์ป่าออกจากกัน มนุษย์จะปลอดภัยจากโรคระบาดและสัตว์ก็จะปลอดภัยจากการคุกคามของมนุษย์

Lia Patsavoudi ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาของมหาวิทยาลัยเวสท์ แอทติกา ในประเทศกรีซ และยังเป็นอาสาสมัครกับกรีนพีซ ได้เขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อสื่อสารถึงผลกระทบของโรคระบาดต่อชีวิตของเราทุกคน ด้วยข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญอีกหลาย ๆ ท่านที่ต่างเชื่อว่าอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่สูงขึ้นและกิจกรรมที่ทำให้สิ่งแวดล้อมแปรปรวนมีส่วนทำให้ไวรัสปรับตัวและพัฒนาตัวเองให้รุนแรงขึ้นเช่น COVID ? 19 อธิบายง่าย ๆ คือวิกฤตสภาพภูมิอากาศนั้นมีความเชื่อมโยงกับการแพร่กระจายของเชื้อโรค


โลกที่ร้อนขึ้นอาจทำให้โรคระบาดแพร่กระจายบ่อยขึ้น

อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่สูงขึ้นบวกกับความถี่จากสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Events) คาดว่าเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ ฤดูกาล และความรุนแรงของโรคติดเชื้อ


ในปี พ.ศ.2562 เกาหลีใต้ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนในฤดูร้อน ? Soojung Do / Greenpeace

อุทกภัย (ที่เป็นหนึ่งในสภาพอากาศสุดขั้ว) สามารถเพิ่มการแพร่กระจายของพาหะนำเชื้อโรค เช่น แมลงต่าง ๆ แบคทีเรีย และไวรัส เพราะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะยิ่งทำให้อากาศชื้น และส่งผลให้เชื้อโรคและพาหะ (มักจะเป็นสัตว์ต่าง ๆ)พัฒนาตัวเอง อยู่รอด และแพร่กระจายได้ดีกว่าเดิม สัตว์พาหะที่ว่าก็อย่างเช่นยุงและแมลงต่าง ๆ เป็นตัวนำพาโรคระบาด อาทิ โรคมาลาเรีย เป็นต้น นอกจากนี้โรคระบาดเช่นโรคไข้เลือดออก และโรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile virus) ยังมีโอกาสไปแพร่กระจายในไปยังพื้นที่ที่มีอากาศเย็นกว่า เพราะปัจจุบันพื้นที่เหล่านั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้นแล้ว

สำหรับโรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์นั้น เกิดระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 ทางตอนเหนือของมหานครนิวยอร์กหลังสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงเป็นเวลานานและเกิดฝนตกหนัก ดังที่ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด อิริน มอร์เดอไค ระบุเอาไว้ว่า ?ประชากรในประเทศที่มั่งคั่งอย่างสหรัฐอเมริกานั้นไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคดังกล่าว?

การที่มนุษย์แทรกแซงสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนทั่วโลก


ภาพลิงกำลังถือขวดพลาสติกที่คุ้ยได้จากกองขยะในแหล่งท่องเที่ยว Batu Cave มาเลเซีย ? Han Choo / Greenpeace

จากข้อมูลขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development) ชี้ว่าราวร้อยละ 75 ของโรคอุบัติใหม่และโรคระบาดที่กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งนั้นมาจากการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน โดยโรคที่มีลักษณะการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนที่เรารู้จักกันเช่น ซาร์ส (SARS), ไข้หวัดนก (H5N1 avian flu) และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1 influenza virus) ในขณะเดียวกัน จำนวนของสัตว์พาหะนำโรคที่เพิ่มขึ้นนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและอพยพไปยังพื้นที่ใหม่เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย

จากปรากฎการณ์ข้างต้น บวกกับการหาแหล่งอาหารเพื่อความต้องการของมนุษย์เรา กลับเพิ่มโอกาสที่ให้มนุษย์ใกล้ชิดกับสัตว์พาหะและเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ มนุษย์เราสร้างความปั่นป่วนให้กับสิ่งแวดล้อม ดังเช่นการทำลายผืนป่าแอมะซอนซึ่งไม่ได้เป็นแค่สาเหตุที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง แต่ยังทำให้สัตว์ต่าง ๆ ต้องอพยพไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ เป็นมนุษย์เองที่บังคับให้พวกมันอพยพมาใกล้กับที่อยู่อาศัยของมนุษย์และใกล้ชิดกับคน

เมื่อคนกับสัตว์พาหะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นจึงทำให้มีแนวโน้มว่าคนจะติดเชื้อโรคจากสัตว์ได้ง่ายขึ้น เป็นการเพิ่มการระบาดของโรคอย่างมีนัยยะสำคัญ


