กระดานข่าว Save Our Sea.net
พฤษภาคม 01, 2024, 07:32:55 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม: วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม 2552  (อ่าน 3857 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« เมื่อ: มีนาคม 29, 2009, 12:10:39 AM »

กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ลมใต้กับลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อน และยังมีฝนฟ้าคะนองกับ ลมกระโชกแรงในระยะนี้ อนึ่งบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนระลอกใหม่จะแผ่ปกคลุมทะเลจีนใต้และประเทศไทยในช่วงวันที่ 30 มี.ค.- 2 เม.ย. 52 ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น กับมีลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อน และมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศา อุณหภูมิสูงสุด 35-36 องศา ลมใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 28-29 มี.ค. ลมใต้กับลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้จะทำให้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ส่วนมากในระหว่างบ่ายถึงค่ำ ส่วนในช่วงวันที่ 30 มี.ค. - 2 เม.ย. บริเวณความกดอากาศสูงระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมทะเลจีนใต้ และประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น กับมีลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่


ข้อควรระวัง

ในระยะนี้ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 30 มี.ค.-3 เม.ย. 52 นี้ไว้ด้วย



* Forecast2.jpg (38.27 KB, 684x423 - ดู 1529 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #1 เมื่อ: มีนาคม 29, 2009, 12:18:38 AM »

มติชน


"กระดูกอ่อนปลาฉลาม"กินแล้วช่วยบำบัด"มะเร็ง" ได้จริงหรือ



"ก้างปลาฉลาม" หรือ กระดูกอ่อนปลาฉลาม มักถูกยกขึ้นมากล่าวถึง หากใครสักคนกำลังมองหาวิธีต่อสู้กับ "โรคมะเร็ง" ปัจจุบันนี้ได้แพร่มาถึงเมืองไทยแล้ว จึงมีการกล่าวถึงความหัศจรรย์ของมันไว้มากมายในอินเตอร์เน็ต แต่สามารถบำบัดโรคมะเร็งได้จริงหรือไม่

จากการสืบค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ก็ได้พบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้ง 2 ด้าน โดยพบเว็บที่แฝงอยู่ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีข้อมูลว่า "Shark Cartilage หรือกระดูกอ่อนปลาฉลาม - ป้องกันมะเร็ง ที่เกิดจากสารก่อมะเร็งหรือเซลล์ที่ผิดปกติ เซลล์ผิดปกติดังกล่าวจะกระตุ้นร่างกายให้สร้างเส้นเลือดฝอยใหม่เพื่อนำอาหารมาหล่อเลี้ยง ทำให้เซลล์แบ่งตัวเร็วผิดปกติ จนเกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็งในที่สุด Shark Cartilage มีผลยับยั้งการสร้างเส้นเลือดฝอยใหม่ ทำให้เซลล์เหล่านั้นขาดอาหาร

- ลดการอักเสบของข้อหรือผิวหนัง Shark Cartilage ลดการสร้างเส้นเลือดฝอยใหม่ จึงสามารถลดการอักเสบของข้อและผิวหนังได้ เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาปวดและอักเสบของข้อและผิวหนัง เช่น Rheumatoid, Eczema, Psoriasis

- เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยการกระตุ้นการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันและเพิ่มการสร้างสารภูมิคุ้มกันของร่างกาย"

ขณะที่เว็บไซต์ Thaiclinic.com พบว่า พญ.รุ่งทิพย์ วรรณวิมลสุข ฟันธงไว้ว่า "ไม่มีความจริงแต่อย่างใด ไม่น่าเชื่อถือ เพราะถ้าเป็นจริง คนที่พบควรได้รับรางวัลโนเบิลไพร์ส ในฐานะผู้ประสบความสำเร็จในการรักษามะเร็ง"

สำหรับประเด็นเรื่อง Shark Cartilage รักษามะเร็งได้หรือไม่? ก่อนอื่นควรเริ่มที่เรื่องเกี่ยวกับ "กระดูกอ่อนเฉยๆ" กับการต่อต้านมะเร็ง ซึ่งมีการศึกษากันมานานพอสมควรก่อน ด็อกเตอร์จูดาห์ โพล์คแมน ปรมาจารย์ด้านการศึกษาสารต้านการเจริญของเซลล์มะเร็ง สามารถค้นพบว่า สาเหตุที่เซลล์มะเร็งเติบโตอย่างรวดเร็วนั้น เป็นเพราะมันสามารถสร้างสารกระตุ้นให้เส้นเลือดใหญ่ สร้างเส้นเลือดฝอย เพื่อส่งสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งได้มากผิดปกติ ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า "Angiogenesis"

การค้นพบดังกล่าว ในตอนแรกไม่ค่อยมีใครเชื่อถือ ด็อกเตอร์จูดาห์จึงพยายามหาทางพิสูจน์ โดยพยายามยับยั้งกระบวนการดังกล่าวและก็ประสบความสำเร็จ เมื่อทีมงานของเขาค้นพบว่า "สารที่สกัดจากกระดูกอ่อนสามารถยับยั้งกระบวนการนี้ได้"


ด็อกเตอร์จูดาห์ โพล์คแมน
 

จากการเข้าไป Download คลิปวิดีโอการศึกษาของด็อกเตอร์จูดาห์ จากเว็บไซต์ของมหาวิทยามหิดล พบว่าวิดีโอดังกล่าวจำลองเหตุการณ์แสดงการสกัดของผสมจากกระดูกอ่อนของวัว ซึ่งได้สารสกัดออกมาเพียงนิดเดียว ที่มีความสามารถในการหยุดการเจริญของเซลล์มะเร็งในห้องทดลองได้ ส่วนเซลล์มะเร็งในตัวคนนั้น ยังไม่มีเวลาค้นดูว่ามีจริงหรือไม่

แต่ทำไมต้องเป็นกระดูกอ่อนของ "ปลาฉลาม" ด้วย ?!? หรือเป็นเพราะว่าปลาฉลามไม่เคยเป็นมะเร็งตามที่มีการโฆษณาหรือไม่ ....คำตอบคง "ไม่ใช่" เพราะถ้าฉลามเป็นมะเร็งจริง มันก็ไม่สามารถขึ้นบกมาสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้ และส่วนใหญ่ฉลามที่ซวยมาเจอคน ก็มักต้องตายในสภาพพิการแขนขา เพราะถูกตัดครีบไปกิน

ที่เป็นจริงก็คือ ปลาฉลามเป็นสัตว์ที่มีก้างเป็นกระดูกอ่อนทั้งตัว ดังนั้น กรรมจึงมาเยือน เพราะศาสตราจารย์คนหนึ่งของเอ็มไอที สหรัฐ ได้วิจัยเกี่ยวกับการเตรียมสารสกัดจากก้างปลาฉลาม แล้วทำให้แห้งเป็นผงด้วยวิธีการที่ดีที่สุด เพื่อการรักษาคุณภาพของสารที่ว่านั้น โดยการใช้วิธี "Freeze Drying" และเมื่อท่านค้นพบกระบวนการสกัด ที่ "คิดว่า" จะมีประโยชน์ในการบำบัดโรคมะเร็งแล้ว ก็ได้จดลิขสิทธิ์และลาออกจากมหาวิทยาลัย ไปหากินส่วนตัว เพื่อความร่ำรวย

อย่างไรก็ตาม ผงสกัดจากก้างปลาฉลามที่มีขายอยู่ทั่วไปนั้น มักไม่ได้ใช้กระบวนการสกัดเหมือนของท่าน ดังนั้น ผู้ที่ต้องการบริโภคควรไปหาข้อมูลว่า สินค้าชนิดนี้ถูกใช้กระบวนการใดในการสกัดออกมา

ส่วนท่านที่ไม่มีสตางค์มาก หรือไม่คิดว่าจะฉลาดน้อยจนไปซื้อสารสกัดจากกระดูกปลาฉลามมากิน ก็ขอแนะนำว่า การกินผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง จะได้สารที่มีคุณสมบัติคล้ายกันได้ เพราะในปัจจุบันมีการผลิตยาที่มีความคล้ายคลึงทางโครงสร้างและผลการยับยั้งการเกิดมะเร็งได้ดี เพื่อนำมาขายให้ผู้ที่ผ่าตัดรักษาโรคมะเร็ง เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำของที่มะเร็ง ที่อาจหลุดรอดจากการบำบัดครั้งแรกแล้ว

