กระดานข่าว Save Our Sea.net
เมษายน 20, 2024, 01:42:04 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: คุณคิดอย่างไรกับการให้สัมปทานเอกชนเข้าไปจัดการการท่องเที่ยว 10 อุทยานแห่งชาติ  (อ่าน 61835 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #120 เมื่อ: ตุลาคม 01, 2008, 01:00:25 AM »


เครือข่ายตรังต้านรบ.ขายชาติระลอกใหม่ เตรียมแก้ กม. เปิดทางนายทุนทึ้งอุทยานฯ
 
   
หาดหยงหลิง ในอุทยานฯเจ้าไหม ที่มีธรรมชาติบริสุทธิ์งดงามถูกใจนักท่องเที่ยว  
 
       ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด และเครือข่ายชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง ค้านรัฐบาลเปิดช่องนายทุนยึดป่า-ทะเล ภายใต้แนวคิดนำร่องสัมปทานอุทยานแห่งชาติ ให้นายทุนบริหารจัดการแสวงหาผลประโยชน์นาน 30 ปี จี้ยกเลิกการปรับแก้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ฉบับปี 2504 เพื่อสนองการท่องเที่ยวและยึดที่ดินจากชุมชนดั้งเดิม ชี้เป็นตัวการอันตรายเปิดช่องแก้กฎหมายรองรับการบุกรุกพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่อุทยานแห่งชาติแถบจังหวัดอันดามันถูกนายทุนไทย-ต่างชาติรุมทึ้งผุดโรงแรมเป็นว่าเล่น
       
       รัฐบาลนอมินีของระบบทุนนิยมสามานย์ยังไม่สิ้นฤทธิ์ หลังจากที่เปิดเผยแนวคิดให้นำร่องให้สัมปทานอุทยานแห่งชาติชื่อดังของเมืองไทย 30 แห่งจากทั้งหมด 148 แห่ง แก่นายทุน เพื่อบริหารจัดการในโซนบริการนักท่องเที่ยวครบวงจร ทั้งศูนย์อาหาร ร้านขายของที่ระลึก รีสอร์ต โรงแรม โดยมีอายุสัมปทาน 30 ปี ในราคาเพียงตารางเมตรละ 30 บาทต่อเดือน แต่เอกชนขอให้ลดค่าเช่าลงเหลือตารางเมตรละ 3 บาทต่อเดือนในเวลาต่อมา พร้อมจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ขึ้นมาดูแล ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากประชาชนและนักวิชาการ แต่ก็ได้อ้างว่าจะใช้การทำประชาพิจารณ์หยั่งเสียงประชาชน
       
       เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด และเครือข่ายชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง ได้แสดงความเป็นห่วงต่อแนวคิดดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง ซึ่งเป็นที่หมายตาของกลุ่มนายทุน และจะเปิดให้เช่ารวมเนื้อที่ 1,910 ไร่ ในพื้นที่หาดฉางหลาง, หาดยาว, เกาะกระดาน, หาดหยงหลิง, หาดสั้น และเกาะมุกด์
       
       พร้อมทั้งได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนคัดค้านแนวคิดดังกล่าว เนื่องด้วยเล็งเห็นถึงผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายดังกล่าวทั้งนี้ หากปล่อยให้รัฐบาลเปิดป่าให้นายทุนหากิน และยึดพื้นที่ทำกินของคนจนเช่นนี้ ประเทศไทยต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมหาศาล จนยากที่จะฟื้นฟูกลับมาให้อุดมสมบูรณ์เช่นเดิม
       
       นอกจากนี้ จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนดั้งเดิมและเจ้าหน้าที่รัฐรุนแรงขึ้น ตลอดจนทำให้ชาวสวนและชาวประมงจำนวนมากต้องสูญเสียพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของชาติ รวมทั้งทำให้ชุมชนดั้งเดิมไม่สามารถจัดการดูแลรักษาทรัพยากรได้อย่างเดิม สิ่งเหล่านี้ขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2540, 2550 ว่าด้วยสิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชน และขัดแย้งกับปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง
       
       ดังนั้น จึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
       
       1.รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายเปิดอุทยานฯ ให้นายทุนเช่าเพื่อทำการท่องเที่ยว และยกเลิกการปรับแก้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ฉบับปี 2504 เพื่อสนองการท่องเที่ยวและยึดที่ดินจากชุมชนดั้งเดิม ตลอดจนแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดดังกล่าวต่อสังคม
       
       2.รัฐบาลและส่วนราชการต้องเคารพสิทธิชุมชน และเปิดโอกาสให้ชุมชนดั้งเดิมจัดการทรัพยากรตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ตลอดจนตั้งใจแก้ปัญหาเขตอนุรักษ์ทับซ้อนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย และยกเลิกกฎหมายและนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาดังกล่าว
       
       3.ขอให้สังคมร่วมกันตรวจสอบและผลักดัน ให้รัฐบาลยกเลิกแนวคิดเปิดป่าและทะเลให้นายทุนหากิน ตลอดจนสนับสนุนให้ชุมชนดั้งเดิมจัดการทรัพยากรและทำกินตามวิถีดั้งเดิมสืบไป
       
       ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด และเครือข่ายชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง จะร่วมกับองค์กรภาคประชาชนอื่นๆ และผู้รักความเป็นธรรมในระดับภาคใต้และระดับชาติ ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และเคลื่อนไหวตอบโต้อย่างต่อเนื่อง จนกว่ารัฐบาลจะยกเลิกนโยบายดังกล่าว
       
       ด้านแหล่งข่าวภายในเปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีการเปิดให้เช่าอุทยานแห่งชาติแล้วโดยพฤตินัย ทั้งที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาด้วยต้องรอแก้ กม.อุทยานฉบับใหม่ซึ่งกำลังรอเข้า ครม.ในเดือนหน้า โดยมีการซื้อที่ดินมากขึ้นที่รอขายให้แก่นักลงทุน ทำให้พื้นที่ป่าจังหวัดแถบอันดามันมีการรุกป่ามาก ทั้งการซื้อ-ขายที่ดินลงทุนทำโรงแรม ไม่ว่าจะเป็นนายทุนไทย-ต่างชาติ รวมทั้งดารา และบางแห่งก่อสร้างจนเปิดบริการแล้ว โดยที่อุทยานฯไม่ได้ดำเนินการอะไร
       
       ดังนั้น หากมีการแก้กฎหมายรองรับให้เอกชนใช้พื้นที่อุทยานฯได้แล้วก็เหมือนเป็นการทำผิดให้ถูก การก่อสร้างที่นายทุนดำเนินการไว้ล่วงหน้าก็สามารถเปิดบริการได้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งก็มีต่างชาติเข้ามาซื้อพื้นที่เพื่อพัฒนารองรับการท่องเที่ยวดังกล่าว



จาก                                :                             ผู้จัดการรายวัน      วันที่ 29 กันยายน 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #121 เมื่อ: ตุลาคม 02, 2008, 09:05:24 AM »


เปิดแผน "เซ้ง" พื้นที่อุทยานฯ "อันดามัน" เนื้อหอมสุดเอกชนจ้องเขมือบ

ทันทีที่พบว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีนโยบายเปิดให้เอกชนทำสัมปทานในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยอาศัยช่องตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชว่าด้วยการเข้าไปดำเนินกิจการท่องเที่ยวและพักอาศัยในอุทยานแห่งชาติ  พ.ศ.2547   นักวิชาการ นักอนุรักษ์ รวมถึงประชาชนออกมาค้านว่า การให้เอกชนเช่าอุทยานฯ จะส่งผลให้พืชพันธุ์และสัตว์ป่าหายากถูกทำลายมากขึ้น และเป็นพื้นที่ที่ไม่ควรเข้าไปลงทุนก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้าง ระบบนิเวศที่สำคัญจะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยกิจกรรมการท่องเที่ยว ปัญหามลภาวะสู่สิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นตามมา

หากแนวคิดดังกล่าวที่ถูกจุดขึ้นมาโดยเจ้ากระทรวงฯหญิง อนงค์วรรณ เทพสุทิน นำไปสู่การให้สัมปทานอุทยานแห่งชาติ โดยเฉพาะในเขตอุทยานฯทางทะเลฝั่งอันดามัน โดยไม่ได้ตระหนักถึงภาวะล่อแหลมต่อภัยคุกคาม อุทยานฯจะกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกทำลาย ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เพื่อรักษาสภาพความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมไว้

จากข่าวที่มีการอ้างว่ากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้พิจารณาพื้นที่บริการที่มีความเหมาะสม กำหนดให้เป็นเขตบริการอนุญาตให้เอกชนเข้าไปลงทุนได้นั้น เบื้องต้นมีพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติประมาณ 7 แห่ง ประกอบด้วยอุทยานฯ  หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา  อุทยานฯสิรินาถ จ.ภูเก็ต อุทยานฯเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา อุทยานฯธารโบกขรณี  จ.กระบี่  อุทยานฯหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ อุทยานฯหาดเจ้าไหม  จ.ตรัง อุทยานฯหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา อุทยานฯหมู่เกาะลันตา  จ.กระบี่ และสุดท้ายอุทยานฯตะรุเตา จ.สตูล

