กระดานข่าว Save Our Sea.net
เมษายน 26, 2024, 12:23:28 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: 1 [2] 3   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ป่าชายเลน  (อ่าน 48731 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #15 เมื่อ: พฤศจิกายน 13, 2007, 12:37:52 AM »


ทำแผนป่าชายเลน 1.46 ล้านไร่ ตั้งเป้าปี 51 ปลูกเพิ่ม 4 พันไร่

 นางนิศากร โฆษิตรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ในปี 2551 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้จัดทำแผนบริหารจัดการป่าชายเลนให้เป็นระบบและดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น มุ่งเน้นด้านการฟื้นฟูและคงไว้ซึ่งพื้นที่ป่าชายเลนของไทยทั้งหมดทั่วประเทศเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ต้องการให้ภาครัฐเร่งรักษาพื้นที่ป่าชายเลนที่เหลืออยู่ให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งจากการสำรวจล่าสุด ไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนเหลือ 1.46 ล้านไร่ จากเดิมที่มีกว่า  2 ล้านไร่
 
“ป่าชายเลนเป็นเสมือนกำแพงธรรม ชาติที่จะช่วยป้องกันและลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังเป็นแหล่ง อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน สร้างระบบนิเวศชายฝั่ง  ที่สมบูรณ์ ในขณะเดียวกันประชาชนยังได้ใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน ทั้งเก็บไม้เผาเป็นถ่านสร้างรายได้ เป็นแหล่งสมุนไพรธรรมชาติ อีกทั้งไม้ป่าชายเลนยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อนได้มากกว่าไม้บกถึง 30% ดังนั้น จึงขอเชิญชวนให้คนไทยช่วยกันดูแลและรักษาพื้นที่ป่าชายเลนของไทยทั้งหมด 1.46 ล้านไร่ให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์ต่อไป” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าว
 


จาก       :        เดลินิวส์   วันที่ 13 พฤศจิกายน 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #16 เมื่อ: พฤศจิกายน 14, 2007, 11:56:51 PM »


เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ‘กุ้งเคย’ คลองนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา จึงสมบูรณ์


   
การสนองพระราชดำริเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เกิดขึ้นในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมภายใต้โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ล่อแหลมและเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติสภาพแวดล้อม ตลอดถึงพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่เกิดจากการใช้พื้นที่เพื่อการทำกินของประชาชนอย่างขาดวิธี และหนึ่งในหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องนี้ตลอดมากว่า 10 ปี จวบจนทุกวันนี้ ก็คือ โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง  ประเทศไทย
 
นายสามารถ ภู่ไพบูลย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อดีตหัวหน้าโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ กฟผ. เปิดเผยว่า การปลูกป่าถาวรฯ ของ กฟผ.นั้นมีพื้นที่ปลูกทุกภาคของประเทศ ทั้งป่าบกและป่าชายเลน โดยเฉพาะป่าชายเลนนั้นทางโครง การได้ปลูกในพื้นที่ทั้งฝั่งอันดามัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากสึนามิ ณ บ้านคอเขา ต.น้ำเค็ม อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา และบ้านตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เป็นต้น ส่วนในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยก็มีหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดตราด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึงจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะที่จังหวัดสงขลานั้นทางโครงการฯ ได้เข้าไปร่วมกับชุมชน ปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯขึ้นที่คลองนาทับ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งตอนนั้นป่าชายเลนเสื่อมโทรมมากและมีชุมชนอาศัยกันอยู่อย่างหนาแน่นจึงได้พัฒนาฟื้นฟู โดยดำเนินการทั้งสองฝั่งคลองนาทับมีเป้าหมายเพื่อให้สภาพของป่าชายเลนในพื้นที่ได้หวนกลับคืนสภาพเดิมอีกครั้งหนึ่ง


 
พื้นที่ในการดำเนินการกว่า 200 ไร่ ตลอดแนวชุมชน 6 หมู่บ้าน พบว่าตลอดมานับจากเริ่มต้นปลูกต้นไม้มีอัตราการรอดตายสูงถึงร้อยละ 85 โดยใช้กล้าไม้ 4 ชนิดมาทำการปลูก คือ โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ โปรงแดง และถั่วขาว และที่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายคืออัตราการรอดตายของต้นไม้สูงนั้น ก็เนื่องจากทางโครงการได้ดำเนินงาน  ในพื้นที่โดยที่มีชุมชนเข้าร่วมด้วย จึงเป็นผลก่อให้เกิดความหวงแหนและช่วยกันดูแลรักษาจากชุมชน    เป็นอย่างดี
 
“ที่สำคัญ ประชาชนที่อาศัยสองฝั่งคลองนาทับ มีอาชีพประมงชายฝั่งและจับกุ้งเคยเพื่อนำมาผลิตเป็นกะปิอาหารยอดนิยมของประชาชนในพื้นที่ เมื่อสภาพป่าชายเลนมีความสมบูรณ์เช่นดังเดิม กุ้งเคยก็จะมีปริมาณมากขึ้นด้วย เนื่องจากป่าชายเลนจะเป็นตัวช่วยทำให้ระบบนิเวศ สัตว์น้ำ พืชพันธุ์ต่าง ๆ มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งที่อาศัยชั้นดีของตัวเคยที่ชาวบ้านนำมาใช้ทำกะปิ  นาทับ ซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค พร้อมกันนี้ทาง กฟผ. ยังมีการติดตามประเมินผลในพื้นที่การปลูกป่าทั่วทั้งประเทศอย่างต่อเนื่องอีกด้วย” นายสามารถ ภู่ไพบูลย์ กล่าว


 
สำหรับกุ้งเคยนั้นเป็นสัตว์เศรษฐกิจซึ่งได้จากธรรมชาติ ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ คนไทยใช้กุ้งเคย ทำกะปิหรือกุ้งแห้งมาช้านาน กุ้งเคยจัดเป็นครัสเตเชียนขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายกุ้ง แต่ตัวเล็กกว่า และไม่มีกรีแหลม ๆ ที่บริเวณหัว เหมือนกุ้ง ตัวสีขาวใส มีตาสีดำ มีขนาดยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีเปลือกบางและนิ่มอาศัยอยู่ตามบริเวณรากไม้ตามป่าชายเลน เช่น ต้น โกงกาง แสม ลำพู และกุ้งเคยที่ใช้ทำกะปิ มี 2 ชนิด คือ เคยละเอียด กับเคยหยาบ ต่างกันตรงขนาดเล็กใหญ่กว่ากัน เคยละเอียดมีลักษณะนุ่มและตัว   เล็กกว่า
 
ที่คลองนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เคยส่วนใหญ่จะเป็นเคยในสกุล Acetes ซึ่งมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน ตามขนาดของลำตัว ตามสีของอวัยวะต่าง ๆ ที่มองเห็นและตามลักษณะของการรวมกันอยู่ เคยในสกุลนี้มีขนาดใหญ่ ประมาณ 7.0-32.9 มม. พบชุกชุมตามชายทะเลปากอ่าวป่าชายเลนที่มีหาดเป็นทราย เคยในสกุลนี้นอกจากจะใช้ทำกะปิแล้วยังใช้ทำเป็นกุ้งแห้งได้อีกด้วย
 
ที่สำคัญเคยคือตัวชี้วัดอย่างหนึ่งถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศแถบป่าชายเลน หากมีเคยในปริมาณมากจนสามารถนำมาผลิตเป็นกะปิเพื่อการจำหน่ายของชุมชนได้อย่างเป็นกอบเป็นกำก็ย่อมที่จะแสดงว่าพื้นที่แห่งนี้มีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศเพิ่มขึ้น ดังเช่นที่ ชุมชนคลองนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ในทุกวันนี้
 
นอกจากนี้ในส่วนของพื้นที่รอบ ๆ โรงไฟฟ้าจะนะ ทาง กฟผ. ยังมีแนวคิดที่จะส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์ เช่น การทำนาข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี การปลูกพืชผักตามฤดูกาล เป้าหมายเพื่อให้ชุมชน  รอบ ๆ โรงไฟฟ้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าชุมชนอย่างแท้จริงต่อไป.



จาก       :        เดลินิวส์   วันที่ 15 พฤศจิกายน 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #17 เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2007, 12:31:53 AM »


สิ่งที่เสียไปและสิ่งได้มา แห่งผืนป่าชายเลน “อ่าวคุ้งกระเบน ”             :           ปิ่น บุตรี


สะพานไม้ศึกษาธรรมชาติแห่งผืนป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน

       บนสะพานไม้ที่ทอดยาวหายเข้าไปในดงไม้ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนอันร่มครึ้ม
       
       สะพานไม้-ป่าชายเลน แม้จะดูกลมกลืนเข้ากัน แต่พฤติกรรมของคน 2 กลุ่มที่กำลังจะเดินท่องป่าดูค่อนข้างแตกต่าง
       
       กลุ่มแรกเป็นผู้ใหญ่หญิง-ชาย ดูหน้าตาแทบทั้งหมดเลยวัยกลางคนมาเล็กน้อยถึงปานกลาง ผมมองปร๊าดเดียวก็รู้ว่าพวกเขาเป็นกลุ่มสมาชิกอบต.(แห่งหนึ่ง) เพราะบนเสื้อทีมสีสันสดใสของพวกเขาสกรีนบอกเอาไว้ว่า มาจาก อบต.ไหน จังหวัดไหน
       
       กลุ่มที่ 2 เป็นเด็กนักเรียน กลุ่มนี้เห็นปร๊าดก็เดาไม่ยากอีกเช่นกันว่าเป็นนักเรียน ม.ต้น(ดูจากการแต่งกาย) ส่วนจะเป็นโรงเรียนไหนอันนี้ผมจนด้วยเกล้า

   
เด็กบางคนให้ความสนใจในการเก็บข้อมูลของป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนเป็นพิเศษ    
 
       สมาชิกชาวคณะกลุ่มแรก(ผู้ใหญ่)ส่วนใหญ่ออกอาการท่าทางเบื่อๆ เซ็งๆ อย่างเห็นได้ชัด บางคนบ่นอุบว่าประมาณว่า คุณลุง-ป้าไม่ปลื้ม แดดร้อนเปรี้ยงอย่างนี้มาเดินดูอะไร(ว่ะ)มีแต่ต้นไม้กับปลาตีน เมื่อก็เมื่อย ร้อนก็ร้อน
       
       ผิดกับเด็กๆในกลุ่มที่ 2 ที่ออกอาการตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจกับป่าชายเลน สนใจฟังวิทยากรผู้บรรยาย หลายคนจดโน่นจดนี่ตามคำบรรยาย(สงสัยครูให้ทำรายงานส่ง)
       
       ทั้ง 2 กลุ่มมาที่เดียวกัน แต่พฤติกรรมแตกต่าง
       
       นี่อาจจะเข้าทำนองไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก
       
       ผมเห็นแล้วให้รู้สึกเสียดายแทนผู้ใหญ่กลุ่มนี้ แต่ก็น่าดีใจแทนเด็กๆกลุ่มนี้เช่นกัน เพราะป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนแห่งจันทบุรีนั้น ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิต เป็นห้องเรียนธรรมชาติหลังใหญ่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวให้ศึกษาเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง
       
       1...
       
       บนสะพานไม้ที่ทอดยาวหายเข้าไปในดงไม้ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนอันร่มครึ้ม
       
       ครั้งหนึ่งในอดีตป่าชายเลนผืนนี้ไม่ได้ร่มครึ้มดังนี้ หากแต่เป็นป่าเสื่อมโทรม ตายซาก ที่แทบจะไร้ประโยชน์
       
       แต่...ป่าผืนนี้ยังไม่สิ้นบุญเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2524 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่จังหวัดจันทบุรี ว่า
       
       "ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสม จัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมงและการเกษตร ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเล และจังหวัดจันทบุรี"     
 
       โดยพระองค์ได้พระราชทานเงินที่ราษฎรจังหวัดจันทบุรีทูลเกล้าฯถวายในโอกาสนั้นให้เป็นทุนเริ่มดำเนินการ

   
ตอแสม    
 
       หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2525 จังหวัดจันทบุรีได้จัดตั้ง“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน”อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น ที่ ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ภายใต้แนวทาง “การฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเล จากยอดเขาสู่ท้องทะเล”
       
       นับแต่นั้นมาป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนนับพันไร่ได้พลิกฟื้นจากป่าเสื่อมโทรม กลายเป็นป่าชายเลนอันทรงคุณค่าที่มากไปด้วยระบบนิเวศอันหลากหลาย เพราะหลังจากฟื้นฟูสภาพป่าสิ่งที่ได้มาจากสิ่งที่เกือบสูญเสียไปก็คือ การได้ผืนป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งมากไปด้วยคุณประโยชน์นานากลับคืนมา ชาวบ้านในพื้นที่รอบผืนป่ามีรายได้เพิ่มจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตผลจากผืนป่า นอกจากนี้เมืองไทยยังได้สถานที่ท่องเที่ยวประเภทพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิตอันเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งแห่งให้ผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้
       
       นี่ถือต้องถือว่า “ฟ้ามาโปรด”ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนอย่างแท้จริง
       
       2...
       
       บนสะพานไม้ที่ทอดยาวหายเข้าไปในดงไม้ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนอันร่มครึ้ม
       
       กลุ่มเด็กเดินนำหน้าผู้ใหญ่ไปไกลโขแล้ว ในขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่(เฉพาะกลุ่มนี้)ดูเหมือนจะเดินไปไม่กี่ 10 เมตร บางคนหาจุดนั่งพัก บางคนถอดใจเดินกลับ

   
ปู่แสม  
 
       ส่วนผมอยู่ตรงกลางระหว่างกลุ่มเด็กกลับกลุ่มผู้ใหญ่ โดยพยายามเดินตามกลุ่มเด็กไปห่างๆ เพราะต้องการไปแอบฟังข้อมูลจากวิทยากรที่บรรยาย
       
       แต่พอเผลอยกกล้องส่องปลาตีนที่กระโดดดุ๊กๆ เพียงแป๊บเดียวเท่านั้นวิทยากรได้พากลุ่มเด็กเดินไปไกลลิบแล้ว (ในขณะที่ผมก็เริ่มทิ้งกลุ่มผู้ใหญ่ไปไกลโขเช่นกัน)
       
       แต่ไม่เป็นไรถึงจะไม่ได้ยินวิทยากรบรรยาย ที่นี่ก็สามารถเดินเที่ยวคนเดียวได้อย่างเพลิดเพลิน อีกทั้งใครที่สนใจใฝ่รู้ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะตกข่าว ไม่ได้อะไรใส่หัวกลับไป เพราะระหว่างทางเดินบนสะพานไม้ศึกษาธรรมชาติที่ยาวประมาณ 1,600 เมตรนั้น 2 ข้างทางจะมีป้ายบอกชื่อพืชพันธ์ไม้และฐานความรู้แสดงบอกเป็นระยะๆ หากใครเที่ยวแบบให้ความสนใจป้ายเหล่านั้นบ้าง รับรองว่าได้ความรู้เรื่องระบบนิเวศป่าชายเลนติดตัวกลับบ้านไปแน่ ไม่มากก็น้อยแหละน่า
       
       สำหรับผมแม้จะเป็นคนไม่รักเรียน(แต่รักจริง) เมื่อมาเดินบนสะพานไม้สายนี้ยังได้รับความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลนเพิ่มรอยหยักบนสมองกลับไปบ้างตามสมควร ไม่ว่าจะเป็นการเห็นความแตกต่างระหว่างโกงกางใบเล็กกับโกงกางใบใหญ่ การได้รู้จักหน้าคร่าตาต้นเป็นๆของพืชพันธ์ไม้ชายเลนอย่าง ต้นแสมขาว แสมดำ ฝาดแดง ลำพู ลำแพน ตะบูน ประสัก ฯลฯ
       
       ส่วนปลาตีนที่วิ่งดุ๊กๆนี่รู้จักดีอยู่แล้ว เช่นเดียวกับปูก้ามดาบที่ชูก้ามสีแดงวิ่งอยู่ไป-มา โดยมีบางคู่ใช้ก้ามประลองกำลังกัน
       
       ด้วยลักษณะการชูก้ามเช่นนี้ทำให้หลายๆคนนิยมเรียกนิคเนมของปูก้ามดาบว่า“ปูผู้แทน”เพราะลักษณะการชูก้ามของมันดูคล้ายๆการยกมือของส.ส.ในสภา แต่จะมีต่างกันก็ตรงที่การชูก้ามของปูก้ามดาบ(ตัวผู้)เป็นการแสดงอำนาจประกาศศักดาหรือเพื่อเรียกร้องความสนใจต่อตัวเมีย แต่การยกมือของส.ส.นั้น ส่วนใหญ่เป็นการยกมือตามอำนาจเงินของนายทุนพรรคที่ดูแล้วช่างไร้ศักดิ์ศรีเสียนี่กระไร

   
สะพานแขวนหนึ่งในไฮไลท์แห่งอ่าวคุ้งกระเบน  
 
       3…
       
       บนสะพานไม้ที่ทอดยาวหายเข้าไปในดงไม้ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนอันร่มครึ้ม
       
       ผมเดินเรื่อยๆเอื่อยๆชมต้นไม้ ปู ปลา(ตีน) และสดับรับฟังเสียงนกเสียงลมไปอย่างเพลิดเพลิน ก่อนจะมาสะดุดอารมณ์นิดส์นึงตรงบริเวณ “ตอแสม”(ขนาดเขื่อง)ที่ถูกมนุษย์เผาแห้งตายซากที่เห็นแล้วดูน่าหดหู่ไม่น้อยเลย
       
       ผิดกับตรงฐาน“ปู่แสม”ที่อยู่ไม่ไกลกัน ปูแสมต้นนี้เป็นแสมขาวต้นใหญ่มาก ประมาณสิบคนโอบที่หลงเหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียวของผ่าผืนนี้ ป้ายข้อมูลบอกไว้ว่ามีอายุกว่า 200 ปีทีเดียว ซึ่งหากตอแสมไม่ถูกคนใจร้ายเผาอนาคตตอแสมก็จะกลายเป็นปู่แสมเช่นกัน แต่ถ้าปู่แสมเกิดถูกเผาชะตากรรมก็คงจะไม่ต่างจากตอแสมท่าใดนัก
       
       และนี่ก็คือตัวอย่างเปรียบเทียบของการทำลายและการอนุรักษ์ทรัพยากร ที่ป่าแห่งนี้สอนผมอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

   
สะพานทางเดินในป่าศาลาโกงกาง   
 
       ในขณะที่เราสูญเสียแสมต้นที่เหลือแต่ตอไป แต่ในวันนี้อ่าวคุ้งกระเบนกำลังจะได้ชีวิตใหม่ของต้นโกงกางจำนวนมากมาเสริมทัพความอุดมสมบูรณ์ เพราะผมเห็นตรงบริเวณปากอ่าว(ฝั่งทะเล)ทางศูนย์ฯเขาปลูกได้ปลูกโกงกางขึ้นมาเป็นจำนวนมาก
       
       แล้วสักวันหนึ่งเจ้าโกงกางพวกนี้ก็จะขึ้นเขียวครึ้มเป็นดงแน่นทึบดังเช่นป่าโกงกางที่มีอยู่แล้วเป็นแน่แท้
       
       ผมหวังเช่นนั้น
       
       4...
       
       บนสะพานไม้ที่ทอดยาวหายเข้าไปในดงไม้ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนอันร่มครึ้ม
       
       เส้นทางเดินมาถึงช่วงท้ายแล้ว ผืนป่าชายเลนยังมีสิ่งน่าสนใจให้ชมกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณสะพานแขวนที่เป็นไฮไลท์จุดหนึ่งนั้น ผมเห็นคนไปยืนรอต่อคิวถ่ายรูปบนสะพานกันไม่น้อยเลย
       
       ถัดจากนั้นไปก็เป็นฐานศาลาโกงกางที่เต็มไปด้วยต้นโกงกางขนาดเบ้อเริ่มเทิ่ม ขึ้นเป็นดงหนาแน่นทึบ ซึ่งหากไม่อนุรักษ์ไว้โกงกางพวกนี้คงโดนตัดไปขายเรียบร้อยโรงเรียนป่าชายเลนแล้ว
       
       และนี่คือสิ่งหลงเหลือที่ต้องช่วยกันดูแลรักษาให้ดี เพราะพวกมนุษย์ใจขวาน ใจเลื่อย ที่พร้อมจะตัดเจ้าโกงกางพวกนี้มันมีมากเหลือเกิน หากเผลอเป็นเสร็จพวกมันแน่ ซึ่งบทเรียนของการสูญเสียสำคัญนั้นมีอยู่ในเห็นอย่างชัดเจนในผืนป่าแห่งนี้บริเวณ อนุสรณ์“หมูดุด” หรือ“พะยูน”หรือ “วัวทะเล”

   
อนุสรณ์หมูดุด บทเรียนแห่งการสูญเสีย    
 
       หมูดุด แต่ก่อนคือเจ้าแห่งอ่าวคุ้งกระเบนที่พบเห็นได้ไม่ยาก แต่มาวันนี้สูญพันธุ์กลายเป็นตำนานแห่งอ่าวคุ้งกระเบนไปแล้ว
       
       แน่นอนว่าหนึ่งในเหตุปัจจัยของการสูญพันธุ์นั้นมาจากการล่าและทำลายของมนุษย์นั่นเอง
       
       5…
       
       บนสะพานไม้ที่ทอดยาวหายเข้าไปในดงไม้ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนอันร่มครึ้ม
       
       ทางเดินนำพามาสู่ฐานสุดท้าย ณ ศาลาเชิงทรง ที่เป็นป่ารอยต่อระหว่างป่าชายเลน ป่าชายหาด และป่าบก จากนั้นอีกไม่กี่นาที ผมก็เดินก้าวออกมาจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิต ที่ครั้งหนึ่งตกอยู่ในสภาพ เสื่อมโทรม ตายซาก ร้างไร้ประโยชน์ แต่ด้วยพระบารมีและพระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังการจัดตั้งศูนย์ฯพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ไม่นาน ผืนป่าแห่งนี้ก็พลิกฟื้นกลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
       
       เมื่อพ่อหลวงท่านฟื้นป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน(รวมถึงผืนป่าอื่นๆในเมืองไทย)ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์แล้ว เราๆท่านๆควรเดินตามรอยเท้าพ่อด้วยการช่วยกันอนุรักษ์ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างพอเพียง เพื่อให้ผืนป่าและทรัพยากรที่หลงเหลือ อยู่คู่กับโลกไปอีกนานเท่านาน
       
       เพราะถ้าหากคนไทย(หลายคนๆ)ยังไม่ใส่ใจกับการอนุรักษ์ ผลาญทรัพยากรไปอย่างไม่บันยะบันยัง อนาคตข้างหน้าเราจะไม่สูญเสียแค่ตอแสม หรือหมูดุดเท่านั้น
       
       แต่จะสูญเสียทั้งป่าชายเลน ป่าบก รวมถึงป่าธรรมชาติอื่นๆไปจนหมดสิ้น
       
       และตลอดกาล...

 
       *****************************************
       
      “ศูนย์ศึกษาและพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน” อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เปิดทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น. การเดินทางจากตัวเมืองจันทบุรี ไปตาม ถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข 3) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 301 จะมีแยกเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามทางหลวงหมายเลข 3399 อีกประมาณ 18 กม. ก็จะถึงยังที่ทำการศูนย์ ผู้สนใจ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอ่าวคุ้งกระเบน โทร. 0-3938-8116-8
 


จาก       :        ผู้จัดการออนไลน์    วันที่ 29 พฤศจิกายน 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
แม่หอย
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
กระทู้: 1404



« ตอบ #18 เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2007, 01:25:25 AM »

ว่าจะติดตามอ่านเฉยๆ แต่วันนี้อดไม่ได้ ต้องขออนุญาตแจมนิดนึงนะคะ..
ชอบบทความของคุณปิ่น บุตรี เรื่องนี้มากเลย ถูกใจ โดนใจมาก เรื่อง องค์กรท้องถิ่นพากลุ่มผู้ใหญ่ไปดูงาน แล้วมักเป็นสภาพอย่างที่บทความว่าไว้ไม่มีผิด ไม่ว่าจะไปไหน ให้ไปศึกษาอะไรที่เป็นความรู้ ก็มักจะออกอาการแบบนั้นให้คนเห็นแล้วกลุ้มใจอยู่บ่อยๆ เว้นเสียแต่พาไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามยอดฮิต ก็จะเฮฮาหน้าชื่น..
แต่เวลาองค์กรท้องถิ่นจะพาไปทัศนศึกษาก็ต้องจัดโปรแกรมเชิดชูสติปัญญาไว้ด้วย เพราะล้วนใช้งบประมาณของแผ่นดินส่วนหนึ่งในการพาไป จะบอกว่าไปเที่ยวเฉยๆ ก็คงจะอนุมัติงบลำบาก ต้องบอกว่าไปศึกษาดูงาน .. แล้วผลก็เป็นเช่นที่บทความว่าไว้
แบบคล้ายๆ กันนี้เจอบ่อยค่ะ เจอบ่อย..

