SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   โลกร้อน (3) (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=75)

สายน้ำ 01-12-2010 08:49



เชิญอ่านเรื่อง "โลกร้อน" จากบอร์ดเก่า ได้ที่


http://www.saveoursea.net/boardapr20...php?topic=27.0



โลกร้อนคร่าชีวิต


หน่วยงานบรรเทาทุกข์ออกซ์แฟมบอกว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีประชาชนเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศจำนวน 21,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวจากปีที่แล้ว

ขณะกำลังมีการเจรจาหาข้อตกลงเพื่อลดภาวะโลกร้อนที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก อยู่ในเวลานี้ รายงานได้บรรยายถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในปากีสถาน ไฟป่าและคลื่นความร้อนในรัสเซีย น้ำทะเลสูงขึ้นที่ประเทศเกาะตูวาลูในมหาสมุทรแปซิฟิก

การเจรจาเรื่องโลกร้อนของสหประชาชาติมีการต่อรองระหว่างประเทศร่ำรวยกับยากจนในเรื่องการจัดเงินสนับสนุนการอนุรักษ์ป่าเขตร้อน การเตรียมการรับมือกับภาวะโลกร้อน และการตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การเจรจาที่กรุงโคเปนเฮเกน เมื่อปีที่แล้วจบลงด้วยการมีข้อตกลงระดับโลกซึ่งไม่มีผลผูกพัน ในปีนี้ไม่มีใครคาดหวังกับการเจรจานัก เพราะรู้อยู่แล้วว่าพวกสมาชิกรัฐสภาของสหรัฐไม่สนับสนุนการลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อนขึ้น
ทิม กอร์ ผู้เขียนรายงานบอกว่า ควรมีการเก็บภาษีการบินระหว่างประเทศและการเดินเรือเพิ่มเติม เพื่อนำเงินมาใช้ลดปัญหาโลกร้อน

เหตุการณ์ ในปี 2010 สอดคล้องกับการคาดหมายของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศของยูเอ็น ซึ่งบอกไว้ว่า โลกจะเจอกับคลื่นความร้อน ไฟป่า น้ำท่วม และน้ำทะเลสูงขึ้น

ปากีสถานได้ถูกน้ำท่วมราว 1 ใน 5 ของพื้นที่ประเทศ มีคนตาย 2,000 คน มีผู้เดือดร้อน 20 ล้านคน เกิดโรคระบาด บ้านเรือน พืชผล ถนน โรงเรียนพังหมด ความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 300 ล้านบาท

ที่รัสเซีย อุณหภูมิได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวถึง 7.8 องศา อัตราการตายรายวันในมอสโกเพิ่มขึ้นเป็น 700 ไฟป่าได้เกิดขึ้น 26,000 ครั้ง

ในตูวาลู น้ำทะเลได้สูงขึ้นปีละ 0.2 นิ้ว ไม่สามารถปลูกพืชอาหารได้เพราะน้ำเค็มหนุน จึงต้องนำเข้าอาหาร.



จาก .............. ไทยโพสต์ คอลัมน์โลกน่ารู้ วันที่ 1 ธันวาคม 2553

สายน้ำ 20-12-2010 07:25


ผู้ดีเตือน 'โลกร้อน' เขย่าขั้วโลกเหนือ สัตว์ผสมข้ามชนิดเร่งสูญพันธุ์

http://www.khaosod.co.th/news-photo/...01201253p1.jpg


การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นปัญหาหนักอกของนักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกมาโดยตลอด วารสารเนเจอร์ของอังกฤษรายงานว่า ความกดดันจากการเปลี่ยนแปลงของโลกกำลังบังคับให้หมีขั้วโลก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทวีปอาร์กติก ขั้วโลกเหนือ ต้องไปจับคู่ผสมพันธุ์กับเพื่อนต่างสปีชีส์ ซึ่งจะนำไปสู่การสูญพันธุ์ในไม่ช้า

งานวิจัยชิ้นล่าสุดนี้เป็นของเบรนดัน เคลลี่ หน่วยงานบริหารแห่งมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือโนอา ระบุว่า ภาวะโลกร้อนจู่โจมทวีปอาร์กติกหนักกว่าส่วนอื่นๆของโลก 2-3 เท่า ทำให้สภาพแวดล้อมแห่งนี้ที่เป็นบ้านของสัตว์บกและสัตว์ทะเลหลายสิบชนิดเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ธารน้ำแข็งที่ละลายรวดเร็วขึ้น หมายถึงการสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัย บังคับให้สัตว์ชนิดต่างๆตกอยู่ในภาวะอันตรายของการผสมข้ามสายพันธุ์ เมื่อประชากรสัตว์ที่อยู่โดดเดี่ยวต้องถูกบีบให้มาอยู่รวมกัน มันจะผสมพันธุ์กันและเกิดเป็นลูกผสม สัตว์ที่หายากอยู่แล้วจะสูญพันธุ์ในที่สุด

ธารน้ำแข็งเป็นเวทีล่าแมวน้ำ เหยื่อสุดโอชะของหมีขั้วโลก การละลายของธารน้ำแข็งอาร์กติก ที่คาดว่าจะหายไปหมดในสิ้นศตวรรษนี้ ถ้ายังไม่มีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้หมีขั้วโลกต้องออกมาล่านอกเขตปกติ

เมื่อปี 2549 นักชีววิทยาค้นพบหมีที่ชื่อ พิซลี่ ซึ่งเป็นลูกผสมของหมีกริซลี่ และหมีขั้วโลก และในปีนี้ หมีที่ถูกนายพรานยิงตายมีดีเอ็นเอ หรือรหัสพันธุกรรมที่ต่างไปจากเดิม ขณะที่ปีก่อนพบลูกผสมระหว่างวาฬหลังโหนกกับวาฬไรต์ในทะเลแบริ่ง ระหว่างอลาสก้ากับรัสเซีย

ในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เหลือวาฬไรต์อยู่ไม่ถึง 200 ตัว และวาฬหลังโหนกอีกในสัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่จากการผสมข้ามสายพันธุ์ จะทำให้ประชากรวาฬทั้ง 2 ชนิดสูญหายไปอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม การผสมข้ามสายพันธุ์ไม่ได้ถือว่าเลวร้ายเสมอไป เพราะถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดวิวัฒนาการ แต่เมื่อมีสาเหตุมาจากน้ำมือมนุษย์ ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ ซึ่งนำไปสู่การทำลายความหลากหลายทางพันธุกรรม ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการนำเป็ดหัวเขียวเข้ามาในนิวซีแลนด์เมื่อศตวรรษที่ 19 มันผสมพันธุ์กับเป็ดสีเทาพันธุ์ท้องถิ่น จนถึงปัจจุบันนี้ เป็ดสีเทาสายพันธุ์บริสุทธิ์แทบไม่เหลืออยู่แล้ว



จาก ............... ข่าวสด วันที่ 20 ธันวาคม 2553

สายน้ำ 03-01-2011 07:14


"สหรัฐอเมริกาให้สัญญาลดโลกร้อน" ........................ โดย จูดิธ บ. เซฟคิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย


ในปัจจุบันนี้ ทั่วโลกต่างได้เห็นผลอันร้ายแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่อุณหภูมิที่สูงขึ้นและธารน้ำแข็งละลายไปจนถึงการที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและความแห้งแล้งมีระยะเวลานานขึ้น สถานการณ์โลกเราจะเลวร้ายลงหากประชาคมโลกไม่เพิ่มความพยายามในการแก้ปัญหานี้ การประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติที่เม็กซิโกจะเป็นการเปิดโอกาสให้เราก้าวไปข้างหน้า และเราทุกคนต้องฉวยโอกาสนี้ไว้

สหรัฐอเมริกามีพันธะสัญญาที่จะทำงานร่วมกับไทยและประเทศคู่ความร่วมมืออื่นๆ ในการรับมือกับปัญหาของโลกที่รุนแรงนี้

ที่เมือง Cancun พวกเราต้องทำงานสานต่อจากความสำเร็จที่เราบรรลุเมื่อปีที่แล้วที่กรุงโคเปนเฮเกนและเดินหน้าพิจารณาประเด็นเจรจาต่อรองที่สำคัญ เช่น การลดการปล่อยสารมลพิษ ความโปร่งใสของการดำเนินการ การจัดสรรงบประมาณ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและการอนุรักษ์ป่าไม้ ในขณะที่เราดำเนินการเรื่องดังกล่าวและพยายามหาผลลัพธ์อันมีสมดุล เราต้องพยายามที่จะไม่ลดคุณค่าของสัมฤทธิผลอันเนื่องจากการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกนซึ่งมีผู้นำทั่วโลกดำเนินการอย่างมีนัยสำคัญอันไม่เคยปรากฎมาก่อน ในการยึดมั่นต่อพันธกรณีของพวกเราที่จะรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ ความพยายามที่จะขอถอนตัวจากพันธกรณีต่อปฏิญญาโคเปนเฮเกนหรือต่อรองหลักการพื้นฐานรังแต่จะก่อให้เกิดอันตรายที่ร้ายแรงขึ้นต่อโลกรวมทั้งประชากรและอนาคตของเราด้วย

ส่วนหนึ่งของปฏิญญาโคเปนเฮเกนนั้นคือ เป็นครั้งแรกที่ประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญมีพันธะสัญญาที่จะดำเนินการเพื่อจำกัดการลดการปล่อยสารมลพิษและจะดำเนินการดังกล่าวอย่างโปร่งใสในระดับสากล ข้อตกลงนี้ยังได้รวมถึงการจัดงบประมาณช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสะอาดและการอนุรักษ์ป่าไม้ในประเทศต่างๆ ที่มีความจำเป็นมากที่สุด การจัดหางบประมาณนี้รวมถึงปฏิญาณที่จะสนับสนุนเงินทุน "จุดประกายการเริ่มต้นอย่างรวดเร็ว" ของกลุ่มประเทศพัฒนาซึ่งมีจำนวนสูงถึง 30,000,000,000 เหรียญสหรัฐสำหรับห้วงเวลาปีพ.ศ. 2553 - 2555 และพันธะสัญญาที่จะระดมทุนปีละ 100, 000,000,000 เหรียญสหรัฐจากแหล่งเงินทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนภายในปีพ.ศ. 2563 ในบริบทของการลดสารพิษอย่างมีนัยสำคัญและความโปร่งใสในการดำเนินการ

สหรัฐอเมริกากำลังจัดส่งเงิน "จุดประกายการเริ่มต้นอย่างรวดเร็ว" เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาลดการปล่อยสารมลพิษและปรับตัวเข้ากับผลกระทบเชิงลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพียงปีนี้ปีเดียว สหรัฐฯก็ได้เพิ่มเงินอุดหนุนการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มเป็น 1,700,000,000 เหรียญสหรัฐ และเงินช่วยเหลือที่สภาคองเกรสจัดสรรงบประมาณให้เป็น1,300,000,000 เหรียญสหรัฐรวมทั้งเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาและการให้เงินเชื่อสินค้าส่งออกอีก 400,000,000 เหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกากำลังทำงานอย่างหนักที่จะลดการปล่อยสารมลพิษและเตรียมพร้อมไปสู่เศรษฐกิจพลังงานสะอาด กฎหมาย Recovery ให้เงินงบประมาณกว่า 80,000,000,000 เหรียญสหรัฐสำหรับใช้เป็นเงินลงทุน เงินกู้และเงินจูงใจเพื่อสนับสนุนโครงการริเริ่มต่างๆที่สำคัญต่อวัตถุประสงค์นี้ เราได้กำหนดมาตรฐานที่สูงมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาสำหรับเศรษฐกิจพลังงานและการปล่อยควันจากยานยนต์ เรากำลังดำเนินมาตรการที่สำคัญในการลดการปล่อยสารมลพิษจากแหล่งมลพิษใหญ่ และประธานาธิบดีโอบามายังคงมุ่งมั่นที่จะออกกฎหมายว่าด้วยพลังงานภายในครัวเรือนและสภาพภูมิอากาศ

จากการที่ผมได้เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆในประเทศไทย ดิฉันสังเกตเห็นความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นข้อกังวลที่ชาวอเมริกันรู้สึกเช่นเดียวกัน แต่ผมก็รู้สึกมีกำลังใจที่เห็นการดำเนินการต่างๆในประเทศไทยและทั่วโลกในการที่จะเดินทางไปสู่อนาคตแห่งการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน

ไม่มีประเทศใดที่จะหลบผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้พ้น ในลักษณะเดียวกัน ไม่มีประเทศใดที่จะแก้ปัญหานี้ได้เพียงลำพัง

ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยากลำบากในการจำกัดการขยายวงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหากับทุกประเทศและพวกเราต้องฝ่าฟันอุปสรรคนี้ให้ได้ ความพยายามระหว่างประเทศในการสร้างเศรษฐกิจพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนจะช่วยให้ผู้คนหลุดพ้นจากความยากจนและให้บริการพลังงานไปทั่วโลกพร้อมกับอนุรักษ์สมบัติทางสิ่งแวดล้อมอันมีค่ายิ่งของพวกเรา ปฏิญญาโคเปนเฮเกนรวมทั้งการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เมือง Cancun เป็นก้าวสำคัญของความพยายามร่วมระหว่างประเทศในการเร่งระยะการปรับเปลี่ยนนี้ให้เร็วขึ้น ซึ่งจะยังผลให้โลกเรามีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นและสะอาดมากขึ้นสำหรับมนุษย์ทุกคน



จาก ....................... แนวหน้า วันที่ 3 มกราคม 2554

สายน้ำ 16-01-2011 07:36


ใส่เสื้อผ้าหนาๆ ไว้ โลกกำลังร้อน!?! ..................... โดย เกษียร เตชะพีระ

http://www.matichon.co.th/news-photo...01140154p1.jpg

ผมอยากเชิญชวนท่านผู้อ่านลองพิจารณาข้อมูลภูมิอากาศในรอบปี ค.ศ.2010 ที่ผ่านมาต่อไปนี้ดู: -


พม่า : หน้าร้อนที่ผ่านมา อุณหภูมิในพม่าขึ้นสูงถึง 46.6 องศาเซลเชียส

จีน : ภาคใต้ของจีนน้ำท่วมและแผ่นดินถล่มเนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายสัปดาห์ บางท้องที่ในมณฑลเสฉวนเกิดน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบกว่า 150 ปี

ญี่ปุ่น : หน้าร้อนญี่ปุ่นปีที่แล้วร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์นับแต่หน่วยงานอุตุนิยม วิทยาของญี่ปุ่นเคยเก็บรวบรวมข้อมูลเริ่มจากปี ค.ศ.1898 เป็นต้นมา, ร้อนกว่าสถิติร้อนที่สุดของญี่ปุ่นครั้งก่อนในปี ค.ศ.1994, ในกรุงโตเกียว อุณหภูมิขึ้นสูงถึง 37 องศาเซลเชียส

ปากีสถาน : อุณหภูมิหน้าร้อนขึ้นสูงถึง 53.6 องศาเซลเชียส ทำลายสถิติร้อนที่สุดในทวีปเอเชีย พายุฝนยังตกกระหน่ำทำให้น้ำท่วมพื้นที่ราว 1 ใน 5 ของประเทศ ชาวปากีสถาน 20 ล้านคนเดือดร้อนสาหัส

ไนเจอร์ : แรกทีเดียวประสบภัยแล้งซึ่งอาจก่อทุพภิกขภัยกว้างขวาง แต่แล้วก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ตามมา ทำให้ชาวไนเจอร์แสนคนไร้ที่อยู่อาศัย

รัสเซีย : กรุงมอสโกซึ่งแต่ไหนแต่ไรไม่เคยร้อนถึง 37.7 องศาเซลเชียสมาก่อนเลย ปรากฏว่าหน้าร้อนเดือนกรกฎาคมศกก่อน อุณหภูมิในมอสโกขึ้นไปแตะเพดาน 37.7 องศาเซลเชียส ถึง 5 ครั้ง หากเทียบสถิติอุณหภูมิมอสโกนับแต่ปี ค.ศ.1950 เป็นต้นมา เหตุที่เกิดขึ้นนับว่าหาได้ยากพอๆกับเรื่องราวที่แสนปีจะมีสักครั้ง คลื่นความร้อนที่รัสเซียไม่เคยประสบมาก่อนในรอบ 130 ปี ยังทำให้ไฟป่าปะทุไหม้ลามหลายพันแห่งทั่วประเทศชาวรัสเซียเสียชีวิตไป 15,000 คน เหตุเหล่านี้ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกในสภาพที่รัสเซียต้องหยุดส่งออกข้าวสาลี เนื่องจากผลผลิตเสียหายเพราะอากาศร้อนผิดปกติราว 30%

http://www.matichon.co.th/news-photo...01140154p2.jpg
ค่าอุณหภูมิพื้นผิวโลกผิดปกติเป็นองศาเซลเชียส (a) ม.ค.-พ.ย.2010 (b) พ.ย.2010


ยุโรป : หิมะตกหนักและพายุหิมะทำให้การเดินทางโดยเครื่องบินโกลาหลวุ่นวายไปทั่วทวีป

สหรัฐอเมริกา : เกิดพายุฝนหนักตกกระหน่ำในหลายมลรัฐทางภาคตะวันออกของสหรัฐ เริ่มจากมลรัฐนิวอิงแลนด์ในเดือนมีนาคม, ตามมาด้วยฝนตกสูงถึง 13 นิ้วในชั่ว 2 วัน เมื่อเดือนพฤษภาคมในมลรัฐเทนเนสซี ส่งผลให้น้ำท่วมใหญ่เมืองแนชวิลล์จมอยู่ใต้น้ำโดยพื้นฐานมีผู้เสียชีวิต 30 คน ต้องอพยพหนีอุทกภัยอีกหลายพัน ถือเป็นเหตุการณ์หาได้ยากประเภทพันปีมีหนในมลรัฐนี้และก่อภัยพิบัติร้ายแรงแก่เทนเนสซีชนิดที่ยากจะหากรณีอื่นใดเทียบได้นอกจากสงครามกลางเมือง เหนือ-ใต้ของอเมริกาเมื่อเกือบ 150 ปีก่อน, จากนั้นฝนก็ตกหนักเป็นประวัติการณ์ในเมืองโอคลาโฮมาซิตี้ในเดือนมิถุนายน, และพายุฝนกระหน่ำมลรัฐนอร์ทแคโรไลนาติดชายฝั่งในเดือนตุลาคม

ในขอบเขตทั่วประเทศ นี่เป็นฤดูร้อนที่สุดอันดับ 4 ของสหรัฐ โดยรวมศูนย์แถบพื้นที่ติดมหาสมุทรแอตแลนติกตอนกลาง เช่นเขตเมืองหลวงวอชิงตัน ดี.ซี. แต่แล้วสภาพภูมิอากาศก็สวิงกลับไปกลับมาระหว่างร้อนตับแทบแตกกับพายุหิมะตก หนัก ลมโกรกแรง อากาศหนาวจัดอีกในช่วงปลายปี เมืองใหญ่น้อยหลายร้อยแห่งทางฝั่งตะวันออกถูกถล่มด้วยพายุหิมะใหญ่หลังคริสต์มาส หลายแห่งหิมะตกหนากว่า 2 ฟุต ลมแรงถึง 80 ไมล์ต่อชั่วโมง มลรัฐ 6 แห่งต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน เที่ยวบิน รถไฟ รถโดยสารหลายพันเที่ยวต้องยกเลิกที่นิวยอร์ก หิมะตกกองพะเนินเทินทึกอากาศหนาวยะเยียบไม่ทันไร ปรากฏว่ากลับตาลปัตรอุ่นขึ้นเป็น 10 องศาเซลเชียส ช่วงวันสุกดิบก่อนขึ้นปีใหม่!?!

http://www.matichon.co.th/news-photo...01140154p3.jpg
ดัชนีอุณหภูมิแผ่นดิน-มหาสมุทรของโลก แสดงค่าอุณหภูมิผิดปกติเป็นองศาเซลเชียส ค.ศ.1880-ปัจจุบัน (a) ค่าเฉลี่ยรายปีและราย 5 ปี (b) ค่าเฉลี่ย 60 เดือน และ 132 เดือน


ความผันผวนแปรปรวนสวิงสุดโต่งของภูมิอากาศในอเมริกา จะเห็นได้จากสถิติเปรียบเทียบระหว่างท้องที่ทั่วประเทศ ซึ่งรายงานว่ามีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์กับท้องที่ซึ่งรายงานว่ามีอุณหภูมิต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบปีที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีที่ร้อนเป็นประวัติการณ์ 4,100 แห่ง ขณะที่หนาวเป็นประวัติการณ์ 1,500 แห่ง คิดเป็นอัตราส่วนร้อนสุดต่อหนาวสุดราว 2.5:1

ประเทศไทย, อินโดนีเซีย, อินเดีย, เวเนซุเอลา ฯลฯ : ฝนตกหนัก โคลนถล่มและเกิดน้ำท่วมกว้างขวาง มีผู้เสียชีวิตหลายพัน บ้านช่องทรัพย์สินเสียหายวอดวายนับล้านครอบครัว

18 ประเทศทั่วโลก : คิดเป็นเนื้อที่ 1 ใน 5 ของพื้นผิวโลกต่างรายงานว่ามีอุณหภูมิร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปีเดียวกัน ขณะที่หน้าพายุเฮอร์ริเคนของมหาสมุทรแอตแลนติกก็มีพายุชุกชุม ส่วนมหาสมุทรแปซิฟิกก็เปลี่ยนจากภาวะกระแสน้ำอุ่นเอลนิโญ่ (El Nino) ไปเป็นภาวะกระแสน้ำเย็นลานีญ่า (La Nina) แทน

โลก : องค์การนาซา (NASA - National Aeronautics and Space Administration) ของรัฐบาลสหรัฐรายงานเมื่อศุกร์ที่ 10 ธันวาคมศกก่อนว่าปีอุตุนิยมวิทยาที่ผ่านมา (นับจากธันวาคม ค.ศ.2009- พฤศจิกายน ค.ศ.2010) เป็นปีที่ร้อนที่สุดในรอบ 131 ปีเท่าที่องค์การนาซาเคยเก็บสถิติมา ที่น่าวิตกก็คือมันเป็นปีร้อนที่สุดทั้งๆ ที่มี 2 ปัจจัยคอยช่วยผ่อนคลายประทังให้โลกเย็นไว้ ได้แก่
1) โลกกำลังอยู่ในช่วงความรับอาบรังสีจากดวงอาทิตย์ต่ำ (lower solar irradiance) ซึ่งช่วยให้ภูมิอากาศโลกเย็นลง และ
2) ยังมีปรากฏการณ์กระแสน้ำเย็นลานีญ่าซึ่งช่วยกดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำ ไว้นับแต่ปลายหน้าร้อนปีที่แล้วเป็นต้นมาด้วย

ข่าวนี้ทำให้ ดอกเตอร์ เจมส์ ฮันเส็น ผู้อำนวยการ Goddard Institute for Space Studies และยอดนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศแห่งองค์การนาซา ชี้ไว้ในบทความที่เขียนร่วมกับเพื่อนร่วมงาน 3 คน ว่า : "อุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ในปี ค.ศ.2010 มีความหมายสำคัญเป็นพิเศษเพราะมันเกิดขึ้นในระหว่างที่ความรับอาบรังสีจากดวงอาทิตย์ต่ำสุดเมื่อเร็วๆ นี้กำลังส่งผลผ่อนคลายโลกให้เย็นลงที่สุด"

สรุป : ภัยพิบัติธรรมชาติในรอบปี ค.ศ.2010 ที่ผ่านมาคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปประมาณ 260,000 คน (ในจำนวนนี้มี 21,000 รายที่เสียชีวิตเนื่องจากภูมิอากาศโดยตรง) มากกว่ายอดผู้เสียชีวิตจากภัยก่อการร้าย 40 ปีที่ผ่านมารวมกัน (ไม่ถึง 115,000 คน), มันทำลายเศรษฐกิจโลกเสียหายไปทั้งสิ้นราว 222 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (มูลค่ามากกว่าเศรษฐกิจของฮ่องกงทั้งเกาะ), บัญชีหัวข้อข่าวภัยพิบัติธรรมชาติรายวันตลอดปีที่แล้ว ซึ่งสำนักข่าวเอพีประมวลขึ้นยาวเหยียดถึง 64 หน้ากระดาษพิมพ์!

คำถาม : แล้วอากาศสวิงสุดโต่ง (extreme weather) ที่คร่าชีวิตผู้คนไปเรือนหมื่นเรือนแสนเมื่อปีที่แล้วเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (global warming & climate change) อย่างไร?




จาก ....................... มติชน วันที่ 16 มกราคม 2554

สายน้ำ 21-01-2011 07:55


พื้นที่น้ำแข็งสะท้อนพลังงานแดดลดลง 0.45 วัตต์ กระตุ้นโลกร้อนขึ้นอีก

http://pics.manager.co.th/Images/554000000797501.JPEG
ภูมิประเทศที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งในกรีนแลนด์เมื่อ 17 มี.ค.10 ที่ผ่านมา (รอยเตอร์)

เผยผลการศึกษาการหดของพื้นที่น้ำแข็งและหิมะที่ปกคลุมซีกโลกทางเหนือ สะท้อนพลังงานแดดกลับสู่อวกาศได้น้อยกว่าเมื่อก่อน 0.45 วัตต์ กลายเป็นอีกปัจจัยของภาวะโลกร้อน และทุกองศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้นหมายถึงการสะท้อนพลังงานที่ลดลง 0.3-1.1 วัตต์

จากรายงานของรอยเตอร์ระบุว่า ข้อมูลดาวเทียมบ่งชี้ว่าน้ำแข็ง ธารน้ำแข็งและหิมะในแถบอาร์กติกและน้ำแข็งของกรีนแลนด์ สะท้อนพลังงานจากดวงอาทิตย์กลับสู่อวกาศได้น้อยลง ตามข้อมูลที่รวบรวมระหว่างปี 1979-2008 ซึ่งการลดลงของพื้นที่สีขาวซึ่งช่วยปกป้องแสงแดดนี้ได้เพิ่มพื้นที่ของน้ำและพื้นดิน ซึ่งทั้งคู่มีสีที่เข้มกว่าและดูดกลืนความร้อนได้มากกว่าพื้นที่ขาวด้วย

จากการศึกษาประมาณว่า น้ำแข็งและหิมะในซีกโลกเหนือขณะนี้ได้สะท้อนพลังงานจากดวงอาทิตย์กลับสู่ชั้นบรรยากาศด้านบนเพียงตารางเมตรละ 3.3 วัตต์ ซึ่งลดลงจากช่วงปลายทศวรรษ 1970 ประมาณตารางเมตรละ 0.45 วัตต์

“ปรากฏการณ์ความเย็นถูกลดลงและได้เพิ่มปริมาณพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดาวเคราะห์ของเราดูดกลืนมากขึ้น ซึ่งค่าการลดลงของการสะท้อนพลังงานแสงอาทิตย์นี้มากกว่าในแบบจำลองสภาพภูมิอากาศที่มีอยู่ในปัจจุบัน” มาร์ก แฟลนเนอร์ (Mark Flanner) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) และเป็นหัวหน้าคณะในการศึกษาครั้งนี้กล่าว ซึ่งได้เผยแพร่ผลงานในวารสารเนเจอร์จีโอไซน์ (Nature Geoscience)

แฟลนเนอร์กล่าวถึงบทสรุปของการศึกษาว่า บริเวณไครโอสเฟียร์ (cryosphere) หรือบริเวณที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งและหิมะนั้นมีผลกระทบต่อความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากกว่าที่เคยเข้าใจด้วย

ทั้งนี้ ยิ่งมีพื้นดินและน้ำที่รับแสงแดดมากเท่าไร การดูดซับความร้อนยิ่งเร่งการละลายของหิมะและน้ำแข็งมากขึ้นและน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกที่ลดลงในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้เป็นไปในทิศทางที่คณะนักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศของสหประชาชาติกล่าวโทษว่า เป็นผลกระทบหลักๆจากก๊าซเรือนกระจกที่มนุษยชาติได้เผาผลาญพลังงานฟอสซิลในโรงงาน โรงไฟฟ้าและรถยนต์

นอกจากนี้หลายๆการศึกษายังชี้ว่าน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกจะหายไปหมดในช่วงฤดูร้อนของศตวรรษนี้ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะทำลายวัฒนธรรมการล่าของชนพื้นเมืองและคุกคามหมีขั้วโลกกับสัตว์ชนิดอื่นๆ ตลอดจนการเพิ่มปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอีกด้วย

อย่างไรก็ดี แฟลนเนอร์กล่าวว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะวาดข้อสรุปจากการศึกษาครั้งนี้ถึงอัตราการละลายของน้ำแข็งในอนาคต เพราะเป็นการศึกษาบนข้อมูลย้อนหลังกลับไปเพียง 30 ปีเท่านั้น และยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมากที่ทำลายสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปัจจัยอื่นนั้นรวมถึงเมฆที่จะมีมากขึ้นบนโลกที่ร้อนขึ้นและจะกลายเป็นหลังคาสีขาวที่สะท้อนแสงอาทิตย์ออกไป หรืออาจจะมีไอน้ำที่ดักจับความร้อนมากขึ้นในชั้นบรรยากาศ

การศึกษาในครั้งนี้ประมาณว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส หมายถึงน้ำแข็งและหิมะในซีกโลกเหนือลดการสะท้อนพลังงานแสงอาทิตย์สู่อวกาศลงตารางเมตรละ 0.3-1.1 วัตต์ และในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาอุณหภูมิในซีกโลกเหนือได้เพิ่มขึ้นแล้วประมาณ 0.75 องศาเซลเซียส แต่ทีมวิจัยไม่ได้ศึกษาในส่วนของซีกโลกใต้ที่ทวีปแอนตาร์กติกาที่มีปริมาณน้ำแข็งมากกว่า และยังหนาวจัดกว่า อีกทั้งแสดงสัญลักษณ์ของผลกระทบจากโลกร้อนน้อยกว่าด้วย

“โดยภาพรวมระดับโลก ดาวเคราะห์ของเราดูดกลืนพลังงานแสงอาทิตย์เฉลี่ยทั้งปีในอัตราประมาณ 240 วัตต์ต่อตารางเมตร และโลกอาจเข้มขึ้นแล้วดูดกลืนพลังงานอีก 3.3 วัตต์เมื่อไม่มีพื้นที่น้ำแข็งในซีกโลกเหนือ” แฟลนเนอร์กล่าว.



จาก .................. ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 20 มกราคม 2554

สายน้ำ 22-01-2011 08:03


จากโลกร้อนสู่อากาศแปรปรวนสุดโต่ง ..................... โดย เกษียร เตชะพีระ

http://www.matichon.co.th/news-photo...01210154p1.jpg
ดร.พอล เอพสไตน์ รองผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมโลกแห่งวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด


ผมทิ้งคำถามไว้ท้ายสัปดาห์ก่อนว่า : แล้วอากาศแปรปรวนสุดโต่ง (extreme weather) ที่คร่าชีวิตผู้คนไปนับแสนในปีร้อนที่สุดของโลกเมื่อปีที่แล้ว เกี่ยวพันเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (global warming & climate change) อย่างไร?

ดอกเตอร์พอล เอพสไตน์ รองผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมโลกแห่งวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ผู้เพิ่งร่วมเขียนหนังสือ Changing Planet, Changing Health: How the Climate Crisis Threatens Our Health and What We Can Do about It (กำหนด ออกโดย University of California Press ในเดือน เม.ย. ศกนี้) ช่วยอธิบายกลไกกระบวนการซึ่งภาวะโลกร้อน (global warming) นำไปสู่อากาศแปรปรวนสุดโต่ง (extreme weather) ว่า:

ปมเงื่อนพื้นฐานของภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (ซึ่งก็คืออากาศมีแบบแผนที่ทั้งร้อนขึ้นและผันแปรไปพร้อมกัน) ก็คือความจริงที่ยังไม่มีใครพูดถึงกันนักว่าในรอบ 50 ปีหลังนี้ ห้วงมหาสมุทรได้ดูดซับความร้อนไว้ถึง 22 เท่าของบรรยากาศโลก!

ความร้อนที่ก่อตัวสั่งสมสูงเป็นพิเศษในท้องมหาสมุทรรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาส่งผลต่อเนื่อง 2 ประการคือ

http://www.matichon.co.th/news-photo...01210154p2.jpg
ความผันแปรของอุณหภูมิพื้นผิวของโลกในรอบ 2 หมื่นปี โดยที่ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิพื้นผิวโลกรอบ 1 หมื่นปีหลังนี้ = 15 องศาเซลเชียส โปรดสังเกตเส้นกราฟความผันแปรของอุณหภูมิที่กำลังเชิดสูงขึ้นในปัจจุบัน

น้ำมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นระเหยกลายเป็นไอน้ำด้วยอัตราเร่งสูงขึ้น ส่งผลให้ฝนตกหนัก

บรรยากาศโลกที่อุ่นขึ้นยังโอบอุ้มไอน้ำไว้มากขึ้นด้วย กล่าวคือถ้าบรรยากาศร้อนขึ้น 1 องศาเซลเชียส มันจะอุ้มไอน้ำเพิ่มขึ้น 7%

ในความหมายนี้ ห้วงมหาสมุทรของโลกจึงเสมือนหนึ่งเครื่องจักรที่เพิ่มพูนแรงขับดันจากภาวะโลกร้อนในชั้นบรรยากาศ ผ่านกลไกกระบวนการ 1) และ 2) ข้างต้น ส่งผลให้วงจรอุทกวิทยา (the hydrological cycle หรือวงจรน้ำของโลก) เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล จนกระทั่งแบบแผนอากาศผันผวนแปรปรวนในที่สุด บางที่ก็แล้งหนัก, บางที่กลับฝนตกไม่ลืมหูลืมตาอย่างไม่เคยเจอมาก่อน, และบางที่ก็หิมะตกหนา เป็นต้น พอเขียนเป็นสมการเหตุผลเชื่อมโยงได้ดังนี้:

กลไกกระบวนการที่เกิดขึ้น: [ภาวะโลกร้อน --> มหาสมุทรอุ่นขึ้น --> 1) & 2) --> อากาศแปรปรวนสุดโต่ง]

บางคนอาจสงสัยว่าจะบอกว่าโลกร้อนได้ยังไงในเมื่อหลายแห่งหลายที่ของโลกอากาศหนาวจัดเสียจนกระทั่งหิมะตกในที่ไม่เคยตกมาก่อนด้วยซ้ำ แบบนี้มันจะมิใช่เกิดภาวะโลกเย็น (global cooling) ดอกหรือ?

ดร.เอพสไตน์แจกแจงว่า จะหยิบยกเอาเหตุการณ์หรือกรณีอันใดอันหนึ่งเพียงอันเดียวมาวินิจฉัยฟันธงว่าโลกร้อนขึ้นหรือไม่นั้นมิได้ ประเด็นคือปรากฏการณ์ต่างๆ นานาที่เราประสบเป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่าง [ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง] กับ [การเปลี่ยนแปรทางธรรมชาติ] ส่งผลให้แบบแผนอากาศของโลกแปรปรวนรวนเรไปหมด โดยผ่านผลกระทบสืบเนื่องจากท้องมหาสมุทรและแผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุม

ฉะนั้น จึงมิควรจดจ่ออยู่แต่กับเหตุการณ์หรือกรณีเฉพาะเรื่องเฉพาะรายแล้วด่วนสรุปโดยไม่จัดวางมันลงบนแบบแผนอากาศโดยรวม

เขายกกรณีตัวอย่างของพลวัตที่ขับเคลื่อนอากาศแปรปรวนปัจจุบันมาสาธกว่า ภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์และในทะเลอาร์กติกละลายมากเสียจน กระทั่งมันกลายเป็นแผ่นเกล็ดน้ำแข็งเย็นยะเยียบแผ่ไปทั่วมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและก่อเกิดระบบความกดอากาศสูงขึ้นมา (ตามหลักที่ว่าอากาศร้อนย่อมลอยตัวขึ้นสูง ทำให้แรงกดอากาศต่ำ, ส่วนอากาศเย็นย่อมจมลงล่าง ทำให้แรงกดอากาศสูง)

ภาวะความกดอากาศสูงในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือนี้ยืนนานเป็นประวัติการณ์ถึง 15 เดือนและก่อให้เกิดลมแรง อากาศหนาวจัดแผ่กระจายทั่วทวีปยุโรป จนไปจรดกับระบบความกดอากาศต่ำเหนือภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งร้อนระอุ

การที่ภาวะโลกร้อนเหนือเกาะกรีนแลนด์และทะเลอาร์กติกตอนต้น โอละพ่อกลายสภาพมาเป็นอากาศหนาวจัดในยุโรปได้ โดยผ่านกลไกผลกระทบอันยอกย้อนในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือนี้ สะท้อนให้เห็นพลวัตอันซับซ้อนพลิกผันของแบบแผนอากาศแปรปรวนสุดโต่งในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ไม่อาจมองปรากฏการณ์หนึ่งๆ อย่างฉาบฉวยผิวเผินหยาบง่ายตื้นเขินแล้วสรุปรวบรัดเพราะหนาวหิมะจนตัวสั่นว่า

"โลกมันกำลังเย็นลงต่างหาก!" ได้

ดร.เอพสไตน์สรุปตามธรรมเนียมวิทยาศาสตร์ว่า ไม่ว่าจะพิจารณาโดย :

1) แบบจำลอง : [ภาวะโลกร้อน --> มหาสมุทรอุ่นขึ้น --> 1) & 2) --> อากาศแปรปรวนสุดโต่ง] ซึ่งบัดนี้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในบรรดางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

2) ข้อมูล : แสดงชัดว่ามหาสมุทรอุ่นขึ้น, ฝนตกหนักขึ้น, ภาวะแห้งแล้งเพิ่มขึ้น

3) หลักการขั้นมูลฐาน : ที่ว่าก๊าซเรือนกระจก - อันเกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล 80% และการตัดไม้ทำลายป่าอีกราว 20% - เป็นตัวกักความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศโลก

ล้วนบ่งชี้ว่าภาวะโลกร้อนเป็นตัวการทำให้อากาศแปรปรวนสุดโต่ง ไม่ว่าหิมะตก ฝนหนักน้ำท่วม ภัยแล้ง อากาศร้อนจัดหรือหนาวจัดก็ตาม




จาก ........................ มติชน วันที่ 22 มกราคม 2554

สายน้ำ 22-02-2011 07:27


'มะกัน' ชี้ลดคาร์บอนฯโลกไม่หายร้อน ก๊าซค้างในอากาศนับพันปี

http://www.khaosod.co.th/news-photo/...01220254p1.jpg

สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง หรือที่มักนิยมเรียกกันว่า โลกร้อน นั้นเกิดจากการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศในปริมาณมากทำให้เกิดเป็นม่านควันที่กักความร้อนในโลกไว้ไม่ให้ระบายออกไป เทรนด์การลดก๊าซโลกร้อนนี้จึงมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ทว่า การวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พบว่า ต่อให้ทั้งโลกหยุดปล่อยก๊าซเหล่านี้ทันที โลกก็จะยังคงร้อนต่อไป เนื่องด้วยก๊าซเหล่านี้จะยังคงอยู่ในชั้นบรรยากาศไปอีกนานหลายพันปี

นายไคล์ อาร์เมอร์ นักศึกษาปริญญาเอก หนึ่งในคณะวิจัยดังกล่าว ระบุว่า อุณหภูมิทั่วโลกนั้นจะยังคงสูงต่อไป โดยค่าเฉลี่ยจะสูงกว่าสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมยุโรปในศตวรรษที่ 19 โดยตอนนี้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงกว่าสมัยดังกล่าวถึง 0.8 องศาเซลเซียส รวมทั้งเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.9 องศาเซลเซียสด้วย ต่อให้โลกทั้งใบหยุดปลดปล่อยก๊าซโลกร้อนทั้งหมดในทันที

ทั้งนี้ สาเหตุมาจากสารแอโรซอล คือละอองอนุภาคพิเศษที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านปรากฏการณ์เรือนกระจกด้วยการสะท้อนแสงอาทิตย์ออกไปไม่ให้แผดเผาเข้ายังผืนโลกมากเกินไปนั้นจะสูญสลายไปภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์หากเลิกปล่อยก๊าซโลกร้อนแบบทันที คงเหลือเพียงแต่ก๊าซโลกร้อนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ

"แอโรซอลจะถูกชะ ล้างออกไปอย่างรวดเร็ว และพวกเราจะได้เห็นอุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นอย่างท่วมท้นภายในเวลาเพียงไม่กี่ ทศวรรษ" นายอาร์เมอร์กล่าว

นายอาร์เมอร์ระบุว่า หากมนุษย์สามารถยับยั้งวิกฤตการณ์โลกร้อนนี้ได้ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนั้นจะเหลือเพียง 0.27 องศาเซลเซียส แต่ก็ยังจะมากกว่ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรมยุโรป และไม่มีวันที่จะกลับไปเหมือนเดิมได้ โดยคณะ นักวิจัยยืนยันถึงความถูกต้องของผลการศึกษาดังกล่าว แม้การตั้งสมมติฐานให้ทั่วโลกหยุดการปล่อยก๊าซโลกร้อนทั้งหมดในทันทีนั้น ตามความเป็นจริงแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทว่า ความเป็นไปได้กับสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นคนละเรื่องกัน

"ผลการศึกษานี้ไม่ได้บอกว่า ต้องปล่อยก๊าซโลกร้อนเพื่อรักษาสารแอโรซอลไว้ แต่บอกให้เรารู้ว่า เราควรจะเลิกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างฉลาดก็เท่านั้น" นายอาร์เมอร์กล่าว




จาก .................. ข่าวสด วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554

สายน้ำ 09-04-2011 07:15


มหันตภัยน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็ว 100 เท่า

http://www.komchadluek.net/media/img...had8b5khi7.jpg

ดูเหมือนว่าพิบัติภัยธรรมชาติจะกระหน่ำซ้ำเติมชีวิตของมนุษยชาติบ่อยครั้งขึ้นในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างผิดฝาผิดตัว

ผิดฤดูกาล ฤดูร้อนกลายเป็นฤดูหนาวให้ต้องงัดเอาเสื้อกันหนาวออกจากตู้มาใส่แทบจะไม่ทัน หรือจะเป็นแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ ที่เพิ่งปะทุไปเมื่อเดือนที่แล้ว และยังคาดเดาไม่ได้ว่าแผ่นเปลือกโลกจะปั่นป่วนเคลื่อนตัวก่อให้เกิดแผ่นดินไหวให้ได้ลุ้นกันอีกเมื่อใด

ราวกับธรรมชาติกำลังทิ้งระเบิดพิบัติภัยกระหน่ำซ้ำเติมมนุษย์ ที่ได้เอาเปรียบธรรมชาติมาโดยตลอดนับตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีเทคโนโลยีระดับประถมในยุคหินเก่าเป็นต้นมา

http://www.komchadluek.net/media/img...ajah7aikaa.jpg

การทำลายธรรมชาติเท่ากับการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ลูกใหญ่ที่คอยวันระเบิดขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งระเบิดนิวเคลียร์ของธรรมชาติที่ส่อแววว่าจะระเบิดขึ้นอีกลูกหนึ่งคือ การที่ชั้นโอโซนบริเวณขั้วโลกถูกทำลายหายไปอย่างเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดไว้

ยิ่งเมื่อนักวิทยาศาสตร์แห่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) ออกโรงเตือนว่าชั้นโอโซนขั้วโลกเหนือกำลังหายไปรวดเร็วยิ่งขึ้นจากระดับ 30% ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูหนาวจนถึงปลายเดือนมีนาคมในปีก่อนๆ สู่ระดับการหดหายถึง 40% ในช่วงเดียวกันของปีนี้ นั่นหมายถึงว่าโลกกำลังสูญเสียเกราะป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตอย่างรวดเร็วอย่างน่าตกใจ

นั่นหมายถึงว่าพลเมืองในประเทศแถบขั้วโลก ตั้งแต่กรีนแลนด์ จนถึงแถบสแกนดิเนเวีย จะได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนังมากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้

ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออเบอรีสทวิท ได้ศึกษาแผ่นน้ำแข็งในเขตพาทาโกเนีย ประเทศอาร์เจนตินา บนทวีปอเมริกาใต้ ได้ออกคำเตือนมนุษยชาติให้รับรู้ว่าเวลานี้น้ำแข็งขั้วโลกใต้ กำลังเผชิญกับความร้อนในบรรยากาศโลกที่เพิ่มขึ้นจากสภาพบรรยากาศที่เต็มไปด้วยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ก้อนน้ำแข็งละลายอย่างเร็วเป็นสถิติใหม่ในรอบ 350 ปี

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ ก้อนน้ำแข็งในเขตพาทาโกเนียละลายอย่างรวดเร็วถึง 100 เท่า เมื่อเทียบกับประมาณการอัตราการละลายของก้อนน้ำแข็งขั้วโลกใต้เมื่อ 3 ศตวรรษครึ่งที่แล้ว

ในช่วงปลายยุคน้ำแข็งช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ก้อนน้ำแข็งพาทาโกเนียครอบคลุมพื้นที่ยอดเขา 270 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 0.4 ตารางไมล์ แต่นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ก้อนน้ำแข็งแห่งอเมริกาใต้ ได้ละลายหายไปแล้วอย่างน้อย 145 ลูกบาศก์ไมล์ คิดเป็นน้ำละลายไหลลงมาจากยอดเขาแล้ว 130 ลูกบาศก์ไมล์

http://www.komchadluek.net/media/img...be9f8fae66.jpg

ถ้าคิดง่ายๆ ก็เท่ากับปริมาณน้ำในสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิก 158,000 สระ

ทั้งยังมีแนวโน้มว่าอัตราการละลายของน้ำแข็งในพื้นที่ปลายติ่งของอเมริกาใต้ จะเร่งสปีดใส่เกียร์สูงขึ้นต่อไปในอนาคต ปี ้อนในบรรยากาศโลกที่เพิ่มขึ้นจากสภาพบรรยากาศที่เต็มอันใกล้

ทีนี้มนุษยชาติก็อาจจะต้องกลายเป็นมนุษย์เรือ ใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยน้ำเช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง "วอเตอร์เวิลด์" ในไม่ช้า หากเราไม่ “เอาจริงเอาจัง” กับการฟื้นฟู เยียวยาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป




จาก .................... คม ชัด ลึก วันที่ 9 เมษายน 2544

สายน้ำ 19-04-2011 08:23


ละลายกันทั่วโลก “ธารน้ำแข็ง” ในชิลีลดฮวบ ทำ "น้ำทะเล" เพิ่มสูงสุดในรอบ 350 ปี


http://pics.manager.co.th/Images/554000004643201.JPEG
ธารน้ำแข็งซาน ราฟาเอล (San Rafael Glacier) ในพาทาโกเนีย ซึ่งเป็น 1 ใน 270 ธารน้ำแข็งที่ทีมวิจัยศึกษานั้น หดลงไปถึง 8 กิโลเมตร นับแต่ยุคน้ำแข็งย่อยที่มีปริมาณน้ำแข็งสูงสุด (บีบีซีนิวส์)


ทุบสถิติละลายกันทั่วโลก ล่าสุด “ธารน้ำแข็ง” ในชิลีละลาย จนทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเร็วที่สุดในรอบ 350 ปี หลังนักวิทยาศาสตร์ศึกษาข้อมูลย้อนกลับไปถึง “ยุคน้ำแข็งย่อย”

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในเมืองแอบเบอริสไทส์, เอกเซเตอร์ และสต็อคโฮล์ม สหราชอาณาจักร ศึกษาและทำแผนที่การเปลี่ยนแปลงในธารน้ำแข็งใหญ่ๆ 270 แห่งในชิลีและอาร์เจนตินา ย้อนกลับไปจนถึง “ยุคน้ำแข็งย่อย” (Little Ice Age) ซึ่งบีบีซีนิวส์ระบุว่า เป็นการศึกษาที่มีกรอบเวลานานกว่าการศึกษาโดยปกติของพวกเขา

การศึกษาของทีมวิจัย แสดงให้เห็นว่า ธารน้ำแข็งมีปริมาตรลดลงเร็วขึ้น 10-100 เท่า ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอัตราการละลายของน้ำแข็งที่เร็วขึ้นนี้ มีผลต่อระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเหนือระดับ “ค่าเฉลี่ย” ระยะยาวในรอบ 350 ปี ซึ่งงานวิจัยนี้ได้เผยแพร่ลงวารสารเนเจอร์จีโอไซน์ (Nature Geoscience)

ทีมวิจัยให้ความสนใจกับภาพถ่ายระยะไกลหรือภาพรีโมตเซนซิง (remote sensing) ของธารน้ำแข็งที่คร่อมเทือกเขาแอนดีส (Andes) ตรงชายแดนระหว่างชิลีและอาร์เจนตินา โดยพื้นที่น้ำแข็งทางตอนเหนือเป็นระยะทางไกล 200 กิโลเมตร และกินพื้นที่ 4,200 ตารางกิโลเมตร ส่วนพื้นที่น้ำแข็งทางตอนใต้เป็นระยะทางไกล 350 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 13,000 ตารางกิโลเมตร

นับแต่ยุคน้ำแข็งย่อย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทีมวิจัยทำแผนที่การเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งธารน้ำแข็งนั้น พบว่า ครั้งสุดท้ายที่พื้นน้ำแข็งทางตอนเหนือของบริเวณดังกล่าว มีน้ำแข็งปกคลุมสูงสุดคือในปี 1870 ส่วนพื้นที่ตอนใต้ มีน้ำแข็งปกคลุมสูงสุดครั้งสุดท้ายในปี 1650 เมื่อเทียบกับปัจจุบัน

ศ.นีล กลาสเซอร์ (Prof. Neil Glasser) จาก มหาวิทยาลัยแอบเบอรีสไทส์ (Aberystwyth University) ผู้เป็นหัวหน้าในการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่าการศึกษาระดับน้ำทะเลก่อนหน้านี้ที่อ้างอิงการละลายของธารน้ำแข็งนั้น เป็นการศึกษาที่ครอบคลุมช่วงเวลาสั้นๆ เพียงในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา หรือเริ่มต้นในช่วงที่มีภาพถ่ายดาวเทียมแล้ว เพื่อคำนวณหาการเปลี่ยนแปลงปริมาตรของธารน้ำแข็ง

หากแต่ทีมของ ศ.กลาสเซอร์ ได้ใช้วิธีใหม่ที่ทำให้ศึกษาย้อนกลับไปได้ไกลกว่านั้น เขาว่า ทีมวิจัยทราบว่าธารน้ำแข็งทั้งหลายในทวีปอเมริกาใต้นั้น มีขนาดใหญ่มากในช่วงยุคน้ำแข็งย่อย ดังนั้น พวกเขาจึงทำแผนที่น้ำแข็งที่ขยายออกไปตามปริมาณน้ำแข็งในยุคนั้น แล้วจึงคำนวณหาว่า ธารน้ำแข็งได้สูญเสียปริมาณน้ำแข็งไปเท่าไร

จากรายงานของบีบีซีนิวส์ ไม่ได้อธิบายรายละเอียดการคำนวณดังกล่าว แต่ระบุว่าการคำนวณของพวกเขานั้นได้แสดงให้เห็นว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ธารน้ำแข็งได้เพิ่มอัตราการละลายเร็วขึ้น และได้ส่งผลต่อระดับน้ำทะเลทั่วโลก

http://pics.manager.co.th/Images/554000004643202.JPEG
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพื้นที่น้ำแข็งของธารน้ำแข็งอัพซาลา (Upsala) ในพาทาโกเนียที่หดลง 13 กิโลเมตร นับแต่ปี 1750 (บีบีซีนิวส์)

การศึกษาของทีมวิจัยพบว่า ธารน้ำแข็งซาน ราฟาเอล (San Rafael Glacier) ในพาทาโกเนีย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 270 ธารน้ำแข็ง ที่ทีมวิจัยศึกษานั้น หดลงไปถึง 8 กิโลเมตร นับแต่ยุคน้ำแข็งย่อยที่มีปริมาณน้ำแข็งสูงสุด

ดร.สตีเฟน แฮรริสัน (Dr.Stephen Harrison) จากมหาวิทยาลัยเอกเซเตอร์ (University of Exeter) เสริมว่า งานวิจัยนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการประเมินระดับน้ำทะเลโดยตรง อันเกิดการละลายของธารน้ำแข็ง นับแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างหนักในช่วงปี 1750-1850




จาก ..................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 18 เมษายน 2554

สายชล 19-04-2011 12:33



เรื่องน้ำแข็งขั้วโลกละลายนี่ ไม่แน่ใจว่าจะทำให้น้ำทะเลสูงในไทยสูงขึ้นหรือไม่...แต่อาทิตย์ที่ผ่านมามองจากคอนโดที่พัทยาลงไปที่ชายหาด เห็นน้ำทะเลแถวหาดวงศ์อามาตย์ ท่วมหาดเกือบทั้งวัน ทั้งที่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ไม่เคยเห็นอย่างนี้มาก่อนค่ะ...


สายน้ำ 03-06-2011 07:54


โลกพ่นคาร์บอนเพิ่ม-ตัวเร่งโลกร้อน

http://www.khaosod.co.th/view_resizi...360&height=360


'โลกร้อน' ถือเป็นปัญหา 'โลกแตก' เพราะนอกจากจะทำให้โลกแตกได้จริงๆแล้ว ยังเป็นสิ่งที่นักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกอกจะแตกกับภาระหนักหน่วงในการผลักดันให้รัฐบาลทั่วโลกให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นก๊าซเรือนกระจกตัวการหลักที่ทำให้โลกร้อน เมื่อปีก่อนโลกของเราปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศถึง 30,600 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ถึง 1,600 ล้านตัน ซึ่งด้วยปริมาณเท่านี้สามารถทำให้อุณหภูมิพุ่งขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส ขณะที่องค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือ ไออีเอ เตือนว่า โลกจะเลี่ยงพ้นผลกระทบเลวร้ายจากภาวะโลกร้อนได้ ถ้าปล่อยก๊าซไม่เกิน 32,000 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2563

ฟาตีห์ บิโรล หัวหน้าคณะเศรษฐศาสตร์ไออีเอ กล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายเวลานี้คือการรักษาอุณหภูมิไว้ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศา แม้จะมีคนมองโลกในแง่ดีว่าภาวะถดถอยทางการเงินอาจจะช่วยชะลอการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง แต่ก็ยังวางใจไม่ได้

ด้าน ศ.ลอร์ด สเติร์น จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ลอนดอน กล่าวว่า ถ้าเราทำได้ ยังมีโอกาสร้อยละ 50 ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส ภายในปี 2643 แต่หากอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนสูงถึง 200,000 ล้านตัน ก้อนน้ำแข็งทั่วโลกจะละลายหมดไป 2 ใน 3 ในปี 2763 และจะไม่มีวันหวนกลับมาเป็นน้ำแข็งได้อีก




จาก .................. ข่าวสด วันที่ 3 มิถุนายน 2554

สายน้ำ 22-10-2011 07:38


โลกร้อนขึ้น พืช-สัตว์เล็กลง ......................... โดย อุไรวรรณ นอร์มา

http://www.komchadluek.net/media/img...ah6i6a66ei.jpg

นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่า ธารน้ำแข็งหลอมละลาย ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เวลาการอพยพของนก หรือการผลิบานของดอกไม้เคลื่อนเปลี่ยน ล้วนเป็นผลที่ตามมาจากภาวะโลกร้อน ล่าสุด มีผลกระทบที่เพิ่มเข้ามาอีกอย่าง จากผลวิจัยชิ้นใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร "เนเจอร์ ไคเมต เชนจ์" ที่พบว่า มีสัตว์และพืช 38 ชนิดด้วยกันจาก 85 ชนิด ที่มีขนาดเล็กลงในรอบหลายสิบปีมานี้

อาทิ ฝ้าย ข้าวโพด สตรอเบอร์รี่ หอยเชลล์ กุ้ง ปลาคาร์พ ปลาแซลมอนแอตแลนติก ปลาเฮอร์ริง กบ คางคก อิกัวนา นกโรบินหัว นางนวลจงอยแดง กระรอกแคลิฟอร์เนีย แมวป่า และหนูป่า รวมทั้งแกะชนิดหนึ่งในสกอตแลนด์ที่ตัวเล็กลง 5% เมื่อเทียบกับขนาดในปี 2528

ก่อนหนานี้ มีผลการศึกษาหลายชิ้นที่บ่งว่า หมีขั้วโลก ตัวไม่ใหญ่ไม่โตเหมือนเมื่อก่อน และนี่เป็นผลการศึกษาอีกชิ้นที่พบแนวโน้มเดียวกัน เช่น น้ำหนักตัวนกแก้ว ลดลง 1 ใน 7 จากช่วงปี 2493-2533 และนกกระจิบ ก็มีน้ำหนักลดลง 26% ในช่วงเวลาเดียวกัน

http://www.komchadluek.net/media/img...9j8gbjaa6c.jpg

เจนนิเฟอร์ เชริแดน นักวิจัยด้านชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยอลาบามา กล่าวว่า สิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืช หรือสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังจำนวนหนึ่ง มีแนวโน้มขนาดเล็กลงเรื่อยๆ สอดคล้องกับกฎเบิร์กมานน์ ที่ว่า อากาศเย็นลงเท่าไหร่ สิ่งมีชีวิตจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเท่านั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นอีกด้านหนึ่งของทฤษฎีที่ไม่ได้เขียนไว้นั่นเอง

กล่าวคือเมื่ออากาศอุ่นขึ้น สิ่งมีชีวิตเหล่านั้น ก็ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญนัก และสัตว์กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นสัตว์เลือดเย็น ยิ่งอากาศอุ่นเท่าไหร่ ระบบการเผาผลาญอาหารและพลังงานก็จะยิ่งเร็ว

คำถามที่น่าคิดคือ ในระยะยาว ขนาดของพืชสัตว์ที่เปลี่ยนแปลงไป จะมีผลถึงปริมาณพืชผลการเกษตรและแหล่งโปรตีนสำคัญอย่างเช่น ปลาหรือไม่

http://www.komchadluek.net/media/img...g8gg897e65.jpg

นักวิจัยท่านนี้และคณะ ได้ทำการศึกษาเรื่องขนาดของสัตว์โดยอาศัยผลการศึกษาก่อนๆ แต่นายโยรัม ยัม ทอฟ นักสัตววิทยาที่มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟเจ้าของหนึ่งในผลการศึกษาที่เชริแดน ใช้ในงานวิจัย ได้แย้งว่า จริงอยู่ที่สัตว์และพืชมีขนาดเล็กลง แต่ไม่อาจโทษว่าเป็นเพราะภาวะโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงขนาดของร่างกาย เป็นปรากฏการณ์ปกติ คือเมื่อเงื่อนไขเอื้ออำนวย พวกมันอาจเพิ่มขนาด หรือผลิตซ้ำในอัตราที่สูงขึ้น และเมื่อสภาพแวดล้อมไม่เอื้อ ก็จะทำในสิ่งตรงกันข้าม ตนคิดว่าสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่จะปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อความอยู่รอด ดังนั้น โลกร้อนไม่ใช่สาเหตุ




จาก ................... คม ชัด ลึก คอลัมน์ เวิลด์วาไรตี้ วันที่ 22 ตุลาคม 2554

สายชล 25-10-2011 12:13



ยืนยันอีกครั้ง “โลก” กำลังร้อนขึ้น


http://pics.manager.co.th/Images/554000014304801.JPEG


แม้จะยอมรับกันทั่วไปว่าโลกร้อนขึ้นจริงๆ แต่ในทางวิทยาศาสตร์แล้วจำเป็นต้องมีหลักฐานที่ยืนยันและพิสูจน์ได้ อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์บางส่วนก็ไม่ได้เห็นด้วยว่าโลกกำลังร้อนขึ้น ซึ่งการศึกษาล่าสุดของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ได้ใช้วิธีศึกษาใหม่แต่ให้ข้อมูลใหม่ที่ย้ำว่าพื้นผิวโลกกำลังร้อนขึ้นจริงเหมือนการศึกษาอื่นๆ ก่อนหน้านี้

โครงการวิจัยเดอะเบิร์กเลย์เอิร์ธ (The Berkeley Earth Project) การศึกษาอุณหภูมิพื้นผิวโลกได้พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยนับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1950 มาถึงปัจจุบัน เพิ่มขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียส โดยไซน์เดลีรายงานว่าทีมวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลอุณหภูมิพื้นผิวโลกจากแหล่งข้อมูล 15 แหล่ง

การศึกษานี้มุ่งตรงไปยังประเด็นที่ส่งผลให้คนเคลือบแคลงต่อปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อนว่าเป็นจริงหรือไม่ โดยครอบคลุมประเด็นผลกระทบจาก “เกาะความร้อนในเมือง” (urban heat island ) คุณภาพของสถานีตรวจวัดอุณหภูมิ และอคติในการเลือกข้อมูล

ทีมวิจัยที่นำโดย ศ.ริชาร์ด เอ.มูลเลอร์ (Prof. Richard A. Muller) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการเบิร์กเลย์เอิร์ธ พบว่า การศึกษาล่าสุดของพวกเขานั้นได้ผลที่ใกล้เคียงกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ของทีมวิจัยสหรัฐฯ และอังกฤษ ซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลขอบเขตความร้อนของพื้นผิวดินอันแม่นยำ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าการศึกษาก่อนหน้านั้นทำอย่างรอบคอบและอคติตามที่กลุ่มผู้ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนระบุนั้นไม่ได้ส่งผลใหญ่หลวงต่อการศึกษา

สำหรับการศึกษาก่อนหน้าที่กล่าวถึงนั้นเป็นงานวิจัยขององค์การมหาสมุทรและบรรยากาศสหรัฐฯ (NOAA) องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และศูนย์แฮดเลย์ (Hadley Center) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและคาดการณ์ภูมิอากาศในสหราชอาณาจักร โดยต่างพบว่านับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1950 มานั้น อุณหภูมิผิวโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียส และผลจากเกาะความร้อนในเมือง รวมถึงสถานีวัดอุณหภูมิที่มีคุณภาพต่ำนั้นไม่ส่งผลที่บิดเบือนต่อการศึกษา

หากแต่การค้นพบจากการศึกษาก่อนหน้านี้ถูกวิจารณ์จากกลุ่มคนที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน ซึ่งกังวลว่างานวิจัยนั้นอาศัยเทคนิคที่ให้ข้อมูลที่ไม่สามารถทำการทดลองตรวจสอบซ้ำได้ แต่ โรเบิร์ต รอห์ด (Robert Rohde) นักวิทยาศาสตร์ผู้นำในโครงการเบิร์กเลย์เอิร์ธกล่าวว่า การวิเคราะห์ของทีมพวกเขานั้นเป็นการศึกษาแรกที่แก้ประเด็นในเรื่องการเลือกข้อมูลอย่างอคติ โดยพวกเขาได้รวบรวมข้อมูลมากเท่าที่จะเป็นไปได้ในปริมาณที่มากกว่าการศึกษาก่อนหน้านี้ 5 เท่า

อลิซาเบธ มูลเลอร์ (Elizabeth Muller) ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารของโครงการเบิร์กเลย์เอิร์ธนี้ กล่าวว่าเธอคาดหวังว่าการศึกษาของกลุ่มวิจัยในโครงการนี้ จะช่วยลดอุณหภูมิการโต้เถียงในเรื่องภาวะโลกร้อน ด้วยการคลายข้อสงสัยและเคลือบแคลงต่อความเชื่อเรื่องโลกร้อนด้วยวิธีที่ชัดเจนและแม่นยำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการเดินหน้าสู่รการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 17 (COP 17) ณ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ ในปลายปีนี้ ซึ่งผู้ร่วมประชุมจะถกกันถึงเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรอบเวลาที่กำหนด และรวมถึงประเด็นเรื่องเงินทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยีและปฏิบัติการทำงานร่วมกัน

ทีมวิจัยของเบิร์กเลย์เอิร์ธนี้มีทั้งนักฟิสิกส์ นักภูมิอากาศวิทยาและนักสถิติ ทั้งจากแคลิฟอร์เนีย โอเรกอนและจอร์เจีย ในสหรัฐฯ ซึ่งในจำนวนนี้มี ซอล เพิร์ลมุลเลอร์ (Saul Perlmutter) ผู้ได้รับล่าวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2011 จากผลงานทางด้านจักรวาลวิทยา รวมอยู่ด้วย โดยไซน์เดลีระบุว่า ในงานวิจัยครั้งนี้พวกเขาได้นำวิธีทางสถิติใหม่ในการรวมชุดข้อมูลมาใช้ แต่ทางกลุ่มวิจัยไม่ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในมหาสมุทร

ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ “ไอพีซีซี” (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ระบุนั้น อุณหภูมิในมหาสมุทรไม่ได้ร้อนมากเท่ากับบนพื้นดิน และเมื่อนำข้ออุณหภูมิในมหาสมุทรมาคำนวณด้วยทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาลดลงเหลือเพียง 2 ใน 3 ของอุณหภูมิ 1 องศาเซลเซียส


http://pics.manager.co.th/Images/554000014304803.JPEG

อย่างไรก็ดี สิ่งที่โครงการเบิร์กเลย์เอิร์ธยังไม่ได้ทำคือการประเมินว่าอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์เท่าไร และขั้นต่อไปในงานวิจัยของพวกเขาคือการศึกษาอุณหภูมิมหาสมุทรที่เพิ่มสูงขึ้น ด้วยเป้าหมายที่จะหาอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งหมดอย่างแม่นยำมากขึ้น

ข้อสรุปสำคัญที่ได้จากการศึกษาของกลุ่มเบิร์กเลย์เอิร์ธ ได้แก่

- เกาะความร้อนในเมืองนั้นมีผลจริงในระดับท้องถิ่น แต่ไม่มีส่งผลสำคัญต่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มขึ้น นั่นเป็นเพราะพื้นที่ในเมืองทั่วโลกนั้นคิดเป็นเพียง 1% ของพื้นดินทั้งหมด

- 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั่วโลกมีอุณหภูมิที่เย็นลงในรอบ 70 ปี ซึ่งรวมถึงพื้นที่ในสหรัฐฯ และตอนเหนือของยุโรป แต่พื้นที่ 2 ใน 3 ทั่วโลกแสดงแนวโน้มว่าร้อนขึ้น ซึ่งการรายงานข้อมูลอุณหภูมิย้อนหลังของพื้นใดเพียงหนึ่งเดียวนั้นเป็นข้อมูลที่ถูกรบกวนสูงและไม่น่าเชื่อถือ อีกทั้งจำเป็นต้องเปรียบเทียบและรวมการบันทึกข้อมูลหลายๆ ครั้ง เพื่อให้เข้าใจในลักษณะของภาวะโลกร้อนที่แท้จริง



- การพบว่าหลายพื้นที่มีอุณหภูมิลดต่ำลงนั้นอาจช่วยอธิบายถึงการไม่ยอมรับในเรื่องโลกร้อนได้ โดยรอห์ดให้ความเห็นว่า โลกร้อนนั้นเกิดขึ้นช้าๆ ในความรู้สึกของมนุษย์ และหากนักอุตุนิยมวิทยุท้องถิ่นบอกว่าอุณหภูมิเท่าเดิมหรือเย็นกว่าที่เคยเป็นเมื่อ 100 ปีก่อน เราก็พร้อมจะเชื่อได้อย่างง่ายดาย และในความเป็นจริงเป็นเรื่องยากที่จะวัดสภาพอากาศเมื่อหลายทศวรรษหรือหลายศตวรรษที่ผ่านมาได้อย่างต่อเนื่อง และรายงานบางที่มีอุณหภูมิต่ำลงนั้นเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการถูกรบกวนจากตัวแปรระดับท้องถิ่น

การประเมินที่ดีในเรื่องการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นโลกนั้นไม่ทำได้โดยอาศัยการวัดอุณหภูมิจากเพียงไม่กี่สถานี จำเป็นต้องศึกษาอุณหภูมิจากสถานีตรวจวัดให้ได้หลายร้อยหรือหลายพันสถานียิ่งดี เพื่อตรวจและวัดความร้อนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น และเมื่อเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิที่อยู่ใกล้ๆ จำนวนมากให้ผลการวัดในรูปแบบเดียวกัน จะทำให้รู้ได้ว่าการวัดของเรานั้นเชื่อถือได้

- การสำรวจอุณหภูมิผิวโลกจากสถานีตรวจวัด “คุณภาพต่ำ” มีรูปแบบไปในทางเดียวกันกับการสำรวจอุณหภูมิผิวโลกจากสถานีตรวจวัดที่มี “คุณภาพใช้ได้” และอุณหภูมิสัมบูรณ์จากสถานีตรวจวัดคุณภาพต่ำนั้นอาจให้ข้อมูลที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าข้อมูลที่แม่นยำกว่า แต่เมื่อดูภาพรวมทั้งหมดแล้วให้แนวโน้มไปในทางเดียวกัน ซึ่งทางกลุ่มเบิร์กเลย์เอิร์ธก็สรุปว่าข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพต่ำนั้นไม่ส่งผลที่บิดเบือนเกินจริง


http://pics.manager.co.th/Images/554000014304802.JPEG



ขอบคุณข้อมูลจาก...
http://www.manager.co.th/Science/Vie...=9540000135076

สายน้ำ 27-10-2011 08:23


เอ็กซตรีม เวทเตอร์


เหตุอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยครั้งนี้ นับว่ายิ่งใหญ่รุนแรงกว่าทุกครั้ง และคงต้องจดจำสถิติ เล่าขานกันไปอีกนาน

ส่วนสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดมวลน้ำขนาดใหญ่ขึ้นทางภาคเหนือของประเทศ ก็คือการเกิดฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน และตกในปริมาณที่มากกว่าปกติ

จากนั้นมวลน้ำมหาศาลก็เคลื่อนผ่านลงมาสู่ภาคกลาง เพื่อหาทางออกสู่ทะเลตามธรรมชาติของน้ำย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ

สำหรับการเกิดพายุฝนตกติดต่อกันยาวนานนั้น เรียกว่า "ภาวะลมฟ้าอากาศสุดโต่ง (Extreme Weather)"

ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนั้นก็เป็นที่ยอมรับกันในแวดวงวิชาการทั่วโลกแล้วว่า มาจาก "ปรากฏการณ์โลกร้อน" นั่นเอง

ปรากฏการณ์โลกร้อน (Global Warming) หมายถึง การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศใกล้พื้นผิวโลกและน้ำในมหาสมุทร

ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 และมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง

สำหรับช่วง 100 ปีที่ผ่านมา นับถึง พ.ศ.2548 อากาศใกล้ผิวดินทั่วโลกโดยเฉลี่ยมีค่าสูงขึ้น 0.74-0.18 องศาเซลเซียส

ซึ่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี (IPCC) ของสหประชาชาติได้สรุปไว้ว่า

จากการสังเกตการณ์การเพิ่มอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกที่เกิดขึ้น ค่อนข้างแน่ชัดว่าเกิดจากการเพิ่มความเข้มของก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดขึ้นโดยกิจกรรมของมนุษย์ที่เป็นผลในรูปของ "ปรากฏการณ์เรือนกระจก"

ข้อสรุปพื้นฐานดังกล่าวนี้ได้รับการรับรองโดยสมาคมและสถาบันการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ไม่น้อยกว่า 30 แห่ง

แม้นักวิทยาศาสตร์บางคนจะมีความเห็นโต้แย้งกับข้อสรุปของไอพีซีซีอยู่บ้าง

แต่เสียงส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ ที่ทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศของโลกโดยตรงเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้

แบบจำลองการคาดคะเนภูมิอากาศที่สรุปโดยไอพีซีซี บ่งชี้ว่าอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยที่ผิวโลกจะเพิ่มขึ้น 1.1 ถึง 6.4 องศาเซลเซียส ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 21 หรือช่วงพ.ศ. 2544-2643

การที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และคาดว่าทำให้เกิด "ภาวะลมฟ้าอากาศสุดโต่ง" ที่รุนแรงมากขึ้นด้วย

ปริมาณและรูปแบบการเกิดหยาดน้ำฟ้าและพายุฝนจะเปลี่ยนแปลงไป!

ส่วนผลกระทบอื่นๆ ของปรากฏการณ์โลกร้อนได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของผลิตผลทางเกษตร การเคลื่อนถอยของธารน้ำแข็ง การสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์บางชนิด รวมทั้งการกลายพันธุ์และแพร่ขยายโรคต่างๆเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ยังคงมีความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง ได้แก่ปริมาณของความร้อนที่คาดว่าจะเพิ่มในอนาคต ผลของความร้อนที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบอื่นๆ ที่จะเกิดกับแต่ละภูมิภาคบนโลกว่าจะแตกต่างกันอย่างไร

นอกจากนี้ ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยอยู่บ้าง โดยเฉพาะกับประเทศอุตสาหกรรมว่า ปรากฏการณ์โลกร้อนนั้นรุนแรงจริงหรือไม่

แต่ล่าสุด มีผลงานวิจัยยืนยันอีกครั้งว่าโลกของเรากำลังร้อนขึ้นจริง โดยคราวนี้เป็นทีมนักวิทยาศาสตร์ของโครงการเบิร์กเลย์ เอิร์ธ โปรเจ็กต์ สหรัฐ

ซึ่งเก็บข้อมูลจากสถานีบันทึกข้อมูลภูมิอากาศกว่า 40,000 แห่งทั่วโลก เป็นข้อมูลอ้างอิงในการทดลอง

ระบุว่าอุณหภูมิพื้นผิวโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยอาศัยวิธีการศึกษา วิธีการเก็บข้อมูล และขั้นตอนการวิเคราะห์ใหม่ทั้งหมด

โดยไม่อ้างอิงข้อมูลจากการศึกษาอื่นใดก่อนหน้านี้




จาก ................. มติชน คอลัมน์ คอลัมน์ที่ 13 วันที่ 27 ตุลาคม 2554

สายน้ำ 27-10-2011 08:26


ธารน้ำแข็งจีนกำลัง “ละลาย”

http://pics.manager.co.th/Images/554000014460801.JPEG
ในภาพธารน้ำแข็งแถบลุ่มน้ำเผิงฉี่ว์ ขณะนี้นักวิจัยเผย ธารน้ำแข็งจีนกำลังละลายอันเป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อนเป็นหลัก (ภาพเอเยนซี)

เอเอฟพี - ผลการศึกษาวิจัยเผยวานนี้ (25 ต.ค.) ว่า อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากอันเป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อน กร่อนเซาะธารน้ำแข็งหิมาลัยในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนให้ละลายลง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การท่องเที่ยว และการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

ข้อมูลจากการศึกษา ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารเอ็นไวรอนเม้นต์ รีเสิร์ช เล็ทเทอรส์ ของอังกฤษ ระบุว่า “ในบรรดาสถานีตรวจอากาศ 111 แห่งทั่วภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ร้อยละ 77 พบว่า มีการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอากาศทีละน้อยในช่วงปี 2504-2551”

ข้อมูลจากสถานีติดตาม 14 แห่งซึ่งตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 4,000 เมตร เผยว่า อุณหภูมิในช่วงดังกล่าวกระโดดขึ้นมา 1.73 องศาเซลเซียส ซึ่งคิดเป็น 2 เท่าของอัตราเฉลี่ยอุณหภูมิของทั้งโลกเมื่อศตวรรษที่แล้วทีเดียว

หลี่ จงซิง นักวิจัยประจำสำนักสังคมศาสตร์จีน ระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลง 3 ครั้งกับธารน้ำแข็ง ซึ่งเป็นเหตุให้น้ำแข็งละลาย และสาเหตุที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ “ภาวะโลกร้อน”

รายงานระบุว่า “การตรวจสอบพบว่าธารน้ำแข็งหลายแห่งกำลังละลายอย่างน่ากลัว จนทำให้เสียมวลน้ำแข็งไปเป็นจำนวนมาก”

ลุ่มน้ำเผิงฉี่ว์ ซึ่งมีธารน้ำแข็ง 999 แห่ง ได้สูญเสียพื้นที่ธารน้ำแข็งไปแล้ว 131 ตร.กม. ในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (จากปี 2523 จนถึงปี 2544)

ผลการศึกษายังระบุด้วยว่า ทะเลสาบธารน้ำแข็ง ที่รองรับน้ำที่ละลายจากน้ำแข็งกำลังเพิ่มขยายตัวขึ้น นั่นก็แสดงว่า น้ำแข็งกำลังละลายกลายเป็นน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ

นักวิจัยเตือนว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กำลังกลายเป็นปัญหาที่น่ากังวล ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศให้เปลี่ยนสภาพไป

“ธารน้ำแข็งเป็นการผสมผสานนับพันปีของระบบนิเวศตามธรรมชาติ และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการค้ำจุนประชากรมนุษย์ให้ดำรงอยู่ต่อไปได้”

ข้อมูลระบุว่า แถบตะวันตกเฉียงใต้ของจีนมีธารน้ำแข็ง 23,488 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 29,523 ตร.กม. ผ่านภูเขาหิมาลัยและ Nyainqntanglha, Tanggula และแถบภูเขาเหิงต้วน

การศึกษาเผยอีกว่า “การเปลี่ยนแปลงในเรื่องปริมาณน้ำฝนและหิมะนั้นอยู่ในระดับที่ไม่มาก และสอดคล้องกับรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงที่ได้คาดการณ์ไว้”

“มันคงเลี่ยงไม่ได้ที่พวกเราจะต้องกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ และความแปรผันของธารน้ำแข็ง เพราะว่าขณะนี้ธารน้ำแข็งเริ่มลดลงมากแล้ว” หลี่ทิ้งท้าย



จาก ...................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 26 ตุลาคม 2554

สายน้ำ 02-11-2011 07:28


ร่างรายงานสุดท้าย “ไอพีซีซี” ชี้สภาพอากาศจะวิปริตสุดขั้วบ่อยขึ้น

http://pics.manager.co.th/Images/554000014762301.JPEG
ภาพน้ำท่วมในเมืองไทย (เอพี)

เอพีเผยร่างรายงานขั้นสุดท้ายของ “ไอพีซีซี” ชี้สภาพอากาศวิปริตสุดขั้วอย่างมหาอุทกภัยที่ไทยกำลังประสบจนถึงพายุหิมะใน “วันฮาโลวีน” ที่สหรัฐฯ จะเกิดบ่อยขึ้น เป็นสาเหตุของความเสียหายมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และบางท้องถิ่นจะกลายเป็นพื้นที่ไม่เหมาะแก่การดำรงชีวิตมากขึ้น

ร่างรายงานขั้นสุดท้ายของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ “ไอพีซีซี” (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ชี้ให้เห็นอนาคตอันเลวร้ายของโลกซึ่งกำลังบอบช้ำจากหายนะทางสภาพอากาศที่มีมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า มูลค่าความเสียหายจะเพิ่มขึ้น และเป็นไปได้ว่าบางพื้นที่อาจจะกลายเป็น “แหล่งที่ไม่เหมาะแก่การดำรงชีวิต” มากขึ้น

ร่างรายงานของไอพีซีซีที่เป็นผลจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ทางด้านสภาพภูมิอากาศระดับหัวกะทิของโลกนี้จะเป็นประเด็นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หลังการประชุมในอูกานดา โดยรายงานดังกล่าวระบุด้วยว่ามีโอกาสอย่างน้อย 2 ใน 3 ที่สภาพอากาศสุดขั้วได้เลวร้ายลงแล้ว เพราะก๊าซเรือนกระจกที่เป็นผลจากมนุษย์

อย่างไรก็ดี เอพีระบุว่าในกรณีของปรากฏการณ์พายุหิมะที่ผิดปกติในสหรัฐฯ นั้นผู้เชี่ยวชาญยังไม่อาจผูกเข้ากับประเด็นภาวะโลกร้อนได้ โดยผู้เชี่ยวชาญจับตาการเพิ่มขึ้นของจำนวนพายุฝนที่รุนแรง แต่ไม่ได้รวมกรณีของพายุหิมะ ส่วนภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบตรงกันข้ามอย่าง “ภัยแล้ง” นั้น จะเกิดบ่อยขึ้นตามสภาพโลกที่ร้อนขึ้น ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีการศึกษาชี้เฉพาะที่ผูกประเด็นภาวะโลกร้อนกับภัยแล้ง แต่มีความสอดคล้องของแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ที่ชี้ว่าสภาพอากาศปัจจุบันนั้นจะทำให้ความแห้งแล้งที่มีอยู่เดิมเลวร้ายขึ้น

ในหลายการศึกษายังทำนายถึงพายุฝนที่รุนแรงขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อน โดยอากาศที่ร้อนขึ้นจะจะโอบอุ้มน้ำที่มากขึ้นและเพิ่มพลังงานมากขึ้นให้ระบบสภาพอากาศ แล้วเปลี่ยนแปลงพลวัตของพายุ รวมถึงสถานที่และลักษณะการโจมตีของพายุ โดยในกรณีของประเทศไทยขณะนี้กำลังรับมือกับมหาอุทกภัยที่เป็นผลจากฝนอันเนื่องจากมรสุม

ด้าน กาวิน ชมิดท์ (Gavin Schmidt) นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิศาสตร์ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) กล่าวว่า น้ำท่วมในเมืองไทยเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าภูมิอากาศนั้นเชื่อมโยงกับผลกระทบอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นมาอย่างไร อาทิ ประชากรกับการพัฒนาความเป็นเมือง การจัดการแม่น้ำกับพื้นที่จมน้ำ เป็นต้น

http://pics.manager.co.th/Images/554000014762302.JPEG
ภาพพายุหิมะที่มาเร็ววกว่าปกติในสหรัฐฯ (บีบีซีนิวส์)

ในรายงานระบุว่า ภูมิอากาศสุดขั้วในหลายๆพื้นที่นั้นปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่จะทำให้การสูญเสียเพิ่มมากขึ้นนั้นมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม มากกว่าก๊าซเรือนกระจก ส่วนเรื่องเหตุการณ์สุดขั้วที่เป็นเพียงข้อมูลประปรายในรายงานของไอพีซีซีก่อนหน้านี้ได้ถูกรวมเข้าไว้ด้วยกัน โดยรายงานพยายามที่จะประเมินความมั่นใจที่นักวิทยาศาสตร์มีต่อการประเมินความสุดขั้วของภูมิอากาศทั้งในอดีตและอนาคต

อย่างไรก็ดี คริส ฟิล์ด (Chris Field) หนึ่งในผู้นำของคณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กล่าวว่าเขาและคณะที่เขียนรายงานครั้งนี้จะไม่แสดงความเห็นใด เพราะรายงานฉบับนั้นยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีก และบทสรุปของรายงานก็ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าพื้นใดในโลกที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจนถึงขั้นต้องทิ้งให้อยู่ในพื้นที่อาศัยอันจำกัด

นอกจากนี้ในรายงานยังระบุด้วยว่าเมื่อสิ้นศตวรรษนี้พายุฝนที่รุนแรงที่จะเกิดขึ้นภายในวันเดียวจะเกิดบ่อยขึ้น จากปกติที่เกิดขึ้นทุก 20 ปี เป็นเป็นเกิดขึ้นประมาณ 2 ครั้งภายใน 10 ปี




จาก ......................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2554

สายน้ำ 03-11-2011 07:51

3 Attachment(s)

อัลกอร์ น้ำท่วม การเมือง คนไทย ถึง จดหมายขอโทษธรรมชาติ…?