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #2 เมื่อ: มีนาคม 29, 2009, 12:21:56 AM »

ข่าวสด


10 จังหวัดเสี่ยง มลพิษทางน้ำ



"น้ำ" เป็นสิ่งจำเป็นในการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต เป็นจุดเริ่มต้นของวิถีชีวิต ชุมชน วัฒนธรรม

ในวันที่ 22 มี.ค.ของทุกปี องค์การสหประชาชาติจัดให้เป็น "วันน้ำโลก" (World Water Day) เพื่อให้ทั่วโลกจัดกิจกรรมรณรงค์และส่งเสริมให้ผู้คนหันมาสนใจ เห็นความสำคัญของแหล่งน้ำ รวมทั้งการจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดความยั่งยืน

ในปีนี้ "กรีนพีซ" ถือโอกาสเปิดเผยข้อมูลรายงานผลการศึกษาแหล่งน้ำ ที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำในประเทศไทย โดยใช้ดัชนีชี้วัด GIS หรือวิธีการบูรณาการเทคนิค ด้านภูมิศาสตร์สิ่งแวดล้อม และฐานข้อมูลในแต่ละพื้นที่ ร่วมกับ ดร.อริศรา เจริญปัญญาเนตร อาจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัยด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อตีแผ่ถึงวิกฤตมลพิษทางน้ำในประเทศไทย ให้ทุกฝ่ายรับรู้สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงเพื่อจะได้ร่วมกันปกป้องแหล่งน้ำให้ปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารพิษ

นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีน พีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า ปัจจุบันพื้นที่ของประเทศไทยส่วนใหญ่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำ หมายถึงผู้คนในเมือง ชาวบ้าน ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่อาจเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย



ในรายงานระบุว่า มากกว่า 92.68 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศไทย เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำ โดยพบว่าภาคตะวันออกมีสัดส่วนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงมากที่สุดถึง 35.64 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ ภาคกลาง 15.89 เปอร์เซ็นต์ และจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำระดับสูงมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ กทม. สมุทรปราการ สมุทรสาคร คิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ชลบุรี คิดเป็น 98.89 เปอร์เซ็นต์ และระยอง คิดเป็น 97.78 เปอร์เซ็นต์

ส่วนแหล่งน้ำที่พบและเสี่ยง ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง รวมถึงแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม หรือบริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น

จะเห็นว่าแหล่งน้ำเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงแหล่งน้ำอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงไหลผ่าน จ.ปทุมธานี และ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ใช้ผลิตทำเป็นน้ำประปา กำลังอยู่ภายใต้การคุกคามของมลพิษ

นอกจากนี้ ยังพบว่าหมู่บ้านในประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้แหล่งน้ำมีทั้งสิ้นประมาณ 10,001 หมู่บ้าน มีความเสี่ยงจากมลพิษทางน้ำกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้พบความเสี่ยงในระดับสูงมีมากถึง 41.64 เปอร์เซ็นต์ อาจส่งผลกระทบต่อประชากรเฉลี่ยมากถึง 4,440,049 คน จากประชากรทั้งสิ้น 63 ล้านกว่าคน ส่วนของภาคกลางมีสัดส่วนหมู่บ้านเสี่ยงมลพิษทางน้ำระดับสูงมากที่สุด ประชากรมีความเสี่ยงสูงถึง 2,925,726 คน

ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ ระบุว่า กรณี จ.ระยอง มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำในระดับสูงมากถึง 97.78 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งจังหวัด และเป็นพื้นที่มีปัญหารุนแรง

โดยพบว่ามีหมู่บ้านที่ได้รับความเสี่ยงในระดับสูง 302 แห่ง คิดเป็น 78.44 เปอร์เซ็นต์ ของหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่เสี่ยงต่อมลพิษ และยังส่งผลกระทบต่อประชากรได้ถึง 454,551 คน มีแม่น้ำสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำระยอง แม่น้ำประแสร์ แม่น้ำพังราศ รวมถึงแม่น้ำสายรอง ได้แก่ คลองหลอด คลองหินลอย คลองระเวิง คลองสะพาน คลองมะเดื่อ ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษถึงปัญหานี้
 


