สายน้ำ
|
|
« เมื่อ: มกราคม 22, 2009, 01:05:30 AM » |
|
กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป
บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทย ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานครรวมทั้งปริมณฑล และภาคตะวันออกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย และจะมีหมอกเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ในตอนเช้า ขอให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะระมัดระวังอันตรายในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาในระยะ 1-2 วันนี้
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 24-26 ม.ค. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนระลอกใหม่จะแผ่เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีฝนเล็กน้อยบางแห่งในระยะแรก และอุณหภูมิลดลง 1-3 องศากับมีลมแรงโดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนภาคอื่นๆ ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไปจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย
ประกาศเตือนภัย "ประเทศไทยตอนบนมีหมอกหนาในหลายพื้นที่" ฉบับที่ 26 ( 26 / 2552 ) ลงวันที่ 22 มกราคม 2552 เนื่องจากในช่วงวันที่ 22-23 ม.ค. 2552 นี้ บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยมีกำลังอ่อนลงมาก ประกอบกับมีลมใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีหมอกเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีหมอกหนาและหมอกลงจัดในหลายพื้นที่ในช่วงเวลา 01.00 - 08.00 น. ทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นในแนวราบต่ำกว่า 500 เมตรลงมา ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง การคมนาคมและขนส่งในช่วงเวลาดังกล่าวได้ จึงขอให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะและผู้เดินทางไปในพื้นที่ต่างๆ ระมัดระวังอันตรายในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกลงจัด โดยการเปิดไฟตัดหมอกสีเหลือง และลดความเร็วลงในขณะขับขี่ยานพาหนะในบริเวณที่มีหมอกหนาหรือหมอกลงจัดไว้ด้วย
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
มีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในหลายพื้นที่ อากาศเย็น อุณหภูมิจะสูงขึ้นอีกเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศา อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศา ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.
คาดหมาย
บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศหนาวเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในหลายพื้นที่ และในช่วงวันที่ 23-25 ม.ค. 2552 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิลดลงและอากาศเย็นลงโดยทั่วไป ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้น และคลื่นลมในอ่าวไทยตอนล่างจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
ข้อควรระวัง
ในช่วงวันที่ 21-22 ม.ค. ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย สำหรับในช่วงวันที่ 24-26 ม.ค. ขอให้ชาวเรือในอ่าวไทยตอนล่างระมัดระวังอันตรายจากการเดินเรือ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
|
|
|
|
|
สายน้ำ
|
|
« ตอบ #3 เมื่อ: มกราคม 22, 2009, 01:27:57 AM » |
|
คม ชัด ลึก
เมืองพัทยา เร่งบูม "เกาะล้าน" ปั้นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
หลังจากได้รับความไว้วางใจจากคนเมืองพัทยาให้เข้ามารับตำแหน่งนายกเมืองพัทยา เป็นสมัยแรก อิทธิพล คุณปลื้ม นายกคนใหม่หมาดๆ ก็เร่งโชว์ผลงานทันที โดยตั้งเป้าในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเมืองพัทยาอย่างเต็มที่
หนึ่งในเป้าหมายดังกล่าว คือ "เกาะล้าน" ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 4.07 ตารางกิโลเมตร หรือราวๆ 2,500 ไร่ ตั้งอยู่ไม่ห่างจากฝั่งมากนัก แต่กลับยังมีสภาพทางธรรรมชาติที่สวยงาม โดยเฉพาะทรายริมชายหาดที่ยังขาวสะอาดสลับกับเนินเขาลดหลั่นไล่ระดับกันอย่างสวยงาม