สายน้ำ 03-11-2011 07:53

3 Attachment(s)

อัลกอร์ น้ำท่วม การเมือง คนไทย ถึง จดหมายขอโทษธรรมชาติ…? (ต่อ)



จาก ..................... ไทยรัฐ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2554

สายน้ำ 03-11-2011 07:55


โลกร้อนน้ำท่วม ตอนที่ 1


นักวิทยาศาสตร์มีความเชื่อว่าปรากฏการณ์โลกร้อน การเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปยังชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ฝนตกมากผิดปกติมากขึ้น และทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ได้มาก

ประเทศไทยขณะนี้ซึ่งประสบสภาวะน้ำท่วม ก็ได้เป็นข่าวพาดหัวใหญ่ของสำนักข่าวใหญ่อย่าง ซีเอ็นเอ็น บีบีซีและอีกหลายแห่ง ซึ่งก็สร้างผลกระทบต่อประเทศหนักมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และอาจจะส่งผลกระทบทางการเมืองที่ต้องการวิธีการวางแผนแก้ปัญหาที่ดีขึ้นในอนาคต ทุกประเทศก็เป็นเช่นนี้

ในงานวิจัยล่าสุดซึ่งมีนักวิจัยสองกลุ่มที่ได้มีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ หรือ เรื่องของธรรมชาติ โดยใช้ข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นในอดีตมาวิเคราะห์และสร้างเป็นแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์เพื่อหาข้อสรุปจากผลการทดลอง กลุ่มแรกสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างสภาวะเรือนกระจกที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปกับการสังเกตการณ์เรื่องปริมาณน้ำฝนซึ่งมีความผิดปกติมากขึ้น โดยเฉพาะโลก ซีกด้านเหนือก็คือ ยุโรป อเมริกาเหนือ เอเชีย ก็ตั้งแต่ สิงคโปร์ และไทยขึ้นไปถึงไซบีเรีย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง วิจัยพบว่าสภาวะเรือนกระจก โลกร้อน น่าจะทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2000 ที่ผ่านมา โดยมีการนำหลักฐานการบันทึกปริมาณน้ำฝนในประเทศอังกฤษและเวลส์ (England and Wales) ตั้งแต่ปี 1766 หรือเกือบ 250 ปีมาทำการวิเคราะห์

น้ำท่วมในประเทศอังกฤษครั้งนั้น ทำให้หมู่บ้านแฮมเชียร์อยู่ใต้น้ำ 6 สัปดาห์และทำให้ประเทศเสียหาย ไปประมาณ 50,000 ล้านบาท และยังมีนักวิจัยอีกทีมหนึ่ง นำโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University) ได้ทำการคำนวณโดยใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์จากสภาพบรรยากาศของโลกโดยที่ยังไม่นำผลของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสภาพสภาวะเรือนกระจกอื่นใดที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์มาคิด

เพื่อสร้างผลการพยากรณ์รูปแบบของปริมาณน้ำฝนแล้วนำผลอันนี้มาดูปริมาณน้ำฝนที่ตกลงบริเวณต่าง ๆ และวัดดูผลกระทบปริมาณที่ไหลลงสู่แม่น้ำสายต่าง ๆ ทั่วประเทศอังกฤษและเวลส์ และหลังจากนั้น มาเทียบเคียงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเมื่อตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 2000 ปรากฏว่าผลของการปล่อยก๊าซในสภาวะ เรือนกระจกทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างผิดปกติ

ดร.พาร์ดีพ พอลล์ หัวหน้านักวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ระบุไว้ว่า “เราพบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้เกิดน้ำท่วมมากขึ้นผิดปกติอย่างเห็นได้ชัดในปี 2000 ซึ่งทำให้น้ำท่วมมากขึ้นเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว”

ซึ่งก็สรุปได้ว่าในส่วนของกลุ่มประเทศอังกฤษ เชื่อว่าโลกร้อนทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมใหญ่ ในตอนหน้าผมจะได้นำผลวิจัยจากแคนาดาซึ่งอยู่ทวีปอเมริกาเหนือมานำเสนอให้ท่านผู้อ่าน รวมทั้งผลกระทบจาก ปรากฏการณ์เอลนิโน (El Nino)

เมื่อทราบแล้วรัฐบาลและฝ่ายการเมืองได้มีผลกระทบอย่างไร ก็ติดตามได้ในบทความต่อไป.




จาก .................. เดลินิวส์ คอลัมน์โลกาภิวัฒน์ โดย รศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด วันที่ 3 พฤศจิกายน 2554

สายน้ำ 05-11-2011 08:03


วันที่โลกปราศจากน้ำแข็ง .................... โดย โรเบิร์ต คุนซิก


เมื่อ 56 ล้านปีก่อน การเพิ่มขึ้นอย่างเป็นปริศนาของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิโลกพุ่งพรวด ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชั่วพริบตาของธรณีกาลนี้ทำให้สรรพชีวิตพลิกผันไปตลอดกาล

โลกเมื่อราว 56 ล้านปีก่อนผิดแผกจากโลกในปัจจุบัน มหาสมุทรแอตแลนติกยังไม่เปิดเต็มที่ และส่ำสัตว์ซึ่งอาจรวมถึงบรรพบุรุษไพรเมตของมนุษย์ สามารถเดินทางจากเอเชียผ่านยุโรปข้ามกรีนแลนด์ไปถึงอเมริกาเหนือได้ โดยไม่เห็นหิมะสักปุยเดียว กระทั่งก่อนหน้าช่วงเวลาดังกล่าว โลกก็อุ่นกว่าทุกวันนี้มากแล้ว แต่ในช่วงรอยต่อระหว่างสมัยพาลีโอซีนกับอีโอซีน โลกกลับอุ่นขึ้นมากอย่างรวดเร็ว

สาเหตุคือการปล่อยคาร์บอนครั้งใหญ่อย่างฉับพลันเมื่อเทียบกับธรณีกาล เพียงแต่ปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยขึ้นสู่บรรยากาศในช่วงความร้อนสูงสุดในสมัยพาลีโอซีน-อีโอซีนหรือพีอีทีเอ็ม (Paleocene-Eocene Thermal Maximum: PETM) ยังไม่แน่ชัด ประมาณคร่าวๆ ว่าน่าจะสูสีกับการปล่อยคาร์บอนในปัจจุบันถ้ามนุษย์เผาถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก ช่วงพีอีทีเอ็มกินเวลายาวกว่า 150,000 ปี กระทั่งคาร์บอนส่วนเกินถูกดูดซับไปสิ้น ก่อให้เกิดภัยแล้ง อุทกภัย แมลงระบาด และสิ่งมีชีวิตบางชนิดสูญพันธุ์ไป แม้ชีวิตบนโลกยังอยู่รอดปลอดภัย ซ้ำยังเจริญงอกงามเสียด้วย แต่ก็เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างลิบลับ ปัจจุบันผลกระทบทางวิวัฒนาการที่เกิดจากปรากฏการณ์คาร์บอนพุ่งสูงในครั้งนั้น พบเห็นได้รอบตัวเรา หรือจะว่าไปก็รวมถึงตัวเราด้วย และทุกวันนี้พวกเรากำลังทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเสียเอง

คาร์บอนทั้งหมดเหล่านั้นมาจากไหน เรารู้ว่าคาร์บอนส่วนเกินในบรรยากาศตอนนี้มาจากตัวเรา แต่เมื่อ 56 ล้านปีก่อนยังไม่มีมนุษย์ แล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึงรถยนต์และโรงไฟฟ้า คาร์บอนพุ่งสูงช่วงพีอีทีเอ็มมีแหล่งที่มาที่เป็นไปได้หลายแหล่ง เป็นต้นว่าเกิดการระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟหลายครั้ง ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากตะกอนอินทรีย์ก้นสมุทรออกมา ไฟป่ายังอาจเผาผลาญตะกอนพีตในสมัยพาลีโอซีน หรือจะเป็นดาวหางยักษ์ที่พุ่งชนหินคาร์บอเนต จนเป็นสาเหตุของการปล่อยคาร์บอนปริมาณมหาศาลอย่างรวดเร็ว

สมมุติฐานเก่าแก่ที่สุดและยังคงเป็นที่ยอมรับมากที่สุดคือ คาร์บอนส่วนใหญ่มาจากตะกอนมหาศาลของมีเทนไฮเดรต ซึ่งเป็นสารประกอบประหลาดคล้ายน้ำแข็ง มีโมเลกุลของน้ำหลายโมเลกุลก่อตัวล้อมรอบโมเลกุลมีเทนเดี่ยวๆ ไฮเดรตจะคงตัวที่ความดันสูงและอุณหภูมิต่ำในช่วงแคบๆเท่านั้น ทุกวันนี้เราพบตะกอนไฮเดรตปริมาณมากใต้เขตทุนดราของอาร์กติกและใต้พื้นสมุทร ในช่วงพีอีทีเอ็ม ความร้อนแรกเริ่มมาจากไหนสักแห่ง อาจเป็นภูเขาไฟหรือวงโคจรของโลกที่ปรวนแปรเล็กน้อย จนทำให้บางส่วนของโลกได้รับแสงอาทิตย์มากกว่าปกติ อาจส่งผลให้ไฮเดรตหลอมละลายจนโมเลกุลมีเทนหลุดจากวงล้อมของน้ำและลอยขึ้นสู่บรรยากาศ

สมมุติฐานดังกล่าวช่างน่าพรั่นพรึง ก๊าซมีเทนในบรรยากาศทำให้โลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงกว่า 20 เท่าเมื่อเทียบโมเลกุลต่อโมเลกุล พอผ่านไป 10 ปีหรือ 20 ปี มันจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และทำให้โลกร้อนต่อไปอีกนาน นักวิทยาศาสตร์หลายคนเตือนว่า ความร้อนจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในยุคปัจจุบัน อาจนำไปสู่การปล่อยก๊าซมีเทนครั้งใหญ่จากทะเลลึกและขั้วโลกเหนือ

ขณะที่มหาสมุทรดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งทำให้โลกร้อน น้ำทะเลก็กลายเป็นกรดมากขึ้น และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในศตวรรษหน้า เมื่อระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์พุ่งสูงอีกครั้ง หลักฐานนี้พบเห็นได้ในตะกอนใต้ทะเลลึกบางแห่งซึ่งบ่งชี้ถึงช่วงพีอีทีเอ็มอย่างชัดเจน

ในช่วงพีอีทีเอ็ม มหาสมุทรที่เป็นกรดจะละลายแคลเซียมคาร์บอเนตไปหมด พอถึงจุดนี้ เราอาจนึกถึงชะตากรรมที่ตามมาได้ไม่ยาก เมื่อน้ำทะเลที่เป็นกรดทำลายล้างสรรพชีวิตจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะการกัดกร่อนเปลือกและโครงสร้างหินปูนของปะการัง หอยกาบ และฟอแรม ซึ่งเป็นสภาพการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนในปัจจุบันคาดว่าอาจเกิดขึ้นในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด

หากพิจารณาระดับความเป็นกรดของมหาสมุทร นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า การพุ่งสูงระลอกแรกน่าจะมีคาร์บอนราวสามล้านล้านตันเข้าสู่บรรยากาศ จากนั้นอีก 1.5 ล้านล้านตันจึงค่อยๆปล่อยออกมา ปริมาณรวม 4.5 ล้านล้านตันนั้นใกล้เคียงกับปริมาณคาร์บอนทั้งหมด ที่คาดการณ์กันในปัจจุบันว่าน่าจะกักเก็บอยู่ในแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่ในโลก การพุ่งสูงครั้งแรกสอดคล้องกับการปล่อยคาร์บอนของมนุษย์ในอัตราปัจจุบันเป็นเวลา 300 ปี ถึงแม้ข้อมูลจะไม่แน่นอน แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็สันนิษฐานว่า การปล่อยคาร์บอนในช่วงพีอีทีเอ็มนั้นเกิดขึ้นช้ากว่ามากโดยใช้เวลาหลายพันปี

ไม่ว่าการปล่อยคาร์บอนจะเร็วหรือช้า กระบวนการทางธรณีวิทยาต้องใช้เวลาในการกำจัดนานกว่ามาก ขณะที่คาร์บอเนตบนพื้นสมุทรละลายความเป็นกรดก็ลดลง มหาสมุทรจึงดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากขึ้น และภายในไม่กี่ร้อยปีหรือพันปีหลังการปล่อยคาร์บอนอย่างฉับพลัน ช่วงที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศมีปริมาณสูงสุดก็ผ่านไป ในเวลาเดียวกัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ละลายอยู่ในเม็ดฝน ก็ชะล้างแคลเซียมจากหินและดินไหลลงสู่ทะเล ไปรวมกับคาร์บอเนตไอออนเพื่อสร้างแคลเซียมคาร์บอเนตเพิ่มขึ้น ฝนค่อยๆชะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินในบรรยากาศ และกลายเป็นหินปูนที่ก้นทะเลในที่สุด แล้วสภาพอากาศก็ค่อยๆกลับคืนสู่สภาวะก่อนหน้า

การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลปลดปล่อยคาร์บอนกว่า 300,000 ล้านตันนับตั้งแต่ศตวรรษที่สิบแปด นั่นอาจยังไม่ถึงหนึ่งในสิบของคาร์บอนที่กักเก็บอยู่ใต้ดิน หรือคาร์บอนที่ปล่อยออกมาในช่วงพีอีทีเอ็มด้วยซ้ำ จริงอยู่ที่ว่าช่วงเวลาอันไกลโพ้นนั้นไม่ได้ให้คำตอบว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตบนโลก ถ้าเราเลือกเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เหลือ เป็นไปได้ว่าอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางวิวัฒนาการอย่างขนานใหญ่ และเมื่อคำนึงถึงความกดดันอีกสารพัดที่มีต่อสิ่งมีชีวิต นั่นอาจทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ช่วงพีอีทีเอ็มแค่ช่วยให้เราประเมินทางเลือกที่มีอยู่เท่านั้น ช่วงเวลาหลายสิบล้านปีนับจากนี้ ไม่ว่าโฉมหน้าของมนุษยชาติจะเป็นอย่างไร รูปแบบของชีวิตทั้งหมดบนโลกอาจผิดแผกไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นอย่างสิ้นเชิง เพียงเพราะวิธีในการเติมพลังงานเพื่อขับเคลื่อนชีวิตของเราในระยะเวลาเพียงไม่กี่ร้อยปี.




จาก ...................... ไทยโพสต์ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2554

สายน้ำ 11-11-2011 08:26


อีก 5 ปี โลกเสี่ยงร้อนขึ้นถาวร ระวัง 'น้ำท่วม' ใหญ่กว่าเดิม!?

http://www.dailynews.co.th/content/i...1111/11/a1.jpg

ผู้เชี่ยวชาญชี้โลกถึงขั้นวิกฤติ หากไม่ลดการใช้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์อย่างรวดเร็วใน 5 ปี สภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

สถานการณ์โลกในปัจจุบัน อากาศตามภูมิภาคต่างๆของโลกเกิดความแปรปรวน เป็นเหตุให้ดินฟ้าอากาศทุกมุมโลกวิปริตผิดจากเดิมและทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงเล่นงานมนุษยชาติหนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในโลกยุคดิจิตอล ทุกประเทศทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศของโลกทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่กำลังเผชิญมหาอุทกภัยในเวลานี้

อย่างไรก็ดี ดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปและสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้นถึงขั้นวิกฤติที่อาจส่งผลให้ความร้ายแรงของภัยธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นเกิดจากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นมาจากการที่ทั่วโลกใช้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์อย่างไม่บันยะบันยัง ซึ่งจะทำให้สภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

นายฟาติธ์ บิโรล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ(ไออีเอ)เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ของไออีเอพบว่า หากทั่วโลกไม่ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ เช่น น้ำมันดิบ แก๊สธรรมชาติ และถ่านหินอย่างสิ้นเปลืองในภาคส่วนต่างๆภายใน 5 ปี จะเป็นการปิดกั้นความเป็นไปได้ที่จะหยุดภาวะโลกร้อนให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย และหากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างรวดเร็วจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกตลอดไปและไม่สามารถแก้ไขได้

นายฟาติธ์ เปิดเผยอีกว่า หากโลกยังคงมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่แต่เกิน 2 องศาเซลเซียส ยังจัดอยู่ในระดับปลอดภัย เพราะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศต้องไม่เกิน 450 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งในปัจจุบันมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศอยู่ที่ 390 ส่วนในล้านส่วน หรือร้อยละ 80 ของจำนวนคาร์บอนที่ปล่อยในชั้นบรรยากาศได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อโลก และในอนาคตก็จะมีใช้พลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไออีเอคำนวณว่าในปี 2015 จะมีการปล่อยคาร์บอนอย่างน้อยร้อยละ 90 จากการใช้พลังงานในภาคส่วนต่างๆ และโรงงานอุตสาหกรรม และในปี 2017 ทั่วโลกจะปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศจนถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อโลกและทำให้โลกร้อนขึ้น

“อนุสัญญาเกียวโตซึ่งเป็นข้อตกลงให้ประเทศที่ร่ำรวยยอมลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะสิ้นสุดในปี 2012 แม้ทั้งรัสเซียและญี่ปุ่นต่างมีข้อตกลงกันเมื่อเร็วๆ นี้ ที่จะทำข้อตกลงเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2018หรือ2020 แต่จะช้าเกินไป หากไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศในเร็วๆ นี้ ผลกระทบจากการปล่อยคาร์บอนในชั้นบรรยากาศมากเกินไปจะเกิดขึ้นในปี 2017 และเราจะหมดโอกาสในการกลับมาเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกตลอดไป” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ไออีเอกล่าว




จาก ...................... เดลินิวส์ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2554

สายน้ำ 19-11-2011 08:14


ธารน้ำแข็งที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต หดปีละ 7.8 เมตร

http://pics.manager.co.th/Images/554000015536801.JPEG
ทิวทัศน์ธารน้ำแข็ง Karuola Glacier

ซินหวาเน็ต--หน่วยงานวิทยาศาสตร์ กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศจีน แถลงเมื่อวันที่ 16 พ.ย. เผยรายงานการประเมิน 'การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศครั้งที่สอง' ระบุจากช่วงปี 2494 ถึงปี 2552 อุณหภูมิเหนือพื้นดินประเทศจีน โดยเฉลี่ย เพิ่มสูง 1.38 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิสูงขึ้นในอัตรา 0.23 องศาเซลเซียสในทุก 10 ปี

นอกจากนี้ ในแต่ปี ธารน้ำแข็งบนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต หดหายไป 7.8 เมตร

ระดับน้ำทะเลที่ชายฝั่งสูงขึ้นในอัตราปีละ 2.5 มิลลิเมตร

ทศวรรษที่ 90 ของศตวรตวรรษที่ 20 การสะสมของหิมะในแต่ละวันระหว่างช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิมีแนวโน้มลดลง และในช่วงหลังๆมานี้ ยังพบว่าธารน้ำแข็งบนNyainqentanglha Range หนึ่งในเทือกเขาสำคัญที่ตั้งอยู่ตอนกลางของภาคตะวันออกทิเบต เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก ธารน้ำแข็งในเขต Naimona Nyi บนเทือกเขาหิมาลัยก็กำลังละลายตัวอย่างรวดเร็ว ระหว่างปี 2519-2549 ปลายธารน้ำแข็ง หดในอัตราโดยเฉลี่ยต่อปี ที่ประมาณ 5 เมตร โดยระหว่างปี 2547-2549 อัตราการหดตัวของธารน้ำแข็งเป็นไปอย่างรวดเร็วในอัตราเฉลี่ยปีละ 7.8 เมตร แสดงถึงแนวโน้มการหดตัวอย่างรวดเร็วมากขึ้นในระยะหลังมานี้

http://pics.manager.co.th/Images/554000015536804.JPEG

นักวิจัยศูนย์วิจัยสภาพภฒิอากาศแห่งประเทศจีน นาย หลัว หย่ง กล่าวว่า จากปี 2494 เป็นต้นมา สภาพอุณหภูมิสูง อุณหภูมิต่ำ ระดับน้ำลด และการกลายสภาพเป็นทะเลทราย ตลอดจนสภาพอากาศที่รุนแรงอื่นๆ ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีความรุนแรงมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญยังได้ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้เกิดกรณีสภาพอากาศที่รุนแรงบ่อยครั้งขึ้นนั้น ยังส่งผลต่อสุขภาพผู้คน และผลกระทบในด้านลบ และควรมีการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาสนใจลดการแพร่กระจายความร้อน ร่วมมือในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ( low-carbon life)

เนื่องจากภาวะโลกร้อน สภาพที่ธารน้ำแข็งบนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตกำลังละลายอย่างรวดเร็ว

จากการสำรวจ บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเนือ ภาคกลาง และภูมิภาคอื่นๆในประเทศจีน ในช่วงเกือบ 50 ปี มานี้ มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้ส่งผลกระมบต่อผลผลิตการเกษตร พื้นดินเสียหายทำประโยชน์ไม่ได้และกลายสภาพเป็นดินเค็ม ทำให้เกิดการระบาดโรคพญาธิใบไม้ในเลือด โรคทางเดินลมหายใจและโรคระบาดอื่นๆ โดยอัตราการระบาดสูงมากขึ้น

http://pics.manager.co.th/Images/554000015536806.JPEG
ธารน้ำแข็งในเขต Nyinchi อำเภอ Bowo ตั้งอยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของทิเบต (บันทึกภาพเมื่อวันที่ 20 กันยายน)

บริเวณภาคใต้ ระดับผิวน้ำทะเลในทะเลใต้ สูงขึ้น จากปี 2536 ถึง 2549 ระดับผิวน้ำทะเลในทะเลใต้สูงขึ้นในอัตราเฉลี่ย 3.9 มิลลิเมตรต่อปี าสำหรับภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ ช่วง 40 ปี สุดท้ายของศตวรรษที่ 20 บนที่ราบสูงซื่อชวน (หรือเสฉวน) ที่ราบสูงอวิ๋นกุ้ย มีแนวโน้มอุณหภูมิสูงขึ้นๆอย่างชัดเจน อุณหภูมิในบริเวณที่ราบลุ่มเสฉวนมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน ปริมาณฝนตกในแต่ละวันก็น้อยลง

ห้าปีมานี้ สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 1,460 ล้านตัน

จากปี 2549 ถึงปี 2553 ระดับการบริโภคพลังงานต่อหน่วยจีดีพี (energy consumption per unit GDP) ลดลง 19.1 เปอร์เซนต์ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดลง 1,460 ล้านตัน

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า กองหินที่เชิงเขา Naimona Nyi ที่ทอดตัวต่อเนื่องยาวนับสิบกิโลเมตร เคยเป็นตะกอนที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต (Sediment)ในธารน้ำแข็ง

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะเวลา 5 ปี ฉบับที่ 11 การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด ปลายปี 2553 ปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียน เท่ากับ 300 ล้านตัน Standard coal คิดเป็นสัดส่วน 9.6 เปอร์เซนต์ ของปริมาณการบริโภคพลังงานทั้งหมด

http://pics.manager.co.th/Images/554000015536810.JPEG
ที่นี่เคยเป็นปลายธารน้ำแข็ง ขณะนี้เหลือเพียงตะกอนหลังจากที่ธารน้ำแข็งละลายหมดแล้ว กลายเป็นก้อนหินที่ไร้ประโยชน์ทอดยาว





จาก ..................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2554


สายน้ำ 22-11-2011 08:01

1 Attachment(s)

ก๊าซเรือนกระจกพุ่งทุบสถิติ เลยสถานการณ์เลวร้ายสุด


จาก ..................... ไทยรัฐ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2554

สายน้ำ 04-01-2012 07:11


สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

http://www.dailynews.co.th/sites/def...cover/4221.jpg

นอกจากหน่วยงานภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว “สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน” ในฐานะองค์กรเอกชน ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญกับการช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยธรรมชาติเช่นเดียวกัน โดยล่าสุดเป็นตัวแทนภาคประชาชนยื่นฟ้อง “ผู้บริหารภาครัฐ” เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชน กรณีได้รับผลกระทบจาก “มหาอุทกภัย”

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนประกอบด้วย

1. ติดตาม ตรวจสอบ แหล่งกำเนิดมลพิษที่เป็นต้นเหตุของปัญหาสภาวะโลกร้อน และเหตุภาวะมลพิษต่างๆ ที่ก่อความเสียหายต่อบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2. เผยแพร่ความรู้กฎหมายเกี่ยวกับมลพิษและสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนหรือกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจได้รับอันตรายหรือความเสียหายจากภาวะมลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ รวมทั้งเป็นผู้แทนในการฟ้องร้องต่อศาล เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ค่าเสียหาย ค่าชดเชยให้แก่ประชาชน ชุมชน และสาธารณชน

3. ส่งเสริมสิทธิและหน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ในการจัดการด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างสมดุล ยั่งยืน และเกิดความมั่นคงทางนิเวศ

4. ส่งเสริมการปลูกและรักษาป่า รักษาน้ำและลุ่มน้ำ รักษาสัตว์ป่า ให้สังคมตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบจากสภาพความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งในเมืองและชนบท

5. รณรงค์และสร้างเครือข่ายการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พิทักษ์ป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการัง พืชและสัตว์ทะเลทุกประเภท.




จาก ..................... เดลินิวส์ วันที่ 22 ธันวาคม 2554

สายน้ำ 12-01-2012 07:59


ทางเลือกใหม่ของคนไทย ฉลากคาร์บอน ช่วยลดโลกร้อน

http://pics.manager.co.th/Images/555000000346901.JPEG

จากปัญหาการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ทำให้ประเทศต่างๆ หันมาให้ความสนใจและให้ความตระหนักถึงภัยพิบัติของโลกร้อนและวิธีการลดโลกร้อน ซึ่งการลดความรุนแรงของปัญหาโลกร้อนที่สามารถทำได้ คือ การร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรมในฐานะผู้ผลิต ภาคบริการในฐานะผู้ขับเคลื่อนกิจกรรม รวมทั้ง ประชาชนในฐานะผู้บริโภค

การดำเนินการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในส่วนผู้บริโภคนั้นสามารถเชื่อมโยงกับส่วนผู้ผลิต คือ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ห่วงใยรักษาสิ่งแวดล้อม หรือมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย และการที่ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าหรือบริการที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย จำเป็นต้องมีข้อมูลเพื่อตัดสินใจเลือกซื้อ

ดังนั้น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จึงร่วมมือกันจัดทำ “โครงการการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอน” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักให้ฉลากคาร์บอนแสดงว่า กระบวนการผลิตสินค้าหรือการให้บริการนั้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ นอกจากนี้ ฉลากคาร์บอนยังเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิตสินค้าพัฒนากระบวนการผลิตและการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การนำระบบฉลากคาร์บอนมาใช้ จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ และมีการออกแบบระบบการพิจารณาการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลนั้นในการเลือกซื้อและพัฒนาสินค้าตนเองอย่างมีประสิทธิภาพและนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างแท้จริง

ฉลากคาร์บอน คืออะไร ? : ฉลากคาร์บอน คือฉลากที่แสดงว่าการผลิตสินค้าหรือการให้บริการนั้นมีการลดการปล่อยก๊าซเรือกระจก หรือการปล่อยก๊าซเรื่อนกระจกในระดับต่ำ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้า

ฉลากคาร์บอนในประเทศไทย : อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย ถ้าจะเอ่ยคำว่า “ฉลากคาร์บอน หรือ Carbon Reduction Label” ซึ่งเป็นฉลากรับรองมาตรฐาน ที่แสดงว่าการผลิตสินค้า หรือการให้บริการนั้น มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ ที่ดำเนินการโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อสนับสนุนให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีส่วนในการช่วยกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

การขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนในประเทศไทย ใช้แนวคิดการประเมินวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life cycle Assessment; LCA) เพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ โดยแสดงผลอยู่ในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 equivalent) ก่อนนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประกอบการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนต่อไป

ฉลากคาร์บอนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ “ฉลากคาร์บอนประเภทพิจารณาทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์” ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การผลิต การบรรจุหีบห่อ การใช้งาน จนกระทั่งการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินงานจะใช้เวลาค่อนข้างมากเนื่องจากมีกระบวนการประเมินซับซ้อน และ “ฉลากคาร์บอนประเภทพิจารณากระบวนการผลิต” ซึ่งฉลากคาร์บอนประเภทนี้จะใช้เวลาในการดำเนินงานน้อยกว่าแบบแรก

ในช่วงแรกของการดำเนินงานจะมุ่งเน้นการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนประเภทพิจารณากระบวนการผลิต เพื่อให้การดำเนินการขึ้นทะเบียนฉลากกระทำได้รวดเร็ว เพื่อรองรับกระแสของผู้บริโภคในการมีส่วนร่วมเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน ส่วนการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทพิจารณาทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ จะถูกดำเนินการในลำดับถัดไป การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการ พิจารณาจากการใช้ไฟฟ้า เชื้อเพลิงฟอสซิล วัตถุดิบ และการจัดการของเสีย โดยแสดงผลในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 equivalent)

ผลการประเมินจะถูกนำมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์กลางที่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กำหนด กล่าวคือสินค้าและบริการจะได้รับการอนุมัติเพื่อขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอน โดยใช้เกณฑ์มาตรฐาน ต่อไปนี้

1. กระบวนการผลิตมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงเฉลี่ยตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไป ระหว่างปี พ.ศ. 2545 ถึงปีล่าสุดที่ครบ 12 เดือน

หรือ 2. กระบวนการผลิตมีระบบผลิตไฟฟ้าจากวัสดุชีวมวลหรือจากของเสียเพื่อใช้ภายในโรงงาน โดยอาจซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตภายนอกได้ แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตสินค้า ทั้งนี้ จะไม่มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิต (ยกเว้นเพื่อการเริ่มต้นเดินระบบผลิตไฟฟ้าและเพื่อการเคลื่อนย้ายสิ่งของภายในพื้นที่สถานประกอบการเท่านั้น) และไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากของเสีย (น้ำเสีย หรือ กากของเสีย/ขยะมูลฝอย)

หรือ 3. กรณีที่กระบวนการผลิตมีการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในภาคอุตสาหกรรมประเภทนั้นๆ คณะทำงานส่งเสริมการใช้ฉลากคาร์บอนจะพิจารณาเป็นกรณีไป หากผ่านเกณฑ์มาตรฐานข้อใดข้อหนึ่งที่กำหนด สินค้าหรือบริการดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติเพื่อขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลของภาครัฐเป็นผู้รับรองการขึ้นทะเบียนฉลากดังกล่าว โดยในช่วงต้นของโครงการฯ ฉลากคาร์บอนมีเพียงระดับเดียว เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนและผู้ประกอบการเรื่องการมีส่วนร่วมในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน และต้องการชักชวนให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ

ทั้งนี้ ฉลากคาร์บอนจะแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบว่า สินค้าหรือบริการที่ได้รับการติดฉลากคาร์บอนมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศน้อย หรืออีกนัยหนึ่ง คือสินค้าหรือบริการนั้นมีความเป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ (Climate friendly) และสามารถช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้ ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนโดยใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 2 เดือน หลังจากที่ทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (เลขานุการโครงการฯ) ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนจากผู้ประกอบการ

http://pics.manager.co.th/Images/555000000346902.JPEG

ข้อดีสำหรับสินค้าที่ได้รับฉลากคาร์บอน : ก่อให้เกิดประโยชน์ใน 3 ภาคส่วนใหญ่ คือ

1. ภาคส่วนของผู้บริโภค จะเป็นการช่วยส่งเสริมให้ประชาชนผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกโดยตรง ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศมากขึ้นด้วยเช่นกัน

2. ภาคธุรกิจ จะได้รับประโยชน์ในมิติที่ว่า การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นการลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากผู้ประกอบการต้องพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยลดการใช้ฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งยังเป็นการแสดงภาพลักษณ์และเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคม

3. ภาคสังคม หากผู้บริโภค ซึ่งเป็นภาคประชาชนทั่วไป ให้ความสนใจ และสนับสนุนสินค้าหรือบริการที่ได้รับฉลากคาร์บอน ก็จะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตตระหนักและพิจารณาปรับปรุงกระบวนการผลิต รวมถึงการเข้าร่วมกับโครงการฉลากคาร์บอน ซึ่งจะส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพของประเทศลดต่ำลง

ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติฉลากคาร์บอน : ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุมัติฉลากคาร์บอนมีทั้งสิ้น 151 ผลิตภัณฑ์ จาก 37 บริษัท และยังมีหน่วยงานและบริษัทต่างๆ อีกหลายหน่วยงานที่ยื่นเสนอขอรับฉลากคาร์บอน และทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ก็กำลังอยู่ในช่วงการประเมิน

แนวโน้มอนาคตตลาดฉลากคาร์บอนในประเทศไทย นับเป็นความโชคดีที่มีบริษัทต่างๆ ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก จึงเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการนำเสนอโครงการฉลากคาร์บอนต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะในเรื่องของการผลิตอาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของประเทศไทยอีกประเภทหนึ่ง ดังนั้น เราจึงมีตัวเลขที่ชัดเจนในกาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต่อไปในอนาคตเราจะนำเสนอโครงการฉลากคาร์บอนออกสู่ต่างประเทศเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับต่างประเทศด้วย




จาก ...................... ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ วันที่ 9 มกราคม 2555

สายน้ำ 16-02-2012 07:42


โลกร้อนเป็นเหตุ “น้ำท่วมใหญ่” ในรอบศตวรรษเกิดถี่ทุก 3-20 ปี

http://pics.manager.co.th/Images/555000002167001.JPEG
ภาพพายุเฮอร์ริเคนกำลังเข้าถล่มฝั่งตะวันออกของอเมริกาเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา (NOAA/PhyOrg)

เมื่อเดือน ส.ค.ปีที่ผ่านมาเฮอร์ริเคน “ไอรีน” ได้พัดถล่มในแถบแคริบเบียนจนถึงฝั่งตะวันออกของอเมริกา ความรุนแรงจัดอยู่ในอันดับ 3 ที่พัดตีระดับน้ำจนสูงขึ้นและก่อให้เกิดพายุซัดเข้าสู่ฝั่งและท่วมข้ามกำแพงกั้นฝั่งลึกเข้าสู่พื้นที่ด้านในห่างจากชายฝั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านพายุหลายคนระบุว่า ผลกระทบที่ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้างนี้ทำให้เฮอร์ริเคนดังกล่าวเป็นภัยพิบัติในรอบ 100 ปี ที่ภายในหนึ่งศตวรษจะเกิดขึ้นเพียง 1 ครั้ง

หากแต่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) สหรัฐฯ และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์หรือเอ็มไอที (MIT)พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) จะทำให้เกิดพายุที่รุนแรงดังกล่าวจนเป็นเหตุดินถล่มถี่ขึ้น และยังเป็นสาเหตุให้เกิดพายุซัดเข้าสู่ฝั่งหรือสตอร์มเซิร์จ (storm surge) ที่รุนแรงทุกๆ 3-20 ปี

ทาง PhysOrg.com ระบุว่า ทางกลุ่มวิจัยได้จำลองพายุนับหมื่อลูกภายใต้สภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน และพบว่าน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นทุก 500 ปี นั้นจะเกิดถี่ขึ้นทุก 25-240 ปี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพวกเขาได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยนี้ลงวารสารเนเจอร์ไคลเมตแชงจ์ (Nature Climate Change)

ทางด้าน ดร.นิง ลิน (Ning Lin) นักวิจัยหลังปริญญาเอกของเอ็มไอทีซึ่งเป็นหัวหน้าทีมในการศึกษาครั้งนี้กล่าวว่า การทราบถึงความถี่ของสตอร์มเซิร์จอาจช่วยนักวางแผนเมืองและชายฝั่งในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันภัยธรรมชาตดังกล่าวที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในการออกแบบเขื่อนหรือกำแพงป้องกันนั้นจำเป็นต้องทราบว่าเราควรจะสร้างให้มีความสูงเท่าไรเพื่อป้องกันน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นทุกๆ 20 ปี

ทั้งนี้ ดร.ลินและทีมวิจัยได้ใช้เหตุน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กเป็นกรณีศึกษา โดยพวกเขาได้ศึกษาแบบจำลองภูมิอากาศ 2 แบบ คือ การศึกษาภายใต้เงื่อนไขของภูมิอากาศปัจจุบันระหว่างปี 1981-2000 และเงื่อนไขของภูมิอากศในอนาคตระหว่างปี 2081-2100 ซึ่งเป็นการทำนายภายใต้การคาดการณ์ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือไอพีซีซี (IPCC) ซึ่งพวกได้พบว่ามีความถี่ที่จะเกิดพายุรุนแรงเพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

สำหรับน้ำท่วมรุนแรงในรอบ 100 ปี คือ น้ำท่วมจากพายุที่สูงเฉลี่ย 2 เมตร ส่วนพายุรุนแรงในรอบ 500 ปีคือน้ำท่วมจากพายุซัดสูง 3 เมตร แต่เมื่อทีมวิจัยเพิ่มปัจจัยเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแบบจำลองแล้วพบว่า น้ำท่วมจากการซัดของพายุสูง 2 เมตรจะเกิดถี่ขึ้นทุกๆ 3-20 ปี ส่วนน้ำท่วมสูง 3 เมตรจะเกิดถี่ขึ้นทุก 25-240 ปี ซึ่ง ดร.ลินกล่าวว่า ในปี 1821 เกิดน้ำท่วมสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของเมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ โดยท่วมสูงถึง 3.2 เมตร และปัจจุบันยังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 500 ปี




จาก ........................ ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555

สายน้ำ 21-02-2012 07:45


"อาเซียน"เดือดขึ้น 4 องศา ไทย-เพื่อนบ้านสาหัส!

http://www.khaosod.co.th/view_resizi...360&height=360


ด้วยอากาศร้อนๆหนาวๆ แบบภาวะโลกไร้สมดุลที่บังเอิญเกิดขึ้นพอดิบพอดีในปี 2012 เล่นเอาคนทั่วโลกหวั่นวิตก

กลัวว่าคำทำนายของชนเผ่ามายันโบราณจะกลายเป็นจริงขึ้นมา

ต่อให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยชั้นนำออกมาระบุว่าโลกไม่ได้แตกง่ายๆ อย่างที่คิด

แต่มันก็น่าสงสัยอยู่ไม่ใช่น้อยว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากโลกกลมๆใบนี้ ต้องถึงกาลอวสานจริงๆ?

จากข้อกังขากระหึ่มโลกดังกล่าว ทำให้กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร กรมอุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักร และ "ฮาร์ดลีย์ เซ็นเตอร์" ได้ไอเดียตอบโจทย์ของคำถามคาใจให้ชัดๆกันไปเลย

วิธีการก็คือ จัดทำแผนที่ "4 ดีกรี แม็ป" (แผนที่ 4 องศาเซลเซียส) แบบอินเตอร์แอ๊กทีฟ เพื่อแสดงผลกระทบซึ่งจะเกิดขึ้นบนโลก หากอุณหภูมิเดือดไต่ระดับขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียส เกินค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม

โดยเน้นเจาะลึกถึงความเปลี่ยนแปลงบนทวีป "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ของเรา

ในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตอาหารระดับครัวโลก

นายจอห์น เพียร์สัน หัวหน้าเครือข่ายงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของรัฐบาลอังกฤษ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อธิบายระหว่างงานเปิดตัว "4 ดีกรี แม็ป" ณ สถานเอกอัครราช ทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ว่า

"จากแผนที่นี้ จะเห็นได้ว่ามีวงแหวนหลากสีหลายขนาดล้อมอยู่รอบๆ พื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อแบ่งแยกปัญหาที่อาจตามมาจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในแต่ละพื้นที่ ซึ่งประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงพม่า กัมพูชา ลาวและเวียดนาม มีแนวโน้มว่าจะร้อนขึ้นสูงสุด ที่ 5 องศาเซลเซียส

"ขณะที่ภาคกลางตอนล่างของไทยเรื่อยไปจนถึงภาคตะวันตกบริเวณอ่าวไทย จะเพิ่มขึ้น 4 องศาเซลเซียส ประเทศมาเลเซียโดยรวมจะอยู่ที่ 3 องศาเซลเซียส อินโดนี เซียและบรูไน จะเพิ่มขึ้นระหว่าง 5-6 องศาเซลเซียส ส่วนฟิลิปปินส์จะเฉลี่ย ราว 3 องศาเซลเซียส" เพียร์สันกล่าว

เรียกได้ว่าถ้าเกิดอุณหภูมิสูงขึ้นขนาดนั้นจริง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพาะปลูก การประมง แหล่งน้ำและการใช้ชีวิตของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!

เพียร์สันระบุว่า เมื่อคลิกดูตาม "ไอคอน" ในแผนที่ สิ่งแรกซึ่งเราจะต้องเจอเลย คือ

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝน

รวมถึงพายุฤดูร้อน พายุไซโคลนและไต้ฝุ่น ที่จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

โดยฟิลิปปินส์มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะถูกพายุพัดกระหน่ำแบบทั่วถึงทั้งเกาะตลอดปี

แถมด้วยปรากฏการณ์ "เอลนิโญ่" และ "ลานิญ่า" ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของพายุหลงฤดู ซึ่งจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงไปตามสภาพอากาศที่ปรวนแปร ส่งผลให้บางประเทศมีฝนตกชุกและพายุเข้า

ขณะที่อีกประเทศแทบจะไม่มีฝนและร้อนแห้งแล้ง กลายเป็นภาวะน้ำท่วมน้ำขาดแบบไม่รู้จบ

ผลลัพธ์ที่ตามมาติดๆ เมื่ออุณหภูมิโซนอาเซียนพุ่งสูงขึ้น ก็คือข้อจำกัดในการประกอบอาชีพ

โดยเฉพาะพืชผลทางการเกษตรที่ไม่สามารถทนต่ออุณหภูมิของ "น้ำ" ซึ่งร้อนขึ้น

ประกอบกับความเป็นไปได้ของอุณหภูมิโดยรวมที่จะสูงเกินกว่า 35 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูร้อนและปลายฝน ทำให้ผลผลิตแห้งตายและไม่เพียงพอต่อการบริโภค กระทบต่อความสามารถในการส่งออกข้าวของประเทศไทย ที่ไม่เพียงบั่นทอนเศรษฐกิจภายใน แต่อาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านอาหารของคนทั่วโลกได้

นั่นยังไม่รวมถึงปัญหาขาดแคลน "ที่ทำกิน" เนื่องจากพื้นที่ราบลุ่มบางส่วนมีโอกาสถูกน้ำท่วมจนมิด

ตัวอย่างเช่น กรุงเทพฯ ถ้าดูจาก "แผนที่ 4 องศา" จะพบว่า ในปี 2654 จะกลายสภาพเป็นเมืองบาดาล เพราะถูกน้ำทะเลซึ่งสูงขึ้นราว 65 เซนติเมตร ไหลเข้าท่วมทั่วทั้งกรุงที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลถึง 2 เมตร

เช่นเดียวกับชะตากรรมของกรุงมะนิลา จาการ์ตา โฮจิมินห์ซิตี้และชายฝั่งติดทะเลของสิงคโปร์

ขณะที่ผลกระทบด้าน "การประมง" ก็มีปัญหาไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะน้ำทะเล น้ำจืดและน้ำกร่อย ต่างก็มีจุดเดือดและความเป็นกรดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

จนทำให้สัตว์น้ำและพืช ซึ่งไวต่อการเปลี่ยนแปลง ส่อเค้าล้มตายและเสี่ยงสูญพันธุ์เป็นวงกว้าง

กลายเป็นวิกฤตล้มละลายของการประมง ซึ่งยากจะแก้ให้กลับมาเหมือนเดิม!

นอกจากนี้ สุขภาพของมนุษย์ก็จะย่ำแย่ลง เพราะอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นมีผลต่อคุณภาพของอากาศ

โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ จาการ์ตาและมะนิลา ที่มีมลพิษมากอยู่แล้ว จะยิ่งเข้าขั้นอันตรายจนมนุษย์ไม่สามารถใช้ชีวิตในเมืองได้อีก

สภาพอากาศร้อนผิดธรรมชาติ ยังสามารถเป็นต้นเหตุก่อโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งลมแดด ความเครียด ระบบไหลเวียนเลือดบกพร่องและโรคที่มีแมลงเป็นพาหะ

เนื่องจากความร้อนเอื้อประโยชน์ต่อการขยายพันธุ์ของแมลง ทำให้โรคมาลาเรียและไข้เลือดออกมีโอกาสแพร่กระจายไปทั่วภูมิภาค

"ดังนั้นหากจะพูดว่าภาวะโลกร้อนขึ้น คือ จุดจบของโลก ส่วนตัวขอบอกเลยว่าเห็นด้วย เพราะผลกระทบของมันสร้างความเดือดร้อนต่อเนื่องเป็นห่วงโซ่ไม่มีที่สิ้นสุด เรียกได้ว่าถึงโลกจะไม่แตก แต่ความเป็นจริงมันก็เลวร้ายพอๆ กับความรู้สึกของการตกอยู่ในสภาวะจำยอมและไร้ทางออก

"แต่ผมไม่ได้บอกว่าโลกจะต้องร้อนขึ้น 4 องศาเซลเซียสและทุกประเทศจะลงเอยที่ความแร้นแค้นเหมือนกัน หรือโลกต้องแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ในวันนี้ พรุ่งนี้ เพราะแผนที่ "4 ดีกรี แม็ป" คือการรวบรวมข้อมูลทางสภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลง จากการจำลองความน่าจะเป็นทั้ง 34 รูปแบบ แล้วจึงนำทฤษฎีเหล่านี้ไปทดสอบหาผลลัพธ์ถึง 24 ครั้ง จนเราสามารถระบุปัญหาที่คาดว่าจะตามมากับความร้อนเฉลี่ย ที่ 4 องศาเซลเซียส เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนได้เห็นผลจากการกระทำของพวกเราทุกๆคน และตระหนักว่ามันถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเสียที

"หลายคนถามผมว่าทำไมโลกถึงร้อนขึ้นแต่กลับไม่เย็นลง ทั้งที่เราเคยผ่านช่วงเวลาใน "ยุคน้ำแข็ง" มาแล้ว อย่างที่ผมกล่าวคือข้อมูลของโลกในยุคหลัง แสดงให้เห็นวิถีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่อากาศจะร้อนขึ้นมากกว่า แต่ไม่ใช่ว่ายุคน้ำแข็งจะไม่มีโอกาสกลับมาอีกครั้ง ตราบใดที่โลกของเราหมุนรอบตัวเอง รอบดวงอาทิตย์และวัฏจักรของจักรวาลยังวนเวียนอยู่ในลักษณะนี้ ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทั้งดิน น้ำ ฟ้าและอากาศ ก็ย่อมไม่สามารถทำนายทายถูกได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์เป๊ะๆ

"ผมว่าเราน่าจะกังวลกับปัจจุบันและอนาคตอันใกล้มากกว่าคิดถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือเชื่อทฤษฎีสร้างความแตกตื่นที่เน้นทำให้คนกลัวโดยไม่มีเหตุผล จนกลายเป็นกระแสโลกแตกไร้สาระอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งยังเป็นต้นตอสร้างความแตกแยกของกลุ่มคนที่เห็นด้วยและอีกพวกที่เมินเฉย

"ทั้งที่เราทุกคนรู้อยู่แล้วว่าโลกนี้มันร้อนขึ้นได้อย่างไร เราแค่ต้องเปิดใจและแก้ไข ไม่ใช่รู้แต่ไม่ทำ"

เพียร์สัน เตือนอย่างดุดันว่า ถึงเวลาแล้วที่ทั้งตัวเราเองไล่ขึ้นไปถึงระดับรัฐบาลและประชาคมโลก ต้องลงมือแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง!

หัวหน้าเครือข่ายงานด้านการเปลี่ยน แปลงภูมิอากาศของรัฐบาลอังกฤษ ประจำภูมิภาคอาเซียน กล่าวด้วยว่า

ทุกวันนี้เรามีความร่วมมือว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

แต่ประเทศที่ยังห่วงอุตสาหกรรมกลัวว่าเศรษฐกิจจะมีผลกระทบก็ยังมีให้เห็นอยู่มาก

จริงๆ แล้วการแก้ไขเรื่องนี้นั้นง่ายที่สุด เพราะเครื่องมือที่เราทุกๆ คน มีอยู่แล้ว คือ "คอมมอนเซนส์" (สามัญสำนึก) ในการพิจารณาเอาเองว่าอะไรคือการเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ อะไรคือการกระทำที่จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของภาวะโลกร้อน สิ่งไหนดี ไม่ดี เราตอบได้หมด

เหลือแค่ว่าเมื่อไหร่จะลงมือทำอย่างจริงจังเสียที

อยากให้ทุกคนได้ใช้แผนที่ "4 ดีกรี แม็ป" เพื่อหาคำตอบให้ตัวคุณเองว่าพร้อมหรือยังที่จะรับมือกับผลกระทบของอุณหภูมิซึ่งจะร้อนขึ้น อีก 4 องศา

ลองไปอ่านดูว่าโลกของเราจะเป็นอย่างไร

จุดไหนที่มี "ไอคอน" บอกความเสี่ยง ก็ลองคลิกเพื่อศึกษาข้อมูลลิงก์จากเว็บไซต์ของ "ฮาร์ดลีย์ เซ็นเตอร์ ซึ่งจะมีคลิปวิดีโอประกอบข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา มีข้อมูลของโครงการป้องกันและรู้ทันปัญหาโลกร้อน มีผลวิจัยและรายละเอียด แบบเจาะลึก

"ถ้าศึกษาแล้วคิดว่ารับไม่ได้ ก็เปลี่ยนการใช้ชีวิต เริ่มจากสิ่งเล็กๆที่ทำได้ ก่อนจะเดินหน้าช่วยกันเปลี่ยนแปลงระดับโลก แน่นอนว่ามันเป็นโครงการระยะยาว ต้องใช้เวลานานกว่าจะโน้มน้าวคนทั้งโลกได้ อาจจะเป็นสิบๆ ปี หรือเป็นศตวรรษ เราอาจทำสำเร็จ หรือทำไม่ได้เลย แต่การได้ลองเสี่ยงดูสักตั้ง ก็ยังดีกว่าตื่นมาเจอกับวิกฤต แล้วนั่งโทษตัวเองว่าทำไมถึงไม่ทำ" เพียร์สัน อธิบายทิ้งท้าย

สำหรับแผนที่ "4 ดีกรี แม็ป" รับข้อมูลได้ผ่านเว็บไซต์ของสถานทูตอังกฤษ http:// ukinthailand.fco.gov.uk/en/news/?view= PressR&id=723765782




จาก ........................ ข่าวสด วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555

สายชล 21-02-2012 12:35



ลดโลกร้อน...เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชาวโลกแล้ว ก่อนที่จะสายเกินไป โดยให้เริ่มที่ตัวเราก่อน อย่าง "สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า 'รักษ์' ที่พวกเราชาว sos ได้เริ่มกันไว้แล้ว :)


สายน้ำ 29-02-2012 08:44


"แรงลม" ผลพวงโลกร้อน เรียนรู้เข้าใจ...ลดภัยพิบัติ

http://www.dailynews.co.th/sites/def...os/14788/1.jpg

หลังน้ำท่วมใหญ่ปลายปีที่ผ่านมา ดูเหมือนคนไทยเริ่มตื่นตัวกับปัญหาภัยธรรมชาติ บทเรียนครั้งนั้นสร้างความเสียหายมากมายต่อสภาพจิตใจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนหลายคน น่าจะถึงเวลาแล้วที่เราต้อง เรียนรู้เพื่ออยู่กับธรรมชาติอันแปรเปลี่ยนอย่างเข้าใจ ซึ่ง ’ลม” ถือเป็นหนึ่งในทรัพยากร ธรรมชาติที่ถูกมองข้าม ทั้งๆที่ความจริงแล้วมีผลต่อการกินอยู่หลับนอน จนถึงการทำเกษตรกรรม

สมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้ความเห็นว่า ลมเป็นสิ่งที่คนไทยควรทำความเข้าใจ หลายครั้งเมื่อมีการพยากรณ์อากาศเกี่ยวกับลมหลายคนยังไม่เข้าใจ และตื่นกลัวกับข่าวลือต่างๆ ก่อนอื่นต้องเข้าใจถึงการเกิดลมซึ่งลม เกิดจากการเคลื่อนตัวของอากาศโดยนำมวลอากาศจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ในลักษณะของความกดอากาศสูงเข้าหาพื้นที่ความกดอากาศต่ำ โดยทางอุตุนิยมวิทยาพิจารณาว่า ลมที่พัดมาจากทางไหน นำอะไรมากับลม และจะทำให้พื้นที่เกิดอะไรขึ้น!

โดยธรรมชาติลักษณะลมทั่วโลกจะหมุนตามเข็มนาฬิกาคือ เมื่อเกิดลมเหนือต่อมาก็จะเกิดลมตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือหมุนไปอย่างนี้ทำให้เกิดสภาพอากาศและฤดูต่าง ๆ สิ่งที่คนไทยควรทำความเข้าใจคือ ลมประจำฤดูเป็นปัจจัยหลักทำให้เกิดสภาพอากาศต่างๆ โดย

1. ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ กำเนิดจากเขาสูงในประเทศจีนซึ่งหนาวตลอดปี เมื่อมาถึงไทยทำให้เกิดฤดูหนาวช่วงกลางเดือนตุลาคม–กลางเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี

2. ลมตะวันออกเฉียงใต้ แหล่งกำเนิดจากทะเลจีนใต้ตอนล่าง เกิดจากลมสามกระแสทำให้แปรปรวนไม่ชัดเจนในบางครั้ง ขณะเดียวกันช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยจะหันเข้าหาพระอาทิตย์ ทำให้เกิดอากาศร้อนในกลางเดือนกุมภาพันธ์–กลางเดือนพฤษภาคม

3. ลมตะวันตกเฉียงใต้ แหล่งกำเนิดมาจากซีกโลกใต้ทางออสเตรเลีย และมหาสมุทรอินเดียทำให้เกิดฝน

จะเห็นได้ว่าลมที่เกิดและผ่านพื้นที่ต่างๆ ย่อมนำพาสภาพอากาศแตกต่างกัน โดยลมที่มาจากทะเลจะทำให้มีอากาศอุ่นชื้น ส่วนลมที่มาจากพื้นดินจะเย็นและแห้ง ขณะเดียวกันการเกิดลมจะแรงหรือเบาเกิดจากความกดอากาศที่ถ้าแตกต่างกันมากลมจะพัดรุนแรง แต่ถ้าความกดอากาศไม่ต่างกันมากลมจะพัดเบาๆ

ภาวะโลกร้อน เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อลมประจำถิ่น อย่างปีที่ผ่านมามีลมตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าปกติซึ่งนำพาความชื้นเข้ามา เหตุจากแหล่งกำเนิดได้รับผลกระทบอย่างธารน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือและทะเลต่างๆ ปกติพลังงานแสงอาทิตย์ที่ส่งมายังโลก 100 เปอร์เซ็นต์ จะสะท้อนกลับไปยังชั้นบรรยากาศ 53 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 47 เปอร์เซ็นต์ ส่องมาถึงพื้นที่โลกและพอกลางคืนเปลี่ยนเป็นคลื่นยาวเพื่อคลายตัวออกสู่ชั้นบรรยากาศนอกโลก แต่ด้วยสภาวะปัจจุบันที่ชั้นบรรยากาศมีคาร์บอนมากจากการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ทำให้คลื่นยาวเหล่านั้นออกไปยังนอกโลกไม่ได้ ทำให้โลกเกิดสะสมพลังงานความร้อนขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อพื้นดินและน้ำอันเป็นแหล่งกำเนิดของลม ตอนนี้มีผลกระทบแค่ลมประจำถิ่นซึ่งเป็นส่วนเล็กๆ ยังไม่กระทบร้ายแรงถึงขั้นที่มนุษย์ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง

“ปีนี้คาดว่าลมปกติดีในภาพรวม อาจมีเปลี่ยนแปลงบ้างบางช่วงเวลา เช่น ปีก่อนลมตะวันออกเฉียงเหนือที่นำอากาศหนาวมาเร็วกว่าปกติและอยู่นานอย่างที่หลายคนไม่คาดคิด ปกติลมประจำถิ่นพวกลมบก, ลมทะเลหรือลมภูเขา ชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้นมีการสังเกตและรู้ถึงทิศทางลมที่เปลี่ยนไปจึงไม่น่าห่วง สำหรับลมประจำฤดูเป็นลมภาพรวมใหญ่อนาคตอาจมีเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามภาวะผลกระทบที่เกิดขึ้น”

http://www.dailynews.co.th/sites/def...os/14788/4.jpg

คนทั่วไปจะดูทิศทางลมเพื่อทำนายการเกิดอากาศสามารถทำได้ แต่ต้องเข้าใจภูมิศาสตร์ที่ตรงนั้นว่าทิศที่ลมพัดมาผ่านภูเขาหรือทะเลอย่างไร โดยดูจากยอดไม้ขนาดสูงในที่โล่งซึ่งไม่มีตึกสูงบัง การคาดเดาลมส่วนใหญ่ถ้าอยู่ในเมืองตึกสูงหนาแน่นไม่สามารถคาดเดาได้อย่างชัดเจน ถ้าอยู่บนเขาหรือในทะเลสามารถคาดเดาได้ดีกว่า ขณะเดียวกันลมที่พัดแรงไม่สามารถบอกได้ว่าฝนกำลังจะตกแรงหรือเบาเพราะขึ้นอยู่กับความกดอากาศ เวลาฟังกรมอุตุฯ บอกเรื่องลมส่วนใหญ่จะเน้นบอกสำหรับคนที่เดินเรือ โดยลมที่เริ่มมีความรุนแรงอยู่ที่ 20–40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป

อยากฝากถึงประชาชนว่าถ้า หากมีความเข้าใจถึงการเกิดลมและจะนำสิ่งใดมาย่อมทำให้ท่านสามารถเตรียมตัวพร้อมรับมือได้อย่างไม่วิตกกังวล การศึกษาสามารถเรียนได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์กรมอุตุฯ หรือจากการฟังพยากรณ์อากาศและสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น

ลมค่อนข้างไกลตัวในการดูแลรักษา และจะมองในส่วนของการนำลมมาเป็นพลังงานเพื่อใช้ไฟฟ้ามากกว่า เพราะต่อไปพลังงานที่นำมาผลิตไฟฟ้าจะลดลง ซึ่งลมเป็นพลังงานสะอาดที่ต้องเร่งศึกษานำมาทดแทนสิ่งที่กำลังหมดไป นอกจากนี้ครอบครัวสามารถให้เด็กเรียนรู้ผ่านสภาพอากาศได้ โดยพ่อแม่เองต้องมีความเข้าใจก่อน แล้วให้ลูกสังเกตสภาพต้นไม้ในฤดูต่างๆ หรือพฤติกรรมสัตว์ พอเด็กจดจำไปเรื่อยๆ จะเกิดการเรียนรู้และคาดเดาได้ถึงสภาพอากาศที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องไปนั่งเรียนในห้องเลยก็ได้

ลมเป็นอีกธรรมชาติที่มนุษย์ต้องเร่งทำความเข้าใจ เพื่อไม่ปล่อยให้ข่าวลือทำลายความเชื่อมั่นในจิตใจของคนในสังคม.


.................................................................................


http://www.dailynews.co.th/sites/def...os/14788/3.jpg


รอบรู้เรื่องลมประจำถิ่นที่เปลี่ยนแปลง

1. ลมภูเขา บริเวณภูเขาในขณะที่มีระบบลมอ่อน ลมมักพัดลงตามลาดของภูเขาในเวลากลางคืน และพัดขึ้นลาดภูเขาในเวลากลางวัน เพราะเวลากลางคืนตามบริเวณภูเขาที่ระดับสูง มีอากาศเย็นกว่าตามที่ต่ำ ความแน่นของอากาศในที่สูงจึงมีมากกว่าในระดับต่ำลมจึงพัดลงตามเขาเราเรียกลมนี้ว่า ลมภูเขา

ลมหุบเขา เวลากลางวันดวงอาทิตย์แผ่รังสีให้แก่ภูเขา และหุบเขาทำให้อุณหภูมิมีระดับสูง โดยเฉพาะยอดเขาจะสูงกว่า อุณหภูมิตามที่ต่ำ หรือหุบเขา ความแน่นของอากาศในระดับสูงจึงน้อยกว่า และลอยตัวสูงขึ้น ฉะนั้นอากาศจากที่ต่ำหรือหุบเขา จึงพัดขึ้นไปแทนที่เราเรียกว่า ลมหุบเขา

ลมหุบเขา จะเกิดขึ้นในเวลากลางวัน โดยอากาศตามภูเขาและลาดเขาจะร้อน เพราะได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์เต็มที่อากาศบริเวณใกล้ภูเขาระดับความสูงเดียวกัน ซึ่งมีความเย็นกว่าจึงเคลื่อนไปเข้าแทนที่ทำให้มีลมพัดไปตามลาดเขาขึ้นสู่เบื้องบน ส่วนลมภูเขา เกิดขึ้นในเวลากลางคืน โดยอากาศตามภูเขาและลาดเขาจะเย็นลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการถ่ายโอนความร้อนออก อากาศตามลาดเขาที่เย็นและหนักกว่าอากาศบริเวณใกล้เคียงจึงเคลื่อนไปตามลาดเขาสู่หุบเขาเบื้องล่าง


2. ลมทะเล ในเวลากลางวันพื้นดินรับความร้อนได้เร็วกว่าพื้นน้ำ ทำให้อากาศเหนือพื้นดิน มีอุณหภูมิสูงกว่า อากาศเหนือพื้นน้ำ เป็นผลให้อากาศเหนือพื้นน้ำมีความกดอากาศสูงกว่าเคลื่อนที่เข้าหาบริเวณพื้นดิน ที่มีความกดอากาศต่ำกว่าหรือเกิดลมพัดจากทะเลเข้าหาฝั่งในเวลากลางวัน

ลมบก ในเวลากลางคืนพื้นดินคลายได้เร็วกว่าพื้นน้ำ ทำให้อากาศเหนือพื้นดินมีอุณหภูมิต่ำกว่าอากาศเหนือพื้นน้ำ หรืออากาศเหนือพื้นดินมีความกดอากาศสูงกว่าอากาศเหนือพื้นน้ำ เป็นผลให้อากาศเหนือพื้นดินที่มีความกดอากาศสูงกว่าเคลื่อนที่เข้าหาพื้นน้ำที่มีความกดอากาศต่ำกว่า หรือเกิดลมพัดจากบนบกออกสู่ฝั่งทะเลในเวลากลางคืนนั่นเอง.




จาก ........................ เดลินิวส์ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555

สายน้ำ 26-07-2012 08:19


“น้ำแข็งกรีนแลนด์” ละลายฉับพลันรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี

http://pics.manager.co.th/Images/555000009652202.JPEG
ภาพภูเขาน้ำแข็งแตกตัวจากธารน้ำแข็งปีเตอร์มันน์ของกรีนแลนด์เมื่อ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา (นาซา/บีบีซีนิวส์)

นาซาระบุแผ่นน้ำแข็งยักษ์ของกรีนแลนด์ที่ละลายฉับพลันในเดือนนี้กินพื้นที่ใหญ่กว่าปกติ ด้านนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การละลายน้ำอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนซึ่งกินพื้นที่กว้างที่สุดเท่าที่มีการบันทึกโดยการสำรวจผ่านดาวเทียมในช่วง 3 ทศวรรรษที่ผ่านมา

เหตุแผ่นน้ำแข็งยักษ์ละลายนี้เกิดขึ้นที่ “ฐานซัมมิท” (Summit station) ซึ่งเป็นจุดสูงสุดและหนาวเย็นที่สุดของกรีนแลนด์ โดยการละลายของแผ่นน้ำแข็งพุ่งจาก 40% เป็น 97% ในเวลาเพียง 4 วันนับจากวันที่ 8 ก.ค.2012 ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าทุกฤดูร้อนแผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์กว่าครึ่งจะละลายเป็นปกติอยู่แล้ว

หากแต่บีบีซีนิวส์รายงานว่าทั้งความเร็วและขนาดของการละลายที่พุ่งพรวดในปีนี้ก็สร้างความประหลาดใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์ผู้นิยามปรากฏการณ์นี้ว่า “ไม่ปกติ” อย่างมาก โดยองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) กล่าวว่าน้ำแข็งเกือบทั้งหมดที่ปกคลุมกรีนแลนด์ครอบคลุมตั้งแต่บริเวณที่มีน้ำแข็งบางที่สุดบริเวณชายฝั่งไปถึงศูนย์กลางของเกาะซึ่งหนา 3 กิโลเมตรเกิดการละลายที่ชั้นผิว

วาลีด อับดาลาติ ( Waleed Abdalati) นักวิทยาศาสตร์อาวุโสของนาซา กล่าวว่าเมื่อเราได้เห็นการละลายในจุดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรืออย่างน้อยก็นานแล้วที่ไม่ได้เห็นเช่นนี้ ทำให้เราต้องลุกข้นมาถามว่า “เกิดอะไรขึ้น?” ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นสัญญาณสำคัญ เพราะน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายเป็นวงกว้างเช่นนี้ เกิดขึ้นโดยที่เรายังไม่สามารถประเมินได้ว่าเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติแต่นานเกิดขึ้นที หรือเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อนที่มนุษย์สร้างขึ้น

http://pics.manager.co.th/Images/555000009652201.JPEG
ภาพถ่ายดาวเทียมของนาซาเผยน้ำแข็งของกรีนแลนด์ละลายอย่างรวดเร็ว โดยในภาพซ้ายยังมีน้ำแข็งให้เห็นอยู่ในวันที่ 8 ก.ค. แต่หลังจากนั้นเพียง 4 วัน น้ำแข้งก็ละลายหมด (รอยเตอร์/บีบีซีนิวส์)

นักวิทยาศาสตร์เชื่อน้ำแข็งของกรีนแลนด์จำนวนมากจะกลับมาแข็งตัวอีกครั้ง และหากไม่นับเหตุการณ์นี้ข้อมูลที่ดาวเทียมสำรวจไว้ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานั้น พบว่ามีน้ำแข็งละลายมากที่สุด 55% ของพื้นที่น้ำแข็งทั้งหมด ส่วนข้อมูลจากแกนน้ำแข็งยังเผยด้วยว่าครั้งล่าสุดที่น้ำแข็งละลายที่ฐานซัมมิทคือเมื่อปี 1889

ข่าวนี้ตามหลังการเผยภาพถ่ายดาวเทียมของนาซาที่แสดงให้เห็นภูเขาน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่าเมืองแมนฮัตตันถึง 2 เท่า แตกออกจากธารน้ำในกรีนแลนด์ไม่กี่วัน ซึ่ง ทอม แวกเนอร์ (Tom Wagner) จากนาซากล่าวว่า เหตุการณ์น้ำแข็งละลายฉับพลันนี้ยังรวมเข้ากับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่ปกติอื่นๆ อีก อย่างเช่นเหตุการแตกของธารน้ำแข็งปีเตอร์มันน์ (Petermann Glacier) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่ซับซ้อน



จาก ..................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 26 กรกฎาคม 2555

สายชล 04-11-2013 17:17

นักวิทยาศาสตร์มีความเห็นเชิงลึกอย่างไรในเรื่องการเ ปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
 
รู้จริงกับภาวะโลกร้อน


นักวิทยาศาสตร์มีความเห็นเชิงลึกอย่างไรในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ


By โดย คลอเดีย คอร์นวอลล์

.............................................................................................................

โลกของเราร้อนขึ้นจริงหรือ มนุษย์เป็นต้นเหตุใช่ไหม คำถามจากนักวิชาการซึ่งซุ่มเงียบนี้แพร่ออกไปสู่หนังสือพิมพ์ รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือ และบล็อกต่างๆจนเป็นประเด็นร้อน แต่หากพิจารณาให้รอบคอบ จริงๆแล้ว นักวิทยาศาสตร์มีความเห็นว่าอย่างไร รีดเดอร์ส ไดเจสท์จึงตัดสินใจหาคำตอบ

หลายรายงานสรุปว่าร้อนขึ้นจริง ตั้งแต่ปี 2393 เป็นต้นมา เกิดปีที่ร้อนที่สุด 11 ครั้งในช่วงปี 2538 ถึง 2549 เมื่อปีก่อน คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ของสหประชาชาติ ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2550 ร่วมกับอัล กอร์ รายงานว่า โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าเมื่อปี 2393 ประมาณ 0.75 องศา แม้ตัวเลขจะดูไม่มาก แต่การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยเพียงเล็กน้อยสามารถทำให้สภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างใหญ่หลวง โลกในช่วงยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายมีอากาศเย็นกว่าปัจจุบันประมาณห้าองศาเท่านั้น

เนื่องจากอากาศอบอุ่นขึ้น สัตว์และพืชจึงขยายเขตการกระจายพันธุ์ไปสู่ขั้วโลกเพื่อค้นหาถิ่นอาศัยที่เย็นกว่า ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 นักวิจัยชาวอังกฤษพบปลาเขตร้อนที่ไม่เคยพบมาก่อนในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เมื่อปี 2544 ชาวประมงจับปลาสากได้ในบริเวณนอกชายฝั่งคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งอยู่ไกลกว่าเขตการกระจายพันธุ์ปกติของปลาชนิดนี้มาก

ในปี 2548 องค์การศึกษาธารน้ำแข็งโลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่ซูริกในสวิตเซอร์แลนด์แถลงว่า ธารน้ำแข็งในยุโรปลดปริมาตรลงครึ่งหนึ่งจากที่เคยมีเมื่อปี 2393 เดือนมีนาคม 2550 นักวิจัยชาวรัสเซียรายงานการพบชั้นดินเยือกแข็งที่ไม่คงตัวในแถบไบคาล มองโกเลีย และจีน ในเดือนตุลาคม 2550 นักวิจัยชาวอังกฤษแสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิที่อบอุ่นขึ้นเป็นสาเหตุให้โลกมีความชื้นเพิ่มขึ้นร้อยละ2.2 ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา


โลกเคยร้อนเท่านี้ไหม

เคย แถมยังร้อนกว่านี้ด้วย เมื่อ 450,000 ถึง 800,000 ปีก่อน กรีนแลนด์เคยเป็นผืนป่า ดังนั้น อุณหภูมิต้องอบอุ่นกว่าปัจจุบันพอสมควร และยังมีช่วงเวลาอื่นๆอีกด้วย


ทำไมต้องกังวลด้วย

ที่น่าเป็นห่วงก็ตรงความเร็วที่อุณหภูมิเกิดการเปลี่ยนแปลง ในอดีต อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ในศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2519 อุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าช่วงศตวรรษใดๆในรอบ 1,000 ปีที่ผ่านมา สำหรับประเทศทางตอนเหนือของโลก เช่น แคนาดา หรือรัสเซีย อากาศที่อบอุ่นขึ้นอาจช่วยเพิ่มพืชผลทางการเกษตรมากขึ้นและประโยชน์อื่นๆ


อะไรทำให้โลกร้อนขึ้น

ไอพีซีซีสรุปว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ซึ่งเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกและปรากฏการณ์เรือนกระจก กว่า 25 สมาคมวิทยาศาสตร์และสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของกลุ่มประเทศจี 8 รับรองผลสรุปนี้ แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนยังไม่เห็นพ้องโดยแย้งว่าผลกระทบจากมนุษย์มีน้อยมาก


ปรากฏการณ์เรือนกระจกคืออะไร

ศาสตราจารย์โรเบิร์ต ชาร์ลสันแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันอธิบายว่า ปรากฏการณ์นี้ "มีอยู่ในตำราวิทยาศาสตร์มากว่าร้อยปีแล้วและได้รับการทดสอบอย่างถี่ถ้วน" ก๊าซจำพวกหนึ่งจะทำให้ชั้นบรรยากาศกักพลังงานความร้อนให้อยู่บนผิวโลก หากปราศจากปรากฏการณ์เรือนกระจก อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะอยู่ที่ -18 องศาเซลเซียส แทนที่จะเป็น 14.6 องศาซึ่งกำลังสบาย


ก๊าซเรือนกระจกคืออะไร

ก๊าซเรือนกระจกหลัก ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (ซีเอฟซี) และไอน้ำ ซึ่งมีอยู่ในธรรมชาติ ยกเว้นซีเอฟซีซึ่งเป็นสารทางการค้า การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เผาป่า และเผาไร่จะเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ เช่นเดียวกับบ่อขยะ โรงกลั่นน้ำมันและเหมืองถ่านหิน การกระทำของเรายังส่งผลกระทบต่อไอน้ำทางอ้อม เมื่อโลกร้อนขึ้น น้ำจะระเหยเป็นไอน้ำมากขึ้น


ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นแค่ไหน

"ตั้งแต่เริ่มยุคอุตสาหกรรม คาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 35" กาวิน ชมิดท์ นักอุตุนิยมวิทยาแห่งสถาบันวิจัยอวกาศก็อดดาร์ดของนาซา กล่าว "มีเทนเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า ไนตรัสออกไซด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 17" นักวิทยาศาสตร์เป็นห่วงเรื่องคาร์บอนไดออกไซด์เพราะเป็นก๊าซที่มีมากที่สุดซึ่งมีผลกระทบกับเราโดยตรง ขณะเราควบคุมการปล่อยสารซีเอฟซีและมีเทนได้แล้ว แต่ยังควบคุมก๊าซนี้ไม่ได้ คาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศยังคงสูงขึ้นประมาณร้อยละ 0.4 ต่อปีจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 85 ของพลังงานที่เราต้องการ


คาร์บอนไดออกไซด์จะกระจายหายไปเองไหม

"ก๊าซนี้ไม่หายไปเอง แต่จะอยู่ได้หลายร้อยปี" ชมิดท์แห่งนาซากล่าว แต่ละปีทั่วโลกปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 23.5 กิกาตัน (หนึ่งกิกาตันเท่ากับหนึ่งล้านล้านกิโลกรัม) โชคดีที่ปริมาณดังกล่าวจะยังคงอยู่ในบรรยากาศเพียงครึ่งเดียว ส่วนที่เหลือธรรมชาติจะดูดซับไป

แหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ใหญ่ที่สุดคือมหาสมุทร ซึ่งจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราปล่อยออกมามากกว่าหนึ่งในสี่ทุกปี ขณะนี้ มหาสมุทรดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 50 เท่าของที่มีอยู่ในบรรยากาศและสิบเท่าของที่มีในสิ่งมีชีวิตบนบก แต่ยังไม่ชัดเจนว่ามหาสมุทรจะเก็บกักอย่างปลอดภัยได้มากกว่านี้เท่าไร

เคน คาลไดรา นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศประจำสถาบันคาร์เนกีแห่งวอชิงตันในรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า คาร์บอนไดออกไซด์ในมหาสมุทรจะกลายเป็น กรดคาร์บอนิกซึ่งกัดกร่อนโครงร่างที่เป็นแคลเซียมคาร์บอเนตของสัตว์ทะเล

ป่าและพืชพรรณดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกือบหนึ่งในสี่ เมื่อพืชสังเคราะห์แสงก็จะสลายคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นออกซิเจนที่พืชคายออกมาและคาร์บอนที่พืชนำไปสร้างเซลล์ ศาสตราจารย์เดวิด เอลสเวิร์ตแห่งมหาวิทยาลัยเวสต์เทิร์นซิดนีย์ ออสเตรเลีย กำลังศึกษาว่าต้นไม้และพืชจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นโดยการปลูกต้นยูคาลิปตัสในห้องที่เพิ่มระดับคาร์บอนไดออกไซด์ให้สูงขึ้น


นอกจากก๊าซเรือนกระจก มีปัจจัยอื่นอีกไหมที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงวงโคจรของโลกและการเปลี่ยนแปลงการเอียงของแกนหมุนของโลกซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นแบบแผนเปลี่ยนแปลงการรับแสงอาทิตย์ของบริเวณต่างๆบนโลก และอาจเป็นสาเหตุว่าทำไมยุคน้ำแข็งจึงเกิดเป็นช่วงๆ ดวงอาทิตย์ส่งพลังงานที่มีความผันแปรเล็กน้อยด้วย เมื่อความเข้มของดวงอาทิตย์สูง จุดดับบนดวงอาทิตย์จะเพิ่มจำนวนขึ้นและดวงอาทิตย์สว่างขึ้น แต่นักวิจัยแห่งสถาบันแมกซ์พลังก์เพื่อการวิจัยระบบสุริยจักรวาลกล่าวว่าความผันแปรในความเข้มของดวงอาทิตย์ไม่ได้ทำให้อุณหภูมิช่วงที่ผ่านมานี้สูงขึ้น ในปี 2547 พวกเขาสังเกตพบว่าขณะอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ดวงอาทิตย์ไม่ได้สว่างมากไปกว่าเดิมเลย

อนุภาคขนาดเล็กที่ภูเขาไฟปล่อยออกมาและมลพิษจากอุตสาหกรรมสามารถสะท้อน พลังงานบางส่วนจากดวงอาทิตย์กลับออกไปสู่อวกาศทำให้อากาศเย็นลง ในปี 2534 ภูเขาไฟพินาทูโบในฟิลิปปินส์พ่นเถ้าออกมาสู่ชั้นบรรยากาศมากจนอุณหภูมิลดลงครึ่งองศาเซลเซียสเป็นเวลาสองปี

ไอน้ำและเมฆมีบทบาทเช่นกัน แต่ยากจะคาดการณ์ผลกระทบได้ น้ำที่ระเหยจากมหาสมุทรที่อบอุ่นจะเกิดเป็นเมฆที่ทั้งสามารถเก็บกักความร้อนและสะท้อนความร้อนออกไปในอวกาศ "เมฆชั้นต่ำมีแนวโน้มจะทำให้โลกเย็นลง" ศาสตราจารย์ชาร์ลสันกล่าว "เมฆชั้นสูงจะทำให้โลกร้อนขึ้น"

วงจรย้อนกลับส่งผลถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและยากจะคำนวณ เช่น เมื่อโลกร้อนขึ้น ธารน้ำแข็งและน้ำแข็งในทะเลละลาย พื้นผิวโลกก็จะสะท้อนแสงออกไปอวกาศน้อยลง โลกจะร้อนขึ้น น้ำแข็งก็ละลายมากขึ้น โลกจึงยิ่งร้อนขึ้นไปอีก เป็นต้น


(อ่านต่อข้างล่าง)


สายชล 04-11-2013 17:19

รู้จริงกับภาวะโลกร้อน

นักวิทยาศาสตร์มีความเห็นเชิงลึกอย่างไรในเรื่องการเ ปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

(ต่อ)

.........................................................................................


อะไรทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวการให้โลกร้อนขึ้


นักวิจัยหลายคนสรุปว่า ลำพังธรรมชาติไม่เป็นสาเหตุให้อุณหภูมิสูงขึ้นตลอด 30 หรือ 40 ปีที่ผ่านมา บรูซ เบาเออร์ซึ่งศึกษาระบบภูมิอากาศโบราณที่ศูนย์ข้อมูลโบราณอุตุนิยมวิทยาโลกในโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด กล่าวว่า "หากจะหาสาเหตุ วิธีเดียวที่คุณจะคำนวณสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้คือต้องรวมผลกระทบจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์สร้างขึ้นเข้าไปด้วย"

ทฤษฎีก๊าซเก็บกักความร้อนระบุว่าหากปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากขึ้น อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศระดับต่ำและที่ผิวโลกจะเพิ่มขึ้น โทมัส คาร์ล ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ สำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ กล่าวว่า "หลักฐานยังชี้ให้เห็นผลกระทบของมนุษย์ที่มีต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น"

ริชาร์ด ลินด์เซน ศาสตราจารย์ด้านอุตุนิยมวิทยาแห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ กล่าวว่า "ผลกระทบ (จากการสร้างก๊าซเรือนกระจก) นั้นมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงตามปกติของสภาพอากาศ" ลินด์เซนเชื่อว่าการที่อุณหภมิสูงขึ้นตลอดช่วง 100 ปีที่ผ่านมาเกิดจาก "ความผันแปรตามธรรมชาติ" เราสามารถคาดการณ์ได้ไหม "ตอนนี้ไม่ได้" เขายืนยัน แล้วในอนาคตเราจะคาดการณ์ได้ไหม "ยังไม่มีหลักฐานมากนัก"

สเตฟาน ราห์มสตอฟ ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ของมหาสมุทรที่สถาบันพอตสดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบของสภาพอากาศในเยอรมนีไม่เห็นด้วย ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ เดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว ราห์มสตอฟชี้ให้เห็นว่า การคาดการณ์อุณหภูมิของไอพีซีซีสอดคล้องกับข้อมูลปัจจุบัน ในปี 2533 ไอพีซีซีคาดการณ์ว่า เมื่อถึงปี 2549 อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นระหว่าง 0.15 ถึง 0.37 องศา ขณะอุณหภูมิที่เพิ่มจริงก็อยู่ในช่วงดังกล่าวคือ 0.33 องศา


นักวิทยาศาสตร์มั่นใจในข้อสรุปของตนแค่ไหน

เมื่อถามว่ามนุษย์ทำให้โลกร้อนขึ้นใช่ไหม คาร์ล วุนช์ ศาสตราจารย์ด้านสมุทรศาสตร์กายภาพ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ กล่าวว่า "จากที่ผมเห็นน่าจะใช่ แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีส่วนน้อยที่เกิดจากธรรมชาติ"

หมายความว่าเราควรรอดูอย่างนั้นหรือ วุนช์ตอบว่าไม่เลย เขาเปรียบให้เห็นว่าเราซื้อประกันอัคคีภัยไม่ใช่เพราะเชื่อว่าบ้านจะไฟไหม้ แต่เพราะเป็นความเสี่ยงที่เราเลี่ยงได้ ในปี 2549 อดีตหัวหน้าเศรษฐกรของธนาคารโลก นิโคลาส สเทิร์น เขียนรายงานหนา 700 หน้าเสนอรัฐบาลอังกฤษ สรุปว่ายิ่งลงมือเร็วเท่าไรงานก็ยิ่งง่ายเท่านั้น


ในอนาคตอุณหภูมิจะสูงแค่ไหน

ตามความเห็นของไอพีซีซี เมื่อถึงปี 2643 อุณหภูมิเฉลี่ยอาจสูงขึ้นถึง 5.8 องศาเซลเซียส แต่รายงานของไอพีซีซียังเสนอว่า เราสามารถรักษาระดับอุณหภูมิที่สูงกว่าก่อนยุคอุตสาหกรรมสององศาซึ่งพอยอมรับได้ หากทุกปีเราลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงเกินกว่าร้อยละหนึ่งเพียงเล็กน้อยของระดับปัจจุบัน เมื่อถึงปี 2593 เราจะลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาลงได้ครึ่งหนึ่ง


เราจะลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร


การใช้พลังงานทางเลือกและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นแบบอย่างที่ดีจากการออกกฎหมายและให้แรงจูงใจทางการเงิน รัฐนี้คงระดับการใช้ไฟฟ้าต่อหัวได้เท่ากับเมื่อปี 2513 ขณะรัฐอื่นๆมีอัตราการใช้ต่อหัวสูงเกือบสองเท่า

ปัจจุบัน การบุกรุกแผ้วถางป่าในเขตร้อนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกราวร้อยละ 20 จากที่เราปล่อยออกมา ปีเตอร์ ฟรัมฮอฟฟ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์และนโยบายของสหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้ห่วงใยโลก กล่าวว่า "เราจะลดภาวะโลกร้อนไม่ได้หากไม่ลดการทำลายป่าด้วย"

การอนุรักษ์ป่าเขตร้อนยังมีประโยชน์เป็นสองเท่าเพราะป่าดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มเมฆที่ช่วยให้ร่มเงา

นักวิทยาศาสตร์อยากจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากบรรยากาศเพื่อลดปริมาณคาร์บอน โอมาร์ ยากี ศาสตราจารย์ ด้านเคมีคิดค้นฟองน้ำคริสตัลที่มีรูขนาดนาโนและสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกือบสองเท่าของน้ำหนัก ถังที่บรรจุคริสตัลนี้สามารถเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าถังขนาดเท่ากันที่ไม่มีคริสตัลถึงเก้าเท่า

ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งใช้ปล่องควันดักมลพิษ ยากีหวังว่าภาคอุตสาหกรรมจะนำฟองน้ำของเขาใช้ไปดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ยังดูดซับก๊าซนี้จากอากาศได้ด้วย "วัสดุที่เราทำขึ้นมีความเฉพาะเจาะจงต่อคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งสามารถดูดซับก๊าซจากบรรยากาศได้" การค้นพบนี้ได้รับการตีพิมพ์อย่างกว้างขวาง ล่าสุด ในวารสารวิทยาศาสตร์ เดือนเมษายน 2550

แม้บริษัทน้ำมันจะถูกกล่าวหาอยู่บ่อยๆว่าเป็นตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน บางบริษัทก็กำลังหาทางแก้ไข เมื่อปี 2548 บริษัทน้ำมันบีพีของอังกฤษร่วมกับโซนาทราชของแอลจีเรียและสแทตออยล์ของนอร์เวย์เริ่มฝังคาร์บอนไดออกไซด์ที่แหล่งน้ำมันอินซาลาห์ในแอลจีเรียแทนที่จะปล่อยออกสู่บรรยากาศ ในก๊าซธรรมชาติที่ขุดเจาะที่นั่นมีคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ด้วย ตามที่โรเบิร์ต ไวน์ โฆษกของบีพี กล่าว คาร์บอนไดออกไซด์ 17 ตันจะถูกฝังลึกลงไปใต้ดิน 1,800 เมตร เทียบได้กับการเลิกใช้รถยนต์ 250,000 คัน "หากคุณเชื่อว่าปัญหาหนึ่งต้องการการแก้ไข คุณจะต้องแสดงให้เห็น" ไวน์กล่าว

วิทยาศาสตร์ของสภาพอากาศเป็น "วิทยาศาสตร์ซับซ้อนที่สุดแขนงหนึ่ง" วุนช์กล่าว แม้เราจะไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีก 100 ปีข้างหน้า แต่ "มีความเสี่ยงที่จะเป็นไปได้ ผมคิดว่าการไม่ทำอะไรเลยนั้นช่างไร้สติสิ้นดี"

ขอบคุณข้อมูลจาก...http://www.readersdigestthailand.co....B8%AD%E0%B8%99


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 15:18

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger