กระดานข่าว Save Our Sea.net
มิถุนายน 01, 2024, 03:43:13 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม: วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม 2551  (อ่าน 3949 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
แมลงปอ
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 681


« เมื่อ: ธันวาคม 21, 2008, 07:11:00 AM »

กรมอุตุนิยามวิทยา

ลักษณะอากาศทั่วไป
 
     บริเวณความกดอากาศสูงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีหมอกเพิ่มมากขึ้น ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเป็นแห่งๆ อนึ่งบริเวณความกดอากาศสูงละลอกใหม่จะแผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันพรุ่งนี้ (22 ธ.ค. 51) ทำให้อุณหภูมิลดลง 1-3 องศาในระยะแรก 

คาดหมาย

     ในช่วงวันที่ 21-23 ธ.ค.บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น1-2 องศา โดยมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ส่วนคนลมในอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลงด้วย สำหรับในช่วงวันที่ 24-27 ธ.ค. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดอย่างชัดเจน โดยอุณหภูมิลดลง 3-5 องศาและมีลมแรง ส่วนคลื่นกระแสลมตะวันตกจะเคลื่อนตัวผ่านประเทศไทยตอนบนในช่วงวันที่ 25-26 ธ.ค. ทำให้ภาคเหนือมีฝนในระยะแรก จากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศา สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไปมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น คลื่นลมในอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร รวมทั้งจะมีคลื่นลมแรงพัดเข้าหาชายฝั่งด้วย
     
ข้อควรระวัง

     ในช่วงวันที่ 21-23 ธ.ค. ขอให้ประชาชนระวังอันตรายในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา ส่วนในช่วงวันที่ 24-27 ธ.ค. ขอให้ชาวเรือและชาวประมงในอ่าวไทยระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กในอ่าวไทยตอนล่าง ควรงดออกจากฝั่ง รวมทั้งขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามบริเวณชายฝั่งของภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงพัดเข้าหาชายฝั่งไว้ด้วย 
 
 
 

 
 
 
 
บันทึกการเข้า
แมลงปอ
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 681


« ตอบ #1 เมื่อ: ธันวาคม 21, 2008, 07:19:33 AM »

เดลินิวส์

หยุดโลกร้อน ด้วยเยื่อ...ใยเพื่อโลกของเรา




ใกล้จะสิ้นปี ย้อนไปตั้งแต่ต้นปีคนไทยและคนทั่วโลกตระหนักใส่ใจกับภาวะโลกร้อนอย่างกว้างขวาง หลายคนได้รับผลกระทบจากโลกร้อน ไม่ว่าจะพายุ น้ำท่วม ความแห้งแล้ง หรือการระบาดของเชื้อต่าง ๆ  ขณะเดียวกันหลาย ๆ คนก็กำลังหาทางช่วยกันเยียวยาโลกใบนี้ก่อนที่จะสายเกินไป 
 
สำหรับหลาย ๆ คน “กระดาษ” ถูกมองว่าเป็นตัวสร้างมลพิษ และทำลายป่า เพราะกระดาษผลิตจากต้นไม้ ไหนจะต้องใช้พลังงานมหาศาลในการย่อยและบดต้นไม้ ใช้ความร้อนในการต้ม ใช้สารเคมีและอื่น ๆ อีกมาก      มาย กว่าจะมาเป็นกระดาษขาวสะอาดให้เราใช้ ยิ่งพวกปฏิทิน หนังสือรายงานประจำปี และเอกสารบาง    อย่างที่มีอายุใช้งานเพียงปีเดียว ทำให้เกิดคำถามว่า เราใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่า  หรือยัง และหนึ่งในความพยายามที่จะช่วยหยุดโลกร้อนคือ “อีโคไฟเบอร์” นวัตกรรมล่าสุดในการผลิตกระดาษที่ช่วยลดโลกร้อนและมลพิษ
 
“อีโคไฟเบอร์” เยื่อ...ใย เพื่อสิ่งแวดล้อม (eco-fiber) ทำได้จากวัตถุดิบได้หลายชนิด ทั้งจากกระดาษใช้แล้ว ที่เรามักขายทิ้งให้รถซาเล้งนำมาต้มทำเยื่อใหม่เรียกว่า recycled fiber และจากผลผลิตทางการเกษตรซึ่งประเทศไทยมีอยู่มาก เช่น กากอ้อยจากอุตสาหกรรมน้ำตาล ฟางข้าว มันสำปะหลัง ที่นำมาผ่านกระบวนการทำความสะอาดและผลิตเป็นเยื่อเรียกว่า Agro Waste fiber