การฟื้นฟูระบบนิเวศจะช่วยหยุดการแพร่กระจายของโรคระบาด

พื้นที่ขนาดใหญ่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ตามธรรมชาติจะเป็นเหมือนกำแพงที่แยกที่อยู่อาศัยของคนและสัตว์ป่าออกจากกัน มนุษย์จะปลอดภัยจากโรคระบาดและสัตว์ก็จะปลอดภัยจากการคุกคามของมนุษย์


ภาพค้างคาวสายพันธุ์ท้องถิ่นบินเหนือเกาะ Um ในโซโรง ปาปัวตะวันตก (West Papua) ? Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

หากลองเอาทฤษฎีสภาวะเจือจาง (dilution effect) มาอธิบายแล้วก็จะเห็นว่า ยิ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่ามาก ก็จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคเจือจางลง เพราะยิ่งมีความหนาแน่นของสัตว์พาหะน้อยลงเท่าไร ไวรัสก็จะแพร่ระบาดได้น้อยลงตามและจะช่วยลดการแพร่เชื้อโรคไปยังมนุษย์ได้


เมื่อใดที่ระบบนิเวศแปรปรวน เมื่อนั้นมนุษย์จะมีความเสี่ยงต่อโรคภัยมากขึ้น


ภาพถ่าย The Gran Chaco ผืนป่าที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากป่าแอมะซอนในแอฟริกาใต้ ซึ่งอาร์เจตินาสูญเสียผืนป่าไปถึง 8 ล้านเฮกตาร์ในระยะเวลาเพียง 30 ปี ผืนป่าเหล่านั้นถูกนำไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมปศุสัตว์และเกษตรอุตสาหกรรม ? Martin Katz / Greenpeace

"การรุกล้ำผืนป่าโบราณด้วยการตัดไม้ ทำเหมือง และการพัฒนาที่ดินให้กลายเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว เป็นการพามนุษย์เข้าไปใกล้ชิดกับสายพันธุ์สัตว์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน" ? เคท โจนส์ ประธานสถาบันนิเวศวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยลอนดอนคอลเลจ

"มนุษย์บุกรุกทั้งป่าฝนเขตร้อนและพื้นที่ธรรมชาติเป็นวงกว้าง ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นเป็นบ้านของสัตว์หลากสายพันธุ์รวมทั้งพืชหลายชนิด และสัตว์ป่าที่หลากหลายนั้นมีไวรัสที่เราไม่รู้จักแฝงอยู่อีกมาก เราตัดต้นไม้ เราฆ่าสัตว์ เราขังและขายพวกมันไปยังตลาด เราทำให้ระบบนิเวศปั่นป่วนและเราปล่อยไวรัสให้เล็ดรอดออกมาจากสัตว์พาหะ เมื่อไวรัสต้องการพาหะใหม่ แน่นอนว่าก็คือพวกเรา"

องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization) รายงานรูปแบบการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่เปลี่ยนไปเนื่องจากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจำเป็นต้องศึกษาถึงความสัมพันธ์ของสาเหตุและผลกระทบที่สลับซับซ้อน และใช้ข้อมูลที่ได้มาปรับใช้เพื่อประเมินผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ต่อการแพร่ระบาดกับการคาดการณ์รูปแบบการแพร่กระจาย และความเป็นได้ที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้


เรายังมีโอกาสสร้างโลกที่เราอยากให้เป็นหลังวิกฤตครั้งนี้

แม้ว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสนี้เราจะต้องรักษาระยะห่างจากกัน แต่มาตรการ "การรักษาระยะห่างทางกายภาพ" นี้กำลังทำให้เราเสียสละบางอย่าง เพื่อสิ่งที่ดีกว่า เราได้เห็นความร่วมมือของชุมชนอย่างจริงจังขึ้น และได้เห็นการแบ่งปันของผู้คนในยามจำเป็นเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ได้เคยประกาศไปยังมีความเสี่ยงที่จะถูกยกเลิกเนื่องจากวิกฤตสถานการณ์การเงินของโลกหลังได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการเปลี่ยนผ่านอย่างจริงจังเพื่อโลกที่เราอยากเห็นหลังผ่านวิกฤตครั้งนี้

ในช่วงเวลาที่มืดมนและยากลำบากนี้ สมควรที่จะยกประโยคของคุณ บิล แม็คคิบเบน ที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว CNBC ที่ว่า "ถ้าบทเรียนในครั้งนี้ทำให้เรากลับไปสู่สถานะเดิมที่เป็นอยู่แล้วล่ะก็ บางทีไวรัสอาจจะชะลอการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน แต่ถ้าบทเรียนนี้ทำให้เราลงมือปฏิบัติการชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ก็อาจทำให้รัฐบาลทำงานได้เร็วขึ้นเพื่อรับมือกับความเสี่ยงโดยเฉพาะในเวลาที่ทั่วโลกไม่ได้ให้ความสนใจในประเด็นนี้เลย"


https://www.greenpeace.org/thailand/...limate-change/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 23-04-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


