กระดานข่าว Save Our Sea.net
พฤษภาคม 01, 2024, 11:57:58 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ผีเสื้อแห่งท้องทะเล  (อ่าน 4392 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« เมื่อ: กันยายน 19, 2007, 12:31:01 AM »


ผีเสื้อแห่งท้องทะเล                   :                วินิจ รังผึ้ง



       หากเปรียบผีเสื้อเป็นเสมือนดอกไม้ที่โบยบินได้ในผืนป่าแล้ว บรรดาปลาสวยงามในแนวปะการังก็เป็นเสมือนดอกไม้ที่แหวกว่ายอยู่ในท้องทะเล แต่เอ...แล้วเราจะไปเปรียบเทียบกันให้มันได้อะไรขึ้นมาล่ะ เพราะแต่ละชีวิตก็ล้วนมีความงดงามมหัศจรรย์เป็นเอกลักษณ์ของตนไม่แพ้กัน ก็คงเป็นธรรมดาของมนุษย์นั่นแหละครับ มักอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสิ่งต่างๆกับสิ่งที่เคยพบเคยเห็น เคยบันทึกอยู่ในความทรงจำ จะทำอย่างไรได้ล่ะครับพระเจ้าเองยังสับสน สร้างอะไรต่อมิอะไรให้คล้ายคลึงกันได้แม้จะอยู่กันคนละฝั่งของโลก อย่างปลากระเบนนก (Eagle ray) ปลากระเบนชนิดหนึ่งซึ่งมีหน้าแหลม ๆ ปากยื่น ๆ คล้ายนก หรือหนู ว่ายน้ำด้วยอาการกระพือปีกบินราวกับนก ผู้คนจึงเรียกว่ากระเบนนก หรืออย่างม้าน้ำที่เป็นปลาชนิดหนึ่ง เป็นปลาที่มีหน้าตาไม่เหมือนปลามากที่สุด หน้าดันไปคล้าย ๆ กับม้า จึงถูกเรียกว่าม้าน้ำ ส่วนปลาสาก ลำตัวเป็นดุ้น ๆ ตัน ๆ ยาว ๆ คล้ายกับสากตำข้าว จึงถูกเรียกว่าปลาสาก (แต่ชนิดหลังนี้ไม่เกี่ยวกับพระเจ้ามั้งครับ)
      
       ในบริเวณแนวปะการังที่เราดำน้ำกันบ่อย ๆ มักจะพบเจ้าปลาสีสันสดใส แดงเป็นแดง เหลือเป็นเหลือง แถมเป็นเหลืองมะนาวสดใส หรือบางตัวก็มีแถบมีลาย ทั้งลายเส้น ลายคาด แล้วแต่เผ่าพันธุ์จะออกแบบมา ตัวขนาดราว ๆ ฝ่ามือ ว่ายวนเวียนไปมา แวะตอดแวะตอมไปตามกิ่งก้านปะการังราวกับอากัปกิริยาของผีเสื้อที่โบยบินตอมไปตามดอกไม้ในผืนป่า ด้วยสีสันอันสดใสและกิริยาอาการดังกล่าว เจ้าปลากลุ่มนี้จึงถูกเรียกว่า ปลาผีเสื้อ (Butterflyfish) ซึ่งมีญาติพี่น้องในกลุ่มเดียวกันนี้หลายสิบชนิดในท้องทะเลไทยทั้งทางฝั่งอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน พบมากถึงกว่า 30 ชนิด โดยฝั่งทะเลอันดามันจะพบมากหน่อยถึงราว 28 ชนิด และฝั่งอ่าวไทยพบราว 14 ชนิด ซึ่งบางชนิดอาจพบทั้งสองฝั่ง
      
       ปลาผีเสื้อมักจะออกหากินเป็นคู่ ๆ ว่ายเวียนคลอเคลียกันไปอย่างน่าอิจฉา ชนิดที่มีคำเตือนว่านักดำน้ำที่กำลังอกหักไม่ควรมอง เพราะอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตก็เป็นได้ ปลาผีเสื้อบางชนิดอาจพบเป็นกลุ่มย่อย ๆ ไม่เกิน 10 ตัว นาน ๆ ครั้งจะพบการรวมกลุ่มเป็นฝูงใหญ่ ๆ 20-30 ตัวสักครั้ง เช่นปลาผีเสื้อคอขาว ปลาผีเสื้อชนิดต่าง ๆ มักจะมีปากยื่นยาวออกมา เพื่อให้เหมาะกับการหาอาหารตามซอกหลืบปะการัง หรือบางชนิดอาจมีปากยื่นแหลมยาวออกมามากๆก็มี ซึ่งปลาผีเสื้อมักจะกินตัวปะการังและสัตว์เล็ก ๆ ในบริเวณปะการังโครงสร้างแข็งเป็นหลัก
      
       ด้วยความสวยงามของสีสัน รูปร่างและขนาดพอดี ๆ ประมาณ 1 ฝ่ามือ จึงทำให้ปลาผีเสื้อหลายชนิดกลายเป็นปลาที่ถูกจับขึ้นมาเลี้ยงเป็นปลาตู้ในเมือง การจับปลาสวยงามตามแนวปะการังนี้ทำกันโดยการใช้ลอบขนาดใหญ่นำลงวางดักไว้ตามแนวปะการัง ปลาสวยงามที่ว่ายหากินกันอยู่เป็นฝูงมักจะว่ายตามกันเข้าไปติดในลอบกันทั้งฝูง ประเภทว่ายตามจ่าฝูง ตามผู้นำซีอีโอเข้าไปประสบชะตากรรมร่วมกันทั้งฝูง นอกจากการใช้ลอบดักปลาแล้วยังมีการลักลอบจับปลาสวยงามด้วยวิธีการใช้ยาเบื่อประเภทไซยาไนต์โดยบรรจุน้ำยาลงในขวดพลาสติก แล้วดำลงไปใต้น้ำด้วยการใช้สายยางปั๊มอากาศลงไปหายใจ เมื่อพบปลาสวยงามตามแนวปะการังก็จะบีบขวดโรยไซยาไนต์ไปตามฝูงปลา เมื่อปลาสวยงามหายใจโดยดูดน้ำผ่านเข้าไปทางเหงือก ยาก็จะเข้าไปในร่างกาย ฤทธิ์ยาเบื่อจะทำลายระบบประสาท ที่โดนยาปริมาณมากก็ถึงตาย ที่โดนไม่มากนักจะมึนงงเสียการทรงตัว ไม่สามารถว่ายน้ำหนีไปได้ พวกลักลอบจับปลาก็จะเก็บปลาใส่ถุงตาข่ายนำกลับขึ้นมาบนเรือ แล้วรีบนำไปใส่ในถังน้ำเค็มปั๊มอากาศช่วยให้มันหายใจได้คล่องตัวขึ้น ซึ่งพิษของไซยาไนต์ที่โรยไปตามกระแสน้ำนั้นไม่ได้ทำลายเฉพาะปลาสวยงามอย่างเดียว แต่จะให้สรรพชีวิตในแนวปะการังเช่น ตัวปะการัง ฟองน้ำ กัลปังหา กุ้ง หอย ปู ปลาขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นโดนยาเบื่อตายลงเป็นจำนวนมาก
      
       ปลาสวยงามที่ถูกจับขึ้นมาจากท้องทะเลก็จะถูกนำมาพักฟื้นตามบ่อเลี้ยงใกล้ชายฝั่ง ซึ่งปลาในจำนวนนี้กว่าครึ่งจะเสียชีวิต ส่วนปลาที่แข็งแรงสามารถทนอยู่ได้ก็จะถูกส่งไปยังตลาดปลาตู้ในเมือง โดยตลาดใหญ่นั้นจะอยู่ที่สวนจตุจักร และเมื่อผู้คนซื้อไปเลี้ยง ปลาสวยงามเหล่านี้จะทนอยู่ในตู้ตามบ้านได้ระยะหนึ่ง สีสันก็จะค่อย ๆ ซีดลง และจะตายทั้งหมดในที่สุด เพราะลองหลับตานึกดูง่ายๆ ปลาที่ถูกจับมาโดยวิธีโรยยาเบื่อก็เหมือนคนที่ดื่มยาพิษเข้าไป แม้บางคนจะรอดตายเพราะแพทย์ล้างท้องเยียวยาช่วยชีวิตไว้ได้ทัน แต่ร่ายกายก็จะไม่แข็งแรงสมบูรณ์เหมือนเดิม ยิ่งต้องถูกจับจากท้องทะเลกว้างที่สมบูรณ์ไปด้วยอาหารและมีสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ พี่น้อง จากลูก จากครอบครัว จากเพื่อนพ้องเผ่าพันธุ์เดียวกันมาถูกกักขังไว้ในน้ำสารเคมีเพื่อให้มีสภาพคล้ายน้ำเค็ม ในตู้เลี้ยงแคบๆที่มีสภาพเหมือนติดคุกด้วยแล้ว ทั้งร่ายกาย ชีวิต จิตใจในวันเวลาที่เหลืออยู่จะเป็นช่วงเวลาที่แสนทรมานเพียงใด ฉะนั้นการเลี้ยงปลาน้ำเค็มในตู้ตามบ้านเรือนจึงเป็นการทำลายปลาสวยงามอย่างโหดร้ายทารุณยิ่ง
      
       ความจริงหากเทียบมูลค่าของการค้าปลาสวยงามเหล่านี้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับความสูญเสียและการทำลายล้างอันยิ่งใหญ่นั้น ช่างไม่คุ้มค่ากันเลย สู้หากปล่อยให้ปลาสวยงามเหล่านี้ได้มีโอกาสเผยแพร่เผ่าพันธุ์ออกลูกออกหลานในแนวปะการังแล้วให้นักดำน้ำจากทั่วโลกมาดำชม นั่นย่อมก่อให้เกิดมูลค่ามากมายมหาศาลกับประเทศชาติอย่างเทียบกันไม่ได้ เป็นมูลค่าที่ไม่ได้กระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มคนล่าและคนค้าปลาตู้เท่านั้น หากแต่จะกระจายรายได้ไปยังคนขับเรือ ลูกเรือ คนขับรถรับส่งที่ท่าเรือ โรงแรมที่พัก แม่บ้าน ร้านค้า คนทำอาหาร คนปลูกผัก คนซักรีด คนขายอุปกรณ์ดำน้ำ คนพาไปดำน้ำ และอีกมากมาย ในขณะที่เราไม่ต้องสูญเสียปลาสวยงามเหล่านี้สักตัวเดียว
      
       น่าเสียดายที่ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองปลาสวยงามเหล่านี้อย่างเด็ดขาดและครอบคลุม จะมีก็เพียงกฎหมายอุทยานแห่งชาติที่ห้ามไม่ให้ใครเข้าไปจับปลาในเขตอุทยานฯเท่านั้น ซึ่งการเข้าไปลักลอบจับปลาสวยงามตามแหล่งดำน้ำและในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลส่วนใหญ่มักจะลักลอบเข้าไปจับกันในช่วงฤดูมรสุมที่ไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยวเช่นในช่วงนี้ เพราะจะเป็นช่วงที่มีเรือท่องเที่ยวน้อย และปริมาณเจ้าหน้าที่ตรวจตราดูแลก็จะน้อยไปด้วย จึงเพียงได้แต่วอนขอต่อจิตสำนึกของผู้ที่คิดจะเลี้ยงปลาตู้น้ำเค็มให้เห็นแก่ชีวิตอันงดงามเหล่านี้ เห็นแก่ทรัพยากรที่ล้ำค่าของท้องทะเล ช่วยปกป้องท้องทะเลร่วมกันเถอะครับ ปล่อยให้ชีวิตเหล่านี้แหวกว่ายอยู่ในโลกอันงดงามของพวกเขาอย่างอิสระเสรีดีกว่า หากคิดถึงจึงค่อยแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนเป็นครั้งคราวดีไหมครับ



จาก               :                ผู้จัดการออนไลน์      วันที่ 19 กันยายน 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
boat sick forever
ตอบกระทู้เยอะ ๆ จะได้ 2 ดาว
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18


« ตอบ #1 เมื่อ: กันยายน 23, 2007, 02:12:24 PM »







ปัจจุบันในท้องทะเลไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีรายงานการพบปลาผีเสื้อในครอบครัวChaetodontidaeถึง40 ชนิดโดยแบ่งเป็นปลาผีเสื้อ(Butterflyfish)ในสกุลChaetodon ปลาโนรี(Bannerfish)ในสกุลHeniochus ปลาผีเสื้อปากยาวในสกุลChelmon และ Forcipiger ปลาผีเสื้อเอวดำในสกุลCoradion ปลาผีเสื้อปิรามิด(ขาวดำที่พบได้บ่อยแถวเกาะสิมิลัน)ในสกุลHemitaurichthys และปลาผีเสื้อครีบสูงในสกุล Parachaetodon รวมความแล้วบ้านเราจะพบปลาผีเสื้อ 40 ชนิด จาก 7 สกุล(วิชาการเกินไปป่าวหว่า......!! ?)เอาเป็นว่าหลากหลายมากก็แล้วกันนะ เหตุที่มีความหลากหลายขงปลาผีเสื้อก็เนื่องจากความสมบูรณ์ของแนวปะการังบ้านเรายังมีค่อนข้างสูงครับแต่เมื่อไหร่ที่ความหลากหลายตรงนี้หายไปละก็น่าเป็นห่วงครับเพราะปลาผีเสื้อเนี่ยนักวิชาการจากหลายสำนักเค้าถือว่าเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของแนวปะการังเลยทีเดียวเรายังดีนะครับที่ยังพบปลาผีเสื้อมากขนาดนี้ในบ้านเรา ที่จริงแล้วเป้นอะไรที่น่าสนใจนะครับหากใครที่อยากรู้ว่าแนวปะการังแต่ละแห่งมีความสมบูรณ์หรือป่าว ก็ลองดูจากปริมาณและความหลากหลายของปลาผีเสื้อในแนวปะการังนั้นดูนะครับ .......อ้อมีข่าวดีครับปัจจุบันก็มีรายงานว่าพบปลาผีเสื้อเพิ่มขึ้นอีก 2 ชนิดในทะเลบ้านเราโดยพบที่เกาะกระ และโลซิน ...เรายังมีโอกาสพบปลาผีเสื้อชนิดใหม่ๆอีกครับถ้ามีโอกาสไปดำน้ำในแหล่งดำน้ำแปลกๆใหม่ๆก้ลองสังเกตดูได้ซึ่งการค้นพบใหม่ๆแต่ละครั้งหมายถึงบ้านเรายังมีอะไรดีๆที่รอการค้นพบจากเราอยู่ครับ ........ขอให้โชคดีกับการดำน้ำครั้งต่อไปครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 24, 2007, 02:24:19 AM โดย สายชล » บันทึกการเข้า
สายชล
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8186


Saaychol


« ตอบ #2 เมื่อ: กันยายน 24, 2007, 02:18:55 AM »

ขอบคุณมากค่ะน้อง  boat sick forever ......วิชาการอย่างนี้ดีค่ะ พวกเราช้อบ....ชอบ  ขออีกเยอะๆนะคะ

ขออนุญาตนำภาพมาแทรกและร่วมสมทบด้วยนะคะ


Oval-spot Butterflyfish (Chaetodon speculum) ตัวนี้พบครั้งแรกในอ่าวไทยที่เกาะกระหรือเปล่าคะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 24, 2007, 02:24:59 AM โดย สายชล » บันทึกการเข้า

Saaychol
boat sick forever
ตอบกระทู้เยอะ ๆ จะได้ 2 ดาว
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18


« ตอบ #3 เมื่อ: กันยายน 24, 2007, 09:27:30 AM »

ปลาผีเสื้อ ชนิด Chaetodon speculumเนี่ยผมเจอครั้งแรกตอนไปดำน้ำที่โลซินครับ แล้วก็มาเจอที่เกาะกระอีกที ที่จริงแล้วยังมีอีกชนิดนึง คือ Chaetodon baronessa แต่ผมชี้ให้พี่สายชลถ่ายไม่ทันตัวผมเองลงน้ำที่ไรก็มีแต่แผ่นบันทึกใต้น้ำเลยไม่ค่อยมีโอกาสได้ถ่ายรูปมาโชว์ใครเขา ก็น่าเสียดายครับคราวหน้าถ้าไปอีกคงต้องรบกวนพี่สายชลช่วยถ่ายมาฝากเช่นเคยนะครับ
บันทึกการเข้า
สายชล
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8186


Saaychol


« ตอบ #4 เมื่อ: กันยายน 24, 2007, 02:27:59 PM »

ถ้าพี่ยังมีแรงว่ายน้ำทันปลาล่ะก็....พี่ยินดีจะถ่ายภาพปลาให้น้อง  boat sick forever เสมอจ้ะ:-*

สงสัยจัง....ไปดำน้ำทำงานด้วยกันทีไร ไม่เคยเห็นเมาเรือเลย  แต่ไหง๋มาใช้ชื่อนี้ล่ะจ้ะ.....  
บันทึกการเข้า

Saaychol
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.141 วินาที กับ 20 คำสั่ง