แค่เห็นรายชื่อแล้วก็รู้ว่าแต่ละแห่งเป็นอุทยานฯ ชื่อดัง เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ จึงเป็นพื้นที่หอมหวานสำหรับนายทุน แต่หากมีการเปิดพื้นที่ให้เอกชนเข้ามาลงทุน ความเสียหายที่ใหญ่หลวงเกินกว่าจะประเมินค่าได้ก็จะบังเกิดขึ้นอย่างไม่มีวันหวนคืน

ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ทราบข้อมูล เพราะปัจจุบันเป็นหัวหน้าโครงการจัดทำเอกสารเพื่อเตรียมเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันให้เป็นมรดกโลก ได้สำรวจข้อมูลทรัพยากรและกำลังจัดเตรียมแผนการจัดการพื้นที่เพื่อรองรับการเสนอให้เป็นมรดกโลก นอกจากนี้ยังเป็นผู้จัดทำแผนแม่บทการจัดการพื้นที่กลุ่มอุทยานมรดกอาเซียน หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน อ่าวพังงา รับรองให้ใช้เป็นแผนแม่บทฯ สำหรับใช้ในปี 2550-2559 โดยนายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ อีกด้วย

อาจารย์ศักดิ์อนันต์บอกว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ เดินหน้าสำรวจ 7 อุทยาน รวม 24 พื้นที่ให้เอกชนเช่า ทั้งหมดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังฝั่งอันดามัน ล่าสุด บริษัท บ้านปูละคอน (2550) จำกัด เสนอแผนลงทุนโรงแรมระดับ 5 ดาวที่ "อ่าวเมาะและ"    ซึ่งอยู่ที่เกาะตะรุเตา ทั้งที่ก่อนประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติตะรุเตาที่อ่าวเมาะและ เคยมีราษฎร 4 ครอบครัวทำนาทำสวนอยู่ รัฐจ่ายเงินเวนคืนค่าต้นไม้ สิ่งก่อสร้าง และให้ออกจากพื้นที่ตั้งแต่ปี 2517 ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นกรณีมีนโยบายให้เอกชนเข้าใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อจัดบริการท่องเที่ยวในวันที่ 24 ก.ย. 2551 แต่ในระดับพื้นที่กลับมีการดำเนินการสำรวจเปิดเช่าอุทยานแห่งชาติ โดยล่าสุด สรุป 7 อุทยานแห่งชาติที่มีศักยภาพเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่ได้แล้ว

จากการตรวจสอบเอกสารการประชุมคณะกรรมการอำนวยการด้านการส่งเสริมให้เอกชนเข้าร่วมบริการการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ที่มีนายวิชิต พัฒนโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นประธาน โดยการประชุมเมื่อวันที่ 8 ก.ค.2551 ได้สรุปแผนศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดเช่าอุทยานแห่งชาติ โดยแบ่งคณะทำงานเพื่อพิจารณาตามความเหมาะสมของออกเป็น 3 ชุด คือ ชุดที่ 1 ภาคใต้ ชุดที่ 2 ภาคเหนือ และชุดที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคกลาง

"สำหรับหน้าที่ของคณะทำงานดังกล่าว จะทำหน้าที่สำรวจ ตรวจสอบ วิเคราะห์ และนำเสนอรายละเอียดความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ในเขตความรับผิดชอบ พร้อมสรุปบริเวณที่จะให้เอกชนลงทุนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ" อาจารย์ศักดิ์อนันต์อธิบายให้ฟัง

สรุปว่ามีการยก 7 อุทยานฯดังให้เอกชน คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้จัดประชุมครั้งที่  2/2551 เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยนายนพดล พฤกษะวัน หัวหน้าคณะทำงานชุดที่ 1 (ภาคใต้) ได้สรุปรายละเอียดการสำรวจอุทยานฯ ภาคใต้เบื้องต้น เสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการฯ กระทั่งมีมติเลือก 7 อุทยานแห่งชาติ และกำหนดจุดบริการเพื่อการท่องเที่ยว 24 แห่ง

อาจารย์ศักดิ์อนันต์ฉายภาพให้เห็นว่า มีอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา 2 แห่งคือ เกาะตาชัย เนื้อที่ 45 ไร่ และบริเวณอ่าวงวงช้าง เกาะแปด เนื้อที่ 40 ไร่ กรมอุทยานฯ บอกว่า พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่บริการ ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนแม่บทฯ ไว้แล้ว ไม่ได้กำหนดเขตบริการใหม่ขึ้นมาแต่อย่างใด

"ในฐานะที่ผมเป็นคนเขียนแผนแม่บทอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ผมสงสัยว่า ผมไปสร้างตราบาปให้กับประเทศชาติหรือเปล่าที่ไปเขียนอย่างนั้น เปล่าเลยครับ ผมไม่ได้กำหนดเขตบริการบนเกาะตาชัยและอ่าวงวงช้างเพื่อการนั้น อย่ามองแต่แผนที่อย่างเดียวโดยไม่ได้อ่านเนื้อหาว่าเขตบริการนี้กำหนดไว้เพื่อทำกิจกรรมใด กิจกรรมใดไม่ควรทำ" เขาแย้ง

นักวิชาการคนเดิมกล่าวว่า เขียนแผนแม่บทอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันในช่วงทำแผนการจัดการอุทยานมรดกอาเซียน ตั้งใจให้อุทยานฯ ไปตั้งหน่วยพิทักษ์บนเกาะตาชัย คอยดูแลนักท่องเที่ยวที่ไปดำน้ำกับเรือ live aboard กับการป้องกันเรือประมง เขตบริการที่กำหนดเพียงเพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งได้กางเต็นท์นอนได้บ้าง โดยจำกัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีเพียงห้องน้ำกับที่พัก และเจ้าหน้าที่เท่านั้น อ่าวงวงช้าง เกาะแปดสิมิลันก็เป็นเพียงพื้นที่สำรอง ในกรณีที่หาดหน้าเกาะสี่กับอ่าวเกือก เกาะแปด มีนักท่องเที่ยวมากเกินไปในช่วง high season ก็จะให้นักท่องเที่ยวบางส่วนมากางเต็นท์นอน อาจมีเพียงห้องน้ำเท่านั้น ขอย้ำเลยว่า ทั้งสองที่นี้ยืนยันไม่ได้กำหนดไว้สำหรับให้เอกชนมาทำรีสอร์ต

อาจารย์ศักดิ์อนันต์บอกอีกว่า เกาะตาชัยและแนวปะการังรอบเกาะถือเป็นพื้นที่สงวนรักษาสภาพธรรมชาติ เป็นเกาะที่ยังคงรักษาสภาพธรรมชาติไว้ได้เป็นอย่างดี มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลสูง บริเวณเกาะตาชัยนักท่องเที่ยวจำนวนมากนิยมมาดำน้ำลึก ไม่ควรมีการพัฒนาพื้นที่บนเกาะเพื่อรองรับการพักแรมของนักท่องเที่ยว เพราะส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวเดินทางมากับเรือผู้ให้บริการดำน้ำลึก มีความพร้อมทุกด้าน ทั้งที่พัก อาหาร อุปกรณ์ดำน้ำลึก แม้ว่าแผนแม่บทฯ จะกำหนดให้พื้นที่ป่าบกและแนวปะการังรอบเกาะตาชัยเป็นเขตสงวนสภาพธรรมชาติ แต่ก็ยังกำหนดพื้นที่บางส่วนเฉพาะบริเวณที่จะจัดตั้งที่ทำการหน่วยพิทักษ์ฯ ให้เป็นเขตบริการ

"สรุปได้ว่า ทั้งอ่าวงวงช้าง เกาะแปด และเกาะตาชัย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน แผนแม่บทฯ ไม่ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับให้เอกชนมาทำที่พักอย่างแน่นอน" อาจารย์ศักดิ์อนันต์กล่าว

กรณีของอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต 3 แห่ง คือ บริเวณท่าฉัตรไชย กำหนดไว้เป็นเขตบริการเนื้อที่ 100 ไร่ หาดลายันเนื้อที่ 70 ไร่ บริเวณหัวแหลมอ่าวปอเนื้อที่ 30 ไร่ เขาก็เห็นว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เพราะที่พักบนเกาะภูเก็ตมีอยู่มากมาย  ในขณะที่หาดสาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกันอย่างเสรี เหลือเพียงที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถเท่านั้น ส่วนอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา มี 2 แห่งคือ บริเวณพื้นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ลป. 3 (ปาง) บริเวณข้างเคียง และบริเวณพื้นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ลป. 3 (ปาง) ต่อเนื่องไปทางทิศเหนือ

เขาแสดงข้อเป็นห่วงจะกระทบเต่าทะเล เนื่องจากบริเวณชายหาดของหาดท้ายเหมือง เป็นที่วางไข่ของเต่าทะเลที่สำคัญของทะเลอันดามัน ปัจจุบันพื้นที่ใกล้เคียงที่เคยเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเลได้ถูกเปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินไปจนไม่เหมาะสมสำหรับการขึ้นของเต่า เหลือเพียงหาดท้ายเหมืองและเกาะในทะเลอันดามันเท่านั้นที่ยังมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ นอกเขตอุทยานแห่งชาติก็มีที่พักของเอกชนอยู่แล้ว ควรส่งเสริมให้พักในที่พักของเอกชนนอกเขตอุทยานฯ  ถ้าต้องการที่พักที่หรูหราสะดวกสบายกว่านั้นก็ควรแนะนำให้เดินทางไปพักที่เขาหลัก