นอกจากโดนใจแล้ว บทความนี้ทำให้รู้สึกเสียดาย ที่เคยไปคุ้งกระเบนแต่ยังไม่เคยแวะไปเดินทัศนศึกษาป่าชายเลนแหล่งใหญ่ที่นั่นเลยสักที .. ทั้งๆ ที่ชอบป่าชายเลนมาก และเฝ้าเดินดูปลาตีนอยู่แต่ที่ป่าชายเลนน้อยๆ ของคลองวาฬหลายครั้งหลายหน .. ไว้เราคงต้องหาโอกาสไปดูอนุสาวรีย์หมูดุดที่ป่าชายเลนคุ้งกระเบนบ้างแล้วนะคะ ..
บันทึกการเข้า
สายชล
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8186


Saaychol


« ตอบ #19 เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2007, 03:34:46 AM »

หุๆ...ชอบใจที่แม่หอยเล่าให้ฟังเหมือนกันค่ะ....

เสียดายเงินของแผ่นดินที่เรามีส่วนช่วยกันหามาเพิ่มเติมให้.....ต้องมาเสียไปเพราะความเห็นแก่ได้เห็นแก่มีของคนบางกลุ่มบางพวกนะคะ
บันทึกการเข้า

Saaychol
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #20 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 06, 2008, 12:01:08 AM »


อนุรักษ์ป่า กลางมหานคร ฟื้นฟูนิเวศ 3 น้ำที่พระประแดง


 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส แก่ข้าราชการสังกัดกรมป่าไม้ เนื่องใน “วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ” เมื่อหลายปีก่อน มีใจความว่า...

“....เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ควรจะ ปลูกต้นไม้ลงในใจคน เสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ ลงบนแผ่นดิน และ รักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...”

ปัจจุบันปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ยังไม่มีท่าทีจะหยุดยั้งลงได้ แม้ว่า กรมป่าไม้ ย้ายสังกัดจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาอยู่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

...นายวิชัย แหลมวิไล อธิบดีกรมป่าไม้ เผยว่า ปัญหาป่าไม้ที่ถูกลักลอบตัดส่วนใหญ่จะเป็นไม้ที่มีค่า เช่น ไม้สักและไม้พะยูง เนื่องจากมี เม็ดเงินจำนวนมากสั่งซื้อมาจากตลาดต่างประเทศ จึงทำให้เกิดขบวนการตัดไม้ทำลายป่าขึ้น อีกทั้งยังมีพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ให้ดูแลป่าไม้อย่างเต็มที่

กรมป่าไม้ ไม่ได้นิ่งนอนใจได้มีการตั้งชุดปฏิบัติการป้องกัน และปราบปรามผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่าขึ้น โดยมีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วม เป็นคณะกรรมการ กอ.ร่วมฯ ขึ้นมาปฏิบัติการตรวจค้นและจับกุม หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของป่าไม้พัวพันก็ดำเนินการ ย้าย ปลดออก และ ไล่ออก ตามหลักฐานที่ปรากฏทำให้สามารถหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าลงได้พอสมควร

และเมื่อเร็วๆนี้ได้จัดงานสัปดาห์ วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ประจำปี 2551 ขึ้น ที่บริเวณ สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ตำบล บางกระเจ้า อำเภอ พระประแดง จังหวัด สมุทรปราการ ตามแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวกลางมหานคร

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจที่นี่มีการจัดตั้งป่าชุมชนขึ้น เพื่อต้องการดึงมวลชนให้เข้ามามีส่วนร่วมอนุรักษ์พื้นที่ป่า... นายสมศักดิ์ เนติรังษีวัชรา รองอธิบดีกรมป่าไม้ เผยว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่สวนแห่งนี้ พร้อมกับมีพระราชดำริให้อนุรักษ์ป่าแห่งนี้ไว้ กรมฯจึงดำเนิน โครงการสวนกลางมหานคร ขึ้นบริเวณบางกระเจ้า 6 ตำบล คือ ต.บางน้ำผึ้ง ต.บางกอบัว ต.ทรงคนอง ต.บางกะเจ้า ต.บางกระสอบ และ ต.บางยอ ในเขต อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ มีพื้นที่ประมาณ 1,200 ไร่

โดยมุ่งเน้นการ อนุรักษ์พันธุ์ไม้ อนุรักษ์วิถีชีวิตด้านการเกษตรกรรม และ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้บริเวณนี้เป็น พื้นที่สีเขียว ซึ่งมีลักษณะเป็น เกาะแก่งราว 560 แปลง การบริหารจัดการ และ ฟื้นฟู สภาพพื้นที่โดยจะใช้กระบวนการ ป่าชุมชน เข้ามาดำเนินการเพื่อให้ชาวชุมชนได้มี

ส่วนร่วมในการดูแลรักษาพื้นที่สีเขียว และใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนที่จัดตั้งขึ้นด้านของผู้ดูแลป่าชุมชน นายชลธิศ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กล่าวว่า ในพื้นที่แห่งนี้ เดิมทีมีสวนป่าชุมชนเกิดขึ้นแล้ว 1 แห่ง คือ สวนป่าเกดน้อมเกล้า ตั้งอยู่ที่ ต.ทรงคนอง ซึ่งในบริเวณดังกล่าวมีความโดดเด่นในเรื่องของพันธุ์พืชที่มีเฉพาะพื้นที่และหาดูได้ยาก เช่น ต้นลำพู ต้นจิก ต้นชำมะเลียง โกงกางพื้นเมือง ฯลฯ

อีกทั้งยังมี ระบบนิเวศ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำเค็ม และ น้ำกร่อย การพัฒนาและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

เมื่อได้ลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านว่าต้องการป่าชุมชนอีกหรือไม่ ชาวบ้านในหลายหมู่บ้านก็พร้อมที่จะมอบที่ดินว่างเปล่า และให้ความร่วมมือในการจัดสร้างป่าชุมชนขึ้นอีก เนื่องจากป่าชุมชนแห่งแรกได้เติบโตขึ้นและให้ประโยชน์แก่ชาวบ้านอย่างชัดเจน



ลุงบุญแถม เพชรประดิษฐ์ อายุ 61 ปี ศิลปินดีเด่นของจังหวัดสมุทรปราการในด้านการแกะสลัก บอกว่า ชาวชุมชนส่วนใหญ่ที่อยู่ใกล้ป่าชุมชนแห่งนี้จะเป็นชาวมอญ จึงมีพิธีกรรมทางศาสนาบ่อยครั้งสามารถนำผลผลิตจากป่า เช่น ต้นกล้วย กาบกล้วย ใบตอง ต้นจาก ผลจาก ใบจาก ผลมะพร้าว ใบมะพร้าว กิ่งและก้าน ฯลฯ มาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง

ทั้งในด้าน การแกะสลักเป็นบายศรี เพื่อใช้ในงาน พิธีมงคล ต่างๆหรือจะนำมาทำเป็นกระทงใส่ อาหารคาว และ อาหารหวาน ก็สามารถนำไปทำได้หลากหลายชนิด โดยเฉพาะ ขนมจากที่เลื่องชื่อของพระประแดง

พวกเรา ชาวชุมชนป่าเกดน้อมเกล้า จึงคิดว่า ต้องช่วยกันอนุรักษ์ต้นไม้และรักษาป่าให้อยู่ต่อไปเพื่อให้ลูกหลานของเราได้มีกินและมีใช้ จากป่าชุมชน 3 น้ำแห่งนี้.

 
 

จาก                  :                   ไทยรัฐ    วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
Mr.can
ได้2ดาวแล้วพยายามอีกหน่อยจะได้สอย3ดาว
**
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 57


« ตอบ #21 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 06, 2008, 08:01:06 AM »

ไม่ได้ไปแต่สวน(คนเดียว)นะครับ
งานแบบนี้ ครอบครัวสุขสันต์ ลูก เมีย หลาน ไปกันเป็นคณะ
แต่อย่าว่าเขาเลย แค่ในประเทศเอง เที่ยว..เอ้ย..ดูงานต่างประเทศเป็นครอบครัว ก็ยังมี
บันทึกการเข้า
สายชล
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8186


Saaychol


« ตอบ #22 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 06, 2008, 08:14:48 AM »

หุๆ....ไม่ว่า.....แต่ด่าอยู่ในใจนะคะ......

ลด...ละ...เลิก ไม่อยากได้ใคร่มีกับผลประโยชน์ส่วนตนเล็กๆน้อยๆ  ควรหันมามองที่ผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง แม้จะทำได้บ้างเล็กๆน้อยๆก็ยังดี นานเข้าหลายคนเข้าก็ทำคุณให้ชาติได้มากโขค่ะ





« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 06, 2008, 08:18:53 AM โดย สายชล » บันทึกการเข้า

Saaychol
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #23 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 10, 2008, 02:31:30 AM »


สมบูรณ์ดีชีวีมีสุข อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ


 
เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2541 ประเทศไทยร่วมลงนามเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ "แรมซาร์" โดยเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนขี้เสียน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง เป็นแรมซาร์ไซต์แห่งแรกของประเทศไทย

ตามพันธกรณีของอนุสัญญา คือประเทศภาคีจะต้องกำหนดพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่เหมาะสมในดินแดนของตน เพื่อรวมไว้ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ โดยคำนึงถึงความสำคัญในระดับนานาชาติ ด้านนิเวศวิทยา พฤกษศาสตร์ สังคมศาสตร์ ชลชีววิทยา และอุทกวิทยา อีกทั้งต้องส่งเสริมการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำนั้นๆ อย่างชาญฉลาดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

นอกจากนี้ ทางสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ยังกำหนดให้วันที่ 2 ก.พ.ของทุกปี เป็น "วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก" โดยในปี 2551 นี้ กำหนดหัวข้อของวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลกในปีนี้ ว่า "Healthy wetland, Healthy people" หรือ "พื้นที่ชุ่มน้ำสมบูรณ์ดี ชีวีมีสุข" และจะเป็นหัวข้อในการประชุมที่ประเทศเกาหลีใต้ ในเร็วๆ นี้ด้วย

พื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ "Wetland" ตามคำจำกัดความในอนุสัญญาแรมซาร์ หมายถึง พื้นที่ลุ่มน้ำ พื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ลุ่มชื้นแฉะ พื้นที่ฉ่ำน้ำ มีน้ำท่วม มีน้ำขัง พื้นที่พรุ พื้นที่แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมนุษย์สร้างขึ้น

ทั้งที่มีน้ำขัง หรือท่วมอยู่ถาวรและชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายทะเล และพื้นที่ของทะเลในบริเวณ ซึ่งเมื่อน้ำลดต่ำสุดมีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร

 

ประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำมากมายหลายแห่ง โดยพบว่ามีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาคเอเชียไม่น้อยกว่า 42 แห่ง แต่มีเพียงร้อยละ 2 ของพื้นที่ชุ่มน้ำทั้ง 42 แห่งเท่านั้น ที่ได้รับความคุ้มครองอย่างสมบูรณ์

อีกร้อยละ 8 ได้รับความคุ้มครองในรูปแบบในแบบหนึ่ง ภายใต้ระบบพื้นที่อนุรักษ์ แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ยังไม่ได้รับการอนุรักษ์และคุ้มครองอย่างจริงจัง เป็นผลให้ร้อยละ 47 ของพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญของไทย อยู่ในสภาพเสี่ยงต่อการถูกทำลายในระดับกลางถึงสูง

ที่ผ่านมา ไทยประกาศพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ไปแล้ว 10 พื้นที่ ได้แก่

1.พรุควนขี้เสียน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อประชากรและชนิดพันธุ์นกอพยพ

2.เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จ.หนองคาย แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ในภาคอีสาน เป็นแหล่งอาศัยของนกและปลา และเป็นแหล่งน้ำสำหรับชุมชน

3.ดอนหอยหลอด จ.สมุทรสงคราม พื้นที่ราบในเขตน้ำขึ้นน้ำลงที่มีลักษณะกว้างใหญ่ เกิดจากการสะสมของตะกอนจากปากแม่น้ำ เป็นพื้นที่แห่งเดียวของประเทศไทยที่เป็นแหล่งอาศัยของหอยหลอด ซึ่งมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ

4.ปากแม่น้ำกระบี่ จ.กระบี่ ตั้งอยู่ใกล้กับเทศบาลเมืองกระบี่ เป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศชุ่มน้ำชายฝั่งหลากหลายชนิด ได้แก่ ป่าชายเลน หาดเลน หาดทราย ลำคลอง และแหล่งหญ้าทะเล

5.เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย จ.เชียงราย เป็นทะเลสาบขนาดเล็กที่เป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญสำหรับนกอพยพในฤดูหนาว

6.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ (พรุโต๊ะแดง) จ.นราธิวาส เป็นป่าพรุสมบูรณ์ผืนใหญ่ผืนสุดท้ายของประเทศไทย

7.อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากแม่น้ำตรัง จ.ตรัง มีระบบนิเวศชุ่มน้ำหลากหลายชนิดมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นแหล่งอาศัยของนก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ โดยเฉพาะพะยูน

8.อุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากน้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ คลอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนดั้งเดิม เป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และได้รับการแต่งตั้งเป็นพื้นสงวนชีวมณฑลแห่งที่ 4

9.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ประกอบด้วยเกาะ 42 เกาะ ในอ่าวไทย เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญสำหรับการทำประมง

10.อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เป็นอ่าวที่ล้อมรอบด้วยพื้นที่ป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์

อีกทั้งยังมีแผนจะเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซาร์ไซต์ระดับนานาชาติเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์, เกาะระ-เกาะพระทอง จ.พังงา และกุดทิง จ.หนองคาย

ไม่เฉพาะ 3 พื้นที่แห่งนี้ ล่าสุดชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวบรวมข้อมูลป่าพรุแม่รำพึง ซึ่งขณะนี้กำลังเกิดข้อพิพาทอย่างหนัก เนื่องจากจะมีโครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กในป่าพรุแห่งนี้ และชาวบ้านในพื้นที่อาศัยประโยชน์ ร่วมกันดูแลรักษาผืนป่าแห่งนี้มาช้านาน



"การจะรักษาคุณประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำไว้ จำเป็นจะต้องจัดการระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่ดี และเหมาะสมตามหลักการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด คือ การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของมนุษย์ในวิถีทางที่สอดคล้องกับการบำรุงรักษาคุณลักษณะทางธรรมชาติของระบบนิเวศไว้"

"วิธีการเหล่านี้มีความสอดคล้องกับหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่สามารถประยุกต์ใช้กับการบริการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ชุ่มน้ำ คือรู้จักใช้และจัดการอย่างฉลาดรอบคอบ โดยเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คำนึงถึงความพอประมาณ มีเหตุผล มีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว"

นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในงานเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "พื้นที่ชุ่มน้ำสมบูรณ์ดี ชีวีมีสุข" จัดโดย สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้

เพื่อเป็นการระดมสมองจากนักวิชาการ รวมทั้งเผยแพร่ผลงานวิจัย เทคนิคใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการอนุรักษ์และจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน

ทั้งยังถือเป็นการฉลองครบรอบ 10 ปี ที่ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำด้วย

โดยแผนในอนาคตจะสำรวจพื้นที่ชุ่มน้ำ ทั้งที่ขึ้นทะเบียนไว้และไม่ได้ขึ้นทะเบียนทั้งประเทศจำนวน 42,653 แห่ง ว่าจะประสานให้ท้องถิ่นเข้ามาร่วมดูแลได้อย่างไร โดยยึดหลัก "พื้นที่ชุ่มน้ำสมบูรณ์ดี ชีวีมีสุข" เพื่อให้เกิดการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด และรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำไว้อย่างยั่งยืนต่อไป



จาก                  :                   ข่าวสด    วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #24 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 17, 2008, 01:01:54 AM »


10 ปี กับพื้นที่ชุ่มน้ำไทย ที่ต้องตระหนักและรักษาให้คงอยู่

จากจุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2541 ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar) ลำดับที่ 110 และในครั้งนั้นไทยได้เสนอพื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนขี้เสี้ยน ในบริเวณห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย  จ.พัทลุง  เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) แห่งแรกของประเทศไทย  เป็นเวลากว่า 10 ปีที่ไทยเข้าสู่ระบบสากลของการพิทักษ์ดูแล Wet Land

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำสมบูรณ์ดี  ชีวีมีสุข เพื่อระลึกถึงความสำคัญและความเป็นมาของพื้นที่ชุ่มในประเทศไทย รวมไปถึงหาแนวทางการส่งเสริมอนุรักษ์  และจัดสรรการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศในอนาคตอย่างชาญฉลาดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  เนื่องจากพื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญกับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านนิเวศวิทยา พฤกษศาสตร์ สังคมศาสตร์ ชลชีววิทยา และอุทกวิทยา

ในรอบ  10  ปีที่ผ่านมา  ไทยได้มีการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ  ระดับชาติ  และระดับท้องถิ่นของประเทศ  จวบจนปี  2551  ประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำกว่า 42,653 แห่ง แบ่งเป็นระดับแม่น้ำ  ลำธาร  ลำคลอง  ลำห้วย 25,008 แห่ง ทะเลเสาบ บึง อ่างเก็บน้ำ 14,128 แห่ง  หนองน้ำหรือที่ลุ่ม 1,993 แห่ง ทะเล หรือชายฝั่งและปากแม่น้ำ 1,256 แห่ง ยังไม่ได้จำแนกอีก 268 แห่ง ต่อมาในปี 2543 คณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบในทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติ โดยออกมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ

ในปี  2544  พื้นที่ชุ่มน้ำของไทยขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ไซต์)  อีก  9 แห่ง พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และเอเชียตะวันออก  ปี  2545  ดำเนินโครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน  ร่วมกับกัมพูชา ลาว เวียดนาม โดยไทยเลือกพื้นที่ชุ่มน้ำสงครามเป็นพื้นที่ดำเนินงาน และเข้าร่วมประชุมสมัชชาภาคีแรมซาร์ สมัยที่ 8

ปี  2546  จัดทำแผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ  โดยผนวกไว้ในนโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน  พ.ศ.2546-2550  ปี  ต่อมาในปี 2547  เริ่มจัดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านพื้นที่ชุ่มน้ำ ใน รร.จ.เชียงราย พังงา และตรัง และจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ  จัดทำแผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำในแรมซาร์ไซต์  4  แห่ง ส่วนปี  2548  ได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาภาคีแรมซาร์ สมัยที่ 9 และได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนของภูมิภาคเอชีย ในคณะกรรมการบริหารของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ

และในปี 2551 พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ระดับนานาชาติ  แห่งที่ 11 ของประเทศไทย พร้อมเตรียมเสนอให้กุดทิง  จ.หนองคาย บึงบอระเพ็ด  จ.นครสวรรค์  และเกาะระ-เกาะพระทอง  จ.พังงา  เป็นแรมซาร์ไซต์ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ   ส่วนบึงสำนักใหญ่ จ.ระยอง พรุแม่รำพึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ

พื้นที่ชุ่มน้ำทุกแห่งในโลก จัดว่าเป็นแหล่งน้ำสำคัญในการดำรงชีวิตของทุกหมู่สรรพสัตว์ โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นแหล่งน้ำจืดที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากน้ำจืดบนโลกไม่ได้ถูกแบ่งปันอย่างเท่าเทียมทุกพื้นที่หรือตลอดปี  หรือตามการกระจายตัวของประชากร แต่พื้นที่ชุ่มน้ำจืดมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้น้ำหมุนเวียนได้ตามธรรมชาติ   ทำหน้าที่รองรับและเก็บกักน้ำฝนและหิมะ  ให้น้ำแก่แหล่งน้ำ เก็บกักตะกอนทำให้น้ำบริสุทธิ์ รักษาสมดุลของระดับน้ำใต้ดิน ควบคุมการไหลของน้ำและป้องกันน้ำท่วม รวมไปถึงช่วยกักเก็บตะกอน สะสมธาตุอาหาร และดูดซับสารพิษ

พื้นที่ชุ่มน้ำของไทยก็เหมือนกับพื้นที่ชุ่มน้ำอื่นๆ ที่ถูกบุกรุกด้วยกิจกรรมของมนุษย์  ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายเทน้ำออกจากพื้นที่ชุ่มน้ำ  ทำลายพืชพรรณจนก่อเกิดมลพิษในพื้นที่  สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ความสามารถของพื้นที่ชุ่มน้ำในการผลิตน้ำสะอาดเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้นเกือบ  2 เท่าลดลง

บนเวทีการประชุมเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำในที่จัดโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งการรณรงค์ให้ทุกคนในประเทศตระหนักในความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ การไม่ดูแลรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำในวันนี้อาจส่งผลร้ายแรงต่อพวกเราในอนาคตได้.



จาก                  :                   ไทยโพสต์    วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สรรพสิ่ง
ตอบกระทู้เยอะ ๆ จะได้ 2 ดาว
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1


« ตอบ #25 เมื่อ: มีนาคม 05, 2008, 11:12:13 AM »

สวัสดีครับ  ผมอายุ 18 ปี
ผมเป็นว่าที่นายกสมาคม สมาคมหนึ่ง  (กำลังร่างโครงการและก่อตั้งสมาคมอยู่ครับ)  สมาคมของผมมีวัตถุประสงค์ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตอนนี้กำลังหาเครือข่าย 
ซึ่งกำลังเล็งกลุ่มแนวร่วมอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ บริเวรจังหวัดชายฝั่งภาคใต้อ่าวไทยครับ (กลุ่มแนวร่วมปลูกป่าโกงกางและพื้นที่โครงการฟื้นฟูป่าครับ)
ตอนนี้มีกำลังและพันธมิตรมากมายพอควรแล้ว ขาดอยู่บ้างก็ข้อมูลน่ะครับ  ใคร่อยากจะเรียนถามว่า มีศูนย์เพาะพันธุ์ต้นโกงกางสำหรับนำไปปลูกที่ไหนบ้างครับ ที่อยู่ล่ะ แล้วเบอร์โทรศัพท์ล่ะ องค์กรของรัฐหรือชุมชนที่เราสามารถติดต่อขอต้นโกงกางไปปลูกได้น่ะครับ
ขอบพระคุณอย่างสูง
ส่งทางเมล์ครับ gooham_tr@hotmail.com
เว็บไซน์ยังไม่มียังอยู่ระหว่างดำเนินการขอจัดตั้ง

ขอบพระคุณอีกครั้ง....


* images.jpg (3.21 KB, 123x92 - ดู 10079 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #26 เมื่อ: มีนาคม 05, 2008, 11:40:31 AM »


ลองเข้าไปหาข้อมูลและเบอร์โทรศัพท์จากเว็บไซท์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ กรมป่าไม้ ได้เลยครับ ทั้ง 2 กระทรวงมีหน่วยงานเฉพาะที่ทำหน้าที่ทั้งดูแลป่าชายเลน และเพาะกล้าไม้ชายเลน รวมทั้ง ดูแลพื้นที่ปลูกป่าในโครงการตามพระราชดำริฯ ด้วยครับ

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #27 เมื่อ: มีนาคม 09, 2008, 12:25:41 AM »


5 ปีปิดตำนานชายทะเลบางปู ร่องน้ำลึกทำป่าชายเลนหด
 
 
 
 "หากเราปล่อยให้เป็นแบบนี้โดยไม่หาทางป้องกัน หรือเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน อีกไม่เกิน 5 ปี ป่าชายเลนบางปู สถานตากอากาศอันสวยงามที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน จะเหลือเพียงแค่ตำนานเท่านั้น”
 
พ.ท.สุรพงศ์ รัตนโกเศรษฐ์ หัวหน้าแผนกส่งกำลัง สถานตากอากาศบางปู จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวถึงสถานการณ์ป่าชายเลนบางปู ที่ปัจจุบันกำลังเป็นที่วิตกกังวลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
 
เมื่อเร็ว ๆ นี้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จึงร่วมกับกองทัพภาคที่ 1 จัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลนบริเวณสถานตากอากาศบางปูขึ้นในระยะแรก 5,000 ต้น เพื่อป้องกันการกัดเซาะของคลื่น ฟื้นฟูป่าชายเลนให้เป็นแนวกำแพงธรรมชาติ และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ  โดยมีเป้าหมายให้ระบบนิเวศบริเวณนี้กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม
 
ปัญหาของป่าชายเลนบางปูเกิดจากคลื่นที่พัดเข้าหาฝั่งในแนว ตั้งฉาก ผิดกับป่าชายเลนที่อื่น ๆ ที่คลื่นจะพัดขนานกับแนวชายฝั่ง ดังนั้นพืชในป่าชายเลนของบางปูจึงจำเป็นต้องมีคุณสมบัติในการยึดเกาะดินได้ดี และต้นแสมขาวก็เป็นพืชที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งเราจะเห็นต้นแสมขาวขึ้นอยู่ทั่วไปในป่าชายเลนแถบนี้
 
ชายทะเลบางปูถูกทำลายมากขึ้น อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการขุดร่องน้ำลึกจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาไปจังหวัดชลบุรีตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2530 เพื่อเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ
 
เพราะก่อนหน้านั้นเรือขนส่งสินค้าจะต้องขับอ้อม โดยจะต้องมุ่งหน้าออกทะเลตั้งฉากกับแนวชายฝั่งก่อนจะเลี้ยวไปจังหวัดชลบุรี เนื่องจากเรือจะกินน้ำลึกกว่า 10 เมตร ขณะที่ชายทะเลบางปูจะมีความลึกไม่ถึง 10 เมตร
       
เมื่อค่าขนส่งสินค้าแพง ทำให้ราคาสินค้าที่ถูกลำเลียงทางเรือแพงขึ้นด้วย รัฐบาลในสมัยนั้นจึงมีนโบายขุดร่องน้ำลึกในแถบบางปูตัดเป็นแนวเฉียงจากบางปูไปชลบุรีโดยตรง เพื่อย่นระยะทางการเดินเรือ ซึ่งก็ทำให้ย่นระยะทางไปได้หลายสิบกิโลเมตร


       
ร่องน้ำลึกดังกล่าวจะมีขนาดกว้าง 200 เมตร ลึก 20 เมตร ตลอดระยะทางในแนวเฉียง ทำให้ตัดแนวคลื่น   
ซึ่งเดิมจะพัดเข้าหาฝั่งเปลี่ยนแปลงไป ความแรงของคลื่นเพิ่มมากขึ้น  ขณะเดียวกันการดูดทรายในร่องน้ำลึกเพื่อคงสภาพของร่องน้ำไว้และทิ้งออกมานอกร่องน้ำ ส่งผลให้คลื่นซัดทรายเข้าหาฝั่งมากขึ้น ชายทะเลบางปูซึ่งเดิมเป็นดินโคลนค่อนข้างเหนียวกลายเป็นดินโคลนปนทราย ต้นแสมขาวที่เคยยึดเกาะดินได้ก็เกิดปัญหาเพราะดินร่วนขึ้น ประกอบกับคลื่นที่พัดเข้าหาฝั่งมีกำลังแรงขึ้น
 
ส่งผลให้ป่าชายเลนบริเวณนี้ถูกทำลายลงไปแล้วถึง 70% !!!
 
ในแต่ละปีป่าชายเลนแถบนี้จะหายไปปีละประมาณ 10 ไร่ ปัจจุบันเหลือป่าชายเลนเพียง 1 ใน 10 ของที่เคยมี หรือมีอยู่ราว 50 ไร่ จากเดิม 300 ไร่ 
 
 นายพรเทพ  ธัญญพงศ์ชัย ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า นอกจากการปลูกป่าชายเลนเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนที่หายไปแล้ว การไฟฟ้าและกองทัพภาคที่ 1 ยังมีโครงการที่จะปักเสาลดแรงคลื่น เป็นเสาคอนกรีตสามเหลี่ยมขนาดกว้าง 30 ซม. ระยะทาง 1,300 เมตร 
 
โดยเมื่อคลื่นพัดมากระทบแนวเหลี่ยมของเสาคลื่นจะกระจายออกสองฝั่ง ความแรงของคลื่นที่จะกระทบฝั่งก็จะน้อยลง คลื่นส่วนหนึ่งจะย้อนกลับเข้ามาด้านหลังเสาและเกิดตกตะกอนของดินด้านหลังเสา นอกจากลดแรงคลื่นแล้ว เสานี้ยังจะเพิ่มพื้นดินป่าชายเลนที่ถูกคลื่นซัดหายไปให้กลับคืนมาด้วย โครงการปลูกป่าชายเลนและปักเสาลดแรงคลื่นจะสิ้นสุดในปี 2552 โดย กฟน. จะสนับสนุนงบประมาณทั้งหมดรวม 10 ล้านบาท
 
กฟน.ยังมีโครงการที่จะสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนหันมาเอาใจใส่และอนุรักษ์ป่าชายเลน ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ เพราะตระหนักว่า ลำพังเพียงคนเดียวหรือหน่วยงานเดียว คงไม่สามารถช่วยชายทะเลบางปูให้คงอยู่ได้ 
 
และหากไม่เร่งทำตั้งแต่ตอนนี้ สถานตากอากาศบางปูคงเหลือเพียงตำนานจริง ๆ.

 

จาก                  :                   เดลินิวส์    วันที่ 9 มีนาคม 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #28 เมื่อ: เมษายน 29, 2008, 12:48:12 AM »


ร่วมแรงร่วมใจคืนชีวิตให้...ป่าชายเลน
 
 
 
 ในบรรดาทรัพยากรธรรมชาติที่ไทยยัง คงมีอยู่ “ป่าชายเลน” เป็นอีกหนึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่ไทยเคยมีความอุดมสมบูรณ์ แต่กลับลดจำนวนลงเรื่อย ๆ  รวมถึงการเสื่อมโทรมของป่าชายเลนที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้ปัจจุบันไทยเหลือพื้นที่ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์เพียง 1 ล้านไร่เท่านั้น จากเดิมที่เคยมีกว่า 2.3 ล้านไร่ อย่างไม่น่าเชื่อ โดยพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่เฝ้ารอการดูแลและคอยการฟื้นฟูมีสูงถึง 1.3 ล้านไร่
 
กระทรวงทรัพยากรฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของป่าชายเลน และเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงได้จัดทำแผนฟื้นฟู โดยเร่งจัดทำแผนฟื้นฟูป่าชายเลน มีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมทั้งหมด 300,000 ไร่ ภายในระยะเวลา  5 ปี
 
ตั้งแต่ปี 2551-2554 โดยเน้นหนักในพื้นที่ป่าชายเลนตามแนวชายฝั่งทะเล 1,600 กิโลเมตร ทั้งทางฝั่งอันดามันตั้งแต่พื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้นไป รวมถึงพื้นที่ทางฝั่ง  อ่าวไทย แถบจ.จันทบุรี ตราด และระยอง ใน       วงเงินงบประมาณทั้งหมด 1,780 ล้านบาท โดย  ล่าสุดได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมทั้งหมดทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อมูลทั้งหมดภายในเดือนเมษายนนี้


 
นางนิศากร โฆษิตรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า การฟื้นฟูป่าชายเลนถือเป็นภารกิจที่กรมฯ ให้ความสำคัญเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยพื้นที่ป่าชายเลนของไทยที่อยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมทั้งหมดของไทยให้มีความชัดเจนและเป็นปัจจุบันมากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ป่าชายเลนที่ให้สัมปทานไปแล้วแต่ไม่ได้นำ  ไปใช้ประโยชน์ หรือมีการใช้ประโยชน์ที่ผิดประเภท เพื่อเรียกคืนจากหน่วยงานรัฐหรือภาคเอกชน ก่อนที่จะกำหนดแผนฟื้นฟูให้เป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่สมบูรณ์อีกครั้ง
 
ทั้งนี้ ข้อมูลทั้งหมดที่ได้จะนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการวางแผนการฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างเป็นระบบและมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการวางแนวเขตพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อการอนุรักษ์ให้คงไว้ซึ่งความสมบูรณ์ เป็นกำแพงธรรมชาติป้องกันคลื่นลมทะเล และลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้น เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมโดยรอบ รวมถึงช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก บรรเทาภาวะโลกร้อน โดยในเบื้องต้น ปี 2551 มีแผนที่จะฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมทั้งสิ้น 8,500 ไร่   


 
“ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน ภายใต้โครงการการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อร่วมกันปลูกป่าชายเลน พร้อมกับดูแลรักษาและอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกล่าว
 
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการกำหนดมาตรการและแผนฟื้นฟูอย่างชัดเจนแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าการสร้างผืนป่าชายเลนให้มีชีวิตอีกครั้ง ต้องใช้ระยะเวลานาน การสร้างจิตสำนึกในเด็กและเยาวชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าชายเลน ในอนาคตจะเป็นฐานกำลังสำคัญในการดูแลอนุรักษ์ และรักษาผืนป่าชายเลนของไทยให้คงอยู่ต่อไป.
 



จาก                  :                   เดลินิวส์    วันที่ 29 เมษายน 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #29 เมื่อ: เมษายน 29, 2008, 12:55:47 AM »


ปลุกกระแสอนุรักษ์ พิทักษ์ป่าชายเลนแบบโจ๋ ' World Bank


โฉมหน้าเยาวชน คนรักป่าชายเลน

      ชมรมเยาวชนธนาคารโลกจัดโครงการทัศนศึกษา “เรียน- รู้-รัก เพื่อพิทักษ์ป่าชายเลน” ครั้งที่ 4 ณ บ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ เพื่อปลูกจิตใต้สำนึกให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญ พร้อมร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเรียนรู้วิถีชาวบ้านเพื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ รวมไปถึงการต่อสู้กับปัญหาภัยธรรมชาติของชาวบ้านที่อาจจะต้องประสบ
       
       ซึ่งในปีนี้มีการจัดกิจกรรมพิเศษให้เยาวชนได้เรียนรู้ อาทิ เช่น ทัศนศึกษาที่วัดขุนสมุทราวาส และเรียนรู้สภาพแวดล้อมของหมู่บ้าน ศึกษาการทำกะปิ การประกอบอาชีพประมง นอกจากนี้ยังได้รับฟังคำบรรยายจากคุณสมร เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้าน เรื่องผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เรื่องป่าชายเลนและวิธีเพาะกล้าโกงก้างจากคุณวิษณุ เข่งสมุทร ที่ถือว่าเป็นการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอีกวิธีหนึ่ง


ผู้ใหญ่บ้านบรรยายต้นเหตุปัญหาป่าชายเลน
       
       “ป้าสมร” สมร เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านขุนสมุทรจีน หัวหน้าแกนนำโครงการอนุรักษ์ป่าชายเลนกล่าวถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่คนทั้งหมู่บ้านได้เผชิญอยู่ ณ เวลานี้ ว่า พยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีที่บรรพบุรุษเคยทำมา
       
       “เราต้องยอมรับว่าไม่มีวิธีไหนที่สมบูรณ์และใช้ได้ดี 100% ตอนนี้เราได้คิดวิธีการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลแบบใหม่ขึ้นมา ด้วยการสร้างเขื่อนสลายพลังคลื่น49 A2 ถูกออกแบบมาให้เสามีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม เรียงเป็นสามแถวซ้อนกัน เวลาที่คลื่นซัดมาจะได้แตกตัวออกและช่วยเบาแรงลง มีช่องว่างให้น้ำหมุนเวียนได้ตลอดเวลา กลายเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ทำให้ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม แต่ตอนนี้โครงการอยู่ในช่วงทดลอง เนื่องจากไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะสร้างเขื่อนสลายพลังคลื่นได้”
       
       ส่วนสิ่งที่สำคัญในการสร้างเขื่อนปัจจัยหลักอย่างไรก็หนีไม่พ้นเรื่องของงบประมาณ ต่อการสร้างเขื่อน
       
       ป้าสมรบอกแม้จะถือว่าเป็นเงินก้อนโต แต่ กึคุ้มค่ากับประโยชน์ที่ได้
       
       “งบประมาณตกอยู่ที่ กิโลเมตรละ 36 ล้านบาท ซึ่งเราต้องการสร้างทั้งหมด 15 กิโลเมตร ถือว่าเป็นเงินก้อนโต แต่ถ้าให้มองถึงประโยชน์ที่ได้ๆ ถือว่าคุ้ม อย่างเวลานี้ น้ำทะเลกัดกินชายฝั่งทะเลไปกว่า 5-6 กิโลเมตร อีกไม่นานคนในกรุงเทพก็จะเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าว เราอยากให้ลองคิดว่าการป้องกันแต่ต้นๆ ป้องกันที่สาเหตุมันจะดีกว่าไหม ดีกว่าให้คน 10 กว่าล้านคน อพยพไปอยู่ที่อื่น”


เยาวชนถอนต้นกล้าโกงกาง
       
       ส่วนวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ป้าสมรยังอธิบายให้ทุกคนได้ ตระหนักถึงปัญหาด้วยว่า พวกเราต่อสู้กับปัญหานี้มาเป็นสิบๆ ปี พยายามคิดหาวิธีแก้ไขปัญหา แต่ก็ทำได้ไม่ดีเท่า เลยอยากให้หน่วยงานรัฐบาลยื่นมือเข้าช่วยเหลือ
       
       “อยากจะขอบคุณทุกคนที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะดังกล่าว ก็อยากให้เด็กๆ นำปัญหาต่างๆ ไปเผยแพร่ ยิ่งคนรู้มากเท่าไร เราก็จะมีวิธีการแก้ไขปัญหากันมากเท่า พวกเราต่อสู้กับปัญหานี้มาเป็นสิบๆ ปี พยายามคิดหาวิธีแก้ไขปัญหา แต่ก็ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร อยากให้หน่วยงานรัฐบาลยื่นมือเข้าช่วยเหลือให้มากกว่านี้ อย่าคิดว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องไกล เวลานี้ไม่ใช่มาหาว่าใครผิด น่าจะมาช่วยกันคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาจะดีกว่า มองถึงว่าสิ่งที่กำลังจะทำคือมรดกให้ลูกหลาน”
       
       ขณะเดียวกันทางด้านหัวหน้ากลุ่มการจัดการที่ดินชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกการดำเนินงานของรัฐบาลจริงๆ แล้วรัฐไม่ได้ปล่อยหรือเพิกเฉยต่อปัญหาของชาวบ้านในเวลานี้รัฐก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน
       
       “เรากำลังหาวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่การสร้างเขื่อนที่ชาวบ้านได้นำเสนอ ยังไม่มีผลการทดลองยืนยันว่าใช้ได้ผลจริงแต่ประการใด และขั้นตอนกระบวนการอนุมัติก็ค่อนข้างยุ่งยาก ต้องส่งเรื่องไปยังหน่วยงานต่างๆ เนื่องจาก ใช้งบประมาณสูง แต่ในเวลานี้รัฐก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน นำไส้กรอกทรายมาให้ช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง ตอนนี้เราก็พยายามศึกษาปัญหาดังกล่าวกันอย่างเต็มที่ ลงพื้นที่มาคุยกับชาวบ้านหาเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้ใหม่”


เอ้า..ช่วยกันคนละไม้ละมือ
       
       ส่วนมุมมองจากเยาวชน นักอนุรักษ์ป่าชายเลน “แพท” ณัฐฐา ทองมณี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนหอหวัง หนึ่งในคณะกรรมการ World Bank Youth Club แพทเอ่ยความรู้สึกหลังจากที่ฟังบรรยายถึงปัญหาการกักเซาะชายฝังทะเล ว่าได้สัมผัสสถานที่จริงๆ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนถึงปัญหาและประสบการณ์ตรงทั้งคนในหมู่บ้านและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของภาครัฐ
       
       “ทำให้เรามีสำนึก รักธรรมชาติ อยากจะปลูกป่าชายเลน เมื่อเรามาร่วมโครงการนี้ได้สัมผัสกับสถานที่และเห็นการดำรงชีวิตจริงๆ ของชาวบ้านในบางมุมที่ไม่เคยเห็นจากรายการโทรทัศน์”
       
       ปิดท้ายเมื่อ ถามถึงความคิดเห็นต่อการสร้างเขื่อนสลายพลังคลื่นว่า เห็นด้วยหรือไม่ แพทบอกคงออกความคิดเห็นไม่ได้ เนื่องจากยังขาดความรู้ในเรื่องดังกล่าวอยู่
       
       “เพราะเราไม่รู้ว่าว่าเขื่อนสลายพลังน้ำใช้ได้จริงหรือเปล่า แต่ก็อยากให้รัฐบาล ผลักดันให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมดังเป็นวาระแห่งชาติ เพราะปัญหาดังกล่าวก็สำคัญไม่แพ้กับปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาเรื่องอื่นๆ เช่นกัน อย่างน้อยถ้าเราร่วมมือกันก็ช่วยให้ชาวบ้านมีแหล่งทำกิน มีบ้านอยู่ ชาวบ้านในหมู่บ้านก็ไม่ต้องเข้าไปทำงานในกรุงเทพ ช่วยลดปัญหาการแออัด ปัญหาอาชญากรรมได้”...




จาก                  :                   ผู้จัดการออนไลน์   วันที่ 29 เมษายน 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
หน้า: 1 [2] 3   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.319 วินาที กับ 20 คำสั่ง