ดังนั้น กรีนพีซเห็นว่าการประกาศบริเวณนิคมอุตสาหกรรมใน จ.ระยอง เป็นเขตควบคุมมลพิษ จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้ ที่ จ.ระยอง พบการปนเปื้อนโลหะหนัก สารอินทรีย์ระเหยในแหล่งน้ำ เกิดจากการใช้สารเคมีปริมาณมากในโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ เช่น โรคมะเร็ง สารพิษยังปนเปื้อนในแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคกระจายทั่วพื้นที่ ทั้งแหล่งน้ำใต้ดิน น้ำบาดาล ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ชาวบ้านพึ่งพิง แต่ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ใช้แล้ว

ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดมลพิษทางน้ำมากที่สุด 6 อันดับแรก คือ ความลาดชันของพื้นที่ ตัวโรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ปริมาณการใช้สารเคมีเกษตร อุตสาหกรรม และความหนาแน่นประชากร ถึงแม้ว่าข้อมูลพื้นที่และแหล่งน้ำที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษ รวมถึงจำนวนประชากรที่อาจได้รับผลกระทบ ยังไม่มีการศึกษาอย่างแพร่หลาย

แต่ข้อมูลจากการศึกษาครั้งนี้มีผลออกมาว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยเสี่ยงเกิดมลพิษทางน้ำ โดยเฉพาะเมืองและอุตสาหกรรม แม้อัตราส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งประเทศ แต่ส่งผลกระทบสูง เพราะเป็นบริเวณที่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมาก

สำหรับแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยงในระดับสูง ที่อาจเกิดปัญหาในอนาคต จำเป็นต้องได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดทั้ง 4 ภาค คือ ภาคกลาง ได้แก่ แม่น้ำนครชัยศรี แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำลัดเกร็ด แม่น้ำสุพรรณบุรี

ภาคตะวันออก ได้แก่ แม่น้ำพระปรง แม่น้ำหนุมาน

ภาคเหนือ ได้แก่ แม่น้ำแม่แจ่ม แม่น้ำแม่ฝาง แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำแม่ลาว และแม่น้ำแม่แตง ทั้งพบแหล่งน้ำนิ่งที่เสี่ยงระดับสูงต่อการเกิดมลพษทางน้ำ คือ ในอ่างเก็บกักน้ำของเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ แม่น้ำชี แม่น้ำโขง แม่น้ำสงคราม ลำชี ลำเชิงไกร ลำโดมใหญ่ ลำปลายมาศ ลำพระเพลิง ลำมูลน้อย ลำตะคองเก่า ห้วยหลวง และแหล่งน้ำนิ่งที่เสี่ยงระดับสูง คือ ในเขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำปาว เขื่อนอุบลรัตน์

ภาคใต้ ได้แก่ แม่น้ำปากพนัง ทะเลน้อย และน้ำในเขื่อนปัตตานี

สำหรับข้อเสนอแนะ ทางกรีนพีซเห็นว่ารัฐบาลต้องตระหนักถึงปัญหามลพิษนี้ และแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเร่งแก้ปัญหาในแม่น้ำลำคลองที่กำลังมีปัญหาในขณะนี้ เฝ้าระวังจุดเสี่ยงที่อาจเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต ปรับปรุงมาตรการและเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมป้องกันมลพิษให้มีประสิทธิภาพ ทั้งข้อกฎหมายและการบังคับใช้

โดยเฉพาะการกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะผู้ก่อมลพิษเปิดผลข้อมูลการใช้สารเคมี และปริมาณการปล่อยมลพิษให้ประชาชนทราบ เพราะที่ผ่านมาข้อมูลเหล่านี้ยังเป็นปริศนา

ทางกรีนพีซจะส่งรายงานเหล่านี้ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หน่วยงานภาครัฐ และผู้ว่าราชการจังหวัด ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำ โดยเฉพาะ 10 จังหวัดแรก ได้แก่ กทม. สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง นครปฐม ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา และ นนทบุรี

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 20 คำสั่ง