กระดานข่าว Save Our Sea.net
พฤษภาคม 24, 2024, 04:56:47 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550  (อ่าน 4337 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายชล
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8186


Saaychol


« เมื่อ: มิถุนายน 30, 2007, 05:50:02 AM »

ทราบไหมคะ.... ขณะนี้บ้านเรามีกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ออกมา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2550  และจะมีผลใช้บังคับในอีก 30 วันถัดไป กฎหมายนี้มีชื่อว่า  พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

เนื่องจากพวกเราก็อยู่สังคมออนไลน์ จึงน่าจะได้รับทราบเรื่องนี้กันไว้บ้าง สายชลจึงขอนำเสนอข่าวเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้ได้รับทราบกันค่ะ ถือว่า "รู้ไว้ใช่ว่า....ใส่บ่าแบกหาม" และจะได้ระมัดระวังตัว ไม่ไปทำผิดกฎหมาย ซึ่งมีโทษรุนแรงทีเดียวค่ะ




« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 30, 2007, 06:26:29 AM โดย สายชล » บันทึกการเข้า

Saaychol
สายชล
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8186


Saaychol


« ตอบ #1 เมื่อ: มิถุนายน 30, 2007, 06:04:40 AM »

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ฉบับเต็มหาอ่านได้ที่นี่ค่ะ

http://www.pakkretcity.go.th/DLForm/computer.pdf

ส่วนสรุปเนื้อหาสำคัญนั้น เชิญอ่านจากข่าวหนังสือพิมพ์ต่างๆ ที่สายชลไปหามาให้อ่านนะคะ


บันทึกการเข้า

Saaychol
สายชล
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8186


Saaychol


« ตอบ #2 เมื่อ: มิถุนายน 30, 2007, 06:06:19 AM »

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นข่าวใหญ่ของผู้คนในวงการคอม พิวเตอร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เดลินิวส์  วันที่ 26 มิถุนายน 2550 เวลา 00:00 น.
     
อันเนื่องมาจากการมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน นับจากวันที่ 18 มิ.ย. 2550
   
มาตราต่าง ๆ ใน พ.ร.บ.จำนวน 12 หน้า เกี่ยวข้องกับบทลงโทษผู้ทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์รวมถึงกำหนดบทบาทการทำงานของเจ้าหน้าที่
     
ขอสรุปมาตราหลัก ๆ ในหมวด 1 มาให้อ่านกัน
     
มาตรา 5 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 
     
มาตรา 6 ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะ ถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
     
พูดกันง่าย ๆ ก็คือ ใน มาตรา 5 มีไว้เพื่อลงโทษพวกที่ชอบแอบเจาะระบบคอมพิวเตอร์ของชาวบ้าน หากทำความผิดเข้าข่ายมาตราดังกล่าวก็จะเจอโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และมาตรา 6 หากพวกที่แอบเจาะข้อมูล ขโมยข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ไปเปิดเผยทำให้คนอื่นได้รับความเสียหายก็จะมีโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี

อีกมาตราหนึ่งที่หลาย ๆ ฝ่ายรอกันมานาน โดยเฉพาะผู้เสียหายจากการเผยแพร่ ตัดต่อภาพถ่าย ภาพวิดีโอที่เห็นเป็นข่าวอยู่เป็นประจำ ก็จะอยู่ในมาตรา 16 เขียนไว้ว่า ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
     
ใช่ว่าจะลงโทษแค่ต้นตอเผยแพร่ภาพเหล่านั้น ผู้ส่งต่อหรือพวกที่ชอบฟอร์เวิร์ดเมล์ แม้จะรู้ว่าการส่งต่อจะทำให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่นก็มีความผิดเช่นกัน โทษที่กำหนดไว้ก็คือจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
     
ยกตัวอย่างมาให้อ่านแบบย่อ ๆ เฉพาะบทลงโทษที่สำคัญซึ่งเรามักจะพบเจอบ่อย ๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ 
     
ก่อนจะส่งต่ออีเมลที่มีเนื้อหาหรือรูปที่ไปทำลายผู้อื่น ไม่ได้สร้างสรรค์สังคมก็ลบหรือหยุดแค่เรา อย่าได้ริไปส่งต่อ ระวังจะเจอโทษทั้งจำและปรับ มาช่วยกันกำจัดพวกที่แอบอยู่ในมุมมืดของโลกออนไลน์กันดีกว่า.

ปรารถนา ฉายประเสริฐ
Prathana.chai@gmail.com


ข้อมูลจาก.....http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?ColumnId=41735&NewsType=2&Template=1
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 30, 2007, 06:28:25 AM โดย สายชล » บันทึกการเข้า

Saaychol
สายชล
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8186


Saaychol


« ตอบ #3 เมื่อ: มิถุนายน 30, 2007, 06:10:05 AM »

ส่งคลิปมือถือ แอบถ่าย-เวบไซต์ลามกหนาวแน่

คม-ชัด-ลึก 9 พฤษภาคม 2550 20:22 น.
 
สนช.ผ่านกฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์แล้ว เผยบังคับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเก็บข้อมูล 90 วันไว้ตรวจสอบ "เสรีพิศุทธ์" ตั้ง "จงรัก" ลุยฟันอาญา www.youtube.com มั่นใจเอาผิดได้แน่

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธาน ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ....ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับลักษณะความผิดที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ บทลงโทษผู้กระทำความผิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพศาล พืชมงคล สมาชิก สนช.ติดใจในการแก้ไขของกรรมาธิการใน มาตรา 5 ที่ระบุว่า ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึง โดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีสำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุก 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ และความผิดนี้เป็นความผิดที่ยอมได้ ซึ่งคณะกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มบทลงโทษเป็นโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หนึ่งบาท หรือทั้งจำและปรับ และตัดข้อความเป็นความผิดที่ยอมได้ออก

ทั้งนี้ นายไพศาล เห็นว่าความผิดที่ยอมความไม่ได้ น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงหรือสาธารณะ ไม่ใช่ทุกคดีที่เกิดขึ้น เพราะบางคดีที่คู่กรณีอาจจะมีการประนีประนอมยอมความกันได้ โดยไม่ต้องขึ้นศาล ควรคงไว้ตามร่างเดิม อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการไม่เห็นด้วย ในที่สุดที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการด้วยคะแนน 57 ต่อ 47 เสียง

จากนั้นได้พิจารณา มาตรา 6-10 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับบทลงโทษที่กรรมาธิการแก้ไขเพิ่มโทษกับผู้กระทำความผิด ซึ่งกรรมาธิการเพิ่มเติม มาตรา 10/1 ว่า ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลง แหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

สมาชิกหลายคนตั้งข้อสังเกตถึงถ้อยคำ "ปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มา" ว่ามีขอบเขตกว้างขวางเพียงใด เพราะปัจจุบันผู้ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์นั้น ไม่ได้ใช้เฉพาะคอมพิวเตอร์หรือมือถือของตนเท่านั้น แต่ไปใช้ในร้านอินเทอร์เน็ตหรือสถานที่อื่นๆ ซึ่งบางครั้งผู้ใช้ก็ไม่ได้มีเจตนาปกปิด

นายมีชัย ได้ซักถามว่า มาตราดังกล่าว ครอบคลุมการส่งข้อความเข้ามือถือโดยไม่ระบุที่มาด้วยหรือไม่ เนื่องจากทุกวันนี้พวกตนเดือดร้อนมาก เพราะส่งข้อความเข้ามาเป็นประจำ ซึ่งกรรมาธิการยืนยันว่า มาตราดังกล่าวครอบคลุมการกระทำผิดในการส่งข้อความเข้ามือถือด้วย ในที่สุดที่ประชุมก็มีมติเห็นด้วยกับการเพิ่ม มาตรา 10/1

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนั้นที่ประชุมยังเห็นชอบกับการที่กรรมาธิการ แก้ไขเพิ่มเติมข้อความในมาตรา13ที่ระบุถึงความผิดต่างๆ จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อาทิ

1.การเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

2.นำเข้าสู่ระบบคอมพ์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

3.นำเข้าสู่ระบบคอมพ์ ซึ่งข้อมูลใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

4.เข้าสู่ระบบที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ และ 5.เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลตามข้อ 1-4 ขณะที่ มาตรา 14 ระบุว่าผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสุนหรือยินยอมให้มีการกระทำผิดตามมาตรา 13 ในระบบคอมพ์ ที่อยู่ในความควบคุมของตนต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดตามมาตรา 13

ส่วนการพิจารณาใน มาตรา 15 ที่ระบุว่าผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพ์ ที่ประชาชนทั่วไป อาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่นและภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้นตัดต่อเติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น นายบดินทร์ อัศวานิชย์ สนช. อภิปรายแสดงความเป็นห่วงว่า อาจไม่ครอบคลุมการกระทำที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรที่กฎหมายไทยเอาผิดไม่ถึง ในที่สุดกรรมาธิการจึงยอมเพิ่มเติมข้อความในมาตรา 15 วรรค 1 ว่าให้ครอบคลุมการกระทำผิดนอกราชอาณาจักร ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะเป็นคนไทย หรือคนต่างด้าว ซึ่งทำให้ราชอาณาจักรไทยเสียหาย

ที่ประชุมยังเห็นชอบกับการที่กรรมาธิการเพิ่มข้อความใน มาตรา 26/1 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีอำนาจรับร้องทุกข์หรือรับคำกล่าวโทษ และมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนเฉพาะความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ และให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแล สตช. มีอำนาจร่วมกันกำหนดระเบียบเกี่ยวกับแนวทางและวิธีปฏิบัติในการดำเนินการจับ ควบคุม ค้น การทำสำนวนสอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในวาระ 3 ด้วยคะแนน เสียง 119 ต่อ1 งดออกเสียง 1 เสียง

ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และกรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า สนช.เพิ่มเรื่องการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรเข้าไปเพื่อครอบคลุมป้องกันการทำผิดในต่างประเทศ ทั้งนี้มีส่วนในเรื่องของความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สำหรับหน่วยงานที่จะเข้ามาตรวจสอบและรับผิดชอบ พ.ร.บ.นี้ คือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) โดยจะมีการร่างคุณสมบัติผู้ที่เหมาะสม เร่งจัดหลักสูตรเพื่ออบรมคัดสรรผู้มีความรู้มาปฏิบัติงานโดยเร็วเพื่อให้ทันการประกาศใช้ในอีก 3 เดือน

ดร.สุเจตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.นี้ป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิด การที่จะสั่งบล็อกเวบต้องขออำนาจจากศาลโดยตรง ที่ผ่านมาการบล็อกเวบ เป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ซึ่งไม่มีการตรวจสอบที่แน่ชัด ในส่วนของ พ.ร.บ.นี้จะคำนึงถึงเสรีภาพของประชาชนและควบคุมการรับผิดชอบในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ของประชาชน ใครจะโจมตีใครหรือกล่าวหาใครก็ต้องมีหลักฐาน ซึ่ง พ.ร.บ.นี้ควบคุมไว้แล้ว

"ในบ้านเรามีการกระทำผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก โดยมีการพยายามร่าง พ.ร.บ.นี้ขึ้นมากว่า 9 ปีแล้ว แต่ก็ไม่ผ่าน เนื่องจากช่วงนั้นมีปัญหาทางด้านการเมืองบ่อยครั้ง ดังนั้นในเรื่องการทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยไวรัส การขโมยข้อมูล การตัดต่อภาพเพื่อใส่ร้ายผู้อื่น การส่งอีเมลลามก หรือทำลายความมั่นคงของชาติ เป็นเรื่องที่เอาผิดยากมาก เราหวังว่ากฎหมายนี้จะทำให้โลกไซเบอร์ปลอดภัยมากขึ้น ในส่วนของเด็กเยาวชนและผู้ปกครองจะได้รับประโยชน์ป้องกันการเข้ามาของเวบลามกต่างๆ และจะเป็นผลดีต่อสังคมไทย โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางไอทีในวันข้างหน้า ก็จะได้รับการยอมรับจากนานาประเทศมากขึ้น" ดร.สุเจตน์ กล่าว

ดร.สุเจตน์ กล่าวด้วยว่า กฎหมายฉบับนี้ ครอบคลุมการใช้โทรศัพท์มือถือด้วย เพราะถือว่าเป็นการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ อย่างเช่น มือถือที่มีระบบบลูทูธ แล้วมีคนอื่นไปดูดเอาข้อมูลหรือภาพ ไปเผยแพร่ ก็จะมีความผิด หรืออย่างกรณีที่มีข่าวว่า มีวิดีโอดาราที่ถ่ายภาพไว้กับแฟนหนุ่ม แล้วมีคนเอาไปเผยแพร่ ก็จะมีความผิดเช่นกัน

"ก่อนหน้านี้ การติดตามตรวจสอบเอาผิด อาจเป็นเรื่องลำบาก เพราะผู้ให้บริการไม่ยอมให้ความร่วมมือ แต่กฎหมายฉบับนี้บังคับให้ผู้ให้บริการเวบไซต์ต้องเก็บข้อมูลการใช้บริการเป็นเวลา 90 วัน เพื่อให้เจ้าพนักงานเข้าไปตรวจสอบ"

ดร.สุเจตน์ กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนั้ สนช.จะต้องส่งร่างกฎหมายกลับไปให้ ครม.จากนั้น ครม.จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ก่อนที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยผลบังคับใช้กฎหมายนี้ จะมีขึ้นภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน

อย่างไรก็ตาม ดร.สุเจตน์ กล่าวด้วยว่า กรณีเวบยูทูบไม่ใช่กรณีที่จะประเดิมกฎหมายฉบับนี้ เพราะขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการฟ้องร้องทางอาญา ซึ่งกระทรวงไอซีที ประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาตลอด แต่การดำเนินการกับเวบยูทูบอาจจะยากสักหน่อย เพราะต่างประเทศเขาไม่ให้ความร่วมมือ เอฟบีไอเคยแจ้งมาว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ ไอซีทีจึงกำลังมองดูว่า มีตัวแทนที่อยู่ในประเทศไทยหรือไม่

สำหรับกรณีเวบยูทูบนั้น ล่าสุด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส รักษาการแทน ผบ.ตร. สั่งแต่งตั้งให้ พล.ต.ท.จงรัก จุฑานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับเวบยูทูบ www.YouTube , http:22downthisvideocom2tag2bhumibol และ www.adulyadej.com เพื่อดำเนินคดีกับเวบไซต์ดังกล่าว โดย สตช.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการกระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของราชอาณาจักร ซึ่งเป็นคดีที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

บ่ายวันเดียวกัน พล.ต.ท.จงรัก ได้เรียกประชุมคณะพนักงานสอบสวนชุดคลี่คลายคดี โดยมี พล.ต.ต.จุตติ ธรรมมโนวานิช รอง ผบช.น. พ.ต.อ.ประพนธ์ แกลโกศล รอง ผบก.น.9 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

พล.ต.ท.จงรัก แถลงภายหลังการประชุมว่า การกระทำดังกล่าวถือได้ว่า เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นการทำร้ายจิตใจ ทำร้ายความรู้สึกของพี่น้องประชาชนอย่างรุนแรง ไม่สามารถรับได้ พนักงานสอบสวนจะประสานกับกระทรวงไอซีที เพื่อขอข้อมูลทั้งหมดมาสืบสวนหาที่มาของเวบไซต์ดังกล่าว ซึ่งในเบื้องต้นมาจากต่างประเทศ จึงขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนอย่าเปิดเข้าไปดู และอย่าเผยแพร่ออกไปให้บุคคลอื่นเป็นอันขาด เพราะการเผยแพร่ภาพถือเป็นการกระทำความผิด ขณะเดียวกัน หากมีเบาะแสใดๆ ก็ขอให้แจ้งให้ทราบด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนี้เกิดในต่างประเทศ มีกฎหมายเอาผิดได้หรือไม่ พล.ต.ท.จงรัก กล่าวว่า เนื่องจากเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 7 ระบุว่า แม้จะไปทำนอกราชอาณาจักร ก็จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร เพราะฉะนั้นจึงสามารถดำเนินการไ


ข้อมูลจาก....http://www.komchadluek.net/2007/05/09/a001_114839.php?news_id=114839
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 30, 2007, 06:30:23 AM โดย สายชล » บันทึกการเข้า

Saaychol
สายชล
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8186


Saaychol


« ตอบ #4 เมื่อ: มิถุนายน 30, 2007, 06:14:48 AM »

ธุรกิจออนไลน์ตีปีกรับกม.คอมฯ ห่วงการบังคับใช้ไม่สัมฤทธิผล

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3908 (3108)

ผู้ประกอบการขานรับ กม.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ช่วยจัดระเบียบสังคมออนไลน์ สร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ชี้บทลงโทษปรับผู้ส่ง "สแปมเมล์" ช่วยหนุนให‰แนวโน‰ม "อีเมล์มาร์เก็ตติ้ง" ที่ถูกต้องเป็นที่ยอมรับมากขึ้น แต่ยังลุ้นดูความชัดเจนจากประกาศกฎกระทรวงของรัฐมนตรีไอซีที เกรงเจ้าหน้าที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ ทำให้การบังคับใช้ กม.ไม่สัมฤทธิผล ขณะที่ "ผู้ให้บริการ" เป็นห่วงต้องแบกต้นทุนเพิ่มจากข้อบังคับให้จัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการไม่น้อยกว่า 90 วัน 
 
ทั้งนี้จากที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 18 มิถุนายน 2550 และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศ

นายทรงยศ คันธมานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ แพลนเน็ท เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูป ให้ความเห็นกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 น่าจะเป็นผลดีกับผู้ประกอบการอีคอมมิร์ซ โดยเฉพาะมาตรา 11 ข้อบังคับเกี่ยวกับการส่งสแปมเมล์โดยปกปิดแหล่งที่มา อันอาจเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท จะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการที่ใช้วิธีการทำตลาดแบบ E-mail marketing อย่างถูกต้อง เพราะจะช่วยสกรีนผู้ทำตลาดแบบฉาบฉวยออกไปจากตลาด

"ผู้ที่ทำอีเมล์มาร์เก็ตติ้งอย่างถูกวิธีจะต้องมีระบบการลงทะเบียนเพื่อให้ได้รายชื่ออีเมล์มาด้วยความยินยอมของลูกค้า และมีระบบยกเลิกการรับอีเมล์ที่ใช้งานได้จริง แต่ตอนนี้คนที่ทำธุรกิจแบบฉาบฉวยมีมาก ไปซื้อโปรแกรมส่งสแปม และรายชื่ออีเมล์แอ็ดเดรสนับแสนๆ รายมาไม่กี่ร้อยบาท ซึ่งวิธีการแบบนี้ก็ทำให้เสีย productivity เพราะคนอ่านต้องมาเสียเวลาคัดอีเมล์ หรือติดตั้งระบบแอนตี้สแปมเสียเงิน" นายทรงยศกล่าวและว่า

ถ้ากฎหมายดังกล่าวมีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพอาจจะทำให้การใช้อีเมล์มาร์เก็ตติ้งที่ถูกวิธีจะได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาการใช้อีเมล์มาร์เก็ตติ้งไม่ค่อยได้รับความนิยม เนื่องจากมีการปะปนกับ spammail ทำให้การตอบรับไม่ดี

ส่วนประเด็นอื่นๆ ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่อาจกระทบกับผู้ประกอบการนั้น นายทรงยศมองว่า น่าจะเป็นมาตราที่กำหนดให้ผู้ประกอบการเว็บไซต์ต่างๆ เก็บบันทึกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (log file) การเข้าใช้เว็บไซต์ต่างๆ ไว้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน ซึ่งจุดนี้จะทำให้ต้นทุนของผู้ให้บริการเว็บไซต์ต่างๆ สูงขึ้น เนื่องจากต้องใช้พื้นที่เก็บมากขึ้น และอาจต้องลงทุนระบบสำรองเพิ่มเติม ขณะที่เว็บไซต์ที่มีบริการต่างๆ เช่น เว็บบอร์ด ฟรีเว็บไซต์ที่ผู้ให้บริการไม่มีทุนมาก อาจอยู่ไม่ได้หรือต้องมีการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

"ในภาพรวมคิดว่าการบังคับใช้กฎหมายจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยไปในทางบวก เพราะผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจะมีความรับผิดชอบมากขึ้น นอกจากนี้จะทำให้ความน่าเชื่อถือในการทำการค้าออนไลน์ดีขึ้น ช่วยกระตุ้นการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซโตมากขึ้น ขณะที่เว็บมาสเตอร์ต่างๆ จะต้องดูแลรับผิดชอบเว็บไซต์ของตนให้มากขึ้น โดยเฉพาะเว็บบอร์ดที่โพสต์ได้อิสระจะลดลง ต้องมีระบบกลั่นกรองหรือมีระบบสมาชิก"

นางสาวภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ อุปนายกและเหรัญญิก สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า การที่จะดูว่าอีเมล์ไหนเป็นสแปม อันไหนใช้เพื่อเป็น E-mail marketing จะดูจากวิธีการที่ผู้ส่งได้อีเมล์แอ็ดเดรสมาอย่างถูกต้องหรือไม่ ถ้าเจ้าของอีเมล์ลงทะเบียนเป็นสมาชิกเองก็ไม่ถือว่าเป็นสแปม แต่ถ้าได้มาอย่างไม่ถูกต้องหรือไม่ได้รับอนุญาต เช่น ไปซื้อรายชื่ออีเมล์แอ็ดเดรสมาก็ถือว่าเป็นสแปม ส่วนเนื้อหาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

มาตรา 11 เป็นเรื่องเกี่ยวกับสแปมโดยเฉพาะ ที่ว่าผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท รวมถึงการส่งสแปมเมล์จนทำให้ระบบทำงานของผู้อื่นทำงานไม่ได้ก็ต้องรับผิดด้วย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังครอบคลุมถึงการ forward mail ภาพลามกต่อๆ กัน โดยในมาตรา 13(4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"ถ้าเราส่งเมล์ภาพส่วนตัวถึงแม้จะเป็นภาพของเราเองไปให้คนอื่นดู ถ้าภาพนั้นเป็นภาพลามก เราก็มีความผิด" นางสาวภูมิจิตกล่าว

ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด กล่าวว่า การบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้น่าจะป้องกันในเรื่องการส่ง spam mail ในระดับหนึ่งแต่ก็ยังมีช่องโหว่สำหรับการส่งจากต่างประเทศซึ่งกฎหมายไม่สามารถบังคับไปถึงได้ แต่ก็จะช่วยจัดระเบียบผู้ประกอบการในการส่งอีเมล์ประเภทสแปมได้มากขึ้น

"เรื่องที่ผู้ประกอบการเป็นกังวลน่าจะเป็นเรื่องของการเก็บข้อมูล log file และเรื่องของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ที่มีอำนาจมาก แม้ว่าจะมีการจำกัดอำนาจในการดำเนินการใดๆ จะต้องขอหมายศาลก่อน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าใครหรือหน่วยงานไหนจะมาเป็นเจ้าพนักงาน เพราะผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องแบบนี้ในไทยมีไม่กี่คน ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อกฎหมายบังคับใช้จริงแล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง" นายภาวุธกล่าว

แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจออนไลน์กล่าวว่า เนื่องจากมาตรา 26 ระบุว่า ผู้ให้บริการที่จะต้องเก็บรักษาข้อมูลของผู้ใช้บริการ เพื่อให้สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการนับตั้งแต่เริ่มใช้บริการและต้องเก็บรักษาไว้ไม่น้อยกว่า 90 วันนั้น ผู้ให้บริการใดที่จะเข้าข่ายบ้างนั้นไม่ชัดเจน ทั้งนี้จะต้องรอดูประกาศกฎกระทรวงของรัฐมนตรีไอซีทีอีกครั้งว่า ครอบคลุมถึงใครบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นที่กังวลของเจ้าของเว็บไซต์ต่างๆ เพราะในกรณีนี้จะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และถ้าไม่ปฏิบัติก็ต้องมีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาทด้วย

รวมถึงในกรณีของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีไอซีทีเป็นผู้กำหนดคุณสมบัติว่าจะมีการประกาศได้เมื่อไหร่ รวมทั้งแต่งตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลรับผิดชอบ ซึ่งหลายฝ่ายก็เกรงว่ากฎหมายมีข้อกำหนดที่ดี แต่ในทางปฏิบัติหรือการติดตามผู้กระทำผิดต่างๆ จะสามารถดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน

ด้านนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ หนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญร่างกฎหมายฉบับนี้ เคยกล่าวแสดงความเห็นไว้ว่า หากประกาศรัฐมนตรีไอซีทีไม่ได้กำหนดนิยามผู้ให้บริการให้เฉพาะเจาะจง ผู้ให้บริการตามกฎหมายฉบับนี้จะไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ISP เท่านั้น แต่รวมถึงใครก็ได้ที่ทำให้บุคคลอื่นเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อาทิ ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ รวมถึงบริษัททั่วไปที่มีอิน เทอร์เน็ตให้พนักงานใช้ ก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้
บันทึกการเข้า

Saaychol
สายชล
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8186


Saaychol


« ตอบ #5 เมื่อ: มิถุนายน 30, 2007, 06:17:37 AM »


ไอซีทีแจงปัญหาใช้"กม.ความผิดคอม"

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3908 (3108)


"ไอซีที" เร่งยกร่างกฎกระทรวง เพื่อเป็นระเบียบปฏิบัติบังคับใช้ กม.ความผิดคอมฯ รักษาการปลัดไอซีที แจงปัญหาไม่สามารถแต่งตั้ง "พนักงานเจ้าหน้าที่" ตามกฎหมายได้ทันการบังคับใช้ เบื้องต้นต้องอาศัยตำรวจให้รับแจ้งดำเนินคดีก่อน พร้อมออกประกาศผ่อนผันให้เวลา "ผู้ให้บริการ" ปรับตัวอีก 3-5 เดือน และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรียกเลิกคำสั่ง คปค.ฉบับที่ 5 ที่ให้อำนาจบล็อกเว็บ

นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้ากระทรวงเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 5 เรื่องให้กระทรวงไอซีทีควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งให้อำนาจกระทรวงควบคุม ยับยั้ง สกัดกั้น และทำลายการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผ่านระบบเครือข่ายการสื่อสารทั้งปวง

"ขณะนี้ประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะปกติ ใกล้จะมีการเลือกตั้ง และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็น พ.ร.บ.ที่ดีมาก เพราะให้อำนาจควบคุมเว็บที่ไม่เหมาะสมโดยใช้คำสั่งศาลแทนการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานอย่างเดียว กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ จึงเสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คปค. โดยคาดว่าหลังจาก ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า อีก 2-3 สัปดาห์ก็จะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา และประกาศยกเลิกในราชกิจจานุเบกษาได้อีก 5-6 สัปดาห์ข้างหน้า" รัฐมนตรีไอซีทีกล่าว

ส่วนความคืบหน้าของการยกร่างกฎกระทรวงเพื่อใช้เป็นระเบียบปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้น นายสือ ล้ออุทัย รองปลัดกระทรวง รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงไอซีที เปิดเผยว่า ไอซีทีได้นำร่างกฎกระทรวงที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ทำไว้มาปรับปรุงบางส่วน โดยจะเร่งให้เสร็จทันวันที่ 18 ก.ค.นี้ ตามนโยบายของรัฐมนตรีไอซีที

ประเด็นหลักที่มีการพิจารณาได้แก่ การให้เวลาผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเตรียมตัวในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยเฉพาะในการจัดเก็บข้อมูลจราจรที่กฎหมายระบุให้ต้องเก็บไว้ 90 วัน ซึ่งบริษัทห้างร้านให้บริการอินเทอร์เน็ตกับพนักงาน ก็เข้าข่ายต้องจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวด้วย ไอซีทีจึงจะให้เวลาผ่อนผันระยะหนึ่ง ตั้งแต่ 90-150 วัน ตามประเภทของผู้ให้บริการ คาดว่าหลังจากเชิญผู้ประกอบการมาให้ความเห็นอีกครั้งก็น่าจะได้ข้อยุติ

ส่วนเรื่องการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น รักษาการปลัดกระทรวงไอซีทีกล่าวว่า ได้เชิญทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ มาร่วมกันพิจารณาร่างกฎระเบียบแล้ว ในเบื้องต้นตกลงกันว่าจะให้ทางตำรวจเป็นผู้รับแจ้งความจากผู้เสียหายและดำเนินการทำสำนวนสอบสวน โดยไอซีทีจะมีคู่มือเกี่ยวกับลักษณะการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ให้และมีพนักงานเจ้าหน้าที่คอยช่วยประสานงานวิชาการและเทคนิค

"ส่วนการจับกุมตรวจค้นนั้น จริงๆ เป็นอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งรัฐมนตรีไอซีทีจะเป็นผู้แต่งตั้งและขึ้นตรงกับกระทรวง แต่ขณะนี้กระทรวงยังไม่พร้อม ก็ต้องร่วมกันพิจารณาอีกครั้งว่าแต่ละหน่วยงานจะมีขอบเขตอำนาจและต้องประสานกันแค่ไหน"

ทั้งนี้ แม้กระทรวงไอซีทีจะมีกลุ่มงานที่ดูแลด้านนี้ แต่เป็นการทำงานติดตามเว็บไซต์ลามกอนาจารตามที่มีการร้องเรียนเข้ามาเป็นหลัก จึงต้องดูโครงสร้างของกระทรวงว่าต้องตั้งหน่วยงานอะไรเพิ่มขึ้นมาหรือไม่ และต้องรับคนเพิ่มอีก 21-29 คน เพื่อให้เป็นเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้

อีกส่วนที่ต้องเร่งพิจารณา ได้แก่ ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ที่ไม่พึงประสงค์ตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าไร รวมถึงการประชาสัมพันธกฎหมายให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้ทราบ เนื่องจาก พ.ร.บ.นี้ใกล้ชิดกับประชาชนและมีบทลงโทษค่อนข้างมาก โดย ไอซีทีตั้งงบประมาณไว้ 23 ล้านบาทสำหรับการทำความเข้าใจกับประชาชน จัดประชุมสัมมนาทั่วทั้ง 4 ภาค และให้ความรู้ในรูปแบบอื่นๆ อย่างต่อเนื่องทั้งก่อนและหลังกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้


ข้อมูลจาก..... http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02com04280650&day=2007/06/28&sectionid=0209

บันทึกการเข้า

Saaychol
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.12 วินาที กับ 20 คำสั่ง