เช่นเดียวกับอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ มีเขตบริการ 4 แห่งคือ บริเวณหาดนพรัตน์ธาราเนื้อที่ 5 ไร่ ที่พักของเอกชนมีอยู่มากแล้ว อยู่ใกล้กับอ่าวนางมาก  ในขณะที่พื้นที่ที่มีความเป็นธรรมชาติมีเหลืออยู่น้อยมากแล้ว บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ 2 (สุสานหอย) เนื้อที่ 12 ไร่ พื้นที่ใกล้กับสุสานหอยมีที่พักของเอกชนอยู่มากแล้ว เดินทางอีกไม่ไกลก็ถึงอ่าวนาง ในขณะที่พื้นที่ชั้นหินด้านล่างก็เป็นแนวของซากหอยที่ต่อเนื่องกันเป็นผืนใหญ่ ไม่ควรมีการก่อสร้างใดๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชั้นหินเหล่านี้  สิ่งที่อุทยานฯควรจะทำคือ การปกป้องสุสานหอยเหล่านี้จากการเหยียบย่ำของนักท่องเที่ยว และแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

นอกจากนี้ยังมีเนื้อที่ 70 ไร่บนเกาะปอดะจุดนี้ก็น่าสนใจเป็นพื้นที่ที่กรมอุทยานฯ ได้ต่อสู้ทางคดีฟ้องร้องผู้บุกรุกพื้นที่มาตั้งแต่ปี  2530 ดำเนินการทางศาลตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงศาลฎีกา เป็นเวลาถึง 21 ปี จนชนะคดีมาแล้วถึงศาลอุทธรณ์ และกำลังจะเข้าศาลฎีกา กำลังจะพิพากษาในเดือนตุลาคมนี้

"เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญของการดำเนินคดีต่อผู้บุกรุกที่เจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ     จะต้องศึกษาเป็นแบบอย่าง   ปัจจุบันมีสวนมะพร้าว   มีบ้านพัก  9  หลัง และร้านอาหาร ยังมีเวลาที่ต้องสั่งให้รื้อถอนอีกหลายเดือน    ทำไมรัฐที่กำลังจะชนะคดีกลับนำที่นั้นมาให้เอกชนเช่าต่ออีก  ไม่รู้จะ  20 หรือ 30 ปี" อาจารย์ศักดิ์อนันต์ตั้งคำถาม

หรือแม้กระทั่งบริเวณอ่าวต้นไทร เกาะพีพีดอน ก็มีการเล็งพื้นที่ 40 ไร่บนเกาะแห่งนี้เป็นเขตบริการ ทั้งๆที่มีที่พักของเอกชนมากมาย ไม่มีความจำเป็นที่อุทยานฯ จะต้องไปสร้างที่พัก ไม่ควรอ้างว่าเป็นการหารายได้ เพราะกรมอุทยานฯ ไม่ได้มีภารกิจหลักในการหารายได้  และไม่ควรหารายได้แข่งกับภาคเอกชน แต่สิ่งที่ควรทำคือ การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ถ้าจะมีการดำเนินกิจกรรมบนเกาะพีพีดอน ควรเป็นการสร้างสื่อความรู้ จัดระเบียบกติกาการประกอบกิจกรรมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมบนเกาะและในทะเล สำหรับที่พักอาจจะทำเป็นเพียงที่กางเต็นท์รักษาสภาพความเป็นธรรมชาติก็พอ

ในอุทยานฯหาดเจ้าไหม อาจารย์ศักดิ์อนันต์เผยว่า มีแผนเพิ่มโซนท่องเที่ยวถึง 7 จุด กินพื้นที่กว่า 1,910 ไร่ ทั้งที่หาดยาว เกาะกระดาน หาดหยงหลิน หาดฉางหลาง หาดสั้น  เกาะมุกต์ เห็นว่าอุทยานฯ แห่งนี้มีปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่และความขัดแย้งกับชุมชนมานาน  อุทยานฯไม่ควรสร้างเงื่อนไขให้การทำงานปกป้องพื้นที่เกิดอุปสรรค  เจ้าหน้าที่ระดับล่างที่ป้องกันการบุกรุกป่าจะไม่มีศักดิ์ศรีไปบอกให้ชาวบ้านออกจากป่า เพราะชาวบ้านย้อนกลับได้ว่า อุทยานฯ ไล่ชาวบ้านออกแล้วให้นายทุนเข้ามา นอกจากนี้ที่พักในบริเวณใกล้เคียงก็มีมากพออยู่แล้ว น่าจะเก็บสภาพความเป็นธรรมชาติมากกว่า

ขณะที่อุทยานฯ หมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ ตามแผนมี 2 แห่งคือ เนื้อที่ 336 ไร่บนเกาะรอก เป็นเกาะในแนวน้ำลึก น้ำทะเลมีความสะอาดมาก มีแนวปะการังน้ำตื้นที่สมบูรณ์  ถือเป็นพื้นที่เปราะบางไม่เหมาะสำหรับการรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก   และสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพราะจะมีปัญหาตามมา เช่น ขยะ น้ำจืด น้ำทิ้ง มลภาวะเหล่านี้ส่งผลทำให้แนวปะการังเสื่อมโทรมได้ง่าย อีกจุดบริเวณชายหาดอ่าวไม้ไผ่ใกล้ที่ทำการอุทยานฯหมู่เกาะลันตา เนื้อที่ 26 ไร่ มีการพัฒนาที่พักจำนวนมาก อุทยานแห่งชาติไม่ควรส่งเสริมให้สร้างที่พักถาวรในเขตอุทยานฯ  ถ้าจะสร้างทำเป็นสถานที่กางเต็นท์  ห้องน้ำ  ห้องส้วม ไฟทางแค่นั้น

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล 4 จุดคือ บริเวณอ่าวจาก อ่าวเมาะและ อ่าวราชา  เกาะราวี และบริเวณอ่าวตะโละปะเหลียน เกาะราวีเขาให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันตะรุเตาเป็นเกาะที่ไม่มีประชาชนอยู่อาศัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ในอดีตเคยมีชาวบ้านเข้าไปถือครองพื้นที่จำนวนมากรวมกว่า 1,500 ราย แต่ในช่วงที่ประกาศเขตอุทยานฯได้นำชาวบ้านออกมาจนหมด หลายบริเวณกำลังอยู่ในสภาพฟื้นตัวของธรรมชาติในอดีต เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแห่งนี้ ทั้งข้าราชการ พิทักษ์ป่า และลูกจ้างชั่วคราว ต้องต่อสู้กับการลักลอบตัดไม้ การทำประมง อย่างหนักมาเป็นเวลานาน เพราะเกาะมีขนาดใหญ่ดูแลได้ยาก และยังมีผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เจ้าหน้าที่เสียชีวิต ทั้งถูกยิง ถูกทำร้าย มีผู้เสียชีวิตเรือล่มหลายครั้ง ขณะออกตรวจยังมีเหตุการณ์ที่พวกลักลอบตัดไม้ยิงเจ้าหน้าที่เสียชีวิต  ตั้งแต่จัดตั้งอุทยานแห่งชาติตะรุเตา มีเจ้าหน้าที่ตายในหน้าที่ทั้งหมดรวม 21 คน ทั้งข้าราชการและลูกจ้าง

"เขาเหล่านี้เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้ประชาชนคนไทยทุกคน จึงขอให้ผู้บริหารนึกถึงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ลูกจ้าง และข้าราชการที่เสียสละชีวิตเหล่านั้นด้วย เชื่อได้ว่าคนที่มีจิตวิญญาณการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจะไม่เห็นด้วยกับการเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าอุทยานแน่นอน"

อาจารย์ศักดิ์กล่าวอีกว่า ภาพรวมเกาะตะรุเตามีความเป็นธรรมชาติสูง ปัจจุบันมีบ้านพักทั้งแบบหลังเดี่ยวและแบบหมู่คณะ ซึ่งเหมาะสำหรับการทำกิจกรรมศึกษาธรรมชาติ ถ้านักท่องเที่ยวต้องการความสะดวกสบาย ขอให้เที่ยวในเกาะอื่นๆ ของประเทศที่มีการพัฒนาที่พักอยู่แล้ว  อย่างเกาะสมุย เกาะช้าง เกาะภูเก็ต หรือเกาะพีพี แต่ละอุทยานแห่งชาติถือเป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางมาก ดังนั้นเห็นว่าแนวคิดในการให้เอกชนเช่าอุทยานฯ นี้มันเสี่ยงเกินไป เท่ากับเปิดพื้นที่ใหม่เป็นเขตบริการและให้เอกชนเข้ามาลงทุนสร้างรีสอร์ต โรงแรมหรู และหาประโยชน์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

รตยา จันทรเพียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า แนวคิดให้เอกชนเช่าอุทยานฯมีมาตลอด 10 กว่าปีแล้ว โผล่มาเป็นระยะไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก สอดคล้องกับในตอนนี้ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ เดินหน้าจัดทำร่าง  พ.ร.บ.อุทยานฯ และ พ.ร.บ.สัตว์ป่าใหม่ โดยแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับให้ตอบสนองวัตถุประสงค์ เปิดพื้นที่ป่าเพื่อการท่องเที่ยว ต่างจากเจตนารมณ์ของกฎหมายเดิมที่ให้คุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าไม้และสัตว์ป่า เห็นว่าเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ เหมือนกับระเบียบปี   2547 ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าไปดำเนินกิจการท่องเที่ยวและพักอาศัยในอุทยานแห่งชาติ  ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่สังคมคัดค้านอยู่ในเวลานี้  ก็ยังต้องมีการถกเถียงกันว่า ระเบียบปี 2547 ที่ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการได้นั้นขัดหลักการกฎหมายอุทยานปี 2504 หรือไม่

"อยากเตือนข้าราชการ นักการเมือง ที่มีแนวคิดเปิดให้เช่าอุทยานแห่งชาติ ให้คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติ วันนี้พื้นที่ป่าเหลือน้อย ส่วนใหญ่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เหลืออยู่ 20% เท่านั้น สิ่งที่ต้องทำคือเก็บรักษาสมบัตินี้ไว้ให้เป็นมรดกของลูกหลานและประเทศชาติ ประโยชน์ที่เราจะได้รับนั้นยั่งยืนกว่าเอาอุทยานฯ ออกมาให้เอกชนเช่าหรือสัมปทาน  ซึ่งมันไม่คุ้ม" อาจารย์รตยากล่าว

และเห็นว่า การออกมาคัดค้านนโยบายของนักวิชาการ นักอนุรักษ์หลายองค์กร โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ตื่นตัวต่อปัญหานี้  เป็นพลังการเคลื่อนไหวโดยไม่ได้นัดหมาย พวกเขาเห็นตรงกันว่าต้องรักษาอุทยานฯเอาไว้ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันลงชื่อคัดคัดค้าน ซึ่งรัฐต้องรับฟังเสียงประชาชน แต่ถ้าอยากจะให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการก็ต้องมีการรวมหัวกันคิดและฟังความเห็นเป็นระยะ    โดยต้องยึดหลักการสำคัญคือ ดูแลธรรมชาติดั้งเดิมให้คงอยู่.



จาก          :            ไทยโพสต์  วันที่ 28 กันยายน 2551
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 02, 2008, 09:32:52 AM โดย สายน้ำ » บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #122 เมื่อ: ตุลาคม 02, 2008, 09:43:20 AM »


อ่านเนื้อหาของข่าวที่ อ.ศักดิ์อนันต์ ให้สัมภาษณ์ แล้วยิ่งกลุ้ม ..... ท่าทางจะเอาไม่อยู่จริงๆ  ขณะที่หลายๆคนหลายๆหน่วยงานกำลังพยายามรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอให้อุทยานหลายแห่งเป็นมรดกโลก แต่ก็มีนักการเมือง และอีกหลายหน่วยงาน พยายามที่จะเอาพื้นที่ที่เหมาะสมจะเป็นมรดกโลกเหล่านั้นไปให้เอกชนเช่าให้ได้

ถ้ามีแนวโน้มว่าจะเป็นจริงเมื่อไร  สงสัยคงต้องประท้วงกันหนักขึ้นไปอีก และ ทางหนึ่งที่สมาชิก SOS จะแสดงออกถึงความไม่เห็นชอบในเรื่องนี้ได้ คงจะเป็นการเลิกทำกิจกรรม ปล่อยหอย ปล่อยปลา เก็บขยะและตัดอวน ในเขตอุทยานฯ เปลี่ยนไปทำในเขตที่เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านทำมาหากินแทน น่าจะได้ประโยชน์และมีคุณค่ากว่าแยะเลย .... จริงมั๊ยครับ

บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
Sri_Nuan.Ray
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
กระทู้: 1808



เว็บไซต์
« ตอบ #123 เมื่อ: ตุลาคม 02, 2008, 01:29:12 PM »


อ่านเนื้อหาของข่าวที่ อ.ศักดิ์อนันต์ ให้สัมภาษณ์ แล้วยิ่งกลุ้ม ..... ท่าทางจะเอาไม่อยู่จริงๆ  ขณะที่หลายๆคนหลายๆหน่วยงานกำลังพยายามรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอให้อุทยานหลายแห่งเป็นมรดกโลก แต่ก็มีนักการเมือง และอีกหลายหน่วยงาน พยายามที่จะเอาพื้นที่ที่เหมาะสมจะเป็นมรดกโลกเหล่านั้นไปให้เอกชนเช่าให้ได้

ถ้ามีแนวโน้มว่าจะเป็นจริงเมื่อไร  สงสัยคงต้องประท้วงกันหนักขึ้นไปอีก และ ทางหนึ่งที่สมาชิก SOS จะแสดงออกถึงความไม่เห็นชอบในเรื่องนี้ได้ คงจะเป็นการเลิกทำกิจกรรม ปล่อยหอย ปล่อยปลา เก็บขยะและตัดอวน ในเขตอุทยานฯ เปลี่ยนไปทำในเขตที่เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านทำมาหากินแทน น่าจะได้ประโยชน์และมีคุณค่ากว่าแยะเลย .... จริงมั๊ยครับ


เห็นด้วยกับพี่จ๋อมค่ะ  ถ้าเป็นแบบนี้ ก็ไม่ต้องช่วยชาติแล้ว  ช่วยคนท้องถิ่น ทำมาหากินให้ถูกวิธี ยังจะดีเสียกว่า

อย่างน้อยก็ไม่ต้องเสียอารมณ์  ทำแล้วต้องหนักใจ ขนาดนี้ อนาตค คงจะต้องแจกลูกท้อ เป็นที่ระลึกสำหรับผู้มีพระคุณทุกท่าน
   
