กระดานข่าว Save Our Sea.net
มีนาคม 29, 2024, 01:04:30 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: อันตรายจากสัตว์ทะเล  (อ่าน 3364 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« เมื่อ: มีนาคม 04, 2009, 01:05:04 AM »


อันตรายจากสัตว์ทะเล                    :              วินิจ รังผึ้ง



       สัปดาห์ที่แล้วผมได้เขียนถึงข้อปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัยในการดำน้ำแบบสนอร์เกิ้ลกันไปแล้ว ก็เลยอยากจะนำเสนอเรื่องอันตรายจากสัตว์ทะเลให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกัน เผื่อว่าร้อนนี้ไปเที่ยวทะเลก็จะได้ระมัดระวัง ไม่ไปจับต้องหรือไปสัมผัส
       
       แต่ก็ไม่ได้เขียนให้อ่านเพื่อให้ท่านกลัวทะเล ไม่ยอมไปเที่ยวทะเลกันนะครับ เพราะสัตว์ทะเลที่อาจจะมีอันตรายต่อคนนั้น เกือบทั้งหมดไม่ใช่สัตว์ดุร้ายอะไร ไม่ใช่พวกเห็นนักดำน้ำนักว่ายน้ำแล้วก็รี่เข้าจู่โจมทำร้ายทันที แต่สัตว์ทะเลเหล่านี้มักจะมีเขี้ยว มีฟัน มีเข็มพิษ หรือต่อมพิษไว้เพียงเพื่อการปกป้องตัวเองเท่านั้น ถ้าเรามีความระมัดระวัง ไม่เข้าไปจับต้องหรือเข้าไปคุกคามรุกรานมันแล้ว โอกาสที่จะได้รับอันตรายจากสัตว์เหล่านี้มีน้อยมาก เรียกว่ามีความเสี่ยงอันตรายน้อยกว่าข้ามถนน หรือเดินเข้าซอยเปลี่ยวในกรุงเทพฯเสียอีก
       
       เราลองมาดูสัตว์ทะเลที่อาจจะเป็นอันตรายกันทีละชนิดดีกว่า เริ่มจากปลาเป็นอันดับแรกโดยถ้าถามว่าปลาอะไรที่น่าจะเป็นอันตรายต่อคนที่ลงไปว่ายน้ำในทะเลมากที่สุด แน่นอนคนส่วนใหญ่ต้องตอบว่า “ฉลาม” แต่ก็โชคดีว่าฉลามในทะเลบ้านเรานั้น ไม่ค่อยดุร้ายเหมือนฉลามขาวแถวๆออสเตรเลีย จะมีที่น่าเกรงขามอยู่บ้างก็ฉลามเสือ ฉลามหัวค้อน แต่ก็แทบจะไม่เคยได้มีโอกาสเห็นตัวในแหล่งดำน้ำหรือแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลทั่วๆไปอันแล้ว เพราะฉลามทั้งสองชนิดก็เกือบๆจะสูญพันธุ์จากทะเลไทยอยู่แล้ว
       
       ส่วนฉลามชนิดอื่นๆ ก็เป็นฉลามที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ไม่ค่อยกล้าเข้ามาใกล้ผู้คนหรือนักดำน้ำ และเมืองไทยของเราก็ยังไม่เคยมีรายงานว่านักท่องเที่ยวนักดำน้ำรายใดเคยได้รับอันตรายจากฉลามแม้แต่รายเดียว ฉลามจึงไม่ใช่ปลาที่มีอันตรายสำหรับทะเลไทยของเราก็ว่าได้
       
       สำหรับปลาอื่นๆที่นักดำน้ำอาจจะมองข้ามไป แต่ก็มีนักดำน้ำบางรายเคยโดยฟันอันแหลมคม โดนเขี้ยวของปลาเหล่านี้งับมาแล้ว เช่น ปลาไหลมอเรย์ ปลากะพงขนาดใหญ่ หรือปลาวัวซึ่งส่วนใหญ่จะโดนงับมือขณะนำอาหารพวกปลาสดไปป้อนแล้วมือยังมีกลิ่นคาวปลาสดติดอยู่ ปลาเหล่านี้จึงงับนิ้วเข้าให้ นอกจากปลาประเภทที่มีฟันแหลมคมแล้วก็ยังมีปลาประเภทที่มีเงี่ยงแหลมคมเช่นปลากระเบนที่มีเงี่ยงแหลมอยู่บริเวณโคนหาง ซึ่งส่วนใหญ่ที่เป็นอันตรายมักจะเป็นกระเบนขนาดเล็กเท่าๆฝ่ามือหรือโตขนาดจานข้าวที่ชาวประมงเรียกว่า “ปลาจ้งม้ง” ซึ่งชอบนอนกลบทรายตามน้ำตื้น เมื่อคนเดินเล่นในชายหาดตื้นๆไปเหยียบเข้าก็จะตวัดหางแทงเข้าที่เท้าจนเจ็บปวดแสนสาหัส เพราะเงี่ยงของมันนอกจากแหลมคมแล้วยังมีพิษอีกด้วย
       
       ส่วนกระเบนดำ กระเบนลายหินอ่อนที่ตัวโตๆ ก็จะมีเงี่ยงแหลมยาว ซึ่งหากนักดำน้ำที่ไม่รู้ เห็นตัวแบนๆ นอนนิ่งๆบนพื้นทรายคิดว่าไม่มีพิษสงอะไรแล้วเข้าไปจับเข้าไปกอดด้วยความรักหรือความคึกคะนอง ก็จะถูกมันตวัดหางแทงเข้ากลางลำตัวแถวๆปอด หัวใจ หรือช่องท้อง จนอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่หากไม่เข้าไปรุกราน ไม่เข้าไปยุ่งกันมัน ก็รับรองว่าปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนเจ้ากระเบนยักษ์ใหญ่อย่างกระเบนราหูนั้นเป็นกระเบนที่ไม่มีพิษภัย เพราะไม่มีเงี่ยงพิษเหมือนกระเบนอื่นๆ
       
       นอกจากกระเบนแล้ว พวกปลาที่มีเงี่ยงมีเข็มพิษที่ต้องระมัดระวังไม่เข้าไปแตะต้องก็ยังมีปลาหิน ปลาแมงป่อง ปลาสิงโต ปลาดุกทะเล เป็นต้นปลาพวกนี้ถ้าไม่ตั้งใจไปจับก็ยากที่จะโดน เพราะมันก็มักจะหนีถ้าเราเข้าไปใกล้ๆ

 
 
       ปะการังไฟ ไฮดรอยด์ ดอกไม้ทะเล ก็ล้วนเป็นสัตว์ทะลที่มีเข็มพิษ เมื่อร่างกายมนุษย์ไปสัมผัส มันจะยิงเข็มพิษเล็กๆ เข้าใส่ทันที ผู้ที่สัมผัสจะเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน บางชนิดอาจถึงขั้นไหม้ วิธีรักษาให้ใช้น้ำส้มสายชูราดบนแผล ฤทธิ์ของน้ำสมสายชูจะสามารถหยุดยั้งพิษของสัตว์ทะเลเหล่านี้ได้ เช่นเดียวกับแมงกะพรุน ซึ่งบริเวณหนวดของแมงกะพรุนจะมีเข็มพิษที่เรียกว่า นีมาโตซีส (Nematocyst) เข็มพิษเหล่านี้มีไว้สำหรับยิงปลาเล็กๆให้ช็อคแล้วจับกินเป็นอาหาร พิษของแมงกะพรุนแต่ละชนิดจะมีความรุนแรงแตกต่างกัน
       
       เมื่อพบแมงกะพรุนขณะเล่นน้ำหรือดำน้ำ ควรว่ายหลบแมงกะพรุนทางด้านหัวหรือด้านหมวก เพราะการหลบหรือว่ายตัดทางด้านปลายหนวด อาจจะโดนหนวดของแมงกะพรุนที่มีเข็มพิษอยู่มากมาย ซึ่งบางชนิดหนวดจะใสจนมองไม่เห็นและมีความยาวมากเป็นเมตรๆเลยทีเดียว วิธีการรักษาเมื่อโดนแมงกะพรุนก็คือรีบขึ้นจากน้ำ แล้ววักน้ำทะเลล้างบริเวณบาดแผล หรือใช้ผ้าชุบน้ำทะเลค่อยๆลูบบริเวณที่โดนเพื่อกำจัดหนวดเล็กๆใสๆให้หลุดออกไป จากนั้นให้ใช้น้ำส้มสายชูเข้มข้นราดที่บาดแผล หรือจะใช้น้ำอุ่นที่ค่อนข้างร้อนเท่าที่จะทนได้ราดลงบริเวณบาดแผล เพราะจะทำให้พิษของแมงกะพรุนเสื่อมสภาพหรือลดความรุนแรงลงได้ด้วยสิ่งต่างๆข้างต้น
       
       หรือหากเป็นตำราพื้นบ้านก็จะใช้ผักบุ้งทะเลทั้งใบ ยอด ก้านมาตำบดให้ละเอียดจนเป็นยางโปะที่บาดแผล หากมีความเจ็บปวดบริเวณบาดแผลมากให้ใช้ยาบรรเทาปวด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อจะได้ให้ยารักษาบาดแผล และบางรายอาจมีอาการแพ้มากจนเกิดอาการแน่นหน้าอกหายใจขัด หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือพิษไปกดประสาทจนหัวใจหยุดเต้นได้ จึงไม่ควรประมาท
       
       เม่นทะเล ก็สร้างความเจ็บปวดให้นักดำน้ำกันบ่อยๆ เมื่อโดนหนามของเม่นทะเลตำ จะเจ็บปวดในทันที แต่สักระยะหนึ่งร่ายกายของเราก็จะละลายพิษของหนามหอยเม่นให้สลายไปเอง การรักษาพยาบาลนั้นอาจจะใช้วิธีทุบที่แผลซึ่งจะมีหนามดำๆของเม่นทะเลหักคาอยู่เพื่อให้หนามแหลกละเอียดช่วยให้พิษสลายเร็วขึ้น และใช้น้ำส้มสายชู มะนาว หรือน้ำอุ่นจัดๆ ราดหรือประคบบริเวณที่โดน ราวชั่วโมงเศษๆก็จะบรรเทาเบาบางลงไป
       
       งูทะเล งูทะเลทุกชนิดล้วนมีพิษทั้งสิ้น และเป็นพิษที่มีความรุนแรงกว่างูบก ดังนั้นจึงไม่ควรเข้าไปจับ หรือเข้าไปใกล้ แต่โดยปรกติงูทะเลจะมีนิสัยรักสงบ ไม่ดุร้าย ไม่ก้าวร้าว ว่ายหากินไปตามปะการัง โขดหิน หรือถ้ำใต้ทะเล เมื่อพบงูทะเลไม่ต้องตกใจ เพียงหลบออกมาให้ห่างหรือไม่เข้าไปดึงหางเล่นก็เป็นพอ
       
       หอยเต้าปูน นับเป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นหอยฝาเดียวเปลือกมีลวดลายสวยงาม ด้านปลายล่างของหอยชนิดนี้ จะมีงวงโผล่ออกมา งวงนี้จะมีเข็มพิษที่สามารถยิงออกมาได้คล้ายกับฉมวก เมื่อใครไปแตะต้องก็อาจจะถูกฉมวกยิงใส่มีพิษร้ายถึงตายได้เลยทีเดียว ซึ่งเข็มพิษนี้ใช้ยิงปลาหรือสัตว์ที่มันจะจับเป็นเหยื่อ เมื่อเหยื่อของมันโดนยิงด้วยเข็มพิษ ก็จะเป็นอัมพาตทันที ดังนั้นเมื่อท่านไปดำน้ำ หรือเดินเล่นตามชายหาดหากไปพบเจอหอยลักษณะคล้ายๆหอยเต้าปูนเข้าก็อย่างเสี่ยงไปจับต้องหรือ เก็บขึ้นมาใส่กระเป๋าเข้าก็แล้วกัน
 


จาก                       :                      ผู้จัดการออนไลน์     วันที่ 3 มีนาคม 2552 
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
แม่หอย
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
กระทู้: 1404



« ตอบ #1 เมื่อ: มีนาคม 05, 2009, 12:32:52 AM »

ไหนๆ มีเรื่องเกี่ยวพันกับหอยเต้าปูน อยากจะอธิบายนิดนึงว่า งวง หรือ proboscis ที่เราเห็นเป็นท่อยื่นออกมาจากปลายเปลือกของหอยเต้าปูน (หรือรวมทั้งในหอยฝาเดียวอื่นๆ ทั้งหลายส่วนใหญ่) นั้น เป็นคนละส่วนกับเข็มพิษค่ะ ไอ้อวัยวะที่เป็นเข็มพิษสำหรับใช้ในการล่าเหยื่อเนี่ย ลักษณะเหมือนฉมวก (harpoon-like structure) ปกติจะหดอยู่ มองไม่เห็น พิษจะถูกปล่อยเข้าไปไว้ในฉมวก และหอยจะยิงฉมวกนี้ออกมาอย่างรวดเร็วเมื่อล่าเหยื่อเท่านั้น

แม่หอยเคยมีประสบการณ์ได้สังเกตพฤติกรรมหอยเต้าปูน จึงได้แยกแยะอวัยวะ proboscis กับ harpoon ของหอยเต้าปูนได้คราวนั้นเอง (ตั้งแต่ปี 2544-45 โน่นแน่ะ) มีภาพเคยลงใน SOS นานมาแล้ว ไม่อยากโพสต์ซ้ำ เลยขออนุญาตให้ link ตามไปอ่านหน่อยนะคะ .. แม่หอยย้อนไปอ่านยังรู้สึกตื่นเต้นเลย..
http://www.saveoursea.net/oldboard/viewtopic.php?t=162
บันทึกการเข้า
Udomlert
สี่ดาวยังอยู่แค่เอื้อม
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 162


« ตอบ #2 เมื่อ: มีนาคม 05, 2009, 01:39:41 AM »

อรุณสวัสดิ์ครับ พี่แม่หอย  เรื่องหอยเต้าปูน เคยอ่านในนวนิยายของ Paul Adirex หรือ
คุณปองพล อดิเรกสาร ตื่นเต้นดีครับ แต่เรื่อง Kingkong effect นี่ คงเป็นเรื่องจินตนาการ
หรือเปล่าครับ
บันทึกการเข้า
lord of death
สี่ดาวยังอยู่แค่เอื้อม
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 130



« ตอบ #3 เมื่อ: มีนาคม 05, 2009, 05:59:12 AM »

อีก 3 อย่างต้องระวังมากๆ เวลาไปทะเล หรือไปดำน้ำคือ
1 แผลถลอกบริเวณ บัตรเครดิต
2 โรคทรัพย์จาง และ โรคทรัพย์จางเรื้อรัง
3. โรคแผลในกระเป๋า และกล้ามเนื้อกระเป๋าฉีก

ไปดีฝ่า......อิ อิ .
บันทึกการเข้า

จงหมั่นระลึกถึงความตาย เพราะเป็นวาระติดตัวเรามาตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ เมื่อถึงเวลาจักได้มีสติกับความตาย ยังให้เราระลึกถึงพุทธองค์และกำหนดจิตถึงภพภูมิใหม่ได้เมื่อวาระนั้นมาถึง ขอให้ทุกท่านพ้นอบายภูมิ เราได้มีเวลาเที่ยว หุ หุ
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.249 วินาที กับ 20 คำสั่ง