อิทธิพล วางเป้าหมายให้เกาะล้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ โดยวางแผนการพัฒนาไว้ 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 มุ่งปรับสภาพพื้นที่ในปัจจุบันให้เป็นระเบียบเรียบร้อยตามโครงการ "หน้าบ้านน่ามอง" เพื่อจัดระเบียบชุมชนบนเกาะที่มีประมาณ 3,000 คนให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม สภาพเรียบร้อย โดยเฉพาะบริเวณท่าหน้าบ้านที่เป็นจุดต้อนรับนักท่องเที่ยว
ระยะที่ 2 เป็นแผนระยะสั้น คือ เช่น การปรับปรุงท่าเทียบเรือหาดตาแหวน ซึ่งเป็นหาดที่สวยงามที่สุดบนเกาะ โดยจะสร้างลานกีฬา และศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อให้บริการแก่คนในชุมชนด้วย
ระยะที่ 3 มุ่งพัฒนาเกาะล้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ โดยจะไม่ให้มีการทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ แต่จะจัดทำให้เป็นรูปแบบ "รีสอร์ทธรรมชาติ" เพื่อให้เกิดความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว
นายกเมืองพัทยา ระบุว่า ปัจจุบันการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวได้วางรากฐานไปสู่ระยะที่ 3 แล้ว ทั้งยังได้ประสานไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการติดตั้งระบบ "สายเคเบิลใต้น้ำ" ไปยังเกาะล้านเพื่อให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ
โครงการสายเคเบิลใต้น้ำน่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 โดยใช้งบประมาณในการดำเนินการอยู่ที่ 180 ล้านบาท โดยจะมีการวางสายเคเบิลจากหาดดงตาลไปขึ้นที่บริเวณท่าหน้าบ้าน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมุ่งมั่นพัฒนาเกาะล้านอย่างเต็มที่ แต่ชาวบ้านและผู้ประกอบการบนเกาะล้านก็ส่งเสียงสะท้อนให้เมืองพัทยาปรับปรุงข้อบกพร่องบางประการเพื่อส่งให้เกาะล้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวในฝันของนักท่องเที่ยวให้ได้
บรรเจิด จินดาศักดิ์ชัย วัย 70 ปี เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร และร่มเตียงบนเกาะล้าน โอดครวญว่า การค้าขายเมื่อ 2 ปีก่อนนี้ดีมาก แต่ปีนี้กลับแย่หนัก เพราะทุกปีในช่วงไฮซีซั่นแบบนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก แต่ปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวกลับลดลงกว่า 50%
สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักของเกาะล้าน คือ ชาวรัสเซีย และชาวยุโรป รวมทั้งกรุ๊ปทัวร์เกาหลีบางส่วน แต่ปีนี้นักท่องเที่ยวหายไปเยอะ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลกระทบมาจากการปิดสนามบิน และเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก
แม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวบ้าง แต่ก็น่าใจหาย เพราะนักท่องเที่ยวประหยัดการใช้จ่ายลงกว่าแต่ก่อนมากทำให้รายได้ของผู้ประกอบการหดหายไปกว่า 80%
บรรเจิด จึงอยากให้ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยโปรโมทการท่องเที่ยวให้มากๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งถ้าหากทำอย่างจริงจังเชื่อว่า น่าจะเห็นผลภายใน 1-2 เดือน
เขายังกล่าวเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวชาวไทยมาเที่ยวเกาะล้านให้มากๆ เพราะเสียค่าใช้จ่ายถูกมาก เช่น ค่าเรือไป-กลับที่มีราคาเพียง 40 บาท ค่ารถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง 20 บาท ค่าที่พักราคาตั้งแต่ 800-2,300 บาทต่อคืน ซึ่งนับว่าถูกมากๆ
ขณะที่เรื่องความปลอดภัยบนเกาะล้านก็มีความความปลอดภัยสูงมาก แทบไม่มีคดีอาชญากรรม แม้แต่คดีฉกชิงวิ่งราว ส่วนเรื่องความสะอาดของน้ำทะเลบนเกาะล้านก็ใสสะอาดกว่าที่พัทยามาก
บรรจง สิงห์แก้ว วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างบนเกาะล้านก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน จากเดิมที่เคยวิ่งรับผู้โดยสารได้วันละ 50 เที่ยวต่อวัน แต่พอช่วงตกต่ำก็เหลือเพียงวันละ 5-10 เที่ยวเท่านั้น