บันทึกการเข้า

~~~ หากเราหยุดนิ่ง ทุกอย่างที่ผ่านมา คือ อดีต.... ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อมันจะได้เป็นอดีตที่มีค่าแก่ ความทรงจำของเรา  ~~~
zmax
อีกไม่กี่กระทู้ก็ได้5ดาวแล้วเร่งมือหน่อย
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 361



เว็บไซต์
« ตอบ #124 เมื่อ: ตุลาคม 02, 2008, 03:18:42 PM »

รับไม่ได้อ่ะ......

ว่าแต่ผมยังไม่ได้ส่งสำเนาบัตรประชาชนเลยอ่ะ ถ้าจะส่งนี่ยังทันไม๊ครับ
บันทึกการเข้า

Defend our territory,.. Defend our sea!!
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #125 เมื่อ: ตุลาคม 06, 2008, 12:49:37 AM »


อุทยานฯให้เช่า เพื่อเขา เพื่อเรา เพื่อใคร



เขาใหญ่อุทยานแห่งชาติและหนึ่งในมรดกโลกของไทย 
 
       “ในนี้เขียนมาให้ข้าพเจ้าทราบว่าเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2551 ท่านนายกรัฐมนตรีได้จัดให้มีบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกองทัพบก พ.ศ.2551 โดยผู้บัญชาการทหารบก กับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามร่วมกันที่ทำเนียบรัฐบาล ใจความสำคัญที่น่าชื่นใจคือ ทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกันทุกวิถีทางในการอนุรักษ์ป่าไม้ ซึ่งก็คือแหล่งน้ำของเมืองไทย ข้าพเจ้าจึงรู้สึกซาบซึ้งขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี กองทัพบก กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้าพเจ้าขอเอาใจช่วย และจะได้เฝ้ารอดูความเจริญเติบโตของป่าไม้ในเมืองไทยต่อไป”
       
       ความหนึ่ง จาก พระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2551

       
       เปิดแผนเช่าอุทยานแห่งชาติ
       
       จากกรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) โดยนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีนโยบายเปิดสัมปทานให้เอกชนเข้ามาดำเนินการโรงแรมและที่พักในเขตพื้นที่บริการ 10 แห่ง

   
กางเต็นท์นอนบนเกาะไม้ไผ่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา  
 
       ประกอบด้วย 1.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2.อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง 3.อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 4.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 5.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ 6.อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 7.อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย 8.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 9.อุทยานแห่งชาติเอราวัณ 10.อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก เป็นเวลา 30 ปี รวมทั้งการให้บริการท่องเที่ยว โดยอ้างว่าเพื่อจะนำรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์มาช่วยเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งดีกว่าปล่อยให้เสื่อมโทรมและถูกบุกรุกนั้น
       
       ได้เป็นการจุดประเด็นสร้างกระแสให้หมู่คนรักธรรมชาติและผู้ที่ห่วงใยตลอดจนถึงประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก ด้วยกลัวว่าสิ่งที่ภาครัฐกำลังคิดริเริ่มจะทำนั้น จะเป็นการนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมที่ไวกว่าปกติเสียมากกว่าผลประโยชน์ด้านการอนุรักษ์ เพราะไม่เชื่อใจในการเข้ามาของภาคเอกชน ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าการสร้างรีสอร์ทในอุทยานแห่งชาติไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน
       
       สำหรับคนรักธรรมชาติแล้วก็ได้พากันออกมาต่อต้านความคิดนี้กันเป็นวงกว้างทีเดียว บางคนถึงกันตั้งข้อสังเกตว่า งานครั้งนี้เป็นกลลวงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป้าหมายที่แท้จริงไม่น่าจะอยู่ที่อุทยานแห่งชาติทั้ง10 แห่งที่ประกาศออกมาในเบื้องต้น แต่เป้าหมายจริงๆอยู่ที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลที่มีผลประโยชน์มหาศาลมากกว่า ซึ่งหากลงทุนไปแน่นอนว่าคุ้มค่าได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

   
พระอาทิตย์เหนือเขื่อนแก่งกระจาน (ภาพ : ททท.) 
 
       ซึ่งล่าสุดก็มีกระแสข่าวเผยโฉม อุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ว่ากันว่าเป็นเป้าหมายที่แท้จริงออกมาแล้วว่า มีด้วยกันทั้งหมด 7 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งก็ล้วนเป็นสุดยอดแห่งท้องทะเลอันดามันทั้งสิ้น ได้แก่ 1. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา 2 แห่ง คือ เกาะตาชัย เนื้อที่ 45 ไร่ บริเวณอ่าวงวงช้าง เกาะแปด พื้นที่ 40 ไร่
       
       2. อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต 3 แห่ง คือ บริเวณท่าฉัตรไชย หาดลายัน เนื้อที่ 70 ไร่ บริเวณหัวแหลมอ่าวปอ เนื้อที่ 30 ไร่ 3. อุทยานแห่งชาติเขาลำปี - หาดท้ายเหมือง จ.พังงา มี 2 แห่งคือ บริเวณพื้นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ลป. 3 (ปาง) และบริเวณข้างเคียง และบริเวณพื้นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ลป. 3 (ปาง) ต่อเนื่องไปทางทิศเหนือ
       
       4. อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ มี 4 แห่งคือ บริเวณหาดนพรัตนธารา เนื้อที่ 5 ไร่ บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ 2 (สุสานหอย) เนื้อที่ 12 ไร่ บริเวณที่ราบเกาะปอดะใน เนื้อที่ 70 ไร่ และบริเวณอ่าวต้นไทร เกาะพีพีดอน เนื้อที่ 40 ไร่
       
       5. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง รวมพื้นที่ 7 แห่งรวมเนื้อที่ทั้งหมด 1,910 ไร่ ได้แก่ บริเวณที่ทำการอุทยาน (หาดฉางหลาง) เนื้อที่ 809 ไร่ บริเวณหาดยาว เนื้อที่ 440 ไร่ บริเวณเกาะกระดาน เนื้อที่ 118 ไร่ บริเวณหาดหยงหลิน เนื้อที่ 53 ไร่ บริเวณหาดฉางหลาง (เพิ่มเติม) เนื้อที่ 179 ไร่ บริเวณหาดสั้น เนื้อที่ 162 ไร่ และบริเวณเกาะมุกต์เนื้อที่ 149 ไร่
       
       6. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ 2 แห่งคือ พื้นที่ตั้งอุทยานแห่งชาติ 1 (เกาะรอก) เนื้อที่ 336 ไร่ บริเวณชายหาดอ่าวไม้ไผ่ ใกล้จุดที่ทำการอุทยานฯ ลันตา เนื้อที่ 26 ไร่
       
       7. อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล 4 จุด คือ บริเวณอ่าวจาก เกาะตะรุเตา เนื้อที่ 80 ไร่ อ่าวเมาะและ เกาะตะรุเตา เนื้อที่ 40 ไร่ บริเวณอ่าวราชา เกาะราวี เนื้อที่ 30 ไร่ บริเวณอ่าวตะโละปะเหลียน เกาะราวี เนื้อที่ 60 ไร่

   
กวางป่าออกหากินที่เขาใหญ่(ภาพ: ททท.)  
 
       อีกทั้งยังมีกระแสข่าวเปิดเผยว่าขณะนี้ ทางบริษัทบ้านปูละคร ได้เสนอแผนลงทุนโรงแรม 5 ดาว ที่ "อ่าวเมาะ" และ "เกาะตะรุเตา” โดยบริษัทบ้านปูละคร (2550) จำกัด ที่ได้เสนอแผนวิเคราะห์การลงทุนพัฒนาโรงแรมระดับห้าดาวจำนวน 140 ห้อง บนพื้นที่อ่าวเมาะและ
       
       แต่ที่ประชุมยังเห็นว่าเอกสารยังไม่ครบถ้วนตามระเบียบว่าด้วยการอนุญาตพ.ร.บ. ปี 2547 จึงไม่พิจารณา และให้นำเรื่องกลับไปพิจารณาโดยละเอียดว่าไม่ครบถ้วนในประเด็นใดบ้าง และให้นำเสนอเป็นเอกสารมาอีกครั้ง (ให้ตีเรื่องกลับไปแต่ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ผ่านหรือไม่อนุญาตให้เช่า)
       
       อีกทั้งมีข่าวแว่วๆมาว่า ร้านอาหารฟาดฟู้ดชื่อดัง สนใจจะตั้งสาขาในอุทยานหลายแห่ง เมื่อมีนักข่าวสอบถามไปถามไปยังนายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ปัจจุบันหมดวาระแล้วละมีอธิบดีคนใหม่คือ นายอุภัย วายุพัฒน์) ถึงกรณีที่มีข่าวว่า ร้านอาหารฟาดฟู้ดชื่อดังได้ทำการติดต่อขอเช่าพื้นที่ในอุทยานฯทั่วประเทศเพื่อขอตั้งร้านในอุทยานแห่งชาติ ภายหลังจากทราบว่า ร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯฉบับใหม่จะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าไปเช่าพื้นที่ขายของ และทำรีสอร์ทได้ จริงหรือไม่
       
       นายเฉลิมศักดิ์ก็ไม่ได้ปฏิเสธแต่อย่างใด กล่าวว่า หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ผ่านความเห็นชอบ เอกชนทุกรายมีสิทธิเข้ามาดำเนินการได้ทั้งสิ้น และตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผู้มีอำนาจในการอนุมัติให้เอกชนมาเช่าอุทยานนั้น คือรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว

       
       การบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
       
       แน่นอนว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างพอสมควรและคงกว้างมากพอ ที่จะทำให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงฯเต้นได้ เพราะไม่นานหลังจากเรื่องนี้ได้กลายเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเองก็ได้จัดเวทีสาธารณะขึ้น ซึ่งผ่านพ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารกริต สามะพุทธิ กรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการเปิดรับฟังกระแสความคิดเห็นจากผู้คนในสังคมอย่างรอบด้าน

   
ป่าดงดิบดอยอินทนนท์ (ภาพ:ททท.)
 
       แม้หลายคนที่มาร่วมงานจะออกแนวมึนงงกันบ้างว่า การจัดงานดังกล่าวบอกกล่าวได้กระชั้นชิดและไม่มีรายละเอียดที่ถี่ถ้วน ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่และมีคนหมู่มากให้ความสนใจ แต่การจัดงานครั้งนี้ก็ยังถือว่าประสบความสำเร็จ
       
       เพราะค่อนข้างได้รับความสนใจจากภาคประชาชน และกลุ่มนักอนุรักษ์หลายองค์กร ที่เดินทางมาเข้ายื่นหนังสือ และแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนในอุทยานแห่งชาติ กลุ่มคนที่เข้ามายื่นหนังสือส่วนใหญ่มองว่ามีความเป็นห่วงต่อทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อุทยาน และไม่มั่นใจว่ารัฐจะสามารถควบคุมเอกชนได้จริง
       
       นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มาเป็นประธานเปิดงานกล่าวถึงกระแสข่าวของ 7 อุทยานทางฝั่งอันดามันว่า เรื่องการที่ กรมอุทยานแห่งชาติฯได้กำหนดพื้นที่เขตบริการในอุทยานแห่งชาติทางฝั่งอันดามันทั้ง 7 แห่ง นั้น ไม่เป็นความจริง
       
       เพราะขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนในอุทยานแห่งชาติได้หรือไม่ ที่ผ่านมามีเพียงแนวคิดจากคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่อยากให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเพราะเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ แต่ยังไม่ได้มีการสรุปหรือทำอะไรทั้งสิ้น

   
อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมแห่งท้องทะเลตรัง 
 
       ทางด้านนายวิชิต พัฒนโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ในฐานะประธานคณะทำงานฯเต็งหนึ่งโต้โผแนวคิดนี้ ได้กล่าวอธิบายถึงสาเหตุที่ต้องการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในอุทยานฯว่า เป็นเพราะแนวโน้มนักท่องเที่ยวมากขึ้น
       
       จากสถิติในช่วงปี 2550 มีนักท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 14 ล้านคน และปี 51 มี 12 ล้านคน ขณะที่อช.มีแค่ 101 แห่ง และรองรับนักท่องเที่ยวได้ 4,000 คนเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวกางเต้นท์ ทำให้เกิดปัญหาความแออัดในแหล่งท่องเที่ยว และที่พักที่ไม่เพียงพอ
       
       ด้วยความสงสารนักท่องเที่ยว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการนำระเบียบการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าไปดำเนินกิจการท่องเที่ยวและพักอาศัยในอุทยานปีพ.ศ.2547 ขึ้นมาทบทวนอีกครั้ง ว่าจะกำหนดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการได้หรือไม่
       
       ทั้งนี้ได้มีการหยิบยกอ้างว่าในต่างประเทศก็มีอุทยานฯที่ให้ภาคเอกชนเข้ามาดูแลและประสบความสำเร็จ พร้อมทั้งได้ทั้งคำถามไว้ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานเก็บไปขบคิดด้วยว่า การเปิดให้เอกชนเข้ามามีเอี่ยวกับอุทยานฯ 1.จริงหรือ ที่จะขายอุทยานแห่งชาติให้แก่นายทุน? 2.จริงหรือที่เอกชนเข้าร่วมบริการ พื้นที่อุทยานแล้วจะเป็นการทำลายธรรมชาติ 3.อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดในการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้อย่างชาญฉลาด

   
นักท่องเที่ยวเพลินใจริมหาดบนเกาะตะรุเตา
 
 
       หลากความเห็น
       
       แน่นอนว่าเรื่องนี้มีผู้แสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย เราลองมาฟังความคิดเห็นบางส่วนจากผู้คนหลายภาคส่วนกันบ้างว่า พวกเขาคิดเห็นอย่างไรเพื่อท่านผู้อ่านจะได้เก็บเอาไปคิดประกอบการตัดสินใจว่า อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของอุทยานฯไทยที่มีเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่
       
       นักวิชาการอย่าง ศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติพยายามจะส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาทำที่พักในอุทยานโดยอ้างว่าต่างประเทศก็ทำกัน ไม่เป็นความจริง เพราะตอนนี้แม้แต่ที่เกาะสิปาตัน มาเลเซีย ยังนำรีสอร์ทจำนวน 6 แห่ง ออกจากพื้นที่เพราะปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเสียหาย
       
       สวนทางกับประเทศไทย ที่มีแผนนำเอาเกาะทางอันดามัน แหล่งปะการังดีที่สุดติดอันดับ 1 ใน10 ของโลก โดยเฉพาะที่เกาะสุรินทร์ สิมิลัน เกาะรอก ไปสร้างที่พักบนเกาะถือเป็นความเสี่ยงอย่างมาก เพราะแม้แต่โรงแรมรอบอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ก็มีกระแสข่าวโรงแรมปล่อยน้ำเสียลงทะเลจนปะการังเสื่อมโทรม เมื่อหลายปีก่อน
       
       “ถ้าจะทำจริงๆ ต้องกำหนดเรื่องนับคนเพื่อจำกัดการท่องเที่ยวจะนับพนักงานที่พักด้วยหรือไม่ โรงแรมที่พักทุกกรณีจะต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ เพราะพื้นที่อุทยานอ่อนไหวมาก ที่สำคัญวิธีการคัดเลือกภาคเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการใครจะเป็นคนกำหนด รวมทั้งการตรวจสอบประเมิน และความรับผิดชอบหากเกิดปัญหาความเสียหายขึ้น”ศ.ดร.ธรณ์ตั้งข้อสังเกต

   
ใต้ท้องทะเลเกาะลันตา 
 
       ด้าน ผศ.สุรเชษฐ์ เชษมาส จากคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทุกวันนี้กรมอุทยานแห่งชาติให้ความสำคัญเรื่องการท่องเที่ยวมากเกินไปหรือเปล่า หากรัฐจะให้สัมปทานเอกชนอย่างที่เป็นข่าว กรมอุทยานฯควรต้องมีความชัดเจนเรื่องสถานะของตัวเองและมีภาพลักษณ์ในแต่ละอุทยานก่อน อีกทั้งควรนำร่องอย่างละหนึ่ง แห่งคือทางบกหนึ่ง ทางทะเลหนึ่ง เพื่อนำร่อง แต่ต้องโปร่งใสเรื่องวิธีการคัดเลือก การติดตามประเมิน และนำบทเรียนการให้สัมปทานในอดีตมาใช้ด้วย
       
       ส่วน ผ่อง เล่งอี้ อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ผู้ก่อตั้งอุทยานแห่งชาติ ผู้ใหญ่แห่งวงการป่าไม้ กล่าวเตือนสติว่า คนที่มีจิตวิญญาณอนุรักษ์จะไม่เห็นด้วยกับการเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าอุทยานแน่นอน ให้นึกถึงวีรชนที่เสียสละชีวิตเพื่อผืนป่าด้วย
       
       พร้อมทั้งยกตัวอย่างที่ผิดพลาดบทเรียนในอดีตเคยมีมา คือยอมให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ขึ้นไปบริหารบนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีทั้งโรงแรม สนามกอล์ฟ ซึ่งต้องใช้ความพยายามกันอย่างมาก เพื่อจะเอาสิ่งเหล่านั้นออกมาจากพื้นที่อุทยานฯเนื่องจากเกิดผลกระทบกับพื้นที่ป่าไม้ แต่วันนี้ เรากำลังจะบอกว่า เราต้องการนำสิ่งเหล่านี้กลับขึ้นไป จึงอยากถามว่า ถูกต้องหรือไม่

   
สิ่งปลูกสร้างบนเกาะพีพี 
 
       " ผมอยากเตือนว่า ให้คำนึงถึงความล้มเหลวทีผ่านมา มีบทเรียนไม่ใช่ว่า เราไม่มี เมื่อ ปี 2510 เราพูดเรื่องสัมปทานป่าไม้ให้เอกชน เหมือนวันนี้ที่เราพูดเรื่องให้เอกชนเข้ามาสัมปทานพื้นที่อุทยานฯแห่งชาติด้วยแนวคิดเดียวกัน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าแนวคิดล้มเหลว ป่าไม้เกือบหมดประเทศในขณะนี้ เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่าแนวคิดนี้มันเสี่ยงเกินไป ละเอียดอ่อนเกินไป และผมไม่แน่ใจนิสัยของคนไทยจะควบคุมได้มากแค่ไหน และทำตามกฎหมายหรือไม่ คนที่จะดำเนินการเรื่องนี้ จึงเสี่ยงอย่างมากกับผลกระทบที่ตามมา" พี่ใหญ่แห่งวงการป่าไม้กล่าว
       
       ด้าน นายนพรัตน์ นาคสถิตย์ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร หนึ่งในนักอนุรักษ์ที่ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับสืบ นาคะเสถียร กล่าวว่า ตอนสมัยที่ทำงานก็มีคำของกรมอุทยานว่า Park For People แต่หลังจากลาออกไปได้สองปี ประมวลไปประมวลมากลายเป็น “Park For Sele” พร้อมทั้งตั้งคำถามต่อกรมอุทยานฯ ว่าวันนี้เราเปลี่ยนปรัชญาเป็น Park For Sale แล้วใช่หรือไม่

   
ทางเดินเข้าสู่เกาะพีพี 
 
       แม้ ณ วันนี้เรื่องนี้จะยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะแว่วมาว่ายังจะต้องมีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อเปิดระดมความคิดเห็นกันอีกหลายครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด แต่ก็ไม่อยากให้นิ่งนอนใจกันเพราะผืนป่าและท้องน้ำทะเลไทยเป็นสมบัติของแผ่นดินที่ทุกคนในชาติ ต้องหวงแหนรักษาไว้อย่าปล่อยให้ถูกทำลายด้วยคนเพียงหยิบมือ เพราะอุทยานแห่งชาติเป็นของเราทุกคน
       
       ดังความหนึ่งของพระราชเสาวนีย์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เมื่อ วันที่12 สิงหาคม พ.ศ.2551 ความหนึ่งว่า
       
       “เพราะฉะนั้นทำไมเราไม่รู้จักเก็บป่าไม้ที่เป็นแหล่งสะสมน้ำไว้ให้ดี อย่าพากันไปตัดคนละหนุบคนละหนับ ความจริงป่าไม้ก็เป็นของคนไทยทั้งชาติ เป็นผลประโยชน์ของคนไทยทั้งชาติ ไม่มีสิทธิ์ที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเข้าไปตัด และจะทำการค้าแต่ลำพัง ต่อไปถ้าประเทศไทยขาดน้ำจะทำอย่างไร เพราะเราก็ไม่ใช่ประเทศร่ำรวย”




จาก                         :                         ผู้จัดการออนไลน์      วันที่ 6 ตุลาคม 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #126 เมื่อ: ตุลาคม 07, 2008, 01:48:09 AM »


สัมปทานอุทยานแห่งชาติจุดยืนอย่างไร???


จากกรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแนวคิดจะนำอุทยานแห่งชาติจำนวน 10 แห่ง เปิดให้ภาคเอกชนเช่าทำบ้านพักภายในอุทยานเป็นระยะเวลา 30 ปี ยังเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันอยู่ว่า เหมาะสมและเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ท่ามกลางเสียงคัดค้านของนักวิชาการ นักอนุรักษ์ และประชาชนที่หวงแหนธรรมชาติ! ทำให้เจ้ากระทรวงอย่าง นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ต้องออกมาประกาศว่า “เรื่องดังกล่าวเป็นแค่แนวคิด ยังไม่มีข้อสรุปและอยากให้ทุกคนเป็นห่วงเรื่องนี้บนพื้นฐานความเข้าใจเดียวกัน”

ทั้งนี้ ที่มาของแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนบุคลากรและความเป็นมืออาชีพในการจัดการท่องเที่ยว ดังนั้น การให้มืออาชีพ เข้ามาจัดการน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด พร้อมยืนยันกรอบกติกาที่กรมอุทยานฯ ทำขึ้นมา จะปกป้องไม่ไห้เกิดความเสียหายต่อธรรมชาติ รวมทั้ง มีกระบวนการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ! นั่นคือ แนวทางของกรมอุทยานฯ ได้กำหนดว่า ระยะเวลาดำเนินการเกี่ยวกับการขออนุญาตก่อสร้างที่พักอาศัยไม่เกิน 15 ปี สำหรับพื้นที่ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร,ไม่เกิน 15 ปี สำหรับพื้นที่เกินกว่า 2,000 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 8,000 ตารางเมตร และไม่เกิน 30 ปีสำหรับพื้นที่เกินกว่า 8,000 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 32,000 ตารางเมตร

กรณีการขออนุญาตเพื่อนักลงทุนรายใหญ่ สำหรับพื้นที่เกินกว่า 8,000 ตารางเมตร แบ่งการทำสัญญาออกเป็นระยะที่ 1 กำหนด 10 ปี ทั้งนี้ จะให้เจ้าหน้าที่รัฐ มีความยืดหยุ่น เพิ่มความสามารถในการควบคุมคุณภาพ การบริการ และเงื่อนไขการดำเนินการตามความเหมาะสม ส่วนระยะ 10 ปีขึ้นไป การพิจารณาการอนุญาตนั้น จะต้องเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม คือไม่สั้นและยาวเกินไป และให้การประเมินผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขของการอนุญาตทุกๆ ปี หากพบว่า ทำผิดเงื่อนไข หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการจัดการขยะ กำหนดเพิ่มค่าบริการ โดยไม่ขออนุญาต กรมอุทยานฯ ก็จำเป็นต้องยกเลิกใบอนุญาต ไม่ให้ดำเนินการต่อไป และสิ่งปลูกสร้างจะตกเป็นของรัฐ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักวิชาการหลายคนแสดงความเป็นห่วงก็คือ ความชัดเจนในการที่กรมอุทยานฯ ตัดสินใจให้เอกชนเข้าไปบริหารในพื้นที่อุทยาน เกี่ยวกับระบบคัดเลือกเอกชนเข้าไปบริหาร จำเป็นที่จะต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในพื้นที่นั้นหรือไม่ รวมถึงความชัดเจนในระบบตรวจสอบและการควบคุมลงโทษ เพราะหากไม่ชัดเจน ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อพื้นที่ธรรมชาติที่เป็นสมบัติของคนไทย หากกรมอุทยานฯ อยากจะลองให้เอกชนเข้ามาบริหาร เสนอว่าควรเลือกพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงต่อทรัพยากรน้อยไปนำร่องแทน แต่ต้องไม่ใช่หมู่เกาะสุรินทร์หรือสิมิลันที่สวยงามที่สุดในประเทศและมีชื่อเสียงติดอันดับโลก

แม้ล่าสุด ความคืบหน้าเรื่องนี้ จะได้รับการยืนยันจากนายอุภัย วายุพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช คนใหม่ ว่า "แนวคิดเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถึงแม้จะมีระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าไปดำเนินกิจการท่องเที่ยวและพักอาศัยในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ที่ให้อำนาจกับอธิบดีกรมอุทยานฯ เป็นผู้อนุญาตในกิจกรรม 3 ลักษณะ คือ การขายอาหาร ของที่ระลึก กิจกรรมการท่องเที่ยว และเรื่องการสร้างที่พักอาศัยหรือรีสอร์ท ซึ่งเป็นสาเหตุของการคัดค้านในช่วงที่ผ่านมา โดยขอเอาตำแหน่งเป็นประกันว่าในยุคนี้ จะไม่มีนโยบายให้เอกชนไปลงทุนเรื่องที่พักอย่างเด็ดขาด!!! "

ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า บทสรุปเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หากถึงเวลาที่ต้องนำมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง ก็อยากฝากให้ผู้เกี่ยวข้อง คำนึงถึงเรื่องการปกป้องอนุรักษ์ ดูแลรักษาธรรมชาติ ก่อนเป็นอันดับแรก มากกว่าตัวเลขรายได้ทางเศรษฐกิจ และกำหนดภาพรวมของการท่องเที่ยวในอุทยานให้ชัดเจนว่า ควรจะชี้ไปในทิศทางใด



จาก                         :                         สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์      วันที่ 7 ตุลาคม 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
myjoefiend
ได้2ดาวแล้วพยายามอีกหน่อยจะได้สอย3ดาว
**
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 63



เว็บไซต์
« ตอบ #127 เมื่อ: ตุลาคม 10, 2008, 12:34:16 PM »

  อย่าทำอย่างนั้นเลย ปล่อยให้มันเป็นธรรมชาติอย่างนี้ดีแล้ว เดี๋ยวป่าไม้สัตว์ป่าหายหมด สงสารเด็กไทยในอนาคตบ้างเถอะ
บันทึกการเข้า

มุ่งไปอย่างใจหวัง ไปกันกับเพื่อนคู่ชีพและคนรู้ใจ
2.5 MEGACAB GL.
http://www.thaitritonclub.com
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #128 เมื่อ: ตุลาคม 14, 2008, 01:05:50 AM »

ไม่ทราบเหมือนกันว่า เรื่องมันจะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ แต่กลิ่นมันตุๆนะ ..... ผมว่า มันเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะดึงพื้นที่ดังกล่าวออกจากเขตอุทยาน เพื่อที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ ..... สงสาร หน.อุทยาน ถ้าคัดค้านก็คงถูกย้ายเหมือนคนก่อนๆ

ลองอ่านดูนะครับ




ขอกันป่า 2.7 หมื่นไร่พ้นอุทยานฯทองผาภูมิ

รายงานข่าวจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้รับหนังสือจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เรื่องขอกันพื้นที่ 27,500 ไร่ ออกจากอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ โดยให้เหตุผล ดังนี้

1.เป็นพื้นที่ชุมชนอาศัยอยู่
2.ผ่านการใช้ประโยชน์มาแล้ว จึงเป็นป่าไม้สมบูรณ์
3.เหมาะกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณเหมืองแร่ร้าง และการปลูกไม้เมืองหนาว เพื่อส่งเสริมรายได้ให้กับชาวบ้าน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าวสร้างความหนักใจให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่อย่างมาก เนื่องจากเห็นว่าสภาพป่าไม้ยังสมบูรณ์ มีสัตว์ขนาดใหญ่จำนวนมากอาศัยอยู่ แต่ถ้าไม่สนับสนุนการกันพื้นที่ อาจถูกย้ายเหมือนหัวหน้าอุทยานฯก่อนหน้านี้

ข่าวแจ้งอีกว่า การขอกันพื้นที่ 27,500 ไร่ ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังนายวิวัฒน์ นิติกาญจนา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ ทส. ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชาชน ไปตรวจพื้นที่ร่วมกับคณะทำงานของนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการ ทส.เพื่อติดตามปัญหาเหมืองแร่คลิตี้ และได้ไปตรวจอุทยานฯทองผาภูมิ ในพื้นที่เหมืองปิล๊อก บ้านอีต่อง ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ ซึ่งเป็นบริเวณที่จะขอกันออกจากอุทยานฯ พื้นที่ดังกล่าวอากาศหนาวเย็นเกือบทั้งปี เหมาะกับการทำธุรกิจท่องเที่ยว

ด้านนายอุภัย วายุพัฒน์ กล่าวว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดของหนังสือขอกันพื้นที่อุทยานฯทองผาภูมิ ขอตรวจสอบและดูเหตุผลความจำเป็นก่อน ยังไม่ทราบว่าเป็นความต้องการของชาวบ้านหรือไม่ หรือเป็นความต้องการจากท้องถิ่น



จาก                :                  มติชนออนไลน์      วันที่ 14 ตุลาคม 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #129 เมื่อ: ตุลาคม 14, 2008, 01:23:05 AM »


เผยขอกันกว่า2 หมื่นไร่จากอุทยานทองผาภูมิ



รายงานระบุ มีหนังสือยื่นขอกันพื้นที่ออกจากอุทยานทองผาภูมิ 27,500 ไร่อ้างชุมชนอาศัยอยู่ ป่าไม่สมบูรณ์ เหมาะท่องเที่ยว แต่ความจริงสัตว์ใหญ่อยู่มาก ทั้งเสือ ช้าง เลียงผา หมี

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ว่าเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้รับหนังสือจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3(บ้านโป่ง) เรื่องการขอกันพื้นที่ 27,500 ไร่ออกจากอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบ้านห้วยเขย่ง และป่าเขาช้างเผือก อ.ทองผาภูมิ และอ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี พื้นที่ประมาณ 700,000 ไร่ และเป็น 1 ใน 38 แห่งของอุทยานที่อยู่ระหว่างการเตรียมการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเพิ่มเติม ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 พฤษภาคม 2543 

ซึ่งที่ก่อนหน้านี้ นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้มอบนโยบายเร่งด่วนให้กับนายอุภัย วายุพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานฯ คนใหม่ที่มารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมาให้เร่งรัดประกาศอุทยานเตรียมการทั้ง 38 แห่ง เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์

 แหล่งข่าวจากกระทรวงทรัพยากรฯ ระบุว่าการขอกันพื้นที่ 27,500 ไร่ ออกจากอุทยานเตรียมการทองผาภูมิครั้งนี้ สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา เลขานุการรมว.ทส. ซึ่งเป็นส.ส.ราชบุรี ได้เดินทางไปตรวจพื้นที่ร่วมกับคณะทำงานของ นางอนงค์วรรณ เพื่อติดตามปัญหาเหมืองแร่คลิตี้ เมื่อช่วง 2 เดือนก่อน และได้เดินทางไปตรวจอุทยานทองผาภูมิ บริเวณพื้นที่บ้านอีต่อง ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ ซึ่งในอดีตเคยเป็นพื้นที่สัมปานเหมืองแร่ปิล๊อก ในเขต อ.ทองผาภูมิ

แต่เมื่อหลายปีก่อนกรมอุทยานฯ ได้สำรวจพื้นที่ประกาศเป็นอุทยานแห่งใหม่ รวมทั้งได้กันพื้นที่จำนวน 5,000 ไร่ที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ออกไปเรียบร้อยแล้ว และเพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ตรวจสอบความถูกต้องของพื้นที่ รวมทั้งการพิมพ์แผนที่แนบท้ายกฤษฎีกา เมื่อปี 2550 โดยเหลือเพียงขั้นตอนส่งกลับให้กับคณะรัฐมนตรีอีกรอบหนึ่ง ก่อนที่จะนำทูลเกล้าเสนอประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ขอกันพื้นที่ออกจากอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ 27,500 ไร่นั้น ได้ระบุเหตุผลว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ชุมชนอาศัยอยู่ และผ่านการใช้ประโยชน์มาแล้ว เป็นป่าไม่สมบูรณ์ และเหมาะกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณเหมืองแร่ร้าง และการปลูกไม้เมืองหนาว รวมทั้งการส่งเสริมรายได้ให้กับชาวบ้าน และลดความขัดแย้งในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การขอกันพื้นที่ดังกล่าวได้สร้างความหนักใจให้กับเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่อย่างมาก  ทำให้ก่อนหน้านี้มีการย้ายหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ออกจากพื้นที่ เพราะดำเนินการกันพื้นที่ล่าช้า

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับพื้นที่ดังกล่าว ถือว่ายังมีสภาพป่าระบบเดิมที่สมบูรณ์ ทำให้มีสัตว์ขนาดใหญ่อาศัยอยู่จำนวนมาก อาทิ เสือโคร่ง และช้าง เลียงผา หมี หมาไน และอื่นๆอาศัยอยู่ เนื่องจากเป็นป่าผืนเดียวกับชายแดนไทย-พม่าในฝั่งตะวันตก และติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และอุทยานแห่งชาติเขาแหลม และอุทยานไทรโยค ประกอบพื้นที่มีลักษณะเป็นหุบเขา และอยู่จากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-1,249 เมตรทำให้มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี  ทำให้เหมาะกับการนำไปสร้างที่พักและพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ อีกทั้งยังมีการตัดถนนเข้าถึงพื้นที่อุทยานแล้วด้วย อย่างไรก็ตาม หากต้องมีการกันพื้นทีดังกล่าวออก เท่ากับว่าต้องมาเริ่มต้นกระบวนการใหม่ทั้งหมด   

ด้านนายอุภัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดของหนังสือเรื่องขอกันพื้นที่อุทยานทองผาภูมิ ทั้งนี้ขอตรวจสอบและดูเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องกันพื้นที่จำนวน 27,500 ไร่ก่อน ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเป็นความต้องการของชาวบ้านหรือไม่ เพราะการประกาศอุทยานฯอาจจะไปกระทบวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เคยอยู่มาก่อน หรือเป็นความต้องการจากอบต.ในท้องที่นั้น ซึ่งทั้งหมดต้องมีชื่อและมีลายลักษณ์อักษณที่ชัดเจน  ก็คงต้องฟังและอาจทบทวนรายละเอียดกันใหม่ก็ได้

เมื่อถามว่าจะสวนทางกับนโยบายเร่งประกาศอุทยานใหม่เพิ่มเติมหรือไม่ นายอุภัย กล่าวว่า  ยังไม่ทราบว่าอุทยานทองผาภูมิเป็น 1 ใน 17 อุทยานเร่งด่วนที่จะประกาศในเร็วๆ นี้ หรืออยู่ใน 1 ของ 38 แห่ง ต้องดูรายละเอียดที่ถูกต้องก่อน ยังไม่ขอพูดอะไรมาก ขอตรวจสอบจากหนังสืออและเหตุผลที่ทางสำนักพื้นที่อนุรักษ์ฯส่งมาให้อีกครั้ง



จาก                :                กรุงเทพธุรกิจ      วันที่ 14 ตุลาคม 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายชล
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8186


Saaychol


« ตอบ #130 เมื่อ: ตุลาคม 14, 2008, 05:35:35 AM »



มาอีกแล้ว.....ขอกันดื้อๆ อย่างน่าละอายใจแทน.....

ยิ่งป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าหายากมากมาย ก็สมควรจะอนุรักษ์แบบถนุถนอมไม่ให้บอบช้ำ  นี่กลับพูดง่ายๆจะเปิดป่าให้คนเข้าไปวุ่นวายขายปลาช่อนกันในป่าซะนี่

ท่านอธิบดีอย่าไปยอมนะคะ...  
บันทึกการเข้า

Saaychol
ดอกปีบ
อีกไม่กี่กระทู้ก็ได้5ดาวแล้วเร่งมือหน่อย
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 316


If we see the hearts of others, peace will follow


« ตอบ #131 เมื่อ: ตุลาคม 16, 2008, 02:33:23 AM »

ไม่ไหวๆ 

มีช่องทางไหน พี่ท่านจ้องจะเขมือบหมด 
บันทึกการเข้า
chickykai
สี่ดาวยังอยู่แค่เอื้อม
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
กระทู้: 108



« ตอบ #132 เมื่อ: ตุลาคม 16, 2008, 02:39:06 AM »

  ไม่รู้ว่าช่วงนี้ท่านๆทั้งหลายคิดอะไรกันอยู่นะ หรือว่าเพราะเศรษฐกิจไม่ดีเลยต้องรีบเขมือบกันล่ะเนี่ย
น่ากลัวจะอาศัยช่วงชุลมุนรีบกอบโกยหรือเปล่า
บันทึกการเข้า

***********************************************************************
ไม่สวย แต่เลือกมาก
ทางเลือกเป็นของทุกคน แต่เลือกแล้วต้องยอมรับผลทั้งหมดที่ตามมา
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #133 เมื่อ: ตุลาคม 29, 2008, 01:14:56 AM »


กรมอุทยานฯรับฟังเอ็นจีโอ สั่งทบทวนแผนเอกชนเช่าพื้นที่


กรมอุทยานฯ:จากกรณีที่กลุ่มนักวิชาการและเอ็นจีโอในพื้นที่ภาคเหนือ ได้มีการเปิดเวทีเสวนาเกี่ยวกับแผนเปิดอุทยานฯ ให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น

ทั้งนี้เมื่อนักวิชาการมองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้วมีผลเสียมากกว่า เพราะกรมอุทยานฯ คือองค์กรที่จะต้องมีหน้าที่พิทักษ์และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างมีคุณค่า ขณะเดียวกันเครือข่ายองค์กรประชาชนที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่าไม้กลับไม่ให้มีบทบาทจำกัดสิทธิต่างๆ แต่มาเวลานี้กลับเปิดช่องให้เอกชนรับสัมปทานป่าไม้

นายอุภัย วายุพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า จากที่มีการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมกรมอุทยานแห่งชาติฯ ต่อกรณีการเปิดพื้นที่อุทยานแห่งชาติให้เอกชนเช่าบริหารจัดการนั้น เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ทางกรมอุทยานฯได้ให้นโยบายชัดเจนแล้วว่า ไม่มีนโยบายเปิดอุทยานแห่งชาติให้เอกชนเช่าพื้นที่อย่างเด็ดขาด เพราะการอนุญาติเป็นอำนาจของอธิบดี ซึ่งนอกจากจะไม่มีการเปิดให้เช่าพื้นที่แล้ว ทางกรมอุทยานฯ ยังมีโครงการอุทยานแห่งชาติสีเขียวที่จะทำในอุทยานแห่งชาติ จำนวน 148 แห่งทั่วประเทศ เป็นป่ารักษ์สิ่งแวดล้อมปราศจากขยะและถุงพลาสติก บ้านพัก ห้องน้ำสะอาด ร้านอาหารมีบ่อกักไขมันก่อนระบายน้ำทิ้ง และยังจัดให้มีการปฐมนิเทศนักท่องเที่ยวก่อนเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ โดยจะเริ่มเปิดตัวโครงการที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในราวกลางเดือน พ.ย. 2551



จาก                :                แนวหน้า      วันที่ 29 ตุลาคม 2551
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายชล
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8186


Saaychol


« ตอบ #134 เมื่อ: ตุลาคม 29, 2008, 02:15:20 AM »


ขอบคุณค่ะท่านอธิบดี......
บันทึกการเข้า

Saaychol
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.111 วินาที กับ 20 คำสั่ง