นอกจากฝุ่นละอองขนาดเล็กละเอียด PM2.5 แล้ว บรรยากาศโลกมีฝุ่นหยาบในปริมาณมากกว่าที่คาดไว้ถึง 4 เท่า


พายุฝุ่นในชั้นบรรยากาศโลกเหนือทะเลทรายซาฮารา ภาพถ่ายจากมุมมองของสถานีอวกาศนานาชาติ Image copyrightNASA / ALEXANDER GERST

นอกจากฝุ่นละอองขนาดเล็กละเอียด PM2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนเราแล้ว ล่าสุดยังมีผลการศึกษาที่ชี้ว่า อนุภาคของฝุ่นหยาบชนิดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ไมครอนขึ้นไปนั้น มีอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกในปริมาณสูงเหนือความคาดหมายถึง 4 เท่า และมีแนวโน้มจะทำให้ภาวะโลกร้อนรวมทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รุนแรงขึ้นไปอีก

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส (UCLA) ของสหรัฐฯ ตีพิมพ์รายงานวิจัยข้างต้นลงในวารสาร Science Advances ระบุว่าผลวิเคราะห์ข้อมูลสังเกตการณ์ปริมาณอนุภาคฝุ่นในอากาศจากหลายสิบประเทศทั่วโลก พบว่าในชั้นบรรยากาศโดยรวมมีฝุ่นหยาบอยู่ราว 17 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 4 ล้านตันมาก

ฝุ่นหยาบหรือฝุ่น PM10 มีทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ เช่นกระแสลมพัดฝุ่นดินหรือเถ้าภูเขาไฟ รวมทั้งที่มาจากอุตสาหกรรมบดย่อยหิน การทำเหมืองแร่ การขนส่งวัสดุฝุ่น และการจราจรบนถนนที่ไม่ได้ลาดยาง

ฝุ่นหยาบที่รวมตัวกันเป็นเมฆฝุ่นนั้น มีลักษณะคล้ายก๊าซเรือนกระจกที่สามารถกักเก็บความร้อนทั้งจากดวงอาทิตย์และจากพื้นโลกเอาไว้ในชั้นบรรยากาศได้ ดังนั้นการที่มีฝุ่นหยาบอยู่ในปริมาณมากกว่าที่คาดไว้ อาจส่งผลต่อเรื่องของสภาพภูมิอากาศ การก่อตัวของเมฆฝน ปริมาณน้ำฝน และปริมาณการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของมหาสมุทร



ความสามารถกักเก็บความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศ ทำให้ฝุ่นหยาบมีแนวโน้มเป็นสาเหตุหนึ่งที่เร่งการก่อตัวของพายุกำลังแรงเช่นพายุเฮอริเคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเขตร้อนที่พบพายุพลังทำลายล้างสูงมากขึ้นและบ่อยครั้งขึ้นทุกขณะ

รศ. ดร. แจสเปอร์ คุก และดร. อาเดเยมี อาเบบียี ผู้ร่วมทีมวิจัยของ UCLA บอกว่า การที่ตัวเลขประมาณการปริมาณฝุ่นหยาบในชั้นบรรยากาศคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จะทำให้การคำนวณตามแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ (climate model) เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดจากภาวะโลกร้อนไม่ถูกต้อง และจะทำให้ประเมินสภาพการณ์ในอนาคตในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ดร. อาเบบียีกล่าวว่า "ที่ไหนที่มีเมฆฝุ่นอยู่ อากาศโดยรอบมีแนวโน้มจะเกิดความปั่นป่วนมากขึ้น ซึ่งก็ยิ่งจะพัดพาฝุ่นหยาบให้ลอยอยู่ในอากาศได้นานเกินคาด และทำให้มันเดินทางไปได้ไกลจากจุดเดิมอีกหลายพันกิโลเมตร"

"สภาพการณ์เช่นนี้ ไม่ตรงกับที่นักวิทยาศาสตร์ระบุไว้ในข้อมูลพื้นฐานของแบบจำลองสภาพภูมิอากาศต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องปรับปรุงข้อมูลในส่วนของฝุ่นหยาบเสียใหม่ให้ถูกต้อง เพื่อให้แบบจำลองทำงานได้อย่างแม่นยำขึ้น"


https://www.bbc.com/thai/international-52382750

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 12:36


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger