กระดานข่าว Save Our Sea.net
เมษายน 19, 2024, 08:32:08 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1] 2 3 ... 18   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วิกฤต : โลกร้อน (2)  (อ่าน 138158 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« เมื่อ: เมษายน 16, 2007, 01:19:32 AM »


มหันตภัย Climate Change เขย่าระบบนิเวศ-ศก.โลกสูญ 7 ล้านล้านดอลล์

นับจากบุคคลระดับผู้นำโลก ตั้งแต่อดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ ของสหรัฐ และนายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ ของอังกฤษ ออกหน้ารณรงค์ให้โลกตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก (Climate Change) ก่อกระแสการตื่นตัวอย่างรวดเร็วในหลายๆ ประเทศ แม้แต่การประชุมเวทีสำคัญๆ เกี่ยวกับโลกร้อน ก็เริ่มมีขึ้นบ่อยครั้งขึ้น ดังการประชุมของขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อต้นเดือน เมษายนที่ผ่านมา และอีกเวทีหนึ่ง ที่กำลังจะจัดขึ้นที่อินโดนีเซียในเดือนหน้า คือ การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผลของปรากฏการณ์การตื่นตัวกับปัญหาโลกร้อน ได้นำมาซึ่งงานวิจัย ชิ้นสำคัญๆ หลายฉบับ ซึ่งทำนายภาพอนาคต ที่โลกต้องเผชิญจากผลพวงของการวางเฉยต่อปัญหาโลกร้อน

อาทิ รายงานการศึกษาต้นทุนผลกระทบของภาวะโลกร้อน หนา 700 หน้า จัดทำโดย เซอร์ นิโคลัส สเติร์น อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ของธนาคารโลก ในช่วงปลายปีที่แล้ว ในรายงานของเซอร์สเติร์นได้ให้ตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มหาศาลเหลือเกิน โดยประเมินว่า ภาวะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอุณหภูมิโลก จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโลก สูงสุดมากถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก หากรัฐบาลของทุกประเทศทั่วโลกไม่ดำเนินมาตรการอย่างจริงจัง ในการควบคุมการแพร่กระจายก๊าซก่อภาวะเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้ว่า ประชาชนกว่า 200 ล้านชีวิตจะไร้ที่อยู่อาศัย จากผลพวงของน้ำท่วม และภัยแล้ง จากวิกฤตโลกร้อน ซึ่งถือเป็นผลกระทบที่นำไปสู่การอพยพของผู้คนที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

ในรายงานฉบับนี้ เซอร์สติร์นได้เสนอแนะว่า โลกต้องการเงินทุนอย่างน้อย 1% ของจีดีพีโลกเพื่อใช้จ่ายในการรณรงค์เพื่อควบคุมปัญหาโลกร้อน ซึ่งตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายเพื่อการโฆษณาทั่วโลก และเป็นแค่ครึ่งหนึ่งของงบประมาณ ที่ธนาคารโลกประเมินว่า ต้องการใช้เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดไปทั่วโลกของโรคไข้หวัดนก เพราะหากไม่มีการดำเนินการใดๆ โลกอาจจะต้องจ่ายมากกว่าที่ประเมินไว้ถึง 20 เท่า จากผลพวงของวิกฤตการณ์ทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นตามมา

รายงานที่น่าสนใจอีกฉบับหนึ่ง เป็นการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญ 285 รายจาก 124 ประเทศ พร้อมนักวิทยาศาสตร์กว่า 50 คน ซึ่งเผยแพร่ระหว่างการประชุมขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า IPCC ที่เมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในวันที่ 6 เมษายน 2550 โดยไส้ในของรายงานฉบับนี้ ระบุว่า ภาวะโลกร้อนเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ที่มีส่วนเปลี่ยนระบบนิเวศวิทยา รูปแบบของสภาพอากาศ มหาสมุทร และพื้นที่ที่เป็นน้ำแข็ง ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลย้อนกลับมากระทบต่อพฤติกรรมและวิถีชีวิตของมนุษย์ภายในไม่เกิน 1 ศตวรรษข้างหน้า

โดยมีความเป็นไปได้ถึง 90% ที่โลกจะเผชิญกับอากาศร้อนมากสุด นับตั้งแต่ปี 2493 เป็นต้นมา ซึ่งสาเหตุหลักๆ เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง โดยก๊าซเรือนกระจกหลักๆ ที่เป็นตัวการทำให้โลกร้อนขึ้น คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ยังไม่นับรวมก๊าซอื่นๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและป่าไม้

ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า จะมีผู้คนล้มตาย เจ็บป่วย หรือได้รับอันตรายจากคลื่นความร้อน น้ำท่วม พายุ ไฟไหม้ และความแห้งแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

"จากการสังเกตด้วยภาพถ่ายดาวเทียมตั้งแต่ช่วงต้นยุค 80 เป็นต้นมา เชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่า มีแนวโน้มที่หลายๆ ภูมิภาคจะมีต้นไม้ในช่วงฤดู ใบไม้ผลิมากขึ้น และมีผลผลิตทางการเกษตรแบบปฐมภูมิมากขึ้น เนื่องจากฤดูของการเติบโตของต้นไม้ยาวนานขึ้น และมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จำเป็นสำหรับการเติบโตของต้นไม้เพิ่มขึ้น ทว่าอุณหภูมิในพื้นที่หนาวเย็นที่สูงขึ้นก็ส่งผลที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นและพื้นที่ที่ห่าง จากเส้นศูนย์สูตรจะกลายเป็นผลดีต่อการทำการเกษตร แต่ขณะเดียวกันสภาวะเช่นนี้ก็เป็นผลดีต่อการเติบโตของวัชพืช แมลงศัตรูพืช และการเกิดอัคคีภัยที่จะทำให้ป่าไม้ตกอยู่ในอันตราย ในระยะยาว ภูมิภาคต่างๆ ของโลกส่วนใหญ่จะตกอยู่ในภาวะวิกฤตมากขึ้น โดยเฉพาะภาวะภัยแล้ง พายุฝน ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อชีวิตของผู้คนที่อยู่ตามแถบพื้นที่ชายฝั่งและพื้นที่เกาะที่อยู่ระดับต่ำ" รายงานระบุ

ขณะที่ในรายงานเรื่อง "ใครได้ ใครเสียจากภาวะโลกร้อน" ซึ่งเป็นรายงานวิเคราะห์ผลกระทบเฉพาะภูมิภาคอเมริกาเหนือที่มี 67 หน้า ระบุว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อเศรษฐกิจของอเมริกาเหนือ และยิ่งโลกร้อนขึ้นเท่าใดก็มีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย อาทิ ภาคการเกษตรของแคนาดา รวมถึงประมงและป่าไม้ จะเป็นอุตสาหกรรมด่านแรกที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ผลกระทบทางกายภาพจากโลกร้อนยังจะส่งผลต่อธุรกิจอื่นๆ เช่น สาธารณูปโภคและพลังงาน ท่องเที่ยว บริการการเงิน การขนส่ง การดูแลสุขภาพ และอสังหาริมทรัพย์ด้วย

"ในอีก 2-3 ทศวรรษข้างหน้า ความเสียหายด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะจะยิ่งทำให้สาธารณูปโภคต่างๆ ตกอยู่ในความเสี่ยง ซึ่งต้นทุนในแต่ละปีของอเมริกาเหนือที่ต้องเสียไปกับความเสียหายของทรัพย์สิน รวมถึงความสามารถในการผลิต และชีวิตของผู้คน คิดเป็นเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์"

สำหรับผลกระทบในระยะสั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน รวมถึง ฟิล โจนส์ แห่งมหาวิทยาลัย อิสต์ แองเกลีย ซึ่งคาดการณ์ว่าปีนี้ อาจเป็นปีที่อากาศร้อนกว่าปี 2541 ปีที่ถือว่า ร้อนที่สุด โดยเขาอธิบายปรากฏการณ์เอลนิโญ ได้ทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น จนทำให้ปัจจุบันโลกอยู่ในแนวโน้มที่อากาศจะอุ่นขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 1/10 ถึง 2/10 องศาเซลเซียสทุก 10 ปี ดังนั้น เมื่อพิจารณาประกอบกัน ปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ทำให้โลกในปี 2550 มีอุณหภูมิร้อนกว่าปีที่แล้ว ซึ่งจะทำให้ตลอด 12 เดือนนับจากนี้ เป็นช่วง เวลาที่ร้อนที่สุดเป็นประวัตการณ์

เอลนิโญเป็นกระแสน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีอุณหภูมิอุ่นมากขึ้น ซึ่งนานๆ มักจะเกิดขึ้นสักครั้ง และมีผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก ปรากฏการณ์เอลนิโญครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในปี 2540 และ 2541 ทั้งนี้ ปรากฏการณ์เอลนิโญ ในปี 2540-2541 ได้ทำให้ผู้คนเสียชีวิตไป ประมาณ 2,000 คน และสร้างความเสียหายทั่วโลก ประมาณ 30-37 พันล้านดอลลาร์

ความวิตกกับความเป็นไปของโลกอนาคต นำไปสู่การก่อกำเนิดของ เวทีใหม่ๆ หนึ่งในนั้น ได้แก่ การประชุม "องค์กรผู้แทนรัฐสภาทั่วโลกเพื่อสิ่งแวดล้อมที่สมดุล" หรือ Globe (Global Legislators for a Balanced Environment) ซึ่งเตรียมรวบรวมสาระสำคัญที่ได้จากการประชุม จัดทำ เป็นรายงานเสนอต่อการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ ของโลก 8 ชาติ (G-8) ต่อไป

ทั้งนี้ หลายฝ่ายคาดหวังว่า ท่าทีและการสนองตอบของกลุ่มจี-8 โดยเฉพาะสหรัฐ ต่อปัญหาโลกร้อน และการยอมผูกพันในพิธีสารฉบับใหม่ ซึ่งจะนำมาปรับใช้แทนพิธีสารโตเกียว ซึ่งจะหมดอายุลงในปี 2555 จะเป็นสัญญาณบวกของการคลี่คลายผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกให้ทุเลาลงระดับหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากข้อเรียกร้องของกลุ่ม Globe ที่ต้องการให้กลุ่มจี-8 กำหนดเงื่อนเวลา ที่จะจัดทำพิธีสาร หรือข้อตกลง ฉบับใหม่ มาแทนที่พิธีสารโตเกียว โดยเสนอว่า การเจรจาควรจะเริ่มที่การประชุมขององค์การสหประชาชาติที่เกาะบาหลี ในเดือนหน้า และให้ได้ ข้อสรุปในปี 2552

รวมถึงการเรียกร้องให้ผู้นำชาติร่ำรวยเห็นพ้องในข้อเสนอจำกัดปริมาณการแพร่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่กำหนดไว้ว่า ไม่ควรจะเกิน 450-550 หน่วยต่อล้าน ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงมากเกินกว่าที่จี-8 จะยอมรับได้ จนถึงขั้นออกปากว่า เป็นการกำหนดระดับที่บ้าระห่ำเกินไป

ภายใต้พิธีสารเกียวโต ได้กำหนดให้ประเทศร่ำรวย 35 ชาติ จะต้อง ลดการแพร่กระจายมลพิษที่ก่อภาวะเรือนกระจก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการ เผาไหม้เชื้อเพลิง ของโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และรถยนต์ ลงประมาณ 5% จากระดับของการก่อมลพิษในปี 2533 ภายในปี 2551-2555 โดยพบว่าหลายประเทศที่เข้าร่วมในพิธีสารเกียวโตยังมีระดับการก่อมลพิษ สูงกว่าระดับเป้าหมายอยู่


จาก   :   ประชาชาติธุรกิจ  ฉบับวันที่ 16 - 18 เมษายน 2550


* Climate-Change_Prachachart_.jpg (83.57 KB, 650x829 - ดู 1647 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #1 เมื่อ: เมษายน 16, 2007, 01:22:21 AM »


ไทยระอุ"โลกร้อน" วิกฤตแล้งถล่มอีสาน 22 ล.ไร่


สภาวะโลกร้อนใกล้ตัวคนไทยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยยึดโมเดล GCMs ทำนายสถาน การณ์ พบทุกปีเดือน พ.ย.-ม.ค. อุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย 2.5-6 องศา ดึงภาคอีสานแล้งหนัก ระดับน้ำทะเลฝั่งอันดามันสูงขึ้น 8-12 มิลลิเมตร/ปี กัดเซาะชายฝั่งแหลมตะลุมพุก-น้ำเค็มรุกบางขุนเทียน พื้นที่เกษตรอาจเสียหายได้ถึง 22 ล้านไร่ทั่วประเทศ หากโลกไม่ดำเนินการใดๆ เลยที่จะแก้ไขปัญหานี้

ทุกวันนี้สภาวะโลกร้อนได้กลายเป็นปัญหาใกล้ตัวที่สร้างผลกระทบในวงกว้างทั้งเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมีผลการศึกษาทางวิทยา ศาสตร์หลายสำนักเชื่อตรงกันว่า ในรอบระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิ ของผิวโลกได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากและคาดการณ์ว่าในอีก 100 ปีข้างหน้านี้อุณหภูมิผิวโลกในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส และอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 6 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย

อุณหภูมิความร้อนบนโลกที่เพิ่มสูงขึ้นสังเกตได้อย่างชัดเจนจาก "หิมะ" ที่เคยปกคลุมบนยอดเขาคีรีมันจาโร ในแทนซาเนีย ทวีปแอฟริกา ได้ละลายเกือบหมดในระยะเวลาเพียง 7 ปีเท่านั้น ขณะที่แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือได้ละลายไปแล้วถึง 20% ความหนาของแผ่นน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือลดลงถึง 40% จาก 3 เมตร เหลือ 2 เมตร ภายในเวลา 30 ปี อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของกระแสน้ำอุ่น/กระแสน้ำเย็นในมหาสมุทร ทำให้การไหลเวียนของกระแสน้ำช้าลงจนก่อให้เกิดปรากฏการณ์ "เอล นิโญ/ ลา นีญา" บ่อยขึ้น

ล่าสุดสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (2537) ได้ใช้โมเดล GCMs คาดการณ์จากสถานการณ์โลกร้อนว่า ประเทศไทยอุณหภูมิจะสูงขึ้นอีก 2.5-6 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ส่วนปริมาณน้ำฝนจะเท่าเดิม หรือเพิ่มขึ้น 40% ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจะแห้งแล้งมากขึ้น จากสภาวะอากาศแปรเปลี่ยนมีระยะเวลาของฤดูสั้นกว่าปกติ

ระดับน้ำทะเลด้านอ่าวไทยจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น 1-2 มิลลิเมตร/ปี ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ฝั่งทะเลอันดามันอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วงจากระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้น 8-12 มิลลิเมตร/ปี มีผลอย่างมากต่อการกัดเซาะชายฝั่ง จุดที่เป็นอันตรายทั้งด้านอ่าวไทยก็คือบริเวณแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช

นอกจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นแล้ว ยังมีผลต่อการรุกเข้ามาของ น้ำเค็ม ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร, ท่าปอม/คลองสองน้ำ ตำบลเขาคราม อำเภอเมืองกระบี่ ตลอดจนสภาพอากาศรุนแรงจากอุทกภัยและดินถล่มขยายตัวเพิ่มขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดแพร่, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, ลำปาง และตาก

3 กิจกรรมหลักที่ทำให้โลกร้อน

จากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง

สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้รายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งทำให้ภาวะโลกร้อนมากขึ้นว่า ปัจจุบันไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงแค่ 2.6 ตัน/คน/ปี แม้ว่ายังไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด แต่ควรเร่งสร้างกิจกรรมกระตุ้นจิตสำนึกให้คนไทยห่วงใยสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อช่วยกันยุติสภาวะโลกร้อน โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ๆ ตัวก่อน อาทิ การประหยัดพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันในชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ภาวะเรือนกระจกก็คือชั้นบรรยากาศของโลกได้ถูกปกคลุมด้วยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซด์ 53%-ก๊าซมีเทน 17%-ก๊าซ โอโซน 13%-ก๊าซไนตรัสออกไซด์ 12%-ก๊าซซีเอฟซี 5%) มากเกินไป ในขณะที่ก๊าซเหล่านี้มีคุณสมบัติในการกักเก็บความร้อนได้ดี ดังนั้นแทนที่ความร้อนเหล่านี้จะถูกส่งผ่านออกไปนอกโลก กลับถูกชั้นบรรยากาศที่อุดมไปด้วยก๊าซเหล่านี้ "กักเก็บไว้" และสะท้อนกลับมายังพื้นผิวโลกอีกทีหนึ่ง ส่งผลให้โลกร้อนยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามทางสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดจากน้ำมือมนุษย์ถึงร้อยละ 90 จาก 3 กิจกรรมใหญ่คือ 1) กลุ่มพลังงาน มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากเชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 257 ล้านตัน หรือร้อยละ 80 ทำให้ภาคพลังงานของไทยเป็นตัวแปรสำคัญที่ปล่อยภาวะเรือนกระจกสูงกว่า 56% ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับกระทรวงพลังงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน

2) กลุ่มการเกษตร กิจกรรมทางการเกษตรส่วนใหญ่ร้อยละ 91 ที่ทำกันอยู่ ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก โดยปลดปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์-คาร์บอนไดออกไซด์ สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งก๊าซเหล่านี้มีคุณสมบัติในการดูดกลืนความร้อนโดยเฉพาะการปลูกข้าวปล่อยก๊าซมีเทนถึงร้อยละ 73 และการจัดการมูลสัตว์ในภาคปศุสัตว์ปล่อยก๊าซมีเทนร้อยละ 26 ผลวิจัยระบุว่าทั้งสองกิจกรรมปลดปล่อยก๊าซมีเทนออกมาประมาณ 3.3 ล้านตัน นอกจากนั้นภาคเกษตรยังปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ 70,000 ตัน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 16 ของปริมาณการปล่อยก๊าซทั้งหมดออกมาด้วย

3) กลุ่มการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและป่าไม้ มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 36 ล้านตัน แต่มีการดูดซับ CO2 กลับคืนไปแค่ 13 ล้านตันเท่านั้น

เกษตรฯของบฯ 294 ล้านบาท  ทำแผนชะลอการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ความหนาแน่นของก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้นได้ก่อให้เกิดความถี่ของการเกิดปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และการผลิตอาหาร ทำให้ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่การเกษตร สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารและความอดอยาก โรคระบาดและโรคติดต่อในเขตร้อน

โดยในปี 2550 อุณหภูมิในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะแห้งแล้งมากขึ้น จากอุณหภูมิโดยเฉลี่ยที่สูงขึ้นกว่า 2.5-6 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบปัญหาแล้งซ้ำซากมากกว่า 18 ล้านไร่ เช่น ลุ่มน้ำลำตะคอง และลำพระเพลิง (ตารางประกอบ)

แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีพันธกรณีที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียม "แผนชะลอการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตร" ให้น้อยลงเพราะเห็นว่าปัญหาโลกร้อนได้สร้างผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตรกรรม ก่อให้เกิดภาวะความแห้งแล้งและอาจนำไปสู่การเป็น "ทะเลทราย" ได้ในอนาคต

ล่าสุดกระทรวงเกษตรฯได้เตรียมยื่นขอจัดสรรงบประมาณจำนวน 294 ล้านบาท จากรัฐบาลในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้พื้นที่การเกษตรของประเทศที่เสี่ยงภัยแล้งจำนวน 131 ล้านไร่ ได้รับการดูแลป้องกันและแก้ไขปัญหาจากผลกระทบความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รวมทั้งปรับปรุงระบบการเตือนภัยสามารถคาดการณ์สภาวะอากาศของประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้มีประสิทธิภาพและแม่นยำกว่าที่เป็นอยู่และเพื่อลดปัญหาเรือนกระจก สร้างความสมดุลของสภาพอากาศควบคู่กันไป โดย แผนบรรเทาสภาวะโลกร้อนด้านการเกษตรจะใช้ระยะเวลา 4 ปี (2551-2554) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 3 ด้านคือ

1) การจัดการองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก เน้นหนักการเก็บข้อมูลรวบ รวมงานศึกษาวิจัยต่างๆ ที่มีต่อสภาวะโลกร้อน เช่น โครงการศึกษาผลกระทบของไม้ยืนต้น การปลูกพืชไร่ การปรับตัวของชนิดและพันธุ์พืช การศึกษาการปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าวที่มีต่อสภาวะโลกร้อน โครงการจัดทำแผนที่ปริมาณคาร์บอนทั้งหมดในดินกับการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศไทย การติดตามการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรประมง

2) การป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนในภาคการเกษตร เช่น มาตรการจัดการของเสียในภาคปศุสัตว์/ฟาร์มสุกร นาข้าว การไถกลบตอซัง ในการลดก๊าซเรือนกระจกและขยายผลรณรงค์ลดการเผาต่อซังทั่วประเทศ ลดการจุดไฟเผาในพื้นที่ป่า การวางระบบและติดตั้งระบบโทรมาตรเพื่อพยากรณ์และเตือนภัยลุ่มน้ำ การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในเขตปฏิรูปที่ดินและการจัดทำพื้นที่เหมาะสมในการปลูกพืชพลังงาน โครงการศึกษาผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนต่อสภาพทาง เศรษฐกิจการเกษตร

โครงการติดตามผลกระทบจากความแห้งแล้งทางด้านดินและพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์และการป้องกันแก้ไขภาวะความเป็นทะเลทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการปลูกสร้างพื้นที่ฟองน้ำในไร่นา ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่มีต่อทรัพยากรประมงน้ำจืดและน้ำเค็ม และการศึกษาผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนต่อปริมาณและการกระจายตัวของฝนบริเวณประเทศไทย เป็นต้น

3) การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนชนิดพืชและระยะเวลาการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น ทนแล้ง ทนต่อปัญหาน้ำท่วม รวมถึงการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกและประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนได้ตระหนักถึงภัยจากภาวะโลกร้อน การเตรียมตัวของเกษตรกรเพื่อปรับเปลี่ยนพันธุ์พืชและร่วมมือกันในการลดกิจกรรมทั้งในภาคการเกษตร อุตสาห กรรม พลังงาน ฯลฯ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลกร้อน