"อยากให้ ททท.กระตุ้นการท่องเที่ยวบนเกาะล้านให้มากๆ เพราะที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นยอด ราคาที่พัก ค่าอาหาร ค่ารถ ค่าเรือก็ไม่แพงเลย ส่วนคนบนเกาะก็อัธยาศัยใจคอดีมาก อย่างผมถ้านักท่องเที่ยวเงินหมดก็จะส่งขึ้นเรือฟรีโดยไม่คิดเงิน"
การันตีคุณภาพกันขนาดนี้ ใครพอมีสภาพคล่องเหลือใช้ก็ขับรถไปท่องเกาะล้านได้ รับรองว่า ถูกใจ และที่สำคัญ "ถูกตังค์" แน่นอน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
|
|
|
สายน้ำ
|
|
« ตอบ #4 เมื่อ: มกราคม 22, 2009, 01:31:25 AM » |
|
X-cite ไทยโพสต์
สำรวจกทม.จมฝุ่นดินแดงสุดอันตราย
กรมควบคุมมลพิษเผยคุณภาพอากาศกรุงเทพฯ มีมลพิษเกินระดับมาตรฐานถึง 6 สถานี โดยเฉพาะเขตดินแดง ตรวจพบฝุ่นละอองอยู่ในขั้นอันตรายต่อสุขภาพ ลอยฟุ้งคล้ายหมอกในตอนเช้า
เหตุกระแสลมสงบนิ่งไม่ช่วยระบายอากาศ ด้าน กทม.เร่งใช้รถดูดฝุ่น ฉีดน้ำแก้ปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สภาพบรรยากาศของกรุงเทพมหานคร มีลักษณะเหมือนเมืองในหมอก ซึ่งเกิดจากภูมิอากาศที่ค่อนข้างเย็น และมีหมอกปกคลุมท้องฟ้าอย่างหนาแน่นในตอนเช้าหลายพื้นที่ ส่งผลต่อวิสัยทัศน์ในการมองเห็นระยะไกลๆ ไม่ค่อยชัดเจน
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าขณะนี้พื้นที่กรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล มีมลพิษทางอากาศเกินระดับมาตรฐานถึง 6 สถานี โดยเฉพาะในเขตดินแดง และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยสารมลพิษที่ตรวจพบว่าเกินมาตรฐานในระดับอันตราย และมีผลกระทบต่อสุขภาพคือ ฝุ่นละออง ตรวจวัดได้ 142 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนค่ามาตรฐานคือ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
เจ้าหน้าที่สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ให้ข้อมูลว่า บรรยากาศกรุงเทพฯ มีฝุ่นละอองฟุ้งกระจายเกินค่ามาตรฐาน ส่วนใหญ่เกิดจากเผาไหม้เชื้อเพลิงรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยเฉพาะในบริเวณที่มีการจราจรติดขัด จะพบว่ามีสารมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐานหลายแห่ง ที่ผ่านมาลมทะเลจะช่วยระบายมลภาวะทางอากาศในกรุงเทพฯ ออกไปได้มาก แต่ขณะนี้ปรากฏว่ากระแสลมสงบนิ่ง ประกอบกับอากาศเย็นและแห้ง ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการกระจายตัวของฝุ่นควัน และทำให้มองเห็นเหมือนหมอกในตอนเช้า
ส่วนสารมลพิษตัวอื่นๆ ที่ตรวจวัด ประกอบด้วย ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์, ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ไนโตรเจนออกไซด์, ไฮโดรคาร์บอน และโอโซน พบว่าไม่เกินมาตรฐาน เนื่องจากได้มีการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงที่มีมลพิษน้อยลง ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษขอเตือนประชาชนให้ระวังหรือหลีกเลี่ยงการออกกำลังภายนอกอาคาร หรือทำกิจกรรมริมถนนเป็นเวลานาน ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ เด็ก และผู้สูงอายุ ควรอยู่ในอาคาร รวมทั้งขอความร่วมมืองดการเผาขยะในที่โล่ง ลดการขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล และร่วมกันใช้รถสาธารณะ เพื่อบรรเทาปัญหาในช่วงวิกฤติดังกล่าว
ด้านเรืออากาศโทอิรวัสส์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า เวลานี้กรุงเทพฯ มีปัญหาเรื่องฝุ่นฟุ้งกระจาย เนื่องจากสภาพอากาศเย็นและมีหมอกหนาปกคลุมในหลายพื้นที่ จึงได้เสนอให้แต่ละสำนักงานเขตเร่งใช้รถดูดฝุ่นและฉีดน้ำบนถนนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งตรวจสอบสถานที่ก่อมลพิษอย่างเข้มงวด ว่ามีการปล่อยสารมลพิษเกินมาตรฐานหรือไม่
"ส่วนบริเวณใต้รถไฟลอยฟ้าบีทีเอสที่ตรวจพบมลพิษทางอากาศสูงเกินค่ามาตรฐานนั้น ได้แจ้งให้ผู้รับผิดชอบในพื้นที่เร่งติดตั้งพัดลมระบายอากาศ และปรับย้ายป้ายรถเมล์ที่อยู่ในบริเวณนั้น ห่างออกไปเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน" ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อมกล่าว.
***************************************************************************************************************************
ชาวเกาะพะงันสุดทนร้องปาร์ตี้รังควาน
ชาวเกาะพะงันสุดจะทนกับปาร์ตี้ที่สร้างความเดือดร้อนด้านเสียงจนไม่ได้หลับนอน ร้องไปยังอำเภอ ตำรวจ และเทศบาลแล้วก็ยังเฉย วอนรัฐบาลช่วยเหลือด้วย
ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 3 ต.บ้านใต้ อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ร้องเรียนมาว่า ขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนจากการจัดงานปาร์ตี้ของผู้ประกอบการที่เรียกว่า ปาร์ตี้เทคโน ที่เปิดเพลงเสียงดังผ่านลำโพงเครื่องขยายเสียงจนไม่มีเวลาได้หลับนอน
โดยเกาะพะงันอยู่ระหว่างเกาะสมุยและเกาะเต่า มี 20 ปีที่แล้วเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับปาร์ตี้ฟูลมูน ซึ่งจัดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง ที่หาดริ้นฝั่งตะวันออก มีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติมาเที่ยวกันหลายพันคนจนทำรายได้ให้อย่างมหาศาล
จากความสำเร็จและรายได้มหาศาลของต้นฉบับของปาร์ตี้ฟูลมูน ปัจจุบันจึงทำให้ปาร์ตี้ใหม่ๆ เกิดขึ้น มีการพัฒนาเพื่อดังดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวในชื่อต่างๆ มากมาย มีแผ่นประกาศโฆษณาและแผ่นใบปลิวไปทั่วทั้งเกาะ โดยตั๋วค่าเข้าราคา 300 บาทต่อคน
ปาร์ตี้เหล่านี้ได้ก่อตั้งขึ้นในหมู่บ้านและรอบๆ หมู่บ้านใต้ บ้านเหนือ และบ้านนอก ได้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่เคยอยู่อย่างสงบเปลี่ยนแปลงไป และได้รับความเดือดร้อนจากการเปิดเพลงตั้งแต่เวลา 21.00 น. ไปจนถึงเช้าของวันรุ่งขึ้น หรืออาจเลยไปจนถึงเวลา 11.00 น.
ชาวบ้านผู้ร้องเรียนระบุว่า ต้องอดทนกับปาร์ตี้เหล่านี้มาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว เคยเข้าชื่อกันร้องเรียนไปยังอำเภอเกาะพะงัน สถานีตำรวจภูธรเกาะพะงัน และเทศบาลเกาะพะงันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ปาร์ตี้เหล่านั้นก็ยังจัดกิจกรรมสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านได้ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง จึงอยากให้รัฐบาลหันมามองความเดือดร้อนและให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่เกาะพะงันบ้าง.
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
|
|
|
สายน้ำ
|
|
« ตอบ #5 เมื่อ: มกราคม 22, 2009, 01:35:02 AM » |
|
แนวหน้า
จัดเทศกาลอาหารทะเล กระตุ้นศก.มหาชัย 50 ล. สมุทรสาคร:นายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ทาง จ.สมุทรสาคร ได้เตรียมจัดงานเทศกาลอาหารทะเลครั้งที่ 8 ขึ้นระหว่างวันที่ 26 ก.พ. 2 มี.ค.นี้ที่บริเวณริมเขื่อนศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด ควบคู่การสร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมมีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท
โดยภายในงานจะมีร้านอาหารชั้นนำพร้อมกุ๊กฝีมือดีมาโชว์เมนูที่โดดเด่นไม่ต่ำกว่า 80 ร้าน ซึ่งทุกร้านผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย และไฮไลท์ของงาน คือ การทอดหอยจ้อที่ใหญ่ที่สุดแจกจ่ายแก่ผู้ร่วมงานอีกด้วย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
|
|
|
สายรุ้ง
|
|
« ตอบ #6 เมื่อ: มกราคม 22, 2009, 04:14:27 AM » |