 
เมื่อนำเยื่อทั้งสองชนิดนี้มาผสมกัน และนำไปผ่านกระบวนการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงก็จะได้ อีโคไฟเบอร์ (eco-fiber) ที่สะอาด มีคุณภาพ
 
การผลิตอีโคไฟเบอร์ ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง เนื่องจากวัสดุใช้แล้วและวัสดุทางการเกษตร ย่อมมีการปนเปื้อน ทั้งหมึกพิมพ์หรือเขียน ฝุ่นละออง และสิ่งสกปรกต่าง ๆ ต้องมีการกำจัดสิ่งสกปรกเหล่านี้ออกให้หมด เพื่อให้อีโคไฟเบอร์ที่ได้มีความขาวสะอาดไม่ต่างจากเยื่อใหม่ ไม่เหมือนกระดาษรีไซเคิลยุคแรกที่มักเป็นกระดาษสีน้ำตาล ยุ่ย ๆ เนื้อไม่เรียบเนียน พิมพ์แล้วซึมเลอะอีกต่อไป   
 
นอกจากนี้จะต้องใช้เทคโน   โลยีเพื่อปรับปรุงคุณภาพเยื่อให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้อีโคไฟเบอร์มีความเหนียว คงทน สามารถดูดซับหมึกพิมพ์ได้ดี ไม่เลอะ และมีคุณภาพตามต้องการ
 
การผลิตเยื่อกระดาษใหม่จากวัสดุเหลือทิ้งหรือใช้แล้วนั้น เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพทางหนึ่ง และให้ประโยชน์ต่อโลกใน  หลาย ๆ ด้าน ถ้านับให้ดี เราจะเห็นประโยชน์ คือ การนำกระดาษใช้แล้วมารีไซเคิล ช่วยลดปริมาณขยะและ มลพิษ เคยมีการศึกษาว่า กระดาษที่เราทิ้งในสิ่งแวดล้อมนั้น ต้องอาศัยเวลา 2-5 เดือนจึงจะย่อยสลายได้ แต่เมื่อเรานำมาทำเยื่อรีไซเคิล ปริมาณกระดาษหรือขยะที่ถูกปล่อยให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ หรือถูกเผาก็จะลดน้อยลง ขณะเดียวกันเศษจากผลผลิตทางการเกษตร เมื่อนำมาใช้ผลิตอีโคไฟเบอร์ ก็ช่วยลดขยะได้มากเช่นกัน
 
สิ่งสำคัญมากต่อสิ่งแวดล้อมคือ คือ ช่วยรักษาต้นไม้ เพราะเยื่อกระดาษอีโคไฟเบอร์ 1 ตัน ช่วยเรารักษาต้นไม้ได้ถึง 5 ตัน แม้จะเป็นต้นไม้ที่ปลูกขึ้นเพื่อทำกระดาษโดยเฉพาะ ไม่ใช่ต้นไม้จากป่าที่เป็นต้นน้ำก็ตาม ต้นไม้ที่ถูกรักษาไว้นี้จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ขณะเดียวกัน ต้นไม้ก็เพิ่มออกซิเจน รักษาความชื้น ความสมดุลและระบบนิเวศตามธรรมชาติได้อีกด้วย
 
นอกจากนี้ การผลิตกระดาษจากเยื่อรีไซเคิล เราสามารถลดพลังงาน และทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตได้มาก ทั้งกระแสไฟฟ้าซึ่งจะลดลงได้ประมาณ 1,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ขณะที่การทำเยื่อใหม่ใช้ไฟฟ้าโดยเฉลี่ย 4,100 กิโลวัตต์ ต่อชั่วโมง
 
เนื่องจากขั้นตอนในการผลิตจะลดลงเพียงนำกระดาษรีไซเคิลมาต้มด้วยความร้อนที่ไม่ต้องสูงหรือไม่ต้องต้มนานเหมือนตอนต้มต้นไม้ใหม่ เราจึงสามารถลดปริมาณน้ำมันเตา ลดการใช้น้ำ ลดปริมาณน้ำเสียที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารฟอกสี ทั้งยังช่วยลดการนำเข้ากระดาษจากต่างประเทศ ลดขยะกระดาษ และลดค่ากำจัดขยะได้อีกมาก


 
แน่นอนว่า การผลิตอีโคไฟเบอร์ ย่อมต้องมีต้นทุนที่สูงกว่าการผลิตกระดาษปกติ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้มีความก้าวหน้ากว่า แต่นั่นก็เป็นแค่ต้นทุนในแง่ของตัวเลข หากเราจะพิจารณาต้นทุนในเชิงสังคม สิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบ จะพบว่าคุ้มค่ากว่าในระยะยาว
 
เชาวลิต เอกบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจกระดาษ เครือซีเมนต์ไทย (เอสซีจี เปเปอร์) บริษัทผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่ และเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตกระดาษจากเยื่ออีโคไฟเบอร์กล่าวว่า “อยากให้คนหันมาใช้กระดาษรีไซเคิลเยอะ ๆ และไม่ได้มองเพียงว่านี่คือสินค้าประเภท “กรีน” อย่างหนึ่ง แต่เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองโดยคำนึงถึง Green Process มากขึ้น คือต้องพิจารณาว่า กระดาษรีไซเคิลที่พวกเขาเลือกซื้อมาจากไหน ในแต่ละขั้นตอนการผลิต กระดาษรีไซเคิลทำประโยชน์ให้กับส่วนไหนของสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของไทยบ้าง”
 
เพียงแค่นี้ เราทุกคนก็มีส่วนร่วมในการชะลอการเกิดภาวะโลกร้อนลงได้ และถ้าทุกคนตระหนักว่าทุกการกระทำของเราล้วนมีผลต่อสิ่งแวดล้อม หันมาเริ่มต้นเปลี่ยนพฤติกรรมจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การใช้หรือทิ้งกระดาษด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โลกของเราก็จะยังคงน่าอยู่ต่อไปได้อีก.



ลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนา
 

 
บีบีซีนิวส์ได้เผยสรุปรายงานของนักวิชาการว่า ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
 
ซึ่งเป็นรายงานในการประชุมนานาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การ    สหประชาชาติ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่เมืองปอซนัน ประเทศโปแลนด์ ระหว่างวันที่ 1-12 ธ.ค. 51 ที่ผ่านมา
 
คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ “ไอพีซีซี” ได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่าทั่วโลกจะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือน  กระจกลงครึ่งหนึ่งของปริมาณในปี 2533 ให้ได้ภายในปี 2593 ซึ่งน่าจะช่วยให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นอีกไม่เกิน 2.5 องศาเซลเซียส และหลีกเลี่ยงมหันตภัยอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้
 
กลุ่มประเทศอุตสาห  กรรมในจี 8 ยอมรับในมติดังกล่าว ขณะที่บางประเทศ เช่น อังกฤษยังคงต้องการรักษาระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตนภายในปี 2593 ให้ลดลง 80% จากปี 2533
 
องค์กรประเทศโลกที่ 3 ได้ประเมินพบว่าหากว่ากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมเห็นชอบกับมตินี้ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 23% เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่จะลดลงได้ 50% ทั่วโลก และเมื่อคิดเฉลี่ยต่อหัวแล้วแต่ละคนจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ประมาณ 60%
 
และหากประเทศกำลังพัฒนาทำได้ จะทำให้ค่าเฉลี่ยต่อหัวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีอัตราคงที่เท่ากับในปี 2533 ซึ่งการเติบโตของประชากรนั้นจะส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมทั้งหมดของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปี 2593 ซึ่งเป็นปัญหาอย่างยิ่งต่อเป้าหมายที่วางไว้
 
และหากขาดความร่วมมือในหมู่ประชาชน โอกาสที่จะทำสำเร็จก็ยากเช่นกัน.

 

 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 21, 2008, 08:01:57 AM โดย แมลงปอ » บันทึกการเข้า
แมลงปอ
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 681


« ตอบ #2 เมื่อ: ธันวาคม 21, 2008, 07:40:54 AM »

มติชน

เหลือเชื่อ ฝูงแมวช่วยเด็กน้อยพ้นอากาศหนาวเหน็บ เลียน"เมาคี"ลูกหมาป่า



ทึ่ง ฝูงแมวช่วยเด็กน้อยวัยเบาะแบ ขณะนอนหนาวบนถนน ช่วยประคบประคองให้ความอบอุ่นและให้อาหาร ก่อนตำรวจพบภาพอันสุดทึ่ง

หนังสือพิมพ์เดอะซันรายงานเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ว่า เกิดเหตุเหลือเชื่อ เมื่อฝูงแมวจำนวนหลายตัวได้ช่วยกันเลี้ยงเด็กน้อยรายหนึ่ง บนถนน ในเมืองมิซิโเนส ประเทศอาร์เจนติน่า ท่ามกลางอากาศที่หนาบเหน็บ โดยพวกมันได้ช่วยกันให้ความอบอุ่นแก่เด็กน้อยผู้นี้ ต่างขึ้นไปนั่งบนร่าง และยังเลียร่างกายของเขาซึ่งอยู่ในสภาพเนื้อตัวสกปรกด้วย

รายงานระบุว่า ในเวลาต่อมา ตำรวจหญิงนามอลิเซีย ลินด์วิช ได้พบร่างเด็กน้อยดังกล่าว พร้อมกับภาพอันน่ามหัศจรรย์ และได้นำร่างเด็กดังกล่าวส่งโรงพยาบาล โดยแพทย์บอกว่า เขาอาจตายได้เพราะความหนาวเหน็บ แต่เคราะห์ดีที่ได้พวกฝูงแมวดังกล่าวด้วยไว้ ขณะที่ตำรวจหญิงอลิเซีย บอกว่า หะแรกเธอสังเกตเห็นฝูงแมวนั่งใกล้ชิดกันและกัน โดยเป็นภาพที่ผิดปกติ และจะเพ่งดูชัด ๆ และพบภาพพวกมันกำลังเลี้ยงเด็กน้อยรายหนึ่งอยู่ และเมื่อเธอพยายามเดินเข้าไปหาเด็ก พวกมันยังขู่ฟ่อเพื่อป้องกันเด็กน้อยผู้นี้ด้วย
บันทึกการเข้า
แมลงปอ
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 681


« ตอบ #3 เมื่อ: ธันวาคม 21, 2008, 07:50:11 AM »

ปลื้มเยาวชนไทย รัก(ษ์)ควายไทย



ครั้นในอดีต วัว ควายเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความสำคัญต่อชุมชน ทั้งการใช้งาน ผลิตปุ๋ยคอก อีกทั้งยังเป็นพาหนะอำนวยความสะดวกในการเดินทางคมนาคมขนส่ง แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตเปลี่ยนไป วัว ควายถูกลดความสำคัญลง เยาวชนรุ่นหลังแทบจะไม่รู้จักวัว ควายกันแล้ว เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) จัดทำโครงการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ร่วมไถ่ชีวิตโค กระบือ ถวายเป็นพระราชกุศล เป็นของขวัญให้พ่อของแผ่นดิน พร้อมรณรงค์สอนเด็กไทยให้รักษ์วัวและควาย
 
อย่างเช่นครอบครัวของนางสาวนงลักษณ์ จงกฎ และนางสาวนงเยาว์ จงกฎ สองพี่น้องแทนที่จะใช้เวลาว่างไปเล่นกับเพื่อนๆ แต่กลับเอาเวลาเหล่านี้มาช่วยพ่อเลี้ยงวัว ด้วยการออกไปเกี่ยวหญ้าให้วัวกิน พาวัวออกไปกินหญ้าในทุ่ง ทำความสะอาดคอกวัว เก็บขี้วัวไปทำปุ๋ย ซึ่งทั้งสองสาวไม่รู้สึกว่าการเลี้ยงวัวเป็นภาระหนัก หรือสูญเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีทำให้ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับครอบครัวทำให้ทุกคนในครอบครัวมีความรักใคร่กลมเกลียวกันมากขึ้น