กรมพัฒนาที่ดินห่วง 3 จังหวัดภาคอีสาน

ขณะที่กรมพัฒนาที่ดินระบุว่า อุณหภูมิโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาฝนแล้งและพื้นที่ดินเค็มขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหาแล้งซ้ำซากมากกว่า 7 ล้านไร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาแล้งซ้ำซากในจังหวัดนครราชสีมา-ขอนแก่น และมหาสารคาม มีความเสี่ยงทำให้พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ ทะเลทรายได้ในอนาคต

ปัจจุบันกรมพัฒนาที่ดินได้นำข้อมูลจากปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญได้แก่ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย พื้นที่ชลประทาน ความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน การใช้ประโยชน์ที่ดินและข้อมูลของพื้นที่ที่มีประวัติเกิดภาวะแล้งซ้ำซาก โดยนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ทำให้สามารถวิเคราะห์พื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาภัยแล้งได้ล่วงหน้าเกือบ 2 เดือน โดยมีความแม่นยำไม่น้อยกว่า 80%

จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดสภาวะแห้งแล้งมากกว่า 22.9 ล้านไร่ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการจัดทำแผนที่แสดงพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเกิดสภาวะความแห้งแล้งในปี 2550 ขณะนี้แบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 1 คือพื้นที่ที่ดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำปานกลางถึงสูง มีแหล่งน้ำเพียงพอกระจายอยู่ทั่วไป ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูง

การใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตรทั้งทำนาปรังในพื้นที่ชลประทาน ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้นซึ่งมีโอกาสน้อยที่จะเกิดการขาดแคลนน้ำแต่ยังมีความแห้งแล้งปกติในช่วงฤดูแล้ง พื้นที่ที่อยู่ในระดับนี้มี 59,312,352 ไร่

ส่วนระดับที่ 2 ดินอุ้มน้ำค่อนข้างดีแต่ไม่มีแหล่งน้ำชลประทาน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ มีการปลูกพืชอายุสั้น เช่น ข้าวโพด ข้าวนาปรัง อ้อย จึงอาจมีโอกาสเกิดการขาดแคลนน้ำทั้งด้านอุปโภคบริโภคและการเกษตรได้ มีพื้นที่รวม 87,750,750 ไร่

ระดับที่ 3 ถือว่าน่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะลักษณะทางกายภาพของดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำค่อนข้างต่ำปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติ อีกทั้งมีการปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย ข้าวโพด ที่ต้องใช้น้ำมาก ทำให้มีโอกาสเกิดภัยแล้งสูงและก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค พื้นที่เกษตรเสียหายรุนแรง โดยคาดว่าจะมีพื้นที่ที่ประสบปัญหาประมาณ 22,981,633 ไร่

และระดับที่ 4 พื้นที่ไม่มีศักยภาพในการเกิดสภาวะความแห้งแล้ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ลุ่มและพื้นที่ทำการเกษตรแบบประณีต รวมทั้งมีระบบชลประทานสมบูรณ์จึงไม่น่าห่วงเรื่องความแห้งแล้ง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีประมาณ 143,803,615 ไร่

ล่าสุดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รายงานพื้นที่ประสบภัยแล้งล่าสุดจำนวน 61 จังหวัด โดย 3 จังหวัดล่าสุดที่เพิ่งขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งก็คือจังหวัดอุทัยธานี ปราจีนบุรี และพัทลุง


จาก   :   ประชาชาติธุรกิจ  ฉบับวันที่ 16 - 18 เมษายน 2550
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 16, 2007, 01:34:39 AM โดย สายน้ำ » บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #2 เมื่อ: เมษายน 16, 2007, 01:39:49 AM »


โลกร้อน !! ความจริง ที่ไม่มีใครอยากฟัง



ประเทศไทยเพิ่งคว้าตำแหน่ง "ประเทศที่อากาศร้อนที่สุดในโลก"

เพิ่มเติมข้อมูลอีกนิด 28 เมษายนนี้ เมืองหลวงของเราจะร้อนที่สุดในรอบปี ผลจากการที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนทำมุมตั้งฉากกับเมืองแห่งนี้พอดิบพอดี

โลกร้อนขึ้นทุกวัน เรื่องนี้เห็นจะจริงเป็นอย่างยิ่ง แต่ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับความจริงที่ไม่ค่อยมีใครยอมรับคือ *เราเองนี่แหละ* ที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ดาวสีฟ้านี้ร้อนระอุ

การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ให้พลังงาน วิถีชีวิตที่เน้นการบริโภคอย่างบ้าคลั่งเกินเลยจำเป็น ยิ่งช่วยเร่งสร้างมลภาวะอย่างก๊าซเรือนกระจกไปห่อหุ้มโลก ทำให้ความร้อนไม่อาจหลุดลอดออกไปภายนอกโลกได้

หากเปรียบไปก็เหมือนกับกบที่อยู่ในหม้ออบ อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่กว่าจะรู้ตัวว่าร้อนจนเป็นอันตราย ก็สายไปเสียแล้วสำหรับเจ้าสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำตัวนี้

หากเปลี่ยน *กบ* เป็น *มนุษย์* จะมีไหมมือจากเพื่อนต่างดาวที่มาฉุดเราให้หลุดรอดไป เมื่อไม่อาจคาดหวัง

ดังนั้น การปรับเปลี่ยนที่ตัวเราเองจึงดูเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่า

ตามกลไกทางวิทยาศาสตร์ พลังงานจากดวงอาทิตย์จะแผ่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกในรูปของคลื่นแสง ให้ความร้อนแก่โลก พลังงานบางส่วนทำให้โลกอบอุ่น ก่อนจะถูกแผ่กลับออกในห้วงอวกาศในรูปรังสีอินฟราเรด

แต่ก็มีบางส่วนที่ชั้นบรรยากาศโลกกักเก็บเอาไว้ ซึ่งนั่นเป็นข้อดี เพราะจะทำให้โลกมีอุณหภูมิไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป

เพราะถ้าเปรียบกับ *ดาวศุกร์* ที่มีก๊าซเรือนกระจกหนาก็จะทำให้ร้อนมาก หรืออย่าง *ดาวอังคาร* ที่แทบไม่มีก๊าซเรือนกระจกเลย ก็จะเย็นจัดจนสิ่งมีชีวิตเฉกเช่นมนุษย์ไม่อาจอาศัยอยู่ได้

ทว่า ในความเป็นจริงที่เป็นอยู่ นับวันชั้นบรรยากาศโลกจะเก็บกักความร้อนเอาไว้มากขึ้น อันเนื่องจากปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่ห่อหุ้มชั้นบรรยากาศไว้ มีชั้นความหนาที่เพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ ทำให้รังสีอินฟราเรดที่ควรจะหลุดลอดออกคล้ายถูกกำแพงสกัดกั้น คาร์บอนไดออกไซด์ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน), ก๊าซมีเทน จากการทับถมขยะ การเลี้ยงปศุสัตว์, ไนตรัสออกไซด์ จากการใช้ปุ๋ยและเผาป่า-เผาไร่หลังฤดูเก็บเกี่ยว

เหล่านี้คือตัวอย่างเพียงเล็กน้อยของต้นตอที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และแน่นอน อาจต้องก้มหน้ายอมรับว่า นี่เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์

มีตลกร้าย (ที่ขำไม่ค่อยออก) เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่อยากเล่าให้ฟัง

วันหนึ่ง บนโต๊ะอาหารเช้า

ลูกสาวตัวน้อยถามคุณพ่อ "คุณพ่อค่ะ เราจะแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อนกันอย่างไร?"

พ่อเผยยิ้ม แล้วว่า "ท่านประธานาธิบดีก็คงจะทำเหมือนที่พ่อทำให้หนูทุกเช้า คือเอาน้ำแข็งก้อนมาหย่อนในแก้วน้ำให้มันเย็นลง ท่านคงลงทุนให้ตัดน้ำแข็งก้อนมหึมาจากขั้วโลก แล้วใช้เฮลิคอปเตอร์ผูกเชือกโยง ขนส่งมาหย่อนลงกลางมหาสมุทร ทีละก้อนๆ ให้อุณหภูมิผิวทะเลเย็นลงยังไงละ"

เรื่องเล่าข้างต้นอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง "An Inconvenenient Truth" ที่เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมปีล่าสุด ที่บัดนี้ หนังสือในชื่อเดียวกัน ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้วโดยสำนักพิมพ์ "มติชน"

*ผู้เขียนคือ อัล กอร์*

*ผู้แปลคือ คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์*

และสำหรับชื่อในภาคภาษาไทย "โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง" อยากให้ฟัง *คุณากร* อธิบายถึงที่มา

"จริงๆ แล้วก็แปลมาจากชื่อต้นฉบับนั่นแหละ คือตอนแรกผมก็พยายามที่จะไม่ใช้ชื่อนี้ เพราะชื่อ "ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง" นี้กลัวมันจะไม่ติดหูคน แต่สุดท้ายผมก็ต้องกลับมาใช้ชื่อที่แปลมาจากคำว่า An Incovenient truth โดยตรง เนื่องมาจากสาเหตุอย่างหนึ่งคือ ในหนังสือ เวลาพูดถึงประเด็นอะไรก็แล้วแต่ มันจะกลับมาพูดถึงสิ่งที่คนไม่ค่อยจะเชื่อ"

สอดคล้องกับภาษิตของ มาร์ก ทเวน ที่ *อัล กอร์* หยิบมาโควตไว้ในหนังสือ...