|
พะยูน รีเทิรน์
คณะนักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ประกาศข่าวดี พะยูนโผล่ภูเก็ต หลังหายตัวกว่า 30 ปี หวั่นท่องเที่ยวรุกต่อ ทำพะยูนเผ่นซ้ำ ทิ้งน่านน้ำไทยถาวร
ข่าวพบเห็นการกลับมาของ "พะยูน" ที่บริเวณอ่าวตังเข็น แหลมพันวา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ถูกจัดวางเอาไว้ด้านในของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ หลายคนอาจพลิกข้ามผ่าน แต่สำหรับ คณะนักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก แม้ไม่ใช่ "ข่าวใหญ่" ที่สร้างความเกรียวกราวขนาดหน้า 1 ต้องมอบพื้นที่ให้ .. แต่นี่คือ "ข่าวดี" ครั้งสำคัญ หลังจาก "พะยูน" ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอยและไม่เคยปรากฏกายให้ใครๆ (ในภูเก็ต) ได้เห็นอีกเลยนานเกือบ 30 ปี ผู้อยู่เบื้องหลังคราวนี้ มีอยู่ 3 คน ได้แก่ กาญจนา อดุลยานุโกศล เผ่าเทพ เชิดสุขใจ และ สนธยา มานะวัฒนา คณะนักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก แม่ทัพสำคัญจากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตีกลองบอกข่าวดี
เผ่าเทพ เชิดสุขใจ นักวิชาการประมง หนึ่งในกลุ่มเจ้ากรมข่าวดีครั้งนี้ เริ่มต้นเล่าว่าภาพที่สามารถสร้างรอยยิ้มให้กับคณะนักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ. ภูเก็ต ได้เป็นครั้งแรกเกิดขึ้นราวกลางเดือนพฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา หลังจากได้สำรวจพบรอยกินหญ้าทะเลของพะยูน (feeding trails) จำนวนมากที่อ่าวตังเข็น แหลมพันวา และจุดนี้สถาบันฯ เคยได้ต้อนรับพะยูนความยาว 2.8 เมตรจากอ่าวตังเข็น เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2524 และนั่นคือตัวสุดท้าย
ภารกิจติดตามค้นหาตัว "พะยูน" จึงเกิดขึ้นตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา และได้รับแรงสนับสนุนอย่างดีจากภาคเอกชน โดยเฉพาะโรงแรมเดอะรีเจนท์ ซึ่งวางตัวอยู่บนเขาสูงด้านขวาของอ่าวตังเข็น ได้อนุญาตให้ทีมเข้าไปสังเกตการณ์พะยูนอย่างอิสระ ในที่สุดเวลาที่ทุกคนรอคอยก็เดินทางมาถึง แต่ละคนล้วนสะกดความตื่นเต้นกันแทบไม่อยู่ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2551 เวลาประมาณ 10:00 น. ภาพของพะยูนลำตัวสีชมพูขนาดใหญ่จำนวน 1 ตัวโผล่ขึ้นมาหายใจและดำลงไปกินหญ้าทะเลในบริเวณแนวหญ้าทะเลกลางอ่าว เป็นเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง และสามารถบันทึกภาพไว้ได้ หลังจากนั้นทีมงานก็ยังเพียรเฝ้าสังเกตพะยูนจากอาคารของโรงแรมเดอะรีเจนท์เกือบทุกวันที่มีโอกาส
"แต่ละวัน เราจะเฝ้ารอดูอยู่ 2-3 ชั่วโมง ในช่วงน้ำทะเลขึ้นเต็มฝั่ง เพราะช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่พะยูนจะเข้ามากินหญ้าทะเล ซึ่งบางครั้งเราก็ได้เห็นพะยูนมากินหญ้านาน 2 ชั่วโมง โดยจะขึ้นมาหายใจทุกๆ 2-3 นาที แล้วค่อยดำลงไปกินต่อ" เจ้าพะยูนตัวนี้ มีขนาดความยาวประมาณ 2 เมตร ตามคำบอกเล่าของเผ่าเทพที่สังเกตการณ์อยู่ไม่ไกล
แล้วพอน้ำทะเลลง เจ้าหน้าที่จะใช้โอกาสตรงนั้นสำรวจและติดตามรอยกินหญ้าทะเลของพะยูน ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเศษ จากนั้นก็จะทำการวางทุ่นเพื่อบอกกำหนดบริเวณพื้นที่ที่ศึกษาจำนวน 5 ทุ่น พร้อมทำเครื่องหมายรอยกินของพะยูนเพื่อให้สามารถติดตามรอยกินครั้งใหม่ๆ ได้ถูกต้อง
"เราพบรอยกินหญ้าวันละ 19-30 รอย แต่ละรอยกินความกว้างประมาณ 15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2 เมตร" จากการเฝ้าสังเกตทั้งหมด 26 ครั้ง คณะนักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สามารถสังเกตเห็นพะยูนเพียง 5 ครั้งใน 4 วัน (วันที่ 29 พฤศจิกายน และ 6,7 และ 9 ธันวาคม 2551) ระหว่างนั้นก็มีอุปสรรคแทรกเข้ามาเป็นระยะๆ
"วันที่ 6 ธันวาคม เวลาประมาณบ่ายสามโมงสิบห้า มีพะยูน 1 ตัวเข้ามาหากินหญ้าทะเลในตำแหน่งใกล้ทุ่นที่เราวางไว้ แล้วจู่ๆ ก็มีเรือติดเครื่องยนต์วิ่งเข้ามาวางลอบในอ่าวใกล้กับที่พะยูนหากินอยู่ พอชาวประมงโยนลอบลงไป พะยูนก็ตกใจ ว่ายน้ำหนีออกไปอย่างรวดเร็ว
" แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้ทำให้ทีมวิจัยฯ ถอยหลังกลับ ทุกคนยืนยันว่า อุปสรรคที่เกิดขึ้นนับว่าเล็กน้อยมาก และจะเดินหน้าตามหาพะยูนต่อไป "สิ่งที่น่าห่วงใย คือ หาดแห่งนี้มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์มาก ชายหาดด้านในมีแหล่งหญ้าทะเล ส่วนด้านนอกเป็นแนวปะการัง และด้านขวาของหาดเป็นป่าชายเลน จากเดิมที่อ่าวนี้มีเฉพาะชาวบ้านและชาวประมงขนาดเล็กเพียงไม่กี่หลังคาเรือน แทบไม่มีการทำการประมงในอ่าวนี้เลย ชาวบ้านอาจหาเก็บหอยเป็นครั้งคราวในตอนน้ำลง
แต่ปัจจุบัน มีการพัฒนาชายหาดอ่าวตังเข็นเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ ถ้ามีการสร้างท่าเทียบเรือ หรือมีเรือเร็วเข้าออกในอ่าวนี้ พะยูนคงอยู่ไม่ได้อย่างแน่นอน" นอกจากความห่วงและกังวล นักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ยังเสนอแนะว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากส่งเสริมให้นักท่องเที่ยว ได้มีส่วนร่วมกันอนุรักษ์พะยูนและระบบนิเวศหญ้าทะเล ปะการังและป่าชายเลน "อาจจะปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศก็ได้ โดยสถาบันฯ จะช่วยในเรื่องจัดทำ Nature trail เอง"
อาจไม่ได้มาแค่ตัวเดียว ก่อนการปรากฎกายของ "พะยูน" ที่อ่าวตังเข็นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษนั้น นักวิชาการกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก บอกว่านี่เป็นสัญญาณของการกลับมาของพะยูนภูเก็ตแล้ว โดยทางฝั่งทะเลด้านตะวันตกของเกาะภูเก็ต ลุงต๋อย หรือ จุรณ ราชพล เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์บ้านป่าคลอก ก็เคยพบเห็นพะยูนดอดเข้ามากินหญ้าทะเลหน้าหาดบ้านป่าคลอก และบางครั้งในช่วงน้ำขึ้น พะยูนก็ขึ้นมาหายใจ
ส่วนร่องรอยการกินหญ้าที่พบจะเป็นเฉพาะหญ้าทะเลชนิด หญ้าอำพัน หรือ หญ้าชะเงา (ชื่อวิทยาศาสตร์ Halophila ovalis) "รอยกินหญ้าของพะยูนจะไม่เป็นเส้นตรง ยาวตั้งแต่เมตรเศษๆ ไปจนถึง 5-6 เมตร บางครั้งก็พบรอยกินของลูกพะยูน รอยกินของเจ้าตัวเล็กมักอยู่ห่างจากรอยกินของแม่พะยูนประมาณ 1 เมตร" ลุงต๋อยร่วมให้ข้อมูล ขณะนี้นักวิจัยได้ติดตามรอยกินหญ้าทะเลของพะยูนที่หาดแห่งนี้ เพื่อใช้ในการประเมินประชากรพะยูนที่เข้ามาหากินในบริเวณดังกล่าว และศึกษาพฤติกรรมการกินอาหารของพะยูน ด้วยหวังว่าจะพบเห็นการปรากฎตัวอย่างเป็นทางการเช่นเดียวกับอ่าวตังเข็น แหลมพันวา
นอกจากนี้ ที่ อ่าวฉลอง (ห่างตัวเมืองภูเก็ตไป 11 กม.) ก็ส่งสัญญาณบ่งบอกการกลับมาของพะยูนภูเก็ตเช่นกัน โดย "เครือข่ายชุมชนชายฝั่งอ่าวฉลอง" พลังขับเคลื่อนจากชาวบ้านกลุ่มสำคัญที่รวมตัวกันผลักดันการเรียกคืนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำต่างๆ ให้กลับมา สุทา ประทีป ณ ถลาง ประธานเครือข่ายชุมชนชายฝั่งอ่าวฉลอง ได้สำรวจพบแหล่งหญ้าทะเลในอ่าวฉลองว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทำให้พบเต่าทะเลและโลมากลับเข้ามาหากิน และนำไปสู่การเดินทางกลับมาของพะยูน ที่ปรากฎต่อสายตาชาวบ้านเป็นครั้งคราวอีกด้วย
ส่วนประเด็นที่ว่า ความสมบูรณ์ของธรรมชาติทางทะเลเป็นปัจจัยสำคัญหลักที่ส่งผลให้ "พะยูน" เดินทางกลับบ้านหลังเดิมที่ภูเก็ตอีกครั้งหรือไม่นั้น คณะนักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กำลังไขปริศนาและหาคำตอบชนิดเร่งวันเร่งคืน
ใครพรากพะยูน? คำถามที่ว่า "พะยูนกำลังจะสูญพันธุ์ไปจากจังหวัดภูเก็ตจริงหรือ?" วันนี้ยังมีใครบางคนมองเป็นเรื่องตลก แต่ในทางตรงกันข้าม เหตุการณ์เช่นนี้กลับไม่ไกลเกินความเป็นจริงเลย พิสูจน์ได้จากความเพียรพยายามในการเฝ้าติดตามการกลับมาอีกครั้งของพะยูน ที่ต้องใช้เวลายาวนานถึง 30 ปี และจากข้อมูลของ นักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ.ภูเก็ต พบว่า พะยูนที่อาศัยอยู่ทั่วโลกได้สูญพันธุ์ไปเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่และกำลังจะสูญพันธุ์ในอีกหลายๆ แห่ง ที่สำคัญ ประเทศไทยตกอยู่ในข่ายนั้น เมื่อพิจารณาจากสถิติแนวโน้มจำนวนประชากรพะยูนที่น้อยลงเรื่อยๆ อัตราการตายสูงกว่าอัตราการเกิด
"ถ้าเรายอมให้พะยูนวัยหนุ่มสาวที่พร้อมจะสืบพันธุ์ได้ ตายเกินร้อยละ 5 ตัวต่อหนึ่งปี นั่นก็คือเส้นทางแนวดิ่งของการสูญพันธุ์ของพะยูนในน่านน้ำไทยอย่างแน่นอน" เป็นคำพูดของ กาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการประมง 8 ว หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ร่วมให้ข้อมูลอีกว่า ในประเทศไทย สาเหตุที่ทำให้พะยูนตายส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะการประมงอวนติดตาหรืออวนลอยประเภทต่างๆ รองลงไปเป็นโป๊ะน้ำตื้น ในจังหวัดภูเก็ตก็เช่นกัน มีพะยูนเกยตื้นหรือตายจากการติดอวนลอยจำนวน 8 ตัว ติดโป๊ะจำนวน 3 ตัว เรือชนตาย 1 ตัว และไม่ทราบสาเหตุ 1 ตัวซึ่งเป็นลูกพะยูนขนาดเล็ก
ทั้งนี้สถิติพะยูนที่เกยตื้นในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ตซึ่งถูกบันทึกไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2524-2550 เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า "น้ำมือมนุษย์" คือเหตุผลใหญ่ที่พรากพะยูนไปอย่างไม่มีวันกลับ
ไล่ตั้งแต่ 2 มีนาคม 2524 พบพะยูน ความยาว 2.8 ม.น้ำหนัก 300 ก.ก.เพศผู้ ติดอวนลอย อ่าวตังเข็น แหลมพันวา เสียชีวิต วันที่ 25 สิงหาคม 2524 พบพะยูน ความยาว 1.8 ม. น้ำหนัก 90 ก.ก. เพศผู้ ติดอวนลอยปู บริเวณอ่าวปอ อ.ถลาง ตายหลังจากอนุบาลที่สถาบันฯ ได้ 77 วัน ในวันที่ 24 มีนาคม 2525 พบพะยูน ความยาว 1.2 ม.น้ำหนัก 31 ก.ก. เพศผู้ติดอวนลอย บริเวณอ่าวมะขาม เยื้องเกาะตะเภาใหญ่ ต.วิชิต อ.เมือง ตายหลังจากอนุบาลที่สถาบันฯ ได้ 111 วัน จากนั้นปี 2529 พบพะยูน ความยาว 2.5 ม. เพศเมียติดอวนลอย บริเวณอ่าวฉลอง อ.เมือง ตายและชาวบ้านนำเนื้อไปกิน ต่อมาปี 2529 พบซากพะยูน ความยาว 1.8 ม. ติดอวนลอย บริเวณอ่าวฉลอง อ.เมือง ตายและชาวบ้านนำเนื้อไปกิน วันที่ 2 สิงหาคม 2541 พบพะยูน ความยาว 2.19 ม. หนัก 184 ก.ก. เพศผู้ ถูกเรือชนในท่าเรือน้ำลึก ใกล้เกาะตะเภาใหญ่ อ.เมือง 17 มกราคม 2543 พบซากพะยูน ติดอวนลอย ณ หาดป่าคลอก อ.ถลาง ชาวบ้านนำเนื้อไปกิน วันที่ 10 เมษายน 2543 พบพะยูนติดโป๊ะที่บางโรง อ.ถลาง สามารถช่วยชีวิตไว้ได้และปล่อยไป วันที่ 25 ตุลาคม 2543 พบซากติดอวนลอย บริเวณหาดป่าคลอก อ.ถลาง ตายและชาวบ้านนำเนื้อไปกิน วันที่ 28 มีนาคม 2545 พบพะยูน ความยาว 2.14 ม.น้ำหนัก 174 ก.ก.เพศผู้ ติดโป๊ะ บริเวณหัวแหลมบ้านพัด ต.วิชิต อ.เมือง วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547พบพะยูนความยาว1.15 ม.น้ำหนัก 30 ก.ก.เพศเมีย บริเวณบ้านพารา ป่าคลอก อ.ถลาง ตายหลังจากอนุบาลที่สถาบันฯ ได้ 79 วัน วันที่ 1 มกราคม 2548 พบซากพะยูนติดอวนลอย ป่าหล่าย อ่าวฉลอง อ.เมือง ตายและชาวบ้านนำเนื้อไปกิน วันที่ 2 เมษายน 2550 พบพะยูนขนาด 1.92 ม.น้ำหนัก 126 ก.ก.เพศผู้ ติดโป๊ะที่อ่าวป่าคลอก อ.ถลาง ตายและผ่าชันสูตรซาก โดยพะยูนตัวล่าสุดที่ได้รับเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 บริเวณนอกชายฝั่งแหลมกา อ.เมือง จ.ภูเก็ต เวลา 6:00 น.จากการชันสูตรซากพบว่า พะยูนตัวนี้มีบาดแผลตื้นๆ ภายนอกเพียงเล็กน้อย เป็นแผลสดแต่ไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ที่สำคัญพบแผลและรอยช้ำบริเวณรอบโคนหาง ซึ่งเกิดจากการมัดเชือกและลากเพื่อขนย้าย ในกระเพาะอาหารมีหญ้าทะเล 6 กิโลกรัม ส่วนในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่มีเศษอาหารที่ย่อยแล้วอยู่เต็มตลอดทั้งลำไส้
กาญจนาให้ความรู้ว่า การพบหญ้าทะเลจำนวนมากตลอดทั้งทางเดินอาหาร เป็นข้อบ่งชี้ว่าพะยูนยังกินอาหารได้ปกติก่อนเสียชีวิตไม่กี่ชั่วโมง ไม่ได้ป่วยเรื้อรัง พบพยาธิตัวแบนในโพรงจมูกทั้งสองข้าง ในกระเพาะอาหารพบพยาธิตัวกลม และในกระพุ้งลำไส้ใหญ่พบพยาธิตัวแบนไม่ทราบชนิด ทั้งนี้การพบพยาธิดังกล่าวเป็นลักษณะปกติที่พบได้ในพะยูนในธรรมชาติ และไม่ส่งผลต่อสุขภาพแต่อย่างใด แต่สิ่งผิดปกติอยู่ที่ การพบของเหลวสีเหลืองใสในช่องอกทั้งด้านซ้ายและขวาปริมาตรรวม 400 มิลลิลิตร เป็นข้อบ่งชี้ว่าพะยูนเกิดภาวะช็อค และพบหนองสีเหลืองอ่อนบริเวณแขนงหลอดลมในปอดทั้งสองข้างหลายตำแหน่ง แต่สภาพเนื้อปอดโดยรวมยังอยู่ในสภาพปกติ อันเป็นการติดเชื้ออักเสบของปอดแบบเฉียบพลัน ซึ่งน่าจะเกิดจากการสำลักน้ำเข้าปอด และไม่พบความผิดปกติที่อวัยวะภายในอื่น ๆ
"ดังนั้นสาเหตุการตาย คาดว่าจะมาจากการติดเครื่องมือประมงทำให้จมน้ำ และสำลักน้ำเข้าปอดทำให้อ่อนแอ และปอดติดเชื้อแบบเฉียบพลันจนเสียชีวิต"กาญจนา เผยที่มาความสลด ภารกิจ "คณะนักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก" เพื่อติดตามการเดินทางกลับบ้านอีกครั้งของเจ้าพะยูนยังคงดำเนินต่อไป เพื่อหาหนทางสร้างเครื่องการันตีว่าฝูงพะยูนจะไม่หนีไปจากเกาะภูเก็ตซ้ำรอยเหตุการณ์ในอดีตอีกครั้ง
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 22, 2009, 04:21:20 AM โดย สายรุ้ง »
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
สายรุ้ง
|
|
« ตอบ #7 เมื่อ: มกราคม 22, 2009, 04:24:43 AM » |
|
ตื่นเต้นค่ะ ตื่นเต้น เจอเรื่องนี้ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ปรกติจะอ่าน จุดประกายทุกวัน วันนี้เจอเรื่องนี้ ดีใจจนต้อง เอามา บอกกล่าวเล่าต่อ ในทุกๆท่านได้ทราบ คิดในใจอยู่ว่า เอาใจช่วยคณะนักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กลุ่มนี้ค่ะ เลยอยากให้ทุกคน ช่วยกันเป็นกำลังใจ เพื่อ พะยูน ด้วยค่ะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|
|