 
ไม่ต่างจากเด็กชายธรีระวัฒน์ พรหมศรี เด็กน้อยวัยเพียง 10 ขวบ ที่มักจะใช้เวลาว่างที่มีอยู่ทั้งหมดไปกับการเลี้ยงวัวทุกวันหลังเลิกเรียนและวันหยุด เมื่อทำเป็นประจำจึงรู้สึกเป็นเรื่องที่สนุกไม่น่าเบื่อจนกลายเป็นความผูกพันและรู้สึกหวงแหนวัวที่เลี้ยง

"ที่บ้านเลี้ยงควายไว้ 3 ตัว ซึ่งปกติพ่อกับแม่จะเป็นคนเลี้ยง แต่ทุกเย็นหลังเลิกเรียนเมื่อกลับถึงบ้านตัวเองก็จะเป็นคนเกี่ยวหญ้าให้ควายกิน ส่วนวันหยุดก็จะจูงควายไปกินหญ้าในท้องทุ่งท้องนาทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันกับควาย และคิดว่าเมื่อโตขึ้นต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯก็จะเอาควายมาเลี้ยงด้วย" ความรู้สึกที่แสนจะบริสุทธิ์ของเด็กชายจีรวัฒน์ แสวงทรพย์ หรือ อี๊ด

ร่วมปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ วัว ควาย ก่อนที่พวกมันจะหมดไปจากประเทศไทย
บันทึกการเข้า
แมลงปอ
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 681


« ตอบ #4 เมื่อ: ธันวาคม 21, 2008, 07:53:28 AM »

ดอยอินทนนท์ สถานีเรดาร์ และการหายไปของข้าวตอกฤๅษี  โดย วันชัย ตัน


 
ปีนี้อากาศหนาวมาเยือนเร็ว

อาทิตย์ที่ผ่านมาผมกับพรรคพวกฝ่าลมหนาวขึ้นไปสำรวจป่าบนอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

บ่ายวันนั้นเราเดินสำรวจอ่างกาหลวงบนยอดดอย ตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งออกแบบโดยคุณไมเคิล แมคมิลแลน วอลซ์ นักสัตววิทยาและอาสาสมัครชาวแคนาดาประจำอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ทำงานทุ่มเทให้กับอินทนนท์ และได้เสียชีวิตที่นี่ด้วยโรคหัวใจ

คนที่เคยมาอ่างกาหลวงคงจะนึกภาพออกว่า เป็นบริเวณที่ดูคล้ายกับป่าดึกดำบรรพ์ อากาศหนาวเย็น ชุ่มชื้น มีหมอกปกคลุม ต้นไม้ขนาดใหญ่มีเฟิร์นและมอสเกาะเต็มไปหมด ขณะที่พื้นล่างเจิ่งนองไปด้วยน้ำขังตลอดปี มีข้าวตอกฤๅษี มอสขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งขึ้นเต็มไปหมด

อ่างกาหลวงเป็นแอ่งน้ำซับพื้นที่สิบกว่าไร่ เป็นป่าพรุอยู่สูงที่สุดในประเทศ มีน้ำไหลตลอดปีจากความชุ่มชื้นของป่าที่อยู่ระดับเมฆ และเป็นต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำปิง

นักท่องเที่ยวนิยมมาชื่นชมความงามของข้าวตอกฤๅษี ลำต้นอวบน้ำสีขาวออกเขียว ส่วนยอดเป็นสีแดง เก็บน้ำไว้มหาศาล เป็นพืชที่ขึ้นยากมาก เพราะขึ้นได้เฉพาะอากาศเย็น ต้องการความชื้นสูงในระดับความสูงตั้งแต่ 2,000 เมตรขึ้น

แต่ครั้งนี้เราพบความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน ข้าวตอกฤๅษีหายไปเยอะมาก ต้นที่เหลืออยู่มีสภาพเหี่ยวแห้ง ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม เฟิร์นและมอสที่เคยปกคลุมตามลำต้นไม้ใหญ่สังเกตได้ชัดว่าแห้งตายไปมาก ต้นกุหลาบพันปีลดจำนวนลง และต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่หนาแน่นล้มตายลงไปเยอะ จนมองเห็นสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศที่โผล่ขึ้นมาอยู่ใกล้ๆ

เป็นสิ่งแปลกปลอมขนาดยักษ์บนยอดดอยสูงแห่งนี้

เพื่อนที่เป็นนักธรรมชาติวิทยาเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงบนยอดดอยอินทนนท์มาหลายปีเล่าให้ฟังว่า ขนาดเป็นฤดูหนาว ข้าวตอกฤๅษียังมีสภาพทรุดโทรมถึงเพียงนี้ หากผ่านไปถึงตอนฤดูร้อนไม่รู้ว่าพืชแถวนี้อนาคตจะเป็นอย่างไร

ความเสื่อมกำลังมาเยือนยอดดอยอินทนนท์แล้ว

อันที่จริงข้าวตอกฤๅษีคือตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำบริเวณนี้ ช่วงที่ผ่านมามีการใช้น้ำบนยอดดอยกันเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศ ร้านขายของที่ระลึก ร้านขายอาหาร ห้องน้ำ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว หน่วยงานเหล่านี้ต่างเร่งสูบน้ำจากอ่างกาหลวงไปใช้ในงานของตัวเองอย่างหนัก ทำให้ความชุ่มชื้นบริเวณนี้ลดลงไปเรื่อยๆ แน่นอนว่าข้าวตอกฤๅษีที่เคยอวบอิ่มน้ำ ก็ค่อยๆ เหี่ยวแห้งลงไปเรื่อยๆ

เสียงมอเตอร์จากเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ส่งเสียงดังตลอดเวลา จนนึกไม่ถึงเลยว่า เรากำลังอยู่บนยอดเขาสูงที่สุดในประเทศ ระดับความสูง 2,565 เมตร ซึ่งควรจะเงียบ สงบ ฟังเสียงนกร้องและสัมผัสกับธรรมชาติอย่างเต็มที่

เพื่อนบอกว่าลำพังสถานีเรดาร์แห่งนี้ มีพื้นที่มากกว่าอ่างกาหลวงเสียอีก มีผู้อยู่อาศัยมากถึง 300 คน ปริมาณการใช้น้ำจึงสูงมาก ซึ่งไม่แน่ใจว่ากองทัพอากาศมีความจำเป็นเพียงใดที่ต้องใช้ผู้คนมากมายดูแลสถานีเรดาร์เพียงแห่งเดียว หรือภายในซึ่งเป็นเขตทหารห้ามเข้า มีบ้านพักตากอากาศ สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรับรองบุคคลระดับวีไอพีเท่านั้น

สถานีเรดาร์แห่งนี้สร้างขึ้นมาสามสิบกว่าปีแล้ว สมัยที่ทหารมีอิทธิพลทางการเมือง แม้จะมีเสียงคัดค้านจากนักอนุรักษ์ในสมัยนั้น เพราะเป็นการทำลายป่าต้นน้ำอย่างรุนแรง แต่ผู้มีอำนาจสมัยนั้นก็ไม่ฟังเสียง อ้างอย่างเดียวว่า เพื่อความมั่นคงของชาติ และในยุคของสงครามเย็นที่เรากลัวคอมมิวนิสต์ขึ้นสมอง กลัวภัยคุกคามจากจีนแผ่นดินใหญ่ ต้องมีสถานีเรดาร์ทางตอนเหนือเพื่อคอยตรวจตราสังเกตการเคลื่อนไหวของข้าศึกตอนบน ด้วยการชี้นำของทหารอเมริกัน ที่เข้ามาตั้งฐานทัพในบ้านเราและเป็นนายใหญ่ของรัฐบาลไทยในเวลานั้น

ตามความเป็นจริงบนยอดดอยสูงแห่งนี้ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำสำคัญที่สุดของประเทศ ไม่ควรจะมีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ตั้งอยู่เลย แต่ดูเหมือนการอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติ กลายเป็นยาครอบจักรวาลที่ทหารจะมีสิทธิล้อมรั้วทำอะไรก็ได้ในแผ่นดินนี้

วันนี้หลายอย่างเปลี่ยนไป ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง ความขัดแย้งระหว่างประเทศได้เปลี่ยนไปแล้ว ถึงเวลาคิดใหม่หรือยังว่า จำเป็นต้องมีสถานีเรดาร์บนยอดเขาสูงสุดของประเทศที่เป็นป่าต้นน้ำสำคัญหรือไม่

หากให้เลือกระหว่างต้นข้าวตอกฤๅษีกับสถานีเรดาร์ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่อาจจะเลือกประการหลังเพื่อความมั่นคงของชาติ