*"สิ่งที่คุณไม่รู้ไม่ได้สร้างปัญหาให้คุณ สิ่งที่คุณมั่นใจว่ารู้แต่กลับรู้ไม่จริงต่างหากที่เป็นปัญหา"*

ดังนั้น ใครต่อใครจึงพยายามที่จะปัดความรู้นี้ออกไป ความรู้ที่ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมลภาวะให้กับโลก บ้างละเลย แกล้งหลงลืม เพียงเพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง

หนังสือ "โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง" ประเด็นหลักจึงไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างที่มีให้เห็นมากมาย แต่ทว่า มันคือเรื่องของ "จริยธรรม" เพราะความจริงที่หนังสือบอก บางเรื่องเราอาจเคยรับรู้รับฟังมาบ้างแล้ว แต่เราก็ปล่อยวางไม่สนใจ ตราบเมื่อไม่มีคนตาย ไม่มีความเสียหาย ผู้คน รวมถึงสื่อมวลชนต่างๆ ก็ไม่พูดถึง

"กรณีศึกษาต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้บอกว่าเราต้องใส่ใจนะ เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับเรา มันเป็นเรื่องของสำนึก ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้ก่อปัญหา และเราเองนี่แหละที่จะต้องเป็นผู้ร่วมแก้ปัญหานี้ ซึ่งในหนังสือเองก็บอกแล้วว่าเราสามารถทำได้ ตั้งแต่วิธีการเล็กๆ ไปจนถึงวิธีการใหญ่ๆ ไม่มีข้อแม้ใดๆ ที่จะมาบอกว่า ฉันตระหนักกับปัญหา แต่ฉันแก้มันไม่ได้ ก็เลยปล่อยให้เป็นไป เรื่องของเรื่องคือว่า คุณจะแก้มันหรือเปล่านั่นแหละ นี่คือประเด็นทางจริยธรรม" คำพูดของคุณากรนั้นเข้มข้นจริงจัง

มาทางฟากฝั่งของผู้เขียน ความประทับใจของ อัล กอร์ เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเด็นโลกร้อนนั้น เกิดขึ้นในสมัยเรียนระดับปริญญาตรี เขาได้มีโอกาสศึกษากับ รีเจอร์ รีวิลล์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันที่ค้นพบแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก โดยอาศัยการวิเคราะห์ผลตรวจวัดจากสถานีวิจัยบรรยากาศ กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ณ เกาะหลัก หมู่เกาะฮาวาย

อัล กอร์ ชื่นชอบและเห็นความสำคัญของเรื่องนี้

เมื่อศึกษาเรื่องนี้จนตระหนัก และคิดว่าเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทุกคนต้องรับรู้ อัล กอร์ จึงตระเวนไปฉายสไลด์และพูดตามที่ต่างๆ ไม่หยุดหย่อน

ไม่ใช่เฉพาะในอเมริกา เขายังเดินทางมาประเทศในเอเชีย อย่างจีน ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น พร้อมๆ กับการแข่งขันพัฒนาตัวเองของประเทศ

เขาเขียนไว้ในหน้าบทนำของหนังสือ ตอนหนึ่งว่า *"เชื่อกันว่าการสูญพันธุ์ที่กวาดล้างไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว เกิดจากดาวเคราะห์น้อยพุ่งปะทะโลก แต่การสูญพันธุ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งใหม่นี้กลับมีมนุษย์เป็นต้นเหตุ"*

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้อีกอย่างหนึ่งคือ การที่ผู้เขียน คือ อัล กอร์ ซึ่งไม่ได้เป็นนักวิชาการ เป็นผู้เล่าเรื่อง ดังนั้น เขาจึงไม่ได้ผูกติดกับภาษาที่เป็นวิชาการ ตลอดจนกรอบการเขียนใดๆ หนังสือเล่มนี้จึงถูกออกแบบมาให้เหมาะกับบุคคลทั่วไป อ่านทำความเข้าใจได้ง่าย และข้อมูลที่ให้ก็ตรงกับที่นักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยทำการศึกษาอยู่

*เนื้อหาทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลจริง*

อ่านสนุก อ่านเพลิน แต่ที่อยากย้ำ *นี่คือเรื่องจริงไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์*

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีเสน่ห์คือลูกเล่น และวิธีการเล่าเรื่อง การที่ผู้เขียนตัดสลับชีวิตของตัวเองเข้ามาเป็นช่วงๆ แม้อาจดูเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ทว่านี่แหละที่ทำให้อดีตรองนายกรัฐมนตรีสมัยประธานาธิบดี บิล คลินตัน ผู้นี้ดูเป็นคนธรรมดา

ชีวิตของ อัล กอร์ ก็เหมือนกับบุคคลอื่นทั่วไป สุข ทุกข์ วิ่งวนเป็นวัฏจักรไม่ได้ต่างอะไรไปจากเราๆ ท่านๆ ต่างก็แต่วิกฤตในชีวิตของเขาหลายๆ ครั้ง ได้รับการแปรเปลี่ยนเป็นโอกาส

การเกือบสูญเสียลูก กับการตระหนักว่าเราจะต้องสูญเสียโลก

การสูญเสียพี่สาว ด้วยโรคมะเร็งปอดผลจากการสูบบุหรี่จัด กับความรับผิดชอบของตระกูลกอร์ที่เลิกปลูกยาสูบไปตลอดกาล

นั่นคือความธรรมดาที่จะทำให้เรารู้สึกร่วมไปกับหนังสือ

"อัล กอร์มีบุคลิกพิเศษ คือเขาเล่าเรื่องโดยเอาตัวเองมาเป็นแกนกลาง ทำให้คนติด ทำให้มันดูมีชีวิต อย่างกรณีลูกประสบอุบัติเหตุ หรือการที่เขาต้องสูญเสียพี่สาว ก็เอามาเปรียบเทียบกับโลก ทำให้หนังสือมีเลือดเนื้อ

"ชีวิตของเขานี่แหละที่ยึดตรึงเรื่องให้อยู่ด้วยกัน มีเอกภาพ การทำแบบนี้ทำให้เรื่องราวไม่ไกลไปจากจากชีวิตผู้อื่น มันเป็นประสบการณ์สากล" ผู้แปลพูดถึงผู้เขียน

หนังสือ "โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง" ไม่เพียงแต่ฉายปรากฏการณ์ หรือการนำเสนอที่หวือหวาด้วยรูปภาพ กราฟข้อมูล แต่ยังบอกถึงวิธีการแก้ปัญหาอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยรวบรวมมา ซึ่งจะเห็นว่า เราเองสามารถทำได้ แค่เพียงเปลี่ยน...

...เปลี่ยนเป็นถอดปลั๊กเมื่อปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า, เปลี่ยนเป็นใช้บริการขนส่งมวลชน, เปลี่ยนเป็นลดสินค้าฟุ่มเฟือย, เปลี่ยนเป็นใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมุนเวียนมาใช้ใหม่ได้, เปลี่ยนเป็นบริโภคเนื้อให้น้อยลง, เปลี่ยนเป็นใช้สินค้าที่ผลิตในท้องถิ่น ฯลฯ

ยังมีอีกหลายวิธีการที่เราสามารถช่วยโลกใบนี้ได้

*อยู่ที่ว่าจะเปิดใจยอมรับ และยอมเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า เท่านั้นเอง*


จาก   :   มติชน  ฉบับวันที่ 16 เมษายน 2550
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 17, 2007, 12:08:31 AM โดย สายน้ำ » บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #3 เมื่อ: เมษายน 17, 2007, 12:08:15 AM »


รับมือกับภาวะโลกร้อนอย่างไรกันดี !!

เหมือนว่าเรารู้ๆ กันอยู่แล้วว่าปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบไม่อีนังขังขอบของมนุษย์ และการควบตะลุยเร่งสร้างความเจริญในภาคอุตสาหกรรรม ทำให้ชั้นบรรยากาศโอโซนถูกทำลาย จำนวนคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงาน การใช้สารซีเอฟซี ไอเสียของรถยนต์เมื่อรวมเข้ากับการตัดไม้ทำลายป่าที่ถี่ๆ ยิ่งทำให้ปัญหาโลกร้อนอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงมากขึ้น

ถึงขั้นวิตกจริตกันว่า...แล้วเราจะเผชิญหน้ากับภาวะโลกร้อนกันอย่างไร?

อันที่จริงปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหา...ที่ต้องหันไปแก้กันที่ต้นเหตุ

นั่นคือมนุษย์

มนุษย์ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม และดูแลใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ที่สำคัญคือการเร่งทำความเข้าใจต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะความรู้ความเข้าใจต่างๆ เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนในขณะนี้มีอยู่น้อยมาก

ความพยายามควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างๆ อาทิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, มีเทน, ไนตรัสออกไซด์ ระมัดระวังการใช้พลังงาน หรือหันมาใช้พลังงานทดแทน ควรมีมาตรการรองรับที่เอาจริงเอาจังมากขึ้น

"การพอเพียงเป็นประเด็นหนึ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้มาก สิ่งที่เราดำรงชีวิตอยู่มีอะไรบ้างที่ไม่จำเป็น สิ่งไหนที่เราจะลด ถ้าลดแล้วรู้สึกว่าไม่เดือดร้อนชีวิตประจำวัน เราไม่ต้องถอยเหมือนไปอยู่ในยุคหิน หรือเปลี่ยนการดำรงชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพียงทุกอย่างรอบตัวเราถ้าลองมองดูจะรู้ว่าบางอย่างไม่จำเป็น แล้วยังเป็นสร้างความคุ้นเคยในการไม่ฟุ่มเฟือย" เป็นแนวคิดในการรับมือปัญหาโลกร้อนของ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อครั้งขึ้นเวทีเสวนาหนังสือ An Inconvenient Truth : โลกร้อนความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติฯ

คือแนวทางในการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

เช่นเดียวกับ คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ ผู้แปลหนังสือ An Inconvenient Truth ภาคภาษาไทยคิดว่า "ทุกคนรู้แล้วว่าสภาวะโลกร้อนเป็นความจริง ซึ่งเราต้องอยู่กับมัน ต้องหาทางปรับตัว หาทางเยียวยา เรื่องที่ว่าเราปล่อยคาร์บอนไปเท่าไร บริโภคอะไรที่ไม่จำเป็นไปบ้างไหม ควรเป็นบรรทัดฐานในการคิดอยู่ตลอด ไม่ใช่ข้อยกเว้น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่ว่ามีคนอยู่ 100 คนแล้วคนนี้ลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนชีวิต"

หากมนุษย์ร่วมกันรับผิดชอบต่อโลก ไยดีต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และใส่ใจต่อสิ่งที่จะส่งต่อให้ลูกหลาน...ย่อมมีทางออกให้กับสิ่งที่เผชิญในอนาคต

อัล กอร์ เจ้าของหนังสือโลกร้อนฯ ผู้ปลุกประเด็นปัญหาให้ระอุในใจผู้คนทั่วโลกเชื่อว่า เราสามารถเลือกอนาคตของลูกหลานในภายภาคหน้าได้ ถ้าทุกคนหันมาใส่ใจในประเด็นจริยธรรม ไม่เพียงแค่การถกเถียง สนทนาทางวิทยาศาสตร์หรือการเมืองเท่านั้น

ยอมรับเสียเถิดว่าโลกรอบตัวเรากำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่

ร่วมเผชิญหน้ากับปัญหาด้วยการเรียนรู้ และแบ่งปันความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่คนรอบข้าง ด้วยการลดใช้พลังงาน ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เริ่มจากตัวเรา บ้านเป็นที่แรกทำ "พรุ่งนี้ให้คือวันนี้" อย่างที่ มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ ทิ้งคำพูดไว้กับโลก เราจะสามารถเผชิญและผ่านวิกฤตนี้ไปได้

จาก   :   มติชน  ฉบับวันที่ 17 เมษายน 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #4 เมื่อ: เมษายน 17, 2007, 12:17:02 AM »


"ภาวะโลกร้อน" บนหน้าหนังสือ


 
นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกได้จัดอันดับมหันตภัยที่มนุษย์อาจต้องเผชิญในอนาคตไว้ 7 อันดับตั้งแต่น้อยที่สุดไปจนถึงมากที่สุด อันดับ 7 "การแผ่รังสีแกมมาจากการยุบตัวของดาวฤกษ์และหลุมดำ"

อันดับ 6 "เครื่องจักรมีความคิด" อันดับ 5 "อภิมหาภูเขาไฟ" อันดับ 4 "ดาวเคราะห์น้อยชนโลก" อันดับ 3 "สงครามนิวเคลียร์" อันดับ 2 "โรคระบาด" และ อันดับ 1 "ภาวะโลกร้อน"

ภาวะอันตรายที่ถูกจัดลำดับความรุนแรงและความเป็นไปได้ไว้ลำดับแรกสุดนี้ เป็นสิ่งที่มีการพูดถึงตั้งแต่ไหนแต่ไรมา นักวิทยาศาสตร์และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมพยายามส่งสัญญาณเตือนครั้งแล้วครั้งเล่า หากวิถีประจำวันของมนุษย์ส่วนใหญ่ก็ยังเข้ารูปรอยเดิม ไม่รู้ร้อนรู้หนาวใดๆ กระทั่งบุคคลระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ชาติที่ได้ขึ้นชื่อว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนเป็นอันดับ 1 ของโลก อย่าง อัล กอร์ ออกมาเปิดโปงวิกฤติสิ่งแวดล้อมผ่านภาพยนตร์สารคดีเรื่อง "An Inconvenient Truth (แอน อินคอนวีเนียน ทรูธ)" กระแสความรุนแรงของภาวะโลกร้อนจึงเริ่มเป็นที่กล่าวถึงมากขึ้นเรื่อยๆ 

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา หลังจากเวทีออสการ์ประกาศให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสารคดียอดเยี่ยม วงการสิ่งพิมพ์เมืองไทยก็เริ่มมีผลงานตอบรับกระแสดังกล่าว นิตยสารสารคดีฉบับเดือนมีนาคม นำเสนอสกู๊ปขึ้นปกเรื่องภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับมหภาคจวบจนถึงชายฝั่งทะเลเมืองไทย ซึ่งมีประเด็นน่าเป็นห่วงว่าที่ดินย่านสมุทรปราการจมหายไปใต้น้ำอย่างต่อเนื่องนับพันไร่ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา

ต่อด้วยงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งล่าสุด มีการเปิดตัวหนังสือแปลจากสำนักพิมพ์มติชน "An Inconvenient Truth โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง" ที่อัล กอร์ ผู้เขียนประมวลเรื่องราวจากภาพยนตร์ แปลโดย คุณากร วาณิชย์วิรุฬ และหนังสือจากสำนักพิมพ์ฟรีมายด์ "มหันตภัยโลกร้อน" รวบรวมสถานการณ์ภาวะโลกร้อนพร้อมข้อมูลวิเคราะห์หลากหลายด้านจากนักวิชาการไทย เรียบเรียงโดย สุพัฒนา แซ่ลิ่ม



"กระแสโลกต่างก็กล่าวถึงปัญหาเรื่องนี้ นิตยสารไทม์ ฉบับล่าสุด (เมษายน) ก็พูดถึงเรื่องโลกร้อน หลังจากเคยกล่าวถึงมาแล้วหลายครั้ง เราเองก็เอาข้อมูลมาใช้อ้างอิงด้วย" เป็นคำบอกเล่าของ อิศวเรศ ตโมนุท คนหนุ่มรุ่นใหม่ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ฟรีมายด์ และยังเป็นหนึ่งในทีมข้อมูลหนังสือมหันตภัยโลกร้อนด้วย

อิศวเรศ บอกต่อว่า แม้สำนักพิมพ์ของเขาจะเน้นเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมะเพื่อคนรุ่นใหม่ แต่หลังจากได้ติดตามเรื่องราวภาวะโลกร้อนจาก ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา นักวิทยาศาสตร์ผู้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ ทำให้ทางสำนักพิมพ์ไม่ลังเลที่จะทำเรื่องนี้ และเมื่อได้ทำการศึกษาก็พบว่าข้อมูลที่มีจำนวนมากมายนั้น ส่อถึงความรุนแรงที่ทวีขึ้นทุกขณะ

"ที่น่าสนใจก็คือ ประเด็นนี้มีนักวิทยาศาสตร์ไทยหลายท่านเคยพูดถึงมาหลายสิบปีแล้ว และก็มีหนังสือเขียนถึงไว้ด้วย แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าไม่มีคนสนใจ จนล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน เพิ่งจะมีคนพูดถึง มีนักวิทยาศาสตร์บางท่านเห็นว่า มันสายเกินไปกว่าที่จะทำอะไรกันแล้ว แต่อย่างน้อย ตอนนี้สิ่งที่เราพอทำได้เราก็อยากทำ เพื่อให้มนุษย์หันมาหาทางแก้ไข ในหนังสือเล่มนี้ นอกจากแหล่งข้อมูลนักวิชาการที่เราได้สัมภาษณ์แล้ว ก็ยังมีข้อมูลในอีกหลายๆ แหล่งทั้งจากเมืองไทยและต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่อัพเดทตลอดเวลา ซึ่งถ้าเราทำภาพรวมทั่วโลกมันก็จะดูไกลตัว ฉะนั้น เราจึงเน้นเจาะเฉพาะในประเทศไทย" เป็นคำกล่าวเสริมจาก สานุพันธ์ ตันติศิริวัฒน์ ผู้บริหารสำนักพิมพ์อีกหนึ่งราย

ด้วยราคาหนังสือเพียงเล่มละ 195 บาท ข้อมูลรูปเล่ม ย่อยให้อ่านง่าย ภาพสีประกอบ เป้าหมายของพวกเขาคือเพื่อให้เกิด "ผลกระทบ" ในระดับบุคคล หวังว่าคนที่ได้อ่านหนังสือแล้วจะเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ช่วยกันประหยัดพลังงานเพื่อโลก โดยหนังสือยังสรุปด้วยว่าหลัก "ความพอเพียง" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นหัวใจสำคัญยิ่งในการแก้ปัญหานี้

"ด้วยข้อมูลที่อาจจะค่อนข้างหนัก เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่มองว่ามันน่าสนใจ จึงพยายามทำออกมาให้มันเป็นนิยายชีวิตเรื่องหนึ่ง ที่คนอ่านเขาจะต้องได้รู้ว่ากลไกของโลกเป็นอย่างไร ซึ่งพ็อคเก็ตบุ๊คเป็นสื่อที่อยู่นาน สามารถหยิบมาอ่านได้เรื่อยๆ ด้วย เหมาะกับการเสนอประเด็นนี้" สานุพันธุ์ กล่าว ก่อนที่สองหนุ่มจะช่วยกันสรุปว่า เชื่อว่าต่อไปจะมีคนหันมาทำหนังสือแนวนี้มากขึ้น เพราะทุกคนเริ่มเห็นว่ามันเป็นสิ่งใกล้ตัวมากขึ้น แต่นับว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะกระตุ้นให้คนหันมาสนใจปัญหา และหนังสือเล่มอื่นๆ อาจจะเสนอในมุมที่ลึกกว่า กว้างกว่านี้ เพราะประเด็นเรื่องภาวะโลกร้อนมีหลายมุมมาก อีกทั้งสถานการณ์ก็เริ่มเลวร้าย และรุนแรงขึ้นทุกที ถ้าคนไทยไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ ปัญหาก็จะเข้ามาใกล้เรามากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่หนังสืออีกเล่ม อาจกล่าวได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมาย ด้วยราคาที่สูงถึง 490 บาท แลกด้วยกระดาษอาร์ตและภาพสีสี่ รุจิรัตน์ ทิมวัฒน์ หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือต่างประเทศ สำนักพิมพ์มติชน บอกถึงกระแส "An Inconvenient Truth โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง" เล่มนี้ว่า ถ้ามองโดยเนื้องาน รูปเล่ม ราคา ประกอบกับสภาพบ้านเมือง สภาพเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ ตอนแรกทุกคนมองว่าอย่างไร ตลาดต้องซบเซาแน่ๆ เธอเองก็ห่วงเหมือนกันว่าจะขายยาก ทว่า หนังสือกลับขายดีเป็นอันดับ 1 ของบูธสำนักพิมพ์อย่างพลิกความคาดหมาย

"หนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็นหนังสือด้านสิ่งแวดล้อมเล่มแรกของสำนักพิมพ์มติชนเลยก็ว่าได้ และเป็นการประกาศว่า เราจะมารณรงค์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะมีหนังสือเล่มต่อไปตามมาอีก ซึ่งทั้งหมดเริ่มจากสมัยที่คุณปานบัว บุนปาน นั่งเป็นบรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์สึนามิขึ้น เขารู้สึกว่าโลกและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปเยอะ แม้แต่ในกรุงเทพฯ เองอากาศก็เปลี่ยนแปลงไปมาก และด้วยความที่เราเป็นสื่อด้วย จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม จนได้มาเจอหนังสือเล่มนี้"

รุจิรัตน์ อธิบายเพิ่มว่า หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นจากหนังสารคดี โดย อัล กอร์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่ให้เรื่องสิ่งแวดล้อมไปถึงคนทั่วโลก ด้วยจุดประสงค์อยากให้คนทั้งโลกร่วมมือกัน ประกอบด้วยข้อมูลที่ อัล กอร์ ศึกษาจากศาสตราจารย์โรเจอร์ รีวิลล์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ว่าสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง และนำมาย่อยให้อ่านง่าย พร้อมมีภาพมายืนยันเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจน โดยทางสำนักพิมพ์ยังคงปก รูปเล่ม ขนาดตัวหนังสือ ให้เป็นแบบเดียวกับฉบับภาษาอังกฤษ ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวนในขณะนี้ ทั้งหมดล้วนช่วยสร้างกระแสให้เสียงตอบรับต่อหนังสือดีมาก

"ถึงแม้จะโชคดีด้านการขาย แต่ตอนนี้โลกของเราก็แย่แล้ว จริงๆ อยากให้สำนักพิมพ์อื่นช่วยด้วย ใครมีข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยรณรงค์ให้คนทั่วไปสนใจจะเป็นรูปแบบไหนก็ได้ ไม่ถือว่าที่ไหนเป็นคู่แข่งเลย เพราะถ้ายิ่งทำให้คนสนใจมาก ความรู้จะยิ่งขยายออกไปมาก ก็จะเป็นผลดี" รุจิรัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์มีส่วนสร้างมลภาวะต่อสภาพแวดล้อมด้วยเช่นกัน แต่รุจิรัตน์มองว่า ทุกอุตสาหกรรมล้วนมีส่วนทำลายโลกทั้งสิ้น แต่ต้องชั่งน้ำหนักว่า คุณประโยชน์ที่ได้มาจากความสูญเสียนั้นคุ้มค่าแค่ไหน ข้อมูลที่คนได้รับรู้หลังจากการสูญเสียทรัพยากรนั้นจะมีความหมายเพียงใด

เพราะถ้ามองย้อนกลับไปแล้ว การสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมฉบับของ อัล กอร์ และการประกาศถอนตัวไม่ร่วมพิธีสารเกียวโตเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน ด้วยเกรงว่าเศรษฐกิจประเทศตัวเองจะฟีบแฟบของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ต่างก็มาจากขั้วความคิดของคนชาติอเมริกันเหมือนกันนี่เอง
 

จาก   :   คม ชัด ลึก  ฉบับวันที่ 17 เมษายน 2550

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #5 เมื่อ: เมษายน 17, 2007, 12:28:19 AM »


มะกันแห่รณรงค์สู้โลกร้อน

สหรัฐ-สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ชาวอเมริกันทั่วประเทศที่วิตกกังวลเกี่ยวกับสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ได้มารวมตัวกันรณรงค์ให้ประชาชนใส่ใจกับปัญหาโลกร้อน โดยมีการจัดกิจกรรมกว่า 1,300 กิจกรรม ทั่วทุกรัฐในสหรัฐ เพื่อผลักดันให้รัฐสภาออกกฎหมายให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 80 ภายในปี 2593

ข่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีทั้งนักเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมและนักเขียนมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง โดยการจัดกิจกรรมที่สวนสาธารณะแบตเตอรี่ ในนครแมนฮัตตัน ผู้ร่วมเดินขบวนสวมชุดสีน้ำเงินพร้อมอุปกรณ์ดำน้ำลึกและลูกบอลชายหาด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าจะเกิดน้ำท่วมในอนาคต ทางด้านนายจอห์น เอ็ดเวิร์ด ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ จากพรรคเดโมแครต กล่าวว่า สหรัฐควรเรียกเก็บเงินจากอุตสาหกรรมที่สร้างก๊าซเรือนกระจก เพื่อนำเงินมาลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะได้เงินสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะทำให้ได้เทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้สหรัฐไม่ต้องพึ่งพาน้ำมัน นอกจากนี้ สหรัฐควรห้ามสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่ผลิตไฟฟ้าจากการเผาถ่านหิน

การจัดกิจกรรมมีทั่วประเทศ เช่น ดาลีย์ พลาซา ในนครชิคาโก และที่ซานตา โมนิกา รัฐแคลิฟอร์เนีย มีประชาชนหลายร้อยคนไปรวมตัวที่ชายทะเลติดมหาสมุทรแปซิฟิก


จาก   :   สยามรัฐ  ฉบับวันที่ 17 เมษายน 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #6 เมื่อ: เมษายน 17, 2007, 12:32:33 AM »



ชาวอเมริกันจัดงานรณรงค์สู้โลกร้อนใน 50 รัฐ
 
เวอร์มอนต์- ชาวอเมริกันแสดงจิตสำนึกปกป้องสิ่งแวดล้อม จัดงานต่อต้านภาวะโลกร้อนพร้อมกันกว่าพันงานใน 50 รัฐ เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลเอาจริงกับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ชาวอเมริกันทั่วประเทศได้พร้อมใจกันจัดกิจกรรมต่อสู้ปัญหาโลกร้อนรวม 1,350 งานครอบคลุม 50 รัฐ ภายใต้ชื่องาน "Step It Up 2007" โดยกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการเล่นสกีลงมาจากธารน้ำแข็งที่กำลังหายไปในรัฐไวโอมิง การดำน้ำไปชมแนวปะการังบริเวณฟลอริดา คีย์ การทานแพนเค้กเพื่อแสดงความวิตกเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนที่มีผลต่อการผลิตน้ำตาลของต้นเมเปิลในรัฐเวอร์มอนต์

 ในนครนิวยอร์กชาวเมืองใส่ชุดสีฟ้าจะยืนเรียงแถวตามจุดที่คาดกันว่าน้ำทะเลจะเอ่อขึ้นฝั่งเมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ส่วนชาวซานฟรานซิสโกจะขับรถที่ปล่อยก๊าซไอเสียระดับต่ำพร้อมตุ๊กตาหมีขั้วโลกไปยังร้านขายรถฮัมเมอร์เพื่อแสดงความวิตกว่า ปัญหาโลกร้อนอาจทำให้สัตว์อย่างหมีขั้วโลกเสี่ยงสูญพันธุ์ในอนาคต

 โครงการ Step It Up มีเป้าหมายเพื่อให้สภาคองเกรสออกกฎหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ราว 80% ภายในปี 2593 ริเริ่มโดย 6 อดีตนักศึกษาของวิทยาลัยมิดเดิลเบอรี ในรัฐเวอร์มอนต์ และบิล แมคกิบเบน นักเขียนคนแรกๆ ที่เขียนเรื่องโลกร้อนในหนังสือชื่อ "จุดจบของธรรมชาติ" เมื่อปี 2532

 งานนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรชั้นนำอย่าง สมาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติ และสภาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านหลากหลายช่องทาง อาทิเช่น บอกปากต่อปาก บล็อก อีเมล

 ผู้จัดได้ยกเลิกแผนเดินขบวนในกรุงวอชิงตัน เนื่องจากเห็นว่า การมาร่วมงานจะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซไอเสียมหาศาล

 นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า หากปล่อยให้โลกร้อนอย่างที่เป็นอยู่ จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 3 เมตร อันเนื่องมาจากน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ต่อเนื่องให้น้ำทะเลไหลท่วมนครนิวยอร์ก และพื้นที่ต่ำชายฝั่งทะเล ส่วนรายงานของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงระบุว่า ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 7-23 นิ้ว ภายในศตวรรษนี้

 นายจอห์น เอ็ดเวิร์ด ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ จากพรรคเดโมแครต กล่าวว่า สหรัฐควรเรียกเก็บเงินจากอุตสาหกรรมที่สร้างก๊าซเรือนกระจก เพื่อนำเงินมาลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะได้เงินสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์ และจะทำให้ได้เทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้สหรัฐไม่ต้องพึ่งพาน้ำมัน นอกจากนี้ สหรัฐควรห้ามสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่ผลิตไฟฟ้าจากการเผาถ่านหิน

 ทั้งนี้ สหรัฐเป็นชาติที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก แต่ที่ผ่านมาปฏิเสธที่จะร่วมให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต ที่กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ โดยสหรัฐอ้างว่า ต้องการเห็นชาติกำลังพัฒนา อย่าง จีน อินเดีย ร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย พร้อมยอมรับว่า การลดก๊าซเรือนกระจกอาจกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ
 
 
จาก   :   กรุงเทพธุรกิจ  ฉบับวันที่ 17 เมษายน 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
Vita
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 983


อยู่เหนือสุขและทุกข์ได้ เป็นดี..!


« ตอบ #7 เมื่อ: เมษายน 17, 2007, 02:03:06 AM »

กำลังเป็น Hot issue เลยจริงๆนะครับ
จากเดิมการประชุมระดับโลกมักคุยกันเรื่องเศรษฐกิจ
แต่ตอนนี้หันมาคุยกันเรื่องธรรมชาติ     
บันทึกการเข้า

สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #8 เมื่อ: เมษายน 18, 2007, 01:26:16 AM »


นักวิชาการมะกันฟันธง ตื่นตูม-โลกไม่ร้อนถึงขั้นวิกฤต!?

นักวิชาการสหรัฐสวนกระแสความรู้สึกของคนทั่วไปและสื่อมวลชนเรื่องโลกกำลังเผชิญภาวะโลกร้อนถึงขั้นวิกฤตว่า ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนในเรื่องนี้ ซ้ำยังเห็นว่ามาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มปัญหามากกว่าจะเป็นประโยชน์

ริชาร์ด เอส ลินด์เซ่น อาจารย์ด้านอุตุนิยมวิทยาของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากรัฐบาลสหรัฐเขียนบทความลงในนิตยสารนิวสวีก ว่า เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตจะเห็นว่าอุณหภูมิโลกมีขึ้นมีลงเป็นเรื่องปกติ กระแสตื่นกลัวเรื่องโลกร้อนในขณะนี้เกิดจากสมมติฐานผิดๆ ที่เชื่อการพยากรณ์สภาพอากาศในอีก 40 ปี ทั้งที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน

ลินด์เซ่น ชี้ว่า ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนถูกขยายความจนเกินจริง เพราะทุกวันนี้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว ส่วนอุณหภูมิโลกก็เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 0.6 องศาเซลเซียสมานับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2462-2483 และช่วงปี 2519-2541 และระหว่าง 2 ช่วงนี้โลกมีอุณหภูมิลดลง นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายหาคำอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ จึงโทษว่าเป็นเพราะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนั้น ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าเมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นจะก่อให้เกิดหายนะ พร้อมกับหยิบยกอินเดียขึ้นเป็นตัวอย่างว่า อากาศที่อุ่นขึ้นในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทำให้อินเดียมีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น

ลินด์เซ่น กล่าวว่า มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่งผลทางลบมากกว่าเพิ่มศักยภาพในการปรับตัวรับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง การส่งเสริมให้ใช้เอทานอลทำให้พืชที่ใช้ผลิตเอทานอลมีราคาแพงขึ้น พื้นที่ป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกบุกรุกเพื่อปลูกพืชเหล่านี้ นอกจากนี้ การซื้อขายโควตาปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่อนุญาตไว้ในพิธีสารเกียวโตยังทำให้เกิดการทุจริตโดยได้พาดพิงถึงบริษัท เอ็นรอน ผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ว่าสนับสนุนพิธีสารนี้ เพราะหวังจะค้ากำไรจากการซื้อขายโควตา


จาก   :   ข่าวสด ฉบับวันที่ 18 เมษายน 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #9 เมื่อ: เมษายน 19, 2007, 01:00:30 AM »


รายงานโลกร้อนชี้ เหลือเวลาแก้ปัญหาอีกไม่มาก


ภาพการละลายของธารน้ำแข็งในเอกาดอร์ที่นำมาเปิดเผยโดย IPCC

      แม้การต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนจะไม่เสียค่าใช้จ่ายมากนัก แต่รัฐบาลต่างๆ เหลือเวลาอีกเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่จะหลบเลี่ยงสภาวะอุณหภูมิเพิ่มสูงอันจะก่อความเสียหายได้
       
       ร่างรายงานขององค์การสหประชาชาติซึ่งมีกำหนดออกเผยแพร่ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 4 พ.ค. ชี้ว่า ภาวะโลกร้อนกำลังทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งสหภาพยุโรปเห็นว่าเป็นระดับอุณหภูมิที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ "อย่างน่าอันตราย"
       
       รายงานนี้ถือเป็นส่วนที่ 3 ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ที่ออกมาในปี 2007 เนื้อหาของรายงานส่วนนี้เน้นหนักไปที่เหตุการณ์จำลอง 2 เหตุการณ์ โดยบอกว่า การจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจมีค่าใช้จ่ายเท่ากับ 0.2% หรือ 0.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)ทั่วโลก ในปี 2030
       
       บางตัวอย่างชี้ให้เห็นว่า มาตรการต่างๆ เป็นต้นว่า การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันและถ่านหิน อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกได้เล็กน้อยด้วยซ้ำไป
       
       สำหรับสถานการณ์จำลองแบบเข้มงวดที่สุด ซึ่งรัฐบาลต่างๆจะต้องแน่ใจว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจะเริ่มลดลงภายในเวลา 15 ปี จะต้องเสียค่าใช้จ่าย 3% ของจีดีพีโลกภายในปี 2030
       
       ข้อสรุปของรายงานฉบับนี้สอดคล้องกับรายงานเมื่อปีที่แล้วของนิโคลัส สเติร์น (Nicholas Stern) อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ที่ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายในการลงมือชะลอภาวะโลกร้อนในตอนนี้ อยู่ที่ประมาณ 1% ของจีดีพีโลก เทียบกับตัวเลขที่สูงถึง 5-20% ในอนาคต ถ้าพวกเรายังไม่รีบลงมือ
       
       วิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำได้ง่าย ตามที่เสนอไว้ในร่างรายงานฉบับนี้ ได้แก่ การใช้พลังงานฟอสซิลให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้, เปลี่ยนมาใช้พลังงานรูปแบบอื่น เช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์ หรือพลังงานนิวเคลียร์ ตลอดจน จัดการการปลูกป่าและการทำเกษตรกรรมให้ดีกว่านี้
       
       ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจนอกเหนือจากการประหยัดพลังงานก็คือ สุขภาพจะดีขึ้นเนื่องจากมลพิษน้อยลง, ภาคเกษตรกรรมเสียหายจากฝนกรดน้อยลง และมีความมั่นคงด้านพลังงานเพิ่มมากขึ้น เพราะมีการลดการนำเข้าพลังงาน
       
       เหตุการณ์จำลองในการยอมเสียจีดีพีแค่ 0.2% ในปี 2030 เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน จะรักษาระดับก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศในปี 2030 ให้อยู่ที่ 650 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) ซึ่งสูงกว่าระดับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 430 ppm
       
       "การประมาณแบบเจาะจงที่สุด" ชี้ให้เห็นว่า นั่นอาจทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น 3.2-4.0 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ยิ่งมีมาตรการที่รัดกุมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มาก ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
       
       โดยในกรณีที่มีมาตรการเข้มงวดที่สุด ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่าย 3% ของจีดีพี จะสามารถจำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงไปอยู่ที่ 445-535 ppm ภายในปี 2030 ซึ่งน่าจะทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2-2.4 องศาเซลเซียส


ภาพบรรยากาศการประชุมของ IPCC ณ สำนักงานใหญ่ของอียู ในกรุงบรัสเซลส์เมื่อต้นเดือน เม.ย
       
       ด้าน บันคีมุน เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น กล่าวกับ นสพ.ไฟแนนเชียลไทมส์ว่า ยูเอ็นกำลังพิจารณาให้จัดการประชุมระดับสูงเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภายในปีนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การประชุมระดับผู้นำสุดยอดได้ในปี 2009
       
       การประชุมระดับสูง ซึ่งน่าจะมีรัฐมนตรีและผู้แทนระดับท็อปเข้าร่วม เป็น "หนทางที่ปฏิบัติได้และเป็นไปได้จริง"มากที่สุด บันกล่าว
       
       การประชุมนี้ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นใกล้ๆกับการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นิวยอร์กในเดือนกันยายน "อาจได้แนวทางปฏิบัติชัดเจนเพื่อประชุมในเดือนธันวาคมที่บาหลีก็เป็นได้" บันกล่าว ซึ่งการประชุมที่บาหลีนั้นเป็นการประชุมของยูเอ็นเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
       
       หากการประชุมระดับสูงในเดือน ก.ย.ประสบความสำเร็จ "จะต้องมีการพูดคุยเกี่ยวกับการประชุมระดับผู้นำสุดยอดในภายหลัง" บันกล่าวกับไฟแนนเชียลไทมส์ "อาจเป็นปี 2008 หรือ 2009"


จาก   :   ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 15 เมษายน 2550

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #10 เมื่อ: เมษายน 24, 2007, 12:21:53 AM »


ผลกระทบ “โลกร้อน” ต่อไทย “ระบบลมเปลี่ยน-วันร้อนเพิ่ม-วันเย็นลด”


ลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดเข้าชายฝั่งอันดามันเมื่อปลายปี 2549 ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายพื้นที่มีระดับคลื่นสูงจนน่าตกใจ

เสนอผลคาดการณ์ “โลกร้อน” ชี้ผลกระทบต่อไทย “ระบบลมเปลี่ยนแปลง” ทำมรสุมชายฝั่งสูงขึ้น เหตุลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังแรงพัดความชื้นเข้าฝั่ง แต่ลมตะวันออกเฉียงเหนือเบาลงเหตุแผ่นดินร้อนขึ้น ส่งผลให้ไม่หนาวอย่างเคย จำนวน “วันร้อน” เพิ่มขึ้น 30-60 วัน/ปี แต่จำนวน “วันเย็น” ลดลง และบางพื้นที่ไม่มีเลย
       
       ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวไว้ในค่ายทูตวิทยาศาสตร์ไทย ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) วันที่ 23 เม.ย.นี้ ว่าผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอันเป็นผลจากภาวะโลกร้อนก็คือการเปลี่ยนแปลงของระบบลม ซึ่งเป็นผลที่ได้จากการคาดการณ์ซึ่งทำการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
       
       ทั้งนี้ ดร.อานนท์ได้อธิบายว่าประเทศไทยและในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นอยู่ภายใต้ระบบลมมรสุม ซึ่งมีฝนที่เกิดจากการยกตัวของอากาศ โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้มวลอากาศชื้นจากทะเลสูงขึ้นและถูกพัดเข้าชายฝั่ง ซึ่งก๊าซเรือนกระจกที่มากขึ้นจะทำให้ความร้อนถูกกักเก็บไว้มากและส่งผลให้ความชื้นจากทะเลถูกลมพัดพาเข้าบริเวณชายฝั่งมากขึ้น อีกทั้งบริเวณดังกล่าวก็เกิดฝนมากขึ้นด้วย
       
       “ในฤดูร้อนลมตะวันออกเฉียงใต้จะมากขึ้นส่งผลให้ระดับน้ำชายฝั่งอันดามันสูงขึ้น ส่วนฤดูหนาวลมตะวันออกเฉียงเหนือจะอ่อนกำลังเนื่องอุณหภูมิบนแผ่นดินสูงขึ้น ทำให้ไม่หนาวอย่างที่เคย ทั้งยังทำให้น้ำจากทะเลจีนใต้เข้าอ่าวไทยน้อยลง ระดับความสูงของน้ำบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยจึงไม่มากเท่าฝั่งอันดามัน” ดร.อานนท์
       
       ในเรื่องความเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกนั้น ดร.อานนท์กล่าวว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นน้อย แต่ประเด็นคืออุณหภูมิเฉลี่ยบนแผ่นดินกับทะเลไม่เท่ากัน โดยอุณหภูมิบนแผ่นดินจะสูงกว่าอุณหภูมิในทะเลซึ่งมีพื้นที่ถึง 70% ของพื้นที่ในโลก แสดงว่าอุณหภูมิบนแผ่นดินต้องเพิ่มสูงขึ้นมากจึงทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของทั้งโลกเพิ่มขึ้นเท่ากับอุณหภูมิเฉลี่ยดังกล่าว และอุณหภูมิในพื้นที่สูงกว่าเส้นศูนย์สูตรจะเพิ่มมากกว่าพื้นที่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตร เป็นผลให้น้ำแข็งละลายและก็มีนำแข็งละลายถาวรในหลายพื้นที่
       
       ผลจากการแบบจำลองการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในประเทศไทยของ ดร.อานนท์ยังชี้ให้เห็นว่า หากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นจากในปัจจุบัน 360 ppm เป็น 720 ppm ซึ่งคาดว่าเป็นปริมาณก๊าซที่เพิ่มขึ้นในกรณีที่ไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะส่งผลให้ “วันร้อน” ซึ่งเป็นวันที่อุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 33 องศาเซลเซียสเพิ่มขึ้น 30-60 วัน/ปี โดย จ.อุทัยธานีเป็นจังหวัดที่จำนวนวันร้อนเพิ่มสูงที่สุดมากกว่า 60 วัน สาเหตุเนื่องจากเป็นพื้นที่ในหุบและอยู่ในปากกรวยของเส้นความร้อน ขณะที่ จ.ขอนแก่น จ.สกลนคร และ จ.ชัยนาถมีจำนวนวันร้อนคงที่ ขณะที่ “วันเย็น” ซึ่งเป็นวันที่อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียสมีจำนวนลดลงและบางพื้นที่ไม่มีเลย
       
       ทั้งนี้ ดร.อานนท์กล่าวว่าเป็นเพียงคาดการณ์จากแบบจำลองเดียวซึ่งอาจมีความผิดพลาดเกือบ 50% แต่รู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอนเพียงแต่ไม่ทราบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน และตอนนี้ใช้เพียงแบบจำลองทางฟิสิกส์ทำการศึกษา ซึ่งควรจะมีแบบจำลองทางด้านอื่น อาทิ แบบจำลองทางชีววิทยา แบบจำลองประชากร เป็นต้น เพื่อใช้ทำการคาดการณ์ด้วย
       
       “20-30 ปีจะเห็นการเปลี่ยนแปลง หากไม่ทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาเลย โดยปัญหาจะรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ ซึมลึก ไม่เหมือนภัยพิบัติแบบ “สึนามิ” ที่มาตูมเดียวแล้วไป ส่วนที่ตรงกับการคาดการณ์ตอนนี้คือการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนโรคระบาด พายุ ปริมาณน้ำฝนยังไม่สรุปได้ไม่ชัด ยังไม่กล้าฟันธง” ดร.อานนท์กล่าว
       
       ส่วนความสนใจของคนไทยต่อสภาวะโลกร้อนที่มากขึ้นนั้น ดร.อานนท์กล่าวว่าไม่เป็นเรื่องที่ “ตื่นตูม” เกินไป เพราะหากตื่นตูมจะทำให้เกิดความโกลาหล และถือเป็นเรื่องดีที่ทุกคนเริ่มตระหนักและอยากรู้ว่าความจริงคืออะไร ซึ่งการหยุดเพื่อฟังข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่ดี แต่การอุดหูไม่รับฟังหรือตื่นตูมโดยไม่ฟังนั้นเป็นเรื่องไม่ดี และปัจจุบันการผลิตข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เริ่มไม่ทันกับความต้องการรับรู้ความจริงของประชาชน
       
       “แม้แต่หนังสือแฟชั่นยังพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ล่าสุดหนังสือเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงก็เพิ่งมาสัมภาษณ์” ดร.อานนท์กล่าว โดยให้ความเห็นว่าความสนใจดังกล่าวเป็นผลต่อเนื่องจากระดับโลก ทั้งการทำงานของ คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) รวมทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ โดยเฉพาะหนังสือและภาพยนตร์เรื่อง ที่ทำให้เกิดการตื่นตัวของคนทั่วโลกอย่างเป็นรูปธรรม
       
       ดร.อานนท์กล่าวอีกว่าในต้นเดือน พ.ค.นี้ IPCC จะมาประชุมที่กรุงเทพฯ และเผยแพร่รายงานฉบับที่ 4 อย่างเป็นทางการ โดยคาดว่าข้อมูลที่ออกมานั้นจะร้อนแรงกว่ารายงานทุกฉบับ เนื่องจากจะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศ ซึ่งเหตุผลที่ IPCC ต้องทำรายงานเพื่อยืนยันสถานการณ์โลกร้อนเพราะข้อโต้แย้งหลักๆ ของฝ่ายที่ไม่ยอมรับต่อปัญหาดังกล่าวคือ “ข้อมูล” จึงจำเป็นต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน โดยการทำงานของนักวิทยาศาสตร์กว่า 2,000 คนจากประมาณ 130 ประเทศ
       
       “ข้อเสนอแนะวิชาการมีโอกาสกระทบต่อประเทศได้ โดยเมื่อก่อนมองประเทศที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นผู้สร้างปัญหา ต่อมาก็คำนวณปริมาณที่ปล่อยต่อหัว และมาแนวใหม่คำนวณการปลดปล่อยต่อ “จีดีพี” ปรากฏว่าแนวใหม่นี้เราอยู่ในอันดับที่สูงเพราะเทคโนโลยีเราต่ำ กว่าจะผลิตสินค้าส่งขายได้ก็ปลดปล่อย (ก๊าซเรือนกระจก) ออกไปเยอะ” ดร.อานนท์กล่าว
       
       “ที่กลัวตอนนี้คือชุมชนเพิกเฉย ไม่ใส่ใจ และคิดว่าคนไทยจำนวนมากเห็นเป็นเรื่องไกลตัว และเรายังแก้ปัญหาที่ปลายมือ ตอนนี้ยังทำได้ (แก้ปัญหาปลายมือ) แต่ต่อไปจะไม่สามารถทำได้ ตอนนี้เราใช้ทรัพยากรแบบเต็มกำลัง ถ้าใช้มากขึ้นกว่านี้จะวิกฤติ เช่นทรัพยากรน้ำหากใช้มากขึ้นกว่านี้และน้ำน้อยลง จะทำให้เกิดวิกฤตได้” ดร.อานนท์ให้ความเห็น


จาก   :   ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 24 เมษายน 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #11 เมื่อ: เมษายน 24, 2007, 12:31:09 AM »


ส่องเวบ : โลกร้อน

 
ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกให้ความสนใจ ส่วนผู้ที่ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง อาจเสียเปรียบในการรับรู้ข้อมูล เพราะข้อมูลหรือผลงานวิจัยส่วนใหญ่ที่เผยแพร่ ล้วนออกมาเป็นภาษาอังกฤษทั้งสิ้น แต่อย่าเพิ่งน้อยใจเพราะ www.whyworldhot.com    เวบไซต์ว่าด้วยโลกร้อนสำหรับคนไทย ที่นำเสนอข้อมูลมากมายรวมไปถึงข้อแนะนำที่น่าสนใจในรูปแบบภาษาไทย

เวบนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ คือ An Inconvenient Truth ภาพยนตร์ที่อำนวยการสร้างโดย อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ พร้อมทั้งบทความที่ตีแผ่ความจริงเกี่ยวกับโลกร้อน เช่น การเปลี่ยนแปลงของภูเขาคิลิมานจาโร และเรื่องราวของธารน้ำแข็งต่างๆ โลกร้อนคือ? เป็นพื้นที่สำหรับให้ข้อมูลวิชาการและ ร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน พื้นที่สำหรับข้อแนะนำให้ช่วยกันลดพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้โลกร้อนขึ้น และวิธีแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างง่าย 10 ประการ
 

จาก   :   คม ชัด ลึก วันที่ 24 เมษายน 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายชล
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8186


Saaychol


« ตอบ #12 เมื่อ: เมษายน 24, 2007, 05:10:51 AM »

ให้เลิกเผาศพโทษก่อเหตุโลกร้อน ห่อกระดาษฝัง เป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้
 
นักวิทยาศาสตร์เมืองจิงโจ้ เสนอให้เลิกปลงศพด้วยการเผาที่ทำกันมานมนาน อ้างว่า เพราะมีส่วนทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนอย่างที่เกิดเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

ศาสตราจารย์โรเจอร์ ชอร์ท กล่าวแสดงความเห็นว่า ควรจะช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการเปลี่ยนมาทำศพ เป็นการใส่กล่องกระดาษฝังเอาไว้ใต้ต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่งจะดีกว่า เพราะศพจะได้เน่าเปื่อยกลายเป็นปุ๋ยแก่ต้นไม้ และต้นไม้ ก็จะได้เติบโต ทำหน้าที่ฟอกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กลายเป็นก๊าซออกซิเจนหล่อเลี้ยงชีวิตอยู่ต่อไปได้นานอีกหลายสิบปี

นักชีววิทยามหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ยกตัว อย่างถึงการเผาศพผู้ชายในออสเตรเลียว่า ต้องใช้ ความร้อนสูงถึง 850 องศาเซลเซียส นานถึง 90 นาที ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นไม่ต่ำกว่า 50 กก. โดยที่ยังไม่คิดถึงค่าเชื้อเพลิงและอื่นๆ เขาแนะนำว่าคงจะไม่เลว “หากว่าเราจะอุทิศร่างกายให้เป็นปุ๋ยของพืชพรรณ มันเท่ากับเป็นการสร้างบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ให้กับโลกของเราด้วย"


ไทยรัฐ วันที่ 24 เมษายน 2550
บันทึกการเข้า

Saaychol
สายชล
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8186


Saaychol


« ตอบ #13 เมื่อ: เมษายน 24, 2007, 05:20:46 AM »

"ปุ๋ยมนุษย์"....ความคิดดีจริงๆเลย ตายไปแล้วยังให้ประโยชน์กับโลกได้อีก เป็นกุศลที่ดีจริงๆ

เกรงแต่ว่า ถ้ายังทำหลุมแล้วกลบพร้อมพูนดินขึ้นมาใต้ต้นไม้ แล้วก็มีเครื่องไหว้มาวางๆไว้เกลื่อนกลาด ก็คงไม่ผิดกับป่าช้า ถ้าขยายอาณาเขตออกไปเรื่อยๆ ป่าช้าก็คงจะเต็มบ้านเต็มเมือง...
บันทึกการเข้า

Saaychol
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #14 เมื่อ: เมษายน 24, 2007, 11:58:41 PM »


เพียงแค่มีชีวิตอยู่เราก็เพิ่มก๊าซเรือนกระจกคนละตัน/ปี


ประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น เป็นปัจจัยหนึ่งของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

นักวิชาการชี้คนเป็นเครื่องปฏิกรณ์ผลิตก๊าซเรือนกระจก ระบุแต่ละปีคนเราผลิตคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นตัน พร้อมทั้งชี้ "โลกร้อน" ส่งผลให้เกิดทั้งพายุและลูกเห็บ
       
       รศ.ดร.จริยา บุญญวัฒน์ ที่ปรึกษาวิชาการด้านบรรยากาศ ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงมลภาวะทางอากาศที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมว่า มลภาวะในลักษณะที่ออกมาจากคนนั้นมีปริมาณมาก โดยมีกรณีตัวอย่างที่มลภาวะที่เกิดในประเทศจีนถูกพัดพาข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปตกที่ประเทศสหรัฐ ทั้งนี้เป็นเพราะชั้นบรรยากาศที่หนาเพียง 5 กิโลเมตรนั้นไม่มีพรมแดนระบุเหมือนเขตประเทศ
       
       อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของประชากรจำนวนมากก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของโลก ซึ่ง รศ.ดร.จริยา ชี้ว่าเพียงแค่คนเรามีชีวิตอยู่ก็ทำให้เกิดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของโลกร้อน โดยปฏิกิริยาชีวเคมีในร่างกายจากการเผาพลาญอาหารที่เรารับประทานเข้าไปและอากาศที่เราหายใจเข้าไปวันละ 3,000 แกลลอนหรือประมาณหมื่นลิตรนั้นทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คนละตันต่อปี
       
       “มีชีวิตเพิ่มมากขึ้นในโลกเท่าไหร่ก็เป็นพื้นฐานในการเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเท่านั้น เราก็เป็นเหมือนเครื่องปฏิกรณ์ในการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” รศ.ดร.จริยากล่าว
       
       นอกจากนี้ รศ.ดร.จริยายังชี้ให้เห็นถึงปัญหาของละอองในบรรยากาศ (Aerosol) ที่สร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อชีวิตมนุษย์ว่าละอองในอากาศนั้นมีทั้งดีและไม่ดี โดยละอองเหล่านั้นจะเป็นแกนของการกลั่นตัวเป็นเมฆ แต่มลภาวะทางอากาศและอุณหภูมิบนพื้นดินที่สูงขึ้นนั้น ส่งผลกระทบให้เมฆที่ควรจะกลั่นตัวเป็นฝนลอยตัวสูงขึ้นและถูกพัดพาจากกระแสลมที่อยู่สูงขึ้นไป ซึ่งหากพัดไปลงทะเลก็จะให้เกิดพายุเข้าชายฝั่ง แต่ลอยตัวอยู่ในแผ่นดินก็ทำให้เกิดฝนลูกเห็บได้ ซึ่งปริมาณประชากรและบ้านเรือนที่ขยายตัวมากขึ้นทำให้ลูกเห็บเหล่านั้นสร้างความเสียหายต่อความเป็นอยู่ของคนได้
       
       ดร.เกษม จันทร์แก้ว จากวิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อมลภาวะทางอากาศว่า ที่ชัดเจนที่สุดคือหากเกินไฟป่าขึ้นแล้วอากาศที่อยู่สูงขึ้นไปร้อนกว่าอากาศที่อยู่ข้างล่างจะส่งผลให้หมอกและควันจากการเผาป่าไม่สามารถลอยขึ้นไปได้และถูกกักอยู่ในพื้นที่เบื้องล่าง อย่างไรก็ดีโชคดีที่ไทยมีลมมรสุมช่วยพัดพาฝุ่นเหล่านั้น
       
       นอกจากนี้ ดร.เกษมยังได้กล่าวถึงปัญหาความร้อนที่โลกได้รับว่ามีอยู่ 2 ด้านคือ 1.ปัญหาภาวะโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจก และ 2.ช่องโหว่ของชั้นโอโซนในบรรยากาศจากการใช้สารซีเอฟซี (CFC) แต่ไทยจะประสบกับปัญหาเรื่องก๊าซเรือนกระจกมากกว่าปัญหาจากการรั่วของชั้นโอโซนในบรรยากาศ ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากการกิจกรรมการเผาในทุกอย่างทั้งเผาป่าและเผาชีวมวล
       
       “กรุงเทพฯ มีปัญหาหนักในเรื่องฝุ่นแต่เราไม่รู้ตัว ฝุ่นเหล่านี้เป็นฝุ่นเล็กๆ ที่อันตราย ซึ่งมีสาเหตุหลักๆ 2 สาเหตุคือ จากการก่อสร้างและจากที่ไหนไม่รู้ สวนจะป้องกันอย่างไรนั้น สภาวะอย่างนี้หยุดไม่ได้แล้ว ใส่หน้ากากก็คงไม่ถูก ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แหล่งอุตสาหกรรมต้องเก็บฝุ่นไว้ให้ได้ ซึ่งก็มีหลายโรงงานที่ทำแล้ว โดยใช้ประจุไฟฟ้าดูดฝุ่นเหล่านั้น แต่ในส่วนของการก่อสร้างยังไม่ทำ” ดร.เกษม


จาก   :   ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 25 เมษายน 2550
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
หน้า: [1] 2 3 ... 18   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.035 วินาที กับ 20 คำสั่ง