แต่ถ้าการหายไปของข้าวตอกฤๅษีคือสัญญาณเตือนภัยว่าหายนะของป่าต้นน้ำกำลังมาเยือน

บางทีการอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติ เพียงประการเดียว อาจจะต้องถึงเวลาทบทวนอย่างจริงจัง

บันทึกการเข้า
แมลงปอ
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 681


« ตอบ #5 เมื่อ: ธันวาคม 21, 2008, 07:56:50 AM »

ก๊าซหุงต้มจากขี้วัว โดย โครงการแผนจัดทำพลังงานชุมชน กระทรวงพลังงาน



บ่อแก๊สชีวภาพ

ในสภาพชุมชนขนาด 8 หมู่บ้าน 1,200 ครัวเรือน ประชากรราว 4,000 คน ของตำบลพลกรัง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ชุมชนเกษตรกึ่งอุตสาหกรรม ที่ส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตร ทำนา ปลูกผัก ปลูกมันสำปะหลัง และปศุสัตว์ขนาดเล็ก ชุมชนนี้เข้ามาร่วมโครงการแผนพลังงานชุมชนเมื่อปี 2550 ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำมันแพงกันถ้วนหน้า จึงนับเป็นโอกาสดีที่ทำให้ชุมชนนี้ตื่นตัวและสนใจเรื่องพลังงานทดแทน โดยมี อบต.พลกรัง และแกนนำจากหลายหมู่บ้าน เดินหน้าทำเป็นตัวอย่าง

การทำก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ คือหนึ่งเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่ชาวพลกรังที่ส่วนหนึ่งราว 80 ครัวเรือน เลี้ยงวัวเนื้อ วัวนม เป็นปศุสัตว์ขนาดเล็กอยู่ในบ้านตั้งแต่ 3-10 ตัว และมีมูลที่ต้องกำจัดทุกวันนั้นเอามาแปลงเป็นก๊าซชีวภาพใช้ในครัวเรือนแทนก๊าซหุงต้มที่ต้องซื้อ

อย่างเช่น ที่บ้านของนายสุนทรและนางประกอบ สุวรรณปักษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.พลกรัง เป็นต้นแบบการทำก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ใช้ในครัวเรือนแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม และใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงมากว่า 2 ปี และแม้ว่าตอนนี้ราคาน้ำมันจะถูกลงกว่าช่วงที่ผ่านมา ผู้ใหญ่สุนทรก็ยืนยันว่าจะไม่กลับไปใช้ก๊าซหุงต้มที่ต้องซื้ออีก ด้วยพิสูจน์แล้วว่าครอบครัวประหยัดไปได้มากในหลายๆ เรื่องจากผลพลอยได้ที่เกิดขึ้น และตอนนี้ก็มีอีกกว่า 8-10 ครอบครัวที่ทำเหมือนกับตน

ผู้ใหญ่สุนทรบอกว่า ตอนนี้ที่บ้านมีวัวอยู่ราว 7 ตัว ก่อนหน้านี้ทางสำนักงานส่งเสริมการเกษตรเข้ามาส่งเสริมให้ทำโครงการบ่อหมักก๊าซชีวภาพ ซึ่งในการทำให้ได้ผลต้องดูแลใส่ใจ ต้องเติมมูลทุกวันและคอยสังเกตไม่ให้เกิดการรั่วซึม ซึ่งจะมีผลต่อปริมาณการเกิดก๊าซที่จะเอามาใช้ประโยชน์ แต่ในช่วงนั้นเรายังไม่รู้สึกว่าราคาน้ำมันมีผลกระทบกับชีวิตมากจึงไม่ได้ทำต่อเนื่อง ทำให้บ่อตาย แต่เมื่อกระทรวงพลังงานมีโครงการมาและทำให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้จึงกลับมาทำอีกครั้งและก็พบว่า ช่วยประหยัดได้จริงๆ และไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก เช้าขึ้นมาเราเอามูลจากคอกสัตว์ซึ่งก็ต้องกำจัดทำความสะอาดอยู่ทุกวัน เอามาเติมบ่อหมักก๊าซชีวภาพสัก 2-3 ถังเล็กๆ ส่วนที่เหลือก็เอาไปทำปุ๋ยไว้ใช้ในแปลงนาในสวนได้อีก ทุ่นค่าก๊าซหุงต้มที่ทุกวันนี้ไม่ต้องซื้อมาใช้เลย เพราะก๊าซชีวภาพจากบ่อหมักที่ได้นั้นเพียงพอสำหรับการทำอาหารในแต่ละมื้อ เวลาประมาณ 45-90 นาที ทำให้ครอบครัวมีรายได้มากขึ้น และยังแก้ปัญหากลิ่นจากมูลสัตว์ที่เคยรบกวนเพื่อนบ้านได้ด้วย

นายชู พฤฒิวณิชย์กุล นายก อบต.พลกรัง กล่าวว่า โครงการแผนพลังงานชุมชน เข้ามาเป็นตัวช่วยทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ใกลัตัว ทำให้เห็นทางเลือกในการจัดการด้านพลังงานสำหรับชุมชน ส่งผลให้ชาวบ้านตื่นตัวเรื่องพลังงาน มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น และรู้ว่าจะสร้างพลังงานทดแทนขึ้นมาใช้เองได้อย่างไร และตอนนี้เราก็มีต้นแบบอยู่ในหลายหมู่บ้านและกำลังขยายไปสู่โรงเรียน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องการทำพลังงานทดแทนด้วย

"ที่เราภูมิใจคือ หลายหน่วยงานเข้ามาช่วยกันทำทั้งเกษตรที่มาทำเรื่องบ่อหมักก๊าซชีวภาพอยู่แล้ว ต่อมาพลังงานจังหวัดก็เข้ามาช่วยเรื่องเทคโนโลยี ด้านความรู้ เทคนิควิธีการทำต่างๆ ให้เกิดผลขึ้นมา รวมทั้งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนก็มาช่วยด้วย เช่น การทำบ่อหมักก๊าซชีวภาพก็เป็นการเข้ามาสนับสนุนเงินทุนร่วมกันทั้ง อบต.และหน่วยงานอื่น รวมทั้งตัวเจ้าของบ้านที่จะเป็นต้นแบบ เพื่อให้มีความเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่ใช่การให้เปล่า ตอนนี้พฤติกรรมของคนในชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว เช่น กลุ่มปลูกผัก ก็ใช้ปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยชีวภาพ ถือเป็นการจัดการสิ่งแวดล้อมไปด้วย และการทำเรื่องพลังงานทดแทนจะทำให้เป้าหมายของ อบต. ที่อยากส่งเสริมการทำเกษตรชีวภาพในพื้นที่นั้นเกิดขึ้นได้ในระยะต่อไป โดยปีนี้จะส่งเสริมการใช้ก๊าซชีวภาพ และการอบรมสร้างวิทยากรท้องถิ่นให้มากขึ้น" นายชูกล่าว

นายจักรี ศรีพนม นักวิชาการ ประจำสำนักงานพลังงานจังหวัดนครราชสีมา ผู้รับผิดชอบโครงการแผนพลังงานชุมชน กล่าวว่า หลังจากชาวบ้านมีความเข้าใจเรื่องพลังงานมากขึ้น และมั่นใจที่จะนำทรัพยากรที่มีมากในบ้านในชุมชนมาทำพลังงานทดแทนขึ้นใช้เอง และยิ่งมีคนมาดูงานมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้พวกเขายิ่งรู้สึกภาคภูมิใจและมุ่งมั่นที่จะทำอย่างจริงจังต่อไปจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และยินดีบอกต่อ สอนให้คนอื่นได้ทำเป็น จุดแข็งของชุมชนกับเรื่องพลังงาน ส่วนหนึ่งคือผู้บริหารของชุมชน โดยตัวนายก อบต. และแกนนำ เห็นประโยชน์และทำจริง สู้ไม่ถอย แม้บางช่วงจะเกิดปัญหา ก็พยายามปรับปรุง แก้ไขจนประสบความสำเร็จ และเกิดการยอมรับ

วันนี้กิจกรรมพลังงานทดแทนที่เกิดขึ้น และเทคโนโลยีพลังงานที่ชุมชนนำไปใช้ กำลังขยายผลสร้างการเปลี่ยนแปลงขึ้นในหลายหมู่บ้านของตำบลพลกรัง ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์แต่จะไม่ฟุ่มเฟือยเรื่องพลังงาน


บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.061 วินาที กับ 19 